19 ม.ค. 2566 | 16:36 น.
- เจ้าแห่งวงการเซมิคอนดักเตอร์หลายคนยกให้เป็น 'มอร์ริส จาง' เขาเป็นผู้บุกเบิกคนแรกในไต้หวันที่ทำเกี่ยวกับชิปและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
- บริษัท TSMC ถูกวางให้เป็นตัวแปรสำคัญของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เพราะหลายบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องนำเข้าจากที่นี่
- มอร์ริส จาง เป็นคนที่ทุ่มเทอย่างมาก เขามองว่าชีวิตที่สงบสุขต้องผ่านการเรียนหนักและทำงานหนักมาก่อน
“สงครามและความเกลียดชัง ทำให้สภาพแวดล้อมกลายเป็นสังคมอยุติธรรม สิ่งที่เรียนรู้ตั้งแต่นั้นคือ ต้องเรียนให้หนัก ทำงานให้หนัก เพื่อเป็นสิ่งที่จะพาเราไปสู่ความสงบสุขได้”
คำพูดที่ ‘มอร์ริส จาง’ (Morris Chang) บิดาแห่งเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวัน เคยพูดให้สัมภาษณ์กับ SEMI เกี่ยวกับตัวตนของเขา และความมุ่งมั่นที่เขามีเพื่อให้ชีวิตและธุรกิจประสบความสำเร็จ
สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกายังไร้การคลี่คลายแม้ว่าจะกินระยะเวลานานกว่าโควิด-19 ด้วยซ้ำ สินค้าที่ยังเป็น ‘ตัวแปร’ สำคัญของสงครามนี้ยังคงมี ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เป็นองค์ประกอบอยู่ทุกครั้ง ด้วยความที่หลาย ๆ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ยังต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่นำเข้าอยู่ อย่าง Apple, Nvidia และ Qualcomm ก็ล้วนเป็นลูกค้าคนสำคัญของ TSMC บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในไต้หวัน
แล้ว TSMC เป็นของใคร แม้จะมีคนหลายกลุ่มที่รู้อยู่แล้ว แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังสงสัย The People จึงอยากหยิบเรื่องราวของผู้ก่อตั้งที่ชื่อว่า มอร์ริส จาง’ หรือชื่อจีนคือ ‘จาง จงโหมว’ (Zhang Zhongmou) มาแชร์ให้อ่านกัน ทั้งยังมีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจที่เขาเคยพูดไว้ช่วงเริ่มต้นธุรกิจด้วย
เจอสงคราม 3 ครั้งตั้งแต่เกิด
จะมีสักกี่คนที่เผชิญหน้ากับสงครามเยอะเกิน 2 ครั้ง หรือสำหรับบางคนแค่ 1 ครั้งก็เกินพอแล้ว แต่สำหรับ ‘จาง’ เขาคือคนที่เผชิญหน้ากับช่วงที่มีสงครามมากถึง 3 ครั้งตั้งแต่ที่เขาเกิดมา
มอร์ริส จาง เกิดวันที่ 10 กรกฎาคม 1931 ปัจจุบันอายุ 92 ปี เกิดที่เมืองหนิงโบ มณฑลเจ้อเจียง เขาเกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางแต่การเงินของพ่อแม่ในสมัยนั้นก็อาจจะไม่ได้คล่องตัวมากนัก เพราะในตอนที่ จาง ถือกำเนิดขึ้นกำลังเกิดสงครามกลางเมืองในจีน ระหว่างปี 1927 ถึง 1949
ขณะเดียวกัน เมื่อเขาอายุได้เพียง 10 ขวบ จาง ก็ต้องเผชิญหน้ากับอีก 2 สงครามที่ค่อนข้างหนัก ก็คือ สงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นครั้งที่สอง (ปี 1937 – 1945) และ สงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1939 – 1945) จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ครอบครัวของเขาต้องย้ายบ้านไปมาอยู่บ่อย ๆ
จาง เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมอาศัยอยู่ที่ประเทศจีนจนอายุได้ 18 ปี จากนั้นก็ย้ายไปอยู่ที่สหรัฐฯ ซึ่งต้องบอกว่าตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 18 ชีวิตของผมเต็มไปด้วย 3 คำเท่านั้น คือ สงคราม - ความยากจน – ความอยุติธรรม”
“ประเทศจีนในตอนนั้นมีแต่ความยากจน คนส่วนใหญ่ยากจนมาก แม้แต่ชนชั้นกลางอย่างครอบครัวผม ถึงแม้ว่าเราไม่ต้องอดอยาก แต่รูปแบบชีวิตของเราค่อนข้างเจียมเนื้อเจียมตัวมากเมื่อเทียบกับครอบครัวชนชั้นกลางของประเทศอื่น”
“พวกเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเสียงปืนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตผ่านการยึดครองฮ่องกงของญี่ปุ่นต่อไปอีก 1 ปี เป็นช่วงเวลาที่ทรมานมาก”
“สหรัฐฯ กลายเป็นสวรรค์สำหรับผมเมื่อเดินทางมาถึงครั้งแรกตอนอายุ 18 ปี ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มันดีมาก ๆ”
ซึ่งชีวิตที่นี่ของ จาง ทำให้เขาค่อย ๆ ซึมซับความรู้ความเชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ เขาได้เข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่สาขาวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ส่วนปริญญาโทเขาก็ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ส่วนปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
จุดเริ่มต้นกับอาชีพแรก
Sylvania Semiconductor เป็นบริษัทแรกที่ จาง เข้าทำงานช่วงระหว่างที่เขาต้องรอสอบเพื่อเรียนต่อระดับปริญญาเอก (รอบแรกสอบไม่ผ่าน) ด้วยเหตุผลเพราะว่าเขาสนใจอุปกรณ์ที่ใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ตลอด 3 ปีที่นี่เขาไม่เคยได้เรียนรู้เกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์เลย
จากนั้นเขาจึงย้ายไปทำงานที่ Texas Instruments (TI) ซึ่งเรียกว่ายุคนั้นกำลังเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ด้วยตำแหน่งหัวหน้างานวิศวกรรมซึ่งก็มีลูกน้องในทีมเพียง 2-3 คนเท่านั้น
เวลาผ่านไป 2 ปีครึ่ง จาง เรียนจบปริญญาเอกและเขามุ่งมั่นที่จะเรียนรู้อย่างหนักกับตำแหน่งงานที่ TI ซึ่งไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เขาถูกโปรโมตให้เป็นรองประธานฝ่ายธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ที่ TI ซึ่งมันเป็นตำแหน่งในฝัน และสำคัญมาก ๆ ในบริษัท โดยเขามีลูกน้องในทีมมากถึง 2,000 คน
เวลาผ่านล่วงเลยไปตำแหน่งของ จาง ที่ TI ก็ขับขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเวลา 2 ปีครึ่งที่เขาถูกเลื่อนไปเป็นประธานอาวุโส ซึ่งเขารู้สึกว่ามันไม่ท้าทายอีกต่อไปจึงตัดสินใจลาออกจากที่นี่
จาง เข้าทำงานที่ General Instrument ด้วยตำแหน่ง ประธานและซีโอโอ ซึ่งบริษัทนี้ถือว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่พอสมควรและติดลิสต์ในกลุ่ม Fortune 500 จาง มองว่าแม้จะเป็นบริษัทที่ทำเซมิคอนดักเตอร์เหมือนกับ TI แต่ก็มีความท้าทายอยู่เหมือนกัน จึงทำให้เขารู้ตัวเองว่า จริง ๆ แล้วเขาพยายามมองหาที่ที่มีความท้าทายในการทำงาน
ประสบการณ์ทำงานในวงการ เซมิคอนดักเตอร์ของจาง มากกว่า 51 ปี ถือว่าหากเป็นแอร์โฮสเตสก็มีชั่วโมงบินที่สูงมาก มากพอจะทำให้เขาหยุดไล่ล่าหาความท้าทายใหม่ ๆ ได้แล้ว
แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์จาง สุดท้ายจาง ก็ทำงานที่นี่ได้ไม่ถึง 1 ปี โดยเขาพบว่าบริษัทนี้มีแนวทางการเติบโต จากการควบรวมกิจการอื่น ไม่สามารถอยู่ได้ตัวคนเดียว หลังจากนั้นไม่นานเขาจึงตัดสินใจลาออกอีกครั้ง
จุดเปลี่ยนสำคัญของจาง
ในปี 1985 จาง ตัดสินใจเดินทางกลับ ‘ไต้หวัน’ ไม่ขอทำงานที่หสรัฐฯ อีกต่อไป เพราะเขารู้สึกว่าเพียงพอแล้วกับประสบการณ์ที่ได้มา และเหตุผลที่เป็นไต้หวันไม่ใช่จีนแผ่นดินใหญ่เพราะว่า รัฐบาลไต้หวันในยุคนั้นต้องการเสริมสร้างความสามารถในการผลิตสินค้าของประเทศ และเซมิคอนดักเตอร์ ก็เป็นหนึ่งในสินค้าหลักที่พยายามผลักดัน เพราะว่าเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า ตั้งแต่สมาร์ทโฟน ไปจนถึงเครื่องซักผ้า หรือแม้แต่เครื่องบินทิ้งระเบิด และดาวเทียมที่หลายประเทศชิงความเป็นมหาอำนาจ
รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ Industrial Technology Research Institute (ITRI) โดย จาง ถูกเสนอให้นั่งเป็นประธานของ ITRI เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์ทั้งหมดของเขา และเซมิคอนดักเตอร์ยังเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนสูงมาก จึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญและเข้าใจวงการนี้มานานมานั่งเป็นหัวเรือใหญ่
และในปี 1987 ก็ถือกำเนิด Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC ขึ้นโดย มอร์ริส จาง เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะว่าเขาเองมีอีกหนึ่งความฝันที่อยากมีธุรกิจส่วนตัวและมีรายได้เป็นของตัวเอง ขณะที่อีกหนึ่งเหตุผลก็คือ “ยังไม่มีบริษัทไหนที่รับผลิตเซมิคอนดักเตอร์เลย” เช่น ชิป ที่จำเป็นต้องใช้กับอุปกรณ์หลายประเภท
TSMC จึงกลายเป็นบริษัทที่เข้ามารับจ้างผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้กับธุรกิจในไต้หวัน จีน และฮ่องกง และยังรวมถึงประเทศอื่นด้วย โดยเฉพาะ สหรัฐฯ
ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้หลายบริษัทเข้ามาเป็นลูกค้าของ TSMC เหตุผลสำคัญเลยคือ มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่ซับซ้อนและลอกเลียนแบบยาก เป็นอานิสงส์จากการที่ TSMC ได้ทำวิจัยร่วมกับ ITRI หลาย 10 ปีที่ผ่านมา
โดยในปี 2020 TSMC ทุ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนามากถึง 8.5% เทียบกับรายได้ทั้งบริษัท มากกว่า Apple และ Microsoft
ในระหว่างการพูดคุยของ จาง กับ SEMI ได้พูดถึงการเปรียบเทียบระหว่างวิศวกรชาวเอเชียกับอเมริกันว่าแตกต่างกันอย่างไร เขาให้คำตอบอย่างน่าสนใจว่า “ผมคิดว่าวิศวกรชาวเอเชียมีแนวโน้มที่จะมีระเบียบแบบแผนมากกว่า พวกเขามีความขยันหมั่นเพียรมากกว่า และเป็นวิศวกรที่มีความระเบียบเรียบร้อย ในขณะที่วิศวกรของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเรื่องความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาชอบสิ่งใหม่ ๆ มากกว่าเอเชีย แต่มักจะไม่มีระเบียบแบบแผนและเป็นระเบียบเท่ากับวิศวกรชาวเอเชีย”
หมายเหตุ: มอร์ริส จาง ถูกสัมภาษณ์ตั้งแต่ปี 2007 กับ SEMI และ The Computer History Museum
ภาพ: CNA
อ้างอิง: