สแตนลีย์ คูบริก: ผู้กำกับและทาสแมวที่เล่าเรื่องผ่านความสมบูรณ์แบบ

สแตนลีย์ คูบริก: ผู้กำกับและทาสแมวที่เล่าเรื่องผ่านความสมบูรณ์แบบ

สแตนลีย์ คูบริก ถือว่าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงการเป็นอย่างมาก วิธีการทำงานของเขานับว่ายากที่จะหาใครมาเปรียบได้ แต่นอกจากจะเป็นผู้กำกับสุดโหดที่ถ่ายแล้วถ่ายอีกจนนักแสดงจำฝังใจ เบื้องหลังชายคนนี้คนที่รักครอบครัวแถมยังเป็นทาสแมวอีกด้วย

เวลาดูภาพยนตร์ของคูบริก มันก็เหมือนกับการจ้องมองไปที่ยอดภูเขานั่นแหละ เพราะมันทำให้คุณมองขึ้นไปแล้วสงสัยว่า ‘ทำไมคนคนหนึ่งจึงสามารถไต่ขึ้นไปได้สูงเพียงนั้น?’

ถ้อยคำข้างต้นกล่าวโดย มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ผู้กำกับภาพยนตร์ในตำนานคนหนึ่ง เมื่อเขาพูดถึงคนหนึ่งคนที่เขายกย่องในผลงานเสมอมา 

ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมสุดเฮี้ยนจาก The Shining, ภาพอวกาศที่เหมือนจริงอย่าง 2001: A Space Odyssey, ความรุนแรงและศิลปะที่ถูกตีแผ่ผ่าน A Clockwork Orange, ด้านมืดของสงครามเวียดนามที่ถูกนำเสนอผ่าน Full Metal Jacket, หรือภาพวาดยุควิกตอเรียที่ยกมาอยู่บนจอภาพยนตร์ใน Barry Lyndon ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่ใครหลายคนต้องจดจำ นำไปศึกษา และพูดถึง และแม้ว่าหนังแต่ละเรื่องที่กล่าวมาสามารถเรียกได้ว่าคนละแนวกันอย่างสิ้นเชิง แต่มันสมองผู้อยู่เบื้องหลังงานเหล่านั้นมาจากคนคนเดียว - ‘สแตนลีย์ คูบริก’ (Stanley Kubrick)

คูบริกถือเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงการเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการหาลู่ทางใหม่ ๆ ในการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นการขยายกรอบของศิลปะภาพยนตร์ไปอีกหลายเท่า หรือไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการสร้างที่ละเอียดดั่งการประกอบจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ทีละชิ้นจนกลายเป็นภาพใหญ่ที่สมบูรณ์และประกอบกันเป็นภาพที่งดงาม และด้วยความที่เขาเชื่อในความสำคัญของจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ‘ทุก’ ชิ้น ก็ไม่แปลกที่ทุกรายละเอียดในเฟรมภาพของ ‘หนังคูบริก’ จะมีความหมายหรือทำหน้าที่ของมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่

อย่างไรก็ตาม ด้วยความละเอียดขั้นสุดของเขานำพามาซึ่งเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์อันสุดโต่งมากมาย ที่ทำให้นักแสดงหลายคนต้องตรากตรำกับการทำงานกับเขาเป็นอย่างมาก เพราะ ‘ความสมบูรณ์แบบ’ (Perfection) คือเป้าหมายสำคัญที่ชายที่ชื่อ สแตนลีย์ คูบริก พยายามไขว่คว้าในทุก ๆ การทำงาน 

เนื่องในโอกาสวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของสแตนลีย์ คูบริก เราจึงอยากพาผู้อ่านไปทราบถึงลักษณะนิสัยของผู้กำกับชั้นครูผู้นี้ว่า เพราะอะไรถึงทำให้งานของคูบริกกลายเป็นที่จดจำ ทรงคุณค่า และเป็นตัวอย่างให้ภาพยนตร์สมัยใหม่เสมอมาจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความละเอียดในการรีเสิร์ชข้อมูล ความคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบ และแนวคิดที่เชื่อในนวัตกรรมที่จะนำพาเขาไปสู่ความแปลกใหม่ในงานทุก ๆ งาน จนกลายเป็นงานขึ้นหิ้งที่ใคร ๆ ก็ต้องดูเป็นตัวอย่าง 

 

รายล้อมตัวเองไปด้วยกองข้อมูล

ก่อนจะออกมาเป็นผลงานแสนละเอียดที่เราได้เห็นกันนั้น สแตนลีย์ คูบริกเริ่มต้นด้วยการรีเสิร์ชอย่างหนักหน่วง บ้างก็ขนานนามว่าขั้นตอนการศึกษาหาข้อมูลของเขานั้นแทบไม่ต่างอะไรจากการค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำวิจัยเลย เพราะที่บ้านของเขานั้นมีห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือ แล้วคูบริกก็จะหมกตัวอยู่ในนั้นท่ามกลางข้อมูลมหาศาลกับหัวข้อที่เขาสนใจ เขาเปิดรับทุก ๆ แหล่งข้อมูลเพื่อการศึกษา

ด้วยเหตุนี้ บ้านของเขาจึงเต็มไปด้วยโกดังที่นอกจากจะเก็บฟิล์มภาพยนตร์แล้ว ก็ยังมีกล่องกระดาษที่เอาไว้ใส่ข้อมูลในโปรเจกต์ต่าง ๆ เรียงรายกันเป็นแถวยาวและสูง จุดนี้ทำให้เราเห็นว่าคูบริกเป็นคนที่ใฝ่รู้และหลงใหลในการศึกษาหาข้อมูลอันกว้างขวา

โดยประการแรกที่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนออกมาชัดที่สุดคือแนวของภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ที่เขาได้ทำมาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสยองขวัญ ไซไฟ ดราม่า โรแมนติก ย้อนยุค สงคราม หรือแม้กระทั่งหนังตลกเสียดสี แต่ความสนใจของเขาไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เพราะแท้จริงแล้วยังมีโปรเจกต์อื่นอีกมากมายที่คูบริกวางแผนแถมรีเสิร์ชไปแล้วว่าจะทำ เช่น ‘The Aryan Papers’ ภาพยนตร์เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ไม่ได้ทำ เหตุเพราะสปีลเบิร์กได้ทำ ‘Schindler’s List’ ไปแล้ว ณ ขณะนั้น

นอกจากนั้นก็ยังมีมหาโปรเจกต์ที่แม้ยังไม่ได้เปิดกล้องถ่าย มีเพียงข้อมูลและคอนเซ็ปต์อยู่บนหน้ากระดาษ ผู้คนต่างก็ขนานนามว่ามันจะเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ หนึ่งเรื่องอย่าง ‘Napoleon’ ที่เขาแพลนว่าจะได้ฉายในช่วงยุคทศวรรษ 1970 แต่โปรเจกต์ก็ถูกพับไปก่อน เขาเลยหันไปทำภาพยนตร์ย้อนยุคอย่าง ‘Barry Lyndon’ ที่ออกฉายในปี 1975 แทน โดยเขาได้ทำการศึกษาประวัติชีวิตของนโปเลียนตั้งแต่ต้นจนจบอย่างละเอียดจนได้สคริปต์มากว่า 148 หน้า ซึ่งถือว่าเป็นการค้นคว้าหาข้อมูลที่ละเอียดและพร้อมมาก ๆ แล้ว ติดที่ไม่ได้ทำ

ครั้งหนึ่งคูบริกยังเคยออกมาบอกว่า Napoleon - ถ้าได้ทำ - มันอาจจะเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของเขา

 

ขออีกเทกแล้วกัน

อย่างไรก็ตาม ภาพจำที่เด่นที่สุดของสแตนลีย์ คูบริกก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจาก ‘ความคลั่งไคล้ในความสมบูรณ์แบบ’ หรือ Perfectionist ของงานแทบจะทุก ๆ ชิ้น

หากจะต้องยกตัวอย่างกับความสุดโต่งของคูบริก ‘เชลลีย์ ดูวัลล์’ (Shelly Duvall) นักแสดงหลักในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง The Shining ที่รับบทเป็นนางเอกนามว่า ‘เวนดี’ (Wendy) คงเป็นร่องรอยอารยธรรมที่ชัดเจนที่สุดแล้ว

ในขณะที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เธอถูกปฏิบัติอย่างเย็นชามาก ๆ บรรยากาศภายในกองและโดยเฉพาะกับตัวผู้กำกับเอง เต็มไปด้วยความกดดัน เล่นวนซ้ำไปซ้ำมามากมายหลายเทก โดยเฉพาะซีนที่เชลลีย์ต้องถือไม้เบสบอลเพื่อรับมือกับแจ็คที่กำลังถูกครอบงำด้วยความโมโห ซึ่งฉากดังกล่าวถูกสั่งให้เล่นซ้ำไปซ้ำมากว่า 124 เทก

สาเหตุหนึ่งที่เชลลีย์ถูกปฏิบัติเช่นนั้นเป็นเพราะคูบริกอยากให้นักแสดงสามารถเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครได้อย่างแท้จริง จึงอยากจะใส่ความกดดันและความเครียดให้ผสมลงไป เรียกได้ว่าผมเชลลีย์ก็ร่วงแล้วร่วงอีกจากความเครียด หลังจากปิดกล้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ไป ทัศนะของเชลลีย์ที่มีต่อการแสดงก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อาจจะเพราะประสบการณ์ที่แย่มันฝังใจเธอตลอดมา

ผมไม่รู้หรอกว่าผมต้องการอะไร แต่ผมรู้แน่ว่าผมไม่ต้องการอะไร

และนั่นคือคติในการทำงานของสแตนลีย์ เขาเชื่อว่ามันคือหน้าที่ของนักแสดงที่จะทำหน้าที่แสดงในบทบาทที่เขาเขียนนั้นให้ออกมาสมจริงที่สุด ซึ่งแม้สแตนลีย์จะไม่มาบอกว่าต้องทำอะไรอย่างชี้ชัด แต่ในฐานะผู้กำกับ เขาสามารถนั่งดูที่จอแล้วบอกได้ว่ามันดูจริงหรือเฟค ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ค่อยปล่อยผ่านไปง่าย ๆ

นอกจากนั้นอีกหนึ่งแง่มุมที่เราเห็นได้จากการทำงานของสแตนลีย์ที่ถ่ายซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นสิบ ๆ หรือร้อย ๆ เทกคือการที่เขาต้องการให้นักแสดงรู้สึก 'เป็น' ตัวละครเหล่านั้นจริง ๆ กล่าวคือ เวลาที่สั่งแอคชั่น จะไม่มีการนึกถึงบทอีกต่อไปแล้ว นักแสดงเหล่านั้นต้องสามารถพูดมันออกมาเหมือนกับเขาเป็นตัวละครเหล่านั้นจริง ๆ และจากมุมมองของสแตนลีย์ ถ้านักแสดงสามารถทำแบบนี้ได้ ความสมจริงคือสิ่งที่ผู้ชมจะได้รับ และการถ่ายซ้ำไปซ้ำมาก็คือวิธีของสแตนลีย์ที่จะบรรลุผลในเป้าหมายนี้

 

อีกด้านหนึ่งของตัวตน

ผู้ชายที่ไม่ให้เวลากับครอบครัว ไม่มีวันเป็นลูกผู้ชาย

ถือเป็นถ้อยคำจากภาพยนตร์อมตะอย่าง The Godfather (1972) ที่ทำให้ใครหลายคนตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กับงานที่หลายคนมุ่งหมายจะทำให้สำเร็จ และแม้ว่าผู้กำกับของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะมีนามว่า ‘ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา’ (Francis Ford Coppola) แต่สแตนลีย์ คูบริก ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคนที่ทุ่มกับงานแต่ไม่เคยทอดทิ้งครอบครัว

แม้ว่าภายนอกหรือกับการทำงานในกองถ่าย คูบริกจะดูเป็นคนที่เย็นชา โหด ไม่เห็นใจ และไม่สุงสิงกับใคร แต่หารู้ไม่ว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาเมื่อใช้เวลากับครอบครัวกลับเป็นคนที่อบอุ่น ใจดี ดูแลใส่ใจ แถมยังเป็นทาสแมวอีกต่างหาก

เบื้องหลังของภาพยนตร์เรื่อง The Shining ถูกบันทึกมาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เขากำลังกำกับ ‘แดนนี ลอยด์​’ (Danny Lloyd) ที่มารับบทเจ้าหนูแดนนี ตอนที่เขากำลังคิดมุมถ่ายแจ็ค นิโคลสันที่ถูกขังอยู่ในห้องเสบียง หรือแม้กระทั่งจังหวะที่เขากำลังบ่น เชลลีย์ ดูวัลล์ กับการแสดงของเธอ แล้วผู้ที่อยู่เบื้องหลังกล้องสารคดีนั้นไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็น ‘วิเวียน คูบริก’ (Vivian Kubrick) ลูกสาวของคูบริกนั่นเอง 

เนื่องจากเขาอยากจะควบคุมงานและครอบครัวเข้าด้วยกัน เขาเลยแบ่งหน้าที่ให้ครอบครัวมาถือกล้องถ่ายเบื้องหลังเสียเลย จนท้ายที่สุดก็ได้ออกมาในชื่อเรื่องว่า Making ‘The Shining

โดยสิ่งที่ได้เล่ามาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความน่าสนใจของคนทำหนังผู้หลงใหลในความสมบูรณ์แบบคนนี้เพียงเท่านั้น ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าก่อนจะมีภาพยนตร์ขึ้นหิ้งหนึ่งเรื่องออกมาได้ คุณภาพของมันถูกสะท้อนออกมาตั้งแต่ ‘ความใส่ใจ’ ที่เขามีให้ในทุก ๆ รายละเอียดแล้ว แต่สิ่งที่น่าประทับใจไปกว่านั้นคือ แม้ว่าจะทุ่มเททั้งกายและใจไปให้กับการสร้างภาพยนตร์ แต่เขาก็ไม่เคยลืมที่จะโอบกอดครอบครัวเขาไว้เสมอ 

แม้วันไหนต้องไปออกกองถ่ายที่ไกลเกินจะโอบได้ คูบริกก็ตัดสินใจที่จะจูงมือพวกเขาเหล่านั้นมาด้วยเสียเลย นับว่าเป็นเหรียญอีกด้านที่อ่อนนุ่มและอบอุ่นของผู้กำกับที่โหดเหี้ยมและเย็นชา

 

หัวใจทาสแมว

แม้สแตนลีย์จะดูโหดและดุมาก ๆ เวลาทำงาน แต่ตัวเขาเองเป็นคนที่รักสัตว์เป็นอย่างมาก เขามีแมวที่บ้านถึง 16 ตัว ณ บ้านของเขาในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร สถานที่ที่เขาอยู่อาศัยเป็นหลักในช่วง 40 ปีหลังของชีวิต และด้วยความที่เขาให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอย่างมาก เขาจึงยกห้องตัดต่อมาไว้ที่บ้านตัวเองเสียเลย และหารู้ไม่ว่า นอกเสียจากคนที่มีงานต้องทำในห้องนั้นจริง ๆ ก็ไม่มีใครเลยที่ได้รับอนุญาตในการก้าวขาเข้าไปในห้องนั้น เว้นก็แต่แมวของเขา…

ย้อนกลับไปในช่วงปีที่สแตนลีย์กำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Barry Lyndon ที่ฉายในปี 1975 ซึ่งเขาต้องเดินทางไปถ่ายทำในประเทศไอร์แลนด์ ทำให้เขาต้องห่างบ้านและราชสีห์ตัวน้อยทั้งหลายไป ด้วยเหตุนี้สแตนลีย์จึงทำเอกสารที่มีความยาวกว่า 15 หน้าโดยมีหัวข้อว่า ‘Care Instructions: How To Look After The Animals’ ที่เป็นการแนะนำเกี่ยวกับการดูแลแมวของเขา ‘อย่างละเอียด’ ให้กับ คาธารินา คูบริก-ฮอบส์ (Katharina Kubrick-Hobbs) ลูกสาวของเขา โดยคู่มือเหล่านั้นมีอย่างต่ำ ๆ ก็ 37 ข้อเข้าไปแล้ว ซึ่งในคู่มือนอกจากจะเป็นวิธีการดูแลแล้วก็ยังมีวิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น

“ถ้าเฟรดดี้และลีโอเกิดตีกันขึ้นมา (ซึ่งทั้งสองตัวนี้เป็นพ่อ-ลูกกัน) ทางที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้คือการสาดน้ำไปที่ทั้งคู่เลย จากนั้นก็พยายามอุ้มเฟรดดี้ออกมาแล้วก็วิ่งออกจากห้องไปเลย และไม่ต้องพยายามจะไปอุ้มลีโอล่ะ อย่างไรก็ตาม ถ้าวิธีแรกไม่ได้ผล ก็ลองเปิดประตูให้เฟรดดี้วิ่งหนีดูก็ได้ เพราะยังไงลีโอก็วิ่งไม่ทันอยู่แล้ว แต่ถ้าทั้งคู่ดันไปตีกันในที่ที่ปิดสนิทที่ไม่สามารถจับแยกได้ ก็สาดน้ำไปเรื่อย ๆ แล้วก็พยายามตะโกน กรีดร้อง หรือกระโดดไปมาก็ได้ จะได้เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ แล้วก็โบกเสื้อหรือผ้าอะไรก็ได้… แล้วก็พยายามแยกเลย หลังจากนั้นก็ไปอุ้มเฟรดดี้มาซะ”

นั่นเป็นเพียงแค่ข้อที่ 37 จากคู่มือทั้งหมดเท่านั้น ไม่เพียงแต่สแตนลีย์ห่วงใยสัตว์เลี้ยงของเขาถึงขั้นทำเอกสารคู่มืออย่างจริง ๆ จัง ๆ ขึ้นมา แต่ในคู่มือนั้นล้วนเป็นการบรรยายวิธีการดูแลและการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างละเอียดไม่ต่างอะไรจากสคริปต์ภาพยนตร์ที่ตัวเขาเขียนหรือตอนที่เขากำกับนักแสดงมากมายหลายเทค นับว่าสแตนลีย์เป็นคนที่ซีเรียสกับความสมบูรณ์แบบในแทบจะทุก ๆ แง่มุมของชีวิตเลยทีเดียว

นอกจากจะเป็นคนที่ละเอียดแล้ว หนังสือคู่มือนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเขาไม่ใช่คน ‘ใส่ใจ’ ที่จะสนใจทุกรายละเอียดเล็ก ๆ ใส่ใจที่จะรู้ว่าแมวตัวไหนจะตีกัน และใส่ใจอีกต่างหากว่ามีหนทางใดบ้างที่จะหยุดการต่อสู้ของแมวทั้งสองภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เรียกได้ว่ามองล่วงหน้าไปหลายก้าวมาก ๆ แต่ความใส่ใจของเขาไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น 

ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยโทรฯ มาหาผมเพราะแมวเขาดื่มน้ำเยอะผิดปกติไปมาก ๆ

ไมค์ เฮอร์เทจ (Mike Herrtage) หัวหน้าภาควิชาแพทยศาสตร์แห่งคณะสัตวแพทย์เคมบริดจ์เล่าย้อนถึงครั้งที่สแตนลีย์โทรฯ ไปหาเขาเพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งไมค์ก็ต้องการจะทราบว่าในปริมาณที่มันเยอะไปนี่ที่สแตนลีย์บอกมานี่มันมากขนาดไหน เขาจึงจะสามารถวินิจฉัยอาการได้ ซึ่งสแตนลีย์ก็ตอบกลับว่าเขาวัดไม่ได้หรอก เพราะมันมีแมวหลายตัวมาก หลังจากนั้นไม่นานเขาก็โทรฯ กลับไปหาไมค์แล้วบอกว่า

แต่ผมสามารถนับได้นะว่าแมวผมเลียน้ำกี่ครั้งเวลามันกิน คุณพอจะทราบไหมว่าในแต่ละครั้งที่มันเลีย ปริมาณเฉลี่ยของน้ำมันจะประมาณเท่าไหร่?

อาจารย์ด้านสัตวแพทย์ที่รับโทรศัพท์ก็ตอบกลับไปว่าเรายังไม่มีข้อมูลในส่วนนั้นเลย สแตนลีย์ก็เลยตอบมาว่างั้นไม่เป็นไร เดี๋ยวผมไปหาเอง หลังจากนั้นสแตนลีย์ก็ไปศึกษาหาข้อมูลกับข้อสงสัยดังกล่าว แล้วเขาก็เอาจำนวนการเลียมาคำนวณคู่กับปริมาณต่อครั้งดั่งกับการทำโจทย์คณิตศาสตร์ แล้วผลลัพธ์ที่ได้มาก็เป็นปริมาณน้ำที่แมวของเขากินเพื่อนำมาให้หมอช่วยวินิจฉัยต่อไป

นี่เป็นเรื่องราวเกร็ดเล็ก ๆ ที่ฉายแสงไปยังด้านอีกด้านหนึ่งของผู้กำกับที่ใคร ๆ ต่างก็มองว่าโหดและเยือกเย็น ว่าแท้จริงแล้วเขาก็มีด้านที่อบอุ่นและรักสัตว์ แถมยังเป็นทาสแมวที่เอาใจใส่มาก ๆ คนหนึ่ง 

 

ภาพ: Murray Close / Contributo

 

อ้างอิง:

ภาพยนตร์เรื่อง ‘Stanley Kubrick: A Life in Pictures’

https://littlebuddythecat.com/2022/07/06/stanly-kubrick-had-a-15-page-guide-to-caring-for-his-cats/

https://www.youtube.com/watch?v=VZBeIt0pHlE

https://www.youtube.com/watch?v=qt7PKYAn0iw

https://www.youtube.com/watch?v=K9tPqClMKU0

https://www.youtube.com/watch?v=8o-n6vZvqjQ

https://www.youtube.com/watch?v=poWe6pVNXG4

https://www.slashfilm.com/764423/why-stanley-kubricks-epic-napoleon-film-was-never-made/

https://www.newyorker.com/culture/richard-brody/archive-fever-stanley-kubrick-and-the-aryan-papers

https://archive.nytimes.com/www.nytimes.com/library/film/070499mag-kubrick-profile.htm

https://www.thedigitalfix.com/stanley-kubrick/crazy-instructions-for-looking-after-his-pet-cats