‘กรกนก สว่างรวมโชค’ จากที่ไม่มีเงิน ชอบ DIY จนเป็นเจ้าของแบรนด์รองเท้า SHU

‘กรกนก สว่างรวมโชค’ จากที่ไม่มีเงิน ชอบ DIY จนเป็นเจ้าของแบรนด์รองเท้า SHU

เรื่องราวของ SHU แบรนด์รองเท้าของคนไทยที่เซเลบริตี้คนไทยและต่างชาติใส่กันมาก หลายคนรู้จักอยู่แล้วในมุมความสำเร็จ แต่อาจยังไม่รู้ว่า ‘ป้อ - กรกนก สว่างรวมโชค’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ต้องผ่านจุดวิกฤตทางเศรษฐกิจ และโชคชะตาชีวิตมากมายจนเกือบทำให้ธุรกิจเจ๊งมาแล้ว

ด้วยความที่พื้นเพเดิมฐานะที่บ้านไม่ได้มีกินมีใช้ตั้งแต่เด็ก ๆ ป้อเปิดใจกับ The People ว่า “ครอบครัวที่ค่อนข้างลำบาก เพราะว่ามีคุณแม่คนเดียว คุณแม่ก็เลยอยากให้เรียนอะไรก็ได้ที่แบบจบเร็ว ๆ จะได้มาช่วยทำงาน ดังนั้น ป้อจึงเรียนจบ ปวช. สายพาณิชย์ แต่ด้วยความที่ป้อรู้สึกว่าอยากได้ดี คิดว่าความรู้สำคัญ ก็เลยพยายามดิ้นรนเอนทรานซ์จนติดจุฬาฯ ด้านการจัดการระบบสารสนเทศ”

 

‘กรกนก สว่างรวมโชค’ จากที่ไม่มีเงิน ชอบ DIY จนเป็นเจ้าของแบรนด์รองเท้า SHU

 

ชอบ DIY เพราะที่บ้านไม่มีเงิน

เจ้าของธุรกิจ SHU ด้วยความที่เป็นคนรักสวยรักงาม แต่ติดปัญหาตรงที่ไม่มีเงินมากมายขนาดนั้น ข้อจำกัดเรื่องฐานะจึงทำให้ป้อพยายามหาทางออกด้วยตัวเองก็คือ คิดและแก้ปัญหาด้วยการ DIY ของใช้ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

“เราไม่ได้เรียนจบด้านดีไซน์มาเลย แต่สิ่งที่ทำให้เราสามารถดีไซน์ได้เพราะว่าอาจจะมาจากประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก ๆ คือเราไม่ได้มีเงินที่จะซื้อของมาแต่งตัว เราจึงเป็นคนที่ชอบคิด ชอบดัดแปลง ทำของใช้เองตั้งแต่เด็ก สมมติมีกางเกงขายาวตัวหนึ่งก็เอามาทำเป็นขาสั้น ตัดเองง่าย ๆ คือจะ DIY ด้วยตัวเองมาตลอด ดังนั้น ตรงนี้มันเหมือนสร้างให้เรามีเซนส์ในด้านการออกแบบ”

ป้อเล่าว่าเมื่อตอนเป็นนักศึกษายุคทองของ Center Point กระเป๋าก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมสมัยนั้น เทรนด์ตลาดจึงเป็นโอกาสที่ทำให้ป้ออยากลองทำธุรกิจเล็ก ๆ ขึ้นมา

“ในยุคนั้นในสยาม สินค้าที่เอามาขายกันจะเป็นสินค้าของโหล ของที่มาจากโรงงานผลิตมาเยอะ ๆ แต่พอมาเป็น Center Point มันเป็นสินค้า DIY ที่วางขายกันเยอะ มีทั้งกระเป๋าที่ทำมาจากพลาสติก ใส่ตุ๊กตาลงไป ใส่หมากเก็บ ทำจากยาง คือเอาวัสดุที่ไม่เกี่ยวกับกระเป๋าเลยมาทำ ซึ่งสำหรับป้อ ปกติเอาลูกปัดมาทำกระเป๋าใช้เองอยู่แล้ว ก็เลยได้ไอเดียตรงนี้ มองเห็นโอกาส จึงลองออกแบบกระเป๋าแล้วไปฝากขายตามร้านในสยาม”

ป้อยังเล่าถึงช่วงที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 เธอมีความคิดว่า “ถ้าคนใช้กระเป๋าเรา คือเรามองภาพออกว่าใครจะเป็นคนใช้ แล้วเขาจะดูดีขึ้นในแบบไหน เราพอจะเดาทางได้ว่า ออกแบบแบบไหนแล้วคนจะต้องชอบ ยิ่งคนใช้กระเป๋าเราจะเป็นนักศึกษาเหมือนกัน เรายิ่งเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร

“ธุรกิจขายกระเป๋าในสยามถือว่าดีมาก ๆ ในเวลาไม่กี่เดือนเราเก็บเงินได้เป็นหลักแสน แต่ช่วงที่ตลาดมันเริ่มซบเซาลง ก็เลยรู้สึกว่าเราจะพึ่งจมูกคนอื่นไม่ได้แล้ว พึ่งร้านค้าอื่นไม่ได้แล้ว ก็เลยเอาเงินเก็บทั้งก้อน ตัดสินใจเปิดร้านด้วยตัวเองที่สยาม ซึ่งค่าเช่าสูงมาก

“เรียกว่าเราทุ่มหมดตัว แล้วก็ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย ไม่มีเงินพอที่จะไปเป็นสายป่าน หรือเกิดขาดทุนขึ้นมาก็ไม่มีเงินต่อแล้วแน่นอน ซึ่งพอเปิดร้านที่สยาม เรารู้สึกว่าขายกระเป๋าอย่างเดียว กลัวรายได้จะไม่เพียงพอ ก็เลยเริ่มจากเสื้อผ้าก่อน เพราะว่าเป็นอะไรที่ทำได้ และคุณแม่ก็ตัดเย็บให้ได้ ก็เลยออกแบบเสื้อผ้า แล้วให้คุณแม่เย็บในช่วงแรก"

‘กรกนก สว่างรวมโชค’ จากที่ไม่มีเงิน ชอบ DIY จนเป็นเจ้าของแบรนด์รองเท้า SHU

“ส่วนจุดเริ่มต้นที่มาถึง ‘รองเท้า’ เพราะป้อรู้สึกว่าเป็น pain point ตั้งแต่เด็ก ป้อรู้สึกขาดรองเท้า อยากทำรองเท้าขึ้นมาเพื่อจะได้มีของใช้ที่ออกแบบเองทั้งตัวเลย คนมาร้านเราจะได้ซื้อเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า”

 

มรสุมวิกฤตเศรษฐกิจจนเกือบเจ๊ง

จากร้านแรกที่ชื่อว่า Bus Stop ป้อขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วตั้งแต่เป็นนักศึกษา จนเปลี่ยนมาเป็นชื่อ Sexy de Cute จนในปี 2550 ที่เจอปัญหากับวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งกระทบกับร้านที่มีอยู่ตอนนั้นประมาณ 5 - 6 สาขา (เปิดในสยามทั้งหมด)

“ยุคแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้คนกำลังซื้อตกลงมาก จากเด็กวัยรุ่นที่เดินสยามเยอะ ๆ ก็หันไปซื้อของที่ราคาถูกลงแถวโบนันซ่าหรือมาบุญครอง

“ในช่วงนั้นเราโดนก๊อบปี้เรื่องดีไซน์และวางขายในราคาที่ถูกลง เราเลยคิดว่า โอเค แสดงว่าดีไซน์รองเท้าของเราสวย เราก็เลยอยากทำรองเท้าที่ดีไซน์ในราคาที่จับต้องได้ จึงปรับคอนเซปต์นี้เปลี่ยนชื่อร้านเป็น Shuberry ซึ่งก็จะเป็นสินค้าที่ค่อนข้างแฟชั่น

‘กรกนก สว่างรวมโชค’ จากที่ไม่มีเงิน ชอบ DIY จนเป็นเจ้าของแบรนด์รองเท้า SHU

“จนมาปี 2555 ป้อเจอกับปัญหาเศรษฐกิจอีกครั้ง เรียกว่าเป็นลูกหลงเศรษฐกิจโลก มีทั้งน้ำท่วม ต่อด้วยกีฬาสีเมืองไทย หลายเหตุการณ์มันเกิดขึ้นหลายปีติดกัน นอกจากนี้ก็เป็นช่วงที่อินเตอร์แบรนด์เริ่มเข้ามาในเมืองไทย สินค้าแฟชั่นก็เริ่มทะลักเข้ามา ทั้งคู่แข่ง ทั้งเศรษฐกิจ ทำให้ประสบปัญหามากมาย จนเราเกือบเจ๊ง”

นอกจากที่ยกมาหลายเหตุการณ์ที่กระทบต่อธุรกิจรอบด้าน ป้อยังเผชิญกับปัญหาส่วนตัวอีกก็คือ ประสบอุบัติเหตุข้อเท้าหักจนทำให้มีปัญหาเท้าตั้งแต่ตอนนั้น ปัญหาซ้ำอีกอย่างก็คือ ไม่สามารถลองรองเท้าของตัวเองในช่วงที่รักษาตัวได้ และพอรักษาตัวหายแล้วก็มีปัญหาเรื่องโรครองช้ำ ใส่รองเท้าของตัวเองก็ไม่รู้สึกว่าสบายอีกต่อไป

“การหารองเท้าสุขภาพต่างประเทศก็ไม่ตอบโจทย์เรา ก็จึงกลายมาเป็นจุดที่ทำให้เราหันมาทำรองเท้า Sofashoes เพื่อรักษาตัวเอง จนทำให้วันหนึ่งรองเท้า Sofashoes ได้รับรางวัลนวัตกรรมด้วย ก็เลยเป็นตัวที่เรียกว่าพลิกฟื้นธุรกิจจากที่ติดลบ เกือบจะตายอยู่แล้วก็กลับมาพุ่งทะยาน คนรู้สึกและสนใจ Sofashoes”

“เรารู้สึกอยากหันมาทบทวนตัวเองว่า เราทำธุรกิจมานานมาก ผ่านมรสุมเศรษฐกิจมาก็มาก เราเลยรู้สึกว่าอยากจะทำให้ธุรกิจเราแข็งแรง จึงหันมาสนใจกับการสร้างแบรนด์ ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนจากชื่อแบรนด์ Shuberry มาเป็น SHU และเน้นการสร้างแบรนด์มากขึ้น หมายถึงการทำให้ลูกค้ารู้จัก value ของสินค้าจริง ๆ ก็คือจับ 2 ฟีเจอร์ตั้งแต่นั้นมา รองเท้าของเราต้องสวยและใส่สบาย

“ที่ผ่านมาจริง ๆ ก็มีหลายตัวที่เราเฟลนะ พยายามทำนวัตกรรมกับรองเท้าออกมาเยอะแยะมากมาย ถ้าใครเป็นลูกค้า SHU จริง ๆ ก็จะรู้ว่ามี Sofashoes เป็นรุ่นที่มีปุ่มนวด เดี๋ยวก็มีบางรุ่นออกมาเป็นรุ่นน้ำอยู่ในรองเท้า เดินไปนวดไป ซึ่งทั้งหมดมันดีนะ เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถโฟกัสภาพจริง ๆ ของธุรกิจ ไม่สามารถสื่อสารทุกเรื่องให้ลูกค้าเห็นได้”

สำหรับป้อมองว่า “เราต้องเรียนรู้แบบตลอดและต่อเนื่อง และมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา การทำธุรกิจเราต้องเจอปัญหาตลอดเวลา ดังนั้นต้องฝึกสกิลของการที่ไม่หยุดนิ่ง แล้วต้องคอยแก้ปัญหา ที่สำคัญประตูแห่งโอกาสต้องคอยเปิดอยู่เสมอ”

อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ SHU ได้มีโอกาสไปร่วมงาน VersaThai ที่ประเทศมาเลเซีย ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้ SHU เปิดประตูสู่ต่างประเทศไปอีกก้าว เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันก็เป็นแผนของ SHU ที่จะขยายตลาด เพียงแต่จะเริ่มไปต่างประเทศปี 2566 ป้อพูดว่า “การที่ได้ร่วมงาน VersaThai เหมือนเปิดประตูให้เราได้ไปสัมผัส ให้ไปเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าจริง ๆ ได้ไปรู้ตลาดจริง ๆ ว่าตลาดที่มาเลเซียเป็นอย่างไร

“ป้อคิดว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก เพราะจากการที่เรายังไม่ได้ไป แค่เอาจากร้านที่เราอยู่ในจุดที่ต่างชาติเข้ามาเนี่ย ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าเราก็เป็นมาเลเซีย สิงคโปร์อยู่แล้ว ซึ่งป้อมองว่าการที่ได้ไปร่วมที่นี่ ถือว่าเราไปถึงตลาดนั้นจริง ๆ แล้วได้เห็นอินไซต์จริง ๆ”

 

 

 

ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม