สตีเวน สปีลเบิร์ก: พ่อมดฮอลลีวูดบนปก TIME เล่าวัยเด็กที่สวยงามแต่ไม่ราบเรียบ

สตีเวน สปีลเบิร์ก: พ่อมดฮอลลีวูดบนปก TIME เล่าวัยเด็กที่สวยงามแต่ไม่ราบเรียบ

ย้อนมองเรื่องราวของ ‘สตีเวน สปีลเบิร์ก’ (Steven Spielberg) พ่อมดแห่งฮอลลีวูด ในวัยเด็กที่ดำเนินมาอย่างไม่ราบรื่นแต่สวยงาม จนกลายเป็นประเด็นขึ้นปกนิตสาร TIME ฉบับปลายปี 2022

สตีเวน สปีลเบิร์ก’ (Steven Spielberg) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่โด่งดังและประสบความสำเร็จมากที่สุดจนได้ฉายาว่าเป็น ‘พ่อมดแห่งฮอลลีวูด’ (The Wizard of Hollywood) ผลงานของสปีลเบิร์กหลายชิ้นถือเป็นส่วนหนึ่งในวัยเด็กของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวมิตรภาพระหว่างมนุษย์ต่างดาว E.T. the Extra-Terrestrial, ให้กำเนิดคำว่าภาพยนตร์บล็อคบัสเตอร์ (Blockbuster) กับฉลามยักษ์ Jaws, วาดฝันให้เป็นจริงผ่านความระทึกขวัญสุดตระกาลตากับไดโนเสาร์จากยุคดึกดำบรรพ์ในไตรภาค Jurrasic Park, การผจญภัยเพื่อเฟ้นหาสมบัติกับ อินเดียนา โจนส์ (Indiana Jones) ใน Raiders of the Lost Ark, ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ตีแผ่ความโหดร้ายจากสงครามโลกครั้งที่สองกับ Schindler’s List, หรือแม้กระทั่งการสานฝันป็อปคัลเจอร์ให้เข้ากับเทคโนโลยีในอนาคตจนใคร ๆ ไม่ว่าจะสายไหน ๆ ก็ต้องขนลุกกับ Ready Player One 

ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นิตยสาร TIME ได้ออกมาเผยบุคคลที่จะขึ้นปกนิตยสารฉบับถัดไป ปรากฎว่าบุคคลคนนั้นก็หาใช่ใครอื่น แต่เป็นพ่อมดแห่งฮอลลีวูดดังที่เราได้กล่าวไปนั่นเอง

แต่ด้วยวาระใด สตีเวน สปีลเบิร์กถึงได้ถูกนิตยสาร TIME นำไปขึ้นเป็นบุคคลประจำปกของฉบับนั้น?

สปีลเบิร์ก. ผู้กำกับภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดในโลกและเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเล่าที่เขาเฝ้าคอยที่จะบอกต่อมากว่า 60 ปี

การที่เขาปรากฎขึ้นบนนิตยสาร TIME ในแง่หนึ่งก็เป็นการโปรโมทภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่เขาร่วมเขียนบทและกำกับด้วยตัวเองอย่าง ‘The Fabelmans’ ที่จะเข้าฉายในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ (สำหรับประเทศไทยก็คงต้องรอไปถึงปีหน้า) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของตัวเขาเองในวัยเด็ก แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการมองย้อนกลับไปในอดีตถึงเส้นทางการเติบโตและสิ่งที่หล่อหลอมพ่อมดให้เป็นพ่อมดดังทุกวันนี้

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแตกต่างโดดเดี่ยวจากกลุ่มเพื่อน ปัญหาครอบครัวที่พ่อและแม่ต้องแยกทางกัน หรือว่าจะเป็นแรงกดดันในการพิสูจน์ตัวเองในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เมื่อต้องทำหนังกับสตูดิโอเรื่องแรก อุปสรรคอันเป็นเส้นทางที่ขรุขระในชีวิตล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างผู้กำกับผู้วาดฝันจากจินตนาการสู่จอภาพยนตร์จนใครก็คุ้นหูกับชื่อ ‘สปีลเบิร์ก’

 

ลักลอบเข้าสตูดิโอด้วยการซ่อนตัวในห้องน้ำ

ในช่วงชีวิตการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่แทบจะเรียกว่าบ้านหลังที่สองของเขาคือกองหรือสตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นกล้อง ไฟ นักแสดง หรือทีมงานก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับอุปกรณ์เครื่องครัวในบ้าน แม้ว่าในปี 2022 พ่อมดคนนี้ก็ยังร่ายมนต์ออกเป็นภาพยนตร์อย่างไม่หยุดพัก แต่การคลุกคลีกับกองถ่ายหรือสตูดิโอของสปีลเบิร์กไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในวันที่เขามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับแบบเต็มตัวดังทุกวันนี้ แต่เขาได้แทรกซึมไปอยู่กับภาพยนตร์ตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง 20 เสียด้วยซ้ำ

ผมคิดว่าเด็ก ๆ ทุกคนก็ต้องผ่านกระสบการณ์การสร้างภาพยนตร์กันมาทั้งนั้นแหละ ในวันที่พ่อแม่ของเขาซื้อของขวัญวันเกิดเป็นพวกตัวตุ๊กตุ่น ทหาร ตัวละครตัวเล็ก ๆ – ตอนผมเป็นเด็กผมได้คาวบอย – แล้วพวกเขาก็นอนราบไปกับพื้น จับของเล่นสองตัวนั้นขึ้นมาในระดับสายตาให้มันสมจริงมาก ๆ ข้างหนึ่งก็ถือตัวหนึ่ง อีกข้างก็ถืออีกตัวหนึ่ง แล้วก็ ปัง ปัง ปัง ปัง! นั่นแหละครับการสร้างภาพยนตร์ พวกเราก็เริ่มต้นมาจากจุดนั้นกันทั้งนั้น แล้วผมก็คิดว่าผมน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่โตจากอะไรแบบนั้นเสียที

สปีลเบิร์กเริ่มจับกล้อง 8 มม. ของพ่อตัวเองเพื่อถ่ายโน่นถ่ายนี่เป็นภาพยนตร์ตั้งแต่มีอายุเพียงแค่ 12 ปี ชีวิตในโรงเรียนของเขาเป็นไปได้ไม่ราบรื่นเสียเท่าไรนัก เขาไม่สามารถเข้ากับเพื่อนได้มากขนาดนั้น กีฬาก็ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเขาพิสมัย ดังนั้นความสุขที่มีอยู่ของเขาจึงหันเหมาหาจินตนาการ และศิลปะแขนงที่พร้อมจะละเลงภาพฝันของเขาให้เกิดขึ้นจริงที่สปีลเบิร์กตัดสินใจเลือกก็คือ ‘ภาพยนตร์’

ย้อนกลับไปในตอนที่เขาอายุ 18 ปี ระหว่างนั้น สปีลเบิร์กไปอาศัยอยู่บ้านญาติในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ณ ย่าน Canoga Park ในรัฐแคลิฟอร์เนียร์ ประเด็นอยู่ที่ว่า ในวันที่พ่อมดวัยรุ่นเลือดใหม่ไฟแรงกระหายความรู้ทางด้านภาพยนตร์ เขาได้ซื้อตั๋วไปทัวร์ Universal Studios แต่ใคร ๆ ก็ไปทัวร์ที่นั้นกันทั้งนั้น จะชอบหนังหรือไม่ชอบหนัง ใคร ๆ ก็อยากเห็นว่าเบื้องหลังความวิเศษบนจอภาพยนตร์เป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปของสปีลเบิร์กคือการที่เขาแอบเนียนเข้าไปอยู่ในสตูดิโอโดยไม่กลับบ้าน ในช่วงที่มีการพักเข้าห้องน้ำ ในขณะที่นักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ เดินกลับขึ้นรถบัส แต่สปีลเบิร์กกลับไปแอบอยู่ในห้องน้ำ หลังจากรถบัสล้อหมุนออกไปจากสถานที่แล้ว ก็ถึงเวลาที่สปีลเบิร์กได้โอกาสบุฟเฟ่ต์เดินดูอุปกรณ์เบื้องหลังและบรรยากาศตามใจชอบ

แม้จะไม่รู้เลยว่าจะกลับบ้านด้วยตัวเองอย่างไร แต่เขาก็หรรษากับประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้นเขาก็ต้องกลับบ้าน สปีลเบิร์กจึงเดินไปหาผู้ใหญ่คนหนึ่งเพื่อที่จะโทรศัพท์หาทางกลับบ้าน ซึ่งเขาก็บังเอิญไปพบกับ ‘ชัค ซิลเวอร์ส’ (Chuck Silvers) หัวหน้าหอเก็บภาพยนตร์ ซึ่งพอชัคได้ยินเรื่องราวของสปีลเบิร์กหัวเราะและเอ่ยชมความมุ่งมั่นของหนุ่มไฟแรงคนนี้ แถมยังให้ตั๋วเข้าฟรีสามวันอีกด้วย

แม้ตั๋วที่ได้มาจะทำให้เข้าชม Universal Studios ฟรี ๆ ได้ถึงสามวัน แต่ดูเหมือนว่าสปีลเบิร์กหวังจะใช้มันให้เกินคุ้มไปเลย เขาไป-มาที่สตูดิโอบ่อยจนสนิทกับยามถึงขั้นที่ว่า ถ้าเดินมา ยิ้มทักทาย และชูตั๋วเข้าสามวันที่หมดอายุไปนานแล้ว เขาก็สามารถเข้าได้ และเขาก็ทำแบบนั้นไปถึงสองฤดูร้อนติดต่อกัน

สปีลเบิร์กไปปรากฎอยู่ที่สตูดิโอบ่อยจนใครหลายคนก็เริ่มจำเขาได้ ทีมงานที่นั่นหลายคนถึงขั้นคิดว่าเขาเป็นเด็กวิ่งประสานงานทำโน่นทำนี่หรืออะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่มีใครได้ไปเอ่ยถามว่าเขามาหน้าที่ทำอะไรแน่ ชีวิตของเขาและสตูดิโอภาพยนตร์จึงดำเนินมาบรรจบกันหลังจากนั้น

 

เรียนไม่ยุ่ง มุ่งทำหนัง

ในช่วงเวลาเดียวกับที่สปีลเบิร์กกำลังแทรกตัวเองเข้าไปในสตูดิโอของ Universal เขาก็ได้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย California State College แม้ว่าตัวเขาเองอยากจะได้อีกที่หนึ่งแต่เกรดของเขาดูจะไม่สวยเสียเท่าไรนัก สปีลเบิร์กก็ได้เริ่มศึกษาเล่าเรียนไปพร้อม ๆ กับฝึกงานแบบฟรี ๆ กับ Universal Studios เพื่อปูทางสร้างคอนเนคชั่นไปพร้อม ๆ กับการสั่งสมประสบการณ์

สปีลเบิร์กจัดเวลาเรียนแต่ละวิชาให้กระจุกอยู่ในวันจันทร์และวันอังคาร เพื่อที่วันอื่น ๆ ในสัปดาห์เขาจะได้ไปลุยฝึกงานในสิ่งที่เขารัก เรียกได้ว่าเขาแทบจะไม่ได้ใส่ใจสิ่งที่เรียนเสียเท่าไรนัก เน้นไปแต่สิ่งที่เขาอยากทำ ซึ่งเขาก็ลงมือทำมันอย่างไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าการศึกษาจะไม่ได้มีประโยชน์สำหรับเขาเลย แม้สปีลเบิร์กเคยกล่าวเอาไว้ว่าการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยไม่ค่อยมีประโยชน์ที่จำเป็นสำหรับเขา แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เขาสามารถผัดผ่อนการที่จะถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามเวียตนามได้ เขาจึงนิยามมันว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งในชีวิต

คงจะเป็นเรื่องจริงที่สปีลเบิร์กไม่ใช่เด็กเรียนสักเท่าไหร่นัก ไม่เพียงแค่เขาได้เกรด C ตอนมัธยมจนไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน เรียนไม่ยุ่ง มุ่งแต่ไปฝึกงานในช่วงมหาวิทยาลัย ถึงขั้นว่าตัวเขาดรอปจากมหาวิทยาลัยในปี 1968…

แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไปสามสิบกว่าปี สปีลเบิร์กก็ได้ไปทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งและนำมาส่งเป็นภาพยนตร์ธีสิสนักศึกษาเพื่อสำเร็จการศึกษา ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีชื่อว่า ‘Schindler’s List

 

เด็กหนุ่มไฟแรงและแรงกดดัน

หากมองในยุคมัยนี้ เมื่อชื่อของสตีเวน สปีลเบิร์กปรากฎขึ้นบนโปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่องใด แน่นอนว่าใครหลยคนก็ต้องให้ความสนใจเรื่องนั้นไม่น้อย เพราะหากย้อนมองกลับไปในแต่ละผลงานที่เราได้กล่าวไปในต้นบทความ เราก็จะเห็นว่าต้องมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราเคยมีประสบการณ์ร่วมกับมัน ต้องมีอย่างน้อยสักหนึ่งเรื่องที่เป็นส่วนหนึ่งในวัยเด็กของใครสักคน สปีลเบิร์กได้พิสูจน์ตัวเองอย่างแจ้มแจ้งแล้วว่าเขาสามารถวาดฝันจากจินตนาการที่ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สนุกสนานไปกับมันได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องไหน ๆ ถ้าเนื้อหาของมันถูกระบายด้วยพ่อมดคนนี้ ก็มั่นใจได้แน่นอนว่ามันจะสนุก

แต่ครั้งหนึ่งพ่อมดคนนี้เคยถูกรายล้อมด้วยคนที่ ‘ไม่เชื่อมั่น’ ในตัวเขา ย้อนกลับไปในวันที่เขาเริ่มทำงานกับทาง Universal Studios สปีลเบิร์กถูกมอบหมายให้ไปถ่ายทำฉากไพลอตของภาพยนตร์เรื่อง Night Gallery ซึ่งมาดารานำอย่าง โจน ครอว์ฟอร์ด (Joan Crawford) ซึ่งถือเป็นดารารุ่นใหญ่ของฮอลลีวูด ณ ขณะนั้น ซึ่งการถ่ายทำครั้งนั้นสปีลเบิร์กบรรยายว่ามันคือ ‘สัปดาห์นรก’ ของการเริ่มต้นเส้นทางการทำหนังของเขา

ตอนที่ผมไปปรากฎตัวที่กองถ่าย ผมยาวแถมสิวเต็มหน้า แล้วก็มีวิวไฟน์เดอร์คล้องอยู่ที่คอของผม เหมือนห้อยพระห้อยของขลังอะไรทำนองที่จะปกปักรักษาผมจากเหล่าปีศาจร้ายอะไรทำนองนั้นเลย ซึ่งพวกเขาก็มองมาที่ผมแล้วบอกว่า ไอเด็กนี่ควรพิสูจน์ตัวเองโดยไว ไม่งั้นเขาจะขอถอนตัวไปก่อน

สปีลเบิร์กเล่าว่าเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันและการเพ่งเล็งมหาศาลจากทีมงาน เปรียบเสมือนว่าเขาเป็นภัยต่อความมั่นคงของกองถ่ายอะไรทำนองนั้นไม่มีผิด ซึ่งการทำงานแบบมืออาชีพครั้งแรกก็เป็นไปได้อย่างไม่ราบรื่นเลยแม้แต่น้อย สปีลเบิร์กเล่าว่าเขาโดนทางสตูดิโอ โดนโปรดิวเซอร์ตะคอกใส่ จอห์น แบดแฮม (John Badham) โปรดิวเซอร์คนหนึ่งในกองถ่ายถึงขั้นบอกเขาว่า

ตามให้ทันหน่อยไม่ได้หรือยังไง?

มันโหดร้ายมากเลยนะเอาจริง ๆ เหมือนทำพิธีศีลจุ่มด้วยไฟเลย ผมไม่รู้ว่าเขามีเจตนาร้ายหรือแค่อยากรับน้องใหม่ แต่บอกตรง ๆ ว่าสัปดาห์นั้นแม่งนรกชัด ๆ

ถึงกระนั้นวัยรุ่นไฟแรงที่กำลังเจอกับแรงกดดันมหาศาลก็มีช่างภาพนามว่า ดิก แบ็ตชเลอร์ (Dick Bachelor)พร้อมทั้งนักแสดงมากมายหลายคนรวมถึงครอว์ฟอร์ดด้วย แต่ละคนก็ขั้นอาวุโสกันทั้งนั้น แต่พวกเขาก็อยากจะช่วยเด็กคนนั้นให้ผ่านพ้นกับแรงกดดันต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี และท้ายที่สุดการถ่ายทำก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

อย่างน้อยเรื่องราวนี้ก็แสดงให้เราเห็นว่า แม้ว่าสตีเวน สปีลเบิร์ก จะถูกขนานนามว่าเป็นพ่อมดแห่งฮลลีวูดที่หยิบจับอะไรก็สนุกสนานและดูมหัศจรรย์ไปเสียหมด แต่หากย้อนมองกลับไปในอดีต กว่าเขาจะเป็นพ่อมดดังที่เขาเป็นในวันนี้ได้ มันไม่ง่ายเอาเสียเลย เขาต้องแทรกตัวเองไปอยู่ในสตูเพื่อศึกษาสิ่งที่เขารัก เขาต้องเลือกระหว่างเรียนกับทำงานตามความฝัน เขาต้องพิสูจน์ตัวเองท่ามกลางทุกคนที่ไม่เชื่อฝีมือของเขา แต่ท้ายที่สุดเขาก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวงและเป็นพ่อมดแห่งวงการฮลลีวูดดังทุกวันนี้

ไม่แน่… หากวันนั้นเขาไม่ตัดสินใจที่จะแอบห้องน้ำ เราอาจจะไม่ได้ยินชื่อของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ในภาพยนตร์ที่อยู่ในวัยเด็กของเราหลายเรื่องก็เป็นได้ หรือปกนิตยสาร TIME ฉบับนี้อาจจะเป็นภาพของคนอื่น ไม่ใช่ ‘สปีลเบิร์ก’

 

ภาพ: Tristan Fewings / Stringer

อ้างอิง: 

Schickel, Richard. 2012. SPIELBERG: A Retrospective. Thames and Hudson

Steven Spielberg Waited 60 Years to Tell This Story