ซีรีส์ ‘Reborn Rich’ ตีแผ่ ‘แชบอล’ ตระกูลเศรษฐีผูกโยงเศรษฐกิจ-การเมืองเกาหลีอย่างไร?

ซีรีส์ ‘Reborn Rich’ ตีแผ่ ‘แชบอล’ ตระกูลเศรษฐีผูกโยงเศรษฐกิจ-การเมืองเกาหลีอย่างไร?

ซีรีส์ ‘Reborn Rich’ ติดอันดับหนึ่งในซีรีส์ที่ยอดผู้ชมมากที่สุดในปี 2022 และกำลังไต่อันดับซีรีส์ที่ยอดผู้ชมมากที่สุดตลอดกาลของเกาหลี นอกจากเนื้อหาที่เข้มข้น ยังมีแง่มุมเกี่ยวกับ ‘แชบอล’ ตระกูลเศรษฐีผูกโยงเศรฐกิจ-การเมืองเกาหลี

  • ซีรีส์ ‘Reborn Rich’ ที่ดัดแปลงจากนิยายออนไลน์ นำแสดงโดย ซงจุงกิ กลายเป็นซีรีส์มาแรงที่สุดในปีนี้ 
  • เนื้อเรื่องของซีรีส์ชวนให้นึกถึงเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ โดยผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์ว่าได้แรงบันดาลใจจากเครือบริษัทใหญ่ของประเทศอย่าง ซัมซุง และฮุนได
  • หลายฉาก หลายซีนในซีรีส์เล่าถึงเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง สะท้อนความเชื่อมโยงของ ‘แชบอล’ กับเศรษฐกิจและการเมืองแห่งเกาหลีใต้อย่างแนบแน่น

ถือเป็นหนึ่งในซีรีส์มาแรงสุด ๆ จนติดอันดับหนึ่งในซีรีส์ที่มียอดผู้ชมมากที่สุดในปีนี้ และกำลังไต่อันดับซีรีส์ที่มียอดผู้ชมมากที่สุดตลอดกาลของเกาหลีไปแล้ว สำหรับ ‘Reborn Rich’ (재벌집 막내아들) ที่สร้างจากนิยายออนไลน์ชื่อเดียวกัน ซึ่งผู้เขียน ‘ซันกยอง’ เคยให้สัมภาษณ์ว่าได้แรงบันดาลใจจากเครือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ‘ซัมซุง’ และ ‘ฮุนได’ (ซัมซอง-ฮยอนแด) เป็นหลัก

หากผู้อ่านลองผนวกรวมหลาย ๆ เหตุการณ์ในเรื่องเข้าด้วยกัน จะพบว่า มีอีกหลายบริษัทใหญ่ของเกาหลีที่ถูกหยิบยกมาบอกเล่าในซีรีส์ โดยปรับเปลี่ยนชื่อไป ไม่ให้ตรงกับบริษัทที่มีอยู่จริง แต่หลัก ๆ แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ซีรีส์เรื่องนี้ดึงแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากบ้านตระกูลอี ผู้ก่อตั้งบริษัทซัมซุง โดยมีการสลับตัวละครระหว่างเจเนอเรชันบ้าง เพื่อให้สามารถเล่าหัวจิตหัวใจของการเป็นเศรษฐีระดับ ‘แชบอล’ ได้อย่างรอบด้านและน่าติดตาม

ก่อนจะไปที่การถอดแบบตัวละครจากคนจริง ๆ นั้น เราต้องอธิบายชื่อซีรีส์ภาษาเกาหลี หรือก็คือชื่อนิยายออนไลน์ต้นฉบับเสียก่อน โดย 재벌집 막내아들 (แชบอลจิบ มังแนอาดึล) แปลตรงตัวได้ว่า ลูกชายคนสุดท้องของตระกูล/บ้านแชบอล ซึ่งถ้าเทียบจากสถานการณ์จริงแล้ว ตำแหน่ง ‘ลูกชายคนสุดท้อง’ ที่ว่า สำหรับชาวเกาหลี จะนึกถึงใครไปไม่ได้นอกเหนือไปจาก อีกอนฮี ลูกชาย ‘คนสุดท้อง’ หรือก็คือลูกคนที่ 7 ของ อีบยองชอล ประธานคนแรกของซัมซุง ที่เกิดกับภรรยาหลวง พักดูอึล นั่นเอง โดยนับว่าเป็นลูกที่เป็นผู้ชายอายุน้อยที่สุด จากลูก ๆ ที่มีสิทธิ์ได้รับมรดกของท่านประธานผู้ก่อตั้งบริษัท

ช่องยูทูบการเงิน 소비더머니 ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นลูกคนเล็กของตระกูลแชบอลได้อย่างน่าสนใจ โดยบอกว่า การเป็นลูกคนเล็กมักหมายถึงส่วนแบ่งทรัพย์สินที่น้อยกว่าพี่ ๆ ยิ่งในครอบครัวใหญ่ที่มีพี่น้องเยอะด้วยแล้ว ทั้งอายุ ประสบการณ์ทำงาน และส่วนแบ่งของธุรกิจครัวเรือนที่เหลืออยู่ ย่อมไม่ใช่สัดส่วนที่เท่าเทียมกับ ‘คนที่มาก่อน’ อย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับสังคมที่ยึดถือระบบอาวุโสไว้อย่างเหนียวแน่นอย่างประเทศเกาหลี

เมื่อพูดถึงความเป็นลูกคนเล็ก ที่ไม่ได้สิทธิ์ในกิจการเท่า ๆ กับพี่ ๆ ด้วยความเป็นลูกสาวคนเดียวนั้น ตัวละคร ‘จินฮวายอง’ แห่งซุนยังกรุ๊ปในเรื่อง Reborn Rich แทบจะถอดแบบมาจาก อีมยองฮี ลูกสาวคนเล็กของประธานอีบยองชอล ตรงที่ได้รับห้างสรรพสินค้าไปบริหารเหมือนกัน โดยห้างของเครือซัมซุงคือ ชินเซกเย (Shinsegae) ที่ ณ ตอนแบ่งสมบัติมีแค่ไม่กี่สาขาเท่านั้น และยังไม่มีแผนจะแตกไลน์ออกไปจับธุรกิจปลีกย่อยอื่น ๆ

อีมยองฮี เป็นหญิงแกร่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากเมื่อคราวที่ลูกชายของเธอ จองยงจิน แต่งงานกับนักแสดงคนดัง โกฮยอนจอง ที่สุดท้ายต้องเลิกรากันไป พร้อมกระแสข่าวมากมายว่านักแสดงหญิงถูกทางบ้านฝ่ายชายดูถูก ด้วยความที่ทำอาชีพ ‘เต้นกินรำกิน’ รวมถึงประวัติการศึกษาที่ไม่ได้โดดเด่น ส่วนนี้อาจเป็นรากฐานของการสร้างตัวละคร อีแฮอิน หรือ ‘แม่พระเอก’ ที่การแต่งงานกับเธอ ทำให้ผู้เป็นสามีต้องถูกตัดขาดจากครอบครัวก็เป็นได้

แต่แน่นอนว่าศูนย์กลางของ Reborn Rich อยู่ที่ ประธานจินยังชอล แห่งซุนยัง ที่ถอดแบบจาก ประธานอีบยองชอล แห่งซัมซุง มาตั้งแต่ชื่อ โดยคำว่า ‘ชอล’ ของทั้งสองมาจากตัวจีนหรือ ‘ฮันจา’ เดียวกันด้วย (喆) ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสำเนียงพูดแบบคยองซังโด การแสกผม และแว่นตา ก็ถือเป็นจุดเด่นที่ทั้งคู่มีตรงกันทุกประการ

ยังไม่นับเรื่องงานอดิเรกอย่างการสะสมชิ้นงานศิลปะและการเขียนอักษรด้วยพู่กัน รวมถึงการสร้างบ้านหลังใหญ่บนที่ดินที่มี ‘พลังงานไหลเวียนดี’ เหมือนกันอีก ซึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ อย่างความชื่นชมในศิลปะและเชื่อถือเรื่องฮวงจุ้ยนั้น ถือเป็นสิ่งที่แชบอลมีตรงกันแทบจะทุกตระกูล

โลกศิลปะถือเป็นสิ่งที่ผูกติดกับเงินและความร่ำรวยอย่างแยกจากกันไม่ได้ ดูจากตัวละคร โมฮยอนมิน หลานสะใภ้คนโตของซุนยัง ที่มาจากตระกูลผู้บริหารสื่อยักษ์ใหญ่และมีแกลเลอรีงานศิลปะเป็นของตัวเอง ซึ่งผู้ชมเกาหลีหลายคนเทียบหน้าตาท่าทางและความสวยของเธอกับ อีบูจิน หลานสาวแท้ ๆ ของประธานอีบยองชอล แต่ความจริงแล้ว คาแรกเตอร์นี้แทบจะเรียกได้ว่าถอดแบบมาจากแม่ของเธอ ฮงราฮี สะใภ้เล็กของอีบยองชอล ที่สุดท้ายแล้วได้ขึ้นเป็นนายหญิงคนใหม่ของอาณาจักร เพราะสามีของเธอ อีกอนฮี ได้เป็นผู้สืบทอดบริษัท และเป็นประธานใหญ่คนที่ 2 ของซัมซุงในเวลาต่อมา

ฮงราฮี เป็นลูกสาวของ ฮงจินกี นักข่าวและนักธุรกิจที่มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมาก เขาเคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีของรัฐบาลอีซึงมาน และเป็นคนที่ประธานใหญ่ซัมซุงเลือกให้บริหาร จุงอังอิลโบ หนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งโดยซัมซุงกรุ๊ปเอง

และนอกเหนือจากการเกี่ยวดองกันทางธุรกิจแล้ว การเกี่ยวดองกันผ่านการแต่งงานก็ดูจะเป็นแนวทางที่ท่านประธานทั้งสองเห็นว่าสมเหตุสมผลที่สุด การแต่งงานระหว่างลูกชายคนเล็กบ้านแชบอลกับคุณหนูคนโตของผู้มีอิทธิพลในแวดวงสื่อจึงเกิดขึ้น ส่วนนี้ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์นัก แต่การสร้างตัวละครนั้น เป็นการดึงแรงบันดาลใจจาก ฮงราฮี อย่างชัดเจน

ฮงราฮีเป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยง และเป็นผู้บริหารแกลเลอรีพิพิธภัณฑ์ของซัมซุงที่ชื่อว่า ลีอุม (Leeum - 리움) โดย ลี มาจากนามสกุล อี เมื่อสะกดเป็นภาษาอังกฤษ และ อุม จากพยางค์สุดท้ายของคำว่า Museum ซึ่งเธอคนนี้ไม่ใช่ผู้หญิงจากครอบครัวแชบอลคนเดียวที่ยึดถือศิลปะเป็นประหนึ่งขั้วอำนาจหรือเครื่องแสดงบารมี เพราะยังมี จองฮีจา สะใภ้แดวู (แทอู) และ พักกังจา ลูกสาวเครือคึมโฮ ที่เลือกบริหารหรือถูกเลือกให้บริหารองค์กรด้านศิลปะเช่นกัน ไม่ผิดเลยที่จะกล่าวว่าในทางหนึ่ง ชิ้นงานศิลปะที่แต่ละบ้านแชบอลครอบครองสะท้อนถึงรสนิยมและความมั่งคั่งของบ้านนั้น ๆ ได้ดีที่สุด

จากตัวละครหญิงที่สำคัญในเรื่อง ก็มาสู่ตัวละครหลักและสิ่งที่เขาพูดออกมากันบ้าง โดยตัวเดินเรื่องอย่าง ยุนฮยอนอู ที่รับบทโดย ซงจุงกิ พูดกับพนักงานใต้บังคับบัญชาในซีนหนึ่งว่า “โทรศัพท์ที่ใช้ไม่ใช่ซุนยังนี่นะ” และนั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ระหว่าง อีกอนฮี กับนักข่าวที่อยากสัมภาษณ์เขา และกำลังยกโทรศัพท์ LG ขึ้นมาอัดเสียง

ประธานอีกอนฮีตอบกลับไปอย่างทีเล่นทีจริงว่า “อยากให้สัมภาษณ์ แต่ไว้ใช้โทรศัพท์ซัมซุงแล้วค่อยมาขอสัมภาษณ์ก็แล้วกัน” สะท้อนแนวคิดการผลิตทุกอย่างเอง และสร้างความนิยมให้ทุกคนใช้สิ่งของเหล่านั้น รวมถึงการมุ่งสร้างแบรนด์ของตัวเองให้ ‘จำเป็น’ ต่อผู้บริโภค ‘ไม่ซื้อไม่ได้’ เป็นสำคัญ

โทรศัพท์และเหตุการณ์ใหญ่ของประเทศก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับซัมซุงและถูกประยุกต์ผูกโยงเข้ากับ Reborn Rich อย่างฉลาด โดยผู้ชมจะเห็นได้ว่าตัวละคร ยุนฮยอนอู ที่เกิดใหม่เป็น จินโดจุน หลานชายคนสุดท้องที่เกิดจากลูกชายคนสุดท้องของเครือซุนยัง นำเสนอแผนการขายรถยนต์โดยผูกเข้ากับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของเกาหลีในปี 2002 แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเครือซัมซุงคือ การฝากความหวังไว้กับโอลิมปิกปี 1988 ว่าจะสามารถทำให้ยอดขายโทรศัพท์มือถือ SH-100 ที่ถูกเรียกว่า ‘โทรศัพท์ก้อนอิฐ’ และมีราคาแพง เพิ่มสูงขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นผลนัก

อีกรายละเอียดหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘หัวหน้ายุน’ ก็คือตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกยุทธศาสตร์ในอนาคต ที่ถือเป็น Think Tank ของบริษัท ภายใต้ชื่อแผนก Future Strategy Office (미래 전략실) ซึ่งมีจริงในบริษัทซัมซุงช่วงปี 2010 - 2017 โดยประยุกต์จาก Secretary's Office (비서실) ที่มีมาตั้งแต่ปี 1959 และปรับมาเป็นแผนก Restructuring Headquarters (구조조정본부) ในปี 1998 - 2006 รวมถึง Strategic Planning Office (전략기획실) ในปี 2006 - 2008

ขณะที่อีกหนึ่งคนสำคัญในเรื่องอย่างผู้ติดตามของท่านประธานจิน อีฮังแจ ที่ในนิยายใช้ชื่อ อีฮักแจ ก็ถอดแบบมาจาก อีฮักซู คนสำคัญจริง ๆ จากแผนก ‘ยุทธศาสตร์ในอนาคต’ ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ด้วย

ประธานจินยังชอล ในซีรีส์และคำถามชวนอึ้งอย่าง “ซูชิคำหนึ่งมีข้าวกี่เม็ด” ก็อิงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ณ โรงแรมชิลลา (Shilla - 신라) ที่ประธานอีบยองชอล ถามเชฟด้วยคำถามเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความละเอียด รอบรู้ และคิดคำนวณต้นทุนอยู่เสมอ และวิสัยทัศน์ของผู้นำในลักษณะนี้มีให้เห็นในหลายบริษัทใหญ่ ไม่เพียงแต่กลุ่มธุรกิจอย่างแชบอลเท่านั้น เพราะกลุ่มคนระดับนี้ต้องใคร่ครวญอยู่ตลอดว่าใครเป็นมิตรใครเป็นศัตรูบ้าง และในช่วงไหน มิตรบางคนแยกจากกันไปเพราะคำพูดเดียว ขณะที่ศัตรูบางคนกลับนำมาซึ่งผลประโยชน์ เหล่านี้เป็นจริงทั้งในมิติเศรษฐกิจและการเมือง อย่างที่ผู้ชมจะเห็นได้จากซีรีส์ในฉากที่เครือซุนยัง พยายามมอบเงินสนับสนุนทางการเมืองให้ผู้สมัคร ‘ถูกคน’ หรือก็คือคนที่จะขึ้นไปมีอำนาจจริง ๆ

อีกหนึ่งขั้วอำนาจที่จะมองข้ามไม่ได้คือคู่แข่งทางธุรกิจ อย่างที่ในซีรีส์มี ประธานจูยองอิล แห่งบริษัทผู้ผลิตยานยนต์แดยอง ที่สร้างคาแรกเตอร์จากบริษัทฮุนได แต่ในความเป็นจริง กรณี ‘เพื่อนแค้นแสนรัก’ ที่น่าสนใจมาก ๆ ในชีวิตของประธานอีคือ บริษัทลักกีโกลด์สตาร์ (Lucky-Goldstar) ที่ต่อมาย่อชื่อเหลือแค่ LG

โดยประธานคูอินฮเว เป็นเพื่อนสมัยเด็กของประธานอี แต่กลับมาบาดหมาง และญาติดีกันใหม่ และบาดหมางอีกครั้งในที่สุด ซึ่งรอยร้าวที่เกิดขึ้นกระทบร้ายแรงที่สุดกับลูกสาวของประธานอีเอง เพราะในช่วงที่ 2 ตระกูลดีกัน เขาส่งลูกคนที่ 4 หรือก็คือ ลูกสาวคนรอง อีซุกฮี ไปแต่งงานกับ คูจาฮัก ลูกชายฝั่ง LG และเมื่อถึงจุดแตกหัก หลังจากซัมซุงเลือกจะกระโดดเข้ามาทำธุรกิจชนกับ LG ทำให้ อีซุกฮี ไม่มีชื่อในพินัยกรรมเพื่อรับมรดกของพ่อเลยแม้แต่น้อย เพราะการยกทรัพย์สมบัติให้กับลูกสาวคนนี้ จะเท่ากับการยกทรัพย์สมบัติให้ศัตรูนั่นเอง

แล้วทำไมถึงเป็น ‘ลูกชายคนเล็ก’ กันล่ะ? ในเมื่อระบบอาวุโสน่าจะทำให้ประธานอี ผู้พ่อ เลือกระหว่างลูกชายคนโตหรือคนรองได้ไม่ยาก และก็เหมือนกับครอบครัวซัมซุง ที่ครอบครัวซุนยังก็มีลูกชาย 3 คนเช่นกัน เท่ากับว่า จินยองกี จินดงกี และจินยุนกี กับลูกชาย จินโดจุน อิงจากคาแรกเตอร์ของลูกชายเครือซัมซุงอย่าง อีแมงฮี อีชังฮี และอีกอนฮี อย่างไม่ต้องสงสัย

ซึ่งพี่ใหญ่กับพี่รองของบ้านนี้ก็แทบจะนอนมาในฐานะผู้สืบทอดกิจการอยู่แล้ว ถ้าไม่ติดว่าคนหนึ่งบริหารงานผิดพลาดอย่างมาก และอีกคนโดนคดีลักลอบนำ แซ็กคาริน สารเคมีหมักปุ๋ย ปริมาณ 55 ตัน เข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย จนต้องจำคุก อีกทั้งต่อมายังพบว่าผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมดคือพี่ชายคนโตด้วย ทำให้ อีกอนฮี กลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างชัดเจนไปโดยปริยาย ซึ่งเหล่านี้ผู้ชมจะเห็นได้จาก ‘ความบกพร่อง’ ของตัวละครพี่ใหญ่พี่รองบ้านซุนยัง

สำหรับ จินยุนกี ตัวละครพ่อพระเอก อาจจะเป็นตัวเลือก ‘ลูกคนเล็ก’ อย่างที่ อีกอนฮี เป็น และบทพระเอกได้ตกเป็นของ ‘ลูกคนเล็กของลูกคนเล็ก’ อย่าง จินโดจุน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความชื่นชอบในแวดวงธุรกิจบันเทิงของยุนกีนั้น คล้ายจะสะท้อนการก่อตั้งบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่อย่าง CJ ที่เป็นชื่อที่ย่อมาจากธุรกิจอาหารและของบริโภคของซัมซุง เชอิล เจดัง (Cheil Jedang - 제일 제당) ที่แปลว่า น้ำตาลที่ดีที่สุด หรือ น้ำตาล ‘แรก’ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการผลิตน้ำตาลขายเองในประเทศเพื่อลดการนำเข้า

การมีอยู่ของน้ำตาลในประเทศโดยซัมซุง แม้จะไม่ได้รับความนิยมในช่วงแรก แต่ด้วยราคาที่ถูกกว่ามาก ทำให้สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาด และเบียดคู่แข่งน้ำตาลนำเข้าออกไปได้ในที่สุด

การมีตัวตนอยู่ในทุกอุตสาหกรรมดูจะเป็นแนวคิดหลักของซัมซุง และครอบครัวแชบอลในเกาหลี โดยการเข้าไปจับธุรกิจหลากหลายประเภทให้ได้มากที่สุด รวมถึงธุรกิจที่ไม่ได้อยากจะลงมือทำนักด้วย เหมือนเป็นการซื้อเผื่อทำกำไรในอนาคต ซึ่งในทางหนึ่งถือเป็นการเดิมพันกับโชคชะตาเช่นกัน และการจับธุรกิจมูลค่าสูงที่ไม่รู้ว่าจะบริหารแล้วรุ่งหรือร่วงนี้เองก็วกกลับไปเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแชบอลจึงต้อง ‘ล็อบบีนักการเมือง’ เท่ากับว่าแชบอล การเมือง และแนวทางเศรษฐกิจของเกาหลี ไม่เคยไม่ยึดโยงกันเลย หลายครั้งที่เครือซัมซุงเองเจอภาวะชะงักงันบางประการ และการเข้าพบคนให้ ‘ถูกคน’ ทำให้แก้ปัญหาได้ และทุกครั้งที่สมาชิกบ้านแชบอลต้องโทษใด ๆ พวกเขาจะออกจากคุกได้ภายในเวลาไม่นานเสมอ

เรา -ผู้เขียน- ไม่อาจทราบได้ว่าตระกูลแชบอลจริง ๆ นั้น พี่น้องต้องห้ำหั่นกันดุเดือดเหมือนในซีรีส์หรือไม่ และตามจริงก็คงไม่มีใครรู้คำตอบในข้อนี้ เพราะแชบอลส่วนใหญ่มีเส้นสายหรือแม้แต่ครอบครองสื่อเองอยู่แล้ว จึงสามารถบิดเบือนการรับรู้ข่าวสารของประชาชนได้อย่างไม่ยากเย็น และแทบไม่ต้องใช้ทรัพยาการมากนัก ซึ่งส่วนนี้ก็มีการนำเสนอในซีรีส์เช่นกัน โดยซุนยังสามารถปิดปากสื่อและตำรวจได้อย่างไร้ร่องรอย แถมยังดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงได้เองอย่างมีประสิทธิภาพเสียด้วย เรียกว่าไม่มีอะไรที่แชบอลทำไม่ได้แล้วล่ะ

 

เรื่อง: นิรามัย

อ้างอิง:

What you didn't know about Samsung. YouTube

재벌집 막내아들 "순양"과 "삼성"의 숨겨진 뒷이야기. YouTube

재벌집 막내아들 모현민의 진짜 속마음. YouTube

재벌집 막내 딸의 신화, 삼성家 스타 재벌 정용진 부회장의 신세계 이야기. YouTube

재벌집 막내아들은 정말 삼성그룹 창업주 이야기일까?. YouTube

"내 눈에만 돈이 보이는기가" 이병철 회장이 했던 말 진양철 회장이 하고 있네?. YouTube