28 ต.ค. 2565 | 16:12 น.
สนามกีฬาระดับมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการ ‘กรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย)’ ล่วงถึงวันนี้ (พ.ศ. 2565 - กองบรรณาธิการ) มีอายุได้ 85 ขวบปีที่ยังคงทำงานเคียงคู่ขนานไปกับหลากเรื่องราวมหกรรมกีฬาแห่งชาติมากมาย นับตั้งแต่เป็นสนามประเดิมกีฬาแหลมทอง (ต่อมาคือซีเกมส์) [1] ครั้งแรก พ.ศ.2502 หรือเมื่อครั้งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ถึง 3 ครั้งเมื่อ พ.ศ.2509, 2513, 2521 สนามกีฬาแห่งนี้ได้สร้างตำนานนักกีฬาระดับชาติให้เป็นที่จดจำมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นสถานจัดแข่งฟุตบอลคัดเลือกที่ส่งให้ทีมชาติไทยได้เข้าร่วมโอลิมปิกถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกที่ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ.2499 นำโดยยอดศูนย์หน้า วิวัฒน์ มิลินทจินดา และอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2511 นำทัพโดยเจ้าของฉายา ‘สิงห์สนามศุภฯ’ นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ แม้เข้าถึงยุคสมัยของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ที่มักสร้างปรากฎการณ์ ‘สนาม(ศุภฯ)แตก’ รวมถึงกรีฑาประเภทลู่ เช่นเมื่อครั้งเอเชี่ยนเกมส์ พ.ศ.2521 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ สองยอดลมกรดของไทยทั้ง สุชาติ แจสุรภาพ (100 เมตรชาย) และ อุษณีย์ เล่าปิ่นกาญจน์ (200 เมตรหญิง) สามารถคว้าเหรียญทอง ณ สนามแห่งนี้ท่ามกลางผู้ชมล้นสนาม ฯลฯ จนถึงกับเคยมีการขนานนามสนามศุภชลาศัยแห่งนี้ไว้ว่า ‘เวมบลีย์เมืองไทย’ [2]
ทั้งนี้สนามศุภชลาศัยยังถูกเลือกใช้เป็นสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตของราชันเพลงป๊อป ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2536 อีกด้วย [3]
ประวัติความเป็นมาเกิดจากดำริของรัฐบาลคณะราษฎรภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองหนึ่งปี เมื่อ พ.ศ.2476 ได้จัดตั้งกรมพลศึกษา สังกัดกระทรวงธรรมการ เพื่อสนับสนุนให้ราษฎรไทย มีจริยศึกษา พุทธิศึกษา และพลศึกษา เพียงหนึ่งปีถัดจากนั้น ‘นาวาโท หลวงศุภชลาศัย’ ได้ย้ายออกจากกองทัพเรือเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2478 กรมพลศึกษาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนพื้นที่ทั้งหมด 77 ไร่ เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกขึ้นโดยให้ชื่อว่า ‘กรีฑาสถานแห่งชาติ’ โดยมีพระราชพิธีก่อฤกษ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2480 [4]
ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) สนามกีฬานี้เริ่มเปิดใช้งานบางส่วนในปีถัดมา พ.ศ.2481 จนมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.) และ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 [5] กรมพลศึกษาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย ประเด็นนี้อดีตอธิบดีกรมพลศึกษาท่านหนึ่งเขียนคำไว้อาลัยในหนังสืองานศพว่า
“ท่านได้วางมาตรฐานการกีฬา การลูกเสือ การอนุกาชาด การพลศึกษา ซึ่งได้เจริญมาจนถึงทุกวันนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้สร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้นสำเร็จสมใจ ซึ่งในขณะนั้นไม่มีผู้คาดคิดถึงความสำคัญและนึกคิดว่าจะสำเร็จได้เลย และโดยความชื่นชมยินดีนั่นเอง ประชามติจึงยินยอมพร้อมใจกันเรียกชื่อสนามสำหรับเล่นกรีฑาและฟุตบอล ซึ่งเป็นสนามเอกในกรีฑาสถานแห่งชาติว่า ‘สนามศุภชลาศัย’ แม้ว่าไม่มีการสถาปนาเป็นพิธีการแต่อย่างใด กระนั้นทางราชการก็ได้ถือชื่อนี้เป็นมงคลนามสืบมาโดยตลอด” [6]
รูปแบบสถาปัตยกรรมของสนามศุภชลาศัยจัดว่าเป็นอาคารงดงามสไตล์อาร์ต เดโค (Art Deco) ที่เน้นการออกแบบเล่นกับเส้นสายแนวตั้ง (Streamline) ที่ชัดเจน ด้านหน้าอาคารตรงมุขทางเข้าอาคารกลางทั้งยอดมุมซ้ายและขวาออกแบบเป็นประติมากรรมปูปั้นนูนสูงขนาดใหญ่เป็นภาพพระพลบดีทรงช้างไอยราพต สัญลักษณ์ประจำกรมพลศึกษา [7] ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังสมัยนั้น นายหมิว อภัยวงศ์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น จิตรเสน อภัยวงศ์)
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) เป็นบุตรนายเบี้ยว และนางพ่วง เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2438 (ปฏิทินใหม่ 2439) เมื่อท่านเกิดใหม่ ๆ มารดาเอากระบุงครอบไว้เป็นเคล็ด เพราะเลี้ยงลูกไม่รอดมาหลายคนแล้ว จึงให้ชื่อลูกชายที่รักของท่านว่า ‘กระบุง’ ต่อมาชื่อนี้ออกจะยาวไป เลยเหลือแต่ ‘บุง’
ส่วนนามสกุลจากบรรดาศักดิ์ ‘ศุภชลาศัย’ เสด็จในกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เคยรับสั่งว่า “หลวงศุภชลาศัย ชื่อบุง ฉันคิดนามสกุลศุภชลาศัยนี้ให้เขาเอง ตามที่เขาขอมา” [8]
แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นนักเรียนนายเรือก็เพราะสมัยเด็กเคยหนีโรงเรียนไปดูเรือพิฆาตตอร์ปิโดซึ่งราชการเพิ่งสั่งต่อจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อได้เห็นแล้วก็ชอบและมีความตื่นเต้นมาก
ดังนั้นเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมจึงได้ไปสมัครเป็นนักเรียนนายเรือเมื่อปี พ.ศ.2455 จนจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2461 และประดับยศเรือตรีในปีถัดมาพร้อมได้เป็นนายธงเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ มีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงศุภชลาศัย’ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2472
พ.ศ.2475 ขณะมียศเป็นนาวาตรี ตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพเรือ (กองเรือยุทธการ) ได้เข้าร่วมก่อการในนามคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หลวงศุภฯ เคยกล่าวถึงปฏิบัติการณ์ครั้งนั้นว่า
“...ขณะนั้นในราชนาวี เรารวบรวมสมัครพรรคพวกนายทหารเรือที่พร้อมจะกระโจนชีวิตลงมายอมคอขาด, ได้ 28 คนด้วยกัน...” [9]
ภารกิจหลักของหลวงศุภชลาศัย (บุง) ในฐานะผู้อาวุโสสูงสุดของคณะราษฎรสายทหารเรือคือได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเรือรบหลวงสุโขทัยจากพระนครนำสาสน์ของคณะราษฎรไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่พระที่นั่งไกลกังวลหัวหินเมื่อเช้าวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2475 พร้อมทูลอัญเชิญพระองค์เสด็จกลับพระนครเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน
หลวงศุภฯ นับเป็นคณะราษฎรคนแรกหลังปฏิวัติที่ได้เข้าเฝ้าในหลวง ร.7 ภายหลังเข้าเจรจาต่อรองภายในพระที่นั่งเปี่ยมสุขที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดแล้ว ในหลวงทรงเลือกจะเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครโดยสถลมารค (ทางบกโดยรถไฟ) ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง
ในปีถัดมาวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 หลวงศุภฯ เข้าร่วมกับพระยาพหลฯ และหลวงพิบูลสงคราม กระทำการรัฐประหารต่อรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เพื่อเปิดรัฐสภาให้ระบอบประชาธิปไตยกลับเดินหน้าได้อีกครั้ง หลังจากนั้นสถานะของหลวงศุภฯ ในกองทัพเรือก็ขึ้นถึงจุดสูงสุดระดับรองผู้บัญชาการทหารเรือในเดือนสิงหาคมปีนั้นเอง
การเกิดกบฏบวรเดชเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนบังเกิดความขัดแย้งภายในกองทัพเรือปลายปีเดียวกันนั้น ยังผลให้ปีถัดมาหลวงศุภฯ ต้องย้ายไปเป็นอธิบดีกรมพลศึกษาเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2477 และได้อยู่ในตำแหน่งนี้ยาวนานต่อเนื่องอีก 8 ปี จนถึง 4 พฤษภาคม พ.ศ.2485 อันเป็นระยะเวลาการจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติจัดสร้างจนแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา หลวงศุภฯ ยังได้เป็นรัฐมนตรีลอย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ระหว่าง 21 ธ.ค. 2480-11 ก.พ. 2481 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 10 มี.ค. 2485- 5 พ.ค. 2485
หลังลงจากตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาซึ่งขณะนั้นประเทศไทยซึ่งเป็นช่วงต้นที่ประเทศไทยเข้าร่วมวงไพบูลย์สงครามมหาเอเชียบูรพา หลวงศุภชลาศัยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 6 พ.ค.2485 ถึง 1 ส.ค.2487 (รัฐบาลจอมพล ป.) และต่อเนื่องด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2 ส.ค.2487-31 ส.ค.2488 ทั้งยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข 2 พ.ค.2488-31 ส.ค.2488 (รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์)
ระหว่างที่ท่านนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีสามกระทรวงนี้ ประเทศไทยจำต้องตกอยู่ในภาวะสงครามยาวนานกว่า 4 ปี ช่วงนี้เองที่ท่านได้อุทิศตนเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยนำโดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จนเมื่อสงครามยุติสามารถนำพาประเทศรอดพ้นภัยจากสถานะผู้แพ้สงคราม
ภายหลังสงครามยุติ หลวงศุภฯ ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญอีก คือ กระทรวงมหาดไทยและพาณิชย์ 1 ก.ย. 2488-17 ก.ย. 2488 (รัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ) กระทรวงอุตสาหกรรม 2 ก.พ. 2489-24 มี.ค. 2489 (รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์) จนเมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ก็ยังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจวบจนถึงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2491 (รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์) ก่อนยุติบทบาททางการเมืองไปพร้อมกับการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระสองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
อย่างไรก็ตาม ในอีก 9 ปีต่อมาหลวงศุภฯ ได้สมัครลงเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ช่วงสั้น ๆ เมื่อ พ.ศ.2500 ก่อนจะสิ้นสุดสภา ส.ส.หลังการรัฐประหารตัวเองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501
หลังจากนั้นท่านก็มิได้ข้องเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองต่ออีกไป แต่ยังคงบำเพ็ญชีวิตอย่างสันโดษและสมถะ ต่อเมื่อมีใครไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ไปขอให้ท่านช่วยเหลือในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บท่านก็ช่วยอนุเคราะห์ให้ “ตามวิธีของท่านพระอาจารย์ตึ๋งวัดสร้อยทอง [10] ผู้มีวิชาขลังในทางโรคกระดูก” [11] โดยไม่คิดมูลค่าอันใดตอบแทน [12]
ส.ศิวรักษ์ กล่าวถึงชีวิตหลวงศุภฯ ช่วงนี้ไว้ว่า “ในบรรดาผู้ก่อการแกแปลกกว่าเพื่อน ทีหลังแกอมน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก เป็นหมอยาโบราณ คือได้มาจากพ่อตาแก เพราะแกเป็นลูกเขยกรมหลวงชุมพรฯ เป็นทหารเรือแท้ๆ” [13] ในบั้นปลายชีวิตท่านฝักใฝ่ในทางธรรมและปฏิบัติธรรมมาก [14]
หลวงศุภชลาศัยถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2508 สิริอายุรวม 70 ปี ปัจจุบันคงเหลือ ‘ศาลหลวงศุภชลาศัย’ ให้สักการะภายในบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ และอีกแห่งหนึ่ง ณ ริมคลองแสนแสบ ท่าเรืออโศก
ด้านชีวิตสมรส หลวงศุภฯ แต่งงานครั้งแรกกับคุณสวาสดิ์ หุวนันท์ มีบุตรชายหญิงรวม 6 คน และอีกครั้งกับท่านหญิงจารุพัตรา อาภากร พระธิดาในพลเรือเอกกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ “เธอลาออกจากฐานันดรศักดิ์หม่อมเจ้าเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2476” [15] มีบุตรชายหญิงรวม 5 คน
ผลงานถาวรวัตถุสถานอีกแห่งที่สำคัญระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาของหลวงศุภชลาศัย คือ เป็นประธานกรรมการและหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างเมรุสมัยใหม่ครั้งแรกของประเทศไทยที่วัดไตรมิตรที่เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ.2483 [16] “โดยสั่งช่างมาจากญี่ปุ่น และแม้แต่อิฐทนไฟก็เอามาจากญี่ปุ่น” นับเป็นเมรุที่ใช้เตาไฟฟ้าที่ใช้ฌาปนกิจศพอย่างถูกสุขลักษณะแห่งแรกของเมืองไทย และเป็นต้นแบบเมรุสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศตราบจนทุกวันนี้
เพียงแต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันเมรุต้นแบบของวัดไตรมิตรนี้ได้ถูกทุบทิ้งเมื่อปี พ.ศ.2550 แล้วสร้างเป็นพระมหามณฑปฯ ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ [17] ทับไปบนเนื้อที่ที่เคยเป็นที่ตั้งเมรุสำคัญแห่งนี้มาก่อน
ภาพ: หลวงศุภชลาศัย จากหนังสืองานศพฯ ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพกิจกรรมที่สนามศุภชลาศัย จาก NATION PHOTO (แฟ้มภาพ)
เชิงอรรถ:
[1] ประวัติกีฬา ‘ซีเกมส์’ จุดเชื่อมต่อ https://www.matichon.co.th/sea-games-2019/news_1770316
[2] รอยสตั๊ด : สนามเหย้าของทีมชาติไทย จุดเชื่อมต่อ https://www.bangkokbiznews.com/news/717328
[3] 24 สิงหาคม 2536: ไมเคิล แจ็คสัน “ลูบเป้า” โชว์ชาวไทยกลางสนามกีฬาแห่งชาติ จุดเชื่อมต่อ https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1901
[4] หมายกำหนดการ พระราชพิธีก่อพระฤกษ์กรีฑาสถานแห่งชาติ พุทธศักราช 2480, ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2480 เล่ม 54 หน้า 2831-2833. จุดเชื่อมต่อ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2480/D/2831_2.PDF
[5] กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สนามศุภชลาศัย จุดเชื่อมต่อ https://www.dpe.go.th/stadium-391591791792-392791791792
[6] กอง วิสุทธารมณ์, ไว้อาลัยคุณหลวงศุภชลาศัย ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 4 พฤศจิกายน 2508, (โรงพิมพ์การศาสนา), น.(17)-(18).
[7] สุภาวดี รัตนมาศ และ ปริญญา ชูแก้ว, DOCOMOMO THAILAND การจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสมัยโมเดิร์นในประเทศไทย 2, อาคารหมายเลข 7 กรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย), น.18-19.
[8] พระมหามนตรี ศรีองครักษสมุหะ (ฉัตร โชติกะเสถียร), ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 4 พฤศจิกายน 2508, (โรงพิมพ์การศาสนา), น.(20).
[9] ดู จอมพลในทัศนะของข้าพเจ้า ในบท น.อ.หลวงศุภชลาศัย บันทึกโดย “แหลมสน” แห่งหนังสือพิมพ์ “เกียรติศักดิ์”, (สำนักพิมพ์รัชดารมภ์, ๒๔๙๒ ), น. ๗๙.
[10] ขุนอรุณเวชชรัตน์, อาลัยท่านอาจารย์ ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 4 พฤศจิกายน 2508, (โรงพิมพ์การศาสนา), ไม่มีเลขหน้า.
[11] ประวัติ, ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 4 พฤศจิกายน 2508, (โรงพิมพ์การศาสนา), น.(3).
[12] ประภาส จารุเสถียร, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 41 กระทรวงมหาดไทยพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ร.น. (บุง ศุภชลาศัย) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 4 พฤศจิกายน 2508, (โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น), น.คำนำ ก-ข.
[13] ส.ศิวรักษ์ และ นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หลวงศุภชลาศัย คณะราษฎรคนแรกที่เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 7, ปาจารยสาร ปีที่ 45 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2564), น.156. และ ดูคลิป https://www.youtube.com/results?search_query=หลวงศุภชลาศัย
[14] ขุนอรุณเวชชรัตน์, อาลัยท่านอาจารย์ ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 4 พฤศจิกายน 2508, (โรงพิมพ์การศาสนา), ไม่มีเลขหน้า.
[15] ชานันท์ ยอดหงส์, หลังบ้านคณะราษฎร, พิมพ์ครั้งแรก 2564,(มติชน), น.101.
[16] ชาตรี ประกิตนนทการ, คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม “อำนาจ”, พิมพ์ครั้งแรก 2548, (มติชน), น.70-71 และ เมรุปูน-เมรุวัดไตรมิตร ปัญหาว่าด้วยความสืบเนื่อง และรอยแยกของการปฏิวัติ 2475 จุดเชื่อมต่อ https://www.matichonweekly.com/column/article_437719
[17] "พระมหามณฑป" วัดไตรมิตร สง่างาม สร้างเพื่อถวายในหลวง จุดเชื่อมต่อ https://www.komchadluek.net/amulet/36448 และ ดู นิทรรศการภายในอาคารพระมหามณฑปฯ วัดไตรมิตรวิทยารามhttps://www.museumthailand.com/th/museum/Phra-Maha-Mondop-Wat-Traimit-Wittayaram-Museum