svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม Thepeople

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

‘เดด มาโรซ’ ซานตาคลอสจากรัสเซีย ครั้งหนึ่งเคยถูกแบนเพราะคิดว่าเป็นปีศาจ

‘เดด มาโรซ’ ซานตาคลอสจากรัสเซีย ครั้งหนึ่งเคยถูกแบนเพราะคิดว่าเป็นปีศาจ

เดด มาโรซ (Ded Moroz) เป็นตัวละครในตำนานของชาวสลาฟที่มีมานานนับพันปี จนกระทั่งถูกนำไปเขียนเป็นบทละคร จนได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ แต่หลังจากเกิดการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 รัฐบาลพรรคบอลเชวิกได้ลบตัวตนของเดด มาโรซ ทิ้งไปเพราะไม่อยากให้ประชาชนงมงายในเทพเจ้า

เดด มาโรซ (Ded Moroz) ซานตาคลอสจากรัสเซีย บางตำนานเชื่อกันว่าเขาคือปีศาจ ผู้ทำลายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประชาชน และทำให้วัฒนธรรมอันดีงามของประเทศต้องแปดเปื้อน สาเหตุที่รัฐบาลเชื่อเช่นนั้นเป็นเพราะรัสเซียเพิ่งผ่านความบอบช้ำภายหลังการปฏิวัติในปี 1917 เพื่อเปลี่ยนประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โรมานอฟ ให้กลับมาอยู่ในมือของประชาชน

รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจแก่คนในชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงมากที่สุด ดังนั้นศาสนา ความเชื่อ เทพเจ้า ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องสมมติ จึงไม่ควรค่าแก่การคงอยู่ในประเทศใหม่อย่างสหภาพโซเวียต

เมื่อเรื่องราวของเดด มาโรซ ที่ปรากฏครั้งแรกในบทละครเรื่อง ‘The Snow Maiden’ (1873) จากปลายปากกาของ อเล็กซานเดอร์ ออสตรอฟกี (Alexander Ostrovsky) หนึ่งในนักเขียนบทละครที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์รัสเซีย เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น รัฐบาลพรรคบอลเชวิก จึงเร่งสั่งลบตัวตนของเขาให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เพราะต้องการให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลมากกว่าเพ้อฝันถึงตัวละครสมมติที่ไม่มีอยู่จริง

และนี่คือเรื่องราวของ เดด มาโรซ ซานตาคลอสจากดินแดนหลังม่านเหล็ก

‘เดด มาโรซ’ ซานตาคลอสจากรัสเซีย ครั้งหนึ่งเคยถูกแบนเพราะคิดว่าเป็นปีศาจ

กำเนิดซานตาคลอสชุดฟ้า

หลายพันปีก่อนว่ากันว่า เดด มาโรซ เคยปรากฏอยู่ในตำนานของชาวสลาฟ และได้รับความนิยมอย่างมากในอดีตประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต เช่น ยูเครน เบลารุส สโลวีเกีย บัลแกเรีย เซอร์เบีย และอีกหลายประเทศที่มีรากเหง้ามาจากชาวสลาฟด้วยกัน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะรัสเซียไม่อนุญาตให้เด็ก ๆ เชื่องมงายในเทพเจ้า พวกเขาจึงปิดประตูลงกลอนไม่ให้ความเชื่อเหล่านี้เล็ดรอดออกมา แต่ถ้าหากจะให้ขยายความเพิ่มเติมอีกนิด เดด มาโรซ คือตัวละครสมมติที่สร้างขึ้นมาประกอบบทละครเรื่อง The Snow Maiden (1873) โดย อเล็กซานเดอร์ ออสตรอฟกี นักเขียนชั้นครูที่มักหยิกยกเรื่องราวทางการเมืองสอดแทรกเข้ามาในเรื่องเล่าอยู่เสมอ

เดด มาโรซ จึงไม่ต่างจากงานเขียนที่ถูกสร้างขึ้นบนความเชื่อนอกรีต ผสมผสานเข้ากับเรื่องราวความรักชาติในแบบฉบับของออสตรอฟกี บทละครของเขาได้รับการตีพิมพ์ ผู้คนต่างยกย่องจินตนาการและเนื้อหาอันล้ำลึก จนกลายเป็นหนึ่งในบทละครที่โรงละครมักหยิบไปทำการแสดงอยู่เสมอ (ในช่วงเวลาดังกล่าวงานประพันธ์หลายชิ้นมักโดนเซนเซอร์จากรัฐบาล แต่งานเขียนของเขากลับได้รับข้อยกเว้น)

‘เดด มาโรซ’ ซานตาคลอสจากรัสเซีย ครั้งหนึ่งเคยถูกแบนเพราะคิดว่าเป็นปีศาจ

บทละครของเขามีตัวเอกเพียงสองคน คือ เดด มาโรซ และหลานสาวคนงามชื่อว่า Snegurochka หรือ Snow Maiden เล่าเรื่องเกี่ยวกับ แม่เลี้ยงใจร้ายที่เกลียดชังลูกเลี้ยงเข้าไส้ เธอไม่อยากอยู่ร่วมชายคาเดียวกับเด็กสาวคนนี้ จึงหาวิธีกำจัดสารพัด จนกระทั่งได้ยินตำนานว่ามีพ่อมดที่ชอบลักพาตัวเด็กสาว อาศัยอยู่ในป่าหิมะ เธอจึงบอกให้สามีพาลูกเลี้ยงไปปล่อยในป่า

เมื่อเธอถูกทิ้งไว้ลำพัง พ่อมดก็ปรากฏตัวออกมา แต่ด้วยท่าทางที่สุภาพและอ่อนโยนของเด็กสาวทำให้พ่อมดใจอ่อน จนมอบเสื้อผ้าให้เป็นของขวัญ เมื่อพ่อที่ทิ้งเธอไปกลับมาตามหา เขาก็ต้องประหลาดใจ เพราะเธอยังมีชีวิตรอดแถมยังมีของมีค่าติดไม้ติดมือกลับมาด้วย

เมื่อเป็นเช่นนั้นแม่เลี้ยงใจร้าย จึงส่งลูกสาวเข้าป่าตามไปอีกคน แต่ลูกสาวของเธอกลับเป็นเด็กขี้เกียจ ไม่ยอมทำการทำงาน แถมยังไม่อ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนลูกเลี้ยง มาโรสกาจึงฆ่าเธอทิ้งโดยไม่ใยดี

หากอิงตามตำนานว่ากันว่าในอดีต เดด มาโรซ รู้จักกันในชื่อ ‘มาโรซกา’ (Morozko) ซึ่งเป็นพ่อมดประจำฤดูหนาว (มีไม้เท้าเวทมนต์ประจำกาย) ผู้มีจิตใจแข็งกระด้าง ปราศจากความเมตตา มาโรซกาสามารถใช้พลังแช่แข็งผู้คนและเปลี่ยนผืนดินที่แคยเขียวขจีให้กลายเป็นทุ่งน้ำแข็งรกร้าง

เขาพร้อมทำลายทุกอย่างให้ราบคาบ รวมถึงศัตรูที่เข้ามารุกรานประเทศ ในบางตำนานเล่าว่า เขาเป็นชายแก่เอาแต่ใจและคาดเดาอารมณ์ไม่ได้ เมื่อศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์เข้ามาในรัสเซีย มาโรซกาจึงถูกตีตราว่าเป็น ‘ปีศาจ’ ไม่ต่างจากเทพเจ้านอกรีตที่ไม่ควรค่าแก่การเคารพบูชา

จนกระทั่งภาพลักษณ์ของมาโรซกาถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นคุณลุงใจดีผู้รักความยุติธรรม หลังจากผ่านพ้นยุคมืดภายหลังการปฏิวัติรัสเซียไปแล้ว

‘เดด มาโรซ’ ซานตาคลอสจากรัสเซีย ครั้งหนึ่งเคยถูกแบนเพราะคิดว่าเป็นปีศาจ

ซานตาผู้ฟื้นจากความตายในยุคโซเวียต

หลังจากรัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้มีการเคารพบูชาเทพเจ้า ศาสนาจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้ามของโซเวียต ประชาชนต้องอยู่ท่ามกลางความสิ้นหวัง เพราะ ‘ศรัทธา’ ที่ถูกพรากไปนั้น ส่งผลต่อวิถีชีวิตของพวกเขากว่าที่คิด

“ภายหลังการปฏิวัติ รัฐบาลต้องการทำลายศาสนาเดิมที่เคยมีอยู่ และสร้างพลเมืองในประเทศใหม่ ให้พวกเขา ‘เชื่อ’ ในตัวเองมากกว่าพระเจ้า ซึ่งต้องยอมรับว่ามันน่าทึ่งมาก พวกเขาทำได้จริง ๆ แถมยังสามารถถอนรากถอนโคนงานเฉลิมฉลองที่เกี่ยวข้องกับศาสนาออกไปได้อีกต่างหาก” — แคทเธอรีน วันเนอร์ (Catherine Wanner) นักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยาแห่งเพนน์สเตต ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาสหภาพโซเวียต

ความพยายามของรัฐบาลในการลดบทบาทของศาสนา ส่งผลให้นักบวชหลายร้อยชีวิตถูกส่งไปค่ายกักกัน ไม่ก็ได้รับโทษประหารชีวิต โบสถ์ถูกเผาทำลาย จากความเชื่อในพระเจ้าถูกแทนที่ด้วยวิทยาศาสตร์ ความพยายามของรัฐในการกำจัดผู้มีศรัทธายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หากเจ้าหน้าที่พบเห็นบ้านหลังไหนมีต้นคริสต์มาสภายในบ้าน พวกเขาจะได้รับโทษสถานหนัก

‘เดด มาโรซ’ ซานตาคลอสจากรัสเซีย ครั้งหนึ่งเคยถูกแบนเพราะคิดว่าเป็นปีศาจ เมื่อศาสนากลายเป็นเรื่องต้องห้าม ความหวาดกลัวก็ปกคลุมทั่วทั้งประเทศโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ จนกระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม 1935 หนังสือพิมพ์ปราฟดา (Pravda) ได้ตีพิมพ์ข้อคิดเห็นของ ปาเวล โปสตึยเชฟ (Pavel Postyshev) นักการเมืองคนสำคัญของโซเวียตว่า “มาจัดต้นคริสต์มาสให้เด็ก ๆ ในวันปีใหม่กันเถอะ!”

เพราะหากปล่อยบ้านเมืองให้ตกอยู่ในสภาพนี้ไม่ต่างจากบ้านป่าเมืองเถื่อน เขาจึงยื่นจดหมายต่อหัวหน้าพรรค โดยระบุเหตุจำเป็นว่าโซเวียตควรมีวันหยุดประจำฤดูหนาว ซึ่งประกาศใช้อย่างจริงจังในปี 1950 พวกเขายืนยันว่าวันหยุดนี้ไม่ใช่คริสต์มาสอย่างแน่นอน แต่เป็นวันหยุดที่จะนำพารัสเซียเข้าสู่ปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่

หลังจากโซเวียตล่มสลายในเดือนธันวาคม 1991 การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนากลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ผู้ที่ยัง(แอบ)นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์สามารถออกมาเฉลิมฉลองได้อย่างเปิดเผย แต่การฉลองวันคริสต์มาสในยุคหลังโซเวียตล่มดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป พวกเขาไม่เคยฉลองมาก่อน การประดับต้นคริสต์มาสก็เพิ่งเริ่มทำอย่างจริงจังได้เพียงไม่กี่ปี

“คนส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศนี้ (รัสเซีย เบลารุส มอลโดวา และยูเครน) ยังมองว่าวันหยุดปีใหม่สำคัญกว่าวันคริสต์มาส พวกเขาเชื่อว่าการฉลองวันคริสต์มาสเป็นเพียงโอกาสได้กินดื่ม ขาดจิตวิญญาณทางศาสนา” — อเล็กซานเดอร์ สตาติเยฟ (Alexander Statiev) นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียต

ความแตกต่างของซานตารัสเซียกับซานตาตะวันตก

ในขณะที่ซานตาคลอสตะวันตกใส่ชุดสีแดงขอบขาว มักออกเดินทางพร้อมกับเรนเดียร์ 9 ตัว เพื่อไปแจกของขวัญตามปล่องไฟ เด็ก ๆ จะไม่มีทางรู้เลยว่าซานตาจะโผล่มาตอนไหน หรือบ้านของซานตาตั้งอยู่ตรงไหนกันแน่

แต่ซานตาคลอสของรัสเซียต่างกันโดนสิ้นเชิง เดด มาโรซ ใส่ชุดสีฟ้า ใช้รถลากเลื่อนออกเดินทางพร้อมกับม้าสีขาว 3 ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนของฤดูหนาวที่จะกินเวลาไปอีกสามเดือน แถมยังเป็นคนเข้าตามตรอกออกตามประตู เขามักมาเคาะประตูหน้าบ้าน พร้อมกับมอบของขวัญให้เด็กที่ประพฤติตัวดี เมื่อเสร็จภารกิจเขาจะเดินทางกลับบ้านที่เมือง Velikiy Ustyug ตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงมอสโก

ส่วนเด็กชาวรัสเซียที่ได้รับของขวัญจากซานตาจะตอบแทนด้วยการแสดงทักษะบางอย่าง ที่บ่งบอกถึงการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศออกไป เช่น ยืนท่องบทกวี และรายงานความประพฤติว่าทำความดีอะไรมาบ้าง

บางครั้ง เดด มาโรซ ก็จะทดสอบเด็ก ๆ ผ่านของขวัญที่เขาเลือกให้ ตัวอย่างเช่น มีเรื่องเล่าว่าในคืนวันคริสต์มาสปี 1935 เด็กน้อยสองคนได้รับของขวัญต่างกัน คนแรกได้รับปืนและรถของเล่น ส่วนเด็กอีกคนได้รับอึม้าหนึ่งก้อน นี่คือการทดสอบการมองโลกของเด็ก ๆ ว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรกับของขวัญที่ได้รับ

“เด็ก ๆ เมื่อคืนคุณลุงซานตาคลอสให้ของขวัญอะไรหนูมาจ้ะ?”

“ผมได้อะไรก็ไม่รู้ ไร้สาระชะมัด ปืนก็ไม่ลั่น รถก็ใช้ไม่ได้”

“แล้วหนูได้ของขวัญเป็นอะไรล่ะ?”

“ผมได้ม้าครับ แต่คุณดูสิ มันวิ่งหนีผมไปแล้วทิ้งไว้แค่ก้อนอึ!”

สุดท้ายแล้ว ของขวัญที่ได้รับในวันคริสต์มาสทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าแตกต่างกันไป ขอแค่มีทัศนคติที่ดีทุกอย่างก็จะดีตามไปเอง

 

Merry Christmas!

 

อ้างอิง

https://russianlife.com/the-russia-file/grandfather-frost-more-than-just-santa-claus/

https://learnrussianlanguage.net/amazing-facts-about-ded-moroz-and-snegurochka

https://arzamas.academy/mag/1048-ded_moroz

https://www.atlasobscura.com/articles/soviet-santa