09 ก.ย. 2565 | 19:56 น.
เริ่มจากการหลงใหลในความอาร์ตสู่พนักงานแบงก์
ก้องเลือกเรียนในสายที่เกี่ยวกับงานอาร์ต งานออกแบบ ตั้งแต่ปริญญาตรี ซึ่งเขาเรียนสถาปัตย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาที่เกี่ยวกับออกแบบนิเทศศิลป์ ซึ่งจะเน้นเกี่ยวกับพวกกราฟิก, แบรนดิ้ง รวมไปถึงการทำอาร์ตเวิร์กเป็น 2D, 3D และการออกแบบผลิตภัณฑ์
จากนั้นก็เรียนต่อปริญญาโทในสาขาธุรกิจ ส่วนหนึ่งเพราะว่าก้องมองว่า อย่างไรในอนาคตก็อยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะที่บ้านก็ทำธุรกิจ ซึ่งเขาพูดว่า
“ในอนาคตเราคงอยากทำอะไรเป็นของตัวเอง แต่ว่าเรายังไม่ได้มีแพลนที่มันชัดเจนว่าอยากทำอะไร แล้วตอนนั้นคือตอนเด็ก ๆ ก็ยังไม่ชัวร์ว่า สุดท้ายแล้วเรายังต้องมาทำธุรกิจของที่บ้านด้วยไหม แต่ในอนาคตเราก็คงอยากทำอะไรที่มันเป็นธุรกิจของเรานี่แหละ
“การเรียนปริญญาโทสาย business เรารู้สึกว่ามันเหมือนเป็นการปูพื้นให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจก่อน ก็เลยเลือกเรียนสาขา Global Supply Chain Management อันนี้คือเราเรียนที่ Cass Business School ที่ประเทศอังกฤษ มันก็จะเน้นเกี่ยวกับการที่เราได้เข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจตั้งแต่ต้นจนจบ ว่าในการที่เราจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องรู้ข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ”
หลังจากนั้น ก้องได้เริ่มทำงานที่แรก (หลังจากกลับจากอังกฤษ) คือ Relationship Manager ในฝ่ายของ Private Banking ของสวิตเซอร์แลนด์แบงก์ ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) รายแรกที่มาร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ทำอยู่ประมาณเกือบ 1 ปี แต่ชีวิตก็พลิกผันอีกครั้งเพราะพี่สาว
เริ่มต้นธุรกิจเพราะพี่สาว
ก้องเล่าว่า “ตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันเป็นงานที่สนุก แล้วเราได้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนไปด้วย อีกทั้งยังได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมของสิงคโปร์ ที่เขาเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนโดยเฉพาะ ซึ่งเขาก็จะวิเคราะห์ข่าวทั่วโลก วิเคราะห์ตลาดทั่วโลก แล้วเรารู้สึกว่าเราเอนจอยกับตรงนั้น
“แต่ช่วงนั้นพี่สาว (แนท - นันทนัช เอื้อศิริทรัพย์ ผู้บริหารร้าน nice two Meat u และ Fire Tiger) ได้ติดต่อมาแล้วบอกว่าเขาเช่าที่ที่สยามสแควร์ ซอย 3 ให้ ตรงนั้นเหมือนเป็นซอยหลักที่มีแทรฟฟิกค่อนข้างเยอะที่สุด พี่สาวบอกลองไปทำดูนะ เหมือนโยนโปรเจกต์มาให้เรา
“คิดว่าตรงนี้คือเป็นจุดเปลี่ยน เพราะเราก็คงไม่ทิ้งงานประจำมาทำ เพราะตอนนั้นทำได้แค่ 9 เดือน ซึ่งการงาน การเงิน ถือว่าค่อนข้างดีในทุก ๆ ด้าน คิดว่างานสายนี้ก็น่าจะโตขึ้นไปได้อีก”
จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็น_ KIKI_BEAUTY_SPACE
ช่วงเริ่มต้นธุรกิจถือว่าเป็นการลองผิดลองถูกอย่างหนึ่งของคนที่เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งก้องก็เป็นหนึ่งในนั้น เขารู้แค่เพียงว่า เป็นคนที่ค่อนข้างชอบความครีเอทีฟ ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้มาเรียนสายอาร์ต ดีไซน์ เพราะชอบอะไรที่แปลกใหม่ ก้องเลยพยายามเอาความครีเอทีฟมาผสมผสานกับธุรกิจที่เขาทำ
“ปกติคนส่วนมากเขาจะคิดออกมาก่อนว่าอยากทำอะไร แต่อย่างของเรา เราใช้วิธีการคือ ลองวิเคราะห์ว่าในโลเคชั่นตรงนี้ทำอะไรแล้วมันน่าจะเวิร์ก คือเราไม่ได้เอาความชอบส่วนตัวมาเป็นตัวนำ เพราะเราได้ที่ก่อนที่จะมาเป็น business plan มันก็เลยจะแตกต่างจากคนอื่น
“ช่วงประมาณ 2 เดือนก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 เราได้พื้นที่แค่ห้องเดียว 1 ห้อง 1 ชั้น (จากที่ขอเช่าพื้นที่ 1 คูหา ก็คือ 1 ตึก 4 ชั้น) แต่เจ้าของเช่าเดิมมีปัญหากับจุฬาฯ จนเกิดเรื่องฟ้องร้องกัน เราเลยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจตามสถานการณ์
“เราพยายามดูว่า ถ้าเราต้องทำอะไรสักอย่างในพื้นที่ตรงนี้ โลเคชั่นนี้ยังขาดอะไร หรือเรามีคู่แข่งในเชิงไหนบ้าง แล้วก็ถามความชอบหรือว่าความสนใจของแต่ละคนที่อยู่ในบริเวณนี้
“ตอนนั้นช่วงประมาณปี 2019 เทรนด์ที่กำลังมาในสยามซอย 3 แทบจะทุกร้านเน้นขายเสื้อผ้าเกาหลี เน้นเอาของเกาหลีมาขาย ทั้งสกินแคร์หรือว่าของใช้ต่าง ๆ ที่เป็นเทรนด์ในเกาหลี แต่เราคิดว่าถ้าเราจะทำธุรกิจที่ตรงนี้ เราไม่ได้อยากมีแค่สินค้าอย่างเดียว
“พอดีพี่สาวเขาเคยพูดว่าในสยามอยากไปทำผมทำเล็บก็ไม่มีร้านดี ๆ เลย เราก็เลยคิดว่าอยากเอาไอเดียนี้มาทำเป็นธุรกิจด้วย แต่ด้วยพื้นที่ที่ได้มามันเล็กมาก บริการทำผมไม่ได้แน่ ๆ เราเลยเริ่มจากการทำเล็บก่อน”
แต่ด้วยความที่ก้องก็ยังไม่แน่ใจว่าธุรกิจจะออกมาในรูปแบบไหน หรือจะเผชิญกับความเสี่ยงมากแค่ไหน สิ่งที่ตอนนั้นก้องเลือกทำก็คือ แบ่งครึ่งพื้นที่ในร้านระหว่างธุรกิจบริการกับการขายสินค้าจากเกาหลี และสินค้าอื่น ๆ ที่คนอื่นฝากขาย ก็จะเป็นคล้าย ๆ ร้านที่ขายหลายอย่างไม่เจาะจงประเภท/แบรนด์โดยเฉพาะ
“เหมือนเป็นร้านในร้านอีกทีหนึ่ง มีร้านทำเล็บที่อยู่ในร้านเสื้อผ้า ก็ดูแปลกดี คิดว่าน่าจะยังไม่ค่อยมีใครทำ เราก็ลองมิกซ์ออกมาให้มันดูแปลกใหม่กับสไตล์แต่งร้านที่แบบเท่ ๆ
“แต่ช่วงที่โดนรัฐบาลสั่งปิด (มีการระบาดของโควิด-19) เราต้องแบกรับต้นทุนค่อนข้างเยอะ เราได้แค่ส่วนลดค่าเช่าพื้นที่ แต่เรามี fixed cost ค่อนข้างเยอะ เลยต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่าจะไปต่ออย่างไรดี เลยตัดสินใจว่า ‘รีแบรนด์ร้าน’ ไม่ทำเรื่องโปรดักต์แล้วเพราะมีปัญหาเรื่องชิปปิ้งรอของนาน แล้วมีปัญหาเรื่องภาษีอีก เลยคิดว่าทำอะไรแค่ในส่วนที่อยู่ในประเทศน่าจะดีกว่า ซึ่งโชคดีว่าได้เงินก้อนมาจากการขายเหมาเสื้อผ้าทั้งหมดพอดี เลยนำมาต่อยอดร้านต่อ”
ที่มาของชื่อร้านบิวตี้
ด้วยความที่บรรยากาศของร้านมีความเท่ ๆ แต่สำหรับชื่อหลายคนมองว่า มีความน่ารัก ติดหู และจำง่าย ซึ่งที่มาของชื่อนี้ ก้องเล่าว่า “อยากได้ชื่อที่จำง่าย อยากได้ชื่อที่มีความเป็นผู้หญิงเข้ามาเพิ่มนิดนึง และอยากให้มีความอินเตอร์เนชันแนลหน่อย ถึงแม้ว่า KIKI มันจะไม่ได้ฝรั่งจ๋าขนาดนั้น แต่เราก็คิดว่า มันเป็นอะไรที่เรียกง่ายจำง่าย แล้วก็สะกดง่ายด้วย อีกส่วนหนึ่งก็คือมาจากชื่อที่แม่เรียก แม่เรียกก้องกี้
“พี่สาวแนะนำว่า KIKI น่ารักดีก็เลยใช้ชื่อนี้ ส่วนไอเดียอีกอย่างคือ เราจะไม่ใช้คำว่าซาลอนแน่นอน เพราะเรารู้สึกว่าซาลอนมันเป็นอะไรที่เหมาะสำหรับผู้หญิงเท่านั้น
“ก็เหลืออยู่ 2 ชื่อว่าเราจะใช้ KIKI Beauty Lab หรือ KIKI Beauty Space แต่สุดท้ายก็มาใช้คำว่า Space เพราะเรารู้สึกว่า Beauty Lab มันเหมือนร้านขายสกินแคร์มากกว่า และเราเป็นคนชอบ Space อยู่แล้วด้วย เรารู้สึกว่า Space มันมีความน่าสนใจในตัว ถ้า Space แปลเป็นไทยก็คือ ‘พื้นที่’ เราต้องการให้คนมองว่า KIKI ไม่ได้เป็นแค่ซาลอนนะ แต่มันเหมือนเป็น Space สำหรับคุณที่สามารถเข้ามาทำอะไรก็ได้
“คนเข้ามาใช้บริการเกี่ยวกับความสวยความงามมันก็เป็นการทำอะไรเพื่อตัวเอง แล้วคำว่า Space เรารู้สึกว่าอยากให้มันเป็นคอนเซ็ปต์ที่เหมือนเป็น Comfort Zone ของทุกคน เข้ามาทำอะไรเพื่อตัวเองในพื้นที่ที่เป็นของคุณ”
ส่วนงานดีไซน์ร้าน สำหรับก้องมองว่า อยากจะเปลี่ยนภาพจำของคนที่จำภาพความเป็นซาลอนที่ต้องเป็นไฟขาว ๆ มีกระจกตรงกลาง แล้วตกแต่งด้วยไม้ทั้งหมด ลบภาพตรงนี้ออกไป แล้วสร้างภาพจำขึ้นมาใหม่ เลยเอาความชอบตัวเองเข้ามาใส่ ซึ่งก็คือพวกงานปูน งานลอฟต์
“เราเริ่มสร้างไอคอนที่ทำให้คนมีภาพจำว่าเป็นร้าน KIKI คือถ้าคนนั่งอยู่ที่กระจกทำผมจะรู้เลยว่าอยู่ร้านเรา มันจะเป็นก้อนปูนที่งอกออกมาจากพื้นแล้วก็เป็นกระจก เราต้องการสร้างจุดเด่น ใช้ไอคอนและแบรนดิ้งผสมกัน”
ร้านบิวตี้ที่มีความ_unisex
หลังจากที่เปิดบริการมา 4 ปีถือว่าเป็นอีกหนึ่งร้านที่มีคอนเซปต์ชัดเจนว่าต้องการเป็นพื้นที่เพื่อใครก็ได้ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น
ซึ่งก้องได้พูดว่า “เราเน้นมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าของทุกอย่างที่เราใช้ต้องพรีเมียม ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ที่เอาไว้ใช้สำหรับทำผมในร้านหรือว่าทำเล็บ แต่มันรวมไปถึงเครื่องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ด้วย อย่างเช่นเก้าอี้ที่ลูกค้านั่งตัดผม เตียงสระที่ลูกค้าใช้ก็จะเป็นแบบเตียงสระไฟฟ้าเอนนอนได้ 180 องศา แล้วก็พวกเครื่องใช้ต่าง ๆ
“รวมไปถึงบรรยากาศภายในร้าน เข้ามาแล้วกลิ่นต้องดี ไม่ใช่ว่าเดินเข้ามาแล้วกลิ่นน้ำยาดัดเตะจมูก คือเข้ามาในร้านเขาต้องรู้สึกดีในรอบ ๆ ด้าน ตั้งแต่การสัมผัสไปจนถึงฝีมือช่าง
“เราอยากทำให้ mood & tone ภายในร้านมันเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้รู้สึกว่า คุณอยู่ในซาลอนที่เมืองไทย แต่อยากทำให้รู้สึกว่าเข้ามาแล้วนี่คือ KIKI เราต้องการให้คนจำภาพว่า KIKI คืออะไร KIKI มีสไตล์เป็นแบบไหน เข้ามาถ่ายรูปมุมนี้แล้วคนจะรู้เลยว่านี่คือ KIKI”
สำหรับโปรดักต์ที่ใช้ในร้าน KIKI เรียกว่าเน้นคุณภาพเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการทำสีผมที่เชี่ยวชาญในเรื่องการฟอกสีผม (การันตีว่าผมจะไม่กลับมาเป็นสีส้ม) หรือจะเป็นการทำทรีตเมนต์ผมด้วยเคราติน, การต่อขนตาด้วยขนมิงค์, การทำเล็บที่มีสีเจลให้เลือกมากที่สุดในประเทศกว่า 600 เฉด ฯลฯ จึงไม่แปลกใจว่าทำไม KIKI ถึงได้รับรางวัล World Best Luxury Salon 2022 จากประเทศดูไบ
“รางวัลนี้เป็นของบริษัท World Salon Awards ที่เขาจะมีการจัดอันดับซาลอนในแต่ละปี ซึ่งของเราเขาก็มีติดต่อมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 โดยเป็นการค้นหาซาลอนจากทั่วโลก และเอามาเปรียบเทียบกัน คือไม่ได้เทียบแค่ว่าร้านนี้ทำแล้วผลลัพธ์ออกมาเป็นยังไง แต่ต้องดูตั้งแต่สิ่งอำนวยความสะดวก มีที่จอดรถไหม รับบัตรเครดิตไหม มีโซนอะไรบ้าง หรือว่าบริการในแต่ละแผนกครบไหม เพราะบางร้านอาจจะมีแค่ตัด ทำสีผม แต่ไม่มีดัด - ยืด
“ที่สำคัญ KIKI Beauty Space ไม่มีข้อผูกมัดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ถ้าลองสังเกตดูว่าบางซาลอนเขาจะชูเลยว่าอันนี้เป็นซาลอน L’Oréal หรือเป็นซาลอน Schwarzkopf ซึ่ง KIKI ไม่ใช่”
ทำไม_KIKI_ต้องมีคาเฟ่?
ร้าน KIKI นอกจากจะครบเครื่องเรื่องการดูแลตัวเอง ยังมีโซนคาเฟ่ที่อยู่ชั้น 3 ด้วย ซึ่งก้องให้เหตุผลว่า “เราไม่อยากที่จะทำพื้นที่เพื่อรอไว้ข้างล่าง แต่เราต้องการทำพื้นที่นั่งรอให้กับลูกค้าทั้งคนที่มาใช้บริการและคนที่มาเป็นเพื่อน
“จุดประสงค์อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เพื่อบริการลูกค้าของเราเป็นหลัก คือเราไม่ได้เน้นขาย แต่ว่ามันเหมือนกับเวลาเราไปเลานจ์ ซึ่งกาแฟหรือว่าเครื่องดื่มต่าง ๆ ถ้าลูกค้าที่เป็นสมาชิกกับเราก็จะได้ทุกอย่างฟรีหมดเลย”
ในส่วนของทิศทางในอนาคต ก้องบอกกับเราว่า “ในอนาคตก็อาจจะมีสาขาเพิ่ม ส่วนในสิ่งที่เรามีอยู่แล้วคิดว่าอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์และยุคสมัย คืออีก 10 ปีข้างหน้า KIKI ก็คงไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องการเป็นซาลอนที่เป็น trend center เราจะไม่ใช่ซาลอนที่ทำตามเทรนด์
“ที่ผ่านมาเราก็เป็น trend center มาโดยตลอด ตั้งแต่ครั้งแรกของการทำสีผม inner ด้านในก็มาจากร้านเรา ซึ่งคนแรกที่เราทำคือน้องพริมโรส เป็นรุ่นน้องที่เป็นเน็ตไอดอล หลังจากนั้นเทรนด์ inner ก็ตามมาเต็ม ๆ”
วิธีทำธุรกิจที่ดีคือต้องวิเคราะห์ก่อนลงมือทำ
สำหรับมุมมองเรื่องธุรกิจของก้อง เขามองว่าความกล้าเป็นสิ่งที่ดี อย่ากลัวที่จะลงมือทำ เพราะว่าความกลัวมันเกิดจากความไม่มั่นใจ ทั้งยังย้ำด้วยว่าต้องวิเคราะห์ก่อน อันนี้สำคัญมาก
“คนส่วนมากคิดปุ๊บทำปั๊บ แล้วไปเสี่ยงเอาข้างหน้า ถ้าดีก็ดีไป ถ้าไม่ดีก็คือเจ๊งไม่เป็นไรเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ แต่ว่าในทุก ๆ อย่างที่เราทำมันมีการลงทุนอยู่แล้ว สิ่งที่ลงทุนน้อยที่สุดแล้วความเสี่ยงต่ำที่สุดคือการลงทุนกับความคิดตัวเองอันนี้สำคัญ เพราะถึงแม้ว่าตอนที่เราทำ เราไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการลงทุนมากขนาดนั้น แต่เราวิเคราะห์เยอะมาก รู้สึกว่าถ้าเราต้องการทำอะไร ถ้าเราทำแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ นั่นแปลว่าเราเอาเงินไปทิ้ง
“ตอนที่เริ่ม business plan แล้วสรุปออกมาว่าจะเป็น beauty เราก็ต้องมาวิเคราะห์ลึกไปอีกว่า beauty ยังไง แล้วควรจะเป็นแบบไหน ถ้าทำร้านแบบนี้คนจะเข้าไหม คือมันต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะตัวเราเองไม่ได้มีประสบการณ์ในด้านนี้ เรายิ่งต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น”
ภาพ: ณัฐนันท์ วิจิตรบุญชูวงศ์