สัมภาษณ์ พิสิทธิ์ กิรติการกุล พิธีกร คดีเด็ด กับย่างก้าวสู่ปีที่ 22 ของรายการสุดคลาสสิก

สัมภาษณ์ พิสิทธิ์ กิรติการกุล พิธีกร คดีเด็ด กับย่างก้าวสู่ปีที่ 22 ของรายการสุดคลาสสิก

หว่อง - พิสิทธิ์ กิรติการกุล พิธีกรที่มาคู่กับสีหน้าเรียบเฉยในรายการ คดีเด็ด อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการทีวีซึ่งดำเนินมายาวนาน แล้วเรื่องราวของตัวเขาเองเป็นอย่างไร? ไปดู!

รายการ ‘คดีเด็ด’ อยู่บนหน้าจอโทรทัศน์มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ มีข้อมูลว่าในปี 2565 รายการนี้ก้าวสู่ปีที่ 22 แล้ว และแทบจะเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของวงการก็ว่าได้

เอกลักษณ์ที่มาพร้อมกับเนื้อหารายการซึ่งเป็นที่จดจำของผู้ชมคือ ใบหน้า ลีลาการนำเสนอ และคำพูดจากปากของ พิสิทธิ์ กิรติการกุล พิธีกรที่อยู่กับรายการมาตั้งแต่ต้น

นอกเหนือจากเหตุการณ์ในคดีต่าง ๆ ที่ หว่อง - พิสิทธิ์ เล่าผ่านหน้าจอ ชีวิตของนักข่าวและพิธีกรรายนี้มีสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ทำไมถึงต้องหน้านิ่งขนาดนี้? วลีติดปากมาจากไหน? ชีวิตจริงของเขาเป็นอย่างไร?

บทสัมภาษณ์นี้บันทึกเรื่องราวเอาไว้แล้ว...ไปดู!

The People: เริ่มต้นทำงานสายคอนเทนต์หรือสายข่าวสารได้อย่างไร

พิสิทธิ์: ที่จริงผมเริ่มต้นกับข่าว นักข่าวญี่ปุ่น เขามาเปิดสำนักงานหาข่าวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ของญี่ปุ่น ชื่อฟูจิ เทเลวิชั่น ลักษณะคล้ายช่อง 7 ที่แหละ

แต่ตอนนั้น พูดง่าย ๆ ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับช่อง 7 คือเขาเน้นเรื่องบันเทิงแล้วก็มาหาข่าวในประเทศไทย แต่จริง ๆ แล้ว ข่าวในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเขา เรื่องใหญ่อยู่ชายแดน ที่อรัญประเทศ ปัจจุบันก็อยู่ใน จ.สระแก้ว เมื่อก่อนนี้เป็น จ.ปราจีนบุรี

ถามว่าทำไมอยู่ชายแดน เพราะตอนนั้นเนี่ยมันเกิดสงคราม สงครามเขมร(ในกัมพูชา)เขารบกันเอง แล้วทีนี้คนก็หนีตายมาอยู่บริเวณชายแดน เป็นล้านนะ ที่สำคัญก็คือว่ามีญี่ปุ่นแน่ ๆ ที่เขามาหาข่าวก็คือว่า เขาต้องการจะดูคนญี่ปุ่นที่หนีสงครามมา

เมื่อมาหาข่าวก็ไปชายแดนกับเขาเป็นประจำเลยนั่นแหละ ก็เริ่มต้นจากจุดนั้น ได้รู้ว่าคนญี่ปุ่นเขาทำข่าวกันยังไง สมัยโน้น ต้องทำข่าวเนี่ยเป็นกล้องเป็น 8 มิลลิเมตรนะ เป็นกล้องฟิล์ม

ถ่ายเสร็จ ต้องส่งฟิล์มไปญี่ปุ่นเลย ไม่ล้างที่นี่ ส่งฟิล์มไปญี่ปุ่นและให้ญี่ปุ่นล้าง แล้วเอาไปออกงาน ดูสิ เมื่อก่อนญี่ปุ่นยังใช้ฟิล์ม 8 มิลลิเมตร เห็นว่าพวกสถานีในบ้านเราใช้ฟิล์มขนาด 16 มิลลิเมตร แบบทำหนังเลย

ถึงแม้ผมเรียนจบทางด้านสื่อสารมวลชนก็ปรากฏว่าจบทางด้านผลิตรายการ เป็นไดเรกเตอร์ (Director) เป็นกล้องอะไรก็แล้วแต่ ผลิตรายการ ไม่มีสอนเรื่องข่าวเลย

เพราะฉะนั้นก็รู้ว่าตกลงไอ้ข่าวโทรทัศน์เนี่ยเขาทำกันยังไง แล้วก็มาพบว่าข่าวโทรทัศน์กับข่าวหนังสือพิมพ์ มี เขามีสอนหนังสือพิมพ์นะ Journalism เป็นอีกลักษณะหนึ่ง นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นนะฮะ

เสร็จแล้วก็มาช่อง 7 ผมก็ไม่ได้ทำข่าว เพราะตอนนั้น งานข่าวช่อง 7 หรือสถานีโทรทัศน์ที่เรามีอยู่ 4-5 ช่องตอนนั้นก็ไม่ได้มี...เขาไม่ได้ให้ความสำคัญ วันหนึ่งข่าวเสนอครั้งเดียว ก็คือข่าวสองทุ่ม ข่าวในราชสำนัก เสร็จแล้วก็เป็นข่าวนายกฯ ข่าวผู้บัญชาการทหาร แล้วก็ข่าวกีฬาจบ

เวลาเสนอข่าวทุ่มนึง ทุ่มครึ่ง สองทุ่มครึ่ง ก็เข้าละคงละครไป มีอยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาหานักข่าว ผมก็ตอนแรก ๆ ทำงานกับช่อง 7 เป็นหน้าห้องให้กับคุณชาติเชื้อ กรรณสูตร กรรมการผู้จัดการของช่อง 7

แล้วผมเผอิญมีประวัติว่าเคยทำงานบริษัทโฆษณาช่อง 7 เขาก็คล้าย ๆ ว่า เออ ช่อง 7 เขาก็เออ อยากจะมีรายได้จากการโฆษณา ช่อง 7 ตอนนั้นก็มีคนดูมากแล้ว เพียงแต่ว่าโฆษณาไม่ค่อยจะเข้า ก็เลยมาดูว่าเราจะทำยังไง เพื่อที่จะให้ลูกค้ามาโฆษณาในช่อง 7 มาก ๆ ก็อยู่กับเขา ทำเกี่ยวกับเรื่องติดต่อกับลูกค้า ผู้โฆษณา เอเยนซี บริษัทโฆษณาต่าง ๆ คำนวณเรื่องราคาค่าโฆษณา

จนกระทั่งมาอีกยุคหนึ่ง ช่อง 7 จัดประกวดนางงามก็เลยบอก อ้าวช่วยดูหน่อย จัดประกวดนางงาม สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุฒิ เขาก็รื้อฟื้นกลับมาประกวดนางงาม แต่ทีนี้ปีหนึ่งก็ครั้งเดียวเท่านั้นเอง งานหลัก 2 อย่างก็คือช่วยหาโฆษณา ติดต่อลูกค้าให้เจ้านายเขา เป็นแขนเป็นขา เจ้านายเขามีโปรแกรมพิเศษก็คือจัดประกวดนางงาม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอด

สัมภาษณ์ พิสิทธิ์ กิรติการกุล พิธีกร คดีเด็ด กับย่างก้าวสู่ปีที่ 22 ของรายการสุดคลาสสิก

The People: ตอนนั้นที่พี่บอกทำงานคือทำสายโฆษณา แล้วทำไมมาทำกับบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นสายข่าวล่ะครับ เรื่องราวมันเป็นยังไง

พิสิทธิ์: ก็รายได้มันไม่ค่อยดี เงินมันน้อย (หัวเราะ) ทำโฆษณาก็ไม่แน่ใจว่ามันจะก้าวหน้า เผอิญทางโน้นเขาก็อยากจะได้คน นักข่าว มันก็พอมีอยู่ในสมองบ้างเกี่ยวกับเรื่องข่าว เพราะเรียนมาทางด้านสื่อสารมวลชนใช่ไหม ใจก็คล้าย ๆ ว่าชอบ

เคยคิดอยากจะเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ อยากจะเขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์ ก็เลยบอก ก็มาทางด้านนี้ เงินเดือนมัน 2 เท่านะ มากกว่าเงินเดือนที่ผมทำโฆษณา เงินเดือนโฆษณาประมาณ 2,200 มั้ง แต่อันนี้มันให้ 4,000 กว่า ผมก็เลยมาทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นดีกว่า

ญี่ปุ่นเนี่ยตอนนั้นเขาร่ำรวยมาก ประเทศญี่ปุ่นนะ โอโห สินค้า สมัยผมเรียนหนังสืออยู่ เราต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ยังจำได้ไปร่วมกับคุณ ธีรยุทธ บุญมี ไปประท้วงสินค้าญี่ปุ่น แต่เขาเข้ามาเยอะแล้ว เมื่อก่อนมีห้างไทยไดมารู ญี่ปุ่นก็คือเขามีสตางค์เยอะไง เขาก็สามารถที่จะจ้างพวกเราได้ในราคาแพง ๆ

The People: จากทำงานข่าวกับบริษัทญี่ปุ่น ทำไมถึงมาเป็นหน้าห้องของช่อง 7 ครับ มันพลิกมาอีกแบบหนึ่งเลย

พิสิทธิ์: เผอิญไปเจอเจ้านาย เจ้านายเขาก็บอกว่าทางโน้นเขาอยากจะได้คนนะ ก็เลยมาสมัคร เขาบอกงั้นก็มาทำพรุ่งนี้แล้วกัน เขาอยากจะได้คนน่ะ

The People: จากนักข่าว มาเริ่มต้นทำรายการคดีเด็ดได้อย่างไร

พิสิทธิ์: ...ช่วงนั้นเข้าใจว่าหลัง(วิกฤตเศรษฐกิจ)ต้มยำกุ้งมั้ง ใช่ไหมฮะ เศรษฐกิจบ้านเราฮวบฮาบเลยใช่ไหมฮะ ล้มละลาย ธนาคงธนาคารล้มละลาย ก็มีรายการโทรทัศน์ก็หายไปเยอะ ในขณะเดียวกันมันต้องมีรายการใหม่ ๆ เข้ามาไง ทีนี้คดีเด็ด เป็นรายการของกันตนา ซึ่งกันตนาก็ไปจ้างคนกลุ่มหนึ่ง ว่าลองทำรายการเกี่ยวกับตำรวจ ก็เข้าใจว่าเอามาจากต่างประเทศนั่นแหละ ใช่ไหมฮะ เรื่องเกี่ยวกับทางโรงพงโรงพัก

เขาก็มาติดต่อผม คิดว่าหน้าตาคงจะออกทีวีไปเยอะแล้ว คนก็พอจะรู้จัก เขามาติดต่อว่า โอเค มาทำคดีเด็ดให้เขาหน่อย ผมก็ดูว่าไม่มีอะไรขัดข้อง ดูก็ใกล้เคียงกับข่าวอาชญากรรมเพียงแต่เรื่องมันไปในทางเบาสมอง

The People: ตั้งแต่ตอนแรก มันมีดีไซน์บุคลิกไหมว่า มาดำเนินรายการ บุคลิกจะต้องเป็นแบบไหน ต้องหน้านิ่ง ๆ หรือต้องมีคำพูดติดปากตั้งแต่ตอนแรกเลยไหม

พิสิทธิ์: ฟังดูเขาก็ไม่ได้ดีไซน์หรอก แต่เขาดูจากหน้าจอ เข้าใจว่า หนึ่ง ดูจากข่าวที่ผมออกข่าว อ่านข่าวเขาเรียกอะไร ข่าวเด็ด ดูชื่อเขายังใช้ชื่อเด็ดเลยนะ ก็มาจากข่าวเด็ด ข่าวสั้น ๆ ของช่อง 7 อันหนึ่งก็ดูจากบุคลิกที่ออกข่าวเด็ด

สอง ตอนนั้นมันมีรายการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ผมทำรายการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ก็ของกันตนาเขานี่แหละ เป็นรายการมาจากญี่ปุ่น ก็ดูแล้วเขาอยากจะได้คนหน้าตาแบบนี้นะ ก็คือหน้าตาย ทื่อ ๆ ก็เลยรักษาแบบนั้นเลย

แล้วเขาก็มาอธิบายเรื่องเกี่ยวกับมุกตลก ก็ไปตรงกับพวกดาราตลก ดาราตลกเขาก็บอกว่า พี่ ผมเป็นดาราตลกผมจะต้องไม่ตลก ใช่ไหมฮะ ตัวเขาจะต้องหน้าตาย หรืออะไรก็แล้ว แต่สิ่งที่เขาทำเนี่ยต้องไม่รู้สึกว่ามันตลก คนดูจะได้ดูแล้วตลก แต่ถ้าคุณเป็นตลกแล้วบอกว่าอันนี้คือตลกมันจะไม่ตลก เขาก็คิดอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นก็ออกมา ไอ้เสียงที่มันสะท้อนออกมาก็ เออ ไอ้นี่มันแปลก ใช่ไหม ดูหน้าตา เลยดูผมเหมือนเป็นตัวตลก

The People: จากเป็นนักข่าว เป็นนักโฆษณา แต่กลายเป็นว่าทำรายการดูเหมือนว่าตลกนิด ๆ แต่ว่าเป็นตลกแบบหน้าตาย ส่วนตัวแล้วโอเคกับตัวตนแบบนั้นไหม?

พิสิทธิ์: จริง ๆ แล้ว ตามบทเนี่ย ผมแทบไม่มีอะไรตลกเลยนะ มันตลกอยู่ในตัวสตอรี่ (เรื่องราว) ที่เป็นคดี แล้วเขามีคนพากย์ของเขาอีกคนหนึ่ง เพียงแต่ผมก็นำเข้าเรื่องแล้วก็ปิดท้าย ส่วนปิดท้ายมันมีประโยคที่ติดปากอยู่ 2-3 ประโยค ก็เป็นเรื่องที่เขาคิดขึ้นเอง

แล้วบางทีเขาก็ไปเอามาจากคำที่มันฮิตติดจากโทรทัศน์ เป็นคำพูดของคุณคำรณบ้าง หรือของใครก็แล้วแต่ มีอยู่ 2-3 อัน ที่รวม ๆ ออกมาแล้ว มันก็เลยดูว่าทั้งรายการเป็นตลก

The People:  คนที่ดูบ่อย ๆ แล้วติดภาพจำว่า พิสิทธิ์เป็นคนนิ่ง ๆ เป็นคนหน้าตาย โอเคกับภาพจำแบบนี้ไหม

พิสิทธิ์: บางทีผมก็ไม่รู้ตัว แต่เขามองว่าเป็นอย่างนั้นครับ เพราะฉะนั้น ผมจะไปเปลี่ยน บอกว่ารายการนี้ผมจะทำเป็นเสียงมีสูงต่ำ เขาก็บอกว่าไม่เปลี่ยน เขาจะเอาแบบนี้ เพราะเขาบอกว่าเขาก็ทำรายการมาหลายรายการ

เจ้าของรายการกันตนาก็เคยทำมาหลาย ทำมาเยอะ แล้วพบว่า ถ้าหากว่าทำไประยะหนึ่งแล้ว มีตลาดพอสมควรแล้ว พูดง่ายๆ  ก็คือรายการนิ่งแล้ว อยู่ ๆ ไปเปลี่ยนอะไรที่มันเห็นชัดเจนเช่น เปลี่ยนพิธีกรก็ดี หรือว่าเปลี่ยนรูปแบบก็ดี มักจะไปไม่รอด ไปต่อไม่ค่อยจะได้ เขาก็เลยบอกว่าไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นก็จะรักษาแบบนี้ไว้

สัมภาษณ์ พิสิทธิ์ กิรติการกุล พิธีกร คดีเด็ด กับย่างก้าวสู่ปีที่ 22 ของรายการสุดคลาสสิก

The People: ในรายการพูดถึงคดีต่าง ๆ มามากมาย มีเรื่องที่ประทับใจหรือความทรงจำที่ฝังใจไหม

พิสิทธิ์: ตัวคดีผมก็รับตรง ๆ ผมไม่ได้ไปยุ่งตัวคดีเขา ตัวคดีเขามีทีมงานไปผลิต พูดง่าย ๆ ไปรีเสิร์ช ไปสัมภาษณ์ตำรวจมา แล้วก็มาสร้างเป็นคดีก็อาจมีเป็นเรื่องจริงสักส่วนหนึ่ง 30% แล้วก็สักประมาณ 50-60% มันก็ต่อเติมให้มันดูสนุก

ตำรงตำรวจที่คุณเห็นก็ไม่ใช่ตำรวจจริง มีตำรวจจริงก็เป็นเพียงคนเดียวที่เขาเล่าเรื่อง นอกนั้นก็เป็นตัวแสดงทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ในรายละเอียดที่จะไปพูดถึงว่าในสตอรี่ในนิยายของเขาเป็นยังไง ผมก็ไม่ค่อยจะทราบ เพราะว่าเขามีอีกทีมหนึ่งไปทำ

แต่ส่วนใหญ่ผมก็จะเกี่ยวข้องกับคนที่ทำกับเจ้าของรายการเขา ก็เห็นว่ารายการนี้ถือว่าตรงไปตรงมาดี แล้วเขาให้ความสำคัญกับเรา เด็ก ๆ ก็มาช่วยงานกันดี แล้วก็พูดง่าย ๆ ก็ไม่มีอะไรบูดเบี้ยวไปเลย

The People: เวลาไปถ่ายรายการที่สน. ต่าง ๆ มีประสบการณ์ที่เราไม่คาดฝันไหม

พิสิทธิ์: ไปถ่ายส่วนใหญ่ ไปเสร็จแล้วก็ได้ตำรวจเป็นเพื่อนเพิ่มมากขึ้น อันที่สองคือ เวลาในระหว่างถ่าย บางทีเขาก็คิดว่าผมเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ เพราะฉะนั้น บางทีขึ้นโรงพักมา เขาก็จะมาถามว่า เขาจะมาเสียค่าปรับจะต้องทำยังไง

บางคนมาถึงเห็นหน้าผมก็ตกใจเดินหนีไปเลย เพราะกลัว ไม่อยากจะเป็นคดีเด็ด ก็กลัวว่าจะถูกเอาไปออกอากาศเป็นคดีเด็ด ตำรวจบางคนก็บอกว่า บางคนก็อยากจะออกในรายการ ตำรวจบางคนก็ไม่อยากจะออกรายการ ทำไมพี่ ก็กลัวอีกบ้านหนึ่งรู้ว่าไม่ได้อยู่ สน. ที่คุยเอาไว้กับอีกบ้านหนึ่ง อยู่คนละ สน. (หัวเราะ)

The People: โอเคกับสิ่งที่คนแสดงปฏิกิริยาอย่างที่เล่าไหม เช่นที่เล่าว่าเห็นหน้าแล้วหนีไปเลย

พิสิทธิ์: เขาหนีไปแล้วผมก็ไม่ได้ตามว่ามันเป็นเพราะอะไรนะ แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ค่อยหนีนะ คนที่จะหนีจะเป็นคนชั้นกลางที่แต่งตัวดี ๆ ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

แต่ถ้าจะให้ผมเข้าใจพื้นฐานนะฮะ คุณว่าถ้าเขามีเรื่องดี ๆ เขาอยากจะขึ้นมา(โรงพัก) ใช่ไหมฮะ เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่อยากจะให้เรื่องของเขาต้องมาเป็นเรื่องต้องมาเป็นข่าวอะไรแบบนั้น ขึ้นโรงพัก ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่อยากจะขึ้นอยู่แล้ว ถ้าใส่หน้ากากได้ก็อยากใส่หน้ากาก ใส่แว่นได้ก็อยากใส่แว่น เพราะผมดูแล้วลักษณะส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นน่ะ ขึ้นโรงพักบางคนขึ้นหลังโรงพักก็มี

The People: ประโยคเด็ด ๆ ติดหู เช่น “แหม่ ทำไปได้” มาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร

พิสิทธิ์: ก็มาจากคนเขียนบทคดีเด็ด ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง เรียนจบมาใหม่ ๆ อายุ 20 30 นี่แหละ เป็นเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชายเป็นแต่ช่างภาพนะ คนเขียนบท พูดง่าย ๆ ควบคุมการผลิต เป็นเด็กผู้หญิงหมดทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นเด็กผู้หญิงนะ อย่าไปดูถูกเขา ความคิดความอ่านของพวกเขานะ รวมหัวกันแล้วผมว่าคุณก็คงมีประสบการณ์นะ เวลาผู้หญิงเขารวมกลุ่มกันแล้วเนี่ย ความคิดของเขาไปไกลกว่าที่เราบางทีคิดไม่ถึงนะ

แล้วเขาก็ถ่ายทอดออกมาเป็นแบบนี้แหละฮะ สำนวนอะไรแปลก ๆ แต่เป็นสำนวนที่เข้าใจว่าเขาเห็นว่ามันคงติดตลาด แหม ทำไปได้ ก็จริง ๆ ผมไปไหน คนขอถ่ายรูปด้วยก็มักจะขอให้ผมพูดคำนี้ พี่ช่วยพูดหน่อย ผมว่าทำไม ไม่งั้นเขาไม่เชื่อว่ามาถ่ายกับผม คดีเด็ดมันต้องพูดคำนี้ด้วยถึงจะเชื่อ เขาว่าอย่างนั้น

The People: แล้วประโยคว่า ‘ไปดูกัน’ มาจากไหน

พิสิทธิ์: ‘ไปดูกัน’ อันนี้เผอิญว่าหลัง ๆ มา คดีของโรงพักมันเริ่มแป้ก หรือว่าเขาก็ไม่อยากจะไป...หาเรื่องจากตำรวจไกลเกินไป ก็คือเรื่องจากตำรวจเนี่ยมีจำกัดลง แล้วเผอิญคลิปจากชาวบ้านเริ่มมีปริมาณมากขึ้น

คุณคงจะเห็นข่าวหรือว่ารายการโทรทัศน์เป็นคลิปจากชาวบ้าน ชาวบ้านก็กลายเป็นนักข่าวไปหมดแล้ว เพราะว่ามีมือถือใช่ไหม พอคลิปพวกนี้เข้ามา มันก็กลายเป็นว่าเราไม่ต้องไปถ่ายทำ ก็ประหยัดในเรื่องค่าใช้จ่าย เลยโยนเข้า ‘ไปดู’ คุณไม่ต้องถ่ายทำแล้วสิ ก็เชิญเขาไปดู

The People: จากที่ทำทั้งอ่านข่าว ข่าวอาชญากรรมในรายการคดีเด็ดด้วย เห็นอะไรในสังคมในระยะตั้งแต่ทำมา น่าจะ 4 ทศวรรษได้ ระบบยุติธรรม การทำงาน บทเรียน และคดีต่าง ๆ สะท้อนอะไรในสังคมไทยบ้าง

พิสิทธิ์: ผมว่าเรื่องคดีความอะไรต่าง ๆ เนี่ย 40 ปี ยังไงทุกวันก็ยังเป็นรูปแบบเดิม ๆ เรื่องชู้สาว เรื่องการพนัน ใช่มะ มันคงจะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย การฉ้อโกง ก็ดีที่พวกเราได้สะท้อน แล้วเข้าใจว่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ตำรวจต้องทำงาน รับใช้พี่น้องประชาชนมากขึ้น เพราะว่าเรื่องอย่างคดีเด็ดเนี่ยก็ได้เห็นการทำงานของตำรวจเพิ่มมากขึ้น

ตำรวจบางส่วน ส่วนใหญ่เขาชอบว่า โอเค คุณได้มาเห็นว่า พวกผมทำงานเนี่ย มันก็ไม่ใช่ว่าพวกผมเลวไปหมด พวกผมทำงานก็ไม่ใช่ว่ามันจะสุขสบายไปหมด

เมื่อก่อนได้ยินเพลงหนึ่งนะ หม่อมถนัดศรีร้องไว้ ถ้าไปโรงพัก โรงพักยานนาวา ออกไปกลางวันสารวัตรก็มาเข้าเวรกลางคืน ไปกลางคืนสารวัตรก็มาเข้าเวรกลางวัน เลยไม่เจอตำรวจสักทีหนึ่ง ก็ประมาณนั้น

แต่ปัจจุบันเห็นว่าตำรวจถูกเป็นรายการเปิดเผยตัวเองเพิ่มมากขึ้น ก็คนมาถึง ตำรวจเดี๋ยวนี้นั่งเต็มโรงพัก พร้อมที่จะรับใช้ตั้งแต่นายสิบไปจนถึงสารวัตร กระทั่งถึงผู้กำกับ ก็เข้าพบง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน

The People: ชีวิตที่ตอนเช้าต้องอ่านข่าว แบ่งเวลาใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างไร วิถีชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง

พิสิทธิ์: พอมาตอนเช้า ไลฟ์สไตล์มันก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปตามเวลาที่เราทำงานเพราะต้องตื่นเช้าขึ้นใช่ไหม ตื่นเช้าขึ้น ทำงานเสร็จกลับมาทานข้าวก็พักใช่ไหมฮะ ตอนบ่ายถ้ามีงานก็อาจจะไปถ่ายคดีเด็ด เย็น ๆ มีเวลาก็ออกกำลังกาย

ในระหว่างนั้นก็ต้องติดตามตราบใดที่ผมยังหากินกับทางข่าวของทางช่อง 7 เมื่อก่อนนี้ติดตามทางหนังสือพิมพ์นะ เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว ใช่ไหม หนังสือพิมพ์กลายเป็นของที่ไม่จำเป็นแล้ว ทุกอย่างอยู่ในมือถือหมดก็ดู ติดตาม พอตกกลางคืนก็ประสานกับทางช่องบ้าง ตอนนี้มีแนวโน้มเรื่องอะไรบ้าง ก็เตรียมเพิ่มเติมเพื่อที่จะตื่นเช้าในวันรุ่งขึ้น

หว่อง - พิสิทธิ์ กิรติการกุล

The People: เรื่องอายุที่ทุกคนก็มีมากขึ้น สำหรับผู้ใหญ่ที่มาทำงานและต้องมาตื่นเช้า แบบนี้มันโอเคไหมในแง่สุขภาพ ในแง่ร่างกาย

พิสิทธิ์: ก็ทำนาน ๆ ไปมันก็ชิน ตอนแรกอาจรู้สึกลำบากหน่อย ทีนี้สุขภาพ บางทีผมพูด ผมจะไปตัดสินตัวเองก็ไม่ได้ มันก็ต้องไปหาหมอว่าตอนนี้สุขภาพเป็นยังไง ก็เท่าที่จนถึงขนาดนี้ หมอก็บอกว่าโอเค ตรวจดูเจาะเลือดไปตรวจ น้ำตาล ไขมัน อะไรต่าง ๆ หัวใจ เขาก็บอกว่าโอเค อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ไม่มีอะไรเกินเลยไปมากนัก

The People: คนชอบเอารูปที่อยู่ในรายการไปทาบกับแสตมป์ อภิวัชร์ เวลาเขาบอกว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงพิธีกร เอาแสตมป์มาทำหน้าที่แทนได้ สำหรับรายการคดีเด็ดในระยะยาว สมมติว่าทำไปจนถึงระยะหนึ่ง เกิดวันหนึ่งทำไม่ไหว มองอนาคตของรายการคดีเด็ดอย่างไร

พิสิทธิ์: อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิดใช่ไหม ผมก็เคยถามว่ารายการจะจบเมื่อไหร่ คุณคิดว่าผมจะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีคุณแสตมป์อะไรมา ผมก็ไม่ว่า แต่ผมก็ว่าคุณแสตมป์จะมาเหรอ เพราะว่าคุณแสตมป์เขาก็มีชื่อเสียงมากกว่าผมซะด้วยซ้ำมั้ง

ผมสิว่าที่อยากจะไปเป็นแบบคุณแสตมป์หรือเปล่า อันนี้ก็ไม่แน่ใจนะครับ เพียงแต่ว่าที่สำคัญก็คือรายการคดีเด็ด ตอนเริ่มต้นแรก ๆ มีคนเลียนแบบนะ ก็เลียนแบบได้อยู่สักพักหนึ่งก็อาจจะหลายปี แล้วเขาก็ออกรายการโทรทัศน์ด้วย รู้สึกมีรายการโทรทัศน์ของเขาด้วย ผมไม่แน่ใจ แต่ว่ามี

แล้วคุณดูสิครับ พอไประยะหนึ่งอาจจะสามปี ห้าปีก็แล้วแต่ คนเลียนแบบไปไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น แต่ละคนถ้าไม่จนตรอกจริง ๆ ผมว่าอย่าไปคิดเลียนแบบเลย คุณเป็นตัวของคุณนั่นแหละดีที่สุด ใช่ไหม

เพราะทุกวันนี้คุณไปดูคนที่ออกรายการโทรศัพท์ เขาเป็นตัวของเขาทั้งนั้นที่ยืนระยะอยู่ได้ยาวนาน ต้องเป็นตัวของตัวเอง

คนเขาจะดู เขาต้องการดูว่าคุณเป็นใคร เขาต้องการดูว่าเขาชอบคุณไหม ไม่ใช่ว่าเขาดูคุณเพราะว่าคุณไปเลียนแบบคนโน้น ผมว่าไม่น่าจะใช่นะ

เพราะฉะนั้น เป็นตัวของตัวเอง มนุษย์แต่ละคน พระเจ้าสร้างมาไม่เหมือนใครอยู่แล้ว คุณมีคนคนเดียวในโลกเท่านั้นเอง หาตัวคุณให้พบ ถามตัวคุณว่าใช่ไหม คุณชอบไหมที่จะเป็นแบบนี้ ถ้าคุณชอบ เป็นตัวของตัวคุณเองแล้วเขาจะดูคุณ

The People: ทำรายการยาวนานขนาดนี้ สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคืออะไร

พิสิทธิ์: ภูมิใจก็คือนี่ผมจะ 70 แล้วนะ ก็ภูมิใจว่าโอเคจะ 70 แล้วก็ยังยืนระยะอยู่ได้ ยังทำงานได้ อาจจะไม่ดีเท่ากับคนรุ่นใหม่ ๆ แต่ก็เข้าใจว่าพอจะรับใช้ผู้ชมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายการคดีเด็ด หรือว่าเรื่องของข่าว แล้วผมก็พร้อมที่จะทำในสิ่งที่น้อง ๆ หรือว่าคนอื่นเขาบอกว่าเขาไม่อยากจะทำ หรือว่าเขาไม่ถนัดจะทำ

เพราะฉะนั้น คุณจะเห็นว่าในสิ่งที่ผมทำ ก็จะไม่ใช่แบบเดียวกับที่พวกเขาทำกัน พูดง่าย ๆ ก็คืองานที่ผู้คนไม่อยากจะทำ ถ้าผมทำได้ โอเค ผมยินดีจะทำ ตราบใดที่คุณเห็นว่าผมยังเป็นประโยชน์ต่อสถานี เป็นประโยชน์ต่อคนดู

The People: มีเรื่องที่เสียใจ หรือเสียดายในการทำงานที่ผ่านมาไหม

พิสิทธิ์: มีผมก็ลืม ผมจะไปคิดอะไรเรื่องที่มันเสียดาย เสียใจ เรื่องพวกนั้นมันก็คงมี แต่ถ้าถามจริง ๆ ผมก็นึกไม่ออกนะว่ามีอะไรเสียใจ

เสียใจเมื่อวาน วันนี้มันก็ไม่มีอะไรจะต้องไปเสียใจให้มันติดค้าง ให้มันเสียความรู้สึกใช่ไหม สู้เดินต่อไป ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ มันก็ต้องมีแหละใช่ไหม ต้องมีเรื่องที่ทำไม่ได้

ตื่นเช้า ๆ ดูข่าวช่อง 7 บอกว่า คุณตาคุณยาย 80 กว่าแล้ว จะเลิกขายกระเพาะปลา ปรากฏว่าคนกินไม่ยอม คนกินแห่มาเพราะได้ยินว่าจะเลิก กลัวไม่ได้กินกระเพาะปลา เห็นไหม เพราะฉะนั้นก็เลยต้องทำต่อ ถ้ามีแรงก็อาจจะต้องทำไปถึง 100 ปีก็ได้ อย่าลืมถ่ายทอดกระเพาะปลาที่ทำมาก่อนให้ลูกหลานเขาด้วย

The People: คติประจำใจของพี่คืออะไร

พิสิทธ์: ผมตอบว่าไม่มี คุณก็จะบอกพี่ไม่มีสาระเลย (หัวเราะ)

จริง ๆ ผมก็ไม่มีอะไรเป็นคติ ผมก็ทำงานตามกำลังสมอง ตามกำลังวังชาที่ผมจะทำได้ ถ้าทำก็ทำจริง ทำให้ถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้

The People: อยากฝากอะไรถึงแฟนที่ติดตามการอ่านข่าว และแฟนรายการคดีเด็ดไหม

พิสิทธิ์: ผมก็ต้องบอกคุณเป็นตัวของคุณเองดีที่สุด จริงๆ แล้วก็ไม่ต้องไปฝากอะไร เพราะว่าคนทุกวันนี้เขาก็เป็นตัวของเขาเอง เขาก็มีความคิดความอ่านของเขาเองอยู่แล้ว คุณเที่ยวไปฝาก ๆ เขา คุณถามเขาหรือเปล่าว่า เขาอยากจะรับฝากไหมที่คุณบอกว่าน้องเป็นอย่างนั้นนะ น้องทำอย่างนี้นะ บางทีเขารู้ดีกว่าเรา

และที่สำคัญคือ ตัวเขาใครจะมารู้ดีมากกว่าตัวเขาใช่ไหม เขารู้ว่าเขากำลังดูอะไรอยู่ เขารู้ว่าเขากำลังจะเป็นยังไง เขารู้ว่าพี่เดินทางแบบนี้กำลังจะไปไหน ผมว่าทุกวันนี้มันก็ดูกันออก เพราะว่าข้อมูลของคนสมัยนี้มันเยอะกว่าสมัยผมมากมายหลายเท่า

The People: สมมติว่า คดีเด็ดมาถึงเทปสุดท้ายแล้ว คดีเด็ดของพี่ คิดว่าจะเป็นตัวของตัวเอง หรือว่าจะยังรักษาแบบเดิมโดยอ่านสคริปต์ของทีมงาน หรือจะเป็นแบบไหน

พิสิทธิ์: ไม่เคยไปพูดถึงจุดนั้น ถึงแม้ว่ามันจะยุติ มันก็ต้องยุติใช่ไหม ละครมันก็ต้องมีเลิกรา คุณดูมีรายการไหนไหมอยู่ไปชั่วนิจนิรันดร์ พอถึงวันนึง มันก็ต้องจบ เขาไม่จบ คุณเองก็ต้องจบ จะเรื่องของสังขาร เรื่องของรายการมันไปต่อไม่ได้ก็ไม่รู้เหตุผลจะเป็นอะไรก็แล้วแต่

แต่บางทีไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลด้วยซ้ำไป ถึงเวลามันจะต้องจบมันก็ต้องจบ

The People: เทปสุดท้ายจะมีฝากรอยยิ้ม หน้ายิ้มแย้ม มีวาดมือไม้ จะไม่ทำท่านิ่งแล้ว หรือว่าจะเป็นตัวเองจนถึงเทปสุดท้ายเลย?

พิสิทธิ์: ไม่ ไม่จำเป็นต้องมีอะไรใช่ไหมครับ รายการมันเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น อยู่ที่ผู้ผลิตเขา ผมเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ต้องมีอะไรมาร่ำลา เพราะเห็นมามากอยู่แล้ว บางคนอาจจะบ๊ายบาย ร่ำลาสุดท้าย บางคนร่ำลายังจะชวนไปดูช่องโน้นช่องนี้ จะไปอยู่อีกช่องหนึ่งแล้วนะให้ตามไปด้วย

คุณไม่ต้องไปชี้นำเขา เขารู้ว่าเขาจะตามคุณไปหรือไม่ เขาก็รู้ ถ้าคุณชี้นำ เผลอ ๆ เขาหมั่นไส้ ตอนแรกเขาอยากจะตามนะ ไปชี้นำเขา ไปพูดอวดรู้อวดดีกับคนดู คนดูรู้

ทุกวันนี้คนที่ดูหน้าจอโทรทัศน์ คุณรู้เหรอเขาเป็นใคร ก็มีหมดทุกรูปแบบ คุณคิดว่าคุณฉลาดกว่าเขาเหรอ เผลอ ๆ คุณโง่กว่าเขาตั้งเยอะแยะ เพราะฉะนั้นไม่ต้อง เป็นไปตามเกิดแก่เจ็บตาย

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อ 27 กรกฎาคม 2565

เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช