‘คริส ฮิปกินส์’ นายกฯ นิวซีแลนด์ รักความเท่าเทียม เพราะเติบโตจากครอบครัวฐานะยากจน

‘คริส ฮิปกินส์’ นายกฯ นิวซีแลนด์ รักความเท่าเทียม เพราะเติบโตจากครอบครัวฐานะยากจน

รู้จัก คริส ฮิปกินส์ (Chris Hipkins) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของนิวซีแลนด์ ผู้ที่รักในความเท่าเทียม ความยุติธรรม และมองว่าโอกาสเป็นสิ่งที่ช่วยให้ยกระดับคุณภาพชีวิตได้ กับที่มาฉายาผู้นำหัวรุนแรงจากเหตุการณ์ร่วมประท้วงเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา

  • นายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ 'คริส ฮิปกินส์' เชื่อว่าโอกาสเป็นรากฐานที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เขาเกิดและโตในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน
  • เขาได้ฉายาเป็น 'คนหัวรุนแรง' เพราะเคยร่วมประท้วงร่างกฎหมายเมื่อตอนเป็นนักศึกษา  ต่อต้านการเปลี่ยนสถาบันการศึกษาให้เป็นองค์กร

คริส ฮิปกินส์ (Chris Hipkins) เข้าพิธีสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 41 ของนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา เขามักให้คำนิยามเกี่ยวกับตัวเองว่าเป็นคนเรียบง่าย ติดดิน เขาเติบโตมาจากครอบครัวในชนชั้นแรงงาน จึงไม่แปลกใจที่เห็นคาแรคเตอร์หนึ่งของเขาคือ รักและเชิดชูในความยุติธรรมและความเท่าเทียมมากที่สุด

หลังจบพิธีการสาบานตน ฮิปกินส์ ได้แถลงการณ์เป็นครั้งแรกโดยเขาพูดถึงหัวใจของการบริหารของเขาในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เขาได้หยิบยกประเด็นเรื่อง ‘ค่าครองชีพ’ ว่าจะเป็นประเด็นสำคัญสูงสุดของเขาในโปรแกรมการบริหารประเทศ

ภาวะเงินเฟ้อในประเทศนิวซีแลนด์เป็นวิกฤตเร่งด่วนตั้งแต่สมัยของ ‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ (Jacinda Ardern) อดีตนายกฯ หญิงแห่งนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่หลวงของเธอ พอ ๆ  กับปัญหาการควบคุมโควิด-19

ฮิปกินส์ ได้พูดอย่างหนักแน่นในวันที่เข้าพิธีสาบานตนว่า “นี่เป็นสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม และผมมีกำลังใจที่ดี และตื่นเต้นมากกับความท้าทายข้างหน้า”

“ชาวนิวซีแลนด์จะได้เห็นในอีกไม่กี่สัปดาห์และหลายเดือนข้างหน้า เกี่ยวกับโซลูชั่นค่าครองชีพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโปรแกรมการทำงานของเรา” ฮิปกินส์ พูดยืนยันถึงการทำงานและแพลนที่จะเกิดขึ้นหลังเขาเข้ารับตำแหน่ง

หลายคนพูดถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่าเป็นคนที่เด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ และเป็นคนที่ค่อนข้างใส่ใจเรื่องปากท้อง คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมที่มาพร้อมโอกาสต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเพราะว่าตัวของ ฮิปกินส์ เองก็เคยเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน ซึ่งเขาพูดเสมอ ๆ เกี่ยวกับตัวเองว่า เรียบง่ายและเข้าใจว่าโอกาสกับความเท่าเทียมมันสำคัญมากแค่ไหน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

 

พื้นเพมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน

คริส ฮิปกินส์ ชื่อเล่นก็คือ ‘ชิปปี้’ (Chippy) เกิดวันที่ 5 กันยายน 1978 ที่ Hutt Valley เมืองในเขตเวลลิงตันของนิวซีแลนด์ เกิดและเติบโตในครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างยากจน แม่ของเขาทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ New Zealand Council for Educational Research (NZCER) แต่ก็เป็นตำแหน่งงานที่เงินเดือนไม่ได้สูงมากในยุคนั้น

ฮิปกินส์ เคยพูดว่า พ่อแม่ของเขามาจากจุดที่ค่อนข้าง ‘ต่ำ’ พื้นเพเดิมก็มาจากครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร การที่แม่ของเขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยถือว่าเป็นโอกาส และความพยายามอย่างหนักที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ทั้งยังพูดอีกว่า ทั้งคู่ต้องทำงานหนักมากเพื่อจะให้เขากับพี่ชายได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นการทำงานหนักที่แลกมาด้วยคุณภาพชีวิตที่แท้จริง พูดได้ว่าตั้งแต่นั้นมา ฮิปกินส์ เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความเท่าเทียม’ และ ‘โอกาส’ อย่างมาก เพราะเขาเห็นจากการผลักดันของพ่อแม่ และนั่นทำให้โอกาสเกิดขึ้นในครอบครัวได้จริง ๆ

การศึกษา ฮิปกินส์ เข้าเรียนที่โรงเรียนประถม Waterloo, Hutt Intermediate และ Hutt Valley Memorial College (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Petone College) ฮิปกินส์ ฉายแววเป็นเด็กตั้งใจเรียน เป็นเด็กกิจกรรม และชอบการเป็นผู้นำ ซึ่งเขาได้เป็นหัวหน้ากลุ่มเด็กชายในปี 1996 (ตำแหน่งนี้จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มและจะได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนในบางกิจกรรม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียนสไตล์อังกฤษ)

นอกจากนี้ เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการเมืองและอาชญาวิทยา ที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรียในเมืองเวลลิงตัน ซึ่งช่วงมหาวิทยาลัย อิปกินสื ได้เป็นประธานสมาคมนักศึกษาด้วย 2 สมัย ทั้งนี้เขายังมีเรื่องน่าสนใจในช่วงที่เป็นนักศึกษาปี 1 ด้วยในฐานะผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วง ซึ่งสะท้อนบุคคลความหัวรุนแรงของเขาตั้งแต่นั้น

 

 

บทบาททางการเมืองและจุดเริ่มต้น

ฮิปกินส์ เริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย โดยร่วมประท้วงร่างกฎหมายเปลี่ยนสถาบันการศึกษาให้เป็นองค์กรและปฏิบัติต่อนักเรียนในฐานะลูกค้า ณ บริเวณรัฐสภาของนิวซีแลนด์

ทั้งนี้ ฮิปกินส์ ถูกจับกุมในข้อหาประท้วงต่อต้านนโยบายด้านการศึกษาในปี 1997 เขาและผู้ร่วมประท้วงที่ถูกจับกุมใช้เวลากว่า 10 ปีต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม และในที่สุดศาลได้ตัดสินให้ผู้ชุมนุมไม่ผิด และได้รับเงินชดเชยจากเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย

เขาเรียกเหตุการณ์ประท้วงครั้งนั้นว่า ‘ช่วงเวลาแห่งการกำหนด’ (a defining moment) และตั้งแต่นั้นมาทำให้เขารู้สึกสนใจและเป็นสิ่งกระตุ้นให้ ฮิปกินส์ เข้าไปพัวพันกับการเมืองนิวซีแลนด์ในท้ายที่สุด

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ฮิปกินส์ ได้ทำงานเป็นผู้ฝึกสอนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ จากนั้นเขาได้เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายให้กับรัฐมนตรีศึกษาด้านแรงงาน 2 คน และเป็นที่ปรึกษาให้กับ เฮเลน คลาร์ก (Helen Clark) รัฐมนตรีด้านแรงงานด้วย

ฮิปกินส์ ได้เข้าสู่รัฐสภาอย่างเป็นทางการในปี 2008 และกลายเป็นโฆษกด้านการศึกษาเมื่อต้นปี 2013 นอกจากนี้ ฮิปกินส์ ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เขาให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมทางสังคม และเชื่อว่าชาวนิวซีแลนด์ทุกคนควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมเพื่อบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเอง

บทบาททางการเมืองของ ฮิปกินส์ ค่อนข้างหลากหลายเขาเติบโตมาจากตำแหน่งเล็ก ๆ และขยับขยายเป็นตำแหน่งที่สามารถตัดสินใจแทนได้ สะท้อนถึงความจริงจังในการทำงานและการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอของเขา เขาเคยดำรงตำแหน่งในหลาย ๆ ด้าน อย่างเช่น เป็นโฆษก/รองโฆษกด้านการศึกษา, ด้านแรงงาน, กีฬาและนันทนาการ และด้านพลังงาน

หลายครั้งที่ ฮิปกินส์ ได้พูดว่า เขาจะพยายามสนับสนุนและปกป้องระบบการศึกษาในนิวซีแลนด์ เพราะเชื่อว่า เป็นรากฐานสำหคัญมากที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของแต่ละคนดีขึ้น ทั้งนี้ เขายังมีความเชื่อว่า “การเรียนฟรีและมีคุณภาพเป็นสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศ”

ทุกวันนี้ ฮิปกินส์ ก็ยังเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมอย่างเต็มที่ เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน แม้ว่าในนิวซีแลนด์ปัญหาเกี่ยวกีบความไม่เท่าเทียม หรือ gap ระหว่างคนจนกับคนรวย อาจจะไม่รุนแรงเท่าหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเอง อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่มีวันแก้ได้ 100% และเขาเชื่อว่าสักวันหนึ่งสวัสดิการที่ดีจะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปได้

เขาได้พูดย้ำหลายครั้งใน speech พิธีสาบานตนว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่อ่อนไหวของพรรคเลเบอร์ (หรือพรรคแรงงาน) เพราะมีคะแนนความนิยมตามหลังพรรคฝ่ายค้าน เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากประชาชนไม่พอใจกับวิธีการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนไหวตามปัจจัยโลก

ดังนั้น ช่วงที่นับถอยหลังอีก 9 เดือนก่อนที่นิวซีแลนด์จะเปิดฤดูการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ฮิปกินส์ เชื่อมั่นว่าจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับพรรคกลับมา และจะหาวิธีแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เช่น เงินเฟ้อ, ค่าครองชีพ, การศึกษา ฯลฯ ให้ได้ก่อนถึงวันเลือกตั้ง

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

Beehive

CNN

Britannica

Labour

The guardian