25 ม.ค. 2566 | 18:30 น.
ตอนอายุ 8 ขวบ คุณกำลังทำอะไรอยู่?
คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้นกำลังวิ่งเล่นกับเพื่อน ไม่ก็หมกตัวอ่านหนังสืออยู่ในห้องสมุดของโรงเรียน ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยต้องมีคำว่า ‘เล่น’ อยู่ในความทรงจำนั้นเป็นแน่ แต่ไม่ใช่กับ ‘เด็กหญิงเทวันชี สังข์วี’ (Devanshi Sanghvi) บุตรสาวคนโตจากครอบครัวมหาเศรษฐีอินเดีย
เพราะในวันพุธที่ผ่านมา (18 ม.ค. 2023) เด็กหญิงเทวันชี ตัดสินใจทิ้งความสนุกวัยเด็ก รวมถึงอาณาจักรเพชรมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท เพื่อไปเป็นนักบวชในศาสนาเชน ศาสนาเก่าแก่ที่สุดของโลก ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในอินเดียก่อนคริสตกาลราว 600 ปี แน่นอนว่าการตัดสินใจของเธอสร้างความปลาบปลื้มใจให้แก่ครอบครัวสังข์วีอย่างมาก เพราะการบวชถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ช่วยยกระดับสถานะทางสังคมให้สูงขึ้นอีกขั้น
แต่ถ้าหากตัดเรื่องทางโลกทิ้งไป หันมาเพ่งพิจารณาหลักคำสอนของศาสนาเชนอย่างลึกซึ้ง จะเห็นได้ว่าต้นกำเนิดของศาสนาเชนก็น่ายกย่องไม่ต่างกัน
เพราะหลังจาก ‘วรรธมาน’ หรือ ‘พระมหาวีระ’ ผู้ครองนครเวสาลี แคว้นวัชชี แห่งลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือของประเทศอินเดียเมื่อราว 635 ปีก่อนคริสตกาล มีพระชนมายุ 30 พรรษา พระองค์ทรงตัดสินใจออกบวชสละชีวิตทางโลก ละทิ้งทุกอย่าง
แม้แต่การหาความสำราญใส่ตัวอย่างการกินของอร่อยและพูดคุยกับผู้อื่น ก็ทรงหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด (เรียกการกระทำในลักษณะนี้ว่า อัตตกิลมถานุโยค หรือการทรมานตน) จนกระทั่งเวลาผ่านไป 12 ปี ความเพียรของพระมหาวีระก็บรรลุผล พระองค์สามารหลุดพ้นกิเลศทั้งปวงได้อย่างที่ใจหวัง
จากนั้นจึงทรงละวางสัจวาจาเพื่อออกประกาศศาสนา จนถึงพระชนมายุได้ 72 ปี ก็เสด็จนิพพานราวพุทธศักราช 16 ณ เมืองปาวา (แคว้นพิหารในปัจจุบัน) ตลอดช่วงชีวิตของพระองค์ที่ทรงสละความสุขส่วนตัว เพื่อมาเผยแผ่หลักคำสอน รวมถึงละทิ้งการใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลศ
ทำให้ทุกคนรู้จักศาสนานี้ในชื่อว่า ‘เชน’ แปลว่า ‘ชนะ’ ซึ่งชนะในที่นี้หมายถึงการชนะใจตัวเอง เพื่อบรรลุจุดหมายปลายทางชีวิต นั่นคือการหลุดพ้นจากวงโคจรการเวียนว่ายตายเกิด
ศาสนาเชนจึงกลายเป็นหนึ่งในศาสนาที่คนหันมานับถือเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะศาสนานี้สอนให้ทุกคนรักและเคารพ รวมถึงให้คุณค่ากับทุกชีวิต เพราะทุกชีวิตมีจิตวิญญาณ ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะเล็กจิ๋วเพียงใดก็ตาม หากคนที่เคร่งมาก ๆ ก็ถึงขั้นต้องเอาผ้าปิดจมูกและปากตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เผลอสูดดมหรือหายใจเอาสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเข้าร่างกาย
นอกจากนี้ ยังมีข้อปฏิบัติพื้นฐาน หรือ ‘อนุพรต’ 5 ประการ ที่ผู้นับถือศาสนาเชนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ 1.อหิงสา การไม่เบียดเบียนคน สัตว์ และสิ่งอื่น 2.สัตยะ การกล่าวแต่ความจริง 3.อัสเตยะ การไม่ลักขโมย ไม่ลักขโมย รวมทั้งไม่หลบเลี่ยงภาษีอากร 4.พรหมจริยะ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม และ 5.อัปริคคหะ การละทิ้งความโลภ
สำหรับในกรณีของ เด็กหญิงสังข์วี นักบวชหญิงที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา พ่อแม่ของเธอเป็นที่รู้จักกันในชุมชนว่าเป็นผู้มีความเลื่อมใสและศรัทธาในศาสนามาก อ้างอิงจากคำบอกเล่าของเพื่อนบ้านครอบครัวสังข์วี ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เด็กหญิงสังข์วี ถูกปลูกฝังและเลี้ยงดูให้เชื่อมโยงกับโลกแห่งจิตวิญาญาณตั้งแต่เธอยังแบเบาะ
ถึงจะเกิดมาในตระกูลที่รวยล้นฟ้า แต่เธอไม่เคยเข้าโรงภาพยนตร์ ไม่เคยดูโทรทัศน์ (บางทีอาจจะไม่รู้จักการ์ตูนดิสนีย์เลยด้วยซ้ำ - ผู้เขียน) ไม่เคยเดินห้างฯ แถมยังไม่เคยไปกินข้าวนอกบ้านอีกต่างหาก เพราะเธอมักจะขลุกตัวอยู่ในห้องสวดภาวนาวันละ 3 ครั้งต่อวัน และถือศีลอดตั้งแต่อายุ 2 ขวบ
อย่างไรก็ตาม การบวชของเธอสร้างข้อถกเถียงขึ้นในสังคม บ้างก็มองว่าเธอยังเด็กเกินกว่าจะตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง ขณะที่บางกลุ่มอยากให้รัฐบาลอินเดียเข้ามาแทรกแซง และยุติการบวชนี้เสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาถือว่าสังข์วียังอายุน้อยเกินกว่าจะทิ้งความสดใสวัยเด็ก ไปใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของศาสนาที่ค่อนข้าง ‘ตึง’ กับชีวิตมากเกินไป
เพราะอย่าลืมว่าศาสนาเชน ถูกมองว่าเป็นศาสนาที่สุดโต่ง ทำให้ยากต่อการปฏิบัติตามอนุพรตได้อย่างครบถ้วนโดยไม่เผลอทำพลาด อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ของเธอก็ได้ออกมาแก้ข่าวว่า ทั้งหมดที่ทำเป็นความคิดของลูกสาว พวกเขาไม่ได้บังคับหรือเรียกร้องอะไรจากลูกแม้แต่น้อย
“ลูกสาวมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเป็นแม่ชี หลายครอบครัวที่นับถือนิกายเชนมักจะสนับสนุนให้ลูก ๆ บวช เพื่อยกระดับสถานะทางสังคมของเครือญาติ”
หลังจากที่อ่านบทสัมภาษณ์ของพ่อแม่เด็กแล้ว ไม่แน่ใจนักว่านี่เป็นการปฏิบัติตามหลักคำสอนอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะตามปรัชญาเชน การเอาชนะใจตัวเองนั้น หมายถึงการละทิ้งความโลภ เพื่อก้าวเข้าสู่แดนนิพพาน ซึ่งถือว่าเป็นความสุขนิรันดร
แน่นอนว่าในทางปฏิบัติการจะทำให้สำเร็จคงเป็นเรื่องยาก เพราะโลกสมัยใหม่มีสิ่งเย้ายวนใจมาในทุกรูปแบบ นักบวชเชนบางคนจึงใช้การบวช (ตามหลักคำสอนของศาสนาเชนในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท) เป็นเครื่องมือในการเบิกทางเข้าสู่แดนสวรรค์ขั้น ‘มโนสัตว์’
โดยพวกเขาจะทรมานตน เพื่อให้สิ้นกรรมเก่า และหากการทรมานตนจนถึงแก่ชีวิต ก็จะได้รับผลตอบแทนคือการเกิดเป็นเทวดาชื่อว่ามโนสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นการปลดเปลื้องพันธการ จากบ่วงกรรมที่ตามติดมาในแต่ละชาติ
ส่วนในกรณีของ เด็กหญิงสังข์วี แม้จะไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าการตัดสินใจของเธอ เกิดขึ้นจากเจตจำนงของเธอโดยตรงหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร การเลือกทางเดินชีวิตมาในเส้นทางนี้ ก็นับเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวสำคัญในการเติบโต
ขอให้ทุกการตัดสินใจของ ‘แม่ชีสังข์วี’ เต็มไปด้วยความราบรื่นและพบกับความสุขนิรันดรได้ในเร็ววัน
อ้างอิง