26 ม.ค. 2566 | 16:57 น.
“จุดตัวเองก็ยอมทันใด ให้ลุกเป็นไฟขึ้นมา เพียงปรารถนา ให้มีลำแสง สีทอง…”
หนึ่งในท่อนของบทเพลงความหมายดีอย่าง ‘ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน’ ของวิยะดา โกมารกุล จากปลายปากกาของ ‘ประภาส ชลศรานนท์’ ที่ต่อมาเพลงนี้มักจะถูกนำไปใช้เพื่อรำลึกการจากไปของผู้พิทักษ์ผืนป่าอย่าง ‘สืบ นาคะเสถียร’ ที่ตัดสินใจปลิดชีพของตัวเองเพื่อสร้างความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่กำลังถูกทลาย ถึงแม้ผู้แต่งจะไม่ได้มีความตั้งใจแต่แรก แต่ด้วยเนื้อหาที่กินใจถึงความเสียสละทำให้บทเพลงนี้กลายเป็นอมตะ
ในสังคมที่มีคำถามว่า ยุคปัจจุบันที่มนุษย์เราล้วนเป็นปัจเจกมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ Generation Me ที่มีตัวตนของแต่ละคนเป็นศูนย์กลาง จะมีคนที่ยังรู้สึกว่า ต้องการสละเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ไม้ขีดไฟก้านที่ 1 ตะวัน - ทานตะวัน ตัวตุลานนท์
เด็กสาวในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนที่เคยรู้สึกว่ารัฐประหารปี 2557 นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข เธอกำลังศึกษาชั้น ม.5 ในขณะนั้น และมีชีวิตเส้นทางที่ราบเรียบรอเธออยู่ ตะวันสอบเทียบ GED และเตรียมเดินทางไปเรียนต่อด้านการตลาดที่สิงคโปร์ ชีวิตนักเรียนนอกน่าจะนำเธอไปสู่เส้นทางที่ยกระดับชีวิตของตัวเองในโครงสร้างสังคมไทย
ตะวันเล่าจุดเปลี่ยนของตัวเองในบทสัมภาษณ์ของ The Matter ว่า เธอเริ่มมาสนใจการเมืองหลังจากช่วงการระบาดของโควิด-19 และต้องเดินทางกลับมาไทย เธอเห็นเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยในขณะนั้น และเริ่มติดตามข่าวสาร เห็นเพื่อน ๆ ออกไปชุมนุม
เธอจึงเริ่มทำความเข้าใจกับโครงสร้างการเมืองไทยที่เป็นปัญหา ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมครั้งแรกเมื่อสิงหาคม 2563
ตะวันเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการเป็นการ์ดของกลุ่ม WeVo ครั้งหนึ่งเธอเคยตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อเข้าไปชูป้ายในพื้นที่ของไอคอนสยาม “คุกไม่ใช่ที่เคาต์ดาวน์ของคนเห็นต่าง” จนถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเชิญตัวออกจากพื้นที่
แต่เรื่องราวของตะวันกลายเป็นที่จับตาของฝ่ายความมั่นคงอย่างเข้มข้น เมื่อตะวันเริ่มเคลื่อนไหวกับกลุ่ม “ทะลุวัง” ในการทำโพลเกี่ยวกับประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์
ตะวันเปลี่ยนสภาพจากนักศึกษา กลายเป็น ‘นักโทษการเมือง’ ในสังคมไทย ที่นักโทษทางความคิดของเธอถูกดำเนินคดีทั้งกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา116 รวมไปถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงทั้งสิ้น เธอถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ และเมื่อได้รับการประกันตัวเธอต้องใส่กำไล EM ติดตัว
ตะวันเล่ากับทาง ECHO ก่อนที่จะเดินทางไปเพื่อขอถอนประกันว่า วันหนึ่งในขณะถูกจองจำ เธอนอนไม่หลับ จนต้องลุกขึ้นมาพูดกับผู้ต้องขังคนอื่น “หนูทำอะไรผิดหรอ หนูรู้ว่าคำพูดที่หนูพูดออกมา หนูไม่ได้พูดกับเขานะ แต่หนูอยากถามคนที่เอาหนูเข้ามา หนูอยากรู้ว่าหนูทำอะไรผิดหรอ”
ครั้งนั้น ตะวันอดอาหารในเรือนจำ 37 วัน น้ำหนักลดไป 4 กิโลกรัม
การประกันตัวเมื่อเดือน พฤษภาคม 2565 ครั้งนั้น ศาลสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะนายประกันเป็นผู้กำกับดูแล ภายใต้เงื่อนไขคือ ให้ติดกำไลติดตามตัว, ห้ามออกนอกเคหสถาน ยกเว้นเจ็บป่วย, ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันนี้ หรือกระทำการที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามออกนอกราชอาณาจักร หลังจากผ่านการพยายามประกันตัว 3 ครั้ง
ไม้ขีดไฟก้านที่ 2 แบม - อรวรรณ ภู่พงษ์
ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางไปขอถอนประกัน เพื่อนำเสนอ 3 ข้อเรียกร้องให้กับสังคม คือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม – ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง – พรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน ยกเลิก ม.112 - ม.116 เธอได้บันทึกเรื่องราวของเธอผ่านรูปแบบวีดีโอในชื่อ ‘วางหนังสือถืออาวุธ’ ว่า
“จริง ๆ แล้ว พ่อแม่ไม่ได้ต้องการให้แบมประสบความสำเร็จ หรือต้องการเห็นลูกเป็นคนใหญ่คนโต ครอบครัวของเราต้องการแค่มีความสุข อยู่ด้วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ได้กินข้าวอร่อย ๆ ด้วยกัน แล้วพ่อแม่เลี้ยงแบมมาอย่างดีมาก ๆ และแบมเติบโตมาอย่างดีมาก อยากให้พ่อแม่เชื่อในตัวแบม แบมอยากบอกว่าสิ่งที่ทำ แบมไม่ได้ทำผิด และแบมคิดอย่างถี่ถ้วนแล้ว ขอให้ทุกคนเชื่อในตัวแบมโดยเฉพาะพ่อแม่”
ภาพติดตาที่คนมักจะจำแบมได้เวลาไปร่วมชุมนุมคือ ผู้หญิงผมทองที่มาพร้อมกับธงสีแดง เธอเคลื่อนไหวในนามอิสระไม่ได้รวมกลุ่มกับใครเหมือนตะวัน
ครั้งหนึ่งในการชุมนุมทำโพลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ห้างสยามพารากอน เป็นเหตุให้เธอต้องคดีกฎหมายอาญามาตรา 112
แต่การเคลื่อนไหวของแบม ไม่ใช่เพียงในมิติของการเมือง เธอเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มกิจกรรมของภาคีเซฟบางกลอย กรณีทวงถามความคืบหน้าตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบางกลอย ในครั้งนั้นเธอโดนแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในวันที่ทั้งสองเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปถอนประกันของตัวเอง เนื่องจากเธอต้องการให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง และยังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการราดสีแดงแทนเลือด และประกาศอดน้ำและอาหารเป็นการประท้วงอย่างสันติวิธี คือทางเลือกที่ตะวันและแบม เลือกเพื่อสื่อสารให้สังคมตระหนักว่ายังมีนักโทษการเมืองจำนวนมากที่ถูกจองจำ
“อิสรภาพที่พ่วงมาด้วยเงื่อนไขที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพแบบนี้ คืออิสรภาพจอมปลอมและลวงหลอก ฉะนั้นในวันนี้ พวกเราทั้งคู่พร้อมแลกอิสรภาพจอมปลอมแบบนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพที่แท้จริงของเพื่อนเรา” ตะวันกล่าวในวันที่เธอเลือกถอนประกันเพื่อแลกกับอิสรภาพที่เธอเชื่อ
คำถามที่สังคมต้องตอบต่อไปก็คือ “คุณคิดว่าอิสรภาพและเสรีภาพของประชาชนในประเทศนี้มีค่าแพงขนาดไหน?”
ไม้ขีดไฟก้านน้อยจุดตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ดอกทานตะวันสนใจ แม้พวกเธอจะรู้ว่าอำนาจที่เธอมีนั้นน้อยนิด...แต่ประกายไฟที่เกิดขึ้นด้วยความหวังยังคงทำให้สังคมมีความหวังต่อไป
หมายเหตุ: เนื้อหานี้มีอัปเดตข้อมูลเรื่องที่มาของเพลงเมื่อ 28 มกราคม 2566 ปรับปรุงข้อมูลเรื่องผู้แต่ง ‘ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน’ ไม่ได้มีความตั้งใจแต่แรกที่จะให้สื่อถึงการจากไปของผู้พิทักษ์ผืนป่าอย่าง ‘สืบ นาคะเสถียร’
ภาพ: แฟ้มภาพ ไฟล์จาก กรุงเทพธุรกิจ
อ้างอิง: