12 ธ.ค. 2565 | 16:29 น.
- ทีมฟุตบอลจากทวีปเอเชียหลายทีมทำผลงานยอดเยี่ยมในฟุตบอลโลก 2022 ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ขณะที่อิหร่านและซาอุดิอาระเบีย ก็โชว์ฟอร์มได้ดีในเกมกับทีมมหาอำนาจลูกหนัง
- โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่ดี และระบบต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย รวมถึงในลีกแต่ละประเทศล้วนมีผลต่อการพัฒนาทีมฟุตบอลทีมชาติ
การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ทวีปเอเชียมีทีมที่สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขันครั้งนี้ได้ทั้งสิ้นจำนวน 6 ทีมรวมเจ้าภาพ ซึ่งได้แก่ อิหร่าน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย กาตาร์ (ได้สิทธิในฐานะเจ้าภาพ) และซาอุดิอาระเบีย โดยทั้งหมดก็คือทีมระดับท็อป 6 ของทวีปเอเชียอยู่แล้ว ซึ่งผลงานของทีมชาติจากทวีปเอเชียในครั้งนี้ต่างเป็นที่จับตามองจากแฟนฟุตบอลทั่วโลกรวมทั้งได้รับความสนใจจากแฟนฟุตบอลไทยด้วย
ผลการแข่งขันของทีมชาติจากทวีปเอเชียในครั้งนี้สามารถสร้างปรากฏการณ์ล้มยักษ์ได้ หลายทีมอย่างอาร์เจนติน่า เยอรมนี หรือสเปน ทีมอดีตแชมป์โลกเหล่านี้ล้วนพ่ายแพ้ให้กับทีมจากทวีปเอเชียด้วยกันทั้งสิ้น หรือแม้แต่อุรุกวัยอดีตแชมป์โลก 2 สมัยก็ไม่สามารถหักด่านเกาหลีใต้ได้ นอกจากผลการแข่งขันแล้วรูปเกมที่ออกมาทีมจากทวีปก็สู้กับทีมระดับโลกได้อย่างสนุก
นอกจากผลการแข่งขันแล้ว รูปเกมที่ออกมา ทีมจากทวีปเอเชียก็สู้กับทีมระดับโลกได้อย่างสนุก
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทีมชาติจากเอเชียนั้นพัฒนาขึ้นมาจนสามารถต่อกรกับทีมระดับโลกได้ และด้วยผลงานระดับเกินความคาดหมายนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ทีมชาติจากทวีปเอเชีย สามารถพัฒนาขึ้นมาจนสามารถสร้างผลงานที่ดีกับมหาอำนาจในโลกลูกหนังได้?
บทความนี้ จะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปดูพัฒนาการของทีมชาติจากทวีปเอเชียทั้ง 6 ทีมกันครับ ว่าอะไรที่ช่วยให้รากฐานของพวกเขามีความแข็งแกร่ง
ยกระดับฟุตบอลสโมสรเอเชีย เน้นพัฒนาฟุตบอลลีก
ในช่วงปี 2002 สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือเอเอฟซี (AFC) ได้ยกระดับฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชียโดยเปลี่ยนจากการแข่งขันฟุตบอลเอเชียน คลับ แชมเปียนชิพ (Asian Club Championship) และเอเชียน คัพ วินเนอร์ส คัพ (Asian Cup Winners Cup) มาเป็นเอเอฟซี แชมป์เปียน ลีก (AFC Champion League) และเอเอฟซี คัพ (AFC Cup) แบบเดียวกับทวีปยุโรป
ต่อมาก็พยายามผลักดันให้สโมสรฟุตบอลของประเทศสมาชิกได้ดำเนินการในแบบสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มตัว มีการทำคลับไลเซนซิ่ง (Club Licensing) ซึ่งก็เปรียบเสมือนใบอนุญาตหรือเอกสารยืนยันการเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียกำหนด ซึ่งจะมีผลต่อโควตาการเข้าร่วมการแข่งขันรายการฟุตบอลสโมสรระดับทวีปเอเชีย
โดยหนึ่งในข้อกำหนดภายในคลับไลเซนซิ่งก็คือ การพัฒนาโครงสร้างเพื่อดูแลนักฟุตบอล โดยสโมสรที่จะผ่านคลับไลเซนซิ่งได้จะต้องมีการพัฒนาทีมเยาวชนของสโมสร หรืออะคาเดมี (Academy) ในแต่ละช่วงอายุ
สโมสรจะต้องมีจำนวนทีมและแมตช์แข่งขันตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ สโมสรต้องมีการดูแลทางการแพทย์แก่นักฟุตบอลทั้งทีมชุดใหญ่ ทีมสำรองและทีมเยาวชน ตรงจุดนี้เป็นการกระตุ้นให้สโมสรในทวีปเอเชียยกระดับด้านการสร้างทรัพยากรผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพ และแน่นอนว่าทีมชาติที่เป็นตัวแทนของทวีปเอเชียในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ต่างสามารถพัฒนาได้ตามหรือดีกว่าที่ข้อกำหนดในคลับไลเซนซิ่งได้ระบุไว้
การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของเอเอฟซีในครั้งนั้นทำให้สโมสรฟุตบอลในประเทศต่าง ๆ ของทวีปเอเชียมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาตั้งแต่ระบบฐานราก โดยข้อสังเกตคือทั้ง 6 ประเทศที่เป็นตัวแทนของทวีปเอเชียนั้น ต่างก็มีฟุตบอลลีกภายในประเทศที่แข็งแรงอย่างเช่น ซาอุดิ โปรเฟสชันนอล ลีก (Saudi Professional League) ของประเทศซาอุดิอาระเบีย เคลีก (K League) ของประเทศเกาหลีใต้ เจลีก (J League) ของประเทศญี่ปุ่น เปอร์เซียน กัลฟ์ โปร ลีก (Persian Gulf Pro League) ของประเทศอิหร่าน และกาตาร์ สตาร์ ลีก (Qatar Stars League) ของประเทศกาตาร์ ซึ่งทั้ง 5 ลีกนี้ก็คือฟุตบอลลีกระดับท้อปของทวีปเอเชีย
จะมีก็แต่เอ ลีก (A League) ของประเทศออสเตรเลียเท่านั้นที่อาจจะมีคะแนนประเมินไม่ได้สูงมากนัก แต่แท้จริงแล้วก็เป็นฟุตบอลลีกที่มีคุณภาพมากเป็นลำดับต้น ๆ ของทวีป
การที่ทีมชาติซาอุดิอาระเบียสามารถเบียดเอาชนะทีมชาติอาร์เจนติน่าได้ด้วยผู้เล่นที่เล่นอยู่ในซาอุดิ โปรเฟสชันนอล ลีก ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าซาอุดิ โปรเฟสชันนอล ลีก ซึ่งเป็นลีกที่มีการพัฒนามาพร้อมกับการส่งเสริมของเอเอฟซีนั้นมีคุณภาพสามารถสร้างประสบการณ์ระดับสูงให้นักฟุตบอลได้
ผู้เล่นทีมชาติซาอุดิอาระเบียในฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็มาจากสโมสรอัล อาลี, อัล นาสเซอร์, อัล ฮิลาล, อัล ซาบับ, อัล ฟาเต, อาบาห์ และอัล อิทิฮัต ซึ่งแต่ละสโมสรล้วนมีการบริหารจัดการแบบสโมสรฟุตบอลในทวีปยุโรปและบางสโมสรก็มีผลงานเป็นถึงแชมป์สโมสรเอเชีย สโมสรฟุตบอลในลีกอาชีพของซาอุดิอาระเบียก็มีการดึงผู้เล่นที่มีชื่อเสียงมาเล่นกับสโมสรของตน
อีกทั้งนักฟุตบอลซาอุดิอาระเบียก็ได้รับค่าจ้างที่มากเพียงพอจนทำให้สามารถมีสมาธิไปที่การเล่นฟุตบอลให้มีคุณภาพ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลงานของทีมชาติซาอุดิอาระเบียในฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ฟุตบอลลีกในประเทศที่มีคุณภาพก็สามารถและพัฒนานักฟุตบอลทีมชาติได้
ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็มีโครงสร้างระบบฟุตบอลลีกอาชีพที่แข็งแกร่ง มีมาตรฐานการเล่นที่สูงขึ้นจนสามารถพัฒนานักฟุตบอลให้ไปต่อยอดยังฟุตบอลลีกของยุโรปได้ แต่ทั้งสองประเทศใช้เวลาพัฒนาระบบฟุตบอลลีกกันมา 20-30 ปีเป็นอย่างน้อย โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พัฒนาระบบฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจังมาก่อนที่จะมีข้อกำหนดจากเอเอฟซีเสียอีก
มาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะตั้งคำถามถึงทีมชาติกาตาร์ เพราะเจ้าภาพก็คืออีกทีมที่ใช้ผู้เล่นที่เล่นอยู่ภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า กาตาร์ สตาร์ ลีก แม้จะไม่ได้แข็งแกร่งเท่ากับ ซาอุดิ โปรเฟสชันนอล, เจลีก และเคลีก แต่ตัวลีกเองก็ถือว่ายกระดับมาตรฐานได้ใกล้เคียงกับทวีปยุโรปบางประเทศ เพียงแต่ผลงานของทีมชาติกาตาร์นั้นก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อความพ่ายแพ้ของทีมชาติพวกเขาด้วยเช่นกัน และในมุมมองของผมหากทีมชาติกาตาร์ไม่มีฟุตบอลลีกที่แข็งแกร่ง ผลงานอาจจะล้มเหลวมากกว่านี้ก็เป็นได้
ส่งนักเตะเล่นลีกยุโรป
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทีมชาติในเอเชียสามารถพัฒนาได้แบบก้าวกระโดด ก็คือการที่นักฟุตบอลของแต่ละชาติสามารถเดินทางไปเล่นฟุตบอลอาชีพบนแผ่นดินยุโรปและต่างทวีปได้เป็นจำนวนมาก จากในยุค 90s ที่มีนักเตะเอเชียเพียงไม่มีคนเท่านั้นที่สามารถไปค้าแข้งและประสบความสำเร็จบนแผ่นดินยุโรปได้ แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญเพื่อเปิดตลาดนักเตะเอเชีย
นักฟุตบอลเอเชียที่สามารถไปเปิดตลาดให้ชาวยุโรปในยุคนั้นได้รู้จักก็เช่น ฮิเดโตชิ นากาตะ นักเตะทีมชาติญี่ปุ่นที่ไปค้าแข้งกับสโมสรเปรูจา, โรม่า, ปาร์ม่า, โบโลนญ่า และฟิออเรนติน่าในอิตาลี รวมทั้งโบลตัน วันเดอร์เรอร์ ในประเทศอังกฤษ หรืออาลี ดาอี ดาวยิงทีมชาติอิหร่าน ที่ไปรุ่งเรืองในศึกบุนเดสลีกา ของประเทศเยอรมนี กับสโมสรอาร์มีเนีย บีเลเฟลด์, บาเยิร์น มิวนิค และแฮร์ธ่า เบอร์ลิน ซึ่งถือว่าเจ้าตัวโด่งดังในยุคนั้น รวมทั้ง เมห์ดิ มาห์ดาวิเคีย จากทีมชาติอิหร่านอีกคนที่สามารถไปแจ้งเกิดกับสโมสรโบคุ่ม และฮัมบูร์ก เอสวี ในศึกบุนเดสลิกได้
คลิกอ่านเพิ่มเติมเรื่อง อาลี ดาอี ตำนานอิหร่านขัดใจพ่อ จบวิศวะแต่หันมาเตะบอล
จากนั้นนักฟุตบอลเอเชียในรุ่นต่อมาก็สามารถเดินทางไปค้าแข้งในฟุตบอลลีกของทางประเทศแถบยุโรปได้มากขึ้น โดยบุนเดสลีกาของเยอรมนี ถือว่าเป็นลีกที่เปิดกว้างให้กับชาวเอเชีย ชินจิ คางาวะ มิดฟิลด์ทีมชาติญี่ปุ่นก็ไปประสบความสำเร็จกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก่อนจะย้ายมาสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และกลับไปสโมสรเดิมอีกครั้ง
ขณะที่พรีเมียร์ลีกของอังกฤษเองก็มีนักเตะเอเชียหลายคนที่สามารถทะลายกำแพงเชื้อชาติให้คนอังกฤษยอมรับได้โดยเฉพาะนักเตะจากเกาหลีใต้ในอดีต เช่น ปาร์ค จี ซอง นักฟุตบอลเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จกับยอดสโมสรอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อี ยอง เปียว กับสโมสรท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ อี ชุง ยอง เล่นให้สโมสรโบลตัน วันเดอร์เรอร์ ต่างก็ได้รับการยอมรับและความไว้วางใจให้ลงสนามอย่างต่อเนื่อง
ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศที่สามารถส่งนักฟุตบอลไปเล่นยังลีกยุโรปในจำนวนมากได้ก็จะสามารถยกระดับทีมชาติของตัวเองขึ้นมาได้เช่นกัน ทีมชาติญี่ปุ่น ทีมชาติเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และทีมชาติอิหร่านจึงใช้แนวทางนี้ในการพัฒนาทีมชาติของตนเอง โดยทีมชาติญี่ปุ่นที่ในศึกฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ ทัพซามูไรบลูสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการเอาชนะอดีตแชมป์โลกอย่างทีมชาติเยอรมนีและทีมชาติสเปนได้ในรอบแรก ก่อนจะไปพ่ายจุดโทษทีมชาติโครเอเชียในรอบถัดมา ขุนพลซามูไรบลูใช้ผู้เล่นที่เล่นอยู่ในฟุตบอลลีกต่างประเทศอย่างเยอรมนี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, เบลเยียม, โปรตุเกส และสกอตแลนด์ รวมกันเกินกว่า 19 คน
ด้านเกาหลีใต้ที่สามารถเอาชนะทีมชาติโปรตุเกสและเสมอทีมชาติอุรุกวัยได้ในรอบแรกก็มีผู้เล่นที่อยู่ในลีกยุโรปถึง 8 คน ฝั่งออสเตรเลียที่ทำผลงานได้ดีอีกทีมก็ผู้เล่นถึง 17 คนที่เล่นในฟุตบอลลีกของยุโรปเช่นกัน
ดังนั้น หากจะกล่าวว่าการที่ทีมชาติทีมใดทีมหนึ่งนั้นมีนักฟุตบอลที่สามารถไปเล่นฟุตบอลอาชีพในทวีปยุโรปหรือระบบฟุตบอลลีกชั้นนำบนโลกใบนี้ได้ในจำนวนมากพอระดับหนึ่ง ผู้เล่นเหล่านั้นก็สามารถที่จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับเกมการแข่งขันของทีมชาติตนเองได้
ลงแข่งกับทีมระดับโลก
ทีมฟุตบอลทีมชาติของหลายประเทศในทวีปเอเชียโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในอันดับท้อปของทวีปเริ่มที่จะคัดกรองทีมที่จะมาร่วมแข่งขันในเกมกระชับมิตรตามปฏิทินฟีฟ่า โดยจะเน้นไปที่ทีมที่มีคุณภาพจากต่างทวีปหรือทีมที่อันดับโลกสูงกว่า เพื่อเป็นการสร้างกระดูกและประสบการณ์ให้กับนักฟุตบอลของตนเอง อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในช่วงยุค 1960-1990 ทั้งสองชาติยังให้ความสำคัญกับการแข่งขันรายการกระชับมิตรหรือฟุตบอลนัดกระชับมิตรกับทีมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในระดับทวีปเอเชีย
แต่หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เริ่มจะแข่งขันกับทีมชาติจากยุโรปหรืออเมริกาใต้แทนเช่นเดียวกับอิหร่าน ออสเตรเลีย และซาอุดิอาระเบีย ที่เมื่อเริ่มเป็นขาประจำในเวทีฟุตบอลโลก ก็เริ่มจะเลือกคู่แข่งที่เป็นทีมระดับโลกมาแข่งขันกับตัวเองเป็นการยกระดับทีมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ในบางโอกาสทีมชาติจากทวีปเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือกาตาร์ ก็จะได้รับเชิญไปแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ของทวีปอื่นอย่างเช่นกรณีของทีมชาติญี่ปุ่นที่ได้รับเชิญไปแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอเมริกาใต้หรือโคปา อเมริกา (Copa América) ในปี 1999 และ 2019 โดยได้มีโอกาสพบกับทีมชาติปารากวัย เปรู โบลิเวีย อุรุกวัย ชิลี และเอกวาดอร์ ในรายการสำคัญ
และก็เช่นเดียวกับทีมชาติกาตาร์ที่ได้เป็นทีมรับเชิญในรายการเดียวกันในปี 2019 โดยกาตาร์ สามารถเสมอปารากวัย ก่อนจะไปพ่ายแพ้โคลอมเบีย และอาร์เจนติน่า
ขณะที่เกาหลีใต้ก็ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมการแข่งขันรายการคอนคาเคฟ โกลด์ คัพ (CONCACAF Gold Cup) ในปี 2000 และ 2002 และสามารถไปถึงอันดับที่ 4 ได้ในปี 2002
เช่นเดียวกับทีมชาติกาตาร์ก็มีโอกาศได้รับเชิญไปแข่งในปี 2021 ก่อนจะไปพ่ายแพ้ทีมชาติสหรัฐอเมริกาในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งแน่นอนว่าการที่ทีมอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และกาตาร์ได้มีโอกาสเป็นทีมรับเชิญไปแข่งขันรายการสำคัญระดับทวีปของทวีปอเมริกาทั้ง 2 ภูมิภาคแบบนี้ก็เป็นการพัฒนาทีมชาติของพวกเขาแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน
บุคลากรระดับโลก
สิ่งหนึ่งที่ทีมจากทวีปเอเชียใช้ในการพัฒนาฟุตบอลของชาติตัวเอง นั่นก็คงหนีไม่พ้นการเรื่องใช้งานโค้ชหรือผู้จัดการทีมที่มีดีกรีระดับโลก ทีมชาติญี่ปุ่น แม้ในฟุตบอลโลกหลายครั้งพวกเขาจะใช้ผู้จัดการทีมจากชาติของตัวเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางครั้งผู้จัดการทีมจากต่างประเทศบางคนก็สามารถมายกระดับฟุตบอลญี่ปุ่นได้อย่างเช่น ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ ที่คุมทีมชาติญี่ปุ่นช่วง 1998-2002 ตามต่อด้วยกุนซือจากบราซิลอย่างซิโก้ ในปี 2002-2006
ทีมชาติเกาหลีใต้เคยใช้งานยอดผู้จัดการทีม กุส ฮิดดิงก์ จนพาทีมคว้าอันดับ 4 ฟุตบอลโลก 2002 ได้ แม้ว่าจะมีการวิจารณ์เรื่องการตัดสินให้หลายกรณี แต่หากมองกันจริง ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลานั้น กุส ฮิดดิงก์ ได้ยกระดับการเล่นของทีมชาติเกาหลีใต้ขึ้นมาพอสมควร รวมทั้งกุนซือคนล่าสุดอย่าง เปาโล เบนโต ชาวโปรตุเกสก็ได้พิสูจน์ถึงผลลัพธ์ของการพัฒนาทีมชาติเกาหลีใต้ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ไปแล้ว
ขณะที่ทีมชาติซาอุดิอาระเบีย ครั้งนี้ก็เลือกใช้กุนซือมากฝีมืออย่าง แอร์วี เรนาร์ด ที่เคยพาทีมชาติแซมเบีย สร้างตำนานพาแซมเบียคว้าแชมป์แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ มาครองได้ (Africa Cup of Nations) รวมทั้งเคยคุมทีมชาติโมรอกโกในฟุตบอลโลก 2018 เรียกได้ว่าประสบการณ์มาเต็ม และสามารถถ่ายทอดศาสตร์ลูกหนังให้กับนักฟุตบอลทีมชาติซาอุดิอาระเบียจนยกมาตรฐานการเล่นขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับทีมชาติอิหร่านที่ก็ใช้คนคุ้นเคยชาวโปรตุเกสอย่าง คาร์ลอส เคยรอซ ที่มีดีกรีและประสบการณ์มากมาย
บทสรุป
เรื่องราวการพัฒนาหรือยกระดับทีมชาติของทั้ง 6 ประเทศตัวแทนของทวีปเอเชียนั้นยังมีรายละเอียดอีกมากมาย บทความนี้นำเสนอเพียงภาพกว้างที่เป็นประเด็นใหญ่เท่านั้น และจะสังเกตได้ว่าพื้นฐานสำคัญที่สุดก็คือการพัฒนาและยกระดับฟุตบอลภายในประเทศให้มีความเป็นมืออาชีพทัดเทียมกับยุโรป หากทำได้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในระดับทวีปหรือสูงกว่าก็ไม่ไกลเกินเอื้อม
เมื่อโครงสร้างฟุตบอลภายในประเทศพัฒนาจนสามารถผลิตนักกีฬาและบุคลากรในวงการฟุตบอลให้มีมาตรฐานในระดับโลกได้ โอกาสที่นักฟุตบอลหรือโค้ชจะออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ยังต่างประเทศก็มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่นักฟุตบอลเอเชียได้มีโอกาศลงสนามในฟุตบอลลีกชั้นนำของทวีปยุโรปไม่ว่าจะเป็นพรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, เซเรียอา, ลาลีกา และลีก เอิง รวมทั้งลีกรองอย่างฮอลแลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก เหล่านี้ล้วนเป็นการเติมเต็มประสบการณ์และยกระดับฝีเท้าของนักฟุตบอลเอเชียแทบทั้งสิ้น
และจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายคือการบริหารจัดการทีมชาติของสมาคมฟุตบอลชาตินั้น ๆ ว่า สามารถที่จะสนับสนุนและหาคู่แข่งขันที่สามารถสร้างผลงานและเสริมประสบการณ์ให้ทีมชาติของตัวเองได้หรือไม่ และมีแผนการพัฒนาอย่างไร มีอะไรเป็นตัวชี้วัด รวมทั้งการบริหารจัดการเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาสิ่งที่กล่าวมา
ขณะนี้ทีมชาติที่ผ่านการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ได้สร้างมาตรฐานขึ้นมาแล้ว พวกเค้าจะยังคงพัฒนามันต่อไป นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศในทวีปเอเชียที่ก็กำลังเดินตามรอยบิ๊กเนมดังกล่าว คงไม่ใช่งานง่ายของทีมชาติไทยที่จะไปฟุตบอลโลกในครั้งต่อไป แต่ถ้าเราเริ่มลงมือกันวันนี้เราก็อาจขยับช่องว่างมาได้ไม่มากก็น้อย
เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (แฟนพันธุ์แท้เอเชียนเกมส์)