Nope: ภาพสะท้อนสังคมที่ให้ความสำคัญกับการ ‘แชะ&แชร์’

Nope: ภาพสะท้อนสังคมที่ให้ความสำคัญกับการ ‘แชะ&แชร์’

อีกหนึ่งผลงานสยองขวัญของ 'จอร์แดน พีล' ที่ไม่เพียงมอบความน่ากลัวให้แก่ผู้ชม แต่ยังนำเสนอและตั้งคำถามถึงประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับการแชะและแชร์ได้อย่างน่าสนใจ กับภาพยนตร์เรื่อง Nope

 

  • ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของภาพยนตร์เรื่อง Nope คือการสะท้อนผู้ชมให้เห็นถึงพลังของการ 'แชะ&แชร์' หรือการที่คนในสังคมให้ความสำคัญกับการหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ มากกว่าชีวิตของตัวเอง...
  • นอกจากนั้นหนังก็ยังเอาคอนเซ็ปเรื่อง 'โชคชะตา' มาใช้ตั้งคำถามและเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ว่าในโชคร้ายก็มีโชคดี ในโชคดีอาจเป็นโชคร้าย แต่ที่แน่นอนคือ 'โชค' นั้นไม่จีรังยั่งยืน...
  • ความพิเศษหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการเขียนบทแบบโดยใช้เทคนิค 'Chekhov's Gun' ที่แอบหยอดอะไรเอาไว้ในต้นเรื่อง ก็ถูกเอามาใช้อย่างคุ้มค่าทั้งหมด หรือหากกล่าวอีกนับหนึ่ง แทบจะทุกองค์ประกอบในหนังมีความหมายและหน้าที่ของตนเองทั้งสิ้น

 

/ ในบทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Nope (2022) /

อะไรทำให้ ‘Nope’ ไม่ธรรมดา? ยูเอฟโอ? สัตว์ประหลาด? เรากำลังเจอกับอะไร? ในงานชิ้นใหม่ล่าสุดจากนักแสดงตลกที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญมือดีอย่าง ‘จอร์แดน พีล’ (Jordan Peele) ที่เจ้าตัวได้ลองหยิบจับประเด็นที่ ‘เหนือความคาดหมาย’ และสอดแทรกแนวคิดที่เปรียบเสมือนภาพสะท้อนกลับมามองสังคมมนุษย์และการกระทำของเรา ไม่ว่าจะการให้สำคัญกับการ ‘แชะ&แชร์’, การนำสัตว์ป่ามาฝืนธรรมชาติและทำให้ ‘เชื่อง’ เพื่อประโยชน์ส่วนตน, และรวมถึงการตั้งคำถามเรื่อง ‘โชค’ ผ่านการเล่าเรื่องที่มอบทั้งความสยองขวัญและความบันเทิงไปพร้อม ๆ กัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของพีลนั้นก็เปรียบเสมือนกับฉลาก อย. ข้างผลิตภัณฑ์อาหาร ที่คอยทำหน้าที่ยืนยันว่า ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องนี้ ‘กินได้’ (แถมอร่อยเสียด้วย) เพราะงานก่อน ๆ ของพีลทำให้ผู้ชมได้สยอง เสียวสันหลัง หัวเราะ และบันเทิงกันมาแล้วกับเรื่องราวลำดับก่อนหน้าอย่าง Get Out (2017) และ Us (2019) ที่ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่จดจำในฐานะหนังสยองขวัญที่น่าจับตามองในทันที 

ด้วยความน่ากลัวรูปแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำจำเจตามขนบของหนังสยองขวัญทั่วไปตามท้องตลาด จึงทำให้งานของพีลโดดเด่นขึ้นมา จนคอหนังมากมายหลายคนขนานนามให้เขาเป็นหนึ่งในคลื่นลูกใหม่แห่งผู้สร้างภาพยนตร์สยองขวัญแนวหน้าของวงการในระนาบเดียวกับ โรเบิร์ต เอกเกอร์ส (Robert Eggers) ผู้กำกับภาพยนตร์ขาวดำปั่นประสาทอย่าง The Lighthouse (2019) และ อารี แอสเตอร์ (Ari Aster) ผู้สร้างภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมติดตาจำไม่ลืมกลืนไม่ลงอย่าง Hereditary (2018) และ Midsommar (2019)

ความรู้สึกแรกที่ได้รู้จักกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Nope’ คือตัวอย่างและข่าวสารของภาพยนตร์เรื่องนี้ และแน่นอนว่าความคิดที่อาจจะเด้งเข้ามาในหัวของใครหลายคนตอนได้เห็นรูปร่างของหนังเรื่องนี้คือ “คราวนี้พีลจะมาไม้ไหน?” เริ่มจากชื่ออันสะดุดตาอย่าง Nope ที่แปลเป็นไทยว่า ‘ไม่’ ผสานเข้ากับตัวอย่างหนังที่ ‘ดูแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าเราจะต้องเจอกับอะไร?’ จึงไม่แปลกที่จะบอกว่าภาพยนตร์ลำดับล่าสุดของพีลนี้ เป็นภาพยนตร์ที่ ‘น่าค้นหา

และความน่าค้นหาที่ผสมรวมเข้ากับฉลากจอร์แดน พีล ที่การันตีคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จูงมือผู้คนไปที่ Box Office เพื่อจับจองซื้อตั๋วของภาพยนตร์ชื่อแปลกอย่าง Nope เพราะ หนึ่ง - เราเชื่อใจมือของพีลได้ - และ สอง - เราไม่รู้ว่าการก้าวเท้าเข้าไปในโรงภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เราจะได้อะไรกลับมา และนั่นแหละคือเสน่ห์ของภาพยนตร์ลึกลับ / สยองขวัญ ในแบบที่มันควรจะเป็น

เราไม่รู้หรอกว่าพีลจะมาไม้ไหน แต่เรารู้ว่าไม้นั้นไม่ธรรมดาแน่ ๆ

ในบทความนี้ The People จึงอยากจะมาแบ่งปันข้อสังเกตในแง่มุมต่าง ๆ ว่ามีประเด็นใดบ้างที่พีลได้สอดแทรกมาในภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดของเขา และอะไรคือความพิเศษในภาพยนตร์เรื่อง 'Nope'

แชะ&แชร์คือพลัง

ในยุคสมัยที่แทบจะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือกันคนละเครื่อง แล้วทุก ๆ เครื่องก็ล้วนมีกล้องที่พร้อมจะถ่ายสิ่งต่าง ๆ รอบกายอยู่เสมอ เราจะเห็นกันได้อยู่บ่อยครั้งว่าเวลามาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างสองคู่กรณี จะมีการหยิบอาวุธคู่กายสุดฮิตอย่างโทรศัพท์มือถือมาบันทึกภาพในทันที พอเห็นว่าอีกฝ่ายกำลังบันทึกภาพ อีกฝ่ายก็ไม่รีรอที่จะหยิบเครื่องของตัวเองขึ้นมากดบันทึกด้วยเช่นเดียวกัน 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นราวกับว่าการบันทึกภาพเป็นดั่งอาวุธชิ้นสำคัญในการตัดสินว่าใครถูกใครผิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายนั้นสามารถเพิ่ม ‘ความถูกต้อง’ จากสายตาคนอื่นให้ตัวเองได้ นอกจากนั้นการถือกล้องเพื่อมาบันทึกภาพก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการสลับบทบาทระหว่าง ‘ผู้ล่า’ และ ‘เหยื่อ’ 

หนึ่งประเด็นที่พีลพยายามจะนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่อง Nope คืออำนาจและพลังของการ ‘บันทึกภาพ’ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือวิดีโอ ว่า ไม่เพียงแต่ในหนังเท่านั้น ว่ามันเป็นอาวุธที่ทรงพลังถึงเพียงไหน

เราจะเห็นได้ว่าในภาพยนตร์ เมื่อฟาร์มของ โอติส จูเนียร์ หรือ โอเจ (Otis Junior) ตัวเอกของเรื่อง ได้ถูกมนุษย์ต่างดาว (หรือตัวอะไรก็ตามแต่) ที่มีรูปร่างคล้ายยูเอฟโอ มาประกาศศักดาว่า “พื้นที่แห่งนี้คือถิ่นของฉัน” ในคราวแรก หลาย ๆ คนก็คงมีความคิดที่จะย้ายหนีไปให้ไกลที่สุดที่จะทำได้เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเอง แต่หากเป็นเช่นนั้น Nope ก็คงจบภายในครึ่งชั่วโมงแรก…

ครั้นสองพี่น้อง โอเจ และ เอมเมอรัลด์ (Emerald) น้องสาวเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า ไหน ๆ เราก็มีปัญหาเรื่องการเงินกันอยู่แล้ว ทำไมเราไม่หาวิธีถ่ายไอเจ้ามนุษย์ต่างดาวนี่ไปเสียเลย จะได้นำภาพไปขายให้สื่อเพื่อแลกกับเงินมหาศาล 

ณ วินาทีนั้นเราจะเห็นได้ว่าสถานะของ ‘เหยื่อ’ ได้กำลังแปรเปลี่ยนเป็น ‘ผู้ล่า’ เพราะแทนที่จะวิ่งหนี พวกเขากลับวิ่งเข้าใส่ แถมยังหาวิธีล่อเหยื่อให้ออกมาด้วย ถึงขั้นที่ว่าในตอนท้าย ๆ ของเรื่องต้องมีการขอร้องให้ช่างภาพมือขมังมาตั้งกล้องช่วยถ่ายให้ดั่งสารคดีสัตว์โลก

จุดที่ชัดเจนที่สุดก็คงเป็นวินาทีไคลแมกซ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เอ็มเมอรัลด์ล่อ ‘จีน แจ็คเก็ต’ (Jean Jacket) หรือสัตว์ประหลาดตัวยักษ์ที่ลอยล่องอยู่บนท้องฟ้าให้ไหลเข้ามาอยู่ในเฟรมกล้องจากบ่อน้ำถ่ายรูปเก่า ๆ พอได้ ‘แชะ’ ภาพประวัติศาสตร์ของสัตว์ประหลาดบนฟ้าแล้ว ก็มีความรู้สึกไม่ต่างกับการได้ชัยชนะมาครอง เพราะนักล่าที่ก่อนเคยเป็นเหยื่อได้บรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้ล่า ‘ภาพหลักฐาน’ ของเขาเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่พีลพยายามจะสื่อสารไปถึงผู้ชมก็น่าจะเป็นการตั้งคำถามถึงพลังของการ ‘แชะ&แชร์’ ว่ามันมีพลังพลิกสถานการณ์และสถานะของผู้เล่นแต่ละคนได้มากเพียงไหน หรือไม่ก็อาจจะเป็นการตั้งคำถามเป็นกระจกสะท้อนให้ผู้ชมย้อนมองสังคมในยุคปัจจุบันของเราว่าการถือกล้องถ่ายมันกลายเป็นอาวุธสำคัญที่มีผลกระทบถึงเพียงไหน

 

ลิงกอร์ดีกับการตั้งคำถามเรื่องโชค

ความน่ากลัวในครั้งนี้ของภาพยนตร์เรื่อง Nope ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นฉากที่ลิงชิมแฟนซีนามว่า ‘กอร์ดี’ (Gordy) ลิงสุดแสนจะใจดีที่แสดงอยู่ในซิทคอม เกิดคลุ้มคลั่งขึ้นมาเพราะเสียงลูกโป่งระเบิด นับเป็นหนึ่งสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างมากเมื่ออะไรสักอย่างนึงที่ดูใจดี เปลี่ยนแปรเป็นปีศาจที่จะฉีกเนื้อทุกคนที่ขวางหน้าในชั่วพริบตา

(เหตุการณ์สะเทือนขวัญในเรื่องได้รับแรงบันดาลใจมาจากโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับลิงชิมแปนซีที่มีนามว่า 'ทราวิส')

 

ชื่อว่าหลายคนหลังจากที่ดูหนังจบก็อาจจะพยายามปะติดปะต่อว่า Sub-Plot ดังกล่าวมันมีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวหลักอย่างไร

ประการแรกที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คงเป็นการนำเสนอเรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครอย่าง ‘จูป’ (Jupe) เจ้าของจูปิเตอร์สเคลม (Jupiter’s Claim) เจ้าของสถานที่ท่องเที่ยวธีมคาวบอยที่อดีตเคยเป็นนักแสดงซิทคอมที่ต้องพบกับประสบการณ์จำไม่ลืมจากการที่กอร์ดีคลุ้มคลั่งและไล่ทำร้ายนักแสดงคนอื่น ๆ อีกหลายคนจนบ้างก็เสียชีวิต บ้างก็พิการไปตลอดชีวิต แต่มีเพียงจูปเท่านั้นที่ไม่เป็นอะไรเลย 

เพราะอะไรกัน? หากในมุมของจูปเอง จากเหตุการณ์ฝังใจครั้งนั้น มันก็ได้ก่อความเชื่อมั่นอะไรบางอย่างในตัว ว่าเขาสามารถทำให้สัตว์ป่าที่มีจิตวิญญาณนักล่า ‘เชื่องได้’ - อาจจะเป็น Predator Whisperer อะไรทำนองนั้น -- นั่นจึงเป็นที่มาให้เขาจัดโชว์เพื่อเก็บเงินกับการมนุษย์ต่างดาวยักษ์ให้มากินม้า เขากล้าทำ กล้าเสี่ยง เพราะเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้เขาเชื่อว่าเขาทำได้

ในอีกแง่หนึ่งมันก็เป็นการตั้งคำถามในเรื่อง ‘โชค’ ของภาพยนตร์ เชื่อว่าภาพจำติดตาหนึ่งที่ดูธรรมดาแต่ก็ห่างไกลจากความธรรมดาไปพร้อม ๆ กัน ก็คือภาพหลังจากที่ลิงกอร์ดีคลุ้มคลั่งทำร้ายทุกคนในกองถ่าย และท่ามกลางความโกลาหลนั้น รองเท้าข้างหนึ่งที่หลุดของเหยื่อคนหนึ่งก็ตั้งตรงอย่างผิดธรรมชาติ จนทำให้สายตาของทุกคนในโรงมุ่งตรงไปที่รองเท้าข้างนั้น นั่นรวมถึงจูปในวัยเด็กด้วย 

จูปอาจจะคิดว่าตัวเขารอดเพราะมีความสามารถพิเศษกับสัตว์ แต่แท้จริงแล้วมันอาจจะเกี่ยวกับเรื่องโชค ในภาพยนตร์โอเจได้เคยกล่าวไว้ว่า เราห้าม ‘จ้องตา’ ผู้ล่าถ้าอยากรอดชีวิต ซึ่งโอเจก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจริง จากจุดนี้ทำให้เราสามารถย้อนไปปะติดปะต่อกับเหตุการณ์ซิทคอมในคืนวันนั้นได้ว่าที่จูปรอดชีวิตมาได้อาจไม่ใช่เพราะเขามีญานวิเศษ แต่เป็นเพราะ ‘โชคชะตา’ ต่างหาก

อาจจะเป็นไปได้ว่าสิ่งที่ทำให้จูปรอดพ้นจากเงื้อมมือของลิงคลั่งในวันนั้นได้ก็เป็นเพราะ ‘เขาไม่ได้จ้องตามัน’ เพราะเหตุผลประการที่หนึ่ง เขาอาจจะตกตะลึงกับรองเท้าที่ตั้งตรงขึ้นอย่างไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งโอกาสของมันที่จะเป็นแบบนั้นได้ก็นับว่าน้อยนิดเสียเหลือเกิน ด้วยเหตุนี้ ท่ามภัยร้าย สายตาของเจ้าหนูจูปจึงมุ่งตรงไปเพียงแค่รองเท้าข้างดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีผ้าปูโต๊ะที่ยังช่วยบังสายตาระหว่างลิงหน้าเลือดกับเด็กที่หวาดกลัว ซึ่งอาจจะทำให้เหตุการณ์ไม่บานปลายไปมากกว่านี้

และจุดที่ชี้ชัดว่าจูปไม่ได้เป็น Predator Whisperer อย่างที่เขาคิดก็คือจุดที่เส้นทางของชีวิตของเขามาบรรจบกับม้าสีดำนามว่า ‘นำโชค’ หรือ ‘Lucky’ ในคราวที่เขาต้องล่อจีน แจ็คเก็ตด้วยม้าพยศที่วิ่งไปมา เขายังถือว่ามีโชคอยู่ เพราะม้าจะวิ่งไกลและถูกกินแบบไกล ๆ ไร้พิษไร้ภัย

แต่เมื่อเจอกับเจ้านำโชคที่ยืนเฉยไม่วิ่งไปไหน ความโชคดีของเขาก็ได้หมดไป เพราะม้าตัวที่ชื่อว่านำโชคได้นำความตายมาหาเขา ด้วยเหตุที่นำโชคเป็นม้าที่ถูกฝึกมาและไม่พยศ มันจึงไม่ได้วิ่งไปไหน จึงทำให้จีน แจ็คเก็ตมาเขมือบทุกคนถึงที่ และวินาทีนั้นอาจจะเป็นจังหวะที่ทำให้จูปรู้ว่า ณ ตอนนั้นมันอาจจะเป็นเพีนงแค่โชคชะตาที่ทำให้เขารอดชีวิตมาได้ 

 

แอบปูไว้ตอนแรกแล้วตบสุดแรงในตอนหลัง

นอกจากเมสเสจต่าง ๆ นา ๆ ที่พีลพยายามจะสอดแทรกเข้ามาในหนังเรื่องนี้แล้ว ความพิเศษของ Nope ที่เด่นชัดมาก ๆ อีกอย่างหนึ่งคือการเขียนบทและร้อยเรียงเรื่องราวมาได้ ‘คุ้มค่า’ กล่าวคือไม่ว่าหนังจะแอบทิ้งแอบปูอะไรไว้ในตอนแรก ๆ (โดยที่ส่วนใหญ่ผู้ชมไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ) ปมหรือเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนได้กลับเอามาใช้อย่างน่าสนใจในตอนหลังแทบทุกชิ้น

“การวางปืนไรเฟิลที่บรรจุกระสุนพร้อมยิงไว้ในฉาก แล้วคุณกลับไม่ได้ใช้มันในเนื้อเรื่องเลย คุณก็ไม่สมควรที่จะวางมันเอาไว้”

ซึ่งการประกอบร้อยเรื่องแบบนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำให้นึกถึงเทคนิคการเล่าเรื่องอย่าง ‘ปืนของเชคอฟ’ (Chekhov's Gun) หรือการที่ทุก ๆ องค์ประกอบที่สอดแทรกเข้ามาจะไม่ถูกปล่อยทิ้งอย่างเสียเปล่า ยกตัวอย่างเช่นถ้าฉากแรกเปิดมาเห็นปืนในห้อง แม้จะไม่ได้ใช้ แต่ตอนไคลแมกซ์ตัวเอกก็หยิบปืนดังกล่าวมาใช้และพลิกสถานการณ์ได้

โดยเทคนิคดังกล่าวถูกใช้อยู่บ่อยครั้งใน Nope ยกตัวอย่างเช่นสายธงที่ผูกติดมากับรูปปั้นม้าที่โผล่มาในตอนแรก ตอนกลางเรื่อง และเป็นจุดสำคัญตอนท้ายเรื่องที่ใช้พลิกสถานการณ์ให้โอเจรอดชีวิตอย่างหวุดหวิด, ลูกโป่งคาวบอยยักษ์ที่แอบใส่มาเป็นแค่สิ่งของประกอบในตอนแรกกลับถูกใช้เป็นอาวุธพลิกเกมสำคัญในการเอาชนะจีน แจ็คเก็ต, และบ่อถ่ายภาพ Winkin’ Well ที่โผล่มาเป็นกิมมิคเล็ก ๆ แต่กลับใครจะรู้ว่ามันจะเป็นเครื่องมือที่เป็นการปักหมุดหมายแห่งชัยชนะของภาพยนตร์เรื่องนี้

แต่ปืนของเชอคอฟก็ไม่ใช่เทคนิคที่เพิ่งถูกนำมาใช้ เพราะมันก็เป็นอะไรที่ถูกนำไปใช้อยู่หลายครั้งเพื่อสร้างความหวือหวาในการเขียนบท ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ นวนิยาย หรือละครเวที แต่สิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นความพิเศษใน Nope ก็เพราะว่ามันทำให้ทุกอย่างในเรื่องผูกกันอย่างแน่นและกระชับ และทำให้องค์ประกอบหลาย ๆ อย่างในเรื่อง แทนที่จะโผล่มาแล้วผ่านไปอย่างเสียเปล่า ถูกใช้และสร้างความหวือหวาได้ดีเยี่ยม 

ภาพยนตร์เรื่อง Nope นับเป็นภาพยนตร์สยองขวัญอีกเรื่องหนึ่งที่เปรียบเสมือนกล่องปริศนาที่ผู้ชมจะไม่รู้เลยว่าจะเข้าไปพบเจอกับอะไร แถมแนวทางการสร้างก็ไม่ได้ยึดอยู่กับขนบเดิม ๆ แต่ถึงกระนั้น องค์ประกอบตลอดเรื่องก็เป็นการนำภาพยนตร์ขึ้นหิ้งเรื่องก่อน ๆ มาคารวะผ่านการดีไซน์ฉากหลาย ๆ ฉาก และอารมณ์ของเรื่อง ถึงกระนั้น แต่ตัวหนังเองก็ยังรักษาความเป็นตัวเองได้อย่างหนักแน่น

ท้ายที่สุด ขอยกมือคารวะให้กับไทเทิลดรอปของหนังเรื่องนี้ (การเอ่ยชื่อเรื่องในภาพยนตร์) ที่ทำออกมาเรียกเสียงฮาได้แม้สถานการณ์จะตึงเครียด แม้ว่าหนังจะชื่อเรียบ แต่ว่าคุณภาพของมันไม่เรียบเลยแม้แต่น้อย

โนป… มันไม่เรียบเลย 

 

ภาพ: โปสเตอร์ภาพยนตร์ Nope (IMDb)