มหาศึกคนชนเทพ: เดิมพันเพื่อความอยู่รอด โอกาสสุดท้ายที่ ‘มนุษย์ธรรมดา’ จะได้ตั๊นหน้า ‘คนบนฟ้า’ ดูสักที

มหาศึกคนชนเทพ: เดิมพันเพื่อความอยู่รอด โอกาสสุดท้ายที่ ‘มนุษย์ธรรมดา’ จะได้ตั๊นหน้า ‘คนบนฟ้า’ ดูสักที
มหาศึกคนชนเทพ: เดิมพันเพื่อความอยู่รอด โอกาสสุดท้ายที่ ‘มนุษย์ธรรมดา’ จะได้ตั๊นหน้า ‘คนบนฟ้า’ ดูสักที / บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง ‘มหาศึกคนชนเทพ’ (Record of Ragnarok) ฉบับแอนิเมชัน / / ชื่อตัวละครและสถานที่อ้างอิงจากฉบับแอนิเมชัน ออกฉายทาง Netflix / ในการประชุมชี้ชะตามนุษยชาติที่จัดขึ้นบนสวรรค์ทุกหนึ่งพันปี เหล่าทวยเทพจากทั่วทุกมุมโลกต่างลงความเห็นให้ทำการล้างบางเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้สิ้นซาก ด้วยเหตุว่ามนุษย์คือมะเร็งที่กัดกินโลกอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสำนึกผิด แต่ ‘บรุนฮิลด์’ พี่ใหญ่ของเหล่า 13 วัลคีรี่ (นางฟ้าผู้นำทางนักรบขึ้นสวรรค์จากตำนานเทพปกรณัมนอร์ส) ได้เสนอโอกาสครั้งใหญ่ให้กับมวลมนุษยชาติ ด้วยการจัดศึกครั้งสุดท้ายระหว่างเทพและมนุษย์ขึ้น ภายใต้ชื่อเรียก ‘แร็กนาร็อก’ (Ragnarok - ตามตำนานของเทพนอร์สกล่าวว่า มันคือสงครามครั้งใหญ่และวาระสุดท้ายของเทพหลายองค์) ส่วนกติกาในการแข่งขันครั้งนี้ แต่ละฝั่งจะมีตัวแทนฝั่งละ 13 คน ฝ่ายใดที่ชนะครบ 7 คนก่อนถือว่าชนะทันที ซึ่งการเดิมพันครั้งนี้ หากมนุษย์ชนะจะได้โอกาสมีชีวิตอยู่ต่ออีก 1,000 ปี แต่หากเทพชนะ มนุษย์จะถูกกวาดล้างจนหมดโลก แม้กติกาทั้งหมดจะเป็นไปตามสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญวัลฮัลล่า’ แต่ฝ่ายมนุษย์ก็ดูจะเสียเปรียบอยู่ทุกทาง ทั้งหมดคือเรื่องราวการดิ้นรนเอาตัวรอดครั้งสุดท้ายของลูกหลานแห่งอาดัม ผลงานมังงะสุดฮิตที่ทำยอดขายมากกว่า 6 ล้านเล่ม ‘มหาศึกคนชนเทพ’ (Record of Ragnarok) ของอาจารย์อาจิจิกะ, ชินยะ อุเมมุระ และทาคุมิ ฟุคุอิ ที่เพิ่งถูกดัดแปลงเป็นแอนิเมชันและออกฉายทาง Netflix ไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่นอกเหนือจากฉากบู๊สุดมันส์ ชัยชนะที่ยากจะคาดเดา และการคัดเลือกตัวละครเทพ ๆ รวมถึงยอดมนุษย์จากประวัติศาสตร์ทั่วโลก เรื่องราวของมหาศึกคนชนเทพยังเป็นการนำตำนาน นิทานปรัมปรา มาผสมผสานเรื่องเล่าเคล้าเรื่องจริงของเหล่าเทพและมนุษย์ เพื่อสร้างการตีความใหม่ตั้งแต่เทพปกรณัมกรีก เทพนอร์สแห่งสแกนดิเนเวีย คัมภีร์ไบเบิล เทพฮินดู ลอร์ดบุดด้า จดหมายเหตุสามก๊ก ไปจนถึงตำนานซามูไร และคดีที่ไม่อาจไขของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ แห่งเกาะอังกฤษ ประกอบกับการสอดแทรกสัญลักษณ์ ความเชื่อ แง่มุมทางสังคม การเมือง และศาสนา รวมถึงการจิกกัดสังคมแห่งชนชั้น และความเหลื่อมล้ำอย่างมีชั้นเชิงของอาจารย์ทั้งสาม จึงบังเกิดเป็นมหาศึกคนชนเทพที่ให้โอกาสคนอ่านได้ตีความอย่างหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ประโยคที่ว่า “หยุดสวดมนต์ได้แล้ว เพราะศัตรูที่เราต้องเอาชนะให้ได้ในตอนนี้ ไม่ใช่ใครเลย นอกจากเทพที่ทุกท่านสวดขอพรอยู่” ศัตรูที่มนุษย์บูชา เพราะเทพบนสรวงสวรรค์ถือตัวเป็นผู้รังสรรค์จัดแจงชะตากรรมของมนุษย์ ทำให้คนธรรมดามีสิทธิ์เลือกเพียงว่าจะสู้เพื่อความอยู่รอด หรือจะยอมตาย การบีบบังคับให้มนุษย์ต้องดิ้นรนยื้อชีวิตของตัวเองเกิดขึ้นทั้งในชีวิตจริงและในการ์ตูน นั่นคือผลของสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบชนชั้น’ และ ‘ความไม่เท่าเทียม’ แต่กระนั้นมนุษย์บางคนก็มองไม่เห็นความเสียเปรียบดังกล่าว ระหว่างศึกค้อนปะทะทวน ยอดเทพปะทะยอดคน ของ ‘ธอร์’ เทพเจ้าแห่งสายฟ้า บุตรชายของโอดิน และ ‘ลิโป้ เฟยเสียง’ ขุนพลแห่งสามก๊ก ผู้พิชิตสมรภูมิรบบนหลังม้าเซ็กเธาว์ ผู้ชมฝั่งมนุษย์ที่ไม่เคยเห็นคนธรรมดาหาญกล้าต่อกรกับเทพย่อมเกิดความเกรงกลัวเป็นธรรมดา เพราะมันถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ในรอบพันปี ชายชราคนหนึ่งเริ่มสวดขอพรกับเหล่าเทพเจ้า แต่บรุนฮิลด์ที่ได้ยินเข้ากลับบอกชายคนนั้นว่า ศัตรูที่จ้องจะทำลายมนุษย์นั้นไม่ใช่ใครอื่น นอกจากเทพที่เขากำลังสวดขอพรอยู่ เมื่อเห็นแล้วว่าเทพกำลังเล่นสนุกกับชีวิตมนุษย์อย่างไร้ความปรานี เขาจะยังสวดขอพรต่อไปเพื่ออะไร? ตั้งแต่ฉากแรกของการประชุมสภาวัลฮัลล่า (Valhalla ตามตำนานคือสถานที่พักพิงของนักรบแห่งโอดิน เทพเจ้าสูงสุดของนอร์ส) มหาศึกคนชนเทพแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างมนุษย์และเทพอย่างชัดเจน อาจารย์ผู้เขียนเล่นกับความหวั่นไหวในจิตใจมนุษย์ยามเมื่อต้องต่อสู้กับ ‘อำนาจ’ ของคนกลุ่มหนึ่งที่ทำให้พวกเขากลายเป็น ‘เทพ’ ทั้งเทพโดยกำเนิดอย่าง ‘ซุส’ และ ‘โอดิน’ รวมไปถึง ‘ครึ่งคนครึ่งเทพ’ ที่ได้รับการยอมรับอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ แปรผันตามผลประโยชน์ที่ฝั่งเทพจะได้รับ ผู้ชมอาจสัมผัสได้ว่า ความกลัวในจิตใจมนุษย์ไม่ได้เกิดจากการเห็นพลังอำนาจอันแข็งแกร่งของเทพเท่านั้น แต่มันเกิดจากการสั่งสมความนอบน้อมและการยอมรับมาเนิ่นนาน จนไม่อาจแยกได้ว่าใครกันแน่คือศัตรูที่แท้จริง กระนั้น เมื่อลิโป้กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ลงมือทำร้ายเทพเจ้าได้สำเร็จ คนดูในลานประลองจึงเห็นความจริงว่า ‘จะมนุษย์หรือเทพก็มีเลือดสีแดงเหมือนกัน’ นั่นทำให้ประชาชนธรรมดากล้าโห่ร้อง และเดินหน้าต่อสู้มากขึ้น รวมไปถึงการส่งท้ายศึกระหว่าง ‘อาดัม’ บิดาแห่งมวลมนุษย์ และ ‘ซุส’ บิดาของเหล่าเทพในศึกครั้งที่ 2 ยังตอกย้ำไปอีกว่า ‘มนุษย์สามารถต่อกรกับเทพได้’ ไม่ได้สู้เพราะความแค้น แต่สู้เพื่อลูกหลาน ‘So God created man in his own image, in the image of God he created him; male and female he created them. Genesis 1:27’ ต่างจากลิโป้ที่เป็นขุนศึกผู้เพียบพร้อมทั้งความสามารถในการต่อสู้และพละกำลัง ถึงขั้นต่อกรกับสามพี่น้องแห่งสวนท้ออย่างเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย ได้อย่างไม่อาจตัดสินแพ้ชนะ อาดัม หรือมนุษย์คนแรกของโลกมีพลังในการก๊อบปี้กระบวนท่าที่เทพคู่ต่อสู้ใช้ เพราะพระเจ้าสร้างอาดัมขึ้นมาจากรูปลักษณ์ของพระองค์เอง (Genesis 1:27) อาดัมจึงเปรียบได้กับร่างสำเนาของพระเจ้า และมันก็กลายเป็นความสูสีระหว่างเขากับซุส ภายในแอนิเมชันมหาศึกคนชนเทพ อาดัมถูกแนะนำตัวในฐานะมนุษย์ผู้จงเกลียดจงชังเทพเจ้า เนื่องจากเขาและอีฟถูกไล่ลงมาจากสวนสวรรค์อีเดน แต่เรื่องราวทั้งหมดกลับพลิกผัน เมื่ออาดัมลบล้างความเข้าใจผิดเหล่านั้นภายหลังจากซุสถามถึงเหตุผลที่อาดัมเข้าร่วมศึกชี้ชะตาในครั้งนี้ “ไขข้อสงสัยให้ข้าที ข้ามองไม่เห็นความเกลียดชังเทพเจ้าในแววตาของเจ้าเลย” “ความเกลียดชัง? การล้างแค้น? ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ข้าแค่จะปกป้องลูกหลานของข้า” เพราะการต่อสู้ในครั้งนี้มีเดิมพันเป็นอนาคตของมวลมนุษยชาติ อาดัมที่เป็นบรรพบุรุษไม่ต้องการเห็นลูกหลานของเขาเผชิญกับชะตากรรมที่ถูกบังคับให้เลือก เขาจึงยินดีเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อปลดแอกระบอบอำนาจเดิม แต่นอกเหนือจากนั้น อาดัมยังมองเห็นข้อเสียของระบบเทพนิยมบนสรวงสวรรค์ เขารับรู้ว่าการปกครองของเหล่าเทพไม่ได้ยุติธรรม หรือสมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด ซ้ำร้ายความอยุติธรรมที่เขาและอีฟได้รับกลับกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาไม่ยอมทนอยู่ใต้สิ่งที่เห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ระบบเทพนิยมและการตีความพระคัมภีร์ใหม่ พันธสัญญาเก่าของคัมภีร์ไบเบิลเล่าว่า การตกจากสวรรค์ของอาดัมและอีฟเกิดจากการที่พวกเขาทั้งสองกินผลไม้แห่งการรู้ดีรู้ชั่ว (Forbidden Fruit) โดยอีฟได้มอบแอปเปิลให้อาดัมผู้เป็นสามีกินตามคำยุยงของงู ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดกว่าสัตว์อื่นที่พระเจ้าทรงสร้าง ภายหลังจากมนุษย์ทั้งสองกินผลไม้เข้าไป อาดัมและอีฟจึงรู้สึกถึงความอับอายเป็นครั้งแรก และได้นำใบไม้มาปกปิดเรือนร่างของตนเอง แต่ในเรื่องมหาศึกคนชนเทพ เรื่องราวของ ‘อีฟ’ ได้ถูกตีความขึ้นใหม่ เธอไม่ใช่หญิงร้ายที่ทำให้มนุษยชาติต้องตกระกำลำบาก หากแต่เป็นความไม่ซื่อสัตย์ และความเห็นแก่ผลประโยชน์ของเหล่าเทพต่างหากที่ทำให้มนุษย์ต้องกลายเป็นแพะรับบาป เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในสวนอีเดน อาดัมกำลังพักผ่อนอย่างสงบโดยไม่ทราบเลยว่า ‘อีฟ’ ภรรยาของเขากำลังถูกเทพเจ้างูพูดจาแทะโลม แต่ด้วยความซื่อสัตย์ที่อีฟมีต่ออาดัม เธอจึงปฏิเสธเทพเจ้างูและรีบจากไป เทพเจ้าที่ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวพร้อมความโกรธเกรี้ยวถึงขีดสุดจึงหยิบแอปเปิลที่ตกอยู่บนพื้นขึ้นมากัด ก่อนจะนำความเท็จนี้ไปฟ้องต่อศาลสวรรค์
“คำกล่าวหาเป็นเรื่องเท็จ ทว่ารัฐบาลเป็นเทพ ผู้พิพากษาเป็นเทพ และอัยการก็เป็นเทพ อำนาจในสรวงสวรรค์อยู่ในมือเทพทั้งหมด โอกาสที่มนุษย์จะถูกตัดสินให้ผิดอยู่ที่ 99.99999%”
อีฟจึงถูกตัดสินให้ออกจากสวรรค์ แต่เธอไม่ได้ไปเพียงลำพัง เพราะอาดัมตัดสินใจแก้แค้นให้กับเธอ และลงไปสร้างสวรรค์ร่วมกันบนโลกมนุษย์ ทั้งหมดคือสิ่งที่ซีรีส์มหาศึกคนชนเทพพยายามแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเทพและมนุษย์แทบไม่ได้มีนิสัยใจคอที่แตกต่างกันเลย พวกเขาและพวกเราต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่ย้อมไปด้วยบาปและความต้องการอันลึกล้ำ แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคงจะมีเพียง ‘ชนชั้น’ และ ‘อภิสิทธิ์’ มากกว่า นอกจากนี้ ผลงานในตอนของอาดัมยังนับเป็นความจิกกัดที่ตีแผ่สังคมแห่งการเล่นพรรคเล่นพวก และความไม่น่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมได้อย่างตรงเป้าเข้าประเด็น ซึ่งไม่เว้นแม้กระทั่งสังคมเทพเอง เพราะนั่นหมายถึงผลประโยชน์ของเหล่าเทพที่สามารถหาได้จากการกดทับผู้ที่อ่อนแอกว่า แต่ในกรณีของอีฟ เธอโชคดีที่สามีอย่างอาดัมมีอำนาจต่อรอง แต่หากเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาแล้ว ใครเล่าจะแก้แค้น หรือทวงความยุติธรรมให้กับพวกเขา? ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของสวรรค์ที่ปกครองโดยเหล่าทวยเทพ การแบ่งชนชั้นยังเกิดขึ้นระหว่างเทพเจ้าสูงสุด และเทพเจ้าชั้นรองที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า ‘โพไซดอน’ เจ้าแห่งท้องน้ำผู้น่าเกรงขาม พี่ชายของซุสถือเป็นเทพอีกองค์ที่กุมอำนาจแห่งสรวงสวรรค์ และเป็นผู้สร้าง ‘ชุดความจริง’ ที่สังคมเทพต้องเชื่อตาม ย้อนกลับไปในอดีต ซีรีส์เล่าว่า เดิมทีเทพเจ้าแห่งโอลิมปัสมีทั้งหมด 13 องค์ แต่หนึ่งในนั้นได้ถูกโพไซดอนสังหารอย่างโหดเหี้ยม ชื่อของเขาคือ ‘อาดามัส’ บุตรองค์โตแห่งไททันโครนอส แต่ความน่ากลัวของการที่ ‘น้องชาย’ อย่างโพไซดอนสังหาร ‘พี่ชาย’ อย่างอาดามัสยังไม่หยุดลงเพียงเท่านั้น เพราะเทพ ‘เฮอร์มีส’ บุตรของซุสผู้อยู่ในเหตุการณ์ยังบอกกับเทพ ‘แอรีส’ ผู้เป็นพี่ชายว่า “เมื่อท่านโพไซดอนบอกว่าท่านอาดามัสไม่เคยมีตัวตนมาตั้งแต่แรก อะไรก็ตามที่ท่านโพไซดอนพูดล้วนกลายเป็นความจริง ไม่มีใครสามารถคัดค้าน ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้คัดค้าน นั่นต่างหากที่น่ากลัว” “เจ้าพูดถูก (เฮอร์มีส) นั่นทำให้โพไซดอนดูสมกับเป็น ‘เทพ’ มากกว่าผู้ใดทั้งนั้น” แต่หากผู้ใดพ่ายแพ้ในศึกแร็กนาร็อก ร่างของผู้นั้นจะสูญสลายไปตลอดกาล กลายเป็นเพียงฝุ่นผงในจักรวาลอันกว้างใหญ่ นั่นแสดงว่าปลายทางของเทพและคนยังคงเหมือนกัน ชะตากรรมของโพไซดอนจึงขึ้นอยู่กับคู่ต่อสู้ของเขาอย่างนักดาบที่พ่ายแพ้มาตลอดชีวิตอย่าง ‘ซาซากิ โคจิโร่’ ตัวแทนแห่งความพ่ายแพ้ที่สักวันหนึ่งจะชนะ แม้ซาซากิ โคจิโร่ จะถือเป็นคู่ปรับตลอดกาลของโรนินผู้โด่งดังอย่าง ‘มิยาโมโตะ มุซาชิ’ แต่ในทางตรงกันข้าม โคจิโร่คือนักดาบที่เปล่งวาจาคำว่า ‘ข้าขอยอมแพ้’ มาตลอดชีวิต เพราะเขาถือว่าการได้ดวลกับนักดาบมากฝีมือทั่วญี่ปุ่นนับเป็นการฝึกปรือฝีมือ และฝึกกระบวนการคิดหาวิธีเอาชนะในหัวของเขา ซึ่งแน่นอนว่าความสามารถพิเศษของโคจิโร่ที่บรุนฮิลด์ประทับใจก็คือการที่เขาสามารถคิดหาความน่าจะเป็นที่จะถูกศัตรูโจมตีได้เป็นพัน ๆ วิธีการนั่นเอง เรียกได้ว่าโคจิโร่คือตัวแทนของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่สุดแสนธรรมดา เขาเดินหน้าต่อสู้กับเทพเจ้าผู้ครอบครองเทพศาสตราอย่าง ‘ตรีศูล’ ด้วยดาบซามูไรคู่ใจ ‘โมโนโฮชิซาโอะ’ อย่างไม่ย่อท้อ จนในที่สุดชัยชนะครั้งแรกของมนุษย์ก็ถูกจารึกไว้ด้วยความเงียบงันของเหล่าเทพ ราวกับเป็นเสียงสะท้อนของอำนาจที่ถูกสั่นสะเทือน การต่อสู้ของผู้แพ้ที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์สอนให้มวลมนุษยชาติรู้ว่า ไม่ว่าผลจะแพ้หรือชนะ ทุกครั้งที่ต่อสู้คือการก้าวเดินไปข้างหน้า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์หยุดต่อสู้ มนุษย์จะไม่มีทางเข้าใกล้กับคำว่าชัยชนะ และเหล่าเทพเจ้าจะยังคงหยิ่งผยองในความแข็งแกร่งของตัวเองต่อไป สิ่งนี้นับเป็นการ ‘ตอกหน้า’ เทพเจ้าที่บรุนฮิลด์และเหล่าวัลคีรี่รอคอยมาเนิ่นนาน แต่ชัยชนะของมวลชนคนธรรมดายังมีหนทางอีกยาวไกลให้ฝ่าฟัน ในการดวลรอบที่ 4 ลานประลองถูกปกคลุมไปด้วยหมอกแห่งหายนะในปี 1888 บรรยากาศของกรุงลอนดอนถูกจำลองขึ้นเพื่อซ่อนกายปีศาจในคราบมนุษย์ เขาคือฆาตกรเลือดเย็นที่เขย่าขวัญคนทั่วเกาะอังกฤษ ชายผู้สังหารหญิงขายบริการอย่างโหดเหี้ยมอย่างน้อย 5 ศพ และยังคงมีใบหน้าเป็นปริศนามากว่า 133 ปี ‘แจ็ค เดอะ ริปเปอร์’ (https://thepeople.co/jack-the-ripper-dna/) ส่วนตัวแทนฝ่ายเทพที่จะมาต่อกรกับเขา คือบุรุษผู้ปราบราชสีห์​แห่งนีเมียน และสุนัขเฝ้านรกเซอร์เบอรัส มนุษย์ครึ่งคนครึ่งเทพ ‘เฮอร์คิวลิส’ แต่ไม่ว่าเรื่องราวของศึกแร็กนาร็อกในครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร มหาศึกคนชนเทพก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อความอยุติธรรมบังเกิดขึ้น มนุษย์มิได้มีความจำเป็นต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมเสมอไป ในทางกลับกัน คนธรรมดาสามารถลุกขึ้นสู้กับความไม่เท่าเทียมเหล่านั้นได้ ถึงแม้อีกฝ่ายจะเป็นเทพก็ตาม ‘มนุษย์มักต้องเผชิญกับสถานการณ์สิ้นหวังจากการพ่ายแพ้เทพเจ้า แต่มนุษย์ไม่เคยหมดหวัง และไม่เคยหยุดสู้’ ส่วนใครที่ต้องการติดตามเรื่องราวต่อ แอนิเมชันจาก Netflix ได้ออกฉายแล้ว 12 ตอน แต่หากใครไม่อยากพลาดรายละเอียดแบบจัดเต็ม (และไม่ยืดเยื้อ) แนะนำฉบับมังงะจากสำนักพิมพ์ Pheonix ที่ปัจจุบันออกมาทั้งหมด 9 เล่มแล้ว เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี อ้างอิง มหาศึกคนชนเทพ (Record of Ragnarok), Netflix Season 1 https://www.thenewsfetcher.com/everything-you-need-to-know-about-record-of-ragnarok-anime-release-date/ https://www.wordproject.org/bibles/ti/01/1.htm https://biblehub.com/genesis/1-27.htm  https://www.alimentarium.org/en/knowledge/eve-and-forbidden-fruit#:~:text=The%20Old%20Testament%20tells%20of,God%20banished%20them%20from%20Paradise ที่มาภาพ  Netflix