รอย เรย์มอนด์ ผู้ก่อตั้ง Victoria's Secret ให้ผู้ชายซื้อชุดชั้นในให้ผู้หญิง

รอย เรย์มอนด์ ผู้ก่อตั้ง Victoria's Secret ให้ผู้ชายซื้อชุดชั้นในให้ผู้หญิง

ผู้ก่อตั้ง Victoria's Secret ให้ผู้ชายซื้อชุดชั้นในให้ผู้หญิง

Victoria’s Secret แบรนด์ชุดชั้นในสุดเซ็กซี่ เป็นที่รู้จักกันดีจากแฟชั่นโชว์ที่จัดขึ้นทุกปี โดยมีเหล่านางแบบชื่อดังระดับโลกจำแลงกายเป็น "นางฟ้าวิกตอเรีย" มาสวมใส่ชุดชั้นในของแบรนด์เดินอวดโฉมอยู่บนรันเวย์ (ความที่มีแต่นางแบบหุ่นเป๊ะ ทำให้ระยะหลังมานี้ แบรนด์ถูกตั้งคำถามเรื่องการขาดความหลากหลายทางรูปร่างของนางแบบ ขณะที่ Savage X Fenty โปรเจกต์ชุดชั้นในของรีแอนนา นักร้องสาวชื่อดัง ได้รับเสียงชื่นชมเพราะเคารพความหลากหลายมากกว่า) แต่ก่อนจะมาถึงทุกวันนี้ที่กลุ่มลูกค้าหลักคือผู้หญิง เชื่อไหมว่า Victoria’s Secret ถูกสร้างขึ้นเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าผู้ชายมาก่อน! ย้อนไปกลางทศวรรษที่ 1970 หนุ่มอเมริกันวัยประมาณ 30 ปีที่ชื่อ รอย เรย์มอนด์ (Roy Raymond) เข้าไปในห้างสรรพสินค้าเพื่อเลือกซื้อชุดชั้นในให้ภรรยา แต่สิ่งที่เขาเจอก็คือสายตาแปลกๆ ของพนักงานขายที่เป็นผู้หญิงซึ่งมองเขาอย่างพินิจพิเคราะห์ และสายตาบางคู่ก็มองมาราวกับว่าเขาเป็นพวกวิตถารที่มาดูชุดชั้นในผู้หญิง “เมื่อผมพยายามไปซื้อชุดชั้นในให้ภรรยา ผมก็เจอแต่ชุดนอนผ้าไนลอนลายดอกไม้น่าเกลียดๆ และผมก็มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าพนักงานหญิงคิดว่าผมเป็นผู้บุกรุกที่ไม่น่าต้อนรับเอาเสียเลย” เรย์มอนด์กล่าวกับ Newsweek ไว้เมื่อปี 1981 สายตาพิฆาตดังกล่าว ทำให้เรย์มอนด์อึดอัดและรู้สึกกลัว แต่ประสบการณ์การช้อปปิ้งครั้งนั้นบวกกับการที่ได้รู้ว่าเพื่อนๆ ผู้ชายของเขาก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้ชายหนุ่มที่พกดีกรี MBA จาก Stanford Graduate School of Business อย่างเรย์มอนด์ เห็นโอกาสแพรวพราวทางธุรกิจ เขาคิดสร้างร้านขายชุดชั้นในที่ทำให้ลูกค้าผู้ชายเข้าไปเดินซื้อสินค้าได้อย่างสบายใจที่สุด เรย์มอนด์กู้ยืมเงินมา 80,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่นี้ โดยเช่าพื้นที่เล็กๆ ใน Stanford Shopping Center รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิด Victoria’s Secret ขึ้นในปี 1977 ซึ่งชื่อร้านได้แรงบันดาลใจจากยุควิกตอเรีย (Victoria) ของอังกฤษ ที่มีความงดงามอ่อนช้อย ส่วนคำว่า Secret ก็เพื่อสร้างความรู้สึกที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น พร้อมกับออกแบบร้านให้มีบรรยากาศชวนฝัน กระแสของ Victoria’s Secret ดีเกินคาด ลูกค้าผู้ชายสามารถเข้ามาเดินเลือกซื้อชุดชั้นในให้คนรักได้อย่างสบายใจ และด้วยแนวคิดแปลกใหม่นี้เองทำให้ยอดขายของร้านวิ่งฉิว จนเรย์มอนด์ต้องเพิ่มธุรกิจการสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์ ด้วยการจัดทำแคตาล็อกของ Victoria’s Secret ที่มีหญิงสาวสวมใส่ชุดชั้นในลูกไม้หรือชุดชั้นในผ้าไหมสุดเซ็กซี่มาเป็นแบบ ภายใน 5 ปี Victoria’s Secret ก็สามารถเปิดอีก 3 สาขาในซานฟรานซิสโก และในปี 1982 บริษัทของเรย์มอนด์ก็ทำรายได้ปีละ 4 ล้านเหรียญ ทุกอย่างเหมือนจะไปได้สวย แต่ Victoria’s Secret กลับใกล้ล้มละลาย เพราะ "คนซื้อไม่ได้ใส่ คนใส่ไม่ได้ซื้อ" ผู้ชายเป็นกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ก็จริง แต่ท้ายสุดผู้หญิงซึ่งเป็นผู้สวมใส่ก็อยากเลือกซื้อเองมากกว่าเพื่อจะได้ชิ้นที่ถูกใจและเหมาะกับตัวเองมากสุด ช่วงเวลาเดียวกัน เลสลี เว็กซ์เนอร์ (Leslie Wexner) นักธุรกิจผู้ก่อตั้ง The Limited ธุรกิจร้านจำหน่ายเสื้อผ้ากีฬาที่ได้รับความนิยมช่วงนั้น กำลังมองหาการลงทุนในแบรนด์ใหม่อยู่พอดี และขณะที่เขาอยู่ในช่วงเยี่ยมสาขาที่ซานฟรานซิสโก สายตาก็ไปเห็น Victoria’s Secret ซึ่งสำหรับเว็กซ์เนอร์แล้ว นี่คือชุดชั้นในที่เซ็กซี่ที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นในสหรัฐฯ เลยทีเดียว และทันทีทันใดนั้น เว็กซ์เนอร์ก็เห็นเช่นกันว่าสิ่งที่ขาดไปในธุรกิจของเรย์มอนด์ก็คือ การที่ Victoria’s Secret เน้นกลุ่มลูกค้าผู้ชาย ทำให้ล้มเหลวในการดึงดูดลูกค้าผู้หญิง ก็คงเหมือนกับสมัยก่อนตอนที่ผู้ชายเข้าไปซื้อชุดชั้นใน แล้วโดนพนักงานขายมองแปลกๆ เพียงแต่ตอนนี้กลับกันเป็นลูกค้าผู้หญิง เว็กซ์เนอร์เจรจาขอซื้อกิจการ Victoria’s Secret จากเรย์มอนด์ด้วยมูลค่า 1 ล้านเหรียญ จากนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของคนในสังคมโดยเฉพาะผู้หญิงว่า ชุดชั้นในสวยๆ ไม่ได้มีไว้สวมใส่เฉพาะช่วงเวลาพิเศษอย่างฮันนีมูน วันครบรอบแต่งงาน ฯลฯ เท่านั้น แต่สามารถสวมใส่ได้ทุกวันในราคาที่เข้าถึงได้ เว็กซ์เนอร์สามารถต่อลมหายใจให้แบรนด์ชุดชั้นในแสนเซ็กซี่นี้ได้สำเร็จ สะท้อนจากมูลค่ากิจการของ Victoria’s Secret ในปี 1995 ซึ่งอยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญ และมีสาขาทั่วสหรัฐฯ มากถึง 670 สาขา ธุรกิจที่เรย์มอนด์สร้างมา (แต่เปลี่ยนมือ) กำลังรุ่ง สวนทางกับกราฟชีวิตของเขาที่ดิ่งลงเรื่อยๆ หลังขาย Victoria’s Secret ให้เว็กซ์เนอร์ เรย์มอนด์ยังคงนั่งเก้าอี้ประธานให้แบรนด์อีก 1 ปี ก่อนออกมาปั้นธุรกิจใหม่ในชื่อ My Child’s Destiny ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าสำหรับเด็ก ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในซานฟรานซิสโก แต่ 2 ปีผ่านไป บริษัทก็ล้มละลายในปี 1986 เรย์มอนด์สูญเสียบ้านไป 2 หลัง รถยนต์อีกหลายคัน และสิ้นสุดชีวิตคู่กับภรรยาด้วยการหย่าขาด เดือนสิงหาคม ปี 1993 เรย์มอนด์ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดสะพานโกลเดน เกท ทิ้งความผิดหวังในชีวิตไว้เบื้องหลังตลอดกาล... ที่มา https://www.elitereaders.com/tragic-secret-of-victorias-secret/?cn-reloaded=1 http://time.com/4140242/victorias-secret-fashion-show-history/ https://www.cosmopolitan.com/style-beauty/fashion/a30475/the-history-of-sexiness-victorias-secret-catalog/ https://www.telegraph.co.uk/men/fashion-and-style/11261445/The-tragic-story-of-the-man-who-invented-Victorias-Secret.html ภาพ : gemabailonm [CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], from Wikimedia Commons และ WestportWiki [CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], from Wikimedia Commons