สาว สาว สาว: เรื่องราว 37 ปี กับคอนเสิร์ตรียูเนียนครั้งสำคัญที่ไม่ใช่แค่ฝัน

สาว สาว สาว: เรื่องราว 37 ปี กับคอนเสิร์ตรียูเนียนครั้งสำคัญที่ไม่ใช่แค่ฝัน

กว่าสมาชิก สาว สาว สาว คือ แอม - เสาวลักษณ์, ปุ้ม - อรวรรณ และ แหม่ม พัชริดา กลับมายืนอยู่บนเวทีเดียวกันได้ ใช้เวลาถึง 34 ปี นับจาก “คอนเสิร์ตใหญ่” ครั้งหลังสุดที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2527 ซึ่งวาระรียูเนียนนี้กลับมาเกิดขึ้นอีกเมื่อปี 2561

ไม่แน่ใจว่าจะมีศิลปินในประเทศคนไหน ที่แฟนเพลงเรียกร้องและรอคอยให้มีคอนเสิร์ตกันอย่างยาวนานได้เท่ากับศิลปิน “สาว สาว สาว” อีกไหม ?  

รอ...จนหลายคนเริ่มจะถอดใจ คิดว่าชีวิตนี้คงไม่ได้เห็นการรียูเนียนกันอีกแล้ว เพราะกว่าเวลาที่ “ฟ้าเปิด” ให้สมาชิกทั้ง 3 “แอม เสาวลักษณ์” “ปุ้ม อรวรรณ” และ “แหม่ม พัชริดา” ได้กลับมายืนอยู่บนเวทีเดียวกันได้ ก็ใช้เวลาล่วงเลยมาถึง 34 ปี (นับจาก “คอนเสิร์ตใหญ่” ครั้งล่าสุด ที่จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2527 ! )

และทันทีที่มีการประกาศออกไปว่า girl group รุ่นบุกเบิกในตำนาน กำลังจะกลับมารวมตัวแสดงคอนเสิร์ตใหญ่กันอีกครั้ง ด้วยพลังแห่งความคิดถึงของแฟนเพลงที่ล้นทะลัก จนผู้จัดต้องเพิ่มรอบการแสดง เกิดปรากฏการณ์บัตรทั้ง 15,000 ที่นั่ง Sold Out ล่วงหน้ากันหลายเดือน

จนกระทั่งวันที่แฟนเพลง “สาว สาว สาว” รอคอยได้มาถึง บรรยากาศก่อนประตูคอนเสิร์ตเปิด เต็มไปด้วยผู้ชมช่วงวัย 40 กว่า ๆ ไปจนถึงเกินเกษียณ ต่างรวมตัวมากันเป็นกลุ่มแก๊งขนาดใหญ่ ราวกับว่า Royal Paragon Hall กำลังจะมีงานเลี้ยงรุ่นขนาดใหญ่ในอีกไม่กี่อึดใจ

และทันทีที่คอนเสิร์ตเริ่มต้น ภาพบรรยากาศเก่า ๆ ได้ถูกฉายขึ้นมาอีกครั้ง ในกลิ่นอายของยุค 80’s คอนเสิร์ตเปิดตัวด้วยเพลงเอกของวงอย่าง “ประตูใจ” และ “รักคือฝันไป” คนดูทั้งฮอลล์ต่างลุกขึ้นโยกโบกไม้โบกมือตามจังหวะเพลงโดยไม่ต้องนัดหมาย ภาพศิลปินในดวงใจที่เห็นตรงหน้าพวกเขาได้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ โดยไม่ใช่ฝันไป  

การจัดคอนเสิร์ตสักหนึ่งงาน มีวิธีสร้างโชว์ได้มากมาย แต่กับ “คอนเสิร์ตสาวสาวสาว” ผู้จัดเลือกที่จะร้อยเรียงให้เป็นคอนเสิร์ตเล่าเรื่อง โดยเรียงลำดับตามลำดับเวลา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวง ไปจนถึงจุดที่ตัดสินใจยุบวง ลากยาวมาจนเส้นทางของแต่ละคนหลังจากไม่มีสาว สาว สาว อีกต่อไป

หลังจากโชว์เพลงเปิดและกล่าวทักทายแฟนเพลงให้หายคิดถึงกันไปแล้ว ศิลปินจึงเลือกเพลงจากอัลบัมแรก เมื่อปี 2525 อย่างเพลง “แพะยิ้ม” ที่ได้ชรัส เฟื่องอารมย์ มาเขียนเนื้อร้องให้ ท่ามกลางเพลงเนื้อหาหวานซึ้งในยุคนั้น การที่มีเพลงเนื้อร้องอย่าง “นางสาวน้อย สาวน้อยนั้นโดนแพะขวิด แน่นิ่งตายสนิท แพะเขาบิดเป็นฆาตกร…” ก็เป็นอะไรที่เซอร์เรียลอยู่ไม่น้อย

นอกจากในทาง script ที่นักร้องสนทนาบอกเล่าเรื่องราวกันเองแล้ว ในคอนเสิร์ตมีการนำ VTR สัมภาษณ์ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง หรือผู้ที่มีความทรงจำร่วมกับ “สาว สาว สาว” มาตัดสลับเข้ากับโชว์อยู่ตลอด และหนึ่งในผู้ที่สำคัญที่สุด ก็คือ คุณระย้า แห่งค่ายรถไฟดนตรี ผู้ให้กำเนิดศิลปินกลุ่มหญิงล้วน จากแนวคิดที่ว่าในสมัยนั้นตลาดวงการเพลงบ้านเรา ถ้าไม่ใช่เพลงลูกกรุงสำหรับผู้ใหญ่ ก็กระโดดมาเป็นเพลงสำหรับเด็กเล็กไปเลย ยังไม่มีพื้นที่สำหรับศิลปินวัยรุ่น อย่างที่เด็กรุ่นหลัง ๆ มีกามิกาเซ่ หรือจีจูเนียร์ ให้ตามเชียร์ตามกรี๊ดกัน 

หน้าแรกของตำนาน Girl Group กลุ่มนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจาก “แม่แดง ฉันทนา” และ “แม่เม้า สุดา” ที่เป็นนักร้องเพื่อนซี้พาลูกสาวของทั้งคู่ “แอม เสาวลักษณ์” และ “แหม่ม พัชริดา” ที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันมาให้คุณระย้าได้เจอหน้าค่าตา ซึ่งคุณระย้าบอกว่าสะดุดตาตั้งแต่ที่เห็นแอม ที่ตอนนั้นอายุแค่ 14 - 15 ปี สามารถเล่นกีต้าร์ได้คล่อง เป็นอะไรที่น่าทึ่งใน

สมัยนั้น “สาว สาว สาว” อาจจะมีแค่ 2 สาว ถ้าแม่แดงไม่ได้แนะนำหลานสาวอีกคนที่อยู่ต่างจังหวัดให้มาเจอคุณระย้า ที่พอได้เปล่งเสียงร้องเพลงออกมา เสียงหวานใสของ “ปุ้ม อรวรรณ” จึงสะกดให้คุณระย้ารวมเข้ามาอยู่ในกลุ่มจนเกิดเป็น 3 สาว ที่ในตอนแรกตั้งใจจะให้ชื่อกลุ่มว่า “สามใบเถา” ที่เผอิญไปตรงกับชื่อภาพยนตร์ที่กำลังเข้าโรงในตอนนั้น ทำให้ต้องมาหาชื่อกันใหม่ ทั้งแอม, แหม่ม, ปุ้ม บอกเราว่าก็ชื่อเข้าประกวดกันหลายชื่อเหมือนกัน บ้างเอาตัวย่อภาษาอังกฤษแต่ละคนมารวมกัน หรือแม้แต่เกือบจะเป็นชื่อ Girl Girl Girl แต่สุดท้าย ก็มาลงตัวที่ชื่อไทย เรียกง่าย และติดหูอย่าง “สาว สาว สาว” ที่นักร้องยอมรับว่าตอนแรกก็เขินกับชื่อเล็กน้อย

แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่ามันเป็นชื่อที่ timeless จริง ๆ ตัดกลับมาที่คอนเสิร์ต ศิลปินนำเข้าเมดเล่ย์เพลงฮิตจากอัลบัมชุดที่ 2 ที่ต้องบอกว่าเป็นอัลบัมนี้เอง ที่เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้พวกเธอดังเป็นพลุแตกจริง ๆ ถ้าไม่นับเพลงสนุกอย่าง ประตูใจ หรือ รักคือฝันไป ที่ร้องเป็นเพลงเปิดแล้ว ก็ยังมีเพลงฮิตอีกมากมาย ที่ความเจ๋งคือเป็นเพลงที่นักร้องแต่งกันเอง โดยอาศัยความ “มโน” ถึงความรักที่ยังไม่เคยมีกัน มาเขียนเป็นเพลงโดนใจวัยรุ่นยุคนั้นอย่าง “อยากลืม” , “มิอาจรัก”, “ด้วยแรงแห่งรัก” ด้วยเสียงที่หวานจับใจของนักร้องที่พาคนดูเข้าไปอยู่ในภวังค์ และด้วยความโด่งดังเป็นพลุแตกของ “สาว สาว สาว” ทำให้เกิดอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของ “รายการโลกดนตรี” ที่ในตอนแรกยังจัดกันภายในสตูดิโอห้องส่ง จุคนได้ไม่เกิน 700 คน

แต่พอถึงวันแสดงของ “สาว สาว สาว” มีแฟนเพลงแห่บุกกันเข้าไปนับหลายพันคน ถึงขนาดที่กระจกแตก ประตูพัง เป็นเหตุให้ต้องย้ายออกไปจัดรายการที่ลานโลกดนตรีนับแต่นั้นเป็นต้นมา (พลังโอตะช่างรุนแรงมาตั้งแต่ยุค 80’s !)

โชว์ในคอนเสิร์ตช่วงอัลบัมชุดที่ 3 ผู้จัดจึงจำลองยกเอาเวทีโลกดนตรีมาอยู่ใน Paragon Hall ขนมาตั้งแต่ title เข้ารายการจาก 72 Promotion ที่คุ้นตา และภาพ footage ของพิธีกรในความทรงจำ คุณเสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ มากล่าวนำเข้าโชว์ (เสียดายที่คุณเสกสรรค์จากพวกเราไปเมื่อหลายปีก่อน) “สาว สาว สาว” ออกมาในชุดสีพาสเทลสดใสแบบที่เราคุ้นตาในปกเทป ออกมาร้องเพลง “เป็นแฟนกันได้ยังไง” และ “บอกฉันว่าไง” เพลงจังหวะสนุก ๆ ในอัลบัมนี้  

อีกกิมมิคสนุก ๆ ของคอนเสิร์ตก็คือศิลปินยังเรียกทีมคอสตูมให้เดินเข้ามาเปลี่ยนเสื้อผ้ากันแบบ real time เสมือนตอนที่เปลี่ยนชุดกันโจ้ง ๆ เมื่อสมัยก่อนยังไงยังงั้น ก่อนที่ศิลปินจะร้องเพลงที่ “แอม เสาวลักษณ์” แต่งเอาไว้ อีกหนึ่ง surprise ก็คือ เราเพิ่งรู้ว่าเพลง broken home บาดใจอย่าง “ฟ้ากว้าง ทางไกล” ที่แอมเคยร้องเอาไว้ แท้จริงแล้ว แอมตั้งใจแต่งให้แหม่มเป็นคนร้อง แต่ด้วยวัยวุฒิในตอนนั้น ทำให้แหม่มอาจยังถ่ายทอดเนื้อหาเพลงได้ไม่สุด แอมจึงต้องเป็นคนนำไปร้อง

และคอนเสิร์ตนี้ก็เป็นครั้งแรกที่แหม่มจะได้ร้อง(เสียที) โดยแอมพูดติดตลกว่า วันนี้แหม่มโตพอที่จะร้องเพลงนี้แล้ว เรียกเสียงฮาจากคนดูได้ไม่น้อย โดยหลังจบโชว์เพลงนี้ เกิดเป็น moment ที่ทั้ง 3 คนไม่สามารถอดกลั้นความปลื้มใจต่อกันได้ ต่างโผเข้ากอดกัน เป็นภาพที่น่าประทับใจต่อความจริงใจของนักร้องที่มีต่อกันโดยที่ไม่ต้องพูดอะไรมากมาย

VTR ที่น่าสนใจในคอนเสิร์ต คือการสัมภาษณ์หนุ่ม ๆ ให้เล่าย้อนความทรงจำว่าในตอนนั้น “คุณโอชิ(ชอบ)ใครในสาว สาว สาว ?” โดยคนที่ป๊อปปูล่าร์ที่สุดก็คือพี่แหม่ม มีทั้งคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา, คุณชมพู ฟรุตตี้, คุณโอม ชาตรี ที่ต่างพากันโอชิ อีกอัลบัมที่น่าสนใจ ปักหมุดไว้ว่าเป็นอัลบัมที่ “สาว สาว สาว” ชอบมากที่สุด เพราะมีความเป็นตัวตนของทั้ง 3 อยู่มากที่สุด ในสไตล์เพลง folk song พร้อมไลน์ประสานที่จับใจคนฟังมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคืออัลบัมชุดที่ 6 “แมกไม้และสายธาร” บนเวทีคอนเสิร์ตยกเอาทุ่งหญ้ามาไว้เต็มเวที ทำให้นึกถึงปกอัลบัมขึ้นมาทันที “สาว สาว สาว”

โชว์เพลงในดวงใจของหลาย ๆ คน อาทิ “คืนใจ”, “ทุ่งอ้อ”, “อยากมีรัก” และต่อเนื่องที่อัลบัมเพลงสากล ที่หลายคนยกให้เป็นพาร์ตที่ชอบมากที่สุดพาร์ตหนึ่งในคอนเสิร์ต กับเพลงอย่าง “Because I love you”, “When we make a home” และ “Helplessly hoping” นักร้องเลือกอยากจะนำมาให้แฟนเพลงได้ฟังกันเป็นพิเศษ

หลังจากได้ฟังทั้ง 3 ร้องกันแล้ว ก็แทบนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจนถึงทุกวันนี้ จะมีศิลปินกลุ่มวงไหน ที่มีเส้นเสียงสอดรับกันอย่างละมุนหูได้อย่าง “สาว สาว สาว” ทำได้อีกไหม? อีกหนึ่งไฮไลต์ของคอนเสิร์ต ก็คือการจำลองภาพเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ “สาว สาว สาว” ได้ go inter เป็นตัวแทนศิลปินจากประเทศไทยไปโชว์ไกลถึงงาน Tokyo Music Festival เมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยยกเอาแบบเวทีคอนเสิร์ตจากงานนั้น มาสร้างใหม่ให้คนดูคอนเสิร์ตในวันนี้ได้ดูกันอีกครั้ง พร้อมทั้งเสื้อผ้า,หน้า,ผม ที่แต่งเต็มเก็บครบแทบทุกดีเทล แม้แต่ท่าเต้นที่น่าจะเป็นโชว์ที่ศิลปินฝึกซ้อมกันอย่างหนัก เพื่อเต้นให้เป๊ะเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนให้มากที่สุด กับเพลง “ฉันบอกเธอเอง” ซาวนด์ดนตรีสนุก ๆ ในยุคนั้น  

คอนเสิร์ตดำเนินมาถึงอัลบัมชุดสุดท้าย หลังจากที่กลับมาจากโชว์ในงาน Tokyo Music Festival พวกเธอได้ของขวัญสุดพิเศษกลับมาด้วย นั่นก็คือเพลง “Hana” ของคุณชินจิ ทานิมูระ (คนเดียวกับที่แต่งเพลง “Subaru” ที่หลายคนในยุคนั้นต้องรู้จัก) โดยพวกเธอนำเพลง Hana มาแต่งเป็นเนื้อเพลงไทยในชื่อว่า “ดอกไม้ของน้ำใจ” นั่นเอง และในคอนเสิร์ตครั้งนี้ พวกเธอนำมาขับร้องกันสด ๆ แบบไม่ต้องพึ่งเครื่องดนตรี สะกดคนฟังให้เต็มตื้นไปกับเพลงที่ถือว่าเป็นเพลงปิดฉากตำนาน “สาว สาว สาว” ลงอย่างงดงาม

แต่นั่นไม่ใช่โชว์สุดท้ายของคอนเสิร์ต เพราะในชีวิตจริงของพวกเธอก็ไม่ได้หยุดลงไปพร้อมกับชื่อ “สาว สาว สาว” เช่นกัน แต่ละคนก็ต่างมีเส้นทางชีวิตเป็นของตัวเอง หลังจากที่ “แอม” “แหม่ม” และ “ปุ้ม” ตัดสินใจยุติบทบาท Girl Group ของพวกเธอกันอย่างเป็นเอกฉันท์ พวกเธอก็ยังคงวนเวียนในเส้นทางวงการเพลงอย่างหนีไปไหนไม่ได้

โดยแรกเริ่มสิ่งที่พวกเธอชอบมากก็คือการเป็นคอรัสให้กับศิลปินมากมาย จนกระทั่งปุ้ม ได้เจอกับแจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ จึงได้มี solo album ออกมาคนแรก ในนามสกุลใหม่ “ปุ้ม ลีลา” มีเพลงสร้างชื่ออย่าง ป่านนี้ ก่อนจะแตกสาแหรกตระกูลเป็นลีลาคนที่ 2 นั่นก็คือ “ตั๊ก ศิริพร” ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้ “ตั๊ก” ถูกเลือกมาเป็นแขกรับเชิญคนแรก ร้องเพลงคู่กันในพาร์ตโชว์ของ “ปุ้ม อรวรรณ”

ด้าน “แหม่ม พัชริดา” ก็จับพลัดจับผลูมาที่ค่ายใหญ่อย่าง RS มีอัลบัมเดี่ยวในชื่อ “ผู้หญิงมีฝัน” โดยมีเพลง “ทิ้ง” ที่เธอนำเพลงจากวง Outsiders มา cover ใหม่ จนสร้างชื่อเสียงอีกครั้ง เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ศิลปินเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้แหม่มนำมาร้องให้เราได้ฟังกันในคอนเสิร์ตนี้ได้

ใครที่อยู่ในวันโชว์คงจะเห็นได้ว่าแค่อินโทรเพลงนี้ก็เรียกเสียงกรี๊ดจากคนดูได้ดังขนาดไหน ก่อนจะได้เสียงกรีดร้องจากคนดูแบบถล่มทลายกับแขกรับเชิญ ที่เป็นลูกศิษย์คนโปรดของเธอ นั่นก็คือ “แดน” และ “บีม” จาก D2B ที่เธอบอกว่าเห็นวิวัฒนาการของพวกเขามาตั้งแต่ Day One จนถึงทุกวันนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า D2B ก็คือ “สาว สาว สาว” ในแบบ boyband นั่นเอง

ศิลปินคนสุดท้าย “แอม เสาวลักษณ์” มาลงเอยอยู่ที่ค่ายเพลงย่านสุขุมวิท GRAMMY โดยเริ่มจากเป็นทีมนักแต่งเพลง แต่งเพลงดัง ๆ ให้หลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ไมโคร, ใหม่ เจริญปุระ, บิลลี่ โอแกน ฯลฯ

ทางค่ายจึงตัดสินใจปั้นเธอให้เป็นศิลปินเดี่ยว จากที่คิดว่าจะทำแค่อัลบัมเดียว แต่ภาพดอกไม้เหล็กของเธอ ก็ทำให้เธอยังโลดแล่นอยู่ในวงการเพลงมาจนถึงทุกวันนี้ คอนเสิร์ตวันนี้ เธอจึงเลือกเพลงแจ้งเกิดในฐานะดอกไม้เหล็ก อย่างเพลง “กดดัน” มาร้อง โดยได้ศิลปินรุ่นน้องที่มาในคอนเซ็ปต์ “ไม่มีใครในวงการเพลงตอนนี้ที่สาวไปกว่าพวกเขาแล้ว” อย่าง “เบน ชลาทิศ” และ “อ๊อฟ ปองศักดิ์” มาทำให้เพลงกดดันยิ่งทรงพลังขึ้นไปอีก

ก่อนจะทวิสต์คนดูด้วยเพลง “Fortune Cookkie” ของ girl group รุ่นล่าสุด BNK48 มาเรียกเสียงกรี๊ดกับสเต็ปสุดแบ๊วของ “แอม” “แหม่ม” “ปุ้ม” ก่อนจะอำลากันด้วยเมดเล่ย์เพลงฮิตที่ถูกนำมาใช้อีกครั้ง แต่ก็ยังสามารถดึงให้คนดูทุกที่นั่งลุกขึ้นเต้น โยกตัวกันแบบลืมวัยด้วยกันในเพลง “ประตูใจ” “รักคือฝันไป” “เราเป็นแฟนกันได้ยังไง” และ “Thank You”

ก่อนจะส่งคนดูกลับบ้านด้วยความประทับใจกับการได้ร่วมร้องเพลง “ดอกไม้ของน้ำใจ” ไปด้วยกันกับนักร้องที่รอคอยมานานกว่า 30 ปี

สิ่งที่ “สาว สาว สาว” ได้สร้างปรากฏการณ์เอาไว้ในวงการเพลงไทยหลายต่อหลายสิ่ง อย่างที่ยังไม่เคยมีศิลปิน Girl Group วงไหนทำได้มาก่อน พวกเธอนับเป็นผู้แผ้วถางวัฒนธรรม Pop ในบ้านเราอย่างแท้จริง

ถ้าจะมีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการเพลง... “แอม แหม่ม ปุ้ม” น่าจะถูกบันทึกไว้ว่าเป็นมารดาแห่ง Girl Group แห่งประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย “คือดอกไม้อันดีงาม คงอยู่ด้วยความสดใส”... ดอกไม้ที่ “สาว สาว สาว” ได้เพาะเมล็ดเอาเมื่อ 37 ปีที่แล้ว วันนี้ดอกไม้เหล่านั้นแพร่ขยาย ผลิดอกออกใบได้สวยที่สุด

เมื่อมันงอกงามขึ้นมาจากตะกอนความทรงจำที่เหมือนจะพร่าเลือนเมื่อกาลเวลาผ่านเลยไป จนเมื่อภาพและเสียงร้องจากทำนองเพลงที่เราเคยคุ้นได้ดังขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีปุ๋ยชั้นดีที่สุดที่เราเรียกมันว่า “ความคิดถึง”  

เรื่อง: itistist