‘จ่าเพียร ขาเหล็ก’ ตำรวจนักสู้ที่เสียชีวิตในหน้าที่ ก่อนได้ในสิ่งที่เรียกร้อง

‘จ่าเพียร ขาเหล็ก’ ตำรวจนักสู้ที่เสียชีวิตในหน้าที่ ก่อนได้ในสิ่งที่เรียกร้อง

‘จ่าเพียร ขาเหล็ก’ หรือ ‘สมเพียร เอกสมญา’ ตำรวจผู้ไร้ซึ่งการอุปถัมภ์ เสียชีวิตในหน้าที่ ก่อนได้ในสิ่งที่เรียกร้อง

  • ขณะมียศเป็นจ่าสิบตรี ‘สมเพียร เอกสมญา’ ได้เข้าปะทะกับกลุ่มก่อความไม่สงบที่ได้จับกุมตัวตำรวจพร้อมครอบครัวไปเรียกค่าไถ่ ทำให้เขาเกือบสูญเสียขาข้างซ้ายจนแทบพิการ 
  • หลังจาก พ.ต.อ.สมเพียร สิ้นชีพลง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้พิจารณาตอบแทนให้เลื่อนขั้น 7 ขั้นยศเป็น พลตำรวจเอก มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และมอบเงินสวัสดิการตำรวจที่จะช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจำนวนเงิน 3 ล้านบาท 

หากย้อนความทรงจำกลับไปกว่าทศวรรษ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ชื่อ ‘สมเพียร เอกสมญา’ นับเป็นหนึ่งในตำรวจน้ำดีของประเทศไทย จากการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ปลายด้ามขวาน 

อย่างไรก็ตาม กว่าที่เขาจะได้เลื่อนขั้นถึงยศสุดท้ายคือ ‘พลตำรวจเอก’ กลับต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย และความตาย จากการถูกซุ่มโจมตีด้วยการวางระเบิดรถยนต์ และยิงถล่มซ้ำด้วยอาวุธสงคราม ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 

โดยก่อนหน้านี้เขาได้พยายามเรียกร้องที่จะขอย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจะไปประจำการที่ สภ.กันตัง จ.ตรัง หวังที่จะได้ใช้ชีวิตปีสุดท้ายก่อนเกษียณใกล้ชิดกับภรรยาที่มีภูมิลำเนาที่นั่น แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด

บนหนทางแห่งการเป็นตำรวจผู้ไร้ซึ่งการอุปถัมภ์ นี่คือเส้นทางชีวิตของ พลตำรวจเอก สมเพียร เอกสมญา เจ้าของฉายา ‘จ่าเพียรขาเหล็ก นักสู้แห่งเทือกเขาบูโด’

ย้อนกลับไปในปี 2493 ที่จังหวัดสงขลา สมเพียร หรือ ‘เนี้ยบ แซ่เจ่ง’ เป็นบุตรคนที่ 4 จาก 10 คน ของนายโกว แซ่เจ่ง ชาวจีนไหหลำ กับนางไกร ชาวบ้านในจังหวัดสงขลา 

สมเพียร เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน โดยรายได้ในครอบครัวส่วนใหญ่มาจากการทำอาชีพกรีดยางพารา แต่แม้จะยากจนเพียงใด สมเพียรก็ยังได้ร่ำเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านวังใหญ่ ซึ่งเป็นโรงเรียนในหมู่บ้านของเขา แต่เมื่อจบประถมปีที่ 4 เขาก็ได้เดินทางไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์วัดในอำเภอเทพา อยู่กินใต้ชายคาวัด เลี้ยงปากท้องด้วยข้าวก้นบาตร หวังเรียนหนังสือต่อในชั้นเรียนที่สูงขึ้น

ไม่นาน สมเพียร แซ่เจ่ง ก็สามารถเรียนหนังสือจบชั้นมัธยมปลายได้ และเข้าสอบฝึกอบรมเป็นนักเรียนนายตำรวจ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการละทิ้งนามสกุลเดิมคือ ‘แซ่เจ่ง’ มาเป็น ‘เอกสมญา’ ซึ่งเป็นนามสกุลของเพื่อนบ้านแทน เนื่องจากนโยบายสมัยนั้นไม่อนุญาตให้รับคนที่ใช้แซ่เป็นสกุลเข้าศึกษา ทำให้ต่อมา ‘สมเพียร เอกสมญา’ จึงกลายเป็นนามของเขา 

เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จ.ยะลา เมื่อปี 2513 นับเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของเขา 

ในช่วงระหว่างปี 2513 - 2514 สมเพียร พลตำรวจหนุ่ม ได้ประจำการอยู่ที่บันนังสตา โดยเข้ารับราชการครั้งแรกในฐานะตำรวจชั้นประทวน ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้กำลังร้อนแรง เมื่อกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) เข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลมาเลเซีย นับตั้งแต่ปี 2512 และยังรวมถึงกลุ่มขบวนการเรียกร้องสิทธิแห่งดินแดนรัฐปัตตานี หรือที่ถูกคนไทยภาคกลางเรียกว่า ‘ขบวนการแบ่งแยกดินแดน’ ก็มีการเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน

หนังสือ วิถีตำรวจกล้า ‘จ่าเพียร’ โดย กองบรรณาธิการมติชน ได้มีการบันทึกคำให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.ต.ชม เพชรรัตน์ อดีตตำรวจรถไฟ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช หรืออีกสถานะหนึ่งคือ เพื่อนสนิทของพลตำรวจเอกสมเพียร ที่มาประจำอยู่ที่ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ในปี 2514 ซึ่งทำให้เขาได้กลับมาพบ ‘สมเพียร’ หรือ ‘ไอ้เพียร’ (คำเรียกติดปากของตำรวจชม) อีกครั้ง ภายหลังจากที่เรียนโรงเรียนนายตำรวจมาด้วยกัน 

โดย ร.ต.ต.ชม ได้เล่าว่า สมเพียร เวลานั้นเป็นรองหัวหน้าชุดปฏิบัติการ และมีนายดาบโม ถนอมพุทธา เป็นหัวหน้า ซึ่งทั้งชุดปฏิบัติการดังกล่าวมีด้วยกัน 11 คน แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้ดาบโมหัวหน้าได้สิ้นชีพลง 

จากนั้นนายตำรวจสมเพียร เอกสมญา จึงได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการแทนที่ และเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลาย ๆ กลุ่มด้วยกันหลายร้อยครั้ง ทั้งเคยถูกลอบยิง ลอบวางระเบิดได้รับบาดเจ็บอยู่หลายสิบครั้ง แต่ก็สามารถผ่านพ้นโพยภัยต่าง ๆ มาได้ ด้วยยุทธวิธีต่าง ๆ ที่เขาถูกฝึกฝนมา ซึ่งทำให้ฝ่ายตำรวจนำโดยสมเพียรสามารถเข้าจัดการหัวหน้ากลุ่มกองฝ่ายตรงข้ามรัฐกลุ่มต่าง ๆ ในเขตบันนังสตาได้สำเร็จ 

บทบาทหน้าที่ของนายตำรวจสมเพียร เอกสมญา ในตำแหน่งหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ‘ยูงทอง’ จึงเป็นชื่อลือเลื่องไปสามบ้านแปดบ้าน 

วีรกรรมสำคัญของเขาเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2519 สมเพียร เอกสมญา ขณะนั้นมียศเป็นจ่าสิบตรี ได้เข้าปะทะกับกลุ่มก่อความไม่สงบนำโดย นายลาเตะ เจาะปันตัง ที่ได้จับกุมตัวตำรวจพร้อมครอบครัวไปเรียกค่าไถ่ที่เทือกเขาเจาะปันตัง เขตอำเภอบันนังสตา ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากปะทะกันอย่างดุเดือด จ่าสิบตรีสมเพียร เกือบสูญเสียขาข้างซ้ายจนแทบพิการ 

หรือวีรกรรมต่อมาในปี 2526 ก็ได้มีการเปิดฉากยิงปะทะกับขบวนการก่อความไม่สงบ ของนายคอเดร์ แกแตะ กับพรรคพวกอีกกว่า 30 คน ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จนถูกยิงที่ต้นขาข้างขวากระสุนฝังใน 

นี่คือวีรกรรมอันโชกโชนที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงอันตราย ผลงานต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ จ่าสิบตรีสมเพียร หรือ จ่าเพียร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญมาลาเข้มกล้า จนทางกรมตำรวจได้ให้เข้าศึกษาหลักสูตรนายตำรวจเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องสอบ

แม้ผลงานนานัปการเหล่านี้จะเป็นเครื่องยืนยันถึงการเป็นตำรวจน้ำดี ที่มีใจกล้าหาญ แต่เส้นทางสายตำรวจของ ‘จ่าเพียร’ ซึ่งโดดเด่นจากการทำงานอย่างทุ่มเทเหล่านี้ ก็ย่อมไม่พ้นจะต้องมีศัตรูทางการเมือง หรือขั้วตรงข้ามที่ไม่ประทับใจจ่าเพียร ถึงขั้นมีการเดินขบวนขับไล่ให้จ่าเพียรออกจากพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นประจำการสถานีตำรวจภูธรโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา 

และยังมีอีกหลายครั้งที่จ่าเพียรถูกร้องเรียน จนได้รับแรงต่อต้านไม่ให้กลับมาทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้ในห้วงเวลานี้จ่าเพียรจึงได้เข้าช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพฯ แต่เมื่อพ้นข้อกล่าวหา จ่าเพียรจึงได้กลับไปเป็น รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ในปี 2546    

อย่างไรก็ตามชีวิตของจ่าเพียรก็คงไม่อาจก้าวข้ามพื้นที่ในเขตชายแดนใต้ได้ เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศหาผู้สมัครใจลงปฏิบัติงานในพื้นที่สีแดง ซึ่งแน่นอน จ่าเพียรย่อมต้องกระโจนเข้ามาทำงานดังกล่าวด้วยความชำนาญในพื้นที่ โดยในปี 2550 จ่าเพียรได้ติดยศเป็น พันตำรวจเอก ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อ.บันนังสตา จ.ยะลา และเริ่มดำเนินการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ด้วยยุทธสงครามแบบจรยุทธ์ พร้อมกับคำพูดปลุกใจกำนัน - ผู้ใหญ่ในพื้นที่ว่า 

“ผู้ใหญ่ กำนัน กินเบี้ยรัฐบาลไทย ไม่ทำงานบ้างหรือ โจรครองเมืองหมดแล้ว ไปบอกมันด้วยว่า จ่าเพียรกลับมาแล้ว”

จึงเกิดการร่วมมือกันของคนในพื้นที่กับจ่าเพียร ในการทำงานร่วมกันเข้าสกัดกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลาย ๆ กลุ่ม แต่ความมุ่งมั่นในหน้าที่การงานของเขาที่เหมือนกับ ‘ฮีโร่’ การทำงานหามรุ่งหามค่ำกว่า 40 ปีที่รับราชการ ทำให้จ่าเพียรกับลูกน้อง และคนในพื้นที่สนิทสนมกันอย่างมาก แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือการสูญเสียเวลาที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวของเขา

ไม่นาน พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ด้วยอายุ 59 ปี ใกล้เกษียณ จึงได้ทำเรื่องขอโยกย้ายไปประจำการที่ สภ.กันตัง บ้านภรรยาของเขาที่จังหวัดตรัง ซึ่งมีที่ว่างหลายตำแหน่งน่าจะพอให้เขาสามารถไปประจำการที่นั่นได้ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวระบบปัญหาของการเลื่อนขั้นโยกย้ายในแวดวงการสีกากีก็มีกลิ่นแปลก ๆ แบบเดิม ทำให้

ในเวลาต่อมาคำร้องขอของจ่าเพียรไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ตำรวจเฒ่าหัวใจนักรบ จึงเดินหน้ามุ่งตรงจากแดนใต้เข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 กรณีที่ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโผแต่งตั้งโยกย้าย พร้อมจ่าหน้าซองด้วยน้ำตาของนักรบแห่งแดนใต้

จ่าเพียรได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่มาสัมภาษณ์ด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำการติดต่อกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา (สบ.10) ว่า จะขอไปประจำการที่ สภ.กันตัง ก่อนเกษียน ซึ่งก็ได้รับคำรับปากอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะจัดการให้ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ การโยกย้ายโผตำรวจในครั้งนั้น พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ถึงกับพูดประโยคสุดสะท้อนแวดวงตำรวจที่ว่า

“การแต่งตั้งครั้งนี้เป็นการแต่งตั้งครั้งที่เลวร้ายที่สุด ที่พูดผมไม่กลัว เพราะไม่มีอะไรจะสูญเสีย ไม่มีการแต่งตั้งตำรวจครั้งไหนที่แย่เท่าครั้งนี้อีกแล้ว”

สิ่งนี้คงเป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงของวงการผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของประเทศไทยอย่างเด่นชัด 

ภายหลังกลับจากศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ เพียง 17 วัน พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ก็ถูกซุ่มโจมตีโดยกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 และเสียชีวิตลงในที่สุด

หลังจาก พ.ต.อ.สมเพียร ได้สิ้นชีพลง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้พิจารณาตอบแทนให้เลื่อนขั้น 7 ขั้นยศเป็น พลตำรวจเอก ในวันที่ 13 มีนาคม มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และมอบเงินสวัสดิการตำรวจที่จะช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจำนวนเงิน 3 ล้านบาท พร้อมดูแลการศึกษาของทายาทจนจบระดับปริญญาตรี หรือการรับเข้าทำงานราชการตำรวจต่อไป 

นับเป็นการปิดฉากตำรวจน้ำดีคนหนึ่งของเมืองไทยไปตลอดกาล สะท้อนภาพเส้นทางการต่อสู้ในหน้าที่การงานวิชาชีพตำรวจที่รักในหน้าที่การงาน จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต แต่อีกแง่มุมหนึ่งก็ถูกแทรกซ้อนด้วยพิษภัยของระบบอุปถัมภ์ในแวดวงการสีกากี จนทำให้ตำรวจน้ำดีคนหนึ่งไม่ได้รับความชอบธรรมจากระบบปัญหาภายในที่เกิดขึ้น 

นี่คงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่น่าจะช่วยผลักดันให้สังคมไทยโดยเฉพาะตำรวจ ตระหนักได้ว่า การเดินบนหนทางไร้การอุปถัมภ์นั้น แม้อาจไม่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจกลับมาคือ การยอมรับจากประชาชนโดยทั่วไปในฐานะ ‘ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์’ ของพวกเขา

 

เรื่อง: จงเจริญ ขันทอง

ภาพ: Nation Photo 

อ้างอิง:

mgronline

isranews

dailynews

dailynews

sarakadee

wikipedia

หนังสือ วิถีตำรวจกล้า ‘จ่าเพียร’ โดย กองบรรณาธิการมติชน สำนักพิมพ์มติชน