คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด

คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด

คุยกับสองข้าราชการ สังกัดกรุงเทพมหานคร ผู้เลือกที่จะเปิดเผยความเป็นตัวของตัวเองออกสู่สาธารณะ หลังจาก กทม. อนุญาตให้ข้าราชการสามารถแต่งกายตามเพศวิถีได้อย่างอิสระ จนนำมาสู่การค้นพบความสุขในการดูแลประชาชน

  • หลังจาก กทม. อนุญาตให้ข้าราชการในสังกัดสามารถแต่งกายตามเพศวิถีได้ ข้าราชการหลายรายเริ่มออกมาเปิดเผยความเป็นตัวเองมากขึ้น
  • หนึ่งในนั้นคือ ‘ครูอิสซี่ - กันตพัฒน์ สุวรรณเรือง’ คุณครูจากโรงเรียนวัดปทุมวนาราม และ กอล์ฟ ข้าราชการ สังกัดกรุงเทพมหานคร
  • แม้ทั้งคู่สามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ แต่สิ่งที่พวกเธอให้ความสำคัญอยู่เสมอ คือ การทำหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างสุดความสามารถ

เพราะการเปิดกว้างในการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ ทำให้ปัจจุบันมีหลายองค์กรเปิดกว้างให้คนในองค์กรสามารถแต่งกายได้ตามเพศวิถี ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายในมิติอื่นของสังคม ไม่เว้นกระทั่งข้าราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร 

“ทั่วโลกยอมรับเรื่องความหลากหลายกันแล้ว ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา โลกไม่ใช่ศูนย์กับหนึ่ง ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ ผมคิดว่ามันมีสเปกตรัม มีเฉดสีที่แตกต่างกัน ผมมองว่ามันคือความสวยงามด้วยซ้ำ” - ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงาน Samyan Mitr Pride 100% Love เพราะความรักมีหลากหลาย ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

นี่ไม่ใช่ถ้อยแถลงที่ผู้ว่าฯ กล่าวออกมาอย่างเลื่อนลอย เพราะทันทีที่มีคำสั่งให้ข้าราชการสามารถแต่งกายตามเพศวิถี โดยเริ่มจากในส่วนของข้าราชการ กทม. ก่อน ก็มีข้าราชการน้อยใหญ่ต่างออกมาแสดงความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ แม้จะมีบางส่วนที่พยายามปกปิดอัตลักษณ์ความเป็นตัวเองเอาไว้ในมุมเล็ก ๆ ก็ตาม

แต่ไม่ว่าการตัดสินใจของพวกเขาจะเป็นอย่างไร The People เชื่อว่าทุกคนย่อมมีเหตุผลเป็นของตัวเอง ซึ่งครั้งนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ครูอิสซี่ - กันตพัฒน์ สุวรรณเรือง’ คุณครูจากโรงเรียนวัดปทุมวนาราม และ กอล์ฟ ข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ขอไม่เปิดเผยชื่อ) สองข้าราชการ ผู้เลือกที่จะเปิดเผยความเป็นตัวของตัวเองให้สังคมรับรู้ว่าการทำงานของพวกเธอก็ไม่ด้อยไปกว่าใคร หากเลือกทำตามความชอบของตัวเอง

เพราะพวกเธอเชื่อว่า ร่างกายและจิตวิญญาณความเป็นข้าราชการจะเปล่งประกายเฉดสีอันงดงามที่สุดหากได้ทำตามใจปรารถนา

คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด

อคติทางเพศกับการพิสูจน์ตัวตนจนเป็นที่ยอมรับ

คำว่ากะเทย บางทีมันก็เจ็บปวดนะ...

“แล้วเราไม่ใช่คนคนหนึ่งเหรอ พอมีคำว่า LGBTQ+ มันก็ดี มันทำให้นิยามมันกว้างขึ้น อย่างครูจะใช้คำว่ากึ่งสตรี เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าคำนี้มันหมายความว่าอย่างไร เพราะเราไม่อยากเป็นผู้ชาย แต่เราจะคอนโทรลทุกอย่างให้สง่างามที่สุด”

‘ครูอิสซี่ - กันตพัฒน์ สุวรรณเรือง’ คุณครูสอนวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โรงเรียนวัดปทุมวนาราม บอกถึงความอึดอัดใจที่ทั้งชีวิตมีคำว่า ‘กะเทย’ ติดตัวมาตั้งแต่จำความได้ แต่เพราะโลกที่เปิดกว้างและนโยบายของทางกรุงเทพมหานคร ทำให้เธอสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่โดยไม่รู้สึกผิดบาปหรือตะขิดตะขวงใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น

เธอเริ่มรู้ตัวว่ามีความชื่นชอบความงามของร่างกายผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก อาจเป็นเพราะเติบโตมากับน้าผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เธอมองเห็นโลกในแบบที่แตกต่างกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน เธอภูมิใจในตัวน้าสาว ขณะเดียวกันก็ภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างอิสระกับครอบครัวที่ยอมรับในตัวตนของเธอ

“เราเป็นลูกข้าราชการ เป็นลูกครู แล้วเราก็ชอบทำกิจกรรมโรงเรียนมาโดยตลอด แต่พอช่วงประถมศึกษาตอนปลาย เราก็เริ่มสนใจความสวยความงามมากขึ้น อย่างตอนนั้นคุณครูนาฏศิลป์เขาเผลอ เราก็แอบไปใส่รองเท้าคัชชูคุณครูใส่เดินเล่น ๆ คุณครูเขาเห็นเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร

“ก็เลยน่าจะเป็นช่วงนั้นที่เริ่มรับรู้แล้วว่าตัวเองไม่เหมือนกับเด็กผู้ชายคนอื่น นิ้วเรา ท่าเดินเรา ญาติ ๆ เขาก็เห็นกัน แต่ก็ไม่ได้อะไร แต่คุณพ่อบอกว่าไม่ได้ เขารับไม่ได้ ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อนต้องยอมรับว่าเขาไม่ได้ยอมรับกันง่าย ๆ คุณพ่อก็ทำทุกวิถีทาง ห้ามเล่นกีฬาทุกชนิดที่เป็นกีฬาของผู้หญิง เช่น วอลเลย์บอล เราเล่นไม่ได้เลย แต่เราก็ยังแอบเล่นอยู่ดีนะ” (หัวเราะ)

คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด ประสบการณ์ที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นกับ ‘กอล์ฟ - ข้าราชการกรุงเทพมหานคร’ เช่นเดียวกัน แต่โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ ‘ตัวตน’ ของลูกคนเดียวคนนี้อย่างเต็มหัวใจ แม้จะเกิดมาเป็นลูกตำรวจ มีพ่อผู้เข้มงวดและยกให้ความมาดแมนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตลูกผู้ชาย

โชคดีที่แม่มองเห็นความอ่อนหวานของกอล์ฟมาตั้งแต่แรกเกิด เพราะทุกครั้งที่เลือกซื้อของ ผู้เป็นแม่มักจะเลือกซื้อของเด็กผู้หญิงมาให้ลูกชายอย่างเขาอยู่เสมอ จึงเป็นที่มาว่าทำไมข้าราชการกรุงเทพมหานครคนนี้ ถึงรู้ตัวตนที่แท้จริงของเธอมาตั้งแต่แรกว่า... ชีวิตของเธอเกิดมาเพื่อเป็นอะไร

และเธอก็เลือกทำตามเสียงเรียกร้องภายในจิตใจที่ดังก้องมาโดยตลอด จนเป็นที่มาของการตัดสินใจขออนุญาตครอบครัวผ่าตัดแปลงเพศตั้งแต่อายุ 18 แต่เพราะกฎหมายทำให้เธอต้องรอไปอีก 2 ปี เพื่อเปลี่ยนเป็นหญิง

“พอเราอยู่ช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยความที่เพศสภาพของเราเป็นชาย แต่ในใจจริง ๆ เรารู้อยู่แล้วว่าเราเป็นผู้หญิง ก็เลยเดินไปบอกแม่ว่าลูกตัวเองจะขอไม่เป็นผู้ชายแล้วนะ จะขอเป็นผู้หญิงเต็มตัว แต่มันติดปัญหาตรงที่ หมอให้ผ่าตัดแปลงเพศตอนอายุ 20 ปี ถึงแม้ว่าทางบ้านจะอนุญาตแล้ว เราก็ต้องรอ”

ตั้งแต่อายุ 20 จนถึงปัจจุบัน กอล์ฟก็ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงมาโดยตลอด โดยมีครอบครัวคอยให้การสนับสนุนไม่ห่างกาย แม้ว่าในช่วงแรกที่ตัดสินใจขอผ่าตัดแปลงเพศ จะโดนพ่อเรียกเข้าไปคุยปรับความเข้าใจอยู่บ้างก็ตาม แต่สุดท้ายก็ยอมโอนอ่อนและอนุญาตให้ลูกใช้ชีวิตตามใจฝัน

หากจะมองว่าชีวิตของกอล์ฟรายล้อมด้วยผู้คนที่เข้าใจความเป็นเธอมาโดยตลอดก็คงไม่ผิดนัก แต่ใช่ว่าเธอจะนิ่งเฉยหากเจอคนที่โดนรังแก หรือกลัวที่จะเปิดเผยถึงสิ่งที่พวกเขาเป็นต่อสาธารณะ

“เพื่อน ๆ ของเราบางคนเขาไม่กล้าไปสมัครงานบริษัทเอกชน เพราะกลัวเขาไม่รับ หลายคนเลยเปลี่ยนไปค้าขายแทน แต่เราก็คอยให้กำลังใจตลอดว่า ไม่ต้องกลัว ถึงจะเป็น transgender แต่ก็สามารถทำงานได้เหมือนคนอื่น ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองดู

“แล้วหลังจากนั้น เขาก็กล้าที่จะไปสมัครงานบริษัทเอกชน ทุกวันนี้เขาก็ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน เราอยากให้ทุกคนกล้าที่จะลองทำ อย่าเพิ่งกลัวว่าเขาจะไม่ยอมรับในความเป็นเรา”

คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด

ความสุขที่ได้เป็นตัวของตัวเอง

กว่าทั้งสองข้าราชการ สังกัดกรุงเทพมหานคร จะเปิดเผยความเป็นตัวเองได้อย่างภาคภูมิ ทั้งคู่ผ่านด่านทดสอบมาไม่น้อย โดยเฉพาะครูอิสซี่ คุณครูผู้ทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติมาไม่ต่ำกว่า 11 ปี แต่ประสบการณ์เลวร้ายในอดีตยังคงตามหลอกหลอนเธออยู่ตลอดเวลา

“ตอนเราเรียนจบใหม่ ๆ สมัครไปทำงานพาร์ตไทม์ customer service คอยรับรถ เราก็รับทุกคันปกติ แต่ว่ามีคุณลุงคนหนึ่งเขาบอกว่า ‘ไม่เอา ไปไกล ๆ เลยกะเทย’ เราก็หน้าชา หลังจากนั้นเราก็เริ่มระวังตัวเองมากขึ้นในการเข้าหาทุกคน

“แม้แต่ทุกวันนี้ เราก็ยังระวังตัวอยู่ อย่างเวลาท่าน ผอ.รุจิรา อารินทร์ (ผอ.เขตดุสิต) เขาจะส่งเราไปเป็นวิทยากรที่ไหน เราก็จะถามเขาตลอดว่า ท่านโอเคใช่ไหมที่จะส่งเราไป ซึ่งท่านก็ตอบว่าโอเค อาจเป็นเพราะท่านเป็นคนบอกให้เราแต่งเป็นหญิงได้เลย”

คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด “ท่านถึงขนาดเอาเรื่องเข้าที่ประชุม ให้ทุกคนบันทึกเลยนะว่า ท่าน ผอ. สั่งให้อิสแต่งกายเป็นหญิง เพราะว่ากลัวเด็กเขาสับสน เราเองก็ทำหน้าอก ไว้ผมยาว รูปลักษณ์เราก็เหมือนผู้หญิงหมดแล้ว ก็เลยมองว่าตัวเองค่อนข้างโชคดีกว่าคนอื่นที่สามารถแต่งตัวเป็นตัวของตัวเองได้”

แม้จะได้รับอนุญาตให้แต่งกายตามเพศวิถี แต่เธอก็ยังคงรักษากฎระเบียบอย่างเคร่งครัดไม่ผิดแผกไปจากมาตรฐานข้าราชการชั้นดี

“พอเราได้รับโอกาสให้แต่งกายตามเพศวิถี เราจะให้ใครเขามาว่าไม่ได้ ครูอิสจะทำให้ทุกคนเห็นว่าการแต่งกายช่วยให้เราสง่างามได้มากขนาดไหน เพราะกว่าจะได้รับโอกาสตรงนี้ เรารอมานานมาก เราเลยไม่อยากให้ใครมาว่าได้ อย่างผมของครูอิสจะมวยต่ำ เก็บเรียบร้อย ไม่มีปอยหวาน นี่คือมาตรฐานของครูในทุกวัน

“และที่สำคัญคือ คุณภาพการสอนเด็ก การดูแลเขา และการให้คำแนะนำเด็ก ๆ ตรงนี้ ครูอิสให้ความสำคัญมาก อะไรที่สามารถตอบแทนระบบราชการได้ ครูอิสจะทำ”

คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด ส่วน กอล์ฟ ไม่ได้มีประสบการณ์ที่สร้างความชอกช้ำเท่าครูอิสซี่ แต่เธอเข้าใจดีว่าการโดนเลือกปฏิบัติเป็นอย่างไร และยิ่งเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า หากเราไม่สามารถเป็นหญิงได้ตามใจต้องการ ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้คงหดหู่ไม่น้อย

“เราว่าทั่วโลกเขาให้ความสำคัญต่อ LGBTQ+ มากขึ้น ถึงแม้หลายคนจะมองว่าเราเรียกร้องเกินกว่าเหตุ แต่คุณไม่เข้าใจหรอกว่านี่คือสิทธิความเท่าเทียม ที่ทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเกิดมามีเพศสภาพใดก็ตาม เราอยากให้สังคมมองว่า เราคือเรา ไม่ใช่คนที่แปลกแยก เราก็คือมนุษย์คนหนึ่ง”

“เรากินข้าวเหมือนกัน หายใจอากาศเดียวกัน ใช้ชีวิตเหมือนกันทุก ๆ อย่าง ดังนั้น เราก็อยากให้สังคมมองที่เราว่าเราก็คือคนคนหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง”

คิดว่าการแต่งกายตามเพศวิถีของเรา มีความสำคัญขนาดไหนในการทำงาน - เราถามทั้งคู่ “สำคัญ แต่ว่าบางทีก็ต้องลด เพราะว่าสาวประเภทสองชอบมีอารมณ์สวิง” (หัวเราะ) ครูอิสซี่ตอบ กอล์ฟเองก็เห็นด้วยว่าการแต่งกายส่งผลต่อการทำงานจริง ๆ

“การเป็นตัวของตัวเองสำคัญนะ เราปรารถนาที่จะเป็นอะไร เราก็ทำตามที่เราปรารถนาไปเลย เรามองแบบนี้มาโดยตลอด เพราะการไม่เป็นตัวของตัวเองมันไม่มีความสุข

“อย่างช่วงที่ทาง กทม. เขาเรียกให้มาสัมภาษณ์ตอนปี พ.ศ. 2560 เราก็กังวลนะ ว่าเขาจะรับเราได้ไหม แต่เราก็แต่งหญิงไปเลย โชคดีที่เจอผู้บริหารที่ทันโลก ท่าน ผอ. อำภา นรนาถตระกูล เขาก็เรียกเราเข้าไปคุย บอกให้เราแต่งตัวตามที่เราเป็นได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

“จนได้เข้ามาทำงาน เลยไม่เจอช่วงไหนที่ขัดต่อธรรมชาติ ขัดต่อความเป็นเรา แม้ว่าการแต่งกายตามเพศวิถีจะไม่ได้เพิ่มศักยภาพหรือประสิทธิภาพในการทำงานสักเท่าไร แต่มันเป็นการเพิ่มความสุขในการทำงาน เมื่อเรามีความสุขที่จะทำ เราก็จะมอบสิ่งดี ๆ กลับคืนสู่ประชาชน ซึ่งผลงานที่ผ่านในอดีตของเราก็ทำให้เห็นแล้วว่า ความสุขช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้จริง”

คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด

ราชการ = พื้นที่แห่งความหลากหลาย

“ข้าราชการถือเป็นความฝันสูงสุดของเราเลยนะ แม้ว่าเราจะเป็น transgender ที่อยากทำงานในองค์กรข้าราชการ ที่ที่ใครหลายคนก็คงเข้าใจว่ามีความอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง แต่เราว่าสิ่งที่เราทำ ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ว่าเพศไหนทุกคนก็สามารถทำงานออกมาได้ดีไม่ต่างกัน”

แม้กอล์ฟจะบอกว่าข้าราชการจะเป็นความฝันสูงสุดของเธอ แต่เธอก็กลัวทุกครั้งที่ลงสนามสอบแข่งขัน เพราะหากผ่านด่านนี้ไปได้ อีกด่านที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือการสอบสัมภาษณ์

“เรากังวลก็จริง แต่พอมองกลับมาที่ตัวเอง เราเชื่อมั่นในการกระทำของเรา ก็ฮึบสู้บอกกับตัวเองบ่อย ๆ ว่าไหน ๆ ก็เปิดเผยมาตั้งแต่ต้นแล้ว ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลับไปเป็นผู้ชายคงจะฝืนธรรมชาติเกินไป ดังนั้นเราต้องเดินหน้าต่อ เพื่อเป้าหมายและอนาคตของเราเอง”

คำแรกที่กอล์ฟได้ยินจาก ‘ว่าที่’ เพื่อนร่วมงานสังกัดกรุงเทพมหานครคือ ‘ยินดีต้อนรับ’ คำสั้น ๆ แต่กลับทำให้หัวใจของเธอรู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาด นี่คือความประทับใจแรกที่เธอได้รับจากชีวิตข้าราชการ

คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด ครูอิสซี่ ข้าราชการกึ่งสตรี ได้กล่าวเสริมว่า การเป็นกึ่งสตรี กะเทย ทอม หรือว่าอะไรก็ตามแต่ ทุกคนต่างต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเอง และเธอไม่เคยนึกเสียใจเลยแม้แต่วินาทีเดียว ที่เลือกอาชีพข้าราชการ

“เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเรามีความสามารถมากพอนะ งานอะไรที่เราทำให้สังคมได้ ทำให้โรงเรียนได้ ต้องทำ ต้องเสนอตัว แล้วต้องทำออกมาให้มีคุณภาพด้วย เพราะว่าเราไม่รู้ว่าอนาคตกฎระเบียบมันจะเปลี่ยนไปไหม นี่คือวิธีคิดของเรา”

“เราอยากให้ทุกคนเห็นว่าความเป็นเรามันสง่างามจริง ๆ นะ แล้วเรานี่แหละที่จะเป็นคนสร้างประโยชน์ มอบอะไรบางอย่างกลับคืนสู่สังคม แล้วเดี๋ยววันหนึ่งเราจะอยู่ในจุดที่ทุกคนยอมรับ โดยมองข้ามไปเลยว่าเราเป็นเพศอะไร”

แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันได้ปูทางเอาไว้ แต่เราเชื่อว่าในอนาคตไม่ใช่เฉพาะข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่สามารถแต่งกายตามเพศวิถีได้อย่างอิสระ หากแต่เป็นคนไทยทุกคนสามารถ ‘เลือก’ ที่จะใช้ชีวิตได้ตามใจนึก โดยไม่ต้องรู้สึกละอายหรือว่าผิดบาปในทางที่เราเลือก

เพราะทุกคนจะเปล่งประกายมากที่สุด หากเราได้เป็นตัวของตัวเอง

คุยกับข้าราชการ กทม. ผู้แต่งกายตามเพศวิถี เพราะการเป็นตัวของตัวเองทำให้เรางดงามที่สุด