10 ก.ค. 2566 | 19:30 น.
เพื่อเป็นการยืนยันว่าชีวิตทางจิตวิญญาณของคนเรา ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามครรลองของสถาบันศาสนาเสมอไป แต่มีความเป็นไปได้ของความเข้าใจและสัมผัสรับรู้เรื่องราวที่นอกเหนือไปจากประสาทสัมผัสทั้งห้าและตรรกะเหตุผลที่เราคุ้นชินกัน
หากเล่าถึงภูมิหลังของ อันธิฌา แสงชัย วัย 46 ปี เธอเกิดและเติบโตที่เชียงใหม่ เป็นลูกหลานคนชาติพันธุ์ชาวไทยลื้อ เธอเป็นเด็กเนิร์ด เป็นนักเรียนทุน เป็นศิลปิน เรียนจบปริญญาเอกด้านปรัชญาและศาสนา เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นแม่ของลูก เป็นไบเซ็กชวล เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ฯลฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ชีวิตในบทตอนนี้เธอพบว่าตนเองเป็น ‘แม่มด’ และเป็น ‘นักพลังงานบำบัด’
โดยปัจจุบันเธอทำงานประจำอยู่ที่ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ (Well-being center) คณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาสุขภาพใจและจิตวิญญาณของนักศึกษาและบุคลากรในคณะ
ด้านบทบาทส่วนตัว เธอเป็นนักพลังงานบำบัด ศิลปะบำบัด ผู้ให้คำปรึกษา จัดอบรมสร้างพื้นที่ปลอดภัยในวงแม่มด และอำนวยให้เกิดพิธีกรรมในงานต่าง ๆ และไม่นานมานี้เธอกลับไปร่วมเขียนและทำงานวิชาการที่มีมิติทางจิตวิญญาณด้วย
“เราคิดว่ามันเป็นมุมมืดที่คนไม่กล้าพูดถึงการเดินทางทางจิตวิญญาณของตัวเอง เพื่อนก็ถามว่าแกจะพูดว่าเป็นแม่มดไปทำไม ในเมื่อแกจบดอกเตอร์ พูดในหมวกนักวิชาการก็ได้ แต่เราคิดว่าการบอกว่าตัวเองเป็นแม่มด มันไม่ต่างกับการที่เรา Come out ว่าเป็นไบเซ็กชวลเลย ฉะนั้นเรามองว่ามันเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่มันเป็นการเมืองทางจิตวิญญาณ เราดึงแหล่งอำนาจที่เรามีมาใช้ได้เพื่อยืนยันว่าการเดินทางทางจิตวิญญาณแบบนี้มีคุณค่า มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ผิดบาป”
เธอเริ่มเดินเส้นทางนี้จากการบำบัดรักษาอาการแพนิก (Panic Attacks) ของตนเอง ซึ่งสั่งสมจากความเครียดในงานนักกิจกรรมด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสามจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการทำงานศิลปะบำบัดในสาขามนุษยปรัชญา คริสตัลบำบัด พลังงานบำบัด เธอเรียนทั้งจากครูมนุษย์ เพื่อน และเรียนรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งเรียนรู้จากครูที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งได้แก่ธรรมชาติ ฤดูกาล และดวงจิตที่มีเจตจำนงเดียวกัน เมื่อถึงจุดที่เชื่อมโยงทางพลังงานและเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งก็สำนึกว่าตนเองเป็นแม่มด
อย่างไรก็ดี การออกมาประกาศว่าเป็นแม่มดนั้นไม่ง่าย เธอจำได้ดีว่าครั้งแรกที่เธอประกาศตนว่าเป็นแม่มดนั้นเกิดขึ้นในวงนักกิจกรรมด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้ง ๆ ที่เป็นวงปิดที่เต็มไปด้วยเพื่อนที่สนิทชิดเชื้อกัน แต่เธอกลับพูดไปสั่นไป กลัวว่าจะถูกหาว่าเป็นบ้า และหลังจากวงวันนั้นมีเพื่อน 2 - 3 คนมาคุยด้วยน้ำตาว่าฉันก็เป็นเหมือนเธอ แต่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเลย เหมือนกับตอนที่เป็น LGBT แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะบอกให้ใครฟัง บางคนแม้มีศักยภาพทางจิตที่รับรู้ได้ก็ไม่กล้าเชื่อในตัวเอง เธอจึงเห็นว่านี่เป็นงานที่เธอต้องทำ
“พี่ต้องการส่งสัญญาณว่า เราทุกคนมีความศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตเราศักดิ์สิทธิ์ เราเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยตัวของเราเอง อย่าไปกลัวที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ อย่ากลัวที่จะสัมผัสความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ปัญหาหลักของศาสนาจารีตที่เป็นอยู่ตอนนี้คือการทำลายความเชื่อมั่นของเรา บอกว่าเราบาป เราบกพร่องอยู่ตลอดเวลา เราเล็กน้อยเหลือเกิน เราต้องพยายามปฏิบัติตัวให้ดี แต่การเดินทางและเติบโตทางจิตวิญญาณ เราจะเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่ตัวตนของเราจะเล็กลง เราเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ของสิ่งที่ใหญ่กว่า เหมือนอวัยวะและเซลล์ต่าง ๆ เขาเล็กแต่เขาสำคัญ เราเคารพและขอบคุณที่เขาทำงานของเขา เมื่อเราเห็นธรรมชาติ สัตว์เล็กสัตว์น้อย เราเห็นความเล็กที่มีพลังและศักดิ์สิทธิ์”
เป้าหมายของเธอจึงคือการฟื้นฟู ‘อำนาจ คุณค่า และความศักดิ์สิทธิ์’ ในตัวคนทุกคนทั้งคนตัวเล็กตัวน้อยและคนที่อยู่ในศาสนา เพื่อทุกคนจะตระหนักได้ว่าตนเองเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและศักยภาพทางจิตวิญญาณ เปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์
“เรื่องนี้มันสอนให้พี่เห็นความเป็นไปได้ สิ่งที่ตั้งใจ ภาพในหัว ทุกอย่างมันเป็นไปได้ บางเรื่องเกินไปจากภาพในหัวอีก เราถูกผลักให้มาทำบางอย่างที่น่าทึ่งมาก มันทำให้เราเชื่อมั่นหนักแน่นมั่นคงในเจตจำนงและทางที่เดินมากขึ้น การทำงานเป็นทีมทำให้เราเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ขาข้างหนึ่งพี่ยังอยู่ในชุมชนนักกิจกรรมด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ แต่เดินกลับเข้าไปในแวดวงเดิมโดยหมวกใบใหม่คือการเป็นนักพลังงานบำบัดและแม่มด พี่กลับเข้าไปทำงานในมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณ หรือกลับไปเขียนงานวิชาการซึ่งมาจากชีวิตตัวเองจึงรู้สึกว่ามันท้าทายมาก”
แม่มดในยุค 2020 จึงเป็นทั้งนักบำบัด ผู้เยียวยารักษา ผู้สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้จิตวิญญาณได้เติบโต และเป็นผู้สร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อให้ชีวิตทางจิตวิญญาณไม่ติดกรอบจารีตเดิม ๆ หากกลับไปสู่ความหมายแท้ที่มีมาแต่เดิม
ร่วมเรียนรู้เรื่องราวของเธอผู้นี้และวิถีแห่งแม่มดให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการเสวนาหัวข้อ ‘แม่มด : ผู้หญิงกับความศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตและจิตวิญญาณ’ ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 ‘สุขภาวะทางปัญญา : สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม’ วันที่ 17 - 18 สิงหาคม 2566 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Soul Connect Fest มหกรรมพบเพื่อนใจ) ติดตามรายละเอียดงานได้ที่เพจ Soul Connect Fest
#SoulConnectFest #จิตวิวัฒน์ #สุขภาวะทางปัญญา #สสส