07 เม.ย. 2568 | 17:00 น.
สำหรับผู้ชายบางคน การเกษียณอายุคือจุดสูงสุดของชีวิตที่รอคอยมานาน หลังจากตรากตรำทำงานมาครึ่งค่อนชีวิต หรือแทบตลอดชีวิตก็ว่าได้ การเกษียณสำหรับพวกเขาอาจหมายรวมถึงช่วงเวลาแห่การปลดแอกภาระอันหนักอึ้งออกจากชีวิต
แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าวัยเกษียณอาจเป็นเรื่อง ‘น่ากลัว’ อยู่ไม่น้อย ทั้งสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ สถานการณ์การเมืองโลกก็ไม่แน่นอน ภัยพิบัติปะทุขึ้นจนทำให้ใครหลายคนหวาดผวา แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อบั้นปลายชีวิตของเหล่าชายวัยเกษียณทั่วโลก
นอกจากความน่ากลัวของการเกษียณท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแล้ว บางคนอาจต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า รู้สึกตัวเองไร้คุณค่า เมื่อหน้าที่ทั้งหลายก็หลุดลอยไปทีละอย่าง เหลือเพียงความเงียบที่ค่อย ๆ ขยายตัวอยู่ในบ้าน และในใจ
ขณะที่ผู้ชายบางคนเลือกเก็บความรู้สึกโดดเดี่ยวเอาไว้ในใจ ไม่กล้าแสดงน้ำตาหรือความอ่อนแอออกมาให้ใครเห็น เพราะถูกสังคมหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็กว่า ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ห้ามอ่อนไหว หากมีน้ำตาก็จะถูกตีตราว่าไม่เหมาะกับการเป็นชาย และความเปราะบางกลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีในหัวใจของพวกเขา
“ตอนผมนั่งอยู่ที่บ้านเฉย ๆ มันน่าเบื่อมาก เรียกได้ว่าเหงาเลยทีเดียวถ้าคุรยังโสดอยู่น่ะนะ” Tam Dagg เกษียณอายุจากบริษัท ก่อนกำหนดหลังจากทำงานที่เดิมมาเป็นเวลา 38 ปี
เขาได้เรียนรู้ว่ายังมีสถานที่หนึ่งเปิดรับเขาอยู่ และนั่นคือ Men’s shed “ผมเคยอยู่ที่เมืองหนึ่ง แต่ไม่มีเพื่อนในเมืองนั้นเลย พอย้ายมาทำงานที่นี่เป็นเวลา 38 ปี กลายเป็นว่าผมอยู่กับเพื่อน ๆ กลุ่มใหม่ทุกวัน”
สถานที่แห่งนี้ทุกคนจะได้เรียนรู้จากเหล่าวัยเก๋ามากประสบการณ์ Trevor Gallon ชายอีกคนที่เข้าร่วมกลุ่มบอกว่า เขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จากที่นี่ และทุกสิ่งที่พวกเขาได้รับมานั้นช่างล้ำค่ามากเสียจน รู้สึกได้ว่าเขาไม่ใช่คนไร้ค่าอีกต่อไป
“ผู้ชายในเวิร์กช็อปจะยืนเคียงข้างกันครับ และจะมีคนข้าง ๆ คอยสอนพวกเขา คอยบอกว่า ‘ลองทำดูสิ’ หรือ ‘ทำแบบนี้ดูไหม’ ผมจะทำส่วนนี้ให้คุณ คุณลองทำส่วนนี้ดู มันเป็นอะไรที่วิเศษมาก ที่นี่ไม่มีการตัดสินกัน ทุกคนพร้อมแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้แก่กัน”
“สำหรับผมมันทำให้ผมรู้สึกมั่นใจขึ้น ทำให้ผมมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ว่าเราอาจมีความสามารถบางอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน กระทั่งมาเจอกับเหล่าผู้มากประสบการณ์”
ในออสเตรเลีย การศึกษาหลายฉบับรวมถึงข้อมูลจาก Australian Bureau of Statistics และ Beyond Blue องค์กรด้านสุขภาพจิตของประเทศ พบว่า ผู้ชายวัย 65 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิงในช่วงวัยเดียวกันมาก บางคนอาจไม่ได้รู้สึกเศร้าในแบบที่นิยามกันในตำรา แต่พวกเขารู้สึกว่างเปล่า เหนื่อยล้า และไม่มีเป้าหมาย องค์การอนามัยโลกเองก็ชี้ว่า ‘ความโดดเดี่ยวทางสังคม’ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันกันเลยทีเดียว
และเพราะความเงียบนี้ไม่เคยถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา จึงมีคนกลุ่มหนึ่งเริ่มต้นสิ่งเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า ‘Men’s Shed’ โรงช่างไม้หลังเล็ก ๆ ที่เปิดรับผู้ชายให้เข้ามาใช้มือจับเครื่องมือ ทำของใช้ ซ่อมโต๊ะไม้ หรือดื่มกาแฟร่วมกับคนอื่น โดยไม่ต้องแข่งกันเล่าเรื่องราวชีวิตที่ยิ่งใหญ่ แต่แค่ได้นั่งอยู่ใกล้ ๆ กัน รู้ว่าตัวเองไม่ใช่คนเดียวในโลกที่รู้สึกแบบนี้
Men’s Shed เริ่มต้นขึ้นใน ประเทศออสเตรเลีย ช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยมีต้นกำเนิดจากแนวคิดเล็ก ๆ ในชุมชนชนบท ซึ่งต้องการสร้างพื้นที่ให้ผู้ชาย โดยเฉพาะกลุ่มเกษียณหรือผู้ว่างงาน ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน แนวคิดนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อชุมชนเห็นว่า สามารถช่วยลดความเหงา ส่งเสริมสุขภาพจิต และสร้างความรู้สึกมีคุณค่าให้กับผู้ชาย จนในปี 2007 มีการจัดตั้ง Australian Men’s Shed Association (AMSA) เพื่อสนับสนุนและขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ
ปัจจุบัน Men’s Shed ไม่ได้มีแค่ออสเตรเลียเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปยังหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก
Men’s Shed ไม่ได้เป็นแค่ที่รวมตัวกันทำกิจกรรมเฉย ๆ อีกต่อไป แต่หลายประเทศเริ่มจริงจังกับการสนับสนุนและยอมรับผลงานของเหล่าผู้ชายในวัยเกษียณอย่างเป็นทางการ ถึงขั้นมีการจัดประกวด ‘Men’s Shed of the Year’ กันทุกปี เพื่อส่งต่อพลังใจว่า สิ่งที่พวกเขาทำอยู่ในโรงไม้เล็ก ๆ นั้นมีคุณค่า และไม่ได้หายไปกับกาลเวลา
หนึ่งในประเทศที่จริงจังกับเรื่องนี้มากคือ อังกฤษ เพราะนอกจากจะให้ชายสูงอายุมีพื้นที่ไว้ใช้มือ ใช้หัวใจ ยังเปิดเวทีให้พวกเขาได้แสดงออกถึงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ด้วย
“ในแต่ละปี ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะยอดเยี่ยมขึ้นเรื่อย ๆ” Rob Lloyd ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ Men’s Shed กล่าว
ปี 2024 มีกลุ่มที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมีหลากหลาย เช่น Shrewsbury Men’s Shed ในเขตชรอปเชียร์ ที่เพิ่งตั้งขึ้นไม่นาน แต่กลับทำผลงานน่าทึ่งมาก โดย Simon Rouse ประธานและทูตของ UKMSA เล่าว่า แนวทางของพวกเขาคือการรวมผู้ชายที่มีทักษะเข้ากับผู้ชายที่ต้องการจุดยึดเหนี่ยวชีวิต
โรงไม้แห่งนี้จึงไม่ได้เป็นแค่สถานที่ทำของใช้ หรือซ่อมเฟอร์นิเจอร์ แต่ยังกลายเป็นพาร์ตเนอร์กับโครงการใหญ่อย่าง Severn Shuttle ซึ่งเป็นระบบเรือโดยสารในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการเดินทางของคนในชุมชน ร่วมกับเรือ Sabrina Riverboat และแผนพัฒนาเมือง Shrewsbury Moves ที่มีเป้าหมายให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตในพื้นที่มากขึ้น
“พวกเขาอาจเคยคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตมันจบไปแล้ว แต่วันนี้เรากำลังพิสูจน์ว่าไม่จริง”
Simon Rouse สมาชิกของกลุ่มนี้ช่วยกันทุ่มเวลาไปถึง 18,000 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนคอกม้าร้างให้กลายเป็นเวิร์กช็อปและพื้นที่สังสรรค์อย่างสมบูรณ์
อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจคือ Poringland and District Men’s Shed ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2014 พวกเขาระดมทุนด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อชุมชน และใช้ทักษะที่มีช่วยพัฒนาหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำม้านั่ง สร้างอุปกรณ์การเรียน ไปจนถึงปลูกต้นไม้ให้บ้านพักทหารผ่านศึก และทำสนามกอล์ฟขนาดย่อมให้บ้านพักคนชรา
“เราไม่ได้ทำเพื่อจะได้รางวัล แต่การเป็นผู้เข้ารอบสุดท้าย ก็ทำให้สมาชิกทุกคนรู้สึกว่าที่เราทำมานั้นไม่สูญเปล่า” Peter Stewart ประธาน Poringland Shed กล่าว
สิ่งที่พวกเขาจะได้รับไม่ใช่แค่เกียรติยศ แต่คือ ถ้วยรางวัล ที่ออกแบบมาเฉพาะ โดยฝีมือของกลุ่ม Bootle Tool Shed แชมป์ปี 2023 จากเมืองลิเวอร์พูล
Men’s Shed ไม่ใช่คลินิก ไม่ใช่ศูนย์ปรึกษา ไม่ใช่โรงเรียน แต่คือสถานที่ที่ผู้ชายวัยเกษียณได้มี ‘พื้นที่’ ให้พวกเขาได้ทำบางอย่างที่เติมเต็มคุณค่าในการมีชีวิต สถานที่แห่งนี้ไม่มีการตีตรา ไม่แบ่งแยกชนชั้น สถานะ
ไม่มีหมอ ไม่มีคำแนะนำแบบสูตรสำเร็จ
มีแค่งานไม้ เสียงหัวเราะ กลิ่นกาแฟ และเรื่องราวที่ไม่เคยมีใครฟัง
จากงานวิจัยของ Australian Men’s Shed Association (AMSA) พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมใน Men’s Shed มีระดับความเครียดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 99% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่ารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นจากการมีส่วนร่วมในชุมชน
อย่างไรก็ตาม Men’s Shed ไม่ได้เป็นการผลักผู้หญิงออกจากพื้นที่ แต่มันคือการเติมเต็มสมดุล ในโลกที่ผู้ชายเองก็ต้องการ ‘ที่ว่าง’ สำหรับแสดงความรู้สึก
ในบางประเทศ เริ่มมี ‘Women’s Shed’ เกิดขึ้นตามมา เพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับผู้หญิงในบริบทที่แตกต่าง อย่างที่รู้ว่าผู้หญิงเราเองก็มีอารมณ์อ่อนไหวไม่แพ้กัน และการมีสถานที่สำหรับผู้หญิง จึงเป็นการสร้างสมดุลว่าไม่ว่าจะเพศสภาพใด มนุษย์เราย่อมรู้สึกเหงากันเป็นธรรมดา
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
อ้างอิง