บ.ก.ลายจุด, หนูหริ่ง, สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ผ่านศาสตร์การละคร

บ.ก.ลายจุด, หนูหริ่ง, สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ผ่านศาสตร์การละคร

บ.ก.ลายจุด, หนูหริ่ง และสมบัติ บุญงามอนงค์ หลายตัวตน หลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง และคุณพ่อของลูก Gen Z ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ผ่านศาสตร์การละคร

  • ชายที่มีหลายชื่อ หลายบทบาท ที่สามารถยืนอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมในปัจจุบัน และยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างยาวนานในวงการ NGO ถึง 35 ปี และได้รับการยอมรับในคนหลายกลุ่ม
  • แม้ในม็อบจะเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาพูดคุยกับเขาจำนวนมาก แต่เขากลับปฏิเสธว่า “ผมไม่กล้าบอกตัวเองว่าเป็นคนที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ พูดตรง ๆ นะ หลายคนชอบพูดประโยคนี้กับผม ซึ่งผมไม่สามารถยอมรับได้”

‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ นักเคลื่อนไหวทางสังคมหรือที่คอการเมืองรู้จักกันในนาม ‘บ.ก.ลายจุด’ เขาเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจด้านการเมืองและกิจกรรมภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะจากม็อบที่จัด หรือแคมเปญสนับสนุนการจ้างงานคนไร้บ้าน อย่าง ‘โครงการจ้างวานข้า’ รวมถึงภารกิจดับไฟป่าภาคเหนือของ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ ที่เขาเป็นผู้อำนวยการอยู่ ซึ่งล้วนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่เขากลับบอกว่าตัวเองไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่ 

บ่ายวันหนึ่ง The People มานั่งคุยกับ ‘หนูหริ่ง’ อีกชื่อหนึ่งของ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ที่ ‘ร้านแบ่งปัน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของมูลนิธิกระจกเงาที่ทำหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ นำของบริจาคมาระดมทุน เพื่อใช้ในกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิ ทั้งยังทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยด้วยการนำสิ่งของไปขายต่อเป็นสินค้ามือสอง 

ชายที่มีหลายชื่อ หลายบทบาท ที่สามารถยืนอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมในปัจจุบัน และยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างยาวนานในวงการ NGO ถึง 35 ปี และได้รับการยอมรับในคนหลายกลุ่ม หลายแวดวง แม้ว่าจะโดนทัวร์ลงหลายคร้ังเมื่อแสดงความคิดเห็น แต่เป็น Gen X ไม่กี่คนที่คนรุ่นใหม่ให้การยอมรับและอยากร่วมงานด้วย เขามองความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่อย่างไร มีทัศนะอย่างไรกับความคิด ความเชื่อ และการกระทำของคนรุ่นใหม่ที่ถูกปรามาสว่า ไม่อดทนและรีบร้อนกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมถึงบทบาทของคุณพ่อ Gen X ที่ดูแลลูกสาว Gen Z ที่อยู่ไกลบ้าน ตลอดจนการมองความหวังทางการเมืองของคน Gen Z ในบรรยากาศการเมืองปัจจุบัน ทั้งหมดอยู่ในบทสัมภาษณ์นี้ 

จาก ‘นักการละคร’ สู่ ‘Mob Designer’

“เคยมีคนเรียกผมว่า ‘Mob Designer’ หรือ ‘นักออกแบบกิจกรรมทางการเมือง’ ซึ่งผมชอบบทบาทนี้ที่สุด ไม่ได้คิดว่าตัวเองมีบทบาทอะไรเป็นพิเศษทางการเมือง นอกเหนือไปจากความสนใจส่วนตัวและการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเท่านั้น การเรียกคนออกมาร่วมเคลื่อนไหวได้เยอะ คิดว่าเป็นเพราะตัวเองพอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง และกิจกรรมที่ออกแบบสามารถสื่อสารถึงผู้คนได้

“ตอนที่คิดแคมเปญ ผมไม่ได้คิดถึง Gen Z หรือคนกลุ่มไหนเฉพาะ ที่เห็นว่ามีคนรุ่นใหม่มาร่วมกิจกรรมของผม นั่นเป็นเพราะความสามารถของคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจ Gen X อย่างผม ผมไม่ได้ออกแบบเพื่อสื่อสารถึงคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมออกแบบมีความเป็น universal ดังนั้น จึงขายได้กับคนทุกกลุ่ม”  เป็นคำตอบที่ดูถ่อมตัวเมื่อเราถามถึงกลุ่ม Gen Z จำนวนมากที่มาเข้าร่วมกิจกรรม Car Mob หลายครั้ง รวมถึง Mob แปรอักษร ซึ่งจัดที่แยกอโศกมนตรีเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา  

เมื่อพูดถึงการออกแบบกิจกรรมทางการเมือง เราอดสงสัยว่ามีที่มาอย่างไร

“ผมมีแบ็กกราวนด์เป็นนักการละคร ทำให้ผมมองอีเวนต์เป็น performance หรือการแสดงรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องชวนผู้คนเข้าร่วมให้มีความสนุก จึงเป็นการออกแบบ จัดวาง ผมคิดว่าคนจำนวนหนึ่งสัมผัสได้ถึงความสนุก จึงอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ผมจัด

“ผมคิดว่าผมมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในทุกกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวนะครับ ความสร้างสรรค์มันดึงดูดทุกคนทุกเจน แล้วมันได้เปรียบ ตัวกิจกรรมหรือตัวโครงการของผมนี่ใส่ความคิดสร้างสรรค์มาตั้งแต่ชื่อเลยนะ ชื่อที่คุณได้ยิน ภาพที่คุณเห็น สิ่งที่คุณจะต้องเข้ามาร่วม และการเข้าใจถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ เนื้อหาเป้าหมายที่ซ่อนอยู่มีหลายสเต็ป มันถูกออกแบบครับ ดังนั้น มันขายได้กับทุกกลุ่มเลย มันเป็น universal มันไม่ใช่เรื่องคนรุ่นใหม่

“นอกจากงานอีเวนต์แล้ว การออกแบบยังถูกใช้ในงานประจำที่มูลนิธิเยอะมาก ครูละครสอนผมว่า ‘ศิลปะคือการเอาออก’ เวลาระดมสมองว่างานนี้ต้องมีอะไรบ้าง คนจะเอาทุกอย่างที่คิดว่าเกี่ยวข้องมาโยนบนโต๊ะ หน้าที่ผมคือ เอามันออกไป เอาสิ่งที่ไม่ควรจะอยู่บนนี้ออก ให้เหลือเฉพาะส่วนที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วมันฟังก์ชันที่สุดได้ เพื่อไม่ให้มันเลอะเทอะ พอมันไม่เลอะเทอะปุ๊บ จะมีความชัดขึ้นมา แล้วมันจะเข้าใจง่าย หน้าที่ของผมก็อยู่ตรงนี้”  

ศาสตร์การละครยังถูกใช้ประเมินภาพรวมผ่านความเข้าใจเรื่องฉากและตอน ซึ่งภาษาละครเรียกว่า ‘องก์’ ทำให้นอกจากจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ได้ดี เกิดความสนุกและมีส่วนร่วมแล้ว ยังช่วยให้ประเมินสถานการณ์ได้ดีอีกด้วย 

“การเข้าใจเรื่องนี้สอนให้ผมมองและคิดถึงเรื่องเหตุการณ์และเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้น เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับตัวละคร ด้วยเงื่อนไขของเรื่องลักษณะนี้ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคืออะไร สอนให้มองเห็นแนวโน้มของสถานการณ์หรืองานในอนาคตได้ว่า มันจะมีสเต็ปอย่างไรต่อไป ดังนั้น การมีแบ็กกราวนด์ด้านการละคร ทำให้ผมเข้าใจเรื่องคน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านคน การเข้าใจคน ผมคิดว่านี่เป็นพื้นฐานอันหนึ่งที่ผมมี แล้วผมเอามาใช้ประโยชน์ได้” 

ศิลปะการละคร คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เขามีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งการเอาสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันออก การจัดวางให้เหมาะสมถูกที่ถูกเวลา เพื่อให้เกิดความลงตัวที่ดีที่สุดในเวลานั้น พร้อมทั้งประเมินผลสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา รวมถึงเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับทำความเข้าใจคนและสร้างการมีส่วนร่วมโดยไม่แยกว่าจะเป็นคนรุ่นไหน 

ไม่กล้าบอกว่าตัวเองเข้าใจคนรุ่นใหม่

แม้ในม็อบเราจะเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาพูดคุยกับเขาจำนวนมาก แต่เขากลับปฏิเสธว่า
“ผมไม่กล้าบอกตัวเองว่าเป็นคนที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ พูดตรง ๆ นะ หลายคนชอบพูดประโยคนี้กับผม ซึ่งผมไม่สามารถยอมรับได้

“ที่จริงมีคนมาคุยด้วยเยอะแยะ มีทุกวัยเลย คุยรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างนะ ผมจะเป็นคนที่คุยกับเขารู้เรื่อง เพราะว่าผมมีความสนใจที่กว้าง เขาเอาเรื่องอะไรมาคุยก็ได้ บางคนโทรฯ มาคุยกับผมเรื่องการเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์ในบ่อน้ำใส  เรื่องแบบนี้ก็มีคนคุยกับผม เรื่องอะไรไม่รู้ เต็มไปหมดเลย

“เอาจริง ๆ แล้ว ผมยังไม่ค่อยเข้าใจคน Gen Z ผมมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัยอยู่ ผมไม่มีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับคนรุ่นใหม่ ลูกผมไปอยู่ต่างประเทศ ผมไม่มีโอกาสไปใช้ชีวิตแบบไปดูคอนเสิร์ต K-pop หรืออะไรพวกนี้ หรือใช้ชีวิตแบบที่คนสมัยนี้เขาใช้กัน ผมมีช่องว่างมาก แล้วผมยอมรับความมีช่องว่างนี้ยังเป็นปัญหานะ”

คนที่เข้ามาคุยด้วยเขาเข้ามาคุยเรื่องอะไร แล้วทำไมถึงเข้ามาคุย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน นี่คือสิ่งที่เราอยากรู้

“เขาคิดว่าผมเป็นคนสนใจกว้าง และน่าจะสนใจเรื่องนี้ ผมไม่มีขอบเขตของความสนใจเลย ทุกคนจะรู้สึกได้เลยว่า ผมไม่มีขอบเขตความสนใจ เขาคงคิดว่าผมคงจะสนใจเรื่องที่เขากำลังสนใจอยู่ก็ได้

“ส่วนหนึ่งผมคิดว่าการเปิดกว้างเรียนรู้เป็นวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต ยิ่งถ้าเรารู้อะไรได้เยอะ ๆ งานผมก็จะสามารถหยิบจับสิ่งนั้นมาประยุกต์ได้ ผมเชื่อว่าโครงสร้างของสมองเหมือนเลโก้ การรับรู้และการจัดวางข้อมูลในสมองมีลักษณะคล้ายเลโก้ที่ต่อประกอบขึ้นมาเป็นส่วน ๆ เวลาต่อเลโก้ มันต่อได้หลายมิติ ต่อเกี่ยวกันได้หมดเลย ดังนั้น เมื่อการเรียนรู้ของคุณถึงจุดหนึ่ง คุณจะมีอาณาบริเวณของความรู้ หรือความเข้าใจ รวมถึงความสนใจกว้างมาก เหมือนตัวเลโก้ที่คุณเสียบตรงไหนก็ได้  ดังนั้น เวลามันมีเรื่องหนึ่งโผล่เข้ามาปุ๊บ มันเข้ามาปาดหน้าคุณปุ๊บ ก็สามารถหยิบจับความรู้นั้น คล้ายกับเลโก้ตัวหนึ่งมาต่อใส่เลโก้ชุดเดิมที่มีอยู่แล้ว ความรู้จึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน ระหว่างข้อมูลเก่ากับข้อมูลใหม่ และผมเป็นคนที่มีเลโก้เยอะมาก ก็เลยทำให้ผมเหมือนมีงานอดิเรก อยากจะรู้เรื่องนู้นเรื่องนี้ แล้วผมก็เอามาประกอบกัน พอต่อได้ก็เหมือนคุณสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ มันตอบแทนด้วยความสุข และช่วยให้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น” 

ภาพที่คนเห็นว่าเขาเข้าใจคนรุ่นใหม่นั้นเกิดจากการที่มีความรู้หลากหลาย ทำให้เป็นคนที่พูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ได้เป็นธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน เป็นคนที่สนใจเรื่องใหม่ ๆ มีความสุขกับการเรียนรู้ สามารถรับฟังเรื่องที่มีคนมาพูดคุย ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นไหนก็ตาม

คุณพ่อวัย Gen X ที่มีลูกวัย Gen Z

แม้จะออกตัวแรงว่าไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่ แต่ในฐานะคุณพ่อวัย Gen X ที่มีลูกวัย Gen Z  เราอยากรู้ว่าเขารับมือกับความแตกต่างระหว่างวัยนี้อย่างไร

“มันง่ายกว่ามาก ๆ ผมคุยกับลูกง่ายกว่าคุยกับคนรุ่นใหม่คนอื่นทุกคนในโลกใบนี้เลย เพราะว่าลูก (ทำให้) เรามีความอดทน หนึ่ง, ถ้าสิ่งนั้นเป็นความแตกต่างหรืออาจจะเป็นความขัดแย้ง ผมมีความอดทนอย่างมากเลย สอง, เนื่องจากว่าเขาเป็นลูก ความสนใจของเขาเป็นความสนใจของผมแน่นอน ผมสามารถเข้าไปในเรื่องที่เขาสนใจ แค่ผมรู้ว่าลูกสาวผมเขาทำวิดีโอขึ้นมาคลิปหนึ่ง มีเพลงประกอบ ผมถามถึงเพลงนั้น แล้วผมศึกษาไปถึงว่า เพลงนี้มันเป็นเพลงอะไร แล้วนักร้องคือใคร ผมตามวงนั้นไปเลย สามารถตามเข้าไปในวงนั้นได้ ผมสนใจทุกอย่างในบริบทของลูกที่เขาเป็น เพราะว่าเขาเป็นลูกเรา เราจะมีแรงดึงดูด มันง่ายที่เราจะถูกเขาดึงดูดเข้าไปในโลกของเขา ในขณะที่ถ้าคุณไปเจอใครสักคนหนึ่งซึ่งเขาไม่ได้เป็นลูก ผมไม่คิดว่าเขาดึงดูดผมได้ เด็ก Gen Z คนเดียวที่ดึงดูดผมได้คือลูกสาวผมเท่านั้น” 

แม้จะอยู่กันคนละประเทศกับลูกสาว แต่หนูหริ่งกลับใช้เวลาการพูดคุยอย่างมีคุณภาพ เรียกว่ามีการเตรียมตัว คัดกรองเรื่องราวที่จะใช้พูดคุยกัน ใช้ช่วงเวลาที่มีในรูปแบบออนไลน์อย่างละเมียด ลึกซึ้ง และเปิดกว้างทั้งสองฝ่าย รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกสาวได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเป็น และปรากฏในโลกของโซเชียลมีเดีย ที่เรารู้ดีว่ามีทั้งผู้ที่ชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์อยู่เป็นระยะ ๆ  

“ผมคิดว่าการที่ผมเป็นคนแบบนี้ ลูกเป็นผู้สังเกตการณ์การใช้ชีวิตของพ่อ แล้วมันมีโซเชียลมีเดีย มีอะไรเราก็คุยกัน ถึงเวลาเขาก็จะเอาเรื่องที่ผมมีชีวิตอยู่มานั่งคุยกันในวิดีโอคอล เขาจะเป็นผู้สังเกตการณ์พ่อ และซึมซับสิ่งนี้ไปโดยอัตโนมัติ”

ความแตกต่างระหว่าง generation

หนูหริ่งมีความเห็นต่อเรื่องความแตกต่างระหว่าง generation ว่าเป็นบริบทของสังคมที่หล่อหลอมคนแต่ละยุคให้มีความแตกต่างกัน อย่าง Baby Boomer เติบโตมาในช่วงเวลาที่มีความขาดแคลนหลังสงคราม จึงต้องมีความอดทนอย่างมาก ซึ่งสร้างอุปนิสัยของความอดทน ส่วน Gen X ที่อยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันมาก และทุกอย่างในโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็วเหมือนทุกวันนี้ ย่อมพลอยได้รับอิทธิพลจาก Baby Boomer ไปด้วย ในขณะที่สังคมปัจจุบันไม่ได้ขาดแคลนในลักษณะนั้นแล้ว การต่อสู้ของชีวิตเป็นไปอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ได้หล่อหลอมให้คนอดทนในแบบเดิม ๆ อีกต่อไป  

เขาตั้งสมมติฐานกับ ‘ความไม่อดทน’ ที่ถูกมองว่าเป็นคุณสมบัติของเด็กสมัยนี้ว่า เกิดจากการที่ Gen Z เติบโตมาในช่วงที่มีการปฏิวัติดิจิทัล ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลและสิ่งต่าง ๆ จำนวนมาก วิธีการที่ไม่ไปตามลำดับชั้น ด้วยเทคโนโลยีทำให้สามารถดูสื่อต่าง ๆ แบบย้อนไปย้อนกลับได้ ตัดต่อแบบ non linear รูปแบบวัฒนธรรมในช่วงเวลาของวัยเป็นแบบนี้ การมาถึงของวิถีการใช้ชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ ทำให้เป็นแบบนี้ 

ด้วย Speed Economic อัตราเร่งของทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เราเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของ Gen Z แต่เพราะมีบริบทของโลก ของสังคม ปูทางเรื่องนี้มา จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

สำหรับครอบครัวที่มีลูก Gen Z หนูหริ่งมองว่าเป็นปกติที่จะมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ด้วยอายุที่แตกต่างกันมาก ทำให้ผู้ใหญ่สามารถมองบางอย่างได้ซับซ้อนกว่า ไกลกว่า 

“อยากให้ลองนึกถึงตัวเองในวัยนั้นดูว่า เราเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่มี การใช้ชีวิต พวกเขาก็กำลังทดลองใช้ชีวิตในแบบของเขาอยู่ เป็นเรื่องปกติสำหรับวัยเขา สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญ คือการทำหน้าที่เป็น Backup ที่ดี ให้เขารู้สึกปลอดภัย ทำให้เขารู้ว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นยังมีพ่อแม่เคียงข้างอยู่ล้านเปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นจะทำให้เขารู้สึกมั่นคง” 

ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็สามารถเรียนรู้เทคโนโลยี และเข้าถึงวัฒนธรรมใหม่ ๆ จากเด็ก ๆ เหมือนอย่างที่เขาเรียนรู้การใช้สมาร์ตโฟนจากลูกสาว และเข้าถึงแนวเพลงใหม่ ๆ จากคลิปวิดีโอที่ลูกสาวทำ 

เรื่องที่หนูหริ่งคิดว่าจำเป็นต้องสอน คือเรื่องทัศนคติการใช้ชีวิต เขาเชื่อว่า Mindset หรือกรอบความคิดนั้นสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Mindset ที่มีต่อตนเองและโลกภายนอก เช่น การพัฒนาตนเอง การรับมือกับจุดอ่อนของตัวเอง รวมถึงการรับมือกับความผิดพลาดในชีวิตว่าจะดีลกับตัวเองอย่างไร 

“คุณอาจจะไม่ต้องสอนอะไรลูกมาก อย่าไปยัดอะไรใส่ลูกมากนัก แต่คุณต้องมีอิทธิพลอย่างมากในการทำให้ลูกมี mindset ที่ถูกต้อง และเมื่อเด็กมี mindset ที่ถูกต้องแล้ว เขาจะมีความมั่นคง มีโอกาสที่จะเดินดำเนินชีวิตไปได้ดีในอนาคต และในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าคุณจะยังอยู่หรือไม่ คุณก็ไม่ต้องกังวลแล้ว ปล่อยให้ใช้ชีวิตไป คุณก็นั่งดูเขาโต้คลื่น”

แม้หนูหริ่งจะวางใจปล่อยให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ในบทบาททางสังคมของคนรุ่นใหม่ เขากลับไม่เห็นเช่นนั้น  

“แน่นอน, ผมเคารพเรื่องการที่เขาเป็นอนาคต เป็นเจ้าของอนาคตของเขา แต่ผมเป็นคนที่ไม่เชื่อว่าเราควรยกประเทศให้ Gen Z ผมไม่เชื่อเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าสมาชิกของสังคมควรมีทุกเจเนอเรชัน  โมเดลที่ถูกต้อง จะต้องเป็นโมเดลที่มีทุก gen ไม่ใช่โมเดลของ gen ใด gen หนึ่ง” 

การอ้างว่าอายุมากกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนต้องเป็นผู้ปกครอง เป็นคนคอยชี้นำ เป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับในทัศนะของเขา คนอายุมากโจมตีว่าไม่ควรจะปล่อยให้เด็ก gen นี้เข้ามาบริหารประเทศ เพราะว่าไม่มีประสบการณ์ เป็นการลดทอนที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ การโจมตีกันด้วยเหตุผลของเจเนอเรชันเป็นเรื่องไร้สาระมากในมุมมองของหนูหริ่ง

“อนาคตของประเทศต้องเป็นพื้นที่ของคนทุกกลุ่ม ส่วนใครจะฟังใครขึ้นอยู่กับว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องอะไร  ถ้ามันเป็นเรื่องคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าย่อมไม่สามารถเข้าใจคนรุ่นใหม่เท่าคนรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่ก็อาจจะรู้เรื่องบางเรื่องได้ดีกว่าเด็ก แต่ว่าเด็กก็รู้เรื่องที่เขาอาจจะรู้เรื่องบางเรื่องได้ดีกว่า ก็ต้องฟังกัน” 

ทัศนะทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ที่มองการเปลี่ยนแปลงผ่านสายตาของนักเคลื่อนไหวทางสังคม นักกิจกรรมการเมือง และคุณพ่อของลูกสาว Gen Z  ที่มองเห็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ในบริบททางการเมืองไทย ที่เขาเชื่อว่ากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จนแทบจะเหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย และไม่ทันใจสำหรับคนรุ่นใหม่ 

แต่สำหรับสมบัติแล้ว เขากลับเชื่อมั่นว่า ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงได้ 

“ผมมองว่ามันเปลี่ยนไปเยอะมากเลย มันเปลี่ยนแล้ว แม้ว่ามันไปไม่ถึงจุดที่คุณตั้งธงไว้  สำหรับผม ขอให้มีความเปลี่ยนอยู่ มีวิวัฒนาการ ผมยอมรับได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องฝืนไม่ได้ เปลี่ยนแน่นอน จะเปลี่ยนช้า เปลี่ยนเร็ว เปลี่ยนในรูปแบบไหนเท่านั้น แล้วมันจะถึงตรงนั้นได้ เมื่อวันหนึ่งวันนั้นเป็นของรุ่นคุณ คุณถึงจะเปลี่ยนสิ่งนั้นได้ มันจะมาแน่นอน” 

หมายเหตุ : ‘ร้านแบ่งปัน’ คือโครงการแบ่งปันรับบริจาคสิ่งของที่ไม่ใช้ สามารถนำสิ่งของเหล่านั้นมาบริจาคได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซอยวิภาวดี 62 (แยก 4-7) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210  หรือ https://goo.gl/maps/J4dHAsuusZPPS8U4A และสามารถร่วมสนับสนุนผ่านการชอปปิงสินค้ามือสองที่ร้านแบ่งปัน มูลนิธิกระจกเงา ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 1 แยก 6 (https://maps.app.goo.gl/6ZHbvEAUMxbWBvey8)

เรื่อง : เพชร ทิพย์สุวรรณ 
ภาพ : กัลยารัตน์ วิชาชัย