19 ธ.ค. 2561 | 18:11 น.
เราจะเรียกเขาว่า บก.ลายจุด หรือ พี่หนูหริ่ง หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ ก็สุดแท้แต่ว่าเรารู้จักเขาในมุมไหน? ทั้งบทบาทของ เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือ หัวหน้าพรรคเกียน โดยเฉพาะอย่างหลัง ต้องยอมรับว่า ชื่อสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้ซีนในวงการการเมืองในช่วงนี้ค่อนข้างเยอะ กับการออกสื่อในฐานะหัวหน้าพรรคเกียนด้วยคอสตูมที่หลากหลาย ทั้งชุดโจรสลัด ชุดช่างซ่อม(ประเทศไทย) ชุดพนักงานตกงาน ซึ่งแต่ละชุดที่ปรากฏอยู่หน้าสื่อล้วนแล้วแต่มีนัยเชื่อมโยงกับวาระการเมืองและเรื่องราวส่วนตัวที่เขากำลังต่อสู้อยู่ทั้งสิ้น นี่คือบทสัมภาษณ์ ที่ว่าด้วย เบื้องหลังการแต่งตัว แนวคิดทางการเมือง และเรื่องลูกสาวของเขา กับฉากชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่ควรเปิดใจรับฟัง The People: ในช่วงที่ผ่านมา คุณได้ใส่ชุดคอสตูมไปที่ไหนมาบ้าง สมบัติ: ชุดแรกคือชุด “ซ่อมประเทศไทย” ที่เป็นเสื้อช็อปช่างกลกับหมวกโจรสลัด ใส่ไปประชุมกับ กกต. ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาไม่ให้เข้าห้องประชุมเนื่องจากผมแต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะและไม่ให้เกียรติสถานที่ ต่อมาก็คือ “ชุดไทย” เราใส่ไปครั้งแรกที่โรงแรมเซนทาราเพื่อไปงานประชุมการเมือง ครั้งต่อมาก็ใส่ไปที่ กกต. เพื่อไปรับหนังสือจดแจ้งชื่อ ชุดต่อมาก็คือ ชุด “ทวงเงิน / ทวงบัญชี” ไปที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นชุดในรูปแบบของคนตกงาน และก็อีกชุดหนึ่งที่เราใส่ไปเพื่อไปพบกับท่าน “พล.อ. ประยุทธ์” ที่สยามพารากอน รวมแล้วก็มีอยู่ 4 ชุดด้วยกัน The People: คุณเคยบอกว่าพรรคเกียนของคุณมีคอนเซ็ปต์เป็น “Pirate Party” หรือ “พรรคโจรสลัด” มีความเชื่อมโยงกับชุดที่ใส่อย่างไรบ้าง สมบัติ: ผมได้ไปศึกษาปรากฏการณ์ “Pirate Party” ที่ทวีปยุโรป และค้นพบว่าปรากฏการณ์นี้น่าสนใจมาก รวมถึงแนวคิดและวิธีการของเขาด้วย โดยเฉพาะแนวคิด Liquid Democracy ที่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก ประชาธิปไตยในบ้านเราเป็นประชาธิปไตยที่เราต้องเลือกตัวแทนเข้าไปสภาเพื่อให้ทำหน้าที่แทนเรา แต่ Liquid Democracy ถึงแม้ว่าเราจะเลือกตัวแทนเข้าไปในสภาแล้ว สมาชิกยังสามารถฝากมติหรือแนวคิดให้กับคนที่เลือกเราได้ด้วย หมายความว่าเราไม่ได้มอบหมายให้เป็นตัวแทนแบบเด็ดขาด แต่เราสามารถควบคุมตัวแทนที่เลือกเข้าไปได้ ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยแบบนี้ก้าวหน้ากว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน รวมถึงการทำนโยบายต่างๆ ด้วย แต่เขาก็มีกลไกในการฝากเหมือนกัน สมมติว่าถ้าคุณชอบประเด็นนี้คุณก็โหวตได้เลย บางทีนโยบายมีความซับซ้อนมาก แต่เรามั่นใจในสมาชิกพรรคคนนี้ เราก็สามารถฝากเสียงโหวตให้กับเขาได้ ฉะนั้นวิธีการนี้จะทำให้การโหวตมีการยึดโยงและสอดคล้องกับคนที่เป็นเจ้าของเสียงอีกทีหนึ่ง The People: ขยายความ Liquid Democracy อีกสักนิด สมบัติ: ถ้าเราเลือกตัวแทนไปแล้ว จะทำให้สถานะของสมาชิกขาดไปเลย ต้องรอกันอีก 4 ปีแล้วคอยเลือกตัวแทนกันใหม่ แต่ถ้าเรามีแพลตฟอร์มที่ประชาชนสามารถเข้าไปเสนอนโยบายต่างๆ ได้ จะทำให้เกิดนโยบายใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย และการตัดสินใจในนโยบายต่างๆ จะเป็นกระบวนการมากขึ้น อย่างไรก็ตามพรรคของผมยังไม่สามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “Pirate Party” แต่ก็ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากมันมาพอสมควร The People: แล้วเชื่อมโยงกับคำว่า “โจรสลัด” อย่างไร สมบัติ: คอนเซปต์ Pirate Party เริ่มจากการที่เว็บ PirateBay โดนจับ ซึ่งเป็นเว็บที่รวบรวมไฟล์ทุกอย่างไว้ในเซิร์ฟเวอร์ แต่ทว่าในนั้นก็มีไฟล์ทั่วไปยันไฟล์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ ทีนี้ทางรัฐบาลยุโปทราบก็ได้เข้าไปจับกุม Webmaster ของเว็บนี้ ทำให้วงการอินเทอร์เน็ตที่เป็นโลกเสมือนเกิดความวุ่นวายเป็นอย่างมาก ดังนั้นคอนเซปต์นี้จึงเกิดขึ้นจากพวกเนิร์ดที่ไปเสนอนโยบาย Free Download คือทำให้ในโลกของอินเทอร์เน็ตไม่มีลิขสิทธิ์ ควรจะเข้าถึงได้แบบฟรีๆ ฉะนั้นพรรคจึงเริ่มต้นแนวคิดจากสิ่งนี้ แต่เนื่องจากคนพวกนี้มีแค่นโยบายโหลดฟรีแค่อย่างเดียวเอง ทำให้นักการเมืองเก๋าๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันจนต้องมีการพัฒนารูปแบบการทำงานของพรรคด้วยการผลิตนโยบายสาธารณะ โดยการเขียนแพลตฟอร์ม “Liquid Feedback” และให้ประธานสมาชิกรับสมัครสมาชิกเข้ามาเพื่อเสนอนโยบาย ทำการอภิปราย ศึกษาและหาทางแก้ไข และผลิตออกมา มีการโหวตและชั่งน้ำหนักกัน หมายความว่าเป็นเครื่องมือที่ถูกวิพากษ์จารณ์อย่างหนักจะฮึดสู้ขึ้นมาทำพรรคการเมืองอย่างจริงจัง เพียงแค่ในช่วงแรกจะดูประหลาดไปสักหน่อย แต่ในปัจจุบัน Pirate Party มีนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศมากมาย The People: มาที่เรื่องคอสตูม เบื้องหลังในการตัดชุดต่างๆ ของคุณมาจากอะไร สมบัติ: ปกติที่ทำ Direct Action ผมก็มีฝ่ายคอสตูมที่คอยจัดวางอยู่นะ แต่ผมเองก็มีพื้นฐานมาจากการเป็นนักการละครมาก่อน ดังนั้นเวลาผมทำ Direct Action ไม่ว่าจะเป็น NGO หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ยังมีสิ่งนี้ติดตัวอยู่ พอมาทำงานพรรคการเมืองผมก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ ในต่างประเทศเขาก็ทำแบบนี้ได้ อย่างสมัยก่อนก็มีคุณ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” แต่ถ้าจี๊ดจ๊าดหน่อยก็ตอนเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ยังมีเจ้าแม่กวนอิมเลย ผมคิดว่าเราอาจจะลืมไปแล้วว่าเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ แต่พอผมมาทำในครั้งนี้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงมีปฏิกิริยาต่อการแต่งกายของผมขนาดนี้ ผมอาจจะจัดหนักเกินไปหรือเปล่า แต่โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะนำเรื่องนี้มาใช้ในการรณรงค์ต่อการเมืองหรือรณรงค์ต่อสังคมเพื่อทำให้นโยบายชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านการสื่อสารจากการแต่งกาย The People: มีความคาดหวังระหว่างผู้เสพสื่อกับสิ่งที่คุณทำออกไปในช่วงที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง สมบัติ: ผมได้วางโทนของผมและของพรรคไว้ว่าต้องมีสีสัน อย่างตอนแรกที่ตั้งชื่อว่า “พรรคเกียน” เป็นการทำให้พรรคดูมีความสนุกและแตกต่าง รวมถึงสโลแกนที่ได้กล่าวว่า “เป็นผู้นำความบันเทิงสู่การเมืองไทย” เนื่องจากผมอยากให้คนเมื่อมองมาทางเราแล้วมีความสุข เวลามีกิจกรรมทางการเมืองก็อยากให้เขายิ้ม อมยิ้มก็ได้ หรือจะหัวเราะไปด่าไปก็ได้ แต่อย่าให้ถึงขั้นรู้สึกโกรธเกรี้ยวเท่านั้นเอง อยากให้มองว่าพวกนี้บ้าๆ บอๆ ก็ดีนะ แต่ถ้าเขารู้สึกสนุกไปกับมันด้วยจะถือว่าสุดยอดมาก เพราะผมอยากเห็นการเมืองที่มีมิติของความบันเทิงอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่ามีแต่เรื่องสนุกอย่างเดียว สาระก็มีเหมือนกัน เพราะว่าเรื่องที่เราจะส่งออกไปเป็นเรื่องที่มีสาระมากๆ เลย ผมกลัวว่าถ้านำเสนอเฉพาะคอนเทนต์ล้วนๆ อาจจะส่งผลให้คนฟังเครียดได้ ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นการตอบแทน ไหนๆ คุณได้ฟังเรื่องเครียดจากผมแล้ว ผมก็จะตอบแทนคุณด้วยเสียงหัวเราะ The People: มีคอสตูมที่จะเปิดตัวในอนาคตอีกไหม สมบัติ: วิธีการออกแบบจะเป็นการดูเหตุการณ์ก่อนว่า ไม่ได้เกิดจากการที่เรามีอะไร แต่ถูกคิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลีงจากนั้นจึงค่อยกำหนดตัวละคร กำหนดเหตุการณ์ และก็กำหนดพวกเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย Action ต่างๆ ซึ่งมาหลังจากนั้น ฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นเหตุการณ์อะไร The People: แสดงว่าพร็อพเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่โครงเรื่องที่จะพาไปสู่เหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องใหญ่กว่า สมบัติ: ถูกต้อง สิ่งนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดคือสถานการณ์อะไร สมมติมีรถถังออกมายึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ผมก็ต้องมาคิดว่าเวลาผมจะออกมาเคลื่ิอนไหวต้องทำอย่างไร The People: ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อซ่อมอะไรในประเทศไทย สมบัติ: ซ่อมทั้งประเทศเลยครับ (หัวเราะ) เราสร้างพรรคการขึ้นมาเพื่อสร้างแพลตฟอร์มในการที่จะคิดนโยบายหรือวิธีการในการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ซึ่งประเทศก็มีปัญหาพรุนเต็มไปหมด ก็อยากจะเข้ามาซ่อมและปรับรื้อระบบทั้งประเทศเลย The People: จะปรับรื้อระบบประเทศอย่างไรบ้าง สมบัติ: เวลาที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศ เราต้องรู้ก่อนว่าสถานการณ์ในประเทศตอนนี้เป็นอย่างไร และจะต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อนำไปแก้โจทย์นั้นๆ ผมคิดว่าประเทศนี้ยังขาดเรื่องของ think tank ซึ่ง ณ เวลานี้ผมประเมินว่าผมมีเวลาในการเข้าสภาน้อยมาก แต่ผมคิดว่าโอกาสที่ think tank ของพรรคเกียนจะเข้าสภา เรามั่นใจว่าเราจะสามารถส่งต่อความคิดและวิธีการเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าไปในสภาได้ ซึ่งจะคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการเทคโนโลยีที่เรียกว่า Open Source เราคิดว่าแนวคิดในการผลิต think tank หรือ “คลังนโยบายแห่งชาติ” ควรจะถูกสร้างขึ้นมาจากผู้คนที่หลากหลาย มีการพัฒนาเหมือนกับระบบ Open Source และส่งผ่านให้กับคนที่มีอำนาจในการรับฟังนโยบายเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ได้ The People: การเมืองแบบ Open source เป็นอย่างไร สมบัติ: ผมยกตัวอย่างง่ายๆ มีเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมากเลย เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วในเว็บไซต์ Pantip มีคนหนึ่งเข้าไปตั้งคำถามว่า “ทำไมเราถึงถ่ายเอกสารบัตรประชาชน 2 หน้า ทำไมไม่ถ่ายเอกสารหน้าเดียวพอ” เพราะว่าอีกหน้าหนึ่งไม่ได้สื่ออะไรเลย และเป็นแบบนี้แทบทุกที่ ซึ่งผมอ่านเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งตลกตรงที่ทุกๆ ปีจะต้องมีการตั้งกระทู้เปิดอภิปรายเรื่องนี้กัน จนกระทั่งความคิดนี้ถูกยอมรับจากสามัญสำนึกของคน จนวันหนึ่งรัฐบาลประกาศว่า “ถ่ายเอกสารบัตรประชาชนเพียงหน้าเดียวพอ” คุณลองคิดว่าไอเดียของคนที่ถ่ายเอกสารหน้าเดียวมีมูลค่าเท่าไหร่ เป็นสิบล้าน พันล้าน หมื่นล้านหรือมากกว่า ผมว่าไอเดียเล็กๆ แค่นี้มีราคาไม่ต่ำกว่าพันล้านนะ ซึ่งจริงๆ แล้วในสังคมของเรา มีไอเดียหรือโจทย์ให้เราแก้เต็มไปหมด เพียงแต่ว่าเราจะระดมไอเดียเหล่านี้ขึ้นมาพัฒนาไอเดียเหมือนกับระบบปฏิบัติการ Open source และก็ค่อยๆ ปรับปรุงทีละเล็กละน้อยไปเรื่อยๆ ซึ่งจะสอดรับกับความต้องการของคนในสังคม ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราขาดเป็นอย่างมากเลยก็คือ think tank ในประเทศไทย The People: ระบบ Think Tank ที่กล่าวมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่พรรคบอกว่า “เราเป็นพรรคประชาชน” ไหม สมบัติ: เราเรียกว่า “พรรคเพื่อมวลชน” ต้องเข้าใจก่อนว่าพรรคการเมืองปัจจุบันในช่วงที่ผ่านมา เขาใช้งบประมาณในการทำพรรคอย่างมหาศาล ดังนั้นคนที่จะเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองได้จะต้องมีเงินเยอะๆ แต่ว่าความเป็นพรรคการเมืองก็คือองค์กรของประชาชน ฉะนั้นหากประชาชนไม่สามารถเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ในความหมายว่ามีบทบาทในพรรคการเมือง ไม่ใช่ว่าเป็นแค่ฐานข้อมูลของพรรคการเมือง แต่เป็นคนที่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือเข้ามามีบทบาทในพรรคการเมืองของเราได้ ซึ่งพรรคในรูปแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ผมหวังว่าเทคโนโลยีในการสื่อสาร ระบบและวัฒนธรรมที่มีอยู่จะทำให้พรรคมวลชนเกิดขึ้นโดยใช้เงินน้อยกว่าพรรคการเมืองที่เคยมีมาในอดีต แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ใช้เงินเลยนะ ในปัจจุบันผมก็พบว่าต่อให้เรามีเทคโนโลยีหรือมีวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพแล้ว สุดท้ายก็ยังต้องใช้เงินอยู่ดี The People: ถึงตอนนี้ พรรคการเมืองของคุณใช้เงินเยอะไหม สมบัติ: ใช้ไปน่าจะเฉียดหมื่นแล้ว ตอนนี้พรรคอนาคตใหม่ชวนเตะบอลก็จะเก็บเงินผมหมื่นหนึ่ง ซึ่งแพงที่สุดที่เคยลงทุนแล้ว ชุดซ่อมประเทศราคา 650 บาท ชุดโจรสลัดราคาประมาณ 700 บาท และก็มีชุดที่เช่าคนอื่นมาบ้าง หรือถ้ารวมการจัดประชุมด้วยก็น่าจะเฉียดหมื่น ประมาณ 7,000-8,000 บาท The People: ถ้าพิจารณาสิ่งที่พรรคเกียนทำในหลายเดือนผ่านมา คิดว่าเป็นแค่สีสันหรือว่าเป็นการเอาจริง สมบัติ: ผมคิดว่าพรรคเกียนเป็นพรรคจริงอยู่แล้ว เป็นพรรคที่มีจุดมุ่งหมายในการทำพรรคจริงอยู่แล้ว แต่ว่าเรายังอยู่ในช่วงของการนำเสนอความเป็นพรรคเกียนอยู่ ทีนี้คนก็จะมองเห็นภาพลักษณ์อย่างสีสันของพรรคก่อน ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่เราจะนำเสนอ และกระบวนการภายในเราก็ทำ think tank ทำไอเดียเตรียมไว้ เมื่อโอกาสมาถึงก็จะนำเสนอไอเดีย think tank และรูปแบบของพรรคที่มีสีสันออกมา เป็นพรรคการเมืองที่มีสีสันที่จะเรียกว่าเป็นพรรคตลกก็ได้ The People :พรรคเกียนมีอะไรที่อยากนำเสนอเป็นรูปธรรมในทางเศรษฐกิจบ้างไหม สมบัติ: สิ่งหนึ่งที่ผมจะนำเสนอและมั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเราได้ ก็คือ การนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมต้นไม้” เวลาพูดถึงอุตสาหกรรม คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงอุตสาหกรรมไฮเทค เป็นพวกเครื่องจักร เทคโนโลยีหรืออะไรที่ซับซ้อน แต่ประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่มีแดดและน้ำ ค่า GDP ที่ส่งออกและได้รายได้มหาศาลมาจากอุตสากรรมของต่างประเทศทั้งสิ้น จงอย่าไปภูมิใจกับสิ่งนั้น สักพักหนึ่งเขาก็จะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่อื่นและเราจะไม่เหลืออุตสาหกรรมในประเทศแบบนี้อีกแล้ว แต่เราอยู่ในพื้นที่ที่มีแดดและน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้เรามีพืชเกษตรมากมายเกินความต้องการ จุดแข็งเลยกลายเป็นจุดอ่อน เพราะเราผลิตข้าว ยางพารา อ้อย มันสำประหลัง ปาล์มมากเกินความต้องการของตลาดในประเทศ เมื่อมีมากเกินไปเลยกลายเป็นจุดอ่อนของเรา ความคิดของผมจะอยู่บนสองสมมติฐานที่กล่าวไปข้างต้น ข้อเสนอของเราก็คือจะลดขนาดการทำเกษตรลงประมาณ 30% โดยเปลี่ยนจากพืชระยะสั้นเป็นไม้เนื้อแข็ง 30 ปีแทน ซึ่งไม้หวงห้ามในอดีตอย่างไม้สัก ไม้เต็ง ไม้แดงจะเป็นไม้ที่มีราคา แต่ด้วยความที่เป็นไม้หวงห้ามเลยทำให้ไม่สามารถปลูกได้ เราจึงจะทำการลดขนาดพื้นที่เกษตรลง เพื่อย้ายมาทำการปลูกไม้เนื้อแข็งแทน เนื่องจากไม้เหล่านี้มีราคาสูงมาก ที่แปลกก็คือ ต้นไม้เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ให้ดอกเบี้ยกับเราได้เรื่อยๆ พอครบ 30 ปีแล้วคุณยังไม่อยากขายก็สามารถเก็บไว้ได้ ในปีต่อไปต้นไม้ก็จะมีราคาสูงขึ้น เนื้อไม้ก็จะมากขึ้น ดังนั้นไม่ใช่ว่าประเทศไหนก็ปลูกไม้แบบนี้ได้ ประเทศไทยอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร ซึ่งทำให้ต้นไม้ในบ้านเราโตเร็วกว่าสแกดิเนเวีย 5 เท่า แต่เราก็ยังนำเข้าไม้สนจากสแกดิเนเวียอยู่ เพราะว่าเราไม่ได้คิดที่จะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมูลค่าก็เป็นมูลค่าในระดับใหญ่มาก ถ้าคุณมีปัญญาแบ่งพื้นที่ 30% ไว้ปลูกไม้เหล่านี้ พอเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คุณอายุ 60 ปี ไม่มีงานทำแล้วก็ยังมีไม้เหล่านี้เป็นหลักประกันอยู่เป็นหลักล้าน และถ้าคนไทยมีสิ่งเหล่านี้อยู่จะเป็นเสถียรภาพในชีวิตเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าคุณไม่จัดการตอนนี้ สุดท้ายพอแก่ตัว เรามีผู้สูงอายุอยู่ 1 ใน 3 ของประเทศ ก็จะล่มสลายและก็เป็นภาระของรัฐอีก ถึงแม้รัฐจะจ่ายได้ก็จะได้แค่แกนๆ เท่านั้น อีกเรื่องหนึ่งคือเราจะมีอุตสาหกรรมต้นไม้พลังงาน รถยนต์ที่คุณใช้อยู่ ภายใน 15-20 ปีจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้ว เมื่อปีที่แล้วเรานำเข้าน้ำมันดิบมา 1.2 ล้านล้านบาท แต่รถยนต์กว่าครึ่งหนึ่งไปใช้พลังงานไฟฟ้ากันแล้ว ถามว่าจะนำวัตถุดิบ เชื้อเพลิงที่ไหนมาผลิต ถ้าคุณใช้ไม้อย่างเช่น “กระถินเทพา” หรือไม้ที่เราไม่ได้ปลูกแต่อยู่ๆ ก็งอกขึ้นมาเต็มไปหมด เราส่งกระถินเหล่านี้เข้าโรงงานไฟฟ้าเชื้อมวลที่อยู่ในชุมชน แนวคิดของเราก็คือสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อมวลขนาดเล็กในชุมชน และให้ชาวบ้านปลูกพืชพลังงานส่งเข้าโรงงาน ราคาน้ำมันที่ซื้อเข้ามาจะกลายเป็นราคาต้นไม้ที่ซื้อขายกันในประเทศ เราก็จะเหมือนประเทศออสเตรเลียที่ไม่ได้ส่งออกมากมาย แต่มี GDP ในประเทศสูง เพราะระบบเศรษฐกิจภายในประเทศเขาดีมาก แต่ตอนนี้ถ้าเราเปลี่ยนได้ เราก็จะเปลี่ยนพืชเกษตรที่ล้นประเทศให้กลายเป็นไม้ที่ป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลได้ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าชุมชนมีระบบเศรษฐกิจแบบนี้ คนหนุ่มสาวก็จะไม่ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงหรือในโรงงานอุตสาหกรรม แต่เขาจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง เราก็จะเข้าสู่ระบบโครงสร้างประชากรที่สมดุล เพราะว่าถ้าในชุมชนมีทั้งระบบเศรษฐกิจและโรงงานอยู่ด้วยกัน ก็จะทำให้ไม่เกิดการแยกพ่อแยกลูก และก็จะทำให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้น The People: จากนโยบายที่ได้อธิบายมา พรรคเกรียนจะเป็นเหมือนกับพรรคเฉพาะทางหรือเปล่า สมบัติ: ไม่มีครับ พรรคของเรามีแพลตฟอร์ม สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่นโยบายส่วนหนึ่งที่เราคิดได้ ซึ่งจริงๆ เรามีอีกหลากหลายเรื่องที่คิดและก็ตีโจทย์ไว้ ทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องสิทธิการคุ้มครองสัตว์ ระบบขนส่งและอื่นๆ อีกมากมาย The People: มีวิธีการทำให้คน “อิน” ไปกับสิ่งที่กล่าวมาได้อย่างไร สมบัติ: ผมไม่ได้ต้องการให้เขาโหวตผม ผมแค่ต้องการให้เขาฟังเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องเลือกเรา ฟังแล้วลองคิดดูว่าโอเคกับไอเดียนี้ไหม เราไม่ได้มาหาเสียง เราหาแต่เรื่อง think tank และความเข้าใจต่างๆ และเราก็จะสื่อสารออกไป ดังนั้นเมื่อเราคิดได้ก็จะเริ่มนำเสนอไอเดีย เรื่อง think tank ออกไป และชวนให้ประชาชนมาอภิปรายร่วมกัน ถ้าประชาชนหรือพรรคการเมืองเห็นว่านโยบายดี ก็สามารถนำไปใช้ ไปคิดต่อยอดหรือดัดแปลงก็ได้เลย แต่ว่าเราอยากจะเป็น think tank ให้กับสังคมและพรรคการเมือง แล้วเราก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อีกหน่อยก็จะมีการนำเสนอในรูปแบบออนไลน์เลย คุณก็จะสามารถไปดูนโยบายในด้านต่างๆ ได้ แต่ตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างการผลิต The People: ย้อนกลับไปเรื่องชีวิต 4 ปีที่ผ่านมาหลังจากรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง(บทสัมภาษณ์นี้มีขึ้นก่อนที่มีข่าวว่า บัญชีธนาคารของเขาสามารถเปิดใช้ได้แล้ว) สมบัติ: ผมไม่สามารถใช้เงินที่สะสมในบัญชีธนาคารได้ และผมก็ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินเช่น ATM E-banking จ่ายค่าโทรศัพท์ และบริการอื่นๆ ที่คนอื่นใช้กันอย่างแพร่หลายได้ ผมไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ โอนเงินให้ลูกสาวผมที่ต่างประเทศก็ไม่ได้ ต้องผ่านชื่อคนอื่นทั้งหมด มีอยู่วันหนึ่งผมไปบรรยายที่ธรรมศาสตร์ เขาก็จะมีการจ่ายค่าวิทยากรให้ แล้วเขาก็ขอสมุดบัญชีธนาคาร ผมก็บอกว่าไม่มี ซึ่งผมก็ไม่อยากอธิบายว่าทำไมผมถึงไม่มีสมุดบัญชีเวลาจะทำธุรกรรมการเงินเพราะต้องอธิบายกันยาว แต่ผมก็เข้าใจและคุ้นชินว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ไม่ถึงกับชีวิตหดหู่ แต่ก็ทำให้การดำเนินชีวิตลำบากขึ้นมานิดหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง เหมือนกับเราไปขึ้นเขา ก็ต้องมีเรื่องผจญภัยเกิดขึ้นสักหน่อย ในชีวิตก็ต้องมีเรื่องแบบนี้บ้าง โดยส่วนตัวช่วงหลังต้องปรับชีวิตให้ adventure ขึ้นบ้าง ฉะนั้นก็ต้องไม่ธรรมดา ช่วงหลังก็จะเป็นแนวขำขัน เวลาผมอารมณ์เสียก็จะไปโพสต์ทวงเงินใน Facebook เล่น หรืออยากทำอะไรสนุกๆ ก็แกล้งไปทวงบัญชีคืนจากท่านนายก ทำให้เป็นโอกาสของชีวิตที่ได้มีโอกาสไปดักทวงเงินท่านประยุทธ์คืนด้วย The People: ท่ามกลางการเมืองที่ร้อนระอุ ทำไมถึงกลายเป็นคนคิดบวกได้ สมบัติ: อาจจะเป็นเพราะว่าผมเรียนศิลปะการละครมา ซึ่งสอนเรื่องเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เราสามารถตีความเรื่องศิลปะหรือเรื่องอื่นๆ ในมุมมองที่แตกต่างออกไปได้ อีกอย่างหนึ่งผมก็คิดว่าอายุปูนนี้แล้ว ผมผ่านเรื่องเครียดๆ มาก็พอสมควร ผมรู้ว่าเรามีทางเลือกที่จะรับมือกับปัญหาและเรื่องเครียดๆ ได้ ก็คือ ถ้าเครียดมาเราก็เครียดตอบกลับไปเลย หรือทำให้กลายเป็นเรื่องสนุก หาแง่มุมในเชิงบวกเชิงสร้างสรรค์ไปเลย อย่างเช่นมีคนมาบอกผมว่าถูกอายัติบัญชีก็ดีเหมือนกัน เพราะว่ามีคนช่วยเก็บเงินไว้ให้ เสียดายที่จ่ายดอกถูกไปหน่อย เขาย้ายบัญชีมาจากบัญชีประจำที่ได้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้ก็ไม่ได้เยอะมาก แต่ก็ผ่านมาสี่ปีแล้ว จริงๆ ก็ควรจะได้ดอกเยอะกว่านี้ ถึงเวลาเขาปลดบัญชีก็ยังดีที่มีคนเก็บไว้ให้ The People: ในช่วงที่กำลังลำบาก เราดูแลน้องลำธาร-ลูกสาว อย่างไรบ้าง สมบัติ: ผมส่งเงินให้ลูกใช้บ้าง แต่เป็นจำนวนไม่มากเพราะว่ากำลังของผมมีไม่มากพอ มีอยู่ช่วงหนึ่งผมขายข้าวและนาฬิกา ได้เงินมาก้อนหนึ่งก็ฝากเพื่อนไปให้ พอผมถูกจับผมก็มานั่งคุยกันว่าควรจะให้ลูกสาวไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย พอดีมีเพื่อนอยู่ที่อเมริกาเสนอตัวมาก็เลยส่งให้ไปอยู่ที่นั่น ข้อดีก็คือภายใน 4 ปีเขาโตเป็นผู้ใหญ่ และก็มีวุฒิภาวะสูงกว่าตอนที่อยู่ในประเทศไทยมาก ลูกสาวผมเองก็ยอมรับว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้ เขาก็เลยต้องพัฒนาตัวเขาเองอย่างถึงที่สุด ดังนั้นเขาก็เริ่มเลี้ยงดูตัวเอง ทำงานพิเศษอยู่ในร้านอาหารไทยของเพื่อน รับจ้างออกแบบกราฟิกให้กับหน่วยงานและชุมชน จนล่าสุดเขาก็ไปขอทุนที่มหาวิทยาลัยและไปสร้างผลงานไปประกวดกับองค์กรที่ให้ทุนอย่าง Adobe, Microsoft หรือบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ เขาก็เขียน essay ไป ก็ได้ทั้งทุนมหาวิทยาลัยและบริษัทที่สนับสนุนงานให้ ซึ่งเพียงพอต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจนจบ ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ The People: มีคิดถึงลูกบ้างไหม สมบัติ: คิดถึงครับ แต่ลูกคิดถึงผมหนักกว่าอีก ผมก็ยังมีเรื่องวุ่นวายอยู่ในชีวิตอยู่ แต่ลูกสาวในช่วงปีหลังๆ จะบอกว่าคิดถึงพ่อบ่อยๆ เพราะตั้งแต่รัฐประหารผ่านมา 4 ปีกว่า ยังไม่ได้เจอหน้ากันเลย The People: มีช่องทางคุยกันบ้างไหม สมบัติ: ผมใช้ Skype คุยกับเขาทุกอาทิตย์ ใน 1-2 อาทิตย์จะคุยกันครั้งหนึ่ง The People: มีประโยคสนทนาอะไรที่คุยกันแล้วอยากเล่าให้ฟังบ้างไหม สมบัติ: ผมมักจะบอกลูกว่าเราควรอยู่ในโลกของความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าเราจะขาดแคลนหรืออะไรก็ตาม เราก็ต้องอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เรามีความฝันแต่เราก็ต้องอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง การที่เรามีความฝันและความเป็นจริงอยู่ร่วมกัน ฟังแล้วอาจจะดูขัดแย้งกัน แต่จะเป็นสองหลักที่จะทำให้เราทะยานไปข้างหน้าได้ อย่างเช่นทุกก้าวเดินที่เหยียบลงไปคือพื้นดิน ไม่ใช่เหยียบเมฆ ไม่งั้นจะไม่ฟุ้งไม่ลอย เพราะถ้าฟุ้งลอยคุณจะเจ็บปวด เวลาเหยียบลงไปแล้วไม่มีพื้นดินจะรู้สึกผิดปกติ ฉะนั้นเราก็ต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง เราห่างกันก็มีข้อจำกัดในเรื่องของเงิน เขาก็ต้องทำงาน ถึงแม้ว่าเขาจะได้ทุน แต่มหาวิทยาลัยก็ให้งานเขาด้วย เขาก็สามารถทำงานพิเศษหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้ลูกสาวผมเลี้ยงตัวเองได้ในวัย 20 ปี ซึ่งจริงๆ เขาเลี้ยงตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 17 ปีแล้ว The People: ภูมิใจในลูกสาวไหม สมบัติ: แน่นอน ผมมั่นใจว่าเขาจะเป็นพลเมืองของโลกได้ เขามีสำนึกทางการเมือง ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทยอย่างเดียว เขาเป็นพลเมืองของโลก ยังสนใจในเรื่องของโรฮิงญา สิทธิมนุษยชน LGBT หรือแม้กระทั่งเรื่องสีผิว การเลือกปฏิบัติและก็สงครามบนโลก อย่างเช่นตอนเกิดสงครามซีเรียเขาก็สนใจอย่างเดือดพล่านมาก และเขาก็พยายามเป็นพลเมืองของโลก The People: คิดว่าเขาจะได้กลับมาที่นี่ไหม สมบัติ: ได้กลับมาแน่นอน เดี๋ยวพอท่านประยุทธ์ลงจากตำแหน่ง เขาก็ได้กลับมาแล้ว(หัวเราะ) The People : จากคำพูดของคุณที่เคยกล่าวไว้ว่า “ห้ามฉันพูด ฉันก็จะพิมพ์ ห้ามฉันพิมพ์ ฉันก็จะเขียน ห้ามฉันเขียน ฉันก็จะคิด หากจะห้ามฉันคิด ก็ต้องห้ามลมหายใจฉัน” ยังเชื่อในคำพูดนี้อยู่ไหม สมบัติ: ผมยังเชื่อนะ เพราะมีปรัชญาหนึ่งที่ชื่อว่า “Existentualist” ที่เชื่อในการตัดสินของการมีอยู่และการตัดสินใจของการเลือกในการตัดสินใจ ผมคิดว่าปรัชญานี้มีบทบาทต่อความคิดของผมสูงมาก การที่ผมออกมาทำในสิ่งที่คนทั่วไปไม่ทำกัน มาจากความคิดที่ว่า “หากเราไม่ทำ แสดงว่าเราไม่เลือกที่จะทำ” ไม่ใช่เกิดจากการที่เราไม่ทำเพราะเงื่อนไขไม่ได้ สิ่งนี้ทำให้เราต้องรับผิดชอบต่อการเลือกในสิ่งที่เราไม่เลือก แต่ว่าคนเราก็มีสองคนอยู่ในตัวเรา บางทีผมก็ตัดสินใจว่าจะไม่เลือก อาจเป็นเพราะว่าอายุผมมากขึ้น และพบว่าการเลือกในบางเรื่องจะทำให้เราเจ็บตัวมาก แต่ผมก็ผ่อนปรนโดยการหาวิธีการที่จะตอบโต้กับสิ่งนั้นๆ ด้วยวิธีการที่ไม่เจ็บตัวหรือเซฟตัวเองหน่อย แต่ถ้านิ่งเฉยไปเลยไม่เคยมี ถ้าผมพูดไม่ได้ผมก็จะนำเสนอ หรือพูดในรูปแบบอื่นๆ แทน