‘แพรรี่ ไพรวัลย์’ สะท้อน (บาง)ความเชื่อ (บาง)พิธีกรรม ความจริงต้องทำ หรือเราแค่ยึดติดกันเอง?

‘แพรรี่ ไพรวัลย์’ สะท้อน (บาง)ความเชื่อ (บาง)พิธีกรรม ความจริงต้องทำ หรือเราแค่ยึดติดกันเอง?

‘แพรรี่ - ไพรวัลย์ วรรณบุตร’ อดีตพระนักเทศน์ ที่กล้าท้ากล้าชน เปิดหน้าตอบความสงสัยชาว TikTok เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรม ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นหลักคิดของศาสนาพุทธ รวมถึงความเชื่อเรื่องปีชง ที่สร้างความร้อนใจให้กับคนในวงการแก้ชงในปัจจุบัน

  • ‘แพรรี่ - ไพรวัลย์ วรรณบุตร’ อดีตพระนักเทศน์ ฉีกทุกความเชื่อเรื่อง 'ปีชง' จนกลายเป็นข้อถกเถียงในโซเชียล
  • รวมประเด็นที่ แพรรี่ อธิบายเกี่ยวกับความเชื่อ และพิธีกรรม ที่ (อาจ) ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ และพระไตรปิฎก

เกิดกระแสใหญ่ที่ทำให้คนไทยต้องมานั่งขบคิดกันอีกครั้ง ในวิธีการเตือนสติของ ‘แพรรี่ - ไพรวัลย์ วรรณบุตร’ อดีตพระนักเทศน์ฝีปากกล้า ที่หยิบยกมาพูดผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งจุดประสงค์เพียงต้องการให้ความกระจ่างในเรื่องที่ถูกต้องแก่คนที่ถามเข้ามาเท่านั้น

แต่ด้วยความแรงทั้งคำตอบ และการฟาดฟันกระทบไปอีกหลายทอด ทำให้ แพรรี่กลายเป็นคำเสิร์ชที่ชาว Google ค้นหามากที่สุดอันดับต้น ๆ ในเวลานี้ โดยเฉพาะเรื่อง ‘ปีชง’

“ปีชงมีไว้สำหรับหลอกคนโง่ค่ะ”

บางส่วนของคำตอบจากแพรรี่ ที่ไขข้อสงสัยให้ชาว TikTok ว่าเชื่อเรื่องปีชงหรือไม่? เพราะสำหรับแพรรี่ เขาไม่เชื่อเรื่องนี้ โดยอธิบายว่า ต่อให้มีคำว่าปีชงหรือไม่ชงมาครอบตลอดทั้งปี ก็ไม่ได้หมายความว่า 365 วันของคนนั้นจะมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาทั้งหมด

“ปีชงมีไว้สำหรับหลอกคนโง่ค่ะ เพราะมันขายของได้ ปีชงตามมาด้วยการทำพิธีกรรม ทุกอย่างแก้ได้ด้วยการเสียเงิน วิธีแก้ชงก็คือ การเสียเงินแน่นอนค่ะ...แล้วการจัดพิธีกรรมไหว้ของดำ ไหว้ราหู ในพระไตรปิฎกเล่มไหนบอกว่าไหว้ราหูต้องของดำ ถ้าชีวิตง่ายขนาดนั้น แก้ได้ด้วยการเอาสายสิญจน์พันหัว ไม่ต้องมีก็ได้ศาสนาพุทธ ถ้าง่ายขนาดนั้น

“ส่วนใครที่เชื่อเรื่องปีชง หรือเชื่อพิธีกรรมก็เชื่อไป ส่วนดิฉันไม่เชื่อค่ะ เขาถามมาดิฉันก็มีหน้าที่ให้สติคนค่ะ”

ความแรงไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่อง ‘ปีชง’ แต่ก่อนหน้านี้ แพรรี่ยังให้สติในอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อ ซึ่งการที่ผู้เขียนหยิบยกมาเล่าเพื่อเป็นความรู้อีกแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือพิธีกรรมใด ๆ ที่ยกตัวอย่างมา

 

ความเชื่อ ‘การกรวดน้ำ’

บนแพลตฟอร์ม TikTok : paivanna01 ได้พูดเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการกรวดน้ำว่าบุญนั้นอาจไม่ถึงคนตายหรือไม่? ซึ่งแพรรี่อธิบายไว้ว่า หากทำบุญแล้วลืมกรวดน้ำก็ไม่เป็นไร เพราะบุญไม่ได้สำเร็จด้วยการกรวดน้ำ แต่สำเร็จด้วยการแบ่งส่วนบุญ หรือการตั้งใจตั้งมั่นในระหว่างที่ทำบุญต่างหาก ไม่เกี่ยวกับการกรวดน้ำเลย

“การกรวดน้ำในสมัยพุทธกาล มาจากการที่เราไม่สามารถยกประเคนได้ เลยใช้วิธีกรวดน้ำหรือหลั่งน้ำแทน เช่น การยกมอบสถานที่นี้ให้กับวัด ก็ใช้วิธีการกรวดน้ำแทน เพราะไม่สามารถยกสถานที่นั้นมาประเคนได้ เป็นการให้สิทธิ์เด็ดขาด

“กับอีกอย่างก็คือ การตัดเด็ดขาด ที่เราเรียกกันว่า ‘กรวดน้ำคว่ำขัน’ เหมือนยุคที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลั่งน้ำ (กรวดน้ำ) เพื่อตัดขาดกับสัมพันธไมตรีของหงสาวดี หลังเคยตกเป็นเมืองขึ้นนั่นเอง”

แพรรี่ยังพูดไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับการกรวดน้ำว่า การกรวดน้ำแล้วจะได้บุญ หรือส่งบุญให้คนตายได้สำเร็จ ไม่มีในพระไตรปิฎก เป็นเพียงรูปแบบการทำพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น บางครั้งความเชื่อเหล่านั้นที่เชื่อมโยงกับพิธีกรรมเพราะต้องการปลูกฝังให้ซึมซับมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึง ‘ต้องทำ’ หรือ ‘ควรทำ’ จนเป็นเรื่องเดียวกัน

“พุทธศาสนาสอนเพียงว่า ทุกอย่างล้วนสำเร็จด้วยใจ มีใจเป็นประธาน การอุทิศก็คือ การเจาะจงตั้งใจอุทิศให้ ไม่ใช่มาจากการกรวดน้ำ บางคนไปยึดติดกับพิธีกรรมซะมาก ไม่ได้กรวดน้ำแล้วจะไม่สบายใจ คือทำได้ แต่อยากให้เข้าใจหัวใจของพุทธศาสนาว่า พิธีกรรมเป็นเพียงการทำให้ซึมซับ แต่ไม่ใช่ทางปฏิบัติที่ต้องยึดติดขนาดนั้น”

 

การเปลี่ยนน้ำ ‘หิ้งพระ’

เป็นปัญหาโลกแตกของบางครอบครัวเลยก็ว่าได้ เรื่องการเปลี่ยนน้ำบนหิ้งพระ คำสั่งจากแม่ ๆ ต้องเปลี่ยนเดี๋ยวนั้น เดี๋ยวนี้ แต่สำหรับแพรรี่ กลับตั้งคำถามกลับว่า “ทำไมต้องมีน้ำหิ้งพระ...เลี้ยงยุงกันเหรอ?”

กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำเอาเสียงแตกในช่องคอมเมนต์ว่าต้องเปลี่ยนน้ำหิ้งพระ และจำเป็นต้องมีหรือไม่? เพราะแพรรี่บอกว่า สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมี ทำให้สกปรก แมลงตกไปก็ตายเปล่า ๆ หนำซ้ำยังเป็นแหล่งทำให้เกิดยุงด้วย

“ลองคิดดู เทน้ำใส่แก้วค้างคืน คนทั่วไปตื่นเช้ามาอีกวันจะยังกินกันหรือเปล่า ก็ต้องทิ้งเหมือนกัน แต่ถ้าโดยทั่วไปที่ควรทำมากกว่าคือ บูชาดอกไม้หรืออะไรก็ได้ที่อยากบูชา ทำในวันพระ หรือวันสำคัญก็พอแล้ว แต่ไม่ต้องจุดธูปจุดเทียนนะ เดี๋ยวไฟไหม้บ้านอีก

“ส่วนความเชื่อที่ว่า การบูชาข้าว อาหาร หรือน้ำต่าง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าท่านจะเสด็จลงมาฉัน ไม่ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น อันนั้นมันเป็นความเชื่อของศาสนาผี การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งไม่ได้เป็นแบบนั้นนะคะ ธรรมเนียมเรื่องการบูชาข้าวพระพุทธมันมาจากเดิมทีที่คนเขาถวายเซ่นสรวงผีบรรพบุรุษ คนตาย มันคล้ายกัน แล้วคนก็สร้างความเชื่อขึ้นมาเอง แต่หลักพุทธศาสนาการบูชาของสด อาหาร อะไรก็ตาม จะเป็นแค่การบูชาเท่านั้นไม่ต่างกับดอกไม้ เพราะพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว”

หรือแม้แต่ปัญหาที่คนสงสัยและกลายเป็นเรื่องที่คนถกเถียงในโลก TikTok อีกหนึ่งเรื่องก็คือ ‘การเปิดไฟให้ศาลพระภูมิตอนกลางคืน’ เรียกว่าฉีกทุกกฎทุกความเชื่อ ยันเรื่องศาลพระภูมิ สิ่งที่ทุกบ้านต้องมีตามความเชื่อของชาวพุทธแต่โบราณ โดยเชื่อกันว่า ศาลพระภูมิสร้างไว้สำหรับเป็นที่สถิตของเทพารักษ์เพื่อให้ช่วยคุ้มครองคนในบ้าน ซึ่งตอนกลางคืนก็มักจะเปิดไฟให้กับศาลพระภูมิด้วย

 

การเปิดไฟให้ ‘ศาลพระภูมิ’

มีหลายความเชื่อเกี่ยวกับการเปิดไฟให้กับศาลพระภูมิ โดยคนไทยส่วนมากจะเชื่อว่า ถ้าปล่อยให้ศาลพระภูมิมืดในตอนกลางคืน อาจทำให้ ‘สัมภเวสี’ เข้ามาอยู่แทนก็ได้

แต่แพรรี่กลับมองว่า การที่เราเปิดไฟให้กับศาลพระภูมิตลอดเวลาไม่เพียงแต่จะสิ้นเปลือง ยังทำให้เทพารักษ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนอนไม่หลับด้วย (เพราะเปิดไฟตลอดทั้งคืน)

“เอาจริง ๆ นะถ้าไม่มีศาลพระภูมิที่บ้านยังไม่เป็นไรเลย เพราะสมัยก่อนเขาก็ไม่ได้ตั้งศาลพระภูมิกันนะ แต่เขาสร้างศาลตายาย เขาไหว้บรรพบุรุษกัน สมัยก่อนสร้างง่าย ๆ เลย บางคนก็ตั้งฐานแล้วเอาปี๊บมาตั้งแล้วไหว้เฉพาะวันสำคัญก็มี ศาลพระภูมิในสมัยนี้ก็กลายเป็นที่นอนแมวไปหมดแล้ว”

ต้องพูดว่าหลากความเชื่อ หลายพิธีกรรมที่ปัจจุบันคนไทยยังกระทำต่อ ๆ กันมา พอมาเจอการเตือนสติแบบแพรรี่ จึงไม่แปลกใจที่จะมีการถกเถียงและฟาดฟันกันอยู่บ้างในโลกโซเชียลฯ สำหรับผู้เขียนมองว่า มุมใครก็มุมใคร ไม่ว่าจะมองจากทางซ้ายหรือขวาก็ต่างบอกว่าถูกต้องทั้งหมด

ดังนั้น เราจึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครผิดใครถูก แต่สิ่งที่พอจะทำได้เองโดยไม่ต้องถามใครเพื่อชวนทะเลาะ ก็คือ ทำอะไรก็ได้ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งตัวเองและผู้อื่น อันนี้น่าจะเป็นการเตือนสติที่ใช้ได้ตลอดกาล โดยไม่มีปีชง หรือพระราหูย้ายเข้ามาให้กังวลใจ

 

 

ภาพ : ไพรวัลย์ วรรณบุตร

อ้างอิง :

paivanna01/ TikTok

paivan01/ Facebook