21 พ.ค. 2567 | 15:06 น.
“ไม่มีใครมาบอกให้เราออมเงิน เราก็ออกมาแบบไม่มีเงินออมเลย ทำให้เรายังต้องทำมาหากิน เพราะเรากลายเป็นคนสูงอายุที่ฐานะไม่ค่อยดี ถ้าไม่มีรายได้ก็จะอยู่ไม่ได้”
นี่คือเสียงบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตจาก อรุณี ศรีโต หรือ ป้ากุ้ง ผู้ทำงานตั้งแต่อายุ 17 ปี กระทั่งปัจจุบันเข้าสู่วัย 70 ปีก็ยังคงทำงานอยู่ แม้จะเป็นแรงงานนอกระบบก็ตาม
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ตั้งแต่ปี 2564 คือมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ทว่าคนจำนวนหนึ่งในสังคมยังมีอคติต่อผู้สูงอายุว่าเป็นภาระของสังคม ทั้งด้านสุขภาพที่เริ่มมีความเสื่อมถอย ภาพลักษณ์ที่ไม่น่าพิสมัย กระทั่งศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ขณะที่ข้อเท็จจริง ผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงแข็งแรง มีความสามารถในการทำงานสูง รวมถึงยังสามารถเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนสังคมได้อีกด้วย ร่วมสำรวจศักยภาพของผู้สูงวัยผ่านประสบการณ์ของป้ากุ้ง และ อัญชนา นิติคุณ ผู้ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ
เมื่อการทำงานไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ แต่กลายเป็นสิ่งที่ ‘ต้อง’ ทำเพื่อเลี้ยงชีพในวัยเกษียณ
เกษียณแล้วต้องอยู่บ้านเลี้ยงหลาน
เกษียณแล้วกลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายที่ต่างจังหวัด
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นภาพจำต่อผู้สูงวัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถดูแลตัวเองและมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพโดยไม่ต้องทำงาน แต่ผู้สูงอายุอีกจำนวนไม่น้อยที่มีรายได้ต่ำ หรือไม่มีรายได้และเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางสังคม
“คนส่วนใหญ่อายุ 70 - 75 ก็ยังทำงานกันเยอะมาก เมื่อก่อนรัฐไม่มีการสร้างความเข้าใจให้เราว่า เกษียณแล้วยังไงต่อ? ทั้งที่ผู้สูงอายุคือคนที่ทำงานให้ประเทศชาติมานาน”
ป้ากุ้งบอกเล่าสถานการณ์ผู้สูงอายุในปัจจุบัน หลังจากออกจากระบบโรงงานในวัย 55 ปี แล้วกลายเป็นแรงงานนอกระบบ จึงพบว่าผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงทำงาน เช่น เย็บผ้า นวดแผนไทย วินมอเตอร์ไซค์ ห่อข้าวต้มมัด ทอดกล้วยแขกขาย เป็นต้น ขณะที่สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ
ส่วนการเป็นผู้ประกันตนในประกันสังคมมาตรา 39 หรือมาตรา 40 มักถูกมองว่าสวัสดิการที่ได้รับไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
“สมัยป้ากุ้งทำงานอยู่ในโรงงาน ไม่ได้นึกว่าคนรุ่นเราจะกลายเป็นผู้สูงอายุเยอะ ไม่มีใครบอก ไม่มีสัญญาณอะไร แต่ตอนนี้แค่ตำบลเดียวก็มีผู้สูงอายุเป็นพัน ๆ คนแล้ว”
ผู้สูงอายุบางคนถูกทิ้งให้อยู่บ้าน บางคนมีปัญหาสุขภาพ บางคนสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยไม่ดี และรัฐไม่มีนโยบายการดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด สภาพการณ์เหล่านี้จึงไม่เอื้อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทย
“การทำงานนอกระบบไม่มีกำหนดว่า จะได้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไร ถ้าทำเยอะก็ได้เยอะ ถ้าทำน้อยก็ได้น้อย อย่างกลุ่มเย็บผ้าทำงานตั้งแต่ 05.00 - 20.00 น. หรือบางคนทำงาน 12 - 15 ชั่วโมง โดยไม่มีองค์กรไหนเข้าไปช่วยแบ่งเบาหรือแก้ปัญหาตรงนี้
“สังคมไทยต้องหยิบเรื่องสังคมผู้สูงอายุขึ้นมาถกอย่างจริงจัง เรียกว่าเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ลำพังฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนที่รายได้น้อย เราจะทำอย่างไรให้เขาอยู่แบบสมศักดิ์ศรี หลังจากทำงานรับใช้บ้านเมืองมานานแล้ว”
การทำงานหนักมาตลอดชีวิตวัยหนุ่มสาว แต่ยามเกษียณก็ไม่อาจมีคุณภาพชีวิตดีเท่าที่ควร เมื่อมีปัญหาด้านความมั่นคงและไม่อยากเป็นภาระผู้อื่น ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงทำงานหารายได้เลี้ยงชีพตัวเอง เนื่องจากกลไกการช่วยเหลือดูแลผู้สูงวัยในสังคมไทยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่ผู้สูงวัยเผชิญ โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่สวนทางกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
‘ผู้สูงอายุ’ เป็นอะไรได้มากกว่าที่คิด หากเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพ
ศักยภาพของผู้สูงอายุไม่ได้มีเรื่องการทำงานเท่านั้น แต่การรวมกลุ่มของผู้สูงวัยยังสามารถสร้างความร่วมมือได้อย่างคาดไม่ถึง
“ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า การรวมตัวเป็นชมรมผู้สูงอายุสามารถทำงานช่วยเพื่อนผู้สูงอายุ ช่วยแบ่งเบาภาระหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ผ่านการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนกับผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกชมรม”
อัญชนา นิติคุณ หรือ คุณไก่ ผู้ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ ภายใต้เครือข่ายสภาผู้สูงอายุทั่วประเทศ บอกเล่าประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้สูงวัย จากสถานการณ์ที่หมอในพื้นที่มีน้อยและต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งไม่สามารถลงไปทำงานกับผู้สูงอายุในระดับบุคคลได้
ขณะที่แกนนำชมรมผู้สูงอายุสามารถสร้างความเชื่อถือและความมั่นใจให้กับสมาชิกผู้สูงวัย จากช่วงแรกที่มีผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเพียง 30% เพิ่มขึ้นถึง 60 - 70% และบางที่เข้าถึงการรับวัคซีน 80% นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างการแสดงศักยภาพของผู้สูงอายุ
“จริง ๆ ผู้สูงอายุมีศักยภาพ แต่หน่วยงานไม่ได้มองเห็นในเรื่องนั้น และไม่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุลองใช้ศักยภาพ ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ หน่วยงานเป็นผู้จัดการ ส่วนผู้สูงอายุกลายเป็นเพียงผู้เข้าร่วม แต่ไม่ได้เป็นผู้ขับเคลื่อน
“วันนี้ที่เห็นชัด ๆ คือเราทำงานเพื่อให้ผู้สูงอายุได้พึ่งพาตัวเอง เรามองเห็นว่าผู้สูงอายุเองก็มีความพยายามที่จะทำอะไร เพื่อพึ่งพาตัวเองให้นานที่สุดเท่าที่จะพึ่งพาตัวเองได้”
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy): ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคม โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 และ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์