ย้อนรอยจุดเริ่มต้น ‘เมืองบังกาลอร์’ กับฉายาเป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ แห่งอินเดีย

ย้อนรอยจุดเริ่มต้น ‘เมืองบังกาลอร์’ กับฉายาเป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ แห่งอินเดีย

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ ‘เมืองบังกาลอร์’ จนวันที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์แห่งอินเดีย’ โดยมีผู้ริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับซิลิคอนแวลลีย์ ก็คือ ‘Ram Krishna Baliga’ วิศวกรคนอินเดียที่วางโครงสร้างเกี่ยวกับไฟฟ้าในเมืองบังกาลอร์

  • เมืองบังกาลอร์ ได้รับการยกย่องให้เป็นซิลิคอนแวลลีย์ในประเทศอินเดีย ซึ่งพยายามกับความฝันนี้มาตั้งแต่ 45 ปีก่อน
  • ‘Ram Krishna Baliga’ ผู้ริเริ่มแนวคิดยกระดับบังกาลอร์ให้มีโครงสร้างที่พัฒนาด้านเทคโนโลยี

สำหรับคำว่า ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ จุดเริ่มต้นของคำนี้ทำให้หลายคนนึกถึง ‘ซานฟรานซิโก’ สำหรัฐอเมริกา เพราะบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกต่างก็มีที่มาจากจุดนี้เหมือน ๆ กัน แต่หารู้ไม่ว่ามีอีกหลายประเทศที่มีเมืองบ่มเพาะเป็นซิลิคอนแวลลีย์เช่นกันอย่าง ‘อินเดีย’ ซึ่งตอนนี้หลายคนกำลังจับตา หลังจากที่ World Economics ประกาศประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงสุดในโลก กลายเป็นอินเดียแซงจีนเป็นที่เรียบร้อย (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2023)

นักวิเคราะห์หลายคนมองเรื่องข้อได้เปรียบในกลุ่มแรงงาน โดยอินเดียกลายเป็นเหมือนคลังแรงงานคุณภาพของโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งในปี 2018 คนอินเดียที่เชี่ยวชาญด้านไอทีกว่า 40% เข้ามาทำงานที่ซิลิคอนแวลลีย์ในสหรัฐฯ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ในอินเดียที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และมีสตาร์ทอัพใหม่ ๆ เกิดขึ้นแทบทุกวัน

ในเมืองบังกาลอร์’ (คนอินเดียเรียก ‘เบงกาลูรู’) เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ย้อนไปเมื่อ 45 ปีก่อนถือเป็นอีกหนึ่งรัฐในอินเดียที่ค่อนข้างยากจนข้นแค้น อย่างไรก็ตาม โดยปกติหนังทุกเรื่องมักมีพระเอกขี่ม้าขาวเสมอ เรื่องนี้ก็เช่นกัน

เมื่อปี 1978 มีชายคนหนึ่งชื่อว่า ‘Ram Krishna Baliga’ พยายามอย่างหนักที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรัฐนี้ และพัฒนาอย่างมากที่จะสร้าง ‘Electronic City’ ก็คือศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสมัยนี้บางคนเรียกว่า Smart City เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งเมืองอิเล็กทรอนิคส์ในเมืองบังกาลอร์

นอกจากนี้ Ram Krishna Baliga ยังตั้งเป้าหมายด้วยว่า อยากจะให้บังกาลอร์กลายเป็น ‘Silicon Valley of India’ ซึ่งนั่นนับเป็นคนแรก ๆ ที่คาดหวังให้อินเดียเดินไปสู่ทิศทางนั้น

ย้อนรอยจุดเริ่มต้น ‘เมืองบังกาลอร์’ กับฉายาเป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ แห่งอินเดีย

 

บิดาที่สร้างซิลิคอนแวลลีย์อินเดีย

คนในยุค 1970 ต่างก็ยกย่องให้ Ram Krishna Baliga เป็นบิดาแห่งเมืองเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดให้อินเดียมีซิลิคอนแวลลีย์ เมืองแห่งเทคโนโลยีและเป็นแหล่งกำเนิดให้กับสตาร์ทอัพของอินเดียให้รู้จักไปทั่วโลก

เขาเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือมากโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี และเขามักได้ไอเดียใหม่ ๆ มาจากหลายบริษัทในสหรัฐฯ เขาถือว่าเป็นข้าราชการที่มีความกระตือรือร้นมาก มีความเป็นสากลสูง มีความเป็นผู้ประกอบการ นักวิชาการที่ค่อนข้างใฝ่รู้ และมีความพยายามสูงมากที่จะสร้างโลกให้น่าอยู่ขึ้น

อาชีพแรกที่เขาทำคือ เป็นหัวหน้าวิศวกรของ Bharat Electronics (บริษัทด้านการบินและอวกาศและการป้องกันประเทศของรัฐบาลอินเดีย), ต่อมาเขาทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายงาน และเข้ามารับตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการทั่วไปของแผนกเรดาร์ที่ Bharat Electronics ซึ่งทำงานและเติบโตในบริษัทนี้มาตลอด 15 ปี

หลังจากนั้นเขาได้รับตำแหน่งขึ้นเป็นประธานและกรรมการผู้จัดการของ KEONICS (Karnataka State Electronics Development Corporation) และได้เริ่มโครงการ Keonics Karnataka Electronic ขึ้นครั้งแรก ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้บังกาลอร์เป็น Electronic City และได้ฉายาเป็นซิลิคอนแวลลีย์แห่งอินเดียนั่นเอง

ผลงานของเขาเป็นที่น่าจดจำและได้รับการยกย่อง เพราะว่าเดิมทีรัฐกรณาฏกะเรียกว่าเป็นหนึ่งในรัฐที่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่พอเพียงมาตลอด Ram Krishna Baliga สามารถพัฒนาเมืองให้โครงสร้างพร้อมและมีความทันสมัยขึ้น

จนในปี 1991 ถึงยุคของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของอินเดียซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก ทำให้มีนักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจในเมืองบังกาลอร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการ Electronic City

เมื่อเมืองพร้อม ระบบโครงสร้างด้านเทคโนโลยีมีความพร้อม แรงงานจำนวนมากมีคุณภาพ คนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ผสมกับข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรงถูก ทำให้เมืองบังกาลอร์กลายเป็นนางเอกที่ถูกตาต้องใจของกลุ่มนักลงทุนตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบันเมืองบังกาลอร์มีบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านไอทีมากกว่า 5,500 บริษัท (ทั้งของอินเดียและบริษัทข้ามชาติ) ซึ่งบังกาลอร์ยังติดเป็น 1 ใน 5 ของเมืองแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก

โดยเวลานี้มีหลาย ๆ บริษัทที่สร้างสำนักงานในเมืองบังกาลอร์ เช่น TCS, Infosys, Wipro, Polaris, HCL, Apple, Microsoft, IBM และ Oracle Sap ซึ่งล้วนเป็นบริษัทเทคโนโลกระดับแถวหน้าของโลก นอกจากนี้เมืองบังกาลอร์ยังมี ‘Tech Centers’ ของหลายบริษัทชั้นนำด้วย เช่น Microsoft, Amazon, Walmart, Adobe, Visa, KPMG เป็นต้น

ความน่าสนใจของเมืองบังกาลอร์มีอยู่หลายประการหากเทียบกับซิลิคอนแวลลีย์ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องราคาที่ดินและค่าครองชีพ ซึ่งแน่นอนว่าบังกาลอร์กินขาดในเรื่องนี้

ขณะที่รัฐที่ปกครองรัฐกรณาฏกะเองก็มีนโยบายส่งเสริมด้านไอที ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 5 ปี (ปี 2020-2025) ทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ปรับปรุงระบบอีโคซิสเต็ม, การตลาดที่สนับสนุนเมืองไอทีอย่างเต็มที่ จนไปถึงการส่งเสริมคนในการเพิ่มทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และลดข้อจำกัดหรืออุปสรรคเพื่อนักลงทุนด้วย

ความเคลื่อนไหวทั้งอดีตและปัจจุบันของเมืองบังกาลอร์ค่อนข้างน่าสนใจ โดยเฉพาะการสานต่อแนวคิดหลาย ๆ อย่างเพื่อผลักดันให้เมืองนี้เป็นซิลิคอนแวลลีย์อย่างสมบูรณ์ ความน่าอิจฉาของเมืองแห่งนี้ก็คือ พวกเขามี Ram Krishna Baliga อีกหลายคนที่อยากเห็นบังกาลอร์สร้างสตาร์ทอัพใหม่ ๆ และกลุ่มคนหัวกะทิด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้น

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

Bengaluruurban

Economictimes

Timesnownews

Youube

Thescalers

Uees.edu

Electronic-city