18 มิ.ย. 2566 | 16:30 น.
“เลิฟเลซเป็นตัวอย่างของผู้หญิงที่ไม่ธรรมดา... เพราะเธอแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถทำอะไรได้บ้าง หากได้รับโอกาส”
แม้ว่า ‘เอดา เลิฟเลซ’ (Ada Lovelace) ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก จะไม่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้แล้ว แต่มรดกที่เธอมอบให้กับคนรุ่นหลังยังคงได้รับการกล่าวขานมาจนปัจจุบัน เธอคือเลดี้จากตระกูลสูงศักดิ์ที่ได้รับการปฏิบัติต่างจากหญิงชนชั้นสูงได้ช่วงกลางปี 1800 อย่างสิ้นเชิง
เพราะผู้เป็นแม่ ‘แอนนาเบลล่า มิลแบงค์’ (Annabella Milbanke) มองว่าสตรีควรได้รับการศึกษาในหลากหลายศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และตรรกศาสตร์ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ลูกสาวคนเดียวของเธอควรร่ำเรียน
แม่ของเอดาเกลียดชังจินตนาการเพ้อฝัน บทกวีคือสิ่งต้องห้าม เพราะเธอมองว่าสิ่งเหล่านี้อาจทำให้ลูกสาวเจริญรอยตามนักกวีอย่าง ‘ลอร์ด ไบรอน’ (Lord Byron) สามีและพ่อที่ทิ้งไปตั้งแต่ลูกสาวคนแรกเกิดมาได้เพียงไม่กี่สัปดาห์
“จินตนาการคือสิ่งอันตรายและอาจทำลายชีวิตเธอได้ เพราะมันถูกส่งมาจากเขา”
วัยเด็กของเอดาจึงหมดไปกับการเรียนหนังสือ กลายเป็นสตรีแปลกแยกที่ได้รับการศึกษาเทียบเท่าบุรุษ ถึงจะเป็นเรื่องแปลกเพียงใด แต่เอดาตัวน้อยกลับมีผลการเรียนที่ดีจนได้รับคำชมจากอาจารย์ผู้สอนอยู่เสมอ (แม่ของเธอจ้างคุณครูมาสอนหนังสือที่บ้าน) แต่ก็ไม่วายโดนทำโทษหากไม่สามารถแก้โจทย์ปัญหาที่ได้รับมาได้
แม่ของเธอมักจะลงโทษโดยให้เอดาอยู่นิ่ง ๆ ห้ามขยับครั้งละหลายชั่วโมง เขียนจดหมายสำนึกผิดซ้ำ ๆ ในความผิดพลาดของตัวเอง และแก้โจทย์ไปจนกว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้อง
ความเครียด กดดัน กลายเป็นสิ่งปกติที่แทรกซึมอยู่ในความทรงจำวัยเด็กของเธอโดยสมบูรณ์
เมื่ออายุได้ราว 8 ขวบ เอดาป่วยเป็นโรคไมเกรนทำให้เธอสูญเสียการมองเห็นไปชั่วขณะ และร่างกายของเธอก็กลายเป็นอัมพาตบางส่วนหลังจากเป็นหัดในปี 1829 เธอใช้เวลาพักฟื้นร่างกายนานกว่า 1 ปี นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง ขยับร่างกายไม่ได้ มีเพียงตำราเรียนวางอยู่ข้างกาย
และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ลอร์ด ไบรอน ผู้เป็นพ่อก็เสียชีวิตลงตอนเอดาอายุ 8 ขวบ ซึ่งก่อนที่เขาจะจากไปได้เขียนจดหมายมาฉบับหนึ่ง ถามถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกสาวคนเดียวของเขาจากแอนนาเบลล่า
“ฉันสอนลูกให้ละทิ้งซึ่งจินตนาการ แล้วหันมาเอาดีด้านคณิตศาสตร์ ดนตรี และภาษาฝรั่งเศสแทน”
ทั้งหมดนี้คือความหวาดกลัว แอนนาเบลล่ากลัวเอดาจะเป็นเหมือนพ่อ เธอไม่อยากเห็นภาพนั้น และนั่นจึงเป็นที่มาของวัยเด็กอันเจ็บปวดของเอดา
เมื่อเอดาอายุ 12 ขวบ เธอบอกกับผู้เป็นแม่ว่า ‘เธออยากบินได้’ แม้จะเป็นคำพูดที่ดูเลื่อนลอย แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กหญิงเริ่มลงมือศึกษากายวิภาคศาสตร์และเทคนิคการบินของนก ค้นหาทุกความเป็นไปได้เพื่อทำให้มนุษย์บินได้อย่างจริงจัง
เดือนกุมภาพันธ์ 1828 ‘Flyology’ บันทึกผลการศึกษาของเธอปรากฏออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เธอสร้างปีกนกขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งทำมาจากลวดหุ้มกระดาษและขนนก แต่ก็ไม่วายโดนผู้เป็นแม่ตำหนิเธอที่ละเลยการเรียน ออกมาทำเรื่องไร้สาระแทน
จากจินตนาการอันล้ำสมัยของเด็กหญิงเอดานี่เอง ทำให้ ‘ชาลส์ แบบเบจ’ (Charles Babbage) บิดาแห่งคอมพิวเตอร์เรียกเธอว่า เลดี้แฟรี่
“เลิฟเลซคือแม่มดแห่งคณิตศาสตร์ เธอสามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นจริง”
เอดารู้จักกับชาลส์ แบบเบจ พ่อม่ายวัยสี่สิบปลาย ๆ ตอนที่เธออายุ 17 ปี หลังจาก ‘แมรี ซอเมอร์วิลล์’ (Mary Somerville) ครูสอนคณิตศาสตร์แนะนำให้ทั้งคู่รู้จักกันในปี 1833 จากคนแปลกหน้าทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เขาได้นำความคิดที่น่าสนใจมาบอกเล่าให้เธอฟังอยู่บ่อยครั้ง และเอดาก็สนใจทุกครั้งที่ได้ฟังแนวคิดของแบบเบจ
เอดาแต่งงานกับวิลเลียม คิง (William King) ตอนอายุ 19 ปี ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 3 คน ได้แก่ ไบรอน (Byron), แอนนาเบลล่า (Annabella) และราล์ฟ (Ralph) แม้จะมีอีกสถานะเพิ่มขึ้นมา แต่โชคดีที่สามีของเธอสนับสนุนความชอบด้านคณิตศาสตร์ของเธอมาโดยตลอด
มีครั้งหนึ่งแบบเบจขอให้เอดาแผลบทความวิชาการเกี่ยวกับเครื่องยนต์จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ เขียนโดย Luigi Menabrea วิศวกรทหารชาวอิตาลี เธอไม่ได้แค่แปลเท่านั้น หากแต่ยังเพิ่มบทวิเคราะห์เข้าไปในส่วนของเชิงอรรถ (เธอตั้งชื่อว่า Notes ประกอบด้วย Note A ถึง Note G) จากความยาวไม่กี่หน้าก็เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึงสามเท่า บันทึกของเธอได้รับการตีพิมพ์ในปี 1843 แม้ว่าจะเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจ แต่กว่าเอดาจะได้รับเครดิตในผลงานเขียนชิ้นนี้ก็กินเวลาไปอีกสี่ปี
หนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เธอคือ การช่วยให้เครื่องจักร Analytical Engine สามารถรับโปรแกรมและทำงานตามคำสั่งของโปรแกรมที่ป้อนเข้าไปได้ ซึ่งเธอได้รับแนวคิดนี้มาจากแบบเบจ แต่เขาไม่สามารถทำให้เครื่องทำตามคำสั่งได้ เอกสารที่ระบุว่าเอดาเป็นผู้เขียนโปรแกรมถูกพบในจดหมายที่ทั้งคู่เขียนถึงกัน ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 1835 ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 1852
โดยเอดาได้เสนอเทคนิคการเขียนโปรแกรมแบบวนรอบซ้ำ ๆ ที่เรียกว่า Loop ฝังอยู่ในโปรแกรมหลัก เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน
โชคไม่ดีที่เอดาติดการพนันอย่างหนัก เธอใช้ความสามารถทางคณิตศาสตร์หมดไปการพนัน แถมยังเริ่มมีข่าวลือว่าเธอมีชู้ อีกทั้งยังป่วยอยู่บ่อยครั้ง จนต้องหันไปพึ่งฝิ่นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดทางร่างกาย เธอกลายเป็นหญิงสูงศักดิ์ที่เสพติดฝิ่นอย่างหนัก แถมยังหมดเงินไปกับการพนันในปี 1851 มีรายงานว่าเธอเสียเงินเดิมพันแข่งม้าสูงถึง 400,000 ดอลลาร์ ทุกอย่างในชีวิตเริ่มพังทลาย ผลงานอันยิ่งใหญ่ก็ไม่อาจทำให้เธออยู่กับร่องกับรอยได้
เอดาเสียชีวิตลงในวันที่ 27 พฤศจิกายน 1852 ด้วยโรคมะเร็งมดลูก ขณะอายุ 36 ปี เธอเคยประกาศว่า
“ศาสนาสำหรับฉันคือวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์คือศาสดาเดียวที่ฉันนับถือ”
แม้ว่าผู้เป็นแม่จะโน้มน้าวให้เธอหันมานับถือศาสนาเพียงใด เธอก็ยังยืนยันคำเดิม การเจ็บป่วยของลูกสาวทำให้เธอทุกข์ใจอย่างหนัก เธอได้แต่ขอร้องอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าให้อภัยการกระทำที่เลวร้ายในอดีต แต่ทั้งหมดกลับไม่เป็นผล เอดา เลิฟเลซ จากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
ร่างของเธอถูกฝังอยู่ใกล้กับผู้หลุมศพของผู้เป็นพ่อ ณ โบสถ์เซนต์แมรี แม็กดาลีน เมืองนอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษ
ในปี 1979 กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา พัฒนาภาษาซอฟต์แวร์โดยตั้งชื่อว่า Ada เพื่อเป็นการรำลึกถึงเธอ แม้ก่อนหน้านั้นจะมีความพยายามลดทอนคุณค่าความเป็นหญิงของเอดาอยู่บ่อยครั้ง หลายฝ่ายมองว่าเธอไม่ควรได้รับการยกย่อง เพราะกิจกรรมหรือการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่เพศชายควรกระทำ
“ในขณะที่ผู้คนตระหนักได้ว่าภาษาคอมพิวเตอร์มีความสำคัญมากเพียงใด แต่ยังมีอีกกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน และพยายามเรียกคืนสิ่งนี้ให้กลับมาเป็นกิจกรรมของผู้ชาย
“เพราะยังมีคนที่พยายามทำลายชื่อเสียงความสำเร็จของเธอ งานของเลิฟเลซเป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนที่ทำงานด้านเทคโนโลยีคุ้นเคยเป็นอย่างดี เราเห็นถึงความยากลำบากของเธอ นี่คือความท้าทายที่ผู้หญิงต้องเผชิญหน้ามาโดยตลอด” ซูว์ ชาร์แมน-แอนเดอร์สัน (Suw Charman-Anderson) นักข่าวชาวอังกฤษให้ความเห็น
ปัจจุบัน พรสวรรค์ของเธอยังคงโดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์ และจะเป็นแบบนั้นตราบนานเท่านาน
ภาพ: Wikipedia
อ้างอิง
https://www.newyorker.com/tech/annals-of-technology/ada-lovelace-the-first-tech-visionary
https://www.historic-uk.com/CultureUK/Ada-Lovelace/
https://www.thoughtco.com/ada-lovelace-biography-5113321
https://il.mahidol.ac.th/e-media/computer/evolution/pioneers_Ada.htm