‘จีนน์ แกง’ สถาปนิกหญิงยุคใหม่ ผู้เชื่อว่าการออกแบบช่วยลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยก

‘จีนน์ แกง’ สถาปนิกหญิงยุคใหม่ ผู้เชื่อว่าการออกแบบช่วยลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยก

‘จีนน์ แกง’ หนึ่งในสถาปนิกหญิงที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลกยุคใหม่ ผู้เชื่อว่าสถาปนิกช่วยลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยก และสร้างโลกที่มั่นคงสำหรับทุกคนได้

  • จีนน์ แกง เดินทางพร้อมครอบครัวมาแล้วเกือบทุกรัฐ ซึมซับความสวยงามของท้องถนนและสะพานที่ถูกออกแบบให้แต่งแต้มภูมิทัศน์จนสร้างทัศนียภาพที่กลมกลืนและลงตัว
  • ปี 2018 จีนน์เริ่มต้นปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้จากการปรับค่าจ้างในสตูดิโอของเธอเองให้เป็นไปโดยปราศจากความเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ และเรียกร้องให้เพื่อนร่วมอาชีพหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในวงการ
  • ที่ศูนย์ส่งเสริมความเป็นผู้นำด้านความยุติธรรมทางสังคม ‘Arcus Center’ ในรัฐมิชิแกน จีนน์ออกแบบให้ผู้ใช้งานไม่ว่าอยู่ส่วนใดของพื้นที่จะยังสามารถมองเห็นกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ได้ทั้งหมด จึงไม่รู้สึกตัดขาด และเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ผลคือมีผู้สนใจสมัครสมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่านับตั้งแต่อาคารเปิดใช้งาน

หากใครเคยได้ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ คงมีบางครั้งที่เผชิญกับความว้าเหว่และเดียวดาย มีผู้คนอยู่รอบกายเหมือนไม่มีไม่เห็นใคร นี่คงไม่ใช่แค่เพราะขาดคนรู้ใจ แต่สภาพแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญในการนำพาผู้คนให้รู้สึกเชื่อมโยงหรือแบ่งแยกกับชุมชนและธรรมชาติ

มันคงจะดีถ้าสถาปัตยกรรมมีส่วนให้คนรู้สึกเดียวดายน้อยลง ดังนั้นแล้วการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคน ชุมชน และธรรมชาติ คือบทบาทสำคัญของสถาปนิกในมุมมองของ ‘จีนน์ แกง’ (Jeanne Gang) หนึ่งในสถาปนิกหญิงที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลกยุคใหม่

เด็กหญิงที่เติบโตมาใกล้ชิดธรรมชาติ

เด็กหญิงจีนน์ แกง เติบโตมาโดยมีธรรมชาติแวดล้อมในเมืองเล็ก ๆ บ้านเกิดของเธออยู่ห่างจากชิคาโกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 70 ไมล์ เธอสนุกกับการเล่นนอกบ้าน สร้างบ้านต้นไม้ และท่องเที่ยวไปในพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติแถบชานเมือง

เด็กหญิงจีนน์มักใช้เวลาในเช้าวันเสาร์ที่ออฟฟิศของพ่อซึ่งเป็นวิศวกรโยธาประจำเขต เธอจะนั่งอยู่ท่ามกลางโต๊ะดราฟต์ในห้องทำงาน หรือปีนป่ายไปตามเครื่องจักรหนักที่ไม่ได้ใช้งานแล้วในโรงเก็บของ ในวันหยุดของครอบครัว พ่อจะขับรถพาเธอและแม่ซึ่งเป็นทั้งบรรณารักษ์และนักเคลื่อนไหวในชุมชน ออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ เธอเดินทางพร้อมครอบครัวมาแล้วเกือบทุกรัฐ ซึมซับความสวยงามของท้องถนนและสะพานที่ถูกออกแบบให้แต่งแต้มภูมิทัศน์จนสร้างทัศนียภาพที่กลมกลืนและลงตัว

ประสบการณ์วัยเด็กเหล่านี้ล้วนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติทั้งทางกายภาพและอารมณ์

ก้าวสู่โลกของสถาปนิก

จากเด็กหญิงที่หลงใหลในธรรมชาติสู่นางสาวจีนน์ผู้ค่อย ๆ ไต่เต้าบนโลกของสถาปัตยกรรมไปทีละขั้นอย่างหนักแน่นและมั่นคง เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลลินอยส์ ก่อนจะบินลัดฟ้าหาประสบการณ์ในแวดวงสถาปัตยกรรมที่ต่างแดน ในหลักสูตรการออกแบบผังเมืองในสวิตเซอร์แลนด์ ที่รวมศาสตร์ของสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง และวิศวกรรมเข้าด้วยกัน ต่อด้วยหลักสูตรสถาปัตยกรรมจากฝรั่งเศส และปิดท้ายด้วยปริญญาโทจาก ‘Harvard Graduate School of Design’ สถาบันด้านการออกแบบอันดับต้น ๆ ของโลก

จีนน์เริ่มต้นวิชาชีพสถาปนิกในเมืองรอตเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ กับ ‘เรม คูลฮาส’ (Rem Koolhaas) สถาปนิกชั้นครูชาวดัตซ์ แล้วจึงย้ายกลับมายังเมืองชิคาโกที่เธอคุ้นเคย ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีงานออกแบบชั้นยอดมากนัก และจีนน์หวังจะได้เติมเต็มเมืองแห่งนี้ งานในบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมที่เธอทำงานได้ช่วยให้เธอรู้จักชิคาโกดีขึ้น พร้อมกันนั้นเธอยังเป็นอาจารย์ที่ ‘Illinoid Institute of Technology’ (IIT) หลักสูตรการเรียนการสอนที่นี่มุ่งเน้นความเข้าใจในวัสดุที่แตกต่าง มีสตูดิโออิฐ คอนกรีต ไม้ และเหล็กให้นักศึกษาได้ใช้งาน ทำให้จีนน์ได้รู้จักโลกของวัสดุศาสตร์มากขึ้น

ในวัย 33 ประสบการณ์และความสามารถของจีนน์มีเพียงพอต่อการก่อร่างสร้างบริษัทของตัวเอง เธอก่อตั้ง ‘Studio Gang’ บริษัทรับออกแบบสถาปัตยกรรมขึ้นในชิคาโก ออฟฟิศนี้แวดล้อมไปด้วยหน้าต่างรับแสงธรรมชาติ มีวัสดุหลากชนิดตั้งตามที่ต่าง ๆ ทั่วสตูดิโอ จีนน์ชอบทดลองเล่นกับวัสดุอันเป็นอิทธิพลที่เธอได้รับมาจากการสอนที่ IIT และลูกเล่นในการใช้วัสดุนี้ก็เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของงานออกแบบของเธอ

ไม่นานหลังจากเปิดสตูดิโอในชิคาโก สำนักงานของเธอก็ได้ขยายสาขาไปยังนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และปารีส สร้างผลงานโดดเด่นอยู่ทั่วโลก

ลมใต้ปีก

ภายใต้ชื่อเสียงและความสำเร็จของ จีนน์ แกง และ Studio Gang นั้น บุคคลที่อยู่เบื้องหลังผู้ผลักดันให้คนเบื้องหน้าอย่างเธอได้สร้างสรรค์ผลงานตามฝัน คือสถาปนิกผู้เป็นสามี

“ฉันไม่ต้องการทำงานให้ผู้ชาย ฉันไม่อยากได้พวกเขาเป็นเจ้านาย มันทำให้ฉันไม่สบายใจ ฉันไม่อยากถูกมอบหมายให้ไปดูแลงานตกแต่งภายใน ฉันเห็นมาแล้วว่ามันจะลงเอยอย่างไร ฉันต้องการมีอิสระที่จะสำรวจความสนใจของตนเอง”

จีนน์เคยกล่าวกับ ‘มาร์ค เช็นเดล’ (Mark Schendel) เพื่อนร่วมงานสมัยที่เธอทำงานในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต่อมาได้ติดตามเธอมายังชิคาโก และกลายเป็นทั้งสามีและหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ดูแลทีมงาน การเงิน ตารางเวลา และการบริหารงานโครงการ ทำให้เธอได้ทุ่มเทเวลาไปกับงานออกแบบได้เต็มที่ รูปแบบความสัมพันธ์ของทั้งคู่นั้นตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ในโลกของสถาปัตยกรรมที่บทบาทผู้นำมักเป็นของผู้ชาย

“เขาสนับสนุนฉัน” เธอกล่าวถึงผู้เป็นสามี

การเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมในแวดวงสถาปัตย์

จีนน์อาจเป็นหญิงผู้โชคดีที่ได้สามีที่พร้อมสนับสนุนความฝัน และเธอก็ได้เป็นแกนนำส่งต่อสิ่งเหล่านั้นไปยังแวดวงสถาปัตย์ ซึ่งมีรายงานว่า 72% ของผู้หญิงในวงการนี้ทั่วโลกเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ การคุกคาม และอคติทางเพศ

แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายหากเป็นการเรียกร้องจากคนตัวเล็ก ดังนั้นเจ้าของสตูดิโอออกแบบ ผู้นำองค์กร บุคลากรในภาคการศึกษา หรือสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในวงการเช่นเธอต้องเป็นผู้เริ่มขับเคลื่อน

ในปี 2018 จีนน์เริ่มต้นปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้จากการปรับค่าจ้างในสตูดิโอของเธอเองให้เป็นไปโดยปราศจากความเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ และเรียกร้องให้เพื่อนร่วมอาชีพหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในวงการ

สถาปัตยกรรมที่เชื่อมคนกับคน

“ฉันเชื่อว่าสถาปนิกสามารถทำอะไรได้มากกว่าการสร้างตึก เราสามารถลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยกในเมืองที่เราอยู่ เราสามารถสร้างสายสัมพันธ์ และสร้างโลกที่มั่นคงสำหรับทุกคนได้”

ที่ศูนย์ส่งเสริมความเป็นผู้นำด้านความยุติธรรมทางสังคม ‘Arcus Center’ ในรัฐมิชิแกน ทีมงานของจีนน์ได้รับมอบหมายให้ออกแบบสถานที่ที่ทำให้ผู้คนพูดคุยกัน และทลายกำแพงกั้นระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เตาผิงซึ่งช่วยดึงดูดผู้คนมาอยู่ใกล้กัน และพื้นที่ประกอบอาหารซึ่งสร้างกิจกรรมที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ถูกนำมาไว้ด้วยกันในพื้นที่สำหรับพบปะพูดคุยซึ่งนับว่าแปลกมาก 

จีนน์ออกแบบให้ผู้ใช้งานไม่ว่าอยู่ส่วนใดของพื้นที่จะยังสามารถมองเห็นกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ได้ทั้งหมด จึงไม่รู้สึกตัดขาด และเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และผลคือมีผู้สนใจสมัครสมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่านับตั้งแต่อาคารเปิดใช้งาน

‘จีนน์ แกง’ สถาปนิกหญิงยุคใหม่ ผู้เชื่อว่าการออกแบบช่วยลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยก ‘จีนน์ แกง’ สถาปนิกหญิงยุคใหม่ ผู้เชื่อว่าการออกแบบช่วยลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยก

‘Aqua Tower’ จากจีนน์ แกง คือหนึ่งในตึกระฟ้าที่โด่งดังติดอันดับโลกในชิคาโก ทั้งในแง่ของสถิติที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตึกสูงที่สุดในโลกที่ออกแบบโดยผู้หญิงที่ความสูง 82 ชั้น และรูปแบบการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแก่ผู้ใช้งาน ตึกถูกออกแบบให้แตกต่างจากภาพจำที่มีต่อตึกสูงทั่วไปที่ให้ความรู้สึกเหินห่างและโดดเดี่ยว ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นเพื่อนบ้านในชั้นอื่นเมื่อมองจากระเบียงภายนอกที่โค้งยื่นออกมาไม่เท่ากัน 

การออกแบบระเบียงยังควบคุมทิศทางลมซึ่งเป็นข้อจำกัดสำหรับอาคารสูงในเมืองที่มีลมแรงอย่างชิคาโก ทำให้พื้นที่ระเบียงมีความแรงลมที่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมภายนอก ซึ่งเอื้อให้ผู้คนเชื่อมโยงถึงกันได้จากพื้นที่ของตัวเอง และบางคนยังตกหลุมรักกันจากการพบเจอผ่านราวระเบียง ความสัมพันธ์ที่เริ่มจากระเบียงนี้พัฒนาไปสู่การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในรูปแบบอื่น เช่น สวนผักลอยฟ้าบนดาดฟ้าอาคาร

‘จีนน์ แกง’ สถาปนิกหญิงยุคใหม่ ผู้เชื่อว่าการออกแบบช่วยลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยก ‘จีนน์ แกง’ สถาปนิกหญิงยุคใหม่ ผู้เชื่อว่าการออกแบบช่วยลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยก

ชุมชนเขต 10 ในเมือง ‘North Lawndale’ ของชิคาโก มีสนามบาสเกตบอลตั้งอยู่บนลานจอดรถในสถานีตำรวจ เป็นการจัดพื้นที่ที่ดูแปลกประหลาดนัก แต่นี่คือการออกแบบภายใต้การค้นคว้าหาข้อมูลของ Studio Gang เพื่อสร้างเสริมความเชื่อใจในชุมชน และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสถานีตำรวจที่เมื่อก่อนสมาชิกชุมชนไม่อยากเข้าใกล้แม้ยามมีเรื่องร้องเรียน ทีมงานวางแผนใช้พื้นที่สถานีตำรวจเพื่อเพิ่มโอกาสให้คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าเจ้าหน้าที่ในเชิงบวก 

ผลสำรวจพบว่าทั้งตำรวจและเด็ก ๆ ชอบกีฬา สนามบาสเกตบอลในสถานีตำรวจจึงนำพาพวกเขามาอยู่ด้วยกันและทำความรู้จักกัน ผลที่ได้คือความใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างตำรวจและพลเรือน นำมาสู่ความปลอดภัยที่มากขึ้น ภายใต้แนวคิดสร้างพื้นที่ของชุมชนนี้ ในอนาคต บนพื้นที่ของสถานีตำรวจอาจมีร้านตัดผม เอทีเอ็ม หรือพื้นที่จัดกิจกรรม ที่ทำให้คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

‘จีนน์ แกง’ สถาปนิกหญิงยุคใหม่ ผู้เชื่อว่าการออกแบบช่วยลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยก

สถาปัตยกรรมที่เชื่อมคนกับธรรมชาติ

“เราจะทำอย่างไรให้ผู้คนใส่ใจธรรมชาติ หลงรักธรรมชาติ และต้องการรักษาธรรมชาติ นั่นคือเหตุผลที่ศิลปะมีความสำคัญ และสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน”

‘Gilder Center’ เป็นอาคารที่ต่อเติมจากอาคารเก่า ซึ่งการสร้างชีวิตใหม่บนโครงสร้างเดิมนั้นลดการปล่อยคาร์บอน และจีนน์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เธอยังได้เพิ่มเติมเอกลักษณ์ให้อาคารด้วยองค์ประกอบแบบออร์แกนิกเป็นเส้นสายลายโค้งรูปทรงอิสระสีขาวครีมบนผนังอาคารทั้งภายนอกและภายใน เพื่อสร้างการเชื่อมโยงทางอารมณ์ของผู้คนกับธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า ‘Organic Architecture’ 

‘จีนน์ แกง’ สถาปนิกหญิงยุคใหม่ ผู้เชื่อว่าการออกแบบช่วยลดความเคร่งเครียดและการแบ่งแยก

จีนน์เชื่อว่าการแก้ไขภาวะโลกรวนนั้น นอกจากจะกระทำด้วยเหตุผลแล้ว อารมณ์ก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์เช่นกัน

นอกจากการออกแบบที่เชื่อมอารมณ์ความรู้สึกของคนเข้าหาธรรมชาติแล้ว ลักษณะทางกายภาพอย่างการจัดการระบบภายในอาคารเพื่อลดการใช้พลังงาน การออกแบบและการเลือกใช้วัสดุอย่างชาญฉลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระเบียงที่ยื่นยาวออกมาของ Aqua Tower นอกจากเพิ่มพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้คนแล้ว ยังลดการใช้พลังงานในอาคารจากพื้นที่บังแดดที่มากขึ้น และในอาคาร Arcus Center จีนน์เลือกใช้ไม้แทนคอนกรีตในการก่อสร้างทำให้อาคารกักเก็บคาร์บอนในผนังแทนการปลดปล่อยสู่บรรยากาศดังเช่นในกระบวนการก่อสร้างที่ใช้คอนกรีต

และในฐานะคนรักนก จีนน์ออกแบบให้อาคารสูงทุกแห่งของเธอเป็นมิตรต่อพวกมัน

ในปี 2019 จีนน์ แกง ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกจากนิตยสาร TIME

“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าสถาปนิกออกแบบตึกและเมือง แต่ที่จริงแล้วเราออกแบบความสัมพันธ์ เพราะว่าเมืองนั้นคือผู้คน ผู้คนคือสถานที่ที่คนมาอยู่ร่วมกัน”


ภาพ : Getty Images 
อ้างอิง :

ted

rotary

wanderwomenproject

newyorker

pinupmagazine

amacad

dezeen

studiogang