01 ก.ย. 2563 | 12:16 น.
“สำหรับศิลปกรรมของไทยหลัง 2475 นั้น ถ้าจะพูดกันตามตรง พูดกันด้วยความรักชาติพอสมควร ก็จะต้องบอกว่าเป็นยุคของศิลปกรรมที่เสื่อมโทรมที่สุด คือไม่มีศิลปกรรมไทยเกิดขึ้นในยุคนี้... ผู้นำปฏิวัติก็เท่ากับเป็นนักเรียนนอก กลับมาจากฝรั่งเศส รสนิยมในทางศิลปะอะไรของท่านเหล่านั้นอยู่แค่คาเฟ่ริมถนนที่กรุงปารีส ภาพที่เห็นสวยงามก็ภาพโป๊...ท่านเรียนวิชาอื่นไม่ใช่สนใจศิลปะ ท่านไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าใจอะไรได้ แต่เมื่อปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาแล้ว...การจะเปลี่ยนสังคมไทยก็ต้องเปลี่ยนทุกทาง ศิลปะประเพณีคติเก่า ๆ นั้นเป็นเรื่องของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ท่านเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ท่านพยายามเลิกให้สิ้น…” ถ้อยคำข้างต้นคือความเห็นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและ “อินฟลูเอนเซอร์” รุ่นเก่าที่วิจารณ์ศิลปะในยุคคณะราษฎร อันเป็นกลุ่มการเมืองที่นำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย แต่มีโอกาสได้อยู่ในอำนาจเพียงระยะสั้น ๆ คือช่วง 2475 ถึง 2490 เท่านั้น เพราะหลังจากการปฏิวัติในปี 2490 แม้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในผู้นำคณะราษฎรจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจเหมือนเก่าเพราะผู้นำการรัฐประหารในคราวนั้นคือกลุ่มอนุรักษนิยมและกองทัพ และมีการรื้อฟื้นอำนาจของสถาบันกษัตริย์กลับมาอีกครั้ง การเป็นผู้แพ้ในประวัติศาสตร์การเมืองทำให้คณะราษฎรถูกโจมตีจนถึงปัจจุบันว่าเป็นต้นเหตุแห่งความเสื่อมทุกประการ ตั้งแต่ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตย วงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร ทั้งที่ความจริงในยุคคณะราษฎรเกิดการรัฐประหารขึ้นเพียงแค่ 2 ครั้ง คือในปี 2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งไม่ใช่คนของคณะราษฎร พยายามล้มล้างการปฏิวัติด้วยการใช้อำนาจที่ไม่มีตามรัฐธรรมนูญ สั่งปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทำให้กลุ่มคณะราษฎรต้องใช้กำลังทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนฯ เพื่อรักษาการปฏิวัติเอาไว้ แม้กระทั่งในด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม งานของคณะราษฎรก็ถูกหยามหมิ่นว่าไร้ความงาม เหมือนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กล่าวว่าเป็นยุค “ที่เสื่อมโทรมที่สุด” และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการรณรงค์ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในยุคคณะราษฎรจนสำเร็จเป็นรูปธรรมไปหลายชิ้นหลายแห่ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ ศ. ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือหนึ่งในนักวิชาการที่เรียกร้องให้มีการทบทวนข้อกล่าวหาต่อคณะราษฎร และมีการประเมินคุณค่าผลงานของคณะราษฎรเสียใหม่ให้ถูกต้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งปลูกสร้าง ศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎร ซึ่งถูกเข้าใจผิดและใส่ร้ายผิดจากความเป็นจริงมากมาย ชาตรียังเป็นผู้ที่ออกมาคัดค้านการรื้อถอนผลงานและสิ่งปลูกสร้างของคณะราษฎรอยู่เสมอ ในกิจกรรม Book Walk เรื่อง (ไม่ถูก) เล่า ในประวัติศาสตร์ บนราชดำเนิน โดย ศิลปวัฒนธรรม และสำนักพิมพ์มติชน (วันที่ 29 สิงหาคม 2563) ชาตรี พร้อมด้วย ผศ. ดร.ณัฐพล ใจจริง ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ยุคคณะราษฎร ได้เดินนำผู้ร่วมกิจกรรมตามร่องรอยศิลปะคณะราษฎรบนถนนการเมืองเส้นสำคัญ และบอกเล่าถึงความจริงและความเข้าใจผิดของสังคมในเรื่องราวที่ถูกเล่าและไม่ถูกเล่าในประวัติศาสตร์กระแสหลัก (ฉบับทางการ) “อาจารย์ศิลป์ (พีระศรี) มักถูกกันจากบริบทการเมือง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยศิลปากร” ชาตรีกล่าวถึงผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะนำชมหอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร ก่อนเสริมว่า “บางครั้งความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถูกขยายความให้ใหญ่โต ทำให้ดูเหมือนว่า อาจารย์ศิลป์ไม่ถูกกับคณะราษฎร” หอประติมากรรมต้นแบบ เป็นที่จัดเก็บประติมากรรมยุคคณะราษฎรอยู่มากมาย หนึ่งในต้นแบบชิ้นสำคัญก็คือ ต้นแบบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี วีรสตรีจากโคราช ที่สร้างขึ้นไม่นานหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชซึ่งอาศัยกำลังจากโคราชเป็นสำคัญ การสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้จึงแฝงนัยทางการเมืองอย่างเข้มข้น ทั้งเป็นการสร้างอนุสาวรีย์สามัญชนคนแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยังเป็นผู้หญิงซึ่งมักมีบทบาทน้อยในประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคเก่า วีรกรรมของท้าวสุรนารียังเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความภักดีของคนโคราชต่อศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ อีกด้วย การปั้นคุณหญิงโมก็มีความพยายามต่อสู้ของอุดมคติสองฝ่าย แรกทีเดียวศิลป์ปั้นเป็นรูปหญิงถือดาบ แต่เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มาเห็นเข้า ก็ทรงแนะนำให้ศิลป์ปั้นเป็นนางฟ้าถือดาบ ศิลป์ยอมแก้ตาม แต่สุดท้ายก็ปั้นเป็นรูปมนุษย์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติม “ศิลป์ พีระศรี ศิลปินเอกยุค ศิลปะคณะราษฎร”) ออกจากหอประติมากรรมต้นแบบ ข้ามไปยังพระบรมมหาราชวัง หรือวัดพระแก้ว ศูนย์กลางอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่นี่ก็มีสิ่งก่อสร้างในยุคคณะราษฎรปะปนอยู่ นั่นคือซุ้มประตูสวัสดิโสภา ที่สร้างขึ้นแทนประตูเดิมที่เสียหายในปี 2484 ชาตรีกล่าวว่า แม้ประตูแห่งนี้จะยังมองกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมโดยรวมของวัดพระแก้ว แต่หากมองลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่า นายช่างคือ พระพรหมพิจิตร ได้เปลี่ยนองค์ประกอบที่เป็นลวดลายแบบจารีต (ลายไทยปลายแหลมเล็กที่แตกหักง่ายทั้งหลาย) ให้เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตที่ไม่แสดงความหมายในคติเดิมที่สะท้อนลักษณะฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรม มองไปยังฝั่งตรงข้ามอันเป็นที่ตั้งของกระทรวงกลาโหมนั้น ตัวอาคารหลักเป็นศิลปะนีโอคลาสสิกที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่มีสิ่งที่ก่อสร้างเสริมขึ้นในยุคคณะราษฎรเช่นกัน นั่นคือ ระเบียงด้านหน้า ซึ่งเป็นจุดที่จอมพล ป. ขึ้นปราศรัยต่อหน้ากลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส และภาพขณะปราศรัยก็เป็นภาพของจอมพล ป. ที่พบเห็นบ่อยครั้ง แต่น้อยครั้งที่จะกล่าวถึงบริบทของภาพ ณัฐพลกล่าวว่า การชุมนุมครั้งนั้น (2483) เริ่มต้นขึ้นบริเวณหน้ากระทรวงกลาโหมก่อนเดินขบวนพร้อมร้องเพลง “เลือดสุพรรณ” ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง ถัดจากนั้น ชาตรีนำคณะเดินไปยังกลุ่มอาคารศาลฎีกา ที่เพิ่งมีการรื้อถอนไปหยก ๆ แต่ยังเหลือมุมเล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎรให้เห็นอยู่ พื้นที่แห่งนี้มีการต่อสู้ด้วยข้อมูลอย่างเข้มข้น ข้อมูลหนึ่งที่ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางก็คือข้อกล่าวหาที่ว่าคณะราษฎรสั่งทุบศาลยุติธรรมหลังเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็น “สัญลักษณ์การเฉลิมฉลอง 100 ปี ราชวงศ์จักรี” (พบข้อกล่าวหานี้ได้ที่เพจ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ที่แชร์มาจาก TNews ของเขาเอง ซึ่งคัดลอกมาจากเพจ คณะร่าน อีกทีโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง) แต่ชาตรีกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวคือ “เฟกนิวส์” เพราะผู้ที่สั่งทุบศาลยุติธรรมหลังเก่า มิใช่คณะราษฎร หากเป็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้รัฐประหารล้มล้างอำนาจ จอมพล ป. เจ้านายเก่าต่างหาก กลุ่มอาคารศาลฎีกาเป็นกลุ่มตึกรูปตัววี ที่ออกแบบพร้อมกันแต่สร้างไม่พร้อมกัน (คาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากอาคารสภาไดเอทของญี่ปุ่น ซึ่งณัฐพลเสนอว่า ในยุคนั้นไทยพยายามเดินตามรอยการพัฒนาของมหาอำนาจใหม่ของเอเชีย) ภาพถ่ายทางอากาศในปี 2489 เห็นได้ชัดว่า อาคารศาลยุติธรรมเดิมที่สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ถูกทุบ เพื่อสร้างตามแบบที่ร่างไว้แต่อย่างใด การทุบและก่อสร้างใหม่เริ่มในปี 2502 ซึ่งหมดยุคคณะราษฎรไปแล้ว และอาคารที่สร้างใหม่ก็มิได้เป็นตามแบบที่ร่างขึ้นสมัยคณะราษฎรแต่อย่างใด ไม่ว่าอย่างไร กลุ่มอาคารศาลฎีกานับว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างสูง เพราะเป็นที่ระลึกถึงการได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญของอำนาจอธิปไตย ที่ได้สูญเสียไปเริ่มต้นจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4 และเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร (เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา) อันเป็นกรอบสำคัญในการพัฒนาประเทศ การมีเอกราชอย่างแท้จริง ซึ่งอำนาจศาลถือเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญ จึงเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยของคณะราษฎร แต่เรื่องราวเหล่านี้ถูกละเลยจากการศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักซึ่งเน้นเชิดชู กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” เสียมากกว่า ความพยายามที่จะรื้อถอนกลุ่มอาคารศาลฎีกามีมาตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งอาคารเหล่านี้เพิ่งมีอายุได้เพียง 20 ปีเศษ ๆ เท่านั้น ชาตรีจึงกล่าวว่า ความเสื่อมโทรมของอาคารไม่ใช่เหตุผลอย่างแน่นอน แต่โครงการคราวนั้นไม่สำเร็จเนื่องจากไม่มีงบ จนกระทั่งปี 2550 ศาลฎีกาจึงรื้อแผนนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากนักวิชาการและภาคประชาชน และอธิบดีกรมศิลปากรก็ได้ออกหนังสือถึงประธานศาลฎีกายืนยันว่า อาคารส่วนที่ 1 หลังอนุสาวรีย์กรมหลวงราชบุรี และอาคารส่วนที่ 2 ด้านคลองคูเมืองเดิมมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นโบราณสถานของชาติตามนิยามของกฎหมาย แต่แล้ว ศาลฎีกาก็ทำการรื้อจนได้โดยไม่สนคำสั่งของอธิบดีกรมศิลป์ ฝ่ายศาลซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยกฎหมายกลับอ้างว่า อาคารดังกล่าวไม่ใช่โบราณสถาน เนื่องจากยังไม่มีการขึ้นทะเบียนและประกาศราชกิจจานุเบกษา แต่ชาตรีชี้ว่า โดยทั่วไปเพียงแค่การวินิจฉัยของอธิบดีก็เพียงพอแล้วที่จะยืนยันว่า อาคารใดเป็นโบราณสถานซึ่งอยู่ในข่ายที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะหากต้องรอการขึ้นทะเบียนและประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนาน โบราณสถานทั้งหลายที่ถูกพบก็คงถูกทำลายไปก่อนที่กระบวนการแบบพิธีจะเสร็จสิ้น ด้วยเหตุนี้ อาคารส่วนที่ 2 จึงถูกรื้อทิ้งไป เหลือเพียงอาคารส่วนที่ 1 ซึ่งถูกทุบทิ้งลงบางส่วน ไม่เพียงเท่านั้น อาคารศาลฎีกาที่สร้างใหม่ ยังถูกสร้างโดยอาศัยสิทธิพิเศษ เนื่องจากสถานที่ตั้งอาคารอยู่ในพื้นที่ควบคุมความสูงของสิ่งปลูกสร้างซึ่งกำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 16 เมตร แต่แบบของศาลฎีกาใหม่มีความสูงถึง 31.70 เมตร (สร้างจริง 28 เมตร) และยาวเป็นร้อยเมตร คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า กลับไม่คัดค้านอะไร แต่เวลาประชาชนจะสร้างอะไรกลับสร้างได้ยากเย็นนัก แม้กระทั่งศาลพระวิษณุเล็กข้างวัดสุทัศน์ก็สร้างไม่ได้ ออกจากศาลฎีกา ก็ถึงคิวของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มรดกชิ้นใหญ่ของคณะราษฎร พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของตึกดิน สถานที่เก็บดินระเบิดสำหรับปืนใหญ่แบบเก่าที่หมดความสำคัญไปแล้ว และเป็นพื้นที่ที่เคยอยู่ในเขตของวังหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คณะราษฎรมีความประนีประนอมกับระบอบเก่าค่อนข้างสูง เหมือนกรณีของการตั้งเมรุเผาสามัญชนครั้งแรกกลางสนามหลวงนั้น (เหล่าทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ปี 2476) ชาตรีกล่าวว่า แต่เดิมสนามหลวงเคยมีพื้นที่เพียงครึ่งหนึ่งของที่เห็นในปัจจุบัน จนกระทั่งมีการยกเลิก “วังหน้า” ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ซึ่งเคยมีความขัดแย้งกับวังหลวงจนมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤติวังหน้า” มาแล้ว) จึงมีการขยายสนามหลวงไปทางทิศเหนือเพิ่มเติมกินพื้นที่ของวังหน้าเข้าไป พื้นที่เดิมของสนามหลวงที่ใช้ประกอบพิธีพระบรมศพจึงอยู่ทางด้านใต้ติดกับวังหลวง ส่วนการตั้งเมรุสามัญชนนั้นตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ไม่ทับซ้อนกับพื้นที่ประกอบพระราชพิธี การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เช่นกัน มันตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลางซึ่งยังมีการพัฒนาค่อนข้างน้อย คณะราษฎรจึงใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นสัญลักษณ์ศูนย์กลางของการพัฒนา “ทางหลวง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการพัฒนาก็เริ่มต้นนับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีหลักกิโลเมตรที่ 0 ให้เห็นอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์นั่นเอง ราชดำเนินกลางกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในยุคคณะราษฎร แม้ว่ามันจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ตาม แต่อาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร มีโรงแรม 5 ดาว คือ รอยัลรัตนโกสินทร์ มีโรงแรม 3 ดาวคือ สุริยานนท์ และมีห้าง “ไทยนิยม” (ปัจจุบันคือเทเวศประกันภัย) เพื่อส่งเสริมสินค้าไทย ตามนโยบาย “กอุพากัม” คือ กสิกรรม อุสาหกรรม และพาณิชยกรรม ของคณะราษฎรที่ต้องการส่งเสริมให้คนไทยรู้จักการผลิตสินค้าด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าผ่านห้างฝรั่งเหมือนเช่นในอดีต แต่สิ่งปลูกสร้างและอนุสรณ์สถานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคคณะราษฎรก็ค่อย ๆ หายไปทีละชิ้นทีละแห่ง (ศาลาเฉลิมไทย หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ปราบกบฏ) เมื่อการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับประชาธิปไตยเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ คณะราษฎรที่เป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยถูกทำลายชื่อเสียงด้วยข้อมูลที่จริงบ้างเท็จบ้าง อาคารหลายแห่งถูกลดทอนคุณค่าโดยตัดสิน “ความงาม” ตามสายตาแบบจารีตนิยม โดยไม่เข้าใจเบื้องหลังคติการก่อสร้างซึ่งต้องการส่งเสริมคุณค่า “ความเป็นคน” อย่างประติมากรรมที่เผยให้เห็นเนื้อหนังและมัดกล้ามที่ใหญ่โต (ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ว่าเป็นภาพโป๊) ก็เพื่อส่งเสริมเรื่องสุขภาพและอาหารการกินซึ่งจำเป็นสำหรับคนที่ต้องใช้แรงงาน ต่างจากศิลปะยุคจารีตที่เน้นรูปร่างผู้ชายที่บอบบางแบบกษัตริย์ที่ไม่ต้องลงมือทำอะไรด้วยตนเอง แต่มีข้าทาสบริวารจัดหาให้ (เหมือน พระราม ในรามเกียรติ์) สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ก็เช่นกัน ซึ่งชาตรีมองว่า สถาปัตยกรรมคณะราษฎรเป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะ ไม่ควรเรียกว่าเป็น Art Decor หรือชื่ออื่นที่ตัดสินจากมุมมองแบบยุโรป เพราะสถาปัตยกรรมคณะราษฎรมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมไทยด้วยบริบทและพัฒนาการที่ต่างจากยุโรป และมีคุณค่าที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ “การรณรงค์ให้สังคมไทยเก็บรักษาศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎรเอาไว้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะวิพากษ์คณะราษฎรไม่ได้ หรือจะต้องกราบไหว้บูชาคณะราษฎรแต่อย่างใด คณะราษฎรไม่ได้เป็นกลุ่มคนดีอย่างไร้ที่ติ พวกเขาทำสิ่งที่ดีและไม่ดีในทางประวัติศาสตร์ ไม่ต่างจากบุคคลทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ” ชาตรีกล่าว (คำนำพิมพ์ครั้งที่ 2 ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร)