08 ต.ค. 2567 | 16:00 น.
KEY
POINTS
ในตอนนี้ ไม่ว่าใครก็น่าจะได้ยินคำว่า A.I. (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งกำลังเป็นเทรนอันร้องแรงในปัจจุบัน อย่างเช่น ChatGPT แชทบอทที่สามารถให้คำตอบกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งบทความ อีเมลล์ หรือโค้ด ได้อย่างเป็นธรรมชาติและตรงประเด็น หลาย ๆ คนอาจคิดว่า A.I. คือเทคโนโลยีมาใหม่จากการที่มันพึ่งจะถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทว่า ไอเดียและการพัฒนาของมันนั้น มีมาหลายทศวรรษแล้ว คำ ๆ นี้ถูกบัญญัติเกือบ 70 ปีก่อน โดย 'จอห์น มักคาร์ที' (John McCarthy) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้ซึ่งหลงใหลในไอเดียและการพัฒนาให้เครื่องจักรมีความฉลาดเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ และได้รับฉายาว่า “บิดาแห่งปัญญาประดิษฐ์”
'จอห์น มักคาร์ที' เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1927 ณ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา พ่อของเขาผ่านมาแล้วหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็น ช่างไม้ ชาวประมง และผู้จัดงานสหภาพแรงงาน ด้วยเหตุนี้ครอบครัวของมักคาร์ทีจึงต้องย้ายถิ่นฐานอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ บอสตัน นครนิวยอร์ค ไปจนถึงลอสแอนเจลิส มหานครที่พ่อของเขาก้าวเข้าสู่หนึ่งในสมาชิกสหภาพแรงงานเสื้อผ้าแห่งอเมริกา (Amalgamated Clothing Workers of America) ในขณะที่แม่ของมักคาร์ทีเริ่มต้นจากการเป็นนักวารสารศาสตร์ ก่อนจะก้าวมาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ทั้งพ่อและแม่ต่างเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้จอห์นเติบโตมาในบรรยากาศที่เน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิเคราะห์สิ่งรอบข้างอย่างลึกซึ้ง
ก่อนที่มักคาร์ทีจะเริ่มเรียนมัธยมปลาย เขาได้มีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์อยู่ก่อนแล้วจากการอ่านหนังสือวิทยาศาตร์สำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมเรื่อง ‘100,000 คำถาม’ (100,000 Why’s: A Trip Around The Room) ซึ่งแปลมาจากภาษารัสเซียและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1933
มักคาร์ทีมีไหวพริบด้านคณิตศาสตร์ตั้งแต่สมัยยังเด็ก และได้เรียนรู้ คณิตศาสตร์แคลคูลัสด้วยตนเองระหว่างเรียนมัธยมปลายจากหนังสือของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะสามารถข้ามการเรียนหลักสูตรคณิตศาสตร์ไปถึง 2 ปี ขณะศึกษาปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology หรือ Caltech) ในปี 1948 มักคาร์ทีได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่นั่นไม่ใช่เหตุการณ์สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา ในปีเดียวกันนั้น เขาได้เข้าร่วมฟังสัมมนา Hixon Symposium on Cerebral Mechanisms in Behavior โดยหนึ่งในผู้พูด คือ ดร. จอห์น ฟอน นอยมันน์ (Dr. John von Neumann) ได้พูดถึงหัวข้อ ทฤษฎีทั่วไปและทฤษฎีเชิงตรรกะของออโตมาตา (The General and Logical Theory of Automata)
ออโตมาตา คือ เครื่องจักกลที่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง และในงานสัมมนานั้น นอยมันน์ได้อธิบายถึงทฤษฎีพื้นฐานของออโตมาตา ซึ่งเป็นทฤษฎีตรวจสอบเพื่อคำตอบของคำถาม ‘คอมพิวเตอร์คืออะไร และมันทำอะไรได้บ้าง’ เขายังพูดเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างออโตมาตาและภาษารูปนัย (formal language) ซึ่งเป็นภาษาที่มี กฎ กติกา อย่างชัดเจนในการกำหนดลำดับของสัญลักษณ์ และสามารถตีความหมายโดยไม่ต้องใช้ความรู้อื่น ๆ
จากการฟังหัวข้อของนอยมันน์ในงานสัมมนา มักคาร์ที ก็เกิดความหลงใหลและสนใจเกี่ยวกับการสร้างเครื่องจักรที่จะคิดได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ต่อมา เขาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์และสำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ในปี 1951 เนื่องจากเขามองว่ามหาวิทยาลัยนี้เหมาะสมที่สุดสำหรับสาขาคณิตศาสตร์ของเขา
มักคาร์ทีทำงานเป็นอาจารย์ผู้สอน ณ พรินซ์ตันหลังจากสำเร็จปริญญาของเขา และได้ทำงานในศูนย์วิจัย Bell Labs ช่วงฤดูร้อน ปี 1952 ซึ่งทำให้เขาได้พบกับ คล็อด แชนนอน (Claude Shannon) นักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้เขียนบทความ ‘Programming a Computer for Playing Chess’ ในปี 1950 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในการนำ A.I. ไปใช้ดัดแปลงในช่วงยุคแรก ๆ และได้วางรากฐานสำหรับการโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นหมากรุก
แชนนอนได้เชิญชวนมักคาร์ทีมาเพื่อร่วมมือกันรวบรวมเอกสารบทความ ภายใต้ชื่อ ‘การศึกษาออโตมาตา’ (Automata Studies) เนื่องจากแชนนอนมองว่า ทั้งเขาและมักคาร์ทีต่างก็มีความสนใจในการสร้างเครื่องจักรซึ่งสามารถคิดและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี มักคาร์ที รู้สึกผิดหวังกับผลลัพท์ของการรวบรวมเอกสารนี้ เพราะว่าบทความที่ได้รับมานั้น มีน้อยอันเหลือเกินที่จะเกี่ยวข้องกับความสนใจหลักของเขา ซึ่งก็คือความฉลาดของจักรกล
เนื่องจากในสมัยนั้น งานวิจัยและการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับสติปัญญาความฉลาดของเครื่องจักรยังถือว่าเป็นหัวข้อความคิดที่ใหม่และยังไม่แพร่หลายมากนัก จึงยังไม่มีสาขาวิชาเป็นของตัวเอง ทำให้งานวิจัยและการศึกษาในหัวข้อนี้ยากต่อการค้นหาศึกษาต่อเพิ่มเติม มักคาร์ทีเลยต้องการศัพท์คำใหม่ที่สามารถรวบรวมและจัดระเบียบงานวิจัยต่าง ๆ ไว้ใต้ภายในสาขาวิชาเดียวและโฟกัสเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องจักรซึ่งสามารถเลียนแบบและจำลองสติปัญญาได้ในทุกด้าน เพื่อนำเสนอโครงร่างงานวิจัยเกี่ยวกับการจำลองสติปัญญาความฉลาดในเครื่องจักร ณ วิทยาลัยดาร์ตมัธ (Darthmouth College) หนึ่งในมหาวิทยาลัยใน ไอวี่ ลีค (Ivy League) ภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1955
ในเอกสารนำเสนอโครงร่างงานวิจัยนี้นั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คำว่า Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ถูกนำมาใช้ โดยจอห์น มักคาร์ทีให้ความหมายกับมันว่าเป็น “ศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่สร้างความฉลาดให้กับเครื่องจักร”
และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยในสาขา A.I. อย่างเป็นทางการ
งานวิจัยชิ้นนี้ใช้เวลาศึกษาราว 2 เดือน ดำเนินการด้วยนักวิจัย 10 คน ผู้ต่างมีความสนใจและโดดเด่นทางด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ และแม้ว่ารายงานฉบับสมบูรณ์ของงานวิจัยนี้จะไม่สำเร็จ แต่ผลกระทบที่ตามมาต่อสาขาวิชา A.I. นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ราวกับเป็นการประกาศถึงการมีอยู่ของสาขาวิชานี้ ซึ่งทำให้ผู้คนในยุคสมัยนั้นรับรู้และสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น รวมถึงผลิตผลงานและงานวิจัยซึ่งเพิ่มขึ้นตามมา
“ในขณะที่มนุษย์สามารถใช้สามัญสำนึกในการตัดสินใจเรื่องทั่วไป เพราะมันเป็นธรรมชาติของเราได้อย่างง่ายดาย แต่มนุษย์กลับมีปัญหาในการอธิบายว่าสามัญสำนึกทำงานอย่างไร เพื่อที่จะทำให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำสิ่งนั้นตามได้”
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นเพราะด้วยความใหม่ของสาขาวิชา A.I. หรือด้วยเทคโนโลยีในตอนนั้นซึ่งยังทันสมัยไม่พอ ผลลัพท์ที่มักคาร์ทีและบรรดานักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์คาดหวังไว้ จึงดูเหมือนจะยังไม่พัฒนาไปใกล้ความจริงมากเท่าใดนัก เลยก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า A.I. ที่พวกเขาใฝ่หานั้น มันเกินความเป็นจริงไปมากจนแทบจะเป็นเรื่องเพ้อฝัน
“นี่อาจเป็นกรณีแรกที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นมองโลกในแง่ดีเกินไป ทั้งในเรื่องของการตั้งเป้าหมายและการคาดการณ์ระยะเวลาที่จะทำให้เป็นจริงได้”
เจอร์รี่ แคปเแลน (Jerry Kaplan) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เจ้าของหนังสือ Artificial Intelligence: What Everyone Needs to Know กล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านจริยธรรมที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงเรียกร้องว่า A.I. ไม่สามารถเป็นได้จริง เพราะมนุษย์มี ‘วิญญาณ’ ซึ่งเครื่องจักรไม่สามารถเลียนแบบได้ หรือ หากเครื่องจักรสามารถเลียนแบบมนุษย์ได้อย่างไร้ที่ติแล้ว มนุษย์ก็จะหมดความสำคัญไป ไปจนถึง A.I. จะทำลายมนุษยชาติ แต่มักคาร์ทีก็มองเห็นปัญหานี้ เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการอภิปรายในแง่สังคมเกี่ยวกับผลกระทบของ A.I. โดยเรียกร้องให้นักวิจัยพิจารณากรอบจริยธรรมและมาตรการป้องกันที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่า A.I. จะได้รับการพัฒนาและใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ
“ทันทีที่มันทำงานได้ ก็จะไม่มีใครเรียกมันว่า A.I. อีกต่อไป”
มักคาร์ทีกล่าวต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า A.I. อาจนำไปสู่ความล่มสลายของมนุษยชาติ
น่าเสียดาย มักคาร์ทีได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2011 และไม่ได้เห็นการเจริญเติบโตอันยิ่งใหญ่ของ A.I. ในยุค 2020s ซึ่งสามารถให้ข้อมูลคำตอบกับผู้ใช้ได้เสมือนเป็นมนุษย์และเข้าใกล้กับเป้าหมายที่เขาตั้งไว้มากขึ้น
ในปัจจุบัน พวกเราก็ยังเห็นอิทธิพลของมักคาร์ทีที่มีต่อสาขา A.I. ตั้งแต่การรวบรวมและจัดระเบียบองค์ความรู้เพื่อให้ศึกษาและวิจัยได้อย่างเป็นระบบ ไปจนถึงการกำหนดทิศทางการพัฒนา การใช้ตรรกะและเหตุผลในการเขียนโปรแกรมและการแก้ปัญหา รวมถึงการยึดมั่นในจริยธรรมทางเทคโนโลยี
มักคาร์ทีไม่ได้เพียงแค่บัญญัติคำว่า A.I. ไว้เท่านั้น เขาเป็นผู้บุกเบิกเปิดโลกของปัญญาประดิษฐ์และตั้งเป้าหมายว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง รวมถึงจุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยคนอื่น ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันเห็นเส้นทางการพัฒนาใหม่ ๆ จากยุคที่มองเรื่องเครื่องจักรซึ่งสร้างมาจากโลหะและกระแสไฟฟ้าจะสามารถคิดและเรียนรู้เฉกเช่นมนุษย์เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน สู่ความจริงในทุกวันนี้ว่ามนุษย์เราสามารถใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นเรื่องปกติและสนิทใจ
เรื่อง : วริญญา โลหะพงศ์พันธ์ (The People Junior)
ภาพ :
https://www.flickr.com/photos/12693492@N04/1338577487
https://www.gettyimages.com/detail/news-photo/prof-john-mccarthy-news-photo/685197187?adppopup=true
https://www.flickr.com/photos/pepihasenfuss/361777836
อ้างอิง
https://www.educathai.com/knowledge/articles/668
https://blog.pigro.ai/en/history-of-artificial-intelligence
https://www.forbes.com/sites/gilpress/2016/12/30/a-very-short-history-of-artificial-intelligence-ai/
https://www.britannica.com/biography/John-McCarthy
https://lfe.gitbooks.io/sicp/content/fm/preface-3/mccarthy.html
http://old-book.ru.ac.th/e-book/c/CT313(48)/CT313(48)-p1.pdf
https://www.vordenker.de/ggphilosophy/jvn_the-general-and-logical-theory-of-automata.pdf
https://www.nae.edu/322153/JOHN-MCCARTHY-19272011
https://www.youtube.com/watch?v=Ozipf13jRr4