วิลเลียม แสตนลีย์ ผู้คิดค้นกระติกน้ำสุญญากาศ Stanley เพราะแค่อยากจิบกาแฟร้อน ๆ ในวันหนาว ๆ

วิลเลียม แสตนลีย์ ผู้คิดค้นกระติกน้ำสุญญากาศ Stanley เพราะแค่อยากจิบกาแฟร้อน ๆ ในวันหนาว ๆ

‘วิลเลียม สแตนลีย์’ (William Stanley) นักประดิษฐ์แห่งยุคสมัยที่ตัวเองแค่อยากจิบกาแฟร้อน ๆ ในวันหนาว ๆ

KEY

POINTS

  • ‘วิลเลียม สแตนลีย์’ (William Stanley) นักประดิษฐ์ผู้คิดค้นกระบอกน้ำสุญญากาศขึ้นมา เพราะแค่อยากจิบกาแฟร้อน ๆ ในวันที่อากศหนาวเหน็บ
  • ช่างไฟฟ้า คืออาชีพแรกที่เขา จากความสนใจด้านวิศวกรรม เรื่องของกระแสไฟฟ้า เครื่องยนต์กลไกการทำงานของสิ่งต่าง ๆ
  • ในปี 1913 แบรนด์ Stanley ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นวัตกรรมแรกคือ ‘ขวดน้ำสแตนเลสสุญญากาศแบบพกพา’

ใครที่มีรสนิยมชอบพกกระติกน้ำติดตัวไปไหนมาไหน ติดรถไว้ดื่ม ติดกระเป๋าไว้จิบ ติดโต๊ะทำงานไว้ดับกระหายระหว่างวัน น่าจะต้องรู้จัก ‘Stanley’ มาบ้างไม่มากก็น้อย

โดยเฉพาะไวรัลล่าสุดปลายปี 2023 ที่ดังไปทั่วโลก เมื่อผู้ใช้ TikTok ชื่อ ‘Danielle Lettering’ ได้โพสต์วิดีโอรถยนต์ของเธอที่ไฟไหม้พังทั้งคัน แต่ขวดน้ำ Stanley ที่วางอยู่ภายในรถ ยังคงมีสภาพดีอยู่ แถมข้างในยังมีน้ำแข็งกลิ้งไปมาด้วย!

แต่รู้หรือไม่ว่า แบรนด์กระบอกน้ำพรีเมียมที่มีภาพลักษณ์ทันสมัยนี้ กลับมีอายุแบรนด์เกินศตวรรษไปแล้ว ก่อตั้งและคิดค้นโดย ‘วิลเลียม สแตนลีย์’ (William Stanley) นักประดิษฐ์แห่งยุคสมัยที่ตัวเองแค่อยากจิบกาแฟร้อน ๆ ในวันหนาว ๆ

สนใจไฟฟ้าแต่เด็ก

แสตนลีย์เกิดที่นิวยอร์ค เมื่อปี 1858 ในวัยเด็ก เขามีความสนใจด้านวิศวกรรม เรื่องของกระแสไฟฟ้า เครื่องยนต์กลไกการทำงานของสิ่งต่าง ๆ หมกมุ่นอยู่กับสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ พร้อมตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป

ในตอนแรก เขาเข้าเรียนต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัย Yale University ซึ่งเป็นสายคณะที่เมื่อจบไปแทบจะการันตีมีหน้าที่การงานสูงส่งในสังคม แม้จะมีอนาคตที่สดใสและการันตีความมั่นคงการงานมากกว่าสายคณะอื่น แต่เมื่อเรียนไปซักพัก เขาพบว่านี่ไม่ใช่เส้นทางที่ใฝ่ฝัน แสตนลีย์ตัดสินใจลาออกกลางคัน และไปหางานทำที่ด้านที่สนใจ 

ในตอนนั้น ไฟฟ้า (Electricity) ถือเป็นนวัตกรรมใหม่เอี่ยมในยุคสมัยนั้น เขาได้พบกับนักประดิษฐ์และวิศวกรเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจด้านไฟฟ้าและขอเข้าทำงานด้วย

หนุ่มช่างไฟ

อาชีพแรกที่เขาเริ่มทำยังไม่ได้เกี่ยวกับกระติกน้ำแต่อย่างใดเลย หากแต่เป็น ‘ช่างไฟฟ้า’ ต่างหาก เขาส่อแววเป็นดาววิศวกรหนุ่มไฟแรง บุกเบิกทำงานด้านระบบโทรเลข และ สัญญาณเตือนไฟไหม้ ปูพื้นฐานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและทำให้เขาเริ่มมีประสบการณ์ทำงานจริง

จากนั้น เขาย้ายงานไปร่วมกับบริษัทแห่งหนึ่งทำงานใกล้ชิดกับเจ้าของบริษัท และเป็นครั้งแรก ๆ ของประเทศ ที่เขามีส่วนร่วมออกแบบและวางระบบไฟฟ้าให้กับร้านค้าแห่งหนึ่งในย่าน Fifth Avenue ของนิวยอร์ค

นักประดิษฐ์แห่งยุคสมัย

จากนั้นในปี 1885 หลังจากสะสมประสบการณ์และองค์ความรู้มาระดับหนึ่ง จุดพลิกผันวิชาชีพเกิดขึ้น เขาต่อยอดงานวิจัยที่มีอยู่เดิมและนำมาสู่การคิดค้น ‘หม้อแปลงไฟฟ้ากระแสสลับ’ ได้สำเร็จ โดยหม้อแปลงที่เราเห็นในปัจจุบันล้วนเป็นพัฒนาการต่อยอดที่มีต้นกำเนิดมาจากหม้อแปลงยุคบุกเบิกที่แสตนลีย์สร้างไว้ 

และเพียงปีเดียวให้หลัง สามารถพัฒนาระบบส่งไฟฟ้ากระแสสลับแรงดันสูงได้สำเร็จ อำนวยความสะดวกในการจ่ายไฟให้กับพื้นที่วงกว้าง นับจากนี้ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและตึกออฟฟิศเริ่มมีไฟส่องสว่างยามราตรีแล้ว

ชีวิตหลังจากนั้น เขายังจะได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่และจดสิทธิบัตรอีกกว่า 129 รายการ เช่น ไส้หลอดสำหรับหลอดไฟฟ้า ขดลวดเหนี่ยวนำ และระบบกระแสไฟฟ้าอีกมากมาย เรียกได้ว่าในเชิงการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ เขาสามารถเทียบเคียงบ่าเคียงไหล่ โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) หรือ นิโคลา เทสล่า (Nicola Tesla) ได้เลยทีเดียว!

ปัญหาระคายใจสู่โอกาสธุรกิจ

แสตนลีย์ก็เป็นอีกคนที่ชอบดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ แต่เพนพ้อยท์ที่เขาเจอคือ ในฤดูหนาวที่อากาศหนาวเหน็บ กาแฟร้อน ๆ ที่เขาชงจะอร่อยได้ชั่วครู่เดียว เพราะอากาศจะทำให้มันเย็นลงในเวลาอันรวดเร็ว จนรสชาติเปลี่ยนไม่อร่อยฟินอีกต่อไป

เขามีความคิดว่า เครื่องดื่มบางชนิดจะมอบรสชาติที่ดีที่สุดเมื่อมันร้อนหรือเย็นเท่านั้น

  • เครื่องดื่มที่เย็น…ต้องเย็นให้นานที่สุด (เช่น เบียร์)
  • เครื่องดื่มที่ร้อน…ต้องร้อนให้นานที่สุด (เช่น กาแฟ)

สำหรับแสตนลีย์แล้ว กาแฟก็เช่นกัน มันต้องกินร้อน ๆ กาแฟที่ตอนแรกรสชาติดีแค่ไหน แต่ถ้ามันหายร้อนเมื่อไร รสชาติแสนอร่อยก็จบลงเมื่อนั้น

จะแก้ปัญหาชีวิตประจำวันนี้ยังไง?

เขาพบว่าสามารถนำองค์ความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้สร้างผลิตภัณฑ์ กระบวนการด้านหม้อแปลงไฟฟ้านั้นสามารถมาประยุกต์ใช้หุ้มกระติกน้ำเพื่อรักษาสภาพน้ำภายในได้!

การเก็บรักษาสภาพนั้นสำคัญ…เปรียบเปรยปัจจุบันให้เห็นภาพอีกนิด ไฟล์ดิจิตอลเก็บไว้บนคราวด์และเรียกใช้ได้เมื่อต้องการ หรือเรามีตู้เย็นที่เก็บของกินและเปิดหยิบได้ทุกครั้งที่ท้องหิว การเก็บรักษาเครื่องดื่มน้ำต่าง ๆ ไว้พกติดตัวไปไหนมาไหนก็เช่นกัน

กำเนิดขวดน้ำแสตนเลสสุญญากาศ 

แสตนลีย์รู้ว่าไม่ใช่แค่ตัวเองที่เจอเรื่องนี้ แต่ผู้คนอีกมากมายต้องประสบปัญหาแบบนี้ไม่มากก็น้อย ผลิตภัณฑ์นี้จะต้องตอบโจทย์คนเหล่านี้แน่นอน

และแล้วในปี 1913 แบรนด์ Stanley ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นวัตกรรมแรกคือ ‘ขวดน้ำสแตนเลสสุญญากาศแบบพกพา’ ซึ่งสามารถกักเก็บได้ทั้งความร้อนและความเย็น เมื่อรินกาแฟร้อน ๆ ลงไปก็สามารถจิบอย่างผ่อนคลายได้นาน ๆ ในฤดูหนาว หมดปัญหานี้อีกต่อไป 

แสตนลีย์มีความตรงไปตรงมาในการสร้าง ‘ภาพลักษณ์’ ตัวสินค้านี้ให้มีความแข็งแกร่ง ทนทาน สปอร์ต แมน ๆ เจาะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานชายหรือหนุ่มขาลุยผู้ชอบผจญภัยไปทำกิจกรรมเอ้าดอร์ข้างนอก เช่น นักตั้งแคมป์เดินป่า

เขาวางจุดยินให้เป็นเพื่อนคู่กาย 'คนงาน' เพื่อหิ้วไปทำงานนอกสถานที่และจะได้มีเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นดื่มติดตัวระหว่างวันทำงาน ขวดน้ำ Stanley พร้อมติดตัวออกนอกเมืองไปสู่โลกกว้าง ออกจากบ้านไปเปิดโลก เป็นประสบการณ์ชีวิตอันมีค่าที่หาไม่ได้ในห้องเรียนหรือในตึกออฟฟิศ

นอกจากนี้ ในยุคสมัยที่การเดินทางสำหรับคนทั่วไปยังไม่สะดวกเท่ายุคนี้…ใครล่ะที่มีโอกาสได้เดินทางไกลบ่อย ๆ ? หนึ่งในนั้นน่าจะต้องมี ‘ทหาร-นักบิน’ ในเวลาต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลก ขวดน้ำ Stanley ยังได้รับความนิยมในหมู่ทหารและนักบินด้วยเช่นกัน

วิลเลียม แสตนลีย์ ผู้คิดค้นกระติกน้ำสุญญากาศ Stanley เพราะแค่อยากจิบกาแฟร้อน ๆ ในวันหนาว ๆ

และด้วยอานิสงส์ชื่อแบรนด์(ชื่อตัวเอง) ที่ออกเสียงคล้ายกับตัวสินค้า ‘สแตนเลส x สแตนลีย์’ ก็พอช่วยสร้างภาพจำให้คนจดจำได้ง่ายขึ้นไปในตัว

ด้วยวัสดุที่ทำจากแสตนเลสภาพดี ภาพลักษณ์แข็งแกร่งทนทาน และเป็นนวัตกรรมใหม่ของยุคสมัยที่แก้ปัญหาผู้คนได้จริง ๆ Stanley ประสบความสำเร็จอย่างสูงและกลายเป็นสินค้าที่กลุ่มผู้ใช้งานขาลุยต้องมีติดตัว

จากวิศวกรไฟฟ้าที่ประยุกต์องค์ความรู้มาสร้างผลิตภัณฑ์ และกลายมาเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอุปกรณ์เครื่องดื่มแบบพกพา

พัฒนาต่อเนื่อง

ในยุคสมัยหลังจากแสตนลีย์ แบรนด์ Stanley ยังได้ออกผลิตภัณฑ์อีกหลากหลายรูปแบบ เช่น อุปกรณ์สำหรับทำอาหาร ถังเก็บน้ำแข็ง เครื่องดริปกาแฟ ฯลฯ แต่ทุกไอเท็มล้วนทำจากสแตนเลสเกรดพรีเมียมทั้งสิ้น 

ผู้บริโภคก็คุ้นเคยมากขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่คนงานอีกต่อไป แต่ใครก็ได้ที่พกติดตัดเข้ายิมไปออกกำลังกาย เดินทางไปทำงานไกล ๆ หรือเพียงแค่อยากพกติดตัวฟรีสไตล์ไปไหนมาได้ก็ได้ทั้งนั้น

แต่เมื่อมาถึงปัจจุบัน (ก่อนถึงปี 2019) ดูเหมือนแบรนด์จะเจอทางตัน ยอดขายไม่โต กลุ่มลูกค้าจำกัดแต่เดิม ๆ ไหนจะแบรนด์คู่แข๋งอื่น ๆ ในท้องตลาด แต่แล้วจุดพลิกผันครั้งใหญ่ที่สุดของแบรนด์ก็เกิดขึ้น

ฮิตกว่าเดิม

คนเราจะเห็นค่าต่อสิ่งหนึ่งก็ต่อเมื่อมันได้(หรือกำลังจะ)จากเราไปแล้ว…

ปี 2016 แบรนด์เปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ ‘Stanley Quencher’ แก้วน้ำรุ่นนี้มีฉนวนกันความร้อนแบบสุญญากาศและมีผนังสองชั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย และมีคำสั่งจากฝ่ายบริหารให้ทำการเลิกผลิต 

และเรื่องราวถัดจากนี้ อาจเป็นสตอรี่ที่พวกเราเริ่มคุ้นหูกันบ้างแล้วเพราะเป็นเรื่องราวที่จุดปะทุการ ‘สร้างแบรนด์ Stanley ยุคใหม่’ ก็ว่าได้

Stanley Quencher ได้รับการชุบชีวิตจากเหล่าผู้ก่อตั้ง ‘The Buy Guide’ เวปไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่เปิดตัวในปี 2017 ด้วยผู้ติดตาม 98% เป็นผู้หญิง อายุ 24-45 ปี 

เหล่าผู้ก่อตั้งเป็นผู้ใช้งานตัวจริง Stanley Quencher อยู่แล้วและชื่นชอบพิเศษเป็นการส่วนตัว จึงขอสั่งซื้อจำนวนมากมาขายซื้อและทำการช่วยโปรโมทสินค้าไปยังฐานผู้ติดตาม

ปรากฎว่ายอดขายโตระเบิด! ของหมดเกลี้ยง สั่งซื้อมาซ้ำก็หมดอีกในเวลารวดเร็ว

แบรนด์ Stanley จึงปรับเปลี่ยนตัวเองและทำงานร่วมกับ The Buy Guide และคอลแลปกับอินฟลูเอนเซอร์เจาะกลุ่มผู้หญิงรุ่นใหม่ หันไปโฟกัสเจาะกลุ่มผู้หญิง ดีไซน์สินค้าให้มีสีสันสดใหม่ ลดทอนความแมนลง ปรับโทนให้ดูอ่อนช้อยถูกจริตผู้หญิงมากขึ้น 

  • กลายเป็น ‘เฟอร์นิเจอร์’ ประดับประดาคู่ครัว 
  • ‘มิกซ์แอนด์แมตช์’ กับเสื้อผ้ากระเป๋าที่ถือติดตัวไปข้างนอก 

ก้าวสู่สินค้าอีโมชั่นเน้นอารมณ์ฟิลลิ่งที่ถูกใจลูกค้าผู้หญิงโดยไม่ลดทอนภาพฟังก์ชั่นที่ยังพรีเมียมเหมือนเดิม ปรับภาพลักษณ์เป็นผู้หญิงยุคใหม่ ทำงานเก่ง กระตือรือร้น เฮลตี้สุขภาพดี 

เกิดเป็น ‘คอมมูนิตี้ของคนรัก Stanley’ ที่แข็งแกร่งไม่แพ้ตัวสินค้า ซึ่งนอกจากจะการันตียอดขายในระยะยาวแล้วจากการซื้อซ้ำ ในแง่ของแบรนด์แล้วยังเป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ใฝ่ฝัน

เกิด คอนเทนต์ที่ผู้บริโภคให้ใจทำขึ้นเอง (User-Generated Content) มากมายบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่แบรนด์ชอบมาก ๆ ตัวอย่างเช่น

  • ขวดน้ำ Stanley กำลังลอยแช่น้ำชิลๆ ในสระน้ำช่วงซัมเมอร์
  • เทคนิคการเลือกสี Stanley เพื่อมาวางประดับครัวที่บ้านของ
  • เคล็ดลับสายสุขภาพ รินน้ำใส่ Stanley ตอนไปทำงาน เลิกงานน้ำต้องหมด

ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นผู้หญิงน่าจะแซงหน้ากลุ่มเก่าผู้ชายแมน ๆ ไปแล้ว ยอดขายพุ่งทะยานจาก 70 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2019 ขึ้นไปมากกว่า 10 เท่าที่กว่า 750 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2023 และมีแนวโน้มขึ้นต่อเนื่อง กลายเป็นแบรนด์ที่หลายคนโดยเฉพาะสาว ๆ พูดถึงและหาแย่งกันซื้อมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าภาพสินค้าไม่ดีจริง การซื้อซ้ำหรือโหยหาคอลเลคชั่นใหม่ ๆ จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าสินค้าไม่ดี การโปรโมทพูดเชียร์สินค้าจากใจแบบฟรี ๆ จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าสินค้าไม่มีภาพ

ถ้าพื้นฐานภาพสินค้าดีจริง แบรนด์จะยืนระยะได้ยาวอย่างยั่งยืน แบบที่ Stanley ยืนมาแล้วกว่า 111 ปี..

 

อ้างอิง