‘แพทริค ซูน-ชิออง’ หนุ่มจีนสู้ชีวิตในแอฟริกาใต้ สู่หนึ่งในหมอที่รวยที่สุดในโลก

‘แพทริค ซูน-ชิออง’ หนุ่มจีนสู้ชีวิตในแอฟริกาใต้ สู่หนึ่งในหมอที่รวยที่สุดในโลก

‘แพทริค ซูน-ชิออง’ คนจีนที่เกิดและโตในแอฟริกาใต้ ถูกเลือกปฏิบัติสารพัด กว่าจะรวยขึ้นแท่นหนึ่งในหมอที่รวยที่สุดในโลก

  • การได้เฝ้าดูพ่อรักษาคนในชุมชน ทำให้แพทริคเกิดแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพหมอตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ 
  • ผู้ป่วยรายแรกของเขาไม่ยอมให้เขาตรวจ ด้วยสาเหตุเพราะเขาเป็นคนจีน

“การได้เติบโตในยุคแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกาใต้ ทำให้ผมเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงศักดิ์ศรีและพลังของผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ”

นี่คือคำพูดของ ‘แพทริค ซูน-ชิออง’ ชายเชื้อสายจีนที่เกิดและโตในแอฟริกาใต้ ท่ามกลางยุคแบ่งแยกชนชาติที่ทำให้เขาอยู่ในจุดที่แตกต่างจากใคร ๆ เพราะเขาไม่ใช่ทั้งคนผิวขาว ไม่ใช่ทั้งคนผิวดำ 

ด้วยเหตุนี้แพทริคจึงนิยามตัวเองว่าเป็น ‘พวกไร้ประเทศ’ ที่ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิไปเรียนในโรงเรียนคนผิวขาว ไม่มีสิทธิแม้กระทั่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของคนผิวขาว แต่ก็ยังได้ขึ้นรถประจำทางของคนผิวขาว (โดยต้องแสดงบัตรประชาชนทุกครั้ง) ยังสามารถไปดูหนังในโรงหนังของคนผิวขาวได้ ขึ้นรถไฟก็พอได้ (แต่ต้องนั่งอยู่ด้านหลัง)

ชีวิตที่ถูกเลือกปฏิบัติในแอฟริกาใต้

แพทริคเติบโตมาในเมืองพอร์ตเอลิซาเบท เขาเรียนจบจากโรงเรียนแพทย์ด้วยคะแนนสูงสุดในชั้นเรียน และอยากไปฝึกงานในโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในแอฟริกาใต้เช่นเดียวกับนักเรียนแพทย์หัวกะทิคนอื่น ๆ แต่โรงพยาบาลกลับสงวนที่ไว้สำหรับนักเรียนแพทย์ผิวขาวเท่านั้น และไม่เคยมีสถานพยาบาลใดในแอฟริกาใต้ที่จ้างคนเชื้อสายเอเชียมาก่อน 

เพื่อที่จะรับแพทริคเข้าฝึกงาน ทางโรงพยาบาลต้องทำเรื่องขออนุญาตจากรัฐบาลแอฟริกาใต้ และการอนุญาตมาพร้อมเงื่อนไขที่ว่า แพทริคจะได้รับเงินเดือนแค่ครึ่งหนึ่งจากเงินเดือนปกติ 

“เพื่อน ๆ ยุให้ผมชนกับเรื่องนี้ แต่ผมไม่ทำ ผมยินดีที่จะรับเงินเดือนที่ต่ำกว่า เพื่อที่จะได้เรียนจากโรงพยาบาลที่ดีที่สุด” แพทริคเล่าถึงการเลือกปฏิบัติที่น่าเศร้าในอดีต 

เมื่อผ่านด่านรัฐบาลมาได้ แพทริคยังต้องเจอกับกำแพงที่สูงลิ่วของผู้ป่วยอีก

ผู้ป่วยรายแรกของเขาเป็นชาวอาฟรีกาเนอร์ (กลุ่มชาวดัตช์ที่มาตั้งถิ่นฐานในแอฟริกาใต้ตั้งแต่ยุคอาณานิคม) ผู้ป่วยรายนี้ไม่ยอมให้เขาตรวจ ด้วยสาเหตุเพราะเขาเป็นคนจีน ทั้งที่ตัวเองนอนโรงพยาบาลมา 3 สัปดาห์แล้ว เพราะติดเชื้อจนไข้กำเริบ แต่หมอคนอื่นไม่สามารถหาสาเหตุการติดเชื้อได้

ผู้ป่วยพูดกับแพทริคว่า “ไม่ ผมไม่ต้องการให้คุณมาแตะต้องตัวผม” จนหมออีกคนต้องขู่ว่าถ้าไม่ยอมรักษาก็กลับบ้านไป ผู้ป่วยจึงยอมให้แพทริคตรวจอย่างไม่เต็มใจนัก

ไม่นานแพทริคก็พบสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยรายนี้อาการกำเริบ เขารักษาผู้ป่วยจนหายดี แล้วเหตุการณ์ก็กลับตาลปัตร ผู้ป่วยคนนี้เดินไปทั่วโรงพยาบาล เที่ยวบอกใครต่อใครให้ไปรักษากับแพทริค โดยพูดว่า “ไปหาหมอจีนคนนั้นสิ ให้เขาตรวจดูหน่อย” 

แม้จะได้รับการยอมรับจากผู้ป่วยในโรงพยาบาลแล้ว แต่ลึก ๆ แพทริคยังคงผิดหวังกับเงินเดือนที่ได้ไม่เท่ากับเพื่อนร่วมงานผิวขาว แม้ครอบครัวของเขาจะไม่ได้เดือดร้อนเรื่องการเงินแล้วก็ตาม

พ่อแม่ของแพทริคอพยพออกจากประเทศจีน หลังญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งคู่เลือกแอฟริกาใต้เป็นบ้านใหม่ แล้วช่วยกันเปิดร้านขายของสร้างเนื้อสร้างตัว ช่วงแรกครอบครัวที่มีลูกมากถึง 9 คนก็ยังขัดสนอยู่บ้าง จนแพทริคต้องออกไปเร่ขายหนังสือพิมพ์เพิ่มรายได้

แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นหมอ-นักเคลื่อนไหว

นอกจากเปิดร้านขายของและขายหนังสือพิมพ์ พ่อของแพทริคยังเป็นหมอสมุนไพรด้วย แพทริคเล่าว่า ทุก ๆ 2 เดือน พ่อจะสั่งสมุนไพรมาจากจีน เอาไว้รักษาคนที่เป็นไข้ ไอ หรือเป็นฝี 

การได้เฝ้าดูพ่อรักษาคนในชุมชน ทำให้แพทริคเกิดแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพหมอตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ 

แพทริคสอบผ่านชั้นมัธยมปลายด้วยวัยเพียง 16 ปี และได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยวิทวอเทอร์สแรนด์ ระหว่างเรียนเขาได้เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่เข้มงวดกับนโนบายแบ่งแยกสีผิว ทั้งยังเคยถูกจับด้วยเหตุการณ์ที่ฟังแล้วอดขำไม่ได้

เขาเล่าว่าวันนั้นเขากำลังขับรถยนต์ และถูกตำรวจเรียกตรวจ ตำรวจถามเขาว่า “บัตรประจำตัวของคุณอยู่ไหน?” เขาเลยถามกลับอย่างสุภาพว่า “แล้วของคุณหล่ะ อยู่ที่ไหน?” 

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 กฎหมายกำหนดให้คนผิวดำและผิวสีอื่น ๆ ต้องพกเอกสารระบุตัวตนตลอดเวลา และจำกัดการเคลื่อนไหวคนเหล่านี้ในบางพื้นที่ การต่อล้อต่อเถียงกับตำรวจ จึงทำให้เขาถูกจับและถูกนำตัวไปคุมขังประมาณ 9 ชั่วโมง

ในปี 1976 รัฐบาลแอฟริกาใต้ประกาศให้นักเรียนชั้นประถมที่เป็นคนผิวดำและผิวสีอื่น ๆ นอกเหนือจากผิวขาว เริ่มเรียนภาษาอาฟรีกานส์ ซึ่งเป็นภาษาของผู้ล่าอาณานิคมชาวดัตช์ แทนที่จะใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาถิ่นที่ชาวพื้นเมืองใช้กันทั่วไป 

คำสั่งเจ้าปัญหานี้ ทำให้นักเรียนทุกวัยรวมกว่า 20,000 คน ออกมาประท้วงตามละแวกบ้าน 

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่เด็ก ๆ ร้องเพลงอย่างสนุกสนาน พร้อมความหวังที่จะนำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกมาสู่โลก เจ้าหน้าที่แอฟริกาใต้ได้ใช้แก๊สน้ำตายิงใส่เด็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาแยกย้ายกลับบ้าน 

นักเรียนหลายคนไม่ยอมแพ้ พวกเขาจับกลุ่มกันใหม่ และเริ่มร้องเพลงต้องห้าม เจ้าหน้าที่จึงเริ่มเปิดฉากยิงใส่เด็ก ๆ เมื่อสิ้นสุดวัน มีเด็กอย่างน้อย 176 คน เสียชีวิต บางคนเชื่อว่าตัวเลขจริงสูงกว่านี้มาก

แพทริคซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ทำงานอาสาที่โรงพยาบาลในช่วงเวลานั้นพอดี เขาได้ช่วยรักษาเด็ก ๆ ที่บางคนถูกยิง บางคนถูกทุบตีอย่างทารุณ 

“ในฐานะนักศึกษาแพทย์ คนผิวดำที่ผมได้รักษาในช่วงจราจลต่อต้านการเหยียดผิว ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผม พวกเขายอมก้มหน้ารับความยากลำบากอย่างสมศักดิ์ศรี พวกเขาไม่ถอย พวกเขาไม่ยอมแพ้” แพทริคให้สัมภาษณ์ในภายหลัง 

ความรักของหนุ่มสาวนักสู้

แพทริคได้พบกับภรรยาของเขาคือ ‘มิเชล เฉิน’ ขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 เธอเองก็ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้เรียนการละครที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน 

มิเชลเล่าว่า ในเวลานั้น เธอกับแพทริคต้องผ่านเรื่องคล้าย ๆ กัน ซึ่งทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่พิเศษ “เขาเป็นนักศึกษาฝึกงานชาวจีนคนแรกที่ได้ทำงานในโรงพยาบาลของคนผิวขาว ส่วนฉันเป็นนักศึกษาชาวจีนคนแรกในโรงเรียนการละคร มันทำให้เราซาบซึ้งในความทุ่มเทต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราต้องการ และทำให้เราเป็นครอบครัวที่กล้าเสี่ยง”

มิเชลเองก็เผชิญกับอุปสรรคทางเชื้อชาติบนเส้นทางการแสดงในช่วงหลังเรียนจบเช่นกัน แพทริคเล่าว่าภรรยาของเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกทีวีในแอฟริกาใต้ ทั้งที่อาศัยอยู่ที่นั่น แต่หลังจากที่ทั้งคู่เดินทางไปลอสแอนเจลิส และเธอรับบทในซีรีส์เรื่อง ‘Danger Bay’ ทางแอฟริกาใต้จึงได้ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เรื่องนี้และนำไปออกอากาศในประเทศ ทำให้เธอได้ปรากฏตัวทางทีวีในแอฟริกาใต้สมใจ

โบยบินออกจากแอฟริกาใต้ 

หลังจากฝึกงานในโรงพยาบาลโดยรับค่าจ้างน้อยกว่าคนอื่นเป็นเวลา 1 ปี ทางโรงพยาบาลก็ได้เสนอให้แพทริคมาทำงานเต็มเวลา แต่เขาก็ปฏิเสธไปอย่างสุภาพ และเลือกไปทำงานที่คลินิกวัณโรคสำหรับคนผิวดำแทน 

เขาหมกมุ่นอยู่กับการทดลองเชื้อวัณโรค และมุ่งมั่นที่จะกำจัดโรคนี้ไปให้ได้ ผ่านไป 6 เดือน เขาตัดสินใจย้ายไปอังกฤษ เพื่อพาตัวเองไปอยู่กับเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด 

แต่ละเย็น แพทริคจะทำงานร่วมกับนักวิจัยที่มีชื่อเสียงด้านมะเร็งตับอ่อน ผลงานของพวกเขาได้รับรางวัลมากมาย และทำให้แพทริคได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือ UCLA ในปี 1980

หลังจากได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอาจารย์ด้านศัลยกรรมที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เขาก็สร้างชื่อเสียงด้วยการปลูกถ่ายตับอ่อนจนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในแถบชายฝั่งตะวันตกของประเทศ โดยขณะนั้นมีการปลูกถ่ายตับอ่อนได้เพียง 900 แห่งทั่วโลก และในสหรัฐฯ มีศูนย์ปลูกถ่ายตับอ่อนเพียง 4 แห่งเท่านั้น ความสำเร็จนี้ทำให้ UCLA เป็นศูนย์แห่งเดียวในชายฝั่งตะวันตกที่ดำเนินการได้สำเร็จ 

“เมื่อเธอได้เห็นอาหารมื้อแรก ดวงตาของเธอก็เป็นประกาย” แพทริคพูดถึงผู้ป่วยที่เหมือนได้รับชีวิตใหม่หลังการปลูกถ่ายตับอ่อน “เธอรอวันนี้มา 20 ปีแล้ว การปลูกถ่ายตับอ่อนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการรุนแรงให้ดีขึ้น”

เขายังพูดถึงความยากลำบากในการดำเนินการด้วยว่า “ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่บอบบางมาก ระหว่างการผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะออกจากร่างของผู้บริจาคต้องใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง และหากตับอ่อนได้รับความเสียหายระหว่างการผ่าตัด มันจะหลั่งน้ำย่อยออกมาทำลายตัวเอง” 

แม้จะทำผลงานได้ยอดเยี่ยม แต่แพทริคกลับเดินเข้าไปหาประธาน UCLA เพื่อขอให้ปิดโครงการที่เขาเป็นผู้อำนวยการไป เพื่อที่เขาจะไปเรียนรู้วิธีการรักษาเบาหวานด้วยการปลูกถ่ายไอส์เล็ตส์เซลล์ (islet cell transplants) แทน ทำเอาประธานถึงกับงงหนัก

แพทริคยังขอให้ประธาน UCLA อนุมัติวันหยุดให้กับเขา ซึ่งถูกปฏิเสธทันทีเพราะเขาเพิ่งมาทำงานได้ไม่นาน กระทั่งแพทริคต่อรองว่า เขาขอหยุด 6 เดือน โดยไม่รับเงินเดือนจาก UCLA เพื่อเดินทางรอบโลกไปเรียนรู้วิธีการปลูกถ่ายไอส์เล็ตส์เซลล์ ซึ่งเขามองว่าเป็นการรักษาเบาหวานที่ปลอดภัยกว่า ประธาน UCLA จึงยอมตกลงแบบไม่ค่อยเต็มใจ

สาเหตุที่เขาสามารถอยู่ได้สบาย ๆ โดยที่ไม่ต้องรับเงินเดือนนั้น เพราะภรรยาของเขากำลังทำเงินจากการแสดงได้มาก และเธอก็หนุนหลังสามีเต็มที่ 

6 เดือนต่อมา แพทริคจึงสามารถดำเนินการปลูกถ่ายไอส์เล็ตส์เซลล์ได้สำเร็จที่ศูนย์การแพทย์ St.Vincent

จากหมอสู่นักธุรกิจ

แพทริคยังทำงานที่ UCLA จนถึงปี 1999 ระหว่างนั้น ‘เทอร์เรนซ์’ น้องชายของเขา ซึ่งเป็นนักลงทุนในลอนดอนได้ทุ่มเงิน 2.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเขาเปิดบริษัทพัฒนายาชื่อ VivoRx ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาให้ทดลองรักษาเบาหวานในมนุษย์ เมื่อปี 1993

ผู้ป่วยรายแรกของแพทริคเป็นผู้ป่วยเบาหวานขั้นรุนแรงที่ฉีดอินซูลินมานาน 30 ปี แพทริคได้กรีดหน้าท้องของผู้ป่วยรายนี้ขนาด 2 นิ้ว และใช้เวลากว่า 30 นาทีในการรักษาที่ศูนย์การแพทย์ St.Vincent ในลอสแอนเจลิส หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถเดินได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย และสามารถงดอินซูลินได้ในอีกหลายเดือนต่อมา 

หลังข่าวนี้แพร่ออกไป แพทริคเริ่มเดินสายออกรายการโทรทัศน์ทั่วประเทศเพื่อบรรยายวิธีต่อสู้โรคเบาหวานของเขา ความสำเร็จนี้ยังทำให้ผู้ผลิตยาอย่าง Mylan Laboratories ร่วมลงทุน 5 ล้านดอลลาร์เพื่อถือหุ้น 10% ใน VivoRx และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการวิจัยอีกเดือนละ 200,000 ดอลลาร์ 

จากความสำเร็จในการรักษาโรคเบาหวาน แพทริคเริ่มมั่นใจแล้วว่าเขาจะสามารถพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งได้ เขาจึงตั้งบริษัทแห่งที่ 2 ที่ชื่อว่า VivoRx Pharmaceuticals ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น American Bioscience เพื่อมุ่งเน้นการวิจัยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ

กลายเป็นว่าเขาใช้เวลาหมกมุ่นอยู่ในห้องทดลองของ VivoRx Pharmaceuticals จนงานพัฒนายารักษาโรคเบาหวานไม่คืบหน้า ทำให้เขาถูกน้องชายและนักลงทุนรายอื่น ๆ ใน VivoRx ร่วมกันฟ้องร้องในข้อหาฉ้อโกง พวกเขามองว่าแพทริคนำทรัพยากรที่มีไว้สำหรับการวิจัยของ VivoRx ไปใช้กับงานด้านมะเร็ง 

ต้นปี 1999 คดีนี้ไปถึงอนุญาโตตุลาการ ซึ่งได้ตรวจสอบเอกสาร 17,000 หน้า และตัดสินว่าแพทริคไม่ได้กระทำความผิดใด 

หลังจากนั้นแพทริคก็เดินหน้าหาวิธีรักษาโรคมะเร็งต่อ เป้าหมายของเขาคือการพัฒนาวิธีรักษาที่ไม่ทำลายระบบคุ้มกันของผู้ป่วย ซึ่งแพทริคมองว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มาเพื่อปกป้องร่างกายของพวกเราทุกคน เขายังหวังด้วยว่าวิธีการรักษาของเขาจะพัฒนาไปสู่การรักษาโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคติดเชื้อต่าง ๆ 

ในที่สุดเขาจึงสามารถพัฒนายาต้านมะเร็ง Abraxane ขึ้นมาได้ ยาตัวนี้เป็นการนำยาเคมีบำบัดที่มีอยู่แล้ว มาห่อหุ้มด้วยโปรตีนเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าไปจัดการกับเนื้อร้าย

ปี 2005 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อนุมัติ Abraxane สำหรับใช้กับโรคมะเร็งเต้านม ต่อมาในปี 2013 จึงได้อนุมัติยาตัวนี้สำหรับใช้กับมะเร็งปอดและมะเร็งตับอ่อน

ความสำเร็จนี้ทำให้มูลค่าของบริษัท American Bioscience พุ่งสูงขึ้น หลังจากนั้นแพทริคก็ได้ตั้งอีกบริษัทคือ American Pharmaceutical Partners หรือ APP ขึ้นมา เพื่อผลิตยาป้องกันโลหิตไม่ให้แข็งตัว (heparin)

หลังจากนั้นเขาก็ขายบริษัทผลิตยามะเร็ง ให้กับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Celgene ในปี 2010 และขายบริษัท APP ให้กับบริษัท Fresenius ของเยอรมัน ในปี 2008 รวมมูลค่า 9,100 ล้านดอลลาร์ 

หลังจากขายบริษัททั้ง 2 แห่งไปแล้ว แพทริคกลายเป็นหมอที่ร่ำรวยที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในลอสแอนเจลีสอยู่พักหนึ่ง 

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงและมีเงินใช้ไปทั้งชาติ แต่เขาก็ยังไม่หยุดทำงาน เขาได้ก่อตั้งบริษัท NantWorks ซึ่งเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาข้อมูลด้านสุขภาพทั่วโลก และการพัฒนายาในยุคต่อไป 

ในปี 2013 เขายังลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ Zoom ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนที่ในปี 2018 เขาจะซื้อ Los Angeles Times และ San Diego Tribune ในราคา 500 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้เขายังก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ImmunityBio เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ รวมถึงโควิด-19 

นี่คือเรื่องราวของชายที่เติบโตมาท่ามกลางการเลือกปฏิบัติสารพัด แต่เลือกที่จะแทนที่ ‘ความโกรธแค้น’ ด้วย ‘ความหวัง’ ที่จะพัฒนาชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์

 

ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:

brooksysociety

billionaires.africa

forbes

immunitybio

clacified

news24

businessday