ป้าติ๋ม เจ้าของใบหน้าบนซอง Hershey's นางฟ้าบ้านสัตว์จร ขายของสารพัด หาทุนเลี้ยงหมา

ป้าติ๋ม เจ้าของใบหน้าบนซอง Hershey's นางฟ้าบ้านสัตว์จร ขายของสารพัด หาทุนเลี้ยงหมา

ทำความรู้จัก ‘ป้าติ๋ม’ กวิพร วินิจเถาปฐม ผู้ก่อตั้งบ้านนางฟ้าของสัตว์จร ไขคำตอบว่าทำไม ‘ป้าติ๋ม’ จึงกลายเป็นหญิงไทยคนแรกที่มีภาพปรากฏบนซองช็อกโกแลตดังระดับโลกอย่าง Hershey’s

  • ชื่อ ‘บ้านนางฟ้าของสัตว์จร’ มาจากการที่ลูกชายบอกกับ ‘ป้าติ๋ม’ ว่า “แม่เป็นนางฟ้าของเจ้าพวกนี้นะ” 
  • ‘ป้าติ๋ม’ ยืนยันว่า การที่เธอมีภาพปรากฏบนซองช็อกโกแลตแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Hershey’s เธอไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด หลังจากนั้นเธอยังต้องขายบ้านและที่ดินเพื่อหาเงินมาเป็นค่าอาหารสุนัขต่อไป

ชื่อของ ‘ป้าติ๋ม’ กวิพร วินิจเถาปฐม อายุ 73 ปี ตกเป็นข่าวดัง เมื่อ Hershey’s หนึ่งในผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ที่สุดในโลก ตัดสินใจเลือก ‘ป้าติ๋ม’ เป็นหญิงไทยคนแรกที่จะปรากฏภาพขึ้นบนซองช็อกโกแลต ยกย่องที่เธออุทิศตนเองเพื่อสังคม สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ผ่านการช่วยเหลือสุนัขและแมวในสถานสงเคราะห์สัตว์ ‘บ้านนางฟ้าของสัตว์จร’

แต่ก่อนจะมีวันนี้ 'ป้าติ๋ม' ต้องขายทรัพย์สินแทบทุกอย่างที่มี จนถึงวันนี้ก็ยังต้องขายต่อไป...

ที่มา ‘บ้านนางฟ้าของสัตว์จร’ 

‘ป้าติ๋ม’ เป็นผู้ก่อตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ ‘บ้านนางฟ้าของสัตว์จร’ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี 

จุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดของเธอนั้น อาจคล้ายกับทาสแมวทาสหมาส่วนใหญ่นั่นคือ ‘สงสาร’ 

ก่อนหน้านั้น 'ป้าติ๋ม' มีชีวิตสุขสบาย เธอกับสามีทำธุรกิจขนส่งคอนกรีตผสมเสร็จอยู่ที่ จ.นนทบุรี อาณาจักรเฟื่องฟูถึงขนาดมีรถโม่ในความดูแล 280 คัน

แต่ชีวิตคนเราเจอจุดเปลี่ยนเสมอ และจุดเปลี่ยนของ 'ป้าติ๋ม' เกิดขึ้นในวันธรรมดา ๆ ระหว่างทางที่เธอไปซื้อกับข้าวที่ตลาด ซึ่งเธอต้องใช้เส้นทางผ่านวัด เลยได้เห็นหมาวัดที่ผอมโซ บางตัวเป็นหมาแม่ลูกอ่อน ไม่มีจะกิน 

ด้วยความสงสารจึงหยิบยื่นอาหารให้สัตว์เหล่านี้ ก่อนจะขยายไปถึงการพาไปทำหมัน 

“พอทำหมันเสร็จเราก็จะเอามันกลับไปไว้ที่เดิม มีอยู่ครั้งหนึ่งก็แปลกใจว่าทำไมเหลือแต่หมาตัวผู้ พอไปถามถึงรู้ว่าตัวเมียโดนวางยา มันไปย่ำเตยเขาตาย เขาเลยเบื่อยามัน” ป้าติ๋มเล่าถึงชะตากรรมหมาตัวเมียตัวหนึ่งที่เคยหยิบยื่นน้ำใจให้
 

‘ภนิดารัสมิ์ วินิจเถาปฐม’ ลูกสาวป้าติ๋ม เล่าว่า ตอนเด็ก ๆ แม่ของเธอเคยเอาสุนัขมาเลี้ยง 2 ตัว แต่ปรากฏว่าเธอกลัวสุนัข แม่เลยต้องเอาสุนัขไปไว้ที่อื่น แล้วหลังจากนั้นที่บ้านก็ไม่ได้เลี้ยงสุนัขอีกเลย 

“จนเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็ซื้อหมามาให้เป็นของขวัญ พอมีตัวแรกก็มีตัวที่ 2 ตัวที่ 3 แล้วหลังจากตัวที่ 3 ก็จะเป็นการเลี้ยงเพราะสงสาร แล้วก็มีหมาจรที่คนให้ ทีนี้จากหลักสิบก็เพิ่มเป็นหลักร้อย ตอนนี้ก็หลักพัน” 

ในช่วงนั้น ครอบครัว ‘วินิจเถาปฐม’ ดัดแปลงพื้นที่รอบบริษัทใน จ.นนทบุรี เป็นพื้นที่ดูแลสัตว์ โดยใช้เงินจากการทำธุรกิจ เพราะไม่อยากรบกวนใคร 

‘ป้าติ๋ม’ และครอบครัว เดินหน้าช่วยเหลือสุนัขเต็มตัว เน้นที่การให้อาหาร พาไปฉีดวัคซีน หยอดยากำจัดเห็บหมัด และทำหมัน จากนั้นจำนวนสุนัขและแมวที่ดูแลก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

“มันทยอยมา สะสมมาเรื่อย ๆ ช่วยมาตั้งแต่ปลายปี 2546 มันก็หลายปี ก็เลยเยอะ หลัง ๆ คนก็เอาหมามาให้ทีหลายตัว”

ความแออัดดังกล่าวประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 จึงทำให้ครอบครัวใจบุญนี้ต้องหาเงินเกือบ 100 ล้านบาท เพื่อย้ายธุรกิจและสัตว์จรทุกตัวไปเริ่มชีวิตใหม่ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ภายใต้ชื่อสถานสงเคราะห์สัตว์ ‘บ้านนางฟ้าของสัตว์จร’ 

ที่มาของชื่อสถานสงเคราะห์สัตว์นี้ มาจากการที่ลูกชายของ ‘ป้าติ๋ม’ พูดกับเธอว่า “แม่นี่เป็นนางฟ้าของเจ้าพวกนี้เลยนะ”

‘ป้าติ๋ม’ เล่าถึงการตัดสินใจครั้งใหญ่นี้ว่า “ช่วงนั้นเจอทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งน้ำท่วม เวลาน้ำท่วมแล้วไฟก็ดับ คิดว่ายิ่งตัวเองแก่จะยิ่งแย่ ธุรกิจก็จะดาวน์ลง เงินจะหมด ต้องตัดสินใจให้ดี เลยทยอยขายรถเกือบ 200 คัน ทองก็เอาไปจำนำ แล้วย้ายมาที่นี่ เพื่อหาที่ให้หมาอยู่ ที่นี่น้ำไม่ท่วม” 
 

“หมามันก็อกหักเป็นนะ มันมีชีวิตจิตใจ”

มาถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า ทำไม ‘ป้าติ๋ม’ และครอบครัว ต้องทุ่มเทให้กับสุนัขและแมวจนครอบครัวลำบาก เป็นหนี้เป็นสิน ทำไมไม่ทำแค่พอดีตัว

ป้าติ๋ม’ เคยให้คำตอบที่สะท้อนถึงความรู้สึกของพวกมันเอาไว้ 

“เวลาหมาถูกทำร้ายหรือถูกรถชน ไม่มีใครสนใจจะช่วย เพราะมันก็แค่หมา กลับกันถ้าเป็นคน เรื่องราวใหญ่โตเลยนะ ทั้งที่หมาก็มีความรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกัน”

“เวลาที่หมามันรักใคร มันรักเลยนะ มันไม่เปลี่ยนใจนะ มันรักแล้วรักเลย ไม่เหมือนคน วันนี้รัก พรุ่งนี้ไม่รัก หมานี่ถ้าได้รักใคร มันรักตลอดเลย คุณจะหายหน้าไป ไม่เจอมันนานแค่ไหน พอมันเห็นหน้า มันก็กระดิกหางดีอกดีใจ เป็นอะไรที่ซื่อสัตย์ แล้วก็ไม่เรื่องมาก แค่ได้กินอาหารวันละมื้อ มันก็ดีใจมากแล้ว” 

“หมามันก็อกหักเป็นนะ มันก็มีชีวิตจิตใจนะ มันเสียใจนะ มันนับถือคนที่ดูแลมันเหมือนเป็นพ่อเป็นแม่ มันซื่อสัตย์นะ อย่าเอามันไปทิ้ง เวทนามันเถอะ มันไปแล้วมันจะว้าเหว่ เจอทั้งหมาตัวอื่น ทั้งคนแปลกหน้า ทั้งรถ ทั้งสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย มันก็มีชีวิตจิตใจเหมือนคนนะ ไม่สงสารมันบ้างเหรอ?”

นี่เป็นสาเหตุให้หญิงสูงวัยท่าทางคล่องแคล่ว ดูแลสุนัขและแมวกว่า 2,000 ตัว (สุนัข 1,500-1,600 ตัว และแมวประมาณ 700 ตัว) ที่ต้องอยู่ร่วมกันไปจนกว่าพวกมันจะสิ้นอายุขัย บนเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่

กิจวัตรของ ‘ป้าติ๋ม’ แห่งบ้านนางฟ้าของสัตว์จร 

แต่ละวัน ‘ป้าติ๋ม’ จะตื่นขึ้นมาตอน 6 โมงเช้า แล้วง่วนอยู่กับพวกมันจนถึงตี 2 
ระหว่างวันเธอจะช่วยกันกับลูกจ้าง 20 คน ทำความสะอาดคอก ให้อาหาร ดูแลสุนัขป่วย พิการ หรืออัมพาต ซึ่งไม่สามารถกินอาหารเม็ดได้เหมือนสุนัขทั่วไป แต่ต้องกินข้าวคลุกไก่และตับ ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด 

จากภารกิจที่ว่ามา ทำให้เธอแทบไม่มีเวลาให้ตัวเอง ลูกชายต้องเป็นคนคอยเตือนให้กินข้าวกินน้ำ ส่วนธุรกิจของครอบครัวก็ต้องให้ลูกสาวเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง หลังจากที่สามีของ ‘ป้าติ๋ม’ เสียชีวิต เมื่อปลายปี 2564

“เราก็แค่ช่วยให้มันมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยจากรถ ปลอดภัยจากคนที่จะมาทำร้าย มีอาหารให้วันละมื้อ ฉีดวัคซีนปีละครั้ง หยอดยาป้องกันเห็บหมัดเดือนละครั้ง” ป้าติ๋มเล่าด้วยแววตาอ่อนโยน 

ค่าใช้จ่ายที่บ้านนางฟ้าของสัตว์จรแบกรับ

‘ป้าติ๋ม’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2564 ถึงค่าใช้จ่ายที่ ‘บ้านนางฟ้าของสัตว์จร’ ต้องแบกรับในแต่ละเดือน ตกอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างคนงาน 3 แสนบาท ค่าอาหารสุนัข 4 แสนบาท ค่าอาหารแมว 2 แสนบาท นอกนั้นเป็นค่าน้ำมันรถ ค่ารักษาและค่ายา 

“สมัยก่อนเงินจะมาจากธุรกิจ ใช้เงินเราอย่างเดียว ไม่เคยขอบริจาคที่ไหน แต่ตอนนี้หมาแมวเพิ่มเป็น 2,000 ตัว ต้องขอให้คนนอกมาช่วยเหลือเรา แต่เราไม่ได้เอาเงินหมามากินนะ” ป้าติ๋มยืนยันหนักแน่น และบอกด้วยว่า

“เรารู้ว่าหมาเยอะ เราหยุดแล้ว แต่คนอื่นเขาไม่หยุด เขาเอาหมามาให้ จะให้ทำยังไง จะให้เราขับไล่ไสสงมันไปไหน” 

ทุกวันนี้ ‘บ้านนางฟ้าของสัตว์จร’ พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายจนถึงที่สุด แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 500,000 บาท 

‘ป้าติ๋ม’ เล่าด้วยความปลาบปลื้มใจด้วยว่า โชคดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานค่าอาหารสุนัขให้เดือนละ 100,000 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา และผู้แทนพระองค์ยังมาติดตามดู รวมถึงนำอาหารมาส่งให้ทุกเดือน 

Hershey’s ติดต่อ ‘ป้าติ๋ม’ ขึ้นภาพบนซองช็อกโกแลต

ปัจจุบัน ‘อนันต์ธรณ์ วินิจเถาปฐม’ ลูกชายของ ‘ป้าติ๋ม’ ยอมทิ้งความฝันของตัวเอง เพื่อเข้ามาช่วยบริหารจัดการงานต่าง ๆ ใน ‘บ้านนางฟ้าของสัตว์จร’ รวมถึงดูแลด้านโซเชียลมีเดียเพื่อพยายามบอกเล่าสิ่งที่แม่ของเขากำลังทำ ให้สังคมภายนอกได้รับรู้

‘อนันต์ธรณ์’ เล่าตอนที่ Hershey’s ติดต่อมาว่า 

“Hershey’s โทรมาช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว บอกว่าต้องการทำแคมเปญเกี่ยวกับสตรีที่ช่วยเหลือสังคม จะช่วยเอาภาพคุณแม่ลงหีบห่อ ทำให้คนรู้จัก เขาจะได้สนใจมาช่วยเหลือหมาแมวจรจัดของคุณแม่ที่มีอยู่เกือบ 2,000 ตัว”

‘ป้าติ๋ม’ เอง ยอมรับว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าการได้มีภาพอยู่บนซอง Hershey’s จะเป็นยังไง แล้วต่อมาลูกชายก็โทรมาบอกว่า “ซอง Hershey’s มีรูปแม่แล้วนะ” 

ตอนนั้นเธอก็บอกให้ลูกชายเอามาให้ดู แต่ก็ยังไม่รู้สึกอะไร 

กระทั่งเพื่อน ๆ ของเธอ เริ่มส่งข่าวมาให้ดูทางไลน์ และเธอได้เห็นคลิปของตัวเองลงยูทูบ 

“เออ ก็ดีนะ เพราะสิ่งที่เราทำ คนไม่เข้าใจ เขาไม่รู้ว่าเราทำอะไร ทำไปทำไม จริง ๆ ที่ทำเพราะเราเมตตาสงสารมัน และไม่อยากให้มันเพิ่มจำนวน มันก็ดีในแง่ที่ว่าเขาก็ช่วยประชาสัมพันธ์ น่าจะได้รับความช่วยเหลือจากสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”

'ป้าติ๋ม’ ยืนยันด้วยว่า การที่เธอมีภาพปรากฏบนซองช็อกโกแลตแบรนด์ดังระดับโลก เธอไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด

หลังจากได้รับเกียรติจาก Hershey’s แล้ว ‘ป้าติ๋ม’ ยังประกาศขายบ้านที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ในราคา 25 ล้านบาท หลังจากเพิ่งซื้อได้เพียง 5 ปี รวมถึงที่ดินใน จ.ชลบุรี จำนวน 16 ล้านบาท เพราะต้องการนำเงินมาใช้จ่ายเป็นค่าอาหารสุนัข เพิ่มเติมจากเงินที่ได้จากการทยอยขายรถโม่ปูน (ตอนนี้เหลือเพียง 10 คัน) ตลอดจนเครื่องมือช่าง และอสังหาริมทรัพย์ บางส่วน 

เรื่องราวของ ‘ป้าติ๋ม’ และ ‘บ้านนางฟ้าของสัตว์จร” จะถูกบอกเล่าผ่านข้อมูลที่สามารถสแกนอ่านได้จากคิวอาร์โค้ดบนซองช็อกโกแลต Hershey’s คาดว่าจะเริ่มอ่านได้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมเป็นต้นไป เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 

อ้างอิง:

รายการคนดีต้องแชร์ (Spring News)

รายการบ้านพลังใจ (ThaiPBS) 

เนชั่นออนไลน์

ช่อง 7

เฟซบุ๊กบ้านนางฟ้าของสัตว์จร