19 เม.ย. 2566 | 20:31 น.
KEY
POINTS
สิ่งที่ผูกโยงให้ผู้คนกลายเป็นครอบครัวเดียวกันคืออะไร?
การที่คนตั้งแต่สองคนขึ้นไปใช้ชีวิตร่วมกันถือว่าเป็นจุดเริ่มของคำว่าครอบครัว แต่เพียง ‘คน’ อย่างเดียวอาจจะยังไม่ทำให้องค์ประกอบของครอบครัวสมบูรณ์ได้ หากขาดซึ่งความรัก และความเข้าใจที่เชื่อมโยงทุกคนให้เป็นครอบครัวเดียวกัน
สายสัมพันธ์ที่โยงใยให้ผู้คนผูกพันกันเป็นพ่อแม่ลูกในครอบครัวเดียวกันนั้น มีทั้งสายโลหิตความเป็นเครือญาติ หรือกฎหมายที่เชื่อมสองสายเลือดให้กลายเป็นหนึ่งเดียว
ครอบครัวอุปถัมภ์ (Foster Care) เป็นนิยามของครอบครัวในอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งเป็นการรับอุปการะ และดูแลเด็กที่ไม่ใช่ครอบครัวของเด็กเองเป็นการชั่วคราว เด็กที่ได้รับการอุปการะอาจเป็นเด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทอดทิ้ง หรือเด็กที่บิดามารดาเองไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูได้ด้วยจากหลายสาเหตุ
เหตุผลที่ทำให้คนที่ต่างไม่เคยรู้จัก หรือผูกพันกันทางสายเลือด เลือกที่จะรับอุปการะเลี้ยงดูอีกหนึ่งชีวิตให้เติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวที่ดีที่สุดไม่ต่างจากลูกแท้ ๆ ของตัวเองคืออะไร มาติดตามเรื่องราวครอบครัวอุปถัมภ์ของพวกเขาต่อไปพร้อมกัน
สิ่งที่ได้รับมากกว่าค่าเลี้ยงดู
2,000 บาท คือเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กที่ครอบครัวอุปถัมภ์ได้รับจากการสนับสนุนในแต่ละเดือน และ 2,000 บาทนี่เองคือเหตุผลแรก ๆ ที่ทิดชัยคิดตอนตัดสินใจรับน้องฝ้าย ในวันที่ยังไม่รู้ว่าครอบครัวอุปถัมภ์หมายถึงอะไร
“ตอนนั้นอยากได้เงินค่าเลี้ยงดูเท่านั้นแหละ เลยรับน้องฝ้ายมาตั้งแต่เขาสองขวบ ตอนนี้ก็อายุสิบแปดปีแล้ว เดือนหนึ่ง ๆ ใช้มากกว่าที่เขาให้มาเยอะเลย” ทิดชัย - ปราโมทย์ ภูวิลัย หัวเราะอย่างอารมณ์ดีระหว่างที่เล่าถึงที่มาของการเข้าสู่วงการครอบครัวอุปถัมภ์
“ตอนนั้นเราเองก็มีลูกอยู่แล้วสองคน พอน้องมาอยู่ด้วย พี่ ๆ เขาก็รับน้องใหม่ มีแกล้งกันบ้าง แต่สักพักเขาก็รักกันดี คอยถามหาน้องทุกครั้งที่ไม่เจอ”
เราถามทิดชัยว่าตอนไหนที่สามพี่น้องเลิกแกล้งแล้วหันมาสนิทกัน เขาบอกว่าไม่แน่ใจ แต่เขาบอกว่าจำได้แม่นถึงวันที่รู้สึกว่ารักน้องฝ้ายไม่ต่างจากลูกแท้ ๆ คือวันที่น้องฝ้ายเริ่มไปโรงเรียนได้เองแล้วเดินมาสวัสดีก่อนออกจากบ้าน
หลังจากวินาทีนั้นน้องฝ้ายก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ จนทิดชัยแทบไม่รู้สึกถึงการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ บางครั้งสิ่งเล็ก ๆ ที่น้องฝ้ายได้ทำให้อย่างการเอาแตงโมมาเป็นของขวัญวันเกิด ยิ่งทำให้คำว่าครอบครัวสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก
2,000 บาท คือเหตุผลแรก ๆ ที่ทิดชัยคิดตอนตัดสินใจรับน้องฝ้าย แต่สุดท้ายเขาได้รับสิ่งที่มากกว่าเงินสนับสนุนช่วยค่าเลี้ยงดูเด็ก 2,000 บาทต่อเดือน
“การเป็นครอบครัวอุปถัมภ์สอนเราว่า ไม่ใช่แค่เด็กหนึ่งคนที่ได้รับการเติมเต็มสิ่งที่ขาด แต่ความรักและความผูกพันกับเขาก็ช่วยเติมเต็มชีวิตให้กับเราเช่นกัน”
สายสัมพันธ์ที่ข้นกว่าน้ำ
คนในเครือญาติจะให้ความสำคัญกันมากกว่าคนนอก อย่างวลีที่ว่าเลือดย่อมข้นกว่าน้ำ
แต่ถึงไม่ใช่ลูกแท้ ๆ ในไส้ แต่ความรักที่พวกเขาให้กับน้องมาสด้าก็เข้มข้นไม่ต่างกัน เพราะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ที่รับเอาลูกของน้องสาวมาดูแล
“น้องสาวเลี้ยงดูไม่ได้ ทางโรงพยาบาลก็เลยเรียกให้เราไปรับน้องมาสด้ามาเลี้ยงดูตั้งแต่เขาอายุแค่เดือนเดียว”
จากวันนั้นน้องมาสด้าเลยเป็นลูกชายคนแรกของครอบครัวแม่นิ่ม - สุภาวัน ศรีสมุทร ที่ก่อนหน้านี้มีลูกสาวของตัวเองอยู่แล้วถึงสองคน
ด้วยความเป็นหลานในสายเลือดเดียวกัน ช่วยให้พวกเขาผูกพันกับน้องมาสด้าตั้งแต่แรกเจอ แล้วให้การเลี้ยงดูไม่ต่างจากลูกตัวเอง อาจจะแตกต่างไปบ้างก็เพียงความดื้อซนตามประสาเด็กผู้ชายในวัยกำลังเรียนรู้
“ตอนนี้น้องอายุหนึ่งปีสิบเดือนแล้ว อยู่กับเขามาเกือบสองปี เห็นการเติบโตมาตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ เห็นพัฒนาการของเขามาตลอดเลยไม่รู้สึกเลยว่าเขาไม่ใช่ลูกแท้ ๆ ของเรา”
คำว่า ‘แม่’ ที่น้องมาสด้าพูดได้เป็นครั้งแรก นอกจากช่วยยืนยันความรู้สึกนี้ของพวกเขาได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังทำให้เขาดีใจว่าในวันนั้นตัดสินใจไม่ผิดที่รับน้องมาสด้ามาเป็นครอบครัวอุปถัมภ์
และสายสัมพันธ์ของการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์นี่เองที่เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตของพวกเขาเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก
“แค่เราได้เห็นหน้าเขาก็มีความสุข มีกำลังใจ ทำให้เราอดทนและพยายามมากขึ้นเพื่อให้ลูกของเรามีอนาคตที่ดี”
คำว่าแม่ที่เกิดจากความรัก
“ตอนแรกเรายังไม่บอกว่าไม่ใช่แม่แท้ ๆ ของเขา เพราะเรารักแล้วไม่อยากให้เขาจากเราไป” คุณยายแว่น พรมสิงห์ เล่าให้ฟังถึงความตั้งใจแรกที่รับน้องพิมมาอุปการะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ว่ายังจะไม่บอกเรื่องแม่ที่แท้จริงของเธอจนกว่าจะถึงเวลา แต่แล้วเวลานั้นก็มาถึงเร็วกว่าที่คิด
“วันหนึ่งมีคนโทร. มาบอกน้องพิมว่าแม่ของเขาเสียชีวิตแล้ว เขาก็งง เพราะเราก็นั่งอยู่ข้าง ๆ กัน สุดท้ายเลยได้บอกความจริงเขา”
ย้อนกลับไปหลายปี คุณยายแว่นรับน้องพิมมาดูแลเนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน แล้วพ่อแท้ ๆ ที่เป็นผู้เลี้ยงดูเธอได้เสียชีวิต ตอนนั้นคุณยายแว่นรับน้องพิมที่ยังแบเบาะมาดูแลเหมือนลูกหลาน
ภายหลังทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำจังหวัดได้เข้ามาดูแลทำเรื่องการรับเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ช่วยให้คุณยายแว่นได้รับเงินช่วยเหลือในการดูแลน้องพิมจากทางรัฐ
“ก่อนนี้ก็มีน้องชายอีกคนมาช่วยเลี้ยง แต่มาเสียชีวิตไปอีกคน แม่จริง ๆ ของเขาก็เพิ่งเสีย เหลือแต่ยายคนเดียวที่เลี้ยงน้องพิม กับมีเงินช่วยเหลือมาเลยพอได้ส่งน้องพิมไปเรียนหนังสือ”
แม้คุณยายแว่นจะมีฐานะที่ไม่ค่อยมั่นคง อีกทั้งยังต้องยังชีพด้วยเบี้ยผู้สูงอายุ แต่ด้วยการช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งในเรื่องเงิน สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์การศึกษา บวกกับความรักและดูแลเอาใจใส่ของคุณยายแว่น ช่วยให้น้องพิมได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างดีที่สุด
“แม้เราจะไม่ค่อยมีอะไรมากมาย แต่เราดูแลเขาอย่างดีที่สุด ให้เขาได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากจะเป็น เลยอยากให้คนที่มีฐานะดีกว่าเรา ลองมาเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ รับดูแลเด็กสักคน เพื่อเติมเต็มชีวิตที่เด็กและตัวเอง”
เต็มเติมชีวิตให้กันและกัน
แม้ว่าเรื่องราวของทั้งสามครอบครัวอุปถัมภ์จะแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกครอบครัวมีร่วมกันคือความรักและความเข้าใจ ทั้งเด็กที่ได้รับอุปการะ และพ่อแม่อุปถัมภ์ต่างเติมเต็มซึ่งกันและกันด้วยสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันผ่านความรัก และความเข้าใจ
นอกจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องครอบครัวอุปถัมภ์อย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างเช่นโครงการ Care for Children ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2541 นับเป็นผู้บุกเบิกการดูแลเด็กกำพร้าแบบ ‘Foster Care’ หรือการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เด็กโดยครอบครัวในประเทศจีน ที่ขยายต่อมายังประเทศไทย ด้วยหลักการ #Giveachildfamily หรือหาบ้านให้เด็กทดแทนการส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักเด็กกำพร้า เพื่อให้พวกเขาได้รับความรัก ความอบอุ่นจากครอบครัว และเติบโตอย่างสมวัย ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและมีคุณภาพต่อไป
ณ ขณะนี้ แม้จะมีเด็กหลายร้อยคนทั่วประเทศไทยได้รับการดูแลด้วยความรักและเอาใจใส่ในครอบครัวในท้องถิ่น แต่ยังมีเด็กอีกหลายพันคนที่กำลังรอคอยโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่มีความสุข หากสนใจทราบรายละเอียดในการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ หรือสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่
ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร:
สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี - โทร 02 354 7483
สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ - โทร 02 286 2013
บ้านพักเด็กและครอบครัวทุกแห่งในกรุงเทพฯ - โทร 02 354 7580
ในพื้นที่ภูมิภาค:
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
สถานรองรับเด็ก 33 แห่ง
บ้านพักเด็กและครอบครัว 76 แห่งทั่วประเทศ