อัษฎา อิสราพานิช Boon for Life: สะพานบุญออนไลน์ เพื่อโอกาสที่เท่าเทียม

อัษฎา อิสราพานิช Boon for Life: สะพานบุญออนไลน์ เพื่อโอกาสที่เท่าเทียม

อัษฎา อิสราพานิช กับแพลตฟอร์ม ‘Boon for Life’: สะพานบุญออนไลน์จากแนวคิดว่ามนุษย์ทุกคนควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม

“ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือคนด้อยโอกาสในด้านใด ทุกคนควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน คนเหล่านี้อาจถูกมองว่ามีข้อจำกัด ไม่สามารถทำงานได้ แต่จริง ๆ แล้ว พวกเขามีสกิลเป็นของตัวเอง มีศักยภาพที่ผลักดันต่อไปได้ ขอเพียงได้รับโอกาสให้เขาได้ลอง และถ้าเขาทำได้ เขาก็สามารถไปต่อได้” คือแนวคิดของ อัษฎา อิสราพานิช (Atsada Israpanich) หรือ ปันปัน ผู้ก่อตั้ง Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ Boon for Life แพลตฟอร์มสะพานบุญในรูปแบบออนไลน์ที่มีเป้าหมายอยากเห็นผู้ด้อยโอกาสได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม

อัษฎาในวัย 17 ปี ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสถานศึกษานานาชาติ กรุงเทพฯ (ISB) เกรด 11 หรือเทียบเท่าชั้น ม.5 นอกจากเป็นเด็กกิจกรรมตัวยงแล้ว อัษฎายังสนใจการช่วยเหลือสังคมมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังการช่วยเหลือสังคม จากการพาไปทำบุญทำกิจกรรมตามมูลนิธิต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าเมื่อเราเกิดมามีร่างกายสมบูรณ์ ต้องรู้จักแบ่งปันให้กับคนด้อยโอกาสกว่า อัษฎาจึงได้เรียนรู้และซึมซับเรื่องราวเหล่านี้มาตลอด จึงไม่แปลกใจเลยถ้าจะบอกว่าเขาคือ ‘ตัวตึง’ ในการช่วยเหลือสังคม เป็นผู้ตั้งต้นกิจกรรมมากมาย อาทิ กิจกรรมวิ่ง Run to Share จัดคอนเสิร์ตรวมตัวเด็กนักเรียนที่มีความสามารถในการเล่นดนตรีเพื่อร่วมระดมทุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกับทาง UN และล่าสุด ผลงานในฐานะนักเขียน กับหนังสือ Seed of the Future หรือเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต ที่อัษฎาตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นจากประสบการณ์ตรง เพื่อมอบแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านนวัตกรรม กระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้นที่จะอยากคิดค้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น 

ก้าวแรกของ Boon for Life
ย้อนกลับไปช่วง 3 ปีก่อน เมื่อ อัษฎา อายุเพียง 15 ปี เป็นจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์ม Boon for Life ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เมืองไทยเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 จนส่งผลให้เกิดการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ทำให้สถานที่ต่างๆ ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ผู้คนต้องรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัย การเดินทางไปทำกิจกรรมที่มูลนิธิแบบที่อัษฎาเคยทำ ไม่สามารถทำได้อย่างเคย  อัษฎา อิสราพานิช Boon for Life: สะพานบุญออนไลน์ เพื่อโอกาสที่เท่าเทียม “เวลาไปมูลนิธิ เราจะเห็นแล้วว่าที่นั่นก็มีกิจกรรมที่จัดให้ผู้ด้อยโอกาสทำอยู่แล้ว เช่น การทำงานฝีมือ ผลิตสินค้า ออกแบบของที่ระลึก พอล็อกดาวน์ ตอนนั้นไม่มีใครสามารถเดินทางไปสนับสนุนมูลนิธิได้โดยตรง รวมตัวผมเองด้วย มูลนิธิก็มีปัญหาว่าสินค้าที่ทำอยู่ไม่สามารถขายได้ ก็กลับมาดูว่าทำอย่างไรที่จะให้ผู้ใจบุญยังสามารถส่งความช่วยเหลือไปถึงมูลนิธิได้ จึงได้สังเกตเห็นว่าพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยนมาซื้อสินค้าหรือทำกิจกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น  จึงคิดอยากจะเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับมูลนิธิในรูปแบบออนไลน์ ที่แม้ว่าหลังโควิดสิ้นสุดลงแล้ว ช่องทางนี้ก็ยังเป็นอีกช่องทางที่ผู้ใจบุญยังสามารถสนับสนุนและช่วยเหลือมูลนิธิได้อย่างยั่งยืน”

ภารกิจสร้างสะพานบุญออนไลน์
เมื่อไอเดียบังเกิด อัษฎาก็เริ่มเดินหน้าเข้าไปพูดคุยกับมูลนิธิเพื่อนำสินค้ามาจำหน่าย แน่นอนว่าในช่วงแรกก็มีอุปสรรคในการทำให้มูลนิธิเชื่อถือ เพราะอัษฎาในตอนนั้นยังเป็นเด็กมัธยมต้นเท่านั้น แต่ด้วยความตั้งใจจริง วางเป้าหมายให้เขาเห็นภาพชัดเจน และคำแนะนำจากครอบครัว ก็สามารถผ่านไปได้ อัษฎา อิสราพานิช Boon for Life: สะพานบุญออนไลน์ เพื่อโอกาสที่เท่าเทียม
“การเลือกสินค้ามาขายบน Boon for Life จะดูว่าเป็นสินค้าที่คนทั่วไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีบางผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปช่วยแนะนำดีไซน์ที่คนรุ่นใหม่น่าจะชอบ อีกด้านหนึ่งก็ใช้ความรู้ทางไอทีในการพัฒนาแพลตฟอร์ม เป็นความรู้ที่ได้จากการไปเข้าเรียนหลักสูตรผู้ประกอบการกับ สวทช. ควบคู่ไปกับการปรึกษาอาจารย์ที่สอนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน”  อัษฎา อิสราพานิช Boon for Life: สะพานบุญออนไลน์ เพื่อโอกาสที่เท่าเทียม

จากวันแรกที่ตั้งต้น จวบจนเดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 มีมูลนิธิที่นำสินค้าเข้าร่วมแพลตฟอร์มแล้ว 4 แห่ง ยิ่งมีออร์เดอร์สั่งซื้อเข้ามา ยิ่งทำให้อัษฎามั่นใจว่าเดินมาถูกทาง รายได้ที่เข้ามาจากการสั่งซื้อสินค้า ได้ถูกนำไปช่วยเหลือมูลนิธิ ทั้งเป็นค่าอาหารผู้ด้อยโอกาส และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าให้ตอบความต้องการของลูกค้า

Boon for Life สำหรับอัษฎาแล้วมี 2 ด้าน คือ Boon ที่มาจากบุญ และ for Life คือการมอบโอกาสให้กับคนพิการ คนด้อยโอกาส รวมถึงคนที่ซื้อหรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์ได้ทำบุญไปในตัว ส่วนผู้ด้อยโอกาสในฐานะผู้ผลิตสินค้าก็ได้แรงบันดาลใจจากการที่มีคนมาสนับสนุน ทำให้เขาอยากทำงานต่อไป

“เวลาที่ได้เห็นสิ่งที่เราทำสร้างผลกระทบทางบวก สร้างรอยยิ้มให้กับคนอื่น ก็สร้างความรู้สึกดีให้กับผมด้วย ที่สามารถนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้มีที่ยืนและมีโอกาสเท่าเทียมคนในสังคม เป็นแรงผลักดันให้ผมอยากที่จะทำต่อไป” 

ก้าวต่อไปของ Boon for Life 
“อยากรวบรวมมูลนิธิต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่ผมยังไปไม่ถึงหรือยังไม่รู้จัก มาไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อเชื่อมต่อผู้ใจบุญที่เป็นผู้ซื้อให้เข้าถึงสินค้าของผู้ด้อยโอกาส และอยากพัฒนาแพลตฟอร์มให้ผู้ซื้อได้เห็นกระบวนการผลิตแบบที่ผมเห็น เพื่อให้เข้าใจว่ากว่าจะมาเป็นสินค้าจากผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสนั้นไม่ได้ง่ายเลย”

อัษฎา เสริมว่า สินค้าชิ้นหนึ่งๆ หากเป็นผู้พิการก็จะใช้เวลาในการจัดทำค่อนข้างนาน บางคนที่มีภาวะความพิการซ้ำซ้อนก็จะยิ่งนานขึ้น ที่มูลนิธิจึงได้พยายามดีไซน์หน้าที่ว่าใครเหมาะที่จะทำอะไร ส่วนไหน และทำงานร่วมกันเป็น 1 ทีม ช่วยกันใส่ความสามารถให้เต็มที่ อัษฎา อิสราพานิช Boon for Life: สะพานบุญออนไลน์ เพื่อโอกาสที่เท่าเทียม

ฉากหลังของผู้ก่อตั้ง Boon for Life ไม่ลืมที่จะใช้ชีวิตวัยรุ่นให้เต็มที่ 
“มีเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องพักก่อน แต่ไม่ทิ้ง จากนั้นก็จะลองไปขอคำปรึกษาจากคนที่เชี่ยวชาญกว่า เพราะแม้ว่าจะเหนื่อย แต่ก็เป็นรางวัลให้เราในเวลาเดียวกัน ทำแล้วมีความสุข ยิ่งตอนเห็นออร์เดอร์ครั้งแรกทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำมี Impact แล้วจริงๆ”

ภายใต้ภาระหน้าที่มีอยู่ อัษฎาไม่ลืมที่จะจัดลำดับสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เขาเชื่อในเรื่อง Work Hard, Play Hard  โดยให้ความสำคัญกับเรื่องเรียนที่ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด  กลับมาบ้านก็แบ่งเวลาในการรีแลกซ์หรือทำกิจกรรมที่ชอบ นั่นรวมไปถึงการเป็น Blink แฟนด้อมของสาว ๆ Black Pink และความชื่นชอบที่มีต่อ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล นักร้องไอดอลเกาหลีชาวไทย

“สำหรับผมแล้ว ไม่ได้ชื่นชอบลิซ่า เพราะแค่เขาเป็นคนไทยอย่างเดียว แต่ยังเป็นคนที่ทำงานหนักเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จ เขาออกจากประเทศไทยไปเกาหลีเพื่อทำตามความฝัน ทุ่มเท เต้น และซ้อมหนักมาก เหมือนใส่ให้เต็มที่ในสิ่งที่เรารัก ไม่ยอมแพ้ แม้ว่าจะคิดถึงบ้านก็ตาม” อัษฎา อิสราพานิช Boon for Life: สะพานบุญออนไลน์ เพื่อโอกาสที่เท่าเทียม เมื่อเราถามว่ามองตัวเองในอนาคตข้างหน้าอย่างไร  อัษฎายอมรับว่าเขายังไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น เพียงแต่อยากใช้ชีวิตตรงนี้ให้เต็มที่ ในเวลานี้ วินาทีนี้ แต่ถ้าในอนาคต ไม่ว่าจะไปเจอประสบการณ์อะไรหรือที่ไหน เขายืนยันว่าอยากนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาที่ประเทศไทย นำมาช่วยพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนไทย