'อันนา อันนานนท์' ตัวแทนเยาวชนไทยผู้ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังมาคุยในเวทีระดับโลก

'อันนา อันนานนท์' ตัวแทนเยาวชนไทยผู้ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังมาคุยในเวทีระดับโลก

‘อันนา อันนานนท์’ เยาวชนไทยอายุ 18 ปีผู้กล้าพุ่งชนกับปัญหาด้านการศึกษา และยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังนำมาคลี่ออกในที่แจ้ง เพื่อให้คนทั้งโลกเห็นว่า ณ มุมหนึ่งของโลก ยังมีประเทศที่เด็กและเยาวชนถูกคุกคามจากรัฐบาล

“...สำหรับประเทศอย่างประเทศไทย การเรียกร้องสิทธิเหล่านี้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นยังเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ การชุมนุมประท้วงโดยสงบอาจทำให้คุณถูกตั้งข้อหาได้ เราไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมถูกปฏิเสธจากทางการอย่างชัดเจน”

เสียงของ ‘อันนา อันนานนท์’ เยาวชนไทยอายุ 18 ปีดังกึกก้องไปทั่วเวทีการประชุมครบรอบ 75 ปีสิทธิมนุษยชน ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสียงที่หนักแน่นและจริงจังของเธอ ดึงความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมได้อย่างชะงัก เพราะสิ่งที่เธอกำลังกล่าวออกไปนั้น สร้างความงุนงงให้กับผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อย เพราะสิทธิมนุษยชนไม่ควรมีขอบเขต สิทธิมนุษยชนไม่มีหลักไมล์ สิทธิมนุษยชนไม่เลือกว่าจะอยู่กับใคร และเป็นที่แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมามีสิทธิเหล่านี้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด

แต่สำหรับ อันนา นักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นใหม่ที่หลายคนน่าจะรู้จักเธอจาก ‘นักเรียนเลว’ กลุ่มนักเรียนที่ลุกขึ้นมาประท้วงระบบการเรียนการสอนที่ล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการ ฉีกทึ้งความฟอนเฟะของอำนาจนิยมที่กดทับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนไทย การเคลื่อนไหวของเธอกลับโดนรัฐไทยคุกคามอย่างหนัก แม้แต่จะออกไปอ่านหนังสือก็ยังโดน ‘เบื้องบน’ จับตามอง

The People คุยกับ ‘อันนา อันนานนท์’ เยาวชนไทยผู้กล้าพุ่งชนกับปัญหาด้านการศึกษา และยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังนำมาคลี่ออกในที่แจ้ง เพื่อให้คนทั้งโลกเห็นว่า ณ มุมหนึ่งของโลก ยังมีประเทศที่เด็กและเยาวชนถูกคุกคามจากรัฐบาล

'อันนา อันนานนท์' ตัวแทนเยาวชนไทยผู้ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังมาคุยในเวทีระดับโลก

เรานัดเจออันนาในสำนักงานย่านลาดพร้าว จำได้ว่าความประทับใจแรกคือ เราหากันไม่เจอ จนต้องเดินวนหากันยกใหญ่ เลยเป็นเรื่องตลกเล็ก ๆ ก่อนสัมภาษณ์ที่ทำให้เราอดรู้สึกสงสัยไม่ได้ว่า เด็กผู้หญิงผมชมพูคนนี้มีอะไรให้รัฐไทยกลัวกันแน่

คิดว่าเพราะอะไรคุณถึงติดอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง) – เราถามสิ่งที่ค้างอยู่ในใจ ก่อนที่เธอจะเล่าย้อนกลับไปว่า จริง ๆ ครอบครัวของเธอมีทัศนคติทางการเมืองที่ต่างกันสุดขั้ว เธอเป็นลูกสาวคนโตของบ้านอันนานนท์ ก่อนจะเล่าถึงตอนที่ได้รับเอกสารราชการระบุว่า เธอคือหนึ่งในภัยคุกคามของรัฐ จึงต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งในเอกสารเขียนไว้ละเอียดยิบว่าพ่อแม่อยู่บ้านเลขที่เท่าไหร่ มีประกันสังคม-สุขภาพอะไรบ้าง มีรถกี่คัน เลขทะเบียนอะไร กระทั่งทัศนคติทางการเมืองว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร

“ในเอกสารเขาเขียนไว้หมดเลยว่าพ่อแม่มีทัศนคติทางการเมืองยังไง อย่างของแม่เขาก็เขียนว่ามีทัศนคติกับสถาบันในทางที่ดี แต่หนูไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรนะ เพราะว่าก่อนที่ได้รับเอกสารว่าติดอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง) หนูก็โดนคุกคามมาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว แต่หนูแค่เซอร์ไพร์สว่าคุณต้องมากลัวอะไรเราขนาดนั้นเลยเหรอ”

'อันนา อันนานนท์' ตัวแทนเยาวชนไทยผู้ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังมาคุยในเวทีระดับโลก

“คือเอาจริง ๆ ภัยความมั่นคงของรัฐ หนูก็สงสัยนะว่า เด็กอายุ 15 16 จะเป็นภัยคุกคามของชาติได้ยังไง เราก็เห็นผู้ใหญ่บางคนที่เขาก็ออกไปสร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง ก็ไม่เห็นว่าเขาจะติดอยู่ในรายชื่อเหมือนหนูที่แค่ออกไปพูดเฉย ๆ เลย

“เราก็เลยได้เห็นว่าเด็กคนหนึ่งที่มีแค่ปากกับมือ มันสามารถแบบว่าเป็นภัยความมั่นคงได้ขนาดไหน”

ส่วนเหตุผลที่ทำให้เธอติดอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังพิเศษ เป็นเพราะเธอออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้ใหญ่มองเห็นความสำคัญของเด็กที่ถูกระบบการศึกษากดทับ จนไม่มีแม้แต่โอกาสฉายแสงความเป็นตัวของตัวเองออกมา

ซึ่งความสงสัยและคับข้องใจในเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน ไปจนถึงกฎระเบียบของโรงเรียน เริ่มก่อตัวขึ้นก่อนที่เธอจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเป็นเวลา 3 ปีเต็ม ช่วงเวลาที่เธอยังไม่กล้ามากพอจะยืนหยัดเพื่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง กระทั่งได้รู้จักกับกลุ่มนักเรียนเลวในตอน ม. 4

“ตอนที่หนูเริ่มตั้งคำถามกับระบบเกิดขึ้นตอนอยู่ ม.1 ตอนนั้นก็สงสัยว่าทำไมเราต้องเขียนบันทึกความดี ทำไมเราต้องตัดผม ทำไมต้องหัวเกรียน เราก็เริ่มมีความขบถมาตั้งแต่ตอนนั้น เริ่มไม่ทำงานให้โรงเรียน ไม่กวาดห้องเหมือนที่คนอื่นเขาทำกัน เพราะเราจ่ายค่าเทอม มันไม่น่าจะใช่หน้าที่ของนักเรียนที่ต้องไปทำตรงนั้น

“พอขึ้น ม.2 เราก็ตั้งคำถามกับกฎว่าทำไมเราต้องมัดผม ทำไมต้องตัดเล็บสั้น ทำไมต้องห้ามทาเล็บ เราก็เลยเลือกที่จะทำไปเลย ปล่อยผม ไม่สนคำพูดของครูที่เขามองว่าสิ่งที่เราทำไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีก็เริ่มมีความคิดอยากเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม เราก็เลยลาเรียนทั้งเทอม เพื่อไปอ่านหนังสือสอบ ไม่ไปเรียนตลอดทั้งเทอม

“แต่เราก็ยังไม่กล้าที่จะออกมาเผชิญหน้ากับระบบ เรามีความกล้าน้อยมากที่จะออกมาพูดตรง ๆ ว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้อง เราเลือกที่จะอยู่ในหลืบ แล้วก็ทางทางซิกแซกออกไป”

โชคดีที่ผลตอบแทนความขบถของเธอผลิดอกออกผล เธอสอบเข้าโรงเรียนที่วาดหวังไว้ได้สำเร็จ แม้จะต้องแลกกับประสบการณ์บางอย่างที่ขาดหายไป หลังจากเป้าหมายแรกสำเร็จ เธอก็ไล่ตามฝันไปเรื่อย ๆ กระทั่งเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายและสอบติด คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชีวิตของอันนาแทบจะไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว ความทรงจำส่วนใหญ่หยุดอยู่ที่การเรียนหนังสือเป็นหลัก แน่นอนว่าเป็นการเรียนนอกห้องเรียนที่ครอบครัวของเธอต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษราคาแพง เพื่อให้เธอได้กอบโกยความรู้กลับมาให้ได้มากที่สุด

'อันนา อันนานนท์' ตัวแทนเยาวชนไทยผู้ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังมาคุยในเวทีระดับโลก

“หนูเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความทรงจำกับครอบครัวเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มีกับการเรียนมากกว่า หนูเป็นคนที่เรียนค่อนข้างหนักคนนึง แต่ไม่ได้อยากแข่งขันกับเพื่อนหรือว่าคนอื่นนะว่าจะต้องได้เกรด 4 หรือว่าอะไร หนูเรียนพิเศษหนักมาก เพราะโดยส่วนตัวไม่เชื่อในระบบเท่าไหร่ ถึงเราจะเรียนอยู่ในระบบก็ตาม”

แต่การทุ่มเวลาให้กับเรียนแทบตลอดเวลา กลับทำให้เธอโดนคุมขังเพียงเพราะ ‘บังเอิญ’ นั่งอ่านหนังสือและกินแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“วันนั้นหนูแค่ไปกินแมคโดนัลด์ เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงโดนเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าควบคุมตัว เขาบอกแค่ว่าเราเป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ก็โดนหิ้วไปขังไว้ 6-7 ชั่วโมง แล้วก็ปล่อยออกมาแบบงง ๆ

“ซึ่งตรงนี้ที่บ้านเราก็งงเหมือนกัน ตอนไปรับตัวที่บ้านยังถามเลยว่าเสี่ยงกระทำความผิดอะไร เพราะว่ามันต้องมีให้ใส่ว่าช่องนี้ลูกคุณไปทำอะไรมา ที่บ้านก็ถามว่าช่องนี้ให้ใส่อะไร ใส่ว่ากินแมคโดนัลด์กับอ่านหนังสือเหรอ แล้วเจ้าหน้าที่เขาก็ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าจะให้เขียนอะไรลงไป”

'อันนา อันนานนท์' ตัวแทนเยาวชนไทยผู้ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังมาคุยในเวทีระดับโลก

แม้จะถูกอุ้มจนตัวลอย แต่อีกไปกี่วันต่อมา นักกิจกรมทางการเมืองรายนี้ก็ยังคงเดินทางออกไปร่วมเรียกร้องสิทธิของเด็กและเยาวชนต่อไป โดยไม่มีความรู้สึกเกรงกลัว เพราะเธอไม่อยากให้เด็กรุ่นหลังจากนี้เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับที่เธอเคยโดน

“หนูอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยน หนูแค่ไม่อยากให้มีใครโดนเหมือนที่เราโดน แค่นั้น หนูคิดง่าย ๆ แค่นั้นเลยว่าต้องไม่มีใครโดนแบบที่เราโดน”

ไม่กลัวที่จะต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเหรอ – เราถาม “กลัว” เธอตอบ “แต่ถามว่าจะหยุดมั้ย ก็ต้องตอบว่าไม่” คงไม่ใช่เรื่องแปลกว่าทำไมอันนา ถึงได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนไทยขึ้นไปพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวทีการประชุมระดับโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

อันที่จริงนี่ไม่ใช่เวทีเดียวที่เธอเข้าร่วม เพราะก่อนหน้าจะบินไปเจนีวา อันนาได้รับโอกาสให้ขึ้นพูดต่อที่ประชุมสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) เรื่องความเสี่ยง และผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสิทธิมนุษยชน ณ เวียนนา ประเทศออสเตรีย จากนักเรียนเลวที่ถูกจับตามองว่ามีพฤติกรรมไม่น่ารัก เสียงของเธอกำลังกึกก้องไปทั่วโลก ราวกับเป็นการประกาศกร้าวว่าสิ่งที่เธอออกมาเคลื่อนไหวนั้น นานาชาติต่างมองว่าเป็นเรื่องดีงาม แต่ประเทศที่เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดกลับมองว่าเป็นการกระทำอันชั่วร้ายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ

'อันนา อันนานนท์' ตัวแทนเยาวชนไทยผู้ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังมาคุยในเวทีระดับโลก บอกตามตรงว่าหนูไม่รู้ว่าทำไมถึงได้รับโอกาสนั้น จำได้ว่ามีประชุมกับ special rapporteur (ผู้เสนอรายงานพิเศษ ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ในการติดตามผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสิทธิมนุษยชน) แล้วในเวทีที่เวียนนาเขาจะมีเด็กประมาณ 10 คน เยาวชนประมาณ 30 คน เราก็เป็นหนึ่งในนั้น

“ซึ่งความยากของการพูดคือ เราจะพูดให้คนที่เขามีในประเทศที่เขามีสิทธิมนุษยชนเพียบพร้อม มีถึงขั้นว่าสิทธิในอากาศสะอาด สิทธิเรื่อง climate change สิทธิบ้านเขาไปไกลถึงขั้นนั้น เราก็ต้องพูดให้เขาเข้าใจกับการเรียกร้องแค่ว่าไม่ต้องตัดผมเกรียน มันยังถูกแบนเลยในประเทศไทย หรือต้องเรียกร้องว่าเราต้องไม่ถูกแก๊สน้ำตานะ การอธิบายเรื่องพวกนี้ให้เขาฟัง มันเป็นเรื่องที่รู้สึกว่ายากพอสมควร

“มันเป็นเวทีถามตอบเสียส่วนใหญ่ ทุกคนที่อยู่ตรงนั้นเหมือนจะเคยพูดเรื่องนี้มามากกว่าหนึ่งรอบแล้ว คือเรารู้สึกได้ว่า 4 คนตรงนี้ เขาต้องเคยพูดประเด็นนี้มากกว่าหนึ่งรอบแน่ ๆ มีแต่เราคนเดียวที่เราจะพูดประเด็นไทย ประเด็นอะไรแบบนี้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าพูดเรื่อง ม.112 ในประเทศไทยทุกคนเข้าใจ แต่เราต้องไปนั่งอธิบายนับหนึ่งใหม่ว่า การละเมิดสิทธิในบ้านเรา มันเป็นอะไรที่เขาบางคนก็นึกไม่ถึง

“เราบอกเขาว่าเราติดอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังพิเศษ ทุกคนช็อกนะที่มีเด็กอายุ 13 16 ที่ติดอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังด้วยเหรอ เราก็ต้องมานั่งอธิบายให้เขาฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งที่เจนีวาหนูเป็นคนอายุน้อยที่สุดที่ขึ้นพูด แต่ที่เวียนนามีเด็กสุดคืออายุ 13 ปี

“เราก็อยากจะอธิบายเรื่องของเด็กด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเด็กกับการมีสิทธิ ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง มันเหมือนอะไรที่ใหม่มาก แล้วเหมือนนานาชาติเขาก็ยังไม่พร้อม เราไม่ก็ไม่แน่ใจว่าเขาพร้อมหรือยังเหมือนกันนะ แต่เรารู้สึกว่า กฎของเขามันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้สิทธิเด็ก

“มันออกมาเพื่อคุ้มครองเด็กจากสิทธิบางอย่าง เช่น ผู้ปกครองมีสิทธิเลือกการศึกษาให้คุณ แต่ต้องย้อนกลับมาถามที่เด็กว่าอะไรคือผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก เราก็ต้องมานั่งพูดให้เขาฟังใหม่ว่า สิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กมันคืออะไรยังไง แล้วทำไมคุณถึงต้องเอาใจใส่ในสิ่งนี้ หรือว่าในไทยมันมีสถานการณ์ที่เลวร้ายแบบนี้เลย มีคนที่เดิน ๆ อยู่ถูกอุ้มหายไปเลยตอนกลางวันแสก ๆ ต้องมานั่งอธิบายให้ประเทศที่ pm 2.5 แทบไม่มี ให้เขาเข้าใจ”

“เราอยากจะส่งสารเหล่านี้ไปให้ UN กับคนทั่วโลก เพราะว่าสิทธิมนุษยชนมันไม่จำกัดเขตแดนว่าจะสิ้นสุดลงแค่กิโลเมตรที่เท่าไหร่ มันบังคับใช้กับคนทั่วโลก เราก็ต้องยอมรับว่าเราเกิดมาพร้อมสิทธิ เราก็อยากให้ทุกคนช่วยกันออกมาปกป้อง”

'อันนา อันนานนท์' ตัวแทนเยาวชนไทยผู้ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบดบังมาคุยในเวทีระดับโลก