พัฒนาการของทรงผม ‘นักเรียน นักรบ นักโทษ’ การสร้างวินัย(บนศีรษะ)ที่กดความเป็นมนุษย์

พัฒนาการของทรงผม ‘นักเรียน นักรบ นักโทษ’ การสร้างวินัย(บนศีรษะ)ที่กดความเป็นมนุษย์

สำรวจพัฒนาการของทรงผม ทั้งนักเรียน นักรบ และนักโทษ ในฐานะเครื่องมือจัดการวินัยในสังคมที่สะท้อนความเชื่อว่า วินัยเรือนร่างเป็นยาวิเศษที่ทำให้คนมีคุณภาพขึ้นมา

  • กฎระเบียบเรื่องทรงผมอยู่คู่กับแวดวงต่าง ๆ มายาวนาน จากนักเรียน มาจนถึงตำรวจ และทหาร  สอดคล้องกับภาวะแวดล้อมและผู้ปกครองในแต่ละสมัย ภายใต้มุมมองว่า วินัยเรือนร่างส่งผลต่อบุคคลนั้น
  • เมื่อผู้คนและสังคมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เริ่มมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องทรงผมที่ให้เสรีภาพต่อบุคคลได้ สะท้อนแนวคิดและการรับรู้ถึงสิทธิ เสรีภาพต่อเรือนร่างในหมู่คนบางกลุ่ม

เดิมความยาว ความสั้นของเส้นผมบนหนังศีรษะ เป็นเพียงประเด็นถกเถียงในรั้วโรงเรียนเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ เร็ว ๆ นี้ มีความพยายามของตำรวจเพื่อเรียกร้องทรงผมที่ควรยาวกว่านี้ได้

เกิดอะไรขึ้นกับทรงผมและสังคมไทยที่ผ่านมา บทความนี้จะชวนคุยถึงพัฒนาการของทรงผมในฐานะเครื่องมือจัดการวินัยในสังคมที่หลงประเด็นว่า วินัยเรือนร่างเป็นยาวิเศษที่ทำให้คนมีคุณภาพขึ้นมา ซึ่งจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ในโลกนี้ก็ไม่น่ามีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนเขาทำกัน

การบังคับให้นักเรียนตัดผมสั้นเป็นที่คุ้นเคยกันดีมาหลายสิบปีแล้วในประเทศไทย มีผู้สันนิษฐานว่า การตัดผมสั้นเกรียนของนักเรียนชายนั้นน่าจะมากับยุคที่ญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาไทยหลังปฏิวัติ 2475 ทรงผมเกรียนอาจจะมากับฟังก์ชั่นเรื่องความสะอาดของการดูแลตัวเองของเด็ก ๆ ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ระเบียบเกี่ยวกับทรงผมไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรจนกว่าจะปรากฏในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 ในปี 2515 ที่ระบุชัดเจนถึงการแต่งกายและความประพฤติที่ไม่เหมาะสมว่า

“นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดเครา” [1]

การควบคุมทรงผมอาจเป็นความปรารถนาที่รัฐจะควบคุมคนในบังคับด้วยวินัยในรูปแบบหนึ่ง ในอีกด้านมันยังสะท้อนความล้าหลัง เพราะไม่กี่ปีต่อมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ระบอบเผด็จการพังครืนและมีข้อเสนอปรับเปลี่ยนสู่สังคมที่ก้าวหน้ากว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงระเบียบทรงผมกลับถูกหยิบขึ้นมาเป็นเรื่องแรก ๆ  ด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 [2] ด้วยเหตุผลว่า

“เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ เนื่องจากสมัยนิยมเปลี่ยนไป สมควรผ่อนผันให้นักเรียนชายไว้ผมที่เหมาะกับวัยและสภาพของนักเรียนตามสมัยนิยมได้บ้าง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้”

โดยมีสาระอยู่ที่ทรงผมนักเรียนชายคือ “นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผมหรือไว้หนวดไว้เครา” ตัดคำว่าเกรียนออกไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อระบอบเผด็จการโต้กลับ สังคมไทยเข้าสู่รัฐประหารและรัฐบาลเผด็จการครึ่งใบ การเข้ามาควบคุมวินัยผ่านทรงผมก็กลับมาอีกครั้ง แม้กระทั่งเร็วๆ นี้เรื่องทรงผมนักเรียนก็ยังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและใช้ควบคุมวินัยเหล่านักเรียนชายบางโรงเรียนอยู่

อันที่จริงในพื้นที่ปิดอย่างเรือนจำ การกร้อนผมนักโทษชายก็เป็นเรื่องที่ทำกันแบบไม่มีใครรู้ เห็นได้จาก ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ.2557 [3] ระบุว่า

“นักโทษเด็ดขาดชายให้ตัดผมสั้น ด้านหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ชายผมรอบศีรษะเกรียนชิดผิวหนัง” 

แต่ทรงผมของนักโทษชาย กลายมาเป็นที่รู้เห็นกันอย่างกว้างขวางผ่านกรณีนักโทษการเมืองอย่างเช่น ทนายอานนท์ เพนกวิน ที่ปรากฏภาพในฐานะนักโทษในชุดสีน้ำตาลและหัวเกรียนในช่วงปี 2564 ทำให้ข้ออ้างเรื่องการตัดทรงผมเพื่อความสะอาดมันฟังไม่ขึ้น เท่ากับว่า เมื่อคุณเป็นนักโทษแล้ว เรือนร่างไม่ใช่ของพวกคุณ ทรงผมที่เคยไว้ได้อย่างอิสระก็ถูกจำกัดเสรีภาพไปด้วย

หรือในอีกด้านการจัดวินัยทรงผมและศีรษะมีบางด้านที่แชร์กับพระภิกษุ การโกนผมพระที่บางสายเดือนละครั้ง หรือวันพระละครั้งในบางสาย การโกนหัวรวมไปถึงโกนคิ้ว คือหนึ่งในการควบคุมวินัยผ่านเรือนร่างที่ถูกกำหนดอย่างตายตัวในรอบเดือน ซึ่งกลายเป็นภาพสะท้อนวินัยและความบริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม การเป็นพระคือทางเลือก และเป็นข้อปฏิบัติเฉพาะทางศาสนาที่คงไม่ใช่เรื่องทางโลกที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยตรง ต่างไปจากที่กล่าวถึงคือ นักเรียนและนักโทษซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันทั้งโลกใบนี้แล้ว การบังคับทรงผมอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่แค่นักเรียนและนักโทษ ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกต้อนเข้าสู่วินัยบนหัวเช่นกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทหารและตำรวจตั้งแต่ชั้นประทวนไปถึงสัญญาบัตร ได้ถูกเปลี่ยนคุณลักษณะของทรงผมไปคล้ายกับนักเรียน

คนสมัยนี้อาจไม่คุ้นชินกับการที่ทหาร ตำรวจไว้ผมรองทรง ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนทุกคนก็ต้องมีภาพเด๋อ ๆ ของตัวเองที่ติดอยู่ในเว็บไซต์ที่บุคลิกคล้ายกับนายทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลก กองทัพไทยและตำรวจถูกเซ็ตทรงผมใหม่อย่างช้าก็ในปี 2560 ตามเอกสารบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ นร 5119.1 (สบค.)/5856 ที่ระบุทั้งคู่ตัดทรงผมสั้น ของทหารนั้นระบุเลยว่า “การไว้ทรงผมของกำลังพลชายให้ตัดสั้นด้านข้างขาว และด้านบนยาวประมาณ 2-3 ซม.” ส่วนตำรวจมีเพียง “ตัดผมสั้นให้เรียบร้อย โดยเฉพาะขณะแต่งเครื่องแบบจะต้องมีทรงผมที่แสดงออกถึงความเป็นผู้มีระเบียบวินัย” [4]

จนกระทั่งปีต่อมาได้มีระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ พ.ศ.2561 [5] ที่ได้ระบุว่า “ข้าราชการตำรวจชายทุกคนเมื่อแต่งเครื่องแบบ ให้ตัดผมสั้น ด้านข้างขาวทั้ง 3 ด้าน ด้านบนความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร” แต่หากปฏิบัติหน้าที่สืบสวนหรือการข่าวหรือป้องกันปราบปรามยาเสพติดเมื่อไม่แต่งเครื่องแบบ “ให้ไว้ผมรองทรงสูง”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 เข้าใจว่าเหล่าตำรวจก็มีการปฏิบัติแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีเอกสารยืนยันดังปี 2561

ที่น่าขันก็คือ ตำรวจจะมีวินัยจริงหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่การตัดทรงดังกล่าวทำให้คนทั่วไปแยกแยะทหาร ตำรวจออกจากบุคคลธรรมดาได้อย่างชัดเจนในชุดไปรเวท

เรื่องทรงผมจึงเป็นการสลายตัวตนที่เป็นปัจเจกที่พึงมีเสรีให้กลายเป็นตัวตนที่ถูกบังคับบงการโดยวินัย ตำรวจชาย ทหารชาย นักเรียนชาย และนักโทษชาย จึงแทบจะไม่ต่างกัน ในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย แม้จะมีระเบียบการแต่งกายอยู่บ้าง แต่ก็มิได้บังคับไปจนถึงกระทั่งทรงผมที่ถูกบังคับให้ตัดเกรียนเช่นนั้น โรงพัก ค่ายทหาร โรงเรียนและเรือนจำ จึงมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือ เป็นพื้นที่จองจำความเป็นปัจเจกที่ไร้เสรีภาพบนหัวกบาลของพวกเขา

และที่น่าสนใจคือ สำหรับนักเรียนแล้ว ระเบียบดังกล่าวมักถูกกวดขันและเข้มงวดในช่วงที่ประชาธิปไตยในประเทศตกต่ำ ส่วนทหารและตำรวจเพิ่งมาถูกขับเน้นเมื่อปี 2560 ซึ่งก็ยังอยู่ในช่วงการเรืองอำนาจของเผด็จการทหารอย่างประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะมีการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

จนกระทั่งเร็ว ๆ นี้ ถึงมีแคมเปญเรียกร้องขอคืนทรงผมให้กับตำรวจโดยเหล่าตำรวจเอง แม้จะตามหลังการเรียกร้องของพวกเด็กนักเรียนไปหลายปีก็ตาม แต่พวกเขาก็ถือว่าได้เริ่มแล้ว ไม่แน่ใจว่าฟากฝั่งทหารจะมีหรือยัง ภายใต้สายบังคับบัญชาที่เข้มงวดและความเป็นดินแดนสนธยาที่เราไม่สามารถตรวจความโปร่งใสได้เนื่องมาจากข้ออ้างความมั่นคง

 

เรื่อง: ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภาพ: ภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น ไฟล์จาก NATION PHOTO

เชิงอรรถ:

[1] “ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 89 ตอนที่ 66, 25 เมษายน 2515, หน้าพิเศษ 27-32

[2] “กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ2515”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92 ตอนที่ 9, 17 มกราคม 2518 

[3] ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ.2557 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2557

[4] ด่วนที่สุด ที่ นร 5119.1 (สบค.)/5856 เรื่อง เน้นย้ำ กวดขันกำลังพลเรื่องการติดป้ายชื่อ การไว้ทรงผม ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560

[5] ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ พ.ศ.2561  ลงวันที่ 30 เมษายน 2561