ถอดบทเรียน ‘สังคมสูงอายุ’ ของญี่ปุ่น ทำอย่างไรให้คนแก่ ‘มีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี’

ถอดบทเรียน ‘สังคมสูงอายุ’ ของญี่ปุ่น ทำอย่างไรให้คนแก่ ‘มีกินมีใช้ มีเกียรติ  มีศักดิ์ศรี’

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงอายุ’ ก่อนประเทศอื่น และมีการเตรียมความพร้อมในหลายมิติ เพื่อให้คนแก่ในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรค่าแก่การศึกษาเป็นต้นแบบสำหรับบางประเทศ

  • ญี่ปุ่นมีสัดส่วนคนอายุมากกว่า 75 ปี เกิน 15% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากประชากรกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอีก 7.2 แสนคน รวมเป็น 19.37 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 125 ล้านคน 
  • มีการประมาณการว่า อัตราความยากจนในผู้หญิงสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% จาก 22% ยิ่งถ้าเป็นหญิงที่ผ่านการหย่าร้างหรือโสด คาดว่าอัตราความยากจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% เลยทีเดียว ตรงข้ามกับผู้ชายที่คาดว่าจะมีเพียง 10% เท่านั้น
  • ผู้สูงอายุ 1 ใน 4 ของญี่ปุ่น หรือประมาณ 9 ล้านคน มีการทำงานนอกเวลา เช่นในตำแหน่งคนทำความสะอาด รปภ. คนส่งของ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานจัดส่ง หรือคนขับรถ 

ญี่ปุ่นกำลังเดินขาสับเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ (Aging Society) จนมีคำกล่าวที่ฟังดูน่าใจหายว่า “ที่ญี่ปุ่น แม้แต่อาชญากรก็เป็นคนแก่มากขึ้นเรื่อย ๆ”

หลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าญี่ปุ่นกำลังมีผู้เฒ่าผู้แก่เต็มเมือง คือข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน 2022 ที่ระบุว่า ญี่ปุ่นมีสัดส่วนคนอายุมากกว่า 75 ปี เกิน 15% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากประชากรกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอีก 7.2 แสนคน รวมเป็น 19.37 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 125 ล้านคน

ข้อมูลชุดเดียวกันนี้ยังบอกด้วยว่า กลุ่ม สว. (ย่อมาจาก ‘สูงวัย’) ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 คือกลุ่มที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 29.1% ของประชากร หรือราว 36.27 ล้านคน นับว่าสูงเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับ 25 ปีที่แล้ว 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นจะรั้งตำแหน่งประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มากที่สุดในโลก เหนือกว่าอิตาลีที่ตามมาอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 24.1% และฟินแลนด์ที่อยู่อันดับ 3 ด้วยสัดส่วน 23.3% 

สังคมสูงอายุกับปัญหาที่ยาวเป็นหางว่าว

ความน่าหวาดหวั่นยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น เพราะสถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนเป็น 35.3% ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2040 ซึ่งแน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ จะนำไปสู่ปัญหาที่ยาวเป็นหางว่าว โดยเฉพาะระบบดูแลสุขภาพ และระบบบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ 

เห็นได้จากในปี 2021 ที่มีข้อมูลว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี ที่ต้องการการรักษาพยาบาล ‘ระยะสุดท้าย’ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 7.2 แสนคน รวมเป็น 20 ล้านคน 

และจากการสำรวจ ‘เส้นความยากจน’ ของญี่ปุ่น เมื่อปี 2019 พบว่า ประชาชนจำเป็นต้องมีรายได้ขั้นต่ำต่อปีประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงจะเพียงพอต่อการซื้อสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ได้รับเงินบำนาญพื้นฐานปีละประมาณ 6,000 ดอลลาร์ หรือเดือนละ 460 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งดูอย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำวัน 

ยิ่งถ้าเกิดเป็นผู้หญิงแล้ว สถานการณ์ดูจะยากลำบากมากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงที่จะจนตอนแก่มากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ชาย 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก ผลจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โภชนาการ และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยที่ 87 ปี ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 81 ปี แต่มีการประมาณการว่า อัตราความยากจนในผู้หญิงสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% จาก 22% ยิ่งถ้าเป็นหญิงที่ผ่านการหย่าร้างหรือโสด คาดว่าอัตราความยากจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% เลยทีเดียว ตรงข้ามกับผู้ชายที่คาดว่าจะมีเพียง 10% เท่านั้น 

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงมักจะออกจากงานประจำหลังจากแต่งงาน เพื่อมาเลี้ยงลูกและดูแลสามี ขณะที่ผู้ชายจะยังคงอยู่ในระบบการจ้างงานที่มีสวัสดิการมากมาย 

ทีนี้น่าจะพอนึกภาพออกแล้วว่า ผู้หญิงที่หย่าร้าง หรือเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว จะต้องเผชิญความไม่มั่นคงทางการเงินมากแค่ไหน 

การหย่าร้างยังอาจทำให้หญิงสูงอายุต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง หลังจากที่ลูก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ส่งผลให้พวกเธอต้องเผชิญความเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกิน การไร้ที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 

โครงการประกันสุขภาพดูแลผู้สูงอายุ

รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้นิ่งดูดายกับปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ และพยายามใช้สารพัดวิธีเพื่อดูแลเหล่าผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างในปี 2000 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มโครงการประกันสุขภาพระยะยาว หรือ Long-Term Care Insurance (LTCI) ซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในประกันสุขภาพที่เอื้อประโยชน์ และครอบคลุมมากที่สุดในโลก โดยมีการออกแบบแผนประกันอย่างมืออาชีพและได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ซึ่งได้เสนอทางเลือกการดูแลที่แตกต่างกันให้กับผู้สูงอายุ เช่น การใช้ชีวิตในสถานดูแลแบบช่วยเหลือ การดูแลที่บ้าน และการให้ความช่วยเหลือในการซื้อของ ฯลฯ 

รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ปรับปรุงโครงการเป็นระยะ เช่นในปี 2011 ที่ได้มีการเสนอการดูแลเพิ่มเติม การดูแลเชิงป้องกัน และการดูแลระยะยาว

ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อดูแลประชากรสูงอายุ ด้วยประกันสุขภาพที่เพียงพอจะช่วยปกป้องประเทศจากภาระด้านสุขภาพที่ล้นเกินไป

ทำงานตลอดชีพ

รัฐบาลญี่ปุ่นยังพยายามเปลี่ยนสังคมไปสู่ ‘การทำงานตลอดชีพ’ (lifelong work) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก และเพื่อให้ผู้สูงอายุมีเงินมากพอสำหรับค่ารักษาพยาบาล โดยไม่ต้องหวังพึ่งเงินจากลูกหลาน หรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

โดยคณะกรรมการประเมินนโยบายการคลังญี่ปุ่นเคยพิจารณาเพิ่มอายุบำนาญเป็น 68 ปี แต่ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2023 มีการอนุมัติเพิ่มอายุเกษียณของข้าราชการเป็น 61 ปี จาก 60 ปี และอายุเกษียณจะเพิ่มขึ้น 1 ปี ในทุก ๆ 2 ปี จนกว่าจะถึง 65 ปี ในปีงบประมาณ 2031

ในสมุดปกขาว (White Paper) ของญี่ปุ่น ที่นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาพบว่า ผู้สูงอายุมีความกระตือรือร้นในการทำงานสูงมาก โดยที่ญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุมากถึง 40% ที่ต้องการมีรายได้อย่างต่อเนื่อง (ส่วนในสหรัฐฯ มีผู้สูงอายุที่ต้องการมีรายได้ต่อเนื่อง 30% และเยอรมนี 28%)

ปัจจุบัน ผู้สูงอายุ 1 ใน 4 ของญี่ปุ่น หรือประมาณ 9 ล้านคน มีการทำงานนอกเวลา เช่นในตำแหน่งคนทำความสะอาด รปภ. คนส่งของ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานจัดส่ง หรือคนขับรถ

แต่มันก็เกิดคำถามตามมาเช่นกันว่า ถ้าอนุญาตให้คนสูงอายุทำงานแล้ว พวกเขาจะทำงานไหวหรือไม่? หรือพวกเขาต้องฝืนทำงานทั้งที่สุขภาพย่ำแย่หรือไม่?

ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การออกแบบหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนนวัตกรรมการฟื้นฟูและการบำบัดเซลล์

เทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชากรสูงอายุ แต่ยังสามารถสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศอีกด้วย 

การพัฒนาเมืองให้สอดรับสังคมสูงอายุ

ตามรายงาน ‘Silver Hues: Building Age-Ready Cities’ ของธนาคารโลก ได้ระบุประเด็นสำคัญ 3 ข้อ ที่ชี้ให้เห็นมุมมองการพัฒนาเมืองของญี่ปุ่นให้สอดรับกับสังคมสูงอายุ ดังนี้ 

1. การทำให้ประชากรสูงอายุมีสุขภาพที่ดี 

รายงานฉบับนี้ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามเสนอแนวคิดที่ทำให้ ‘คนทุกรุ่น’ ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรม และไม่ได้มองผู้สูงอายุเป็นเพียงผู้อาวุโสที่ทำอะไรไม่ค่อยจะได้ แต่พยายามสนับสนุนให้ผู้เฒ่าผู้แก่มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อให้สามารถเป็นแรงงานหรือมีบทบาทในสังคมได้ต่อไป 

2. ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับความต้องการของผู้สูงอายุ

โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมากของญี่ปุ่นถูกสร้างขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อตอบสนองการขยายตัวของเมือง และการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากร แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ญี่ปุ่นได้ปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มสูงวัยที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น การปรับพื้นที่โรงเรียนเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงปรับสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชนให้เหมาะกับการรวมตัวของคนหลายรุ่น และพยายามฟื้นฟูที่อยู่อาศัยที่รกร้างให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หลังจากเจ้าของบ้านจากไปตามอายุขัย 

3. ปรับการขนส่งสาธารณะให้เอื้อต่อการเดินทางของคนสูงวัย 

การอำนวยความสะดวกการเดินทางตามเมืองต่าง ๆ เป็นสิ่งที่โดนใจผู้สูงวัยในญี่ปุ่นจำนวนมากที่ชอบอาศัยในเขตเมือง ขณะที่กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว ของญี่ปุ่น ได้พัฒนาทางเท้า อาคารสาธารณะ และระบบขนส่ง ให้เป็นมิตรกับคนทุกช่วงอายุ และปราศจากสิ่งกีดขวางที่อาจเป็นอันตราย

รณรงค์ให้คนมีลูก

อีกสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทำอย่างหนักคือการรณรงค์เพื่อให้คนญี่ปุ่นมีลูกมีหลานมากขึ้น หลังเผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำเตี้ยเรี่ยดิน โดยอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rate) ซึ่งหมายถึงจำนวนบุตรต่อหญิงวัยเจริญพันธุ์หนึ่งคนของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.3 คน โดยไม่มีสัญญาณการขยับตัวเพิ่มขึ้นมานานหลายปีแล้ว ซึ่งส่งผลต่อปัญหาแรงงานในประเทศ

ช่วงหลังรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ยอมรับว่า การเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินให้กับครอบครัวที่มีลูก อาจได้ผลมากกว่าการที่นักการเมืองหัวโบราณพยายามพูดว่าผู้หญิงต้องแสดงความรักชาติด้วยการให้กำเนิดบุตร 

ในการกล่าวสุนทรพจน์นโยบายสำคัญครั้งแรกของปี ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เผยว่า เขาได้สั่งการให้กระทรวงต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเพื่อใช้มาตรการที่ ‘ไม่เคยมีมาก่อน’ อย่างเด็ดขาดและกล้าหาญ เพื่อแก้ปัญหากับอัตราการเกิดที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อความอยู่รอดของชาติ 

เขายังให้สัญญาด้วยว่าจะเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร, ขยายการดูแลเด็กในช่วงหลังเลิกเรียน, ขยายเวลาในการดูแลเด็กในช่วงหลังเลิกเรียน และจะใช้การปฏิรูปด้านต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้ปกครองสามารถลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกได้ง่ายขึ้น 

ด้านรัฐบาลกรุงโตเกียวก็วางแผนโครงการมูลค่า 11,000 ล้านเยน เพื่อสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กฟรี เริ่มในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กประมาณ 50,000 คน นอกจากนี้ยังพิจารณาให้เงิน 5,000 เยนต่อเดือน แก่เยาวชนทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายการศึกษา เรียกได้ว่าจูงใจให้คนอยากมีลูกกันสุด ๆ 

เหล่านี้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาสังคมสูงอายุของญี่ปุ่น ที่เผชิญระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจและประชากรศาสตร์อย่างร้ายแรง ซึ่งโดยภาพรวมจะเป็นแผนระยะยาว ทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตต่อไปได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระของคนรุ่นต่อไป 

 

ภาพ : Pixabay

อ้างอิง : 

thediplomat

blogs.worldbank

theguardian

gov-online.go.jp

english.kyodonews

japantimes

weforum.org

nbtworld