27 ก.ย. 2566 | 14:05 น.
07:00 น. คือเวลาที่ผู้ปกครองเริ่มเดินทางมายัง ‘บ้านครูส้ม’ สถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็กอายุราว 0-3 ปีที่มี ‘ครูส้ม – คณิตา โสมภีร์’ เป็นคนดูแลความวุ่นวายและจัดแจงทุกอย่างให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย เพราะบ้านหลังนี้จะเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้โลกได้อย่างใจหวัง ไม่ว่าพวกเขาจะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบใด ครูส้มจะช่วยดูแลเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมทั่วถึง ไม่มีการแบ่งแยกว่าใครสมควรจะได้รับความรักมากกว่ากัน
เพราะครูส้มเชื่อว่า เด็กทุกคนคือของขวัญล้ำค่า
แม้ว่า ‘บ้านครูส้ม’ จะไม่มีแผ่นป้ายเด่นหราคอยบอกคนในและนอกชุมชนว่านี่คือ บ้านร่วมพัฒนาเด็กของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม แต่เมื่อถามทางกับชาวบ้านในพื้นที่ แม้แต่วินมอเตอร์ไซด์เองก็รู้ทันทีว่าจุดหมายปลายทางที่เราจะไปนั้นอยู่ตรงไหนของซอยรามคำแหง 39 หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่รู้จักกันดีในชื่อ ซอยวัดเทพ
บ้านของครูแทรกตัวอยู่ในตรอกเล็ก ๆ ของซอยวัดเทพอีกทีหนึ่ง แม้แต่กูเกิ้ลแมพเองก็สับสนไม่น้อย เพราะโลเคชั่นที่ครูส้มส่งมาให้ไม่ปรากฏอยู่ในแผนที่ ทันทีที่เรามาถึง ครูส้มเปิดประตูออกมาต้อนรับ ส่งยิ้มให้เราอย่างอ่อนโยน ทำให้อากาศเย็น ๆ ในยามเช้าพลันอบอุ่นขึ้นมาทันตา
ภายในบ้านมีของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กเล็กวางอยู่ตามมุมห้อง บนผนังประดับประดาด้วยเกียรติบัตรนับสิบใบ ภาพของเธอกำลังยิ้มหวานรับใบประกาศเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า ครูส้ม ไม่ใช่แค่คนธรรมดาที่ออกมาเปิดบ้านรับเลี้ยงเด็ก หากแต่เป็นครูผู้มากประสบการณ์ และพร้อมดูแลเด็กทุกคนด้วยความเข้าใจ
และนี่คือเรื่องราวของคณิตา โสมภีร์ คุณครูผู้อุทิศชีวิตและจิตวิญญาณ เพื่อดูแลเด็กในสลัมให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เริ่มจากการทิ้งขยะลงถัง และไม่ลืมที่จะกล่าวคำขอโทษเมื่อเล่นกับเพื่อนแรงเกินไป
The People: ทำไมครูส้มถึงมาเลือกมาเปิดบ้านรับเลี้ยงเด็กอ่อนอยู่ในชุมชนทรัพย์สินเก่าตรงนี้
คณิตา: เมื่อก่อนครูเคยสอนเด็กที่โรงเรียนอนุบาลน่ะค่ะของเอกชน แต่ไม่ค่อยตอบโจทย์ในการดูแลเด็ก แล้วรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กต่อคนแพงมาก โดยเฉพาะเด็กตั้งแต่อายุแรกเกิดถึง 3 ปี คุณครูก็เลยมีความรู้สึกว่าน่าจะมาเปิดเอง แล้วก็มีความรู้สึกว่ามันน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่แค่เก็บเงินแพง ๆ แล้วไม่มีพัฒนาการอะไร ครูกำลังมองว่าสถานที่ดีจริง ๆ แล้วไม่ได้สำคัญเท่ากับการพัฒนาหรือการเรียนรู้ที่ดี ครูก็เลยเริ่มมาเปิดที่ชุมชนนี้ค่ะ
ที่เป็นชุมชนนี้ เพราะว่าคุณครูมองว่าเด็กไม่มีคนดูแล เห็นเด็กวิ่งไปวิ่งมาก็กลัวรถจะชนอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็เลยมีความรู้สึกแว๊บขึ้นมาว่า เออ เราน่าจะมาเปิดตรงนี้ และอีกอย่างนึงก็คือครูมีลูก ลูกครูป่วยเป็นโรคหัวใจรั่ว ก็ไม่สามารถที่จะออกไปอยู่ที่อื่นได้ และคุณครูจะกลับไปทำงานที่โรงเรียนก็ค่อนข้างลำบาก ก็เลยคิดว่าถ้าเปิดตรงนี้ เด็กในชุมชนก็จะได้รับความรู้ไปด้วย และลูกครูเองก็จะได้พัฒนาไปด้วย จากเด็กที่ป่วยเนี่ยจะได้มีเพื่อนอะไรอย่างนี้ค่ะที่มาเปิด
The People: การเป็นคุณครูคอยสอนหนังสือเด็ก มันเป็นความฝันของครูส้มเลยไหม หรือว่ามีความฝันอื่นนอกเหนือจากการเป็นครูมั้ย
คณิตา: ตอนแรกคุณครูไม่คิดว่าครูจะเป็นครูค่ะ แต่จริง ๆ ที่บ้านครูเนี่ย ก็เป็นครูกันหมดเลยนะคะ จะมีอยู่ 2 อาชีพคือเป็นครูกับเป็นทหาร คุณพ่อเป็นทหาร แล้วคุณปู่ก็เป็นครู คุณอาเป็นครู คุณน้าเป็นครู คุณป้าก็เป็นครู ลุงก็เป็นทหารอะไรอย่างนี้ค่ะ ทุกคนน่ะจะมีอาชีพที่รับราชการหมดเลย แต่ว่าในยุคของครูนี่ครูรู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์ แล้วครูที่ในราชการเนี่ย ไม่ใช่แนวทางของครู ครูมองว่ามันอยู่ในกรอบ แต่คุณครูไม่ชอบทำอะไรในกรอบ คุณครูเป็นคนที่ชอบทำอะไรนอกกรอบ
แล้วคุณครูคิดว่าถ้าคุณครูเปิดบ้านรับเลี้ยงเด็กเนี่ย คุณครูจะต้องมีแนวคิด มีหลักสูตร มีการเรียนรู้ การเรียนการสอนที่ไม่เหมือนคนอื่น และเป็นของครูเอง ครูก็เลยลองดูว่าครูจะทำได้ไหม มันเป็นการ เขาเรียกว่าเป็นการอะไร เป็นการที่เหมือนกับเปิดกบาลตัวเองค่ะว่าตัวเองอยากลองทำดู มันไม่ใช่แค่พูด แต่เราต้องทำ ก็เลยลองทำ แล้วก็ไม่คิดว่ามันจะประสบความสำเร็จนะ แต่ในความรู้สึกคือว่าครูว่าเด็กที่ต้องได้รับการพัฒนาที่ดีที่สุดเลย ก็คือเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึง 3 ปีในความรู้สึกของครูนะคะ ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เพราะครูเปิดบ้านนี้มาเกือบจะ 20 ปีแล้ว
ตอนแรกที่เปิดมาไม่มีปัญหานะ แต่มีปัญหาตรงที่ว่าเราจะทำยังไงว่าเราอยากได้เด็กในรุ่นนี้ แรกเกิดถึง 3 ปี เพราะคุณครูเน้นเด็กตรงนี้ก่อนเลย เพราะถ้าหลังจาก 2 ปีครึ่งหรือ 3 ปีอย่างนี้ จะมีศูนย์ดูแลเด็กเล็กใช่ไหมคะ ซึ่งเป็นศูนย์ในชุมชน แต่คุณครูไม่ คุณครูคิดว่าเราจะทำยังไงให้มันต่างจากคนอื่นในความรู้สึกของครู แต่ต่างในที่นี้ต้องต่างแบบดีด้วยนะ ดีในที่นี้ก็คือสามารถที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ แล้วก็ที่ครูเปิดตรงนี้ เพราะครูอยากช่วยมั้ง ครูอยากช่วยเด็กในชุมชนที่พ่อแม่เขาต้องไปทำงาน มีบางคนถามทำไมครูไม่เปิดแรกเกิด ครูก็เลยคิดในใจว่า เออ เนาะจริงแล้วมันน่าจะจำเป็น เพราะว่าเขาต้องไปทำงาน
เขาเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ยิ่งในชุมชนเนี่ยมันเยอะ คนที่จะต้องไปหาเช้ากินค่ำ หรือว่าพ่อแม่ติดคุกติดยา หรือว่าพ่อแม่เลิกกันอย่างนี้ เด็กต้องมีคนเลี้ยง แล้วในชุมชนก็คือบริบทใหม่ ก็คือมันไม่ได้เป็นครอบครัวใหญ่ ๆ แล้ว มันอาจจะเป็นครอบครัวเดี่ยว หรืออาจจะมาเช่าบ้านอยู่ หรืออาจจะเป็นชาวชุมชนที่มีครอบครัวเล็ก ๆ อยู่อย่างนี้ค่ะ แล้วเขาก็ไม่สามารถที่จะเอาลูกไปไว้ที่อื่นได้ ไม่ตอบโจทย์เขา ก็เลยกลายเป็นว่า เออ ตรงนี้มันเป็นทางเลือก แล้วที่ดีที่สุดคือครูเลี้ยงราคาไม่แพงประมาณนี้ค่ะ
The People: ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาอยู่ในความดูแลของครูส้ม
คณิตา: ถ้าเป็นเด็กเล็กคุณครูจะเลี้ยงอยู่ที่ 1,500-2,000 ค่ะ ไม่เกิน 2,500 แต่ยังไม่เคยเก็บถึง 2,500 เลยนะ เพราะว่าเด็กส่วนมากมาก็จะเป็นรายได้ คุณพ่อคุณแม่ทำงานรายวันน่ะ บางคนเป็นแม่บ้าน บางคนทำงานบริษัทที่เงินเดือนไม่เยอะ ทำความสะอาดอย่างนี้ค่ะ หรือว่าเป็นก่อสร้าง กางเต็นท์ หรือว่าไม่ก็เป็นพ่อแม่เลิกกัน คนที่หาเงินเป็นหลักก็คือปู่ย่าตายาย ฉะนั้นครูก็จะคิดในราคาไม่แพง เคยเลี้ยงที่ต่ำที่สุดคือเดือนละ 700 เนี่ยอย่างนี้ก็จะเลี้ยงอยู่ 1,000 นึงอะไรอย่างนี้ โตหน่อยเราจะ 1,000 นึง ถ้าโตขึ้นมานิดนึงก็เนี่ยค่ะ 1,500 1,300 อยู่ในราว ๆ นี้หมดเลย แต่คุณครูเลี้ยงวันจันทร์ถึงวันเสาร์ค่ะ เราจะหยุดวันอาทิตย์ แล้วก็วันนักขัตฤกษ์ เหมือนกับว่าให้เวลาของครูนิดนึงว่าครูจะต้องทำความสะอาดบ้าน แล้วก็ให้พี่เลี้ยงได้พักประมาณนี้ค่ะ
คุณครูไม่ได้เลือกเด็ก เพราะว่าเด็กเป็นเด็กคนนี้ ลูกใคร ลูกอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ แต่ที่ครูเลือกเด็ก ครูเลือกเด็กว่าเขามีความจำเป็นต้องอยู่กับครูจริงไหม ครูจะถามก่อนว่ารู้จักครูมาจากใคร แล้วจะถามว่าเงินเดือนผู้ปกครองเท่าไหร่ อันดับแรกเลย ถามว่าเอามาเลี้ยงลูกกับครูเนี่ยมีความจำเป็นขนาดไหนที่ต้องเอามาเลี้ยง เขาบอกว่า พ่อเขาติดคุกนะครู ฉันเป็นป้า ฉันเป็นยายอะไรอย่างนี้ เอามาฝาก ครูรับทันทีเลยไม่มีข้อต่อรอง แล้วครูเลี้ยงให้ก่อน ทุกคนเนี่ยครูเลี้ยงดูก่อนนะคะ แล้วครูก็ค่อยมาตามเก็บเงินทีหลัง
มีบางรายเท่านั้นที่คุณครูเก็บก่อนล่วงหน้า เพราะเขายินดีที่จะจ่ายประมาณนี้ ไม่กี่คน แต่ส่วนมากคุณครูจะเลี้ยงให้ก่อน แล้วก็อีกอย่างนึงก็คือครูจะรับเด็กจากการที่ว่าเขาไม่ใช่คนไทยด้วย แล้วก็เป็นคนต่างชาติอะไรรับหมดน่ะ แม้แต่นิโกรครูก็เคยเลี้ยงค่ะ ครูก็เคยเลี้ยงนะ แล้วก็เด็กที่มีความพิเศษทุกอย่างเลี้ยงหมดเลย คือเด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรมเลี้ยงมาหมดแล้ว แล้วก็มีเด็กสมาธิสั้น แล้วก็มีประมาณว่าออทิสติกเทียม ออทิสติกอะไรแบบนี้ค่ะ เราเลี้ยงหมดเลย เราไม่มีข้อจำกัดว่าเราจะไม่เลี้ยง เราไม่ได้เลี้ยงเด็ก เพราะว่าเขารวยหรือว่าจน แต่เราเลี้ยงเด็ก เพราะว่าเขาต้องการให้เราเลี้ยง และครูเขาเชื่อใจครู แค่นั้นเอง
The People: ที่บอกว่าไม่เลือกรับเลี้ยงเด็กไม่ว่ารวยหรือจน แสดงว่าต้องมีเคสที่รับเด็กที่บ้านมีฐานะมาอยู่ในความดูแลด้วยหรือเปล่า
คณิตา: มีค่ะ มี เพราะว่าเขาทำงานบริษัทใกล้ ๆ เนี่ย เขาก็จะเอาลูกมาฝากที่นี่ เป็นผู้จัดการบ้าง ทำงานทางด่วนบ้างหรืออะไรอย่างนี้ คือไม่มีคนดูแลลูกเขาอะไรอย่างนี้ค่ะ หรือว่าโรงเรียนไม่ได้ตอบโจทย์เขา แต่ที่นี่มันเหมือนบ้านเด็กไงคะ มันเหมือนบ้านหลังนึงของเด็ก เป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก เด็กจะรู้สึกว่าเขาปลอดภัย ถ้าเขามาอยู่ที่นี่ แล้วเราก็แต่งตัวกันธรรมดา มีบางคนถามครูว่าครูเป็นแม่บ้านหรือครูเป็นครู แต่จริง ๆ แล้วการเลี้ยงเด็กเนี่ย เราจะใส่ชุดสวยงามมากก็ไม่ได้เนาะ เพราะว่า 1 ครูจะต้องล้างขี้ล้างเยี่ยวเด็กนะคะ แล้วก็ต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าครู ให้คุณยายมาแล้วคุณครูทำไม่ได้ ทุกอย่างที่ครูทำ คือครูต้องทำได้หมดเลย แล้วครูก็ต้องสามารถดูแลเด็กในเวลาเดียวกันด้วย แล้วเด็กครูไม่ใช่เด็กโต
ฉะนั้นมันจะห่วงสวยห่วงงามก็ไม่ได้ ก็ต้องเนี่ยก็ต้องดูแลไป แล้วก็คอยเป็นทั้งทุกอย่างให้เขาค่ะ ทุกอย่างจะอยู่ที่ครูหมดเลย และเด็กก็จะเป็นศูนย์รวมของที่บ้าน เขาจะรู้สึกว่าเขาอยู่บ้านนี้แล้วเขาสามารถที่จะหยิบจับอะไรก็ได้ ไม่ทำให้เขาเดือดร้อนคนอื่น เดือดร้อนตัวเอง ไม่ทำร้ายข้าวของ คุณครูให้จับหมดเลยนะทุกสิ่งทุกอย่างในบ้าน สิ่งรอบตัวเขา คือสิ่งที่เขาสามารถที่จะใช้เรียนรู้ได้ สิ่งที่ครูสอนคือวิชาชีวิต ก็คือทักษะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเขานั่นเอง เพราะว่าคุณถือว่าเด็กเล็กที่สุดมันต้องรีบสอนตั้งแต่เล็ก ถ้าเราไม่ฝึกเขาตั้งแต่เล็ก หน้าต่างของโอกาสที่เขาบอกว่าเวลาทองของชีวิตเด็กมันก็จะหายไปเลย
ฉะนั้นคุณจะเอาเด็กมาไว้ในกรอบยังไง เขาก็ไม่อยู่ในกรอบ แต่ถ้าคุณฝึกเขา เขาจะรู้จักคำว่าอันนี้แค่นี้นะ อันนี้อย่างนี้นะ อันนี้คือต้องยอมนะ อันนี้คือแบ่งปันนะ ไม่ใช่ของเรา เราเอาไม่ได้ เขาต้องมีความซื่อสัตย์ มีความขยัน มีความอดทน แล้วก็มีการที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ดี แล้วก็สามารถที่จะมีพัฒนาการทางด้านภาษา ได้เรียนรู้ตามวัยของเขา ไม่ใช่มานั่งขีด มานั่งเขียนอะไรที่เขาไม่อยากเรียนใช่ไหม การเล่นก็คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็ก ครูมองว่าถ้าเรามีกระบวนการเล่นที่ดี มีของเล่นที่ใกล้ ๆ ตัว ไม่ต้องเสียราคา ไม่ต้องเสียเงินที่มันแพง เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีประมาณนี้ค่ะ
อีกเคสนึงที่คุณครูเคยดูแลก็คือน้องเขา เนี่ยค่ะอย่างแค่นี้เลย เขามาจากต่างด้าวค่ะแล้วก็มันหาที่เรียนไม่มี 1 หาที่เรียนไม่มี หาโรงเรียนเข้ายังไม่ได้ เพราะมันเป็นช่วงกลางเทอม ฉะนั้นเขาไม่เรียนรู้ภาษา ภาษาเราไม่ได้ เขาก็จะเข้าโรงเรียนไม่ได้ คุณครูก็จะต้องใช้วิธีการสอน สอนตั้งแต่แรกเลย ก.ไก่ ข.ไข่ ให้หัดสะกด หัดเรียน หัดเขียน หัดอ่าน แล้วก็ค่อย ๆ ส่งเขาไปโรงเรียน ซึ่งเลี้ยงมานี่รุ่นที่ 2 ที่ 3 แล้วมั้งคะ ครูส่งไปเข้าโรงเรียนแล้ว 2-3 รุ่นแล้วค่ะ แล้วส่วนมากเด็กพม่าเขาจะมาที่นี่เยอะ เพราะเขารู้สึกว่าเขาไหวกับค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วย พ่อแม่เขาก็มาทำงานถูกต้องตามกฎหมายเนาะ แล้วเขาก็อยากที่จะมีคนที่ดูแลลูกเขาแบบปลอดภัยอะไรแบบนี้ค่ะ ก็คือตอบโจทย์
The People: หลักสูตรทั้งหมดที่ครูส้มบอกว่าเป็นหลักสูตรที่แตกต่าง อันนี้คือได้รับการฝึกอบรมมาจากที่ไหนไหม
คณิตา: ได้รับการฝึกอบรมมาจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมค่ะ มีหลักสูตร 270 ชั่วโมงที่ครูเรียน ตั้งหลายเดือนนะ ตอนที่ครูเรียนเนี่ย ครูหอบลูกไปเรียนด้วยค่ะ ลูกคนเล็กที่เกิดมาค่ะ ครูก็เอาไปเรียนด้วย แล้วก็ตัวเองก็ไปเรียน แล้วก็ได้ใบประกาศมา แล้วครูก็ไปอบรมเพิ่มเติมของกรมกิจการเด็กและเยาวชน แล้วก็มีอบรมหลักสูตรองค์รวมค่ะ เด็กแรกเกิดถึง 3 ปีล่าสุดนี้เพิ่งได้ระดับ 2 มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมาค่ะ
The People: การดูแลเด็กปกติกับเด็กที่เป็นสมาธิสั้นหรือออทิสติก ก็ได้รับการอบรมมาจากของชุมชนด้วยใช่ไหม
คณิตา: ใช่ค่ะ จากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ตอนแรกครูไม่รู้เลยนะว่าจะต้องรับมือยังไง เลี้ยงโดยวิธีการแบบเหมือนชาวบ้านตอนแรก ๆ ค่ะคือแบบเรียนรู้เอา พอตอนหลังมาเห็นความจำเป็นว่ามันต้องเรียนน่ะ ก็ เขาก็เลย ก็ขอให้เขามีหลักสูตรในการเรียนว่ากี่ชั่วโมง เราก็มีอาจารย์มาเรียนรู้ แล้วถ้าเกิดเด็กเป็นอย่างนี้ เราจะส่งต่อที่ไหน ซึ่งเด็กครูมี เป็น แล้วก็ส่งต่อสถาบันราชานุกูล เด็กจะมาเรียนกับครูวันอังคารพุธพฤหัสบดี วันจันทร์วันศุกร์เขาจะไปโรงเรียนราชานุกูลอะไรแบบนี้ค่ะมี มีเด็กดาวน์ซินโดรมเมื่อก่อนมี แล้วก็ตอนที่โตเป็นหนุ่มแล้ว แล้วก็มีเด็กพิเศษเป็นสมาธิสั้น ตอนนี้ก็เข้าโรงเรียนแล้วค่ะอยู่หลายโรงเรียนอยู่นะ แล้วก็มีเด็กรุ่นหลัง ๆ เนี่ยจะเป็นสมาธิสั้นเทียม เหมือนกับว่าเล่นโทรศัพท์ ผู้ปกครองส่วนมากบอกว่าเอาลูกมาฝากกับครูไว้ ก็คือลูกชอบเล่นโทรศัพท์อยู่ที่บ้าน
ฉะนั้นเอามาฝากไว้ เพื่อไม่ให้เขาเล่นโทรศัพท์ เพราะที่นี่จะไม่เปิดทีวีนะ คุณครูไม่ชอบดูทีวี ไม่ชอบอะไรที่มันเป็นการสื่อสาร นอกจากใช้ทำงานอะไรอย่างนี้ คุณครูจะชอบให้เด็กอ่านหนังสือ เพราะ 1 มันพัฒนาสมอง บ้านครูจะรก เพราะมีแต่หนังสือ เด็กจะชอบหนังสือ คือสามารถที่จะจับหนังสือได้ตลอดเวลา และเขาก็จะสามารถที่จะให้ครูเล่านิทาน อ่านนิทานอะไรอย่างนี้ค่ะ มันช่วยพัฒนาสมองทางด้านเกี่ยวกับภาษา มีประสบการณ์ มีคำพูด มีพัฒนาคำศัพท์บางคำที่เราไม่รู้ แต่เขารู้จากหนังสือ เขาได้เรียนรู้อะไรอย่างนี้ค่ะ มันไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว เพราะว่าเวลาเราเล่านิทานหรือว่าเราอ่านนิทานเนี่ย มันสื่อสารทั้งสองฝ่าย เหมือนเราพูดโต้ตอบกับเขา เหมือนเราเล่นกับเขา เราสอนเขาในการเล่นแบบนี้ เขาก็จะรู้หลักเกณฑ์ในการเล่น พอเราสอนครั้งนี้ ครั้งต่อไปเขาก็จะพยายามปฏิบัติตาม
เหมือนเราสอนเขาให้เข้าแถวอย่างนี้ใช่ไหมคะ พอถึงเวลาปุ๊บ เราบอกคำว่าเข้าแถวปุ๊บ เขาก็จะเข้าแถวเป็นแถวอย่างนี้ มันเป็นการฝึก จริง เขาบอกว่าทำไมต้องเข้าแถวต้องเคารพธงชาติใช่ไหม แต่ครูคิดว่ามันเป็นการฝึกวินัยให้เด็กตั้งแต่เล็ก ฉะนั้นถ้าเขามีวินัยตั้งแต่เล็ก เขาสามารถรอคอยได้ เขาสามารถที่จะไปต่อแถวซื้อข้าวโดยที่ไม่ไปโวยวายคนอื่นอะไรอย่างนี้ เขาจะมีพัฒนาการทางด้าน EF (Executive Functions) ที่ดี ก็คือสามารถใช้ชีวิตยืดหยุ่นอยู่อย่างปกติสุขอยู่ในสังคมปัจจุบันแค่นั้นเองที่ครูต้องการ เพราะเด็กสมัยนี้ขาดความอดทนค่อนข้างเยอะ ใจร้อนใช่ไหมคะ แต่ถ้าเขาได้ฝึกแบบนี้ อย่างน้อยเขาก็ฝึกความอดทนเขาแล้ว ฝึกการอดทนว่าเขาต้องรอคอยเป็นนะ เขาต้องรู้จักคนอื่นว่าอันนี้ไม่ใช่ของเขา อันนี้คือของเขาอะไรอย่างนี้ค่ะ
The People: เหมือนกับว่าสิ่งที่ครูส้มอยากให้เด็กได้รับกลับไปก็คือเป็นประสบการณ์ชีวิต
คณิตา: ใช่ ๆ เป็นการฝึกเขาตั้งแต่เล็ก ถ้าเราฝึกตั้งแต่เล็กพอโตไปเนี่ย คุณไม่ต้องกลัวเลยค่ะว่าเขาจะหลุดจากครอบครัวไปไหน อันดับแรกที่สำคัญที่สุดคือคำว่าครอบครัวใช่ไหม เขาจะไม่หลุดหายไปจากครอบครัว เขาจะไม่ไปพึ่งยาเสพติดอันดับ 1 แล้วเขาก็จะแบบมีความรู้สึกว่าครอบครัวคือที่ปลอดภัย อย่างน้อยก็ยังมีคนที่รักและห่วงใยเขาอยู่ แล้วเขาจะรู้สึกว่าเวลาเขาอยู่กับคนอื่น เขาก็จะเห็นอกเห็นใจคนอื่นด้วย คุณครูมองว่าแบบนี้นะ เพราะครูก็เลี้ยงลูกครูแบบนี้เหมือนกัน
The People: ถ้าถามในมุมมองของการเป็นคุณครู หลักสูตรการศึกษาไทยที่ออกแบบมา ครูส้มคิดว่าตอบโจทย์เด็กทุกคนได้จริงไหม
คณิตา: ไม่จริง อันนี้ครูก็ค้านเลย เพราะครูเอง ครูไม่เข้าใจว่าทำไมครูต้องเรียนเลขด้วย ครูไม่ชอบ ไม่ชอบเลขมากเลยนะตอนเด็ก ๆ ค่ะ แล้วคราวนี้ แต่ที่บ้านคุณครูคือคุณปู่คุณย่าเนี่ยเขาเข้าใจ เพราะเขาเป็นครู เขาก็จะสอน ครูชอบภาษาไทย ครูชอบอ่านหนังสือ ฉะนั้นสิ่งที่ครูแม่นที่สุดคือภาษาไทย แล้วคุณปู่ก็บอกว่าเนี่ยให้อ่านทุกวัน เราชอบอะไรเราก็อ่าน ครูชอบซื้อหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะตั้งแต่เล่มละ 3 บาท ทุกวันนี้ยังเก็บไว้อยู่เลย
คือหนังสือเป็นอะไรที่ครูรักมากเลยนะ แล้วครูก็คิดว่ามันคือความจำเป็นและสำคัญ แต่ครูไม่ชอบครูเลขเลย ครูเลขชอบตี ตีแล้วก็แบบบางทีเราก็ทำผิด แล้วครูไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตีด้วย พอมาถึงรุ่นลูก ลูกบอกว่าแม่มันน่าจะมีโรงเรียนที่ตอบโจทย์ คุยกับลูกนะ คือแบบตอนที่เขาจะเข้า ป.1 เนี่ย ลูกครูไม่ได้เรียนอนุบาลนะคะ เรียนแค่เทอมเดียว มันไม่ตอบโจทย์
ครูไม่เอาไปเลยจริง ๆ มันไกล มันไม่มีทะเบียนบ้านเข้า ตอนนั้นยังไม่ได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ใช่ไหม แล้วทีนี้เรามีความรู้สึกว่าลูกไปโรงเรียนไกล โดนเพื่อนแกล้ง รองเท้าหายบ้าง เดี๋ยวเสื้อก็ขาด เดี๋ยวก็กระโปรงโดนเปิด เขาบอกว่าแม่โดน คืออนุบาล 1 นะมีความรู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์เลย ฉะนั้นฉันสอนเอง ครูสอนเอง แล้วก็ให้เพื่อนครูช่วยสอน ตอนนั้นเพื่อนก็เปิดบ้านแบบนี้แหละค่ะ
แล้วคราวนี้พอเสร็จปุ๊บ ก็ให้ประธานชุมชนเนี่ยปั๊มเซ็น แล้วเอาลูกเข้า ป.1 ค่ะ ครู ลูกครูไปจับสลากไม่ได้ด้วยนะ แล้วครูก็เขียนหนังสือยื่นคำร้องบอกว่าทำไมถึงไม่ได้ในเมื่อบ้านเราใกล้โรงเรียนแค่ไม่กี่ร้อยเมตร ไม่เกิน 500 เมตร โรงเรียนอยู่ข้างหลังบ้านเนี่ย โรงเรียนพระยาประเสริฐ ทำไมลูกเราเข้าไม่ได้ จับสลากไม่ได้ คือเข้าไม่ได้เหรอ ลูกฉันไม่เก่งเหรออะไรอย่างนี้ ก็คือไปท้าทายเขาเหมือนกันนะ
แล้วเขาบอกว่าถ้าเข้าโรงเรียนไม่ได้มันต้องเสียเงินใช่ไหมคะ แต่ครูไม่เสีย คือครูก็ไปทำเรื่องขอคือยื่นคำร้องปุ๊ป เขาก็เรียกเข้าไป แล้วเขาก็มาดูบ้าน ปรากฏว่าลูกครูก็ได้เข้าโรงเรียน แล้วครูก็เลยบอกว่าถามว่ามันตอบโจทย์ไหม ลูกสาวบอกแม่ถ้ามันไม่มีวิชาที่เราไม่ชอบ และเราเรียนเฉพาะวิชาที่เราชอบ หนูว่าหนูจะเรียนได้ดีกว่านี้ แต่เขาก็เรียนจนจบนะ คือจบ ม.6 มาสายวิทย์
แล้วเขาก็ตอนนี้ก็ไปเรียนพยาบาลอยู่ที่นครศรีธรรมราชได้ทุนเรียนค่ะ มันก็เลยมีความรู้สึกว่า เออ ไม่ใช่เราแค่คิดคนเดียว แต่ลูกเรายังคิดเลย แล้วลูกชายเนี่ยเขาบอกว่าแม่ถ้าเกิดมันมีเฉพาะวิชาวาดรูป แล้วหนูเรียน หนูน่าจะทำเป็นอะไรนะ เขาเรียกสตรีมเกมหรือว่าอะไรอย่างนี้ค่ะ เขามีร้านของเขาเอง เขาทำเองอะไรเองอย่างนี้ น่าจะดีกว่านี้ เขาก็พูดนะ เขาก็คือคุยกันน่ะ เราเลยความรู้สึกว่า เออ จริงเนาะมันประเทศไทยไม่ค่อยตอบโจทย์ในการเรียนรู้
บางคนจบปริญญาตรีมา แต่ไม่ได้จบตรงสาขา มันก็ทำให้การทำงานของเขาเนี่ยไม่ไหลลื่น ทำได้ไม่นานสุดท้ายมาขายกาแฟ ขายข้าวแกงจบมาทำอะไร สู้จบเฉพาะทางมาดีกว่า …ครูมองว่าแบบนั้นนะ ถ้าจะให้ตรงจริง ๆ คือคุณต้องให้เด็ก เขาชอบอะไรก็เรียนอันนั้นไปเลย เจาะจงไปแบบนี้ มันน่าจะตอบโจทย์มากกว่า เหมือนที่ครูเปิดเนี่ย เขาชอบอะไรก็ให้เขาเล่นตรงนี้ ให้ส่งเสริมเขา เขาชอบร้อง ชอบเต้น ชอบรำ คนนี้ก็จะเก่งทางด้านนี้ เด็กของครูไม่มีเด็กเก่งค่ะ มีแต่เด็กที่ทิ้งขยะลงถังแค่นั้นเอง จริง ๆ ทำไมถึงต้องสอนให้เด็กทิ้งขยะลงถัง เพราะอย่างน้อยเขาจะได้รู้ว่ามาทำอะไรเนี่ย เขาสามารถทำได้อย่างซื่อตรงซื่อสัตย์ใช่ไหม ถ้าเขาเป็นคนเก่ง แต่เขาขี้โกง ใช้เล่ห์เหลี่ยมในแบบ เอ้ย นี่นะอันนี้ได้ ยักอันนี้ก็ได้ เวลาเขาไปทำงานที่โตขึ้นไป เขาก็ต้องโกงไปตลอด คุณคิดหรอว่าสอนเด็กเล็ก ๆ ให้โกง ต่อไปเขาก็ต้องโกง
ฉะนั้นสอนที่ดีที่สุดคือการสอนให้เห็นความจริง สอนให้เขาแบ่งเพื่อน สอนให้เขาไม่รังแกคนอื่น โตขึ้นไปเขาก็จะไม่ทำร้าย อย่างคุณเด็กผู้ชายก็จะไม่ทำร้ายผู้หญิง ใช่ไหมคะ เด็กผู้หญิงก็จะรู้จักแบ่งปันอะไรอย่างนี้
อาจจะมาจาก แต่ละคนน่ะเหมือนมาต่างที่เนาะ ร้อยพ่อพันแม่ แล้วกว่าเราจะสอนแต่ละคนได้ มันก็ยาก แต่ทีนี้มันทำยังไงให้มันเป็นเป็นเรทเดียวกัน ให้มันอยู่ในระดับเดียวกัน บ้านหลังนี้คือแบบเป็นบ้านที่ทำให้ทุกคนน่ะมีความเท่าเทียมกัน ลูกใครก็ช่าง ลูกใครจะรวยมาจากไหนก็ช่าง ถ้าอยู่บ้านครู คือลูกครู ก็คือลูกศิษย์ครู ทุกคนต้องได้รับความเท่าเทียมกัน กินขนมก็ต้องกินเหมือนกัน กินข้าวก็ต้องกินเหมือนกันอะไรอย่างแบบนี้ค่ะ ไม่มีคำว่าแตกต่างไม่ว่าคุณจะจ้างครู 2,500 หรือจ้างครู 1,000 เดียว ครูก็ต้องเลี้ยงให้เหมือนกัน มันก็คือประมาณแบบนี้
The People: เท่าที่ฟังมาเหมือนการศึกษาไทยไม่ค่อยตอบโจทย์กับลูก ๆ ของครูส้มเท่าไหร่ แล้วอย่างนี้ครูส้มเคยรู้สึกหมดหวังกับการศึกษาไทยบ้างไหม
คณิตา: เคยค่ะ มีความรู้สึกว่าจะไปเรียนตรงไหนดี เนี่ยลูกชายกำลังมีปัญหาว่าแม่ถ้าเรียนจบตรงนี้ แล้วเขาจะไปต่อตรงไหน อาจจะต้องไปไกล ถ้ามันไม่มีเอกที่เขาอยากเรียน มันไม่ได้ตอบโจทย์ที่เขาโดยตรงอะไรอย่างนี้ มันหาสถานที่เลี้ยงก็ค่อนข้างไกลบ้านเนาะ อยากให้มีแบบ มีระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์มากกว่านี้ หรือว่าเป็นอาชีพไปเลย สมมุติว่าเขาชอบที่จะเป็นช่างกล้อง หรือว่าชอบที่จะทำงานสื่อสาร ก็เรียนไปเลยสื่อสาร เอาให้มันแม่นไปเลย เป็นอย่าง ๆ ไป
อย่างคนนี้ชอบเย็บผ้า ก็เรียนเย็บผ้าไปให้มันเก่งไปเลยอย่างนี้ ครูว่ามันน่าจะดีกว่านะ ประเทศไทยน่าจะมีแรงงานที่ไม่ต้องแบบว่าจบมาไม่มีงานทำ แต่ไอ้คน แรงงานที่ขาด ครูที่ขาด อย่างครูเด็กเล็กเนี่ยไม่มีใครอยากเป็นนะ แรกเกิดถึง 3 ปีเนี่ยหาไม่มีเลยค่ะ จริง แม้มันคือครูทำงานเนี่ยครูรู้ตัวตลอดเวลา ฉันต้องติดคุกได้นะ เพราะว่า 1 ขาชั้นก้าวไปในคุกแล้ว ฉันเลี้ยงลูกเขาเนี่ย ถ้าลูกเขาเป็นอะไรขึ้นมาเนี่ย ครูติดคุกอย่างเดียวเลย เพราะครูต้องรับผิดชอบทั้งหมด
ฉะนั้นครูต้องปลอดภัยมั่นคง แล้วก็ต้องดูแลอย่างดีมากที่สุดใช่ไหม ไม่มีใครกล้าอยากจะมาทำตรงนี้หรอกใช่ไหม ฉะนั้นครูก็อยากคิดว่าอยากให้มีแบบที่มันเป็นตอบโจทย์กับสังคมมากกว่านี้ค่ะ วัยรุ่นไทยจะได้มีที่เรียนที่มันตอบโจทย์เขามาก เขาอยากจะทำงานที่เขาได้ทำเนี่ยกับการที่เรียนจบมาเนี่ย จะต้องไม่ต้องไปเรียนใหม่ ปวส.
มีลูกศิษย์คนนึงเขาบอกว่าเขาสอบไฟฟ้าได้ แต่เขาจบปริญญาตรี เขาใช้วุฒิ ม.3 ไปสอบ มันไม่ตอบโจทย์ใช่ไหม แต่ ม.3 เขาได้งานทำไฟฟ้า แล้วเขาก็เขยิบขึ้น พอตอนหลังที่ทำงานรู้ว่าเขาจบปริญญาตรีสอบเทียบเอา ดูดิ มันต่างกันมากเลย บางคนต้องไปเรียนต่อ ปวส. เพื่อให้ได้ทำงานประปา ไฟฟ้าอะไรแบบนี้ ครูก็เลยมองว่า เฮ้ย มันไม่ตอบโจทย์เลยนะ จบปริญิญญาตรีมามันไม่มีประโยชน์เลย จบปริญญาตรีกฎหมายมา แต่ทำงานไฟฟ้าไม่ได้ ต้องใช้วุฒิ ม.3 ประมาณนี้
ครูก็เลยมีความรู้สึกว่าตรงนี้ครูทำเนี่ยครูได้ เขาบอกว่า อุ้ย ครูได้อะไร เงินก็ไม่ได้อะไรอย่างนี้ แต่ครูรู้สึกว่าครูได้ความเป็นมนุษย์ ครูได้ความภาคภูมิใจนะในการที่ครูทำตรงนี้ และอย่างน้อยถ้าครูตายไปก็ยังมีคนยังคิดว่า เออ เนี่ยนะครูส้มยังอยู่ตรงนี้ คือเดินไปตรงไหนก็มีคนรู้ เออ บ้านครูนะอย่างที่น้องบอกเมื่อเช้าเนี่ย วินมอเตอร์ไซค์มาส่ง เออ เนี่ยตรงนี้มันเป็นบ้านครู เขารู้ได้ยังไงเพราะวินมอเตอร์ไซค์ก็จะเอาลูกมาฝากไว้ที่เนี่ย
เพราะไม่งั้นเขาก็จะไปขับรถไม่ได้จะไปขี่รถอะไรไม่ได้อย่างนี้ ครูเลยมีความรู้สึกว่า เออ ดีนะถ้าเราทำอะไรให้คนอื่นแล้วเรารู้สึกดีแล้วนั่นแหละคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วแหละ เงินน่ะมันไม่ใช่สิ่งสำคัญเนาะ เขาบอกว่าเลี้ยงเด็กคนนึงต้องใช้เงิน แต่จริง ๆ แล้วครูคิดว่าเลี้ยงเด็กคนนึงมันต้องใช้ใจมากกว่า
The People: อะไรที่ยังทำให้ครูส้มยังทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ ทั้ง ๆ ที่ครูบอกว่าเหมือนขาก้าวไปอยู่ในคุกก้าวนึง
คณิตา: เด็ก ๆ ไง เด็ก ๆ คือศูนย์กลางของจักรวาล คุณครูคิดว่าเด็ก ๆ คือสิ่งที่ทำให้- เพราะมองไปคนนี้ก็ทำให้หัวเราะ คนนี้ก็ เออ มีเรื่องให้มาแบบ โอ้ย เด็กคนนี้มันก็น่ารัก น่ารักในแบบของแต่ละคนน่ะ ไม่เหมือนกัน เด็กนะไม่ใช่ตุ๊กตา เขาก็จะดื้อเขาจะอะไรเป็นเรื่องปกตินะ แต่คุณครูมองว่า เออ เนี่ยยายดูคนนี้ดิ ดูยิ้มนอนอะไรอย่างนี้ ไม่ร้องเลยเนาะอะไรอย่างนี้ดูดิ หน้ากลมแป้นแล้นอะไรอย่างนี้ แล้วเขาก็มีวิธีที่จะเล่นมาถึง ยายคิดถึงจังเลย มาหอมแก้มยายนะ อย่างเด็กที่เขาเข้าอนุบาลแล้ว เขามานาน ๆ มาทีนึงค่ะ มาถึง อุ๊ย คิดถึงยาย หอมซ้าย หอมขวา จับหน้ามาหันมามอง มันคือความสุขไง
อย่างเนี่ยครูคิดว่าครูจะเลี้ยงเด็กถ้าครูไม่ได้ทำก็คือครูแค่คิด แต่นี่ครูทำ แล้วพอทำปุ๊บมันมาไกลถึงขนาดนี้ อุ้ย พอครูไปดูเด็กที่เขาไปโรงเรียน อย่างที่เดือนที่ผ่านมาเนี่ย เดือนมิถุนายนค่ะ คุณแม่เอาลูกมากราบครูที่นี่ ไปเข้าโรงเรียนแล้วบอกมะปรางคิดถึงคุณครู คุณแม่พามาบอกว่าเนี่ยเขาเคยอยู่ตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เขายังจำได้ว่าครูเลี้ยงเขาอย่างนี้ ครูรู้สึกว่าภูมิใจมากเลย แบบดีใจมาก วันนั้นคือร้องไห้เลย แบบมีความรู้สึก
เออ คุณแม่เขายังคิดได้นะว่าเขาเคยเอาลูกมาไว้กับเรา แล้วเขาเอาพวงมาลัยมากราบครูทั้งแม่ทั้งลูกอะไรอย่างนี้ ครูมีความรู้สึกว่า เออ ฉันคือคน ๆ นึงที่สร้างคนที่จะโตขึ้นมาในอนาคตอะไรประมาณนี้ค่ะ ก็รู้สึกดีอะไรอย่างนี้ แบบมันเป็นความภูมิใจที่ครูไม่รู้สึกว่าครูจะบอกอะไรใครได้ ถึงแม้ว่าใบประกาศจะได้มา 10 ใบ ครูก็เทียบไม่ได้กับการที่ครูรู้สึกว่าครูภูมิใจในอาชีพของครูที่ครูทำอยู่ทุกวันนี้ค่ะ
The People: สิ่งที่เป็นแรงผลักดันในชีวิตทุกวันนี้ของครูส้มคืออะไร
คณิตา: ก็คือครูมีความรู้สึกว่าพอตื่นมาแล้วเห็นเด็กมายืนรออยู่หน้าบ้านเนี่ย มันคือแบบ อุ๊ย ฉันยังมีเด็กอยู่นะ ฉันยังต้องทำงานนะ ฉันต้องตื่นมาเพื่อที่จะเจอกับเด็ก ๆ เจอคุณยาย คุณยายมาเปิดประตูหลักมา เข้ามาแล้ว จะต้องทำความสะอาด ยังมีคุณยายอยู่ ยังมีครูอยู่ ยังมีเด็ก ๆ อยู่ ครูรู้สึกว่า เออ มันก็ไม่ได้แย่ไง ก็คือแบบทุกวันเรามีหน้าที่ เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด
ความรู้สึกในทุกวันนี้คือความรู้สึกที่ว่าครูได้ทำในสิ่งที่ครูอยากทำมากที่สุดอะไรอย่างนี้ แล้วก็คือมันไม่ใช่แค่ครูคนเดียวนะ แต่มันคือทั้งครอบครัว ถ้าสามีครูไม่มาเช่าบ้านหลังนี้ให้ ไม่เสียเงินมาเช่าให้ ครูก็จะไม่มีที่ดูแลเด็ก แล้วตอนที่ครูจะทำเนี่ย ครูก็ตกลงกับครอบครัวแล้วนะว่าครูจะทำตรงนี้ แล้วแฟนครู สิ่งที่สำคัญคือครูมีครอบครัวอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เขากลับมาตอนเที่ยงเนี่ย เขาจะมาเล่นกับเด็กมีความสุขว่า เออ เขาได้แหย่เด็กคนนี้ ได้เล่นกับคนนั้น มากินข้าวที่นี่ทุกวันนะ ไม่เคยไปไหนเลย แล้วก็เขาจะห่วงเด็กเวลาครูไม่อยู่ คุณยายไปกินข้าวหรือยังอะไรอย่างนี้ เขาจะมาคอยดู
มันเหมือนเป็นอะไรที่เป็นธุรกิจของครอบครัวเรา ที่มันไม่ได้ทำให้เราได้เงินนะ แต่มันทำให้เราได้ความภาคภูมิใจในการเป็นมนุษย์ในการที่เราจะอยู่ในสังคม แล้วก็ช่วยเหลือคนอื่นได้ ตรงนี้คือจุดศูนย์กลางที่จะสามารถ ใครมาบ้านครูส้ม ครูส้มอันนี้นะไม่มี อันนั้นไม่มี ก็สามารถที่จะมาบอกตรงนี้ ครูส้มมีเด็กจะมาฝากอะไรอย่างนี้ ใครบอกมา ๆ คนนั้นบอกมา เพื่อนข้างบ้านบอกมา คนนี้บอกมา แล้วมันไม่ใช่บ้านครูบ้านเดียว คือครูก็ไปดูแลบ้านรับเลี้ยงหลังอื่น ๆ ที่เขาอยากให้เขามีอาชีพแบบครู ให้ได้รับการพัฒนาแบบครูอย่างนี้ ครูรู้สึกว่า เออ ฉันเป็นตัวแทนของใครอีกหลาย ๆ คนที่จะสามารถผลักดันให้โลกเรามีเด็กที่มีคุณภาพมากขึ้นประมาณนี้ค่ะ
The People: คิดว่าบ้านครูส้มจะช่วยเปลี่ยนแปลงหรือสร้างแรงกระเพื่อมยังไงให้กับสังคมชุมชนแห่งนี้ได้บ้าง
คณิตา: อาจจะเป็นเพราะว่าครูเป็นคนแรกมั้งที่เลี้ยงเด็กแรกเกิดถึง 3 ปีเนาะ ไม่ค่อยมีคนดู ในเขตวังทองหลางเนี่ยเอาตรง ๆ คือมีครูนี่แหละที่รับภาระตรงนี้ ยังไม่มีคนเลี้ยงเลยที่แบบนั่น พอมาปุ๊บเขาก็จะบอกมาบ้านครูส้ม ไกลขนาดไหนก็มาบ้านครูส้ม อยู่แฟลตคลองจั่นก็มาบ้านครูส้ม เพราะว่าบ้านครูส้มเลี้ยงเด็กเล็กอะไรอย่างนี้ มีความรู้สึกว่า เออ มันก็เป็นแรงที่ทำให้คนอื่นค่อยขยับ ๆ เข้ามาหาครูว่าตรงนี้เป็นจุดดึงดูดว่าเขาเห็นความสำคัญของลูกที่เขาจะต้องได้รับการเรียนรู้เนาะ การพัฒนา การสั่งสอนที่ดีไปในทางที่ดี
แล้วก็ตัวเขาเองได้ทำงาน อันนี้คือสำคัญค่ะ เพราะว่าประเทศไทยเราอย่างผู้หญิงน่ะลางานได้ 3 เดือน ก่อนคลอด 1 เดือน หลังคลอด 2 เดือนอะไรแบบนี้ แล้วเขาจะเอาลูกไปไว้ที่ไหน เขาไม่มีรายได้พอที่จะต้องมาทำงานคนเดียว และอีกคนนึงอยู่บ้านดูแลลูก ซึ่งมันเป็นชนชั้นกลางกับชนรากหญ้า ฉะนั้นมันคือการที่เหมือนช่วยเหลือกันน่ะ
ครูไม่ได้คิดว่าตรงนี้คือธุรกิจนะ แต่ครูคิดว่าตรงนี้คือสิ่งที่ช่วย อย่างน้อย คุณยายก็มีงานทำนะใช่ไหม คุณครูก็ได้ดูแลเด็กที่คุณครูอยากจะดูแล และก็อยากจะปรับเปลี่ยนเขา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เด็กแต่ละคนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องให้การร่วมมือด้วยกัน ฉะนั้นสิ่งที่เราจะพัฒนาเด็กได้ ก็คือการที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับพ่อแม่ใช่ไหมคะ ถ้าเขาเอาลูกมาไว้ใจ ไว้ใจครูแล้ว เขาเอาลูกมาฝากครูนี่คือสิ่งที่ครูคิดว่านั่นแหละคือความสำเร็จของครูแล้ว แล้วเขาเห็นความสำคัญของลูกเขา
พอตอนเย็นกลับไป เขาก็จะมีแบบเล่านิทานให้ลูกฟัง หรือไม่ว่าเล่นกับลูก แม้แต่วันละ 5 นาที กอดลูกอย่างนี้ เหมือนที่คุณครูทำเนี่ย เขาจะรู้สึกว่าครอบครัวเขาดีมาก ไม่ค่อยมีแบบเรื่องราวที่มันทะเลาะกัน เพราะว่าที่นี่บอกคุณครูหนูจะทำงานใหม่ หนูจะหางานได้ที่ไหน คุณครูก็มีการบอกด้วยนะว่าเดี๋ยวนี้ตรงนี้มีสมัครงานตรงนั้นมี มีแบบนี้ค่ะ
ก็คือเราเหมือนช่วยเหลือเกื้อกูลกันน่ะ ในสังคมอาจจะไม่ค่อยมี แต่ตรงนี้มี แล้วครูไม่ได้ เนี่ยอย่างบ้านรับเลี้ยงเด็กมันเลี้ยงติดกันน่ะ ถ้าเป็นที่สถานรับเลี้ยงเด็กอื่น ๆ หรือว่าเป็นเอกชนที่มันราคาแพง เขาต้องคิดเรื่องของฉันดีของฉันเด่นใช่ไหม แล้วมันก็จะมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง แต่ครูไม่มี ครูเลี้ยงเด็กคนนี้ไม่ได้ เพราะว่าเขากลับดึกเกินไป ส่งเลย ส่งน้อง น้องเอาไปเลี้ยงนะ น้องเลี้ยงถึงสองทุ่ม ครูเลี้ยงถึง 5 โมงครึ่ง
มันก็คือตอบโจทย์แล้ว ลูกค้ามันก็ไม่ได้ ลูกค้ามันก็ไม่ใช่คนเดียวกันใช่ไหม ทำไมต้องมาทะเลาะกันเรื่อง ครูเคยเห็นเยอะมากเลยเนาะ ทะเลาะกันเรื่อง เออ โรงเรียนนี้ดีกว่าโรงเรียนนั้น โรงเรียนนั้นดีกว่าโรงเรียน มันดีกว่าตรงไหน มันไม่เห็นจะต่างกันเลย มันก็คือโรงเรียนไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนไหนใช่ไหม มันอยู่ที่บุคลากรในการสอนมากกว่า
ครูเป็นคนจังหวัดนครราชสีมา คุณครูมาเช่าที่นี่อยู่ค่ะ ที่นี่เป็นที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ค่ะ อีก 2 ปีก็ต้องรื้อแล้ว คุณครูก็คิดว่าอาจจะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนสถานที่รับเลี้ยงเด็ก หรือว่าอาจจะไม่ได้ทำต่อ เดี๋ยวดูก่อนว่าจะไปในทิศทางไหน เพราะว่าคุณครูก็อายุมากแล้ว ตอนนี้ก็ 50 ปีแล้ว อาจจะต้องโยนภาระนี้ให้ศูนย์เด็กแรกเกิดถึง 3 ปีหรือว่ายังไง แต่ครูอยากให้มี อยากให้มีศูนย์เด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เพื่อรองรับในชุมชนในละแวกนี้ทั้งหมดเลยในเขตนี้ครูอยากให้มีนะ อยากจะให้ทุกคนเห็นความสำคัญมากประมาณนี้ค่ะ
The People: ตอนที่เข้ามาที่ชุมชนแห่งนี้แรก ๆ ครูส้มมองเห็นปัญหาเด็กที่แบบไม่ได้รับการดูแลจากศูนย์ดูแลเด็กเล็กหรือว่ายังไง ทำไมถึงต้องเป็นที่นี่
คณิตา: ตอนแรกสุดเลย เด็กที่มีเงินเท่านั้นแหละจะได้ไปเข้าเนอสเซอรี่ใช่ไหมคะ เพราะมันค่าใช้จ่ายสูง บางคนบอกว่ามีน้องคนนึง คุณแม่บอกว่าไปเลี้ยง ไปเลี้ยงที่อื่นมา เขาบอกว่าเขาเสียเงิน 4,000 เพื่อนเขาแนะนำมาที่นี่เสีย 1,500 อีก 2,000 เนี่ย อีก 2,000 กว่าเนี่ย เกือบ 2,000 เนี่ย เขาสามารถที่จะเอาเงินตรงนี้ไปซื้อนม ซื้อขนม ซื้อข้าว เดินทาง ค่ารถเดินทางเขา มีเงินเหลือพอที่จะดูแลลูกคนนึงได้ ครูคิดว่าถ้ามีศูนย์เด็กเล็กแบบนี้ แล้วต้องราคาที่เขาพอประมาณที่สามารถที่จะจ่ายไหว แล้วเขาจะได้อยู่อย่างมีความสุข ปัญหาความยากจนมันก็จะลดลงนะ ครูมองแบบนี้ด้วยนะ
The People: เท่าที่สังเกตครูส้มจะไม่ใช้วิธีการตีเด็ก คิดยังไงกับการที่ลงโทษเด็กโดยการตี
คณิตา: ครูไม่ค่อยตีเด็ก เพราะว่าครูไม่ชอบโดนตี ตอนเด็ก ๆ ครูก็ไม่ค่อยโดนตีนะคะ ส่วนมากที่บ้านครูจะเลี้ยงด้วยเหตุผล และคุณครูก็จะยึดหลักว่าถ้าคุยกันรู้เรื่อง การสื่อสารเนี่ยสำคัญที่สุด คำพูดเพียงคำเดียวเนี่ยก็สามารถทำให้เด็กเขาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เขาบอกว่าก็คำพูดไม่ต้องจำเป็นต้องเป็นไม้เรียว คำพูดที่บาดใจมันก็จะฝังยังในอยู่ในอารมณ์ หรือว่าความรู้สึกของเราเนาะ ฉะนั้นเรารู้สึกไม่ดียังไง เราก็จะไม่ทำสิ่งที่เราเคยรู้สึกมาแบบนั้น หรือว่าเคยโดนมาแบบนั้นจากคนอื่นมาทำใส่เด็กของเราอย่างนี้ค่ะ
The People: เคยเหนื่อยกับการทำหน้าที่ดูแลเด็กตรงนี้ไหม
คณิตา: เหนื่อยค่ะ ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยมาก เพราะว่าแต่ละวันกว่าจะหมดมันตั้งแต่ 7 โมง 7 โมงถึง 5 โมงครึ่งเนี่ย เวลาพักเราแทบจะไม่มีเลยนะ คุณยายจะไปทานข้าวประมาณครึ่งชั่วโมงเอง คุณครูก็จะทานข้าวในนี้ แล้วต้องดูแลเด็กกันทั้งวัน แต่ว่ามันคือความเหนื่อยที่มันได้ผลน่ะ มันได้กลับคืนมาเยอะ อย่างเห็นเด็กคนหนึ่ง อ้าว วันนี้นะเดินได้แล้วเหรอ กำลังหัดคลาน ลุกขึ้นเดิน เกาะเดิน
หรือว่า อุ๊ย เนี่ยกินข้าวได้แล้ว กินข้าวเม็ดได้แล้ว เนี่ยคลานไปหาคุณยายได้แล้ว เรามีพัฒนาการไปในแต่ละวัน หรือว่ามีคำศัพท์เยอะขึ้น อุ๊ย คนนี้เก็บของได้เองเก่งแล้ว สามารถไปเข้าห้องน้ำฉี่ได้ เนี่ยมันคือความสุขในแต่ละวัน แล้วมันก็ ถึงมันจะเหนื่อย แต่มันก็คือความสุข พอยายบอกว่ายายเขาก็จะเหนื่อยน้อยลงเนาะ ยายเขาจะบอกว่าเนี่ยห็นมั้ยครูคนนี้นอนได้เองแล้วไม่ต้องใส่แพมเพิร์สแล้วอย่างนี้ เหมือนเราฝึกเขาได้ มันก็คือความสุขด้วย ถึงจะเหนื่อย แต่มันก็คือความสุขของเรา
The People: ครูส้มมองภาพเด็กของที่นี่ไว้ยังไง เด็กจบจากที่นี่จะต้องมีอนาคตยังไงต่อไป
คณิตา: ครูคิดว่าเขาจะนั่น จะมีอนาคตที่เขาอยากจะมี อยาก เขาอาจจะไปเรียนโรงเรียนอะไรก็ได้ที่ต่อจากครูเนาะ แต่สิ่งเดียวที่เขาจะทำได้คือเขาสามารถที่จะปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์ แล้วก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่นแน่นอน สามารถมีความรู้สึกว่าเขาจะมีวิชาติดตัวของเขาไปในระดับหนึ่งเนาะ แม้แต่ว่าเขาอาจจะเขียนหนังสือไม่ได้ อาจจะ ประมาณว่าเหมือนกับว่าเขาขีดเขียน หัดขีดหัดเขียนอะไรอย่างนี้ยังไม่ได้ แต่เขาก็จะมีทักษะทางสมองของเขาที่ดีในระดับหนึ่ง แล้วก็มีการเรียนรู้และการพัฒนาไปตามวัยของเขาได้ดี มีโภชนาการที่เหมาะสม คุณครูคิดว่าแบบนี้นะ นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลเด็ก
ส่วนหน้าที่ของครูคือการดูแลเด็กที่ให้ดีที่สุด ดีที่สุดในที่นี้ก็คือดูแลให้ดีทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ ง่าย ๆ เลย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือดูแลใจของเด็ก เขาจะเป็นใครมาจากไหนก็ช่าง เด็กคนนี้จะน่ารักหรือจะไม่น่ารักก็ช่าง แต่เราดูแลใจเขาให้เขาเป็นคนที่ดีได้ โดยการที่เราดูแลเขาดี ๆ จริงนะ เขาจะน่ารักก็ต่อเมื่อ เด็กแต่ละคนมันน่ารักไม่เหมือนกันเนาะ
บางคนบอกว่าครูเด็กคนนี้ไม่น่ารักเลยอะไรอย่างนี้ แต่ครูกลับคิดว่าเขามีความน่ารักในตัวของตัวเองในแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเลี้ยงให้เขาดีได้ ก็ต่อเมื่อเราต้องดูแลเขาอย่างดีใช่ไหม กินอิ่มนอนหลับมันไม่ใช่แค่นั้น แต่มันคือการที่ต้องเลี้ยงใจ ดูแลกันด้วยใจ แล้วก็ดูแลกันด้วยความรู้สึก แล้วก็การกอด การที่มีของเล่น มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย แล้วก็เลี้ยงกันด้วยการมีระเบียบวินัย การที่มีมารยาทในสังคมนี่แหละสำคัญที่สุดเลย
The People: ถ้าเกิดครูส้มไม่ได้ทำบ้านตรงนี้ แล้วครูส้มคิดว่าตัวเองจะวางตำแหน่งของตัวเองไว้ตรงไหน
คณิตา: ครูคิดว่าครูจะส่งต่อให้กับที่เป็นศูนย์ของดูแลเด็ก เพราะว่าถ้าทำตรงนี้ ค่าใช้จ่ายมันมี คนที่ไม่ใช่ครูเขาอาจจะท้อก็ได้นะ เขาอาจจะท้อ แล้วเขาไม่อยากทำเนาะ อาจจะมีเงินไม่พอ หาเงินไม่เก่งอะไรแบบนี้ใช่ไหม แต่ครูคิดว่าถ้ามันเป็นของ ทำให้มันเป็นของส่วนกลาง เป็นของศูนย์รวมของทุกคนน่ะ เหมือนศาลาประชาคมที่ถ้าอยู่คือต่างจังหวัดเขาก็จะมี อบต. ใช่ไหม เออ นั่นแหละ ครูอยากให้มันเป็นแบบนั้น
แล้วก็ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของตัวเล็ก ๆ เนี่ย ซึ่งต่อไปเนี่ยเขาคืออนาคตของชาติ ครูไม่รู้หรอกวันนึงก็อาจจะเป็นรัฐมนตรีนู่นนี่นั่นอะไรก็ได้ หรือว่าเขาอาจจะเป็นคุณหมอ หรือว่าอาจจะเป็นคุณครูอะไรอย่างนี้ เขาจะมีอนาคตที่ดีขึ้น ครูไม่รู้หรอก แต่ว่าครูคิดว่ามันมีความสำคัญสำหรับประเทศไทยเรานะ เพราะประเทศไทยเราอะไรก็ดีหมด แต่เรื่องการศึกษาเด็ก แล้วก็การดูแลเด็กเนี่ย ครูมองว่ามันยังไม่โอเคเท่าไหร่
The People: ถ้าสามารถออกแบบหลักสูตรได้ด้วยตัวเอง หลักสูตรของครูส้มจะมีหน้าตายังไง
คณิตา: หลักสูตรของครูเหรอ ก็คงจะใช้เด็กเป็นศูนย์กลางค่ะ เป็นศูนย์กลาง แล้วก็สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเด็กเลยนะ ครอบครัว บ้าน แล้วก็ชุมชน สังคม เนี่ยที่ต้องเรียนรู้ แล้วก็ใจที่ครูบอก แล้วก็คือพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ การฝึกระเบียบวินัย การรอคอย การมีวินัยแบบยืดหยุ่นได้ไม่ย่อหย่อนนะ แต่ยืดหยุ่นได้ สามารถให้เขามีการสื่อสารกับบุคคลอื่นที่ดี แล้วก็ไม่ใช้ความรุนแรง แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือการที่เห็นอกเห็นใจคนอื่น อันนี้สำคัญค่ะ
นอกจากเสียว่า และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เขาเป็นคนซื่อสัตย์ เพราะว่าต่อไปในอนาคตเนี่ย เขาอาจจะต้องไปทำงาน ตรงนี้เป็นหลักสำคัญมากที่สุดเลย แล้วที่สำคัญที่สุดคือการออมนะ เด็กที่นี่จะใช้เงินไม่ค่อยเป็น ครูเน้นเรื่องการออม เพราะว่าครูรู้สึกว่าเด็กจริง ๆ เกิดมาไม่ต้องใช้เงินหรอกนะ แต่คนที่ใช้เงินคือพ่อแม่เด็กเนาะใช่ไหมคะ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดให้ความรักให้ความเอาใจใส่เขา มีเวลา เวลาทุกคนเนี่ยเท่ากันหมดเลย 24 ชั่วโมง ทำไมครูยังเอาเวลามาสละตรงนี้ได้เลย ฉะนั้นพ่อแม่ก็ควรจะมีเวลา 5 นาที 10 นาทีให้ลูกของตัวเอง
เขาก็จะเป็นคนที่มีคุณภาพขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกใครมาจากไหนก็ช่าง สิ่งสำคัญที่สุดมันคือเวลา มันไม่ใช่วัตถุนะ มันคือสิ่งของ ไม่ใช่ มันคือจิตใจ มันคือความต้องการ ทำไมเด็กเขาชอบมานั่งตัก ทำไมเด็กต้องให้กอดใช่ไหมคะ อันนี้มันคือเขารู้สึกดีใช่ไหม เขารู้สึกดีเขาจะรู้สึกว่าเขาปลอดภัยอะไรอย่างนี้ เขาก็จะชอบแบบนี้แหละ
เด็กที่นี่จะไม่กลัวคน เพราะว่าเขารู้สึกแล้วว่าเขามองแล้วว่าคนนี้ปลอดภัยอะไรประมาณนี้ ถ้าเขามองแล้วบอกคุณครูคนนี้ไม่น่ารัก เขาก็จะบอกไปเลยว่าไม่น่ารักนะ เด็กเขารู้นะคะ เขาเรียนรู้ได้จากการสัมผัส การโอบกอด หรือว่าการที่จะเลี้ยงดู ดูแลเขาอย่างนี้ เขาจะรู้เลยว่าคุณยายรักเขาอย่างนี้ แม่เขาก็จะรู้ แล้วสื่อรู้แล้วว่า เออ เนี่ยแสดงว่าไว้ใจได้แล้วนะ
เราเอาลูกมาฝากไว้ที่นี่แล้วไม่ผิดหวังว่าคุณยายรักเด็กนะอะไรอย่างนี้ เขาก็จะไว้ใจ มันก็เกิดการไว้เนื้อเชื่อใจ มันก็จะไม่มีข่าวใช่ไหม ที่ว่าทำร้ายเด็กหรือว่าอะไรอย่างนี้ มันก็จะอยู่ในสังคมด้วยกัน เกื้อกูล มันไม่ใช่การเกื้อกูล มันคืออาชีพด้วยเนาะ มันเป็นอาชีพที่ให้การเกื้อกูล แล้วมันส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับผู้ปกครอง ผู้ปกครองก็สามารถไปทำงานได้ พอเขาทำงานได้ เขามีความสุข เขาไม่เครียด เขาก็มีครอบครัวที่มีความสุขใช่ไหม เพราะว่าเด็กไม่ใช่ภาระ ลูกของเขาคือของขวัญของเขา ฉะนั้นเขาต้องอยากดูแลลูกเขาให้ดีที่สุด มันก็จะไม่เกิดการเสียใจร้องไห้เสียน้ำตาว่า เออ เป็นอะไร เกิดอะไรขึ้นมา ครูมองตรงนี้นะ มองไปไกล ๆ มันอาจจะไม่เหมือนคนอื่น
The People: นอกจากบ้านครูส้มจะสร้างอาชีพให้ครูส้มเองแล้ว สถานที่แห่งนี้สร้างอาชีพให้กับใครบ้าง
คณิตา: หนึ่งก็คือคนในชุมชนนี่แหละใช่ไหม ที่เขาอยากเลี้ยงเด็ก ครูก็แนะนำเขา แล้วก็พาไปเรียน พาไปเรียนด้วยนะ พาไปเรียนจนรับใบประกาศสามารถมาเปิดบ้านเองได้ แล้วครูก็ดูแลเขาอะไรอย่างนี้ แล้วเด็กก็จะได้รับการดูแลเนาะมาจากหลายที่หลายอาชีพ คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ไปทำงาน ตอบโจทย์ตรงนี้ แล้วก็เขาก็จะได้มีเงินที่จะมาใช้ในครอบครัว ไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เกิดการความรุนแรง มันตามมาหลาย ๆ อย่างนะ ครูมองประมาณนี้ค่ะ
The People: รู้สึกยังไงบ้างถ้าเราจะไม่ได้เป็นคุณครู จะไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลเด็กต่อไปแล้ว
คณิตา: ก็รู้สึกเสียใจเหมือนกันนะ ครูยังคิดเลยว่า เออ คุณยายเราอาจจะต้องหยุดทำหน้าที่เรา เพราะว่าถ้าตรงนี้ไม่มีแล้ว รื้อไปแล้ว ก็คงอาจจะยังไม่ได้ที่ใหม่ หรือว่าอะไรอย่างนี้ หรือครูสู้ราคาไม่ไหว เพราะมันอาจจะแพงมากอะไรอย่างนี้ ครูอาจจะต้องเลิก ครูก็รู้สึกเสียใจนะคะ อาจจะต้อง เอ๊ะ แล้วเด็กเราจะไปอยู่ที่ไหน ก็แอบนอนคิดเหมือนกันว่า เอ๊ะ แล้วเด็กเราจะไปอยู่กับใครอะไรอย่างนี้ แล้วผู้ปกครองต้องทำยังไง
อาจจะเป็นเรื่องที่อาจจะไกล เขาบอกว่าปีนึง แต่คุณครูกับคิดว่ามันใกล้นะ มันสั้นนะ ระยะเวลามันไม่ได้นาน ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าอาจจะเสียใจมากเหมือนกันว่าจะต้องทำยังไงต่อไปกับเด็กที่มา เพราะเด็ก 100 คนก็ 100 พ่อแม่ มาจากต่างที่ นี่แต่ละคนมาแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน แต่ละที่มาไม่เหมือนกัน มีเด็ก ทั้งประเทศเดียวกัน หรือว่าต่างประเทศมา หรือว่าเป็นเด็กในชุมชนอื่น ๆ หลายชุมชนมาที่เนี่ย มันไม่ใช่แค่ชุมชนเดียวเนาะ ครูก็เลยมีความรู้สึกว่าน่าเสียดาย ถ้าคุณน่ะไม่เห็นความสำคัญของเด็กเหมือนที่ครูเห็น
The People: คิดว่าอะไรที่ทำให้ผู้ปกครองไว้วางใจกับบ้านครูส้ม
คณิตา: อาจจะเป็นการเรียนการสอนที่คุณครูใส่ใจเด็กมั้งเหมือนบ้าน บ้านนี้เหมือนบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก ครูจะพูดเสมอว่าตรงนี้คือบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก มันคือพื้นที่ปลอดภัย ฉะนั้นถ้าคำว่าพื้นที่ปลอดภัย แสดงว่าผู้ปกครองต้องไว้ใจได้ แล้วเขาก็ยินดีแล้วก็เต็มใจที่จะเอาลูกมาฝากที่เนี่ย เพราะเขาคิดว่าคุณครูคงจะเป็นคนที่แบบไว้ใจได้ เป็นเพื่อนพี่อะไรอย่างนี้
ผู้ปกครองบางคนเนี่ยเคารพคุณครูมากเลย ครูมีความรู้สึกว่าไปเจอที่ตลาดกี่ปีแล้ว 10 กว่าปีแล้วลูกคนโตเป็นสาวแล้ว น้องใบเตยอยู่ ม.4 แล้วนะคุณครูอะไรอย่างนี้ เรียนเก่งมากเลย ชอบวาดรูป ชอบอะไรอย่างนี้ แบบในความเก่งของเขาไม่เท่ากันใช่ไหม แต่เขารู้สึกภูมิใจ เขาบอกเนี่ยถ้าหนูไม่ได้ครูเลี้ยงตอนเด็ก ๆ นะ หนูจะไม่มีลูกจนถึงวันนี้
แล้วคุณครูรู้สึกว่า เออ นั่นแหละสิ่งที่ครูภูมิใจมากที่สุด เขายกมือไหว้ครูทุกครั้งเลย ไปที่ไหนก็ช่างตลาดไหนทั้งหน้าราม หรือว่าไปเจอกันที่ต่างจังหวัด บังเอิญไปเจอ แล้วไปเจอผู้ปกครอง ไม่รู้นะจำไม่ได้ว่าเลี้ยงลูกเขาตั้งแต่ปีไหน แต่เขายังยกมือไหว้ครู เพราะเขาจำได้ว่าครูเลี้ยงลูกเขา นี่แหละคือความภูมิใจมาก
ไม่ว่าจะเป็น คนเป็นครูคือแบบเห็นว่า เออ เขาให้ความเคารพเราเนี่ย แสดงว่าเคารพจากใจจริง ไม่ใช่แค่ว่ายกมือไหว้ครูเฉย ๆ ไม่ใช่ไหว้แค่ครูนะ ไหว้คุณยายด้วย เนี่ยน้องที่เขาเป็นอะไรนะ ดาวน์ซินโดรมเนาะคุณยายเนาะ เขาเดินมา แล้วเขาก็จำได้ว่าคุณยายเลี้ยงเขา เขาก็ยกมือไหว้ ครูรู้สึกว่าเนี่ยแหละคือความภูมิใจของคนเป็นครู อะไรที่สำคัญที่สุดไม่สำคัญเท่ากับการให้เกียรติกันน่ะ ครูมองแบบนั้นนะ
ครูยังเชื่อว่าแสดงว่าครูก็มีอิทธิพลต่อครอบครัวของเขามาจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่ว่าจะเจอที่ไหนเขากวักมือเรียกญาติเขามาสวัสดีครู เนี่ย ๆ ครูเลี้ยงใบเตยมาตั้งแต่ 5 เดือนอะไรอย่างนี้ เลี้ยงน้องเปรมมาตั้งแต่ได้ขวบกว่า เลี้ยงพี่แล้วก็เลี้ยงน้องด้วยนะอะไรอย่างนี้ ทุกคนในครอบครัวเขารู้ว่านี่คือครูของหลานเขา ของลูกเขา ทั้ง ๆ ที่เขาก็ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้วนะ แต่เขาก็ยังมีความผูกพัน
แสดงว่าเขาต้องรักครูค่อนข้างประมาณนึงเนาะ ครูก็เลยมีความรู้สึกว่า เออ ดีใจ เมื่อวานนี้ไปตลาดก็ไปเจอผู้ปกครองเขายกมือไหว้ เขาเป็นคนพม่า แล้วเขาก็แบบลูกเขา ตอนนี้ลูกเขาอยู่ ป.3 ป.4 แล้วอะไรอย่างนี้ แต่เขาก็ยังกลับมาไหว้ครูอยู่เลยนะ เจอทุกครั้งก็ยังยกมือไหว้อยู่
ก็แสดงว่า เออ ครูเนี่ย คือเขานับถือครูจริง ๆ ครูมีความรู้สึกว่าครูใจฟูเลยนะ ความรู้สึกว่า เออ ฉันก็คือแบบ มีความรู้สึกว่าเราเป็นที่รักของเขาอะไรอย่างนี้ค่ะ ครูก็เลยมีความรู้สึกว่าดีมากเวลาครูรู้สึก เพราะว่าครูเอง ครูไม่ได้สอนแต่เด็กนะ แล้วครูก็เป็นครูใหญ่โรงเรียนผู้สูงอายุด้วย
พอไปที่ตลาดหรือว่าอะไรอย่างนี้ คนสูงอายุ แก่เท่าคุณยายแล้วเนี่ย เขาจำได้ค่ะ คือครูของเขา เขายังบอกลูกเขาให้มาไหว้ครูเลย อันนี้ยิ่งภูมิใจมากเลยนะ มันคือความภูมิใจที่แบบเขาไม่ได้คิดว่ามันอายุมากหรือน้อย แต่เขาคิดว่านี่คือครู นี่แหละคือคำว่าครู ที่ครูรู้สึกในทุก ๆ วันน่ะ ครูเข้าใจประมาณนี้ ไม่รู้ครูเข้าใจถูกหรือเปล่า
The People: ที่บอกว่าเป็นครูใหญ่โรงเรียนผู้สูงอายุนี่คือยังไง
คณิตา: ครูเป็นครูจิตอาสาค่ะ แล้วคุณครูก็มีเขาทำโรงเรียนผู้สูงอายุกันใน 11 ชุมชนบนพื้นที่ทรัพย์สินน่ะค่ะ แล้วเขาให้ครูไปเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนนี้ แล้วทีนี้ครูก็เป็นครูใหญ่ด้วย แล้วก็สอนด้วย ครูก็จะสอนแต่วิชาที่ครูถนัดคือวิชาเกี่ยวกับพวกงานฝีมือ ครูสอนเพ้นท์ผ้าค่ะที่เป็นถุงผ้าเด็กเล็ก ๆ แล้วให้เขาวาดอะไรก็ได้ลงไป แล้วเขาชอบมากเลยนะผู้สูงอายุ
มันเหมือนกับได้ผ่อนคลาย แล้วเขาก็ใช้ถุงผ้าที่คุณครูสอนน่ะ ถือมาโรงเรียน ใส่ข้าวมาอะไรอย่างนี้ เราจะเจอกันเดือนนึงอาจจะครั้งหนึ่ง 2 ครั้งอะไรอย่างนี้แล้วแต่ว่า เราจะมีการจัดการเรียนการสอนแล้วทุกคนจะมารวมกันเพิ่งจะสอนไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เจอครูนี่เข้ามากอดเลยนะ เขารักครู เขาก็บอกลูกหลานเขาว่านี่คือครูของฉัน แบบแม่ค้าที่ตลาดเขามอง เออ คนนี้อายุไม่เยอะนะ แต่ว่าเป็นครูของคุณยายอายุ 80 คุณยายอายุ 90 อย่างนี้
ครูมีความรู้สึกว่า เออ นอกจากฉันเลี้ยงเด็กแล้ว ฉันยังทำประโยชน์ให้กับผู้สูงอายุด้วย เราเกิดมาทั้งทีเนาะ ก็ต้องเอาดีให้ได้ จะตายทั้งทีก็ต้องฝากดีเอาไว้ เขาว่าอย่างนี้ ครูก็คิดว่าครูทำครบหมดแล้วนะ ตอนนี้ก็เหลือแค่ว่าเขาจะไปได้ดีขนาดไหน อย่างผู้สูงอายุครูเนี่ยเขาก็เก่ง เขาสามารถที่จะไปพูดสถานที่อื่นได้นะ แล้วก็สามารถที่จะไปรำไปร้องไปเต้น แบบกล้าแสดงออก
แล้วครูมีความรู้สึกว่าเนี่ยแหละคือคำว่าครู ไม่จำเป็นว่าฉันจะต้องไปเข้าในระบบการศึกษาว่าจะต้องมีโล่มีบั้งมีขั้น ครูไม่มี ครูอย่างนี้ แล้วครูจะใส่เสื้อผ้าแบบนี้เดินไปตลาดก็เดินแบบนี้ แต่พอเดินออกไป ครูไปไหน คุณครูอันนี้ไหม อันนั้นไหม เนี่ยแหละคือความภูมิใจของครู ครูได้ช่วยคนนู้นบ้างคนนี้บ้าง ได้ทำงานตรงนี้บ้าง ครูรู้สึกว่านั่นแหละสิ่งที่ครูภาคภูมิใจที่สุดแล้วค่ะ
The People: ความแตกต่างคือแบบระหว่างดูแลเด็กเล็กกับดูแลผู้สูงอายุต่างกันยังไงบ้าง
คณิตา: ความแตกต่างก็คือเหมือนกับว่าเด็กเล็กเนี่ยเขาจะเชื่อฟังเนอะ คนสูงอายุเนี่ยเขาจะมีความคิดเป็นของตัวเองนะ เขาชอบใครเขาก็จะชอบ แต่เขาก็จะมีความรั้นว่าเขาอาบน้ำร้อนมาก่อนอันนี้ใช่ไหม เราก็ต้องฟังเหตุผลน่ะ แล้วก็ค่อย ๆ เอามาปรับในตัวเราเอง ครูก็ไม่ได้เป็นครูที่ดีที่สุด แต่ครูบอกว่าถ้ามีอะไรก็ให้มาปรึกษาครู คนนี้คุณครูฉันอยากได้คนไปหาหมอด้วย คุณครูจะทำยังไงดี เขาก็ปรึกษา
แล้วก็สามารถหาไปให้ได้ ไม่ต้องไปเสียเงินจ้างเนาะ เออ อย่างนี้เนาะ คุณยายอยากเรียนอะไร คุณยายอยากเรียนทำอาหาร เดี๋ยวคุณครูจะหาคนมาสอนให้นะอะไรอย่างนี้ ก็คือเหมือนเป็นที่ปรึกษาเขา เพราะว่าถ้าผู้สูงอายุอยู่บ้านเฉย ๆ เขาก็จะติดเตียง แต่การที่เขาออกมาข้างนอกคือเขาติดเพื่อนติดสังคม สมองเขาก็จะไม่อัลไซเมอร์ เขาได้มานั่งระบายสี เนี่ยฉันไม่เคยระบายเลยนะครู เนี่ยฉันระบายใบแรกอะไรอย่างนี้
ไอ้คนสอนก็รู้สึกดีนะว่า เออ เขาทำ แล้วออกมามันไม่สวย แต่มันคือความภูมิใจ กระเป๋ามีใบเดียวในโลก คือกระเป๋าที่คุณยายทำ เราก็เลยบอกเขาแบบนี้ มันก็คือมันก็ต่างกัน มันต้องใช้เทคนิคในการสื่อสาร แล้วก็ปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้ว่าอันนี้ แล้วคุณครูก็อย่างวันแม่เนี่ยคุณครูก็จะให้นักเรียนผู้สูงอายุมาร่วมกิจกรรมกับเด็ก ๆ คนไหนที่ไม่มีแม่หรือว่าอะไรก็จะมากราบคุณยาย
คุณยายเขาจะมาร้องเพลงเล่านิทานให้ฟังได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มันไม่ใช่แค่ว่าเราดูแลเด็กแล้วเราดูแลผู้สูงอายุไม่ได้ มันต้องอยู่ด้วยกันเนาะในสังคม มันจะเป็นวัฏจักรของชีวิต ฉะนั้นในช่วงนี้มันอยู่ในช่วงสังคมสูงวัย ฉะนั้นเราก็ต้องทำยังไงให้ทุกคนน่ะมีคุณค่า ในเมื่อเราอยากให้เขามีคุณค่า เราก็ต้องสร้างคุณค่าให้เขาไง นี่แหละคือการที่ครูจะต้องไปทำงานทั้งเด็กแล้วก็ทั้งผู้สูงอายุใน 2 วัยด้วยค่ะ