ครูรัก(ษ์)ถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเสมอภาค

ครูรัก(ษ์)ถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเสมอภาค

ครูมิ้น - พรรณวษา ใสกระจ่าง ครูรัก(ษ์)ถิ่น การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ด้วยการส่งต่อโอกาส สร้างความเสมอภาคให้เด็ก และโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

เคยได้ยินวลี ‘ควรให้เบ็ดแทนการให้ปลา’ กันบ้างหรือเปล่า?

เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้ยินวลีประมาณนี้กันเป็นประจำ เมื่อพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว 

แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่อาจจะยั่งยืนกว่าการให้อุปกรณ์จับปลาเพียงอย่างเดียว คือการสอนวิธีจับปลา หรือให้วิธีการทำเบ็ดเพื่อเอาไปใช้หาปลาได้ด้วยตัวเอง

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่าอย่างไรถึงจะสร้างคนเพื่อไปถ่ายทอดวิธีการจับปลาให้ได้เพียงพอกับความต้องการ
ครูรัก(ษ์)ถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเสมอภาค

ติดอาวุธทางการศึกษา
ถ้าเราเปรียบเทียบอย่างง่ายว่าปลา คือเงินทองที่ใช้สำหรับซื้อหาสิ่งของจำเป็นในชีวิต การศึกษาก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เรามีความรู้ในการหาเงิน

สำหรับนักเรียนในโรงเรียนทั่วไปอาจมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไม่ยาก แต่ไม่ใช่กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีอยู่ราว 2,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งต่างมีข้อจำกัดมากกว่าโรงเรียนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นการที่โรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่สูง หรืออยู่ตามแนวชายขอบของประเทศ มีบางแห่งที่ตั้งอยู่บนเกาะแก่งกลางน้ำเดินทางลำบาก ไปจนถึงบางส่วนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 

ทำให้ปัญหาหลักของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้คือ การขาดแคลนครูผู้สอนจากการที่ครูขอย้ายบ่อย เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แล้วเมื่อย้ายไปแล้วก็ไม่ง่ายที่จะหาครูมาทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ทำให้จำนวนครูเกิดไม่พอกับนักเรียน 

จำนวนครูที่ไม่สัมพันธ์กับนักเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษา และปฐมวัย ทำให้ส่งผลระยะยาวกับเด็กนักเรียน เพราะในช่วงวัยนี้เป็นเวลาสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาการของเด็ก ๆ 

เป็นที่มาของการพัฒนาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้เข้าถึงการศึกษาแล้วได้พัฒนาศักยภาพ เพื่อกลับมาเป็นครูรุ่นใหม่ที่จะช่วยพัฒนาโรงเรียนในชุมชนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น
ครูรัก(ษ์)ถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเสมอภาค

สร้างครู สร้างโอกาส 

“ช่วงที่เรียนอยู่ ม.6 คุณครูมาบอกว่ามีโครงการนี้ เราเลยลองไปสมัครแล้วสุดท้ายก็ผ่านการคัดเลือกจนได้เป็นหนึ่งในครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้ไปเรียนต่อด้านการศึกษาปฐมวัย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี”

ครูมิ้น - พรรณวษา ใสกระจ่าง ครูรัก(ษ์)ถิ่น จากตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เล่าให้เราฟังถึงที่มาของการเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งตอนนี้เธอกำลังฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านท่ามะเดื่อ จังหวัดกาญจนบุรี ไม่ไกลจากโรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทยอุทิศที่เธอเรียนจบมา

โรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทยอุทิศในช่วงที่ครูมิ้นเรียนอยู่นั้นก็ไม่ต่างจากโรงเรียนขยายโอกาสหลายแห่งที่ต่างก็ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนครู เพราะคุณครูที่ประจำในโรงเรียนมีการย้ายออกอยู่บ่อยครั้ง บางช่วงมีครูย้ายออกพร้อมกันถึง 7 คน ทำให้ครูบางคนจำเป็นต้องเวียนไปสอนทุกชั้นปี 

“โรงเรียนของเราอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ห่างจากตัวจังหวัดร้อยกว่ากิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางนานหลายชั่วโมง ครูบางส่วนที่ไม่ใช่คนในพื้นที่เวลาที่อยู่จนครบเกณฑ์ก็เลยขอย้ายไปอยู่ที่อื่น”

ครูมิ้นเล่าย้อนไปในช่วงที่ยังเป็นนักเรียนว่าปัญหาการขาดแคลนครูยิ่งทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกลถูกถ่างห่างออกไปเรื่อย ๆ 

ครูรัก(ษ์)ถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเสมอภาค
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นการเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ ให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ที่มีใจรักในวิชาชีพครู ด้วยการสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษา จนเรียนจบสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพ แล้วกลับมาเป็นครูรุ่นใหม่ที่มาพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในชุมชนที่เป็นภูมิลำเนาของตนเองต่อไป 

เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุในหลายเรื่องไปพร้อมกันเพื่อลดวงจรความเหลื่อมล้ำที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ใช้การทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล จากการขับเคลื่อนของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

โดยโครงการนี้ตั้งเป้าที่จะผลิตครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลระดับตำบลประมาณ 2,000 แห่ง จากการสนับสนุนนักเรียนที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี และมีจิตวิญญาณความเป็นครู ให้ได้ได้รับทุนเรียนครูจนจบปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพปีละประมาณ 300 คน จำนวน 5 รุ่น ซึ่งคาดว่าอัตราครูจะเพียงพอต่อความต้องการภายในระยะเวลา 10 ปี

ผลการดำเนินโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีการศึกษา 2563 - 2565 สามารถสร้างครูรุ่นใหม่ได้มากกว่า 867 อัตรา ให้กับ 697 โรงเรียน ใน 53 จังหวัดทั่วประเทศไทย 

ครูรัก(ษ์)ถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเสมอภาค
ส่งต่อโอกาสลดวงจรความเหลื่อมล้ำ

“ถ้าไม่มีโครงการนี้ ก็อาจจะไม่ได้เรียนต่อ หรือไม่ก็ต้องไปกู้ กยศ. แล้วทำงานเสริมเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเรียน พอเราได้โอกาสจากโครงการนี้เลยอยากทำให้ดีที่สุด”

ครูมิ้นเองเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของครูที่ได้รับโอกาส แล้วกลับไปเพิ่มโอกาสให้นักเรียนในชุมชนบ้านเกิดตนเอง ซึ่งการได้เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นในครั้งนี้ เหมือนเป็นการปลูกเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังให้กับเด็กนักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือ ด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ให้มีความหวังในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

ครูมิ้นเล่าต่อไปอีกว่าเธอเลือกเรียนทางด้านเด็กปฐมวัย เพราะอยากเป็นครูอนุบาลซึ่งเป็นครูคนแรกของเด็ก ๆ ที่มีส่วนช่วยกำหนดพัฒนาการของพวกเขา ที่ผ่านมาครูปฐมวัยในโรงเรียนที่ห่างไกลมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้เด็กจำนวนมากไม่สามารถพัฒนาการได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเติบโต
เธอเลยพยายามที่จะเป็นครูที่เก่งในทุกด้าน เพื่อที่จะเป็นแม่พิมพ์ที่สมบูรณ์พร้อมให้เด็ก ๆ ได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีให้ได้ 

โดยเธอบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอเลือกที่มาเป็นครูมาจากการที่เธอได้รับแรงบันดาลใจจากคุณครูของเธอเอง 

“มิ้นอยากเป็นครูที่ดีเหมือนกับคุณครูของมิ้นที่เคยดูแลเราทุกเรื่อง พอเรามีตัวอย่างของคุณครูที่ดีเลยปลูกฝังให้เราอยากเป็นครูแบบนั้นบ้าง ในอนาคตถ้าเราได้ช่วยให้เด็กนักเรียนของเรามีโอกาสเติบโตไปเป็นครูเหมือนที่มิ้นเป็นในตอนนี้ มิ้นก็จะรู้สึกดีใจมากที่ได้ส่งต่อโอกาสนี้ให้กับคนอื่น ๆ ต่อไป”

ถ้าครูคือแม่พิมพ์ของชาติ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ช่วยสร้างโอกาสในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กนักเรียนจากโรงเรียนที่ห่างไกลได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แล้วกลับมาพัฒนาโรงเรียนในชุมชนบ้านเกิดของตัวเองนี้ก็คงไม่ต่างอะไรกับการสร้างแม่พิมพ์ของชาติที่ส่งต่อโอกาสและแรงบันดาลใจอันไม่มีที่สิ้นสุด ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม เพื่อให้เขารู้วิธีการจับปลาด้วยตัวเอง แล้วสามารถสอนการจับปลาให้คนอื่นต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ