แยนะ สะแลแม: สตรีผู้ลุกขึ้นมาต่อกรกับความอยุติธรรม ก่อนเสียงร่ำไห้ของคนตากใบจะหายไปจากชายแดนใต้

แยนะ สะแลแม: สตรีผู้ลุกขึ้นมาต่อกรกับความอยุติธรรม ก่อนเสียงร่ำไห้ของคนตากใบจะหายไปจากชายแดนใต้

'แยนะ สะแลแม' สตรีผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันพึงมีให้แก่ครอบครัวของเธอ และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ เธอต้องเปลี่ยนบทบาทจากแม่และเมียเป็น 'ผู้นำ' แม้จะต้องต่อสู้บนความเจ็บปวด แต่เธอไม่เคยยอมแพ้ และหวังว่าอีกหนึ่งปีนับจากนี้ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นกับทุกคน

“ชาวบ้านเขาไม่ใช่ว่าไม่อยากรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ แต่เขาแค่กลัว...”

‘แยนะ สะแลแม’ หรือที่ใครต่อใครมักเรียกเธอว่า ก๊ะนะ บอกถึงความกลัวที่แผ่ขยายไปทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ความกลัวที่ฝังรากลึกอยู่ในใจ ราวกับถูกตั้งโปรแกรมให้ชาวบ้านในพื้นที่ ‘กลัว’ คนใส่ชุดเครื่องแบบสีเขียวหม่น กลัวทุกครั้งที่พวกเขาเคาะประตูบ้าน กลัวจนร่างกายไม่สามารถขยับได้เมื่อต้องเดินสวนทางกัน

ใช่, พวกเขากลัวกันถึงขนาดนั้น

หลายคนจึงเลือกปิดปากเงียบ เมื่อต้องพูดคุยกับคนภายนอกอย่างเรา ไม่อย่างนั้น ชีวิตที่เคยสงบสุข อาจแปรเปลี่ยน แม้ทุกเรื่องที่พวกเขาพูดจะเป็นความจริงก็ตาม

แต่ไม่ใช่กับก๊ะนะ เธอคือสตรีแกร่ง ไม่มีคำว่ากลัว ไม่มีอาการสั่นเทา เมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ ในทางกลับกัน เธออยากจะทำให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า เธอและคนในพื้นที่ก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง มีความเป็นเจ้าของประเทศไม่ต่างจากคนภาคอื่น แต่ทำไมสามจังหวัดชายแดนใต้จึงมักถูกเลือกปฏิบัติ ทำราวกับคนในพื้นที่เป็นเพียงพลเมืองชั้นสอง

และเพื่อไม่ให้ความกลัวครอบงำคนในสามจังหวัดชายแดนใต้มากไปกว่านี้ The People ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงในการส่งต่อเรื่องราวแห่งความหวังของสตรี ผู้ขอสู้จนกว่าจะเห็น ‘หน้า’ ของผู้สั่งการสลายการชุมนุมที่ตากใบ เมื่อปี 2547 ก่อนที่เสียงร่ำไห้ของพวกเธอจะกลายเป็นเพียงเสียงกระซิบ และถูกลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย

Getty Images

โศกนาฏกรรมแห่งรัฐ

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หลังตำรวจควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน ซึ่งเป็นพลเมืองที่รัฐแต่งตั้งให้ดูแลความปลอดภัยของชาวบ้านในพื้นที่ด้วยตนเอง

ชนวนเหตุความวุ่นวายเริ่มก่อตัวขึ้น หลังจาก ชรบ. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าปืนที่อยู่ในความรับผิดชอบหายไป แต่ดูเหมือนว่าการแจ้งข่าวด้วยความหวังดี กลับเป็นการเปิดประตูสู่ความตาย เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เชื่อ ชรบ. พวกเขามองว่าทั้ง 6 คนอาจเป็นหนอนบ่อนไส้ หวังก่อความไม่สงบโดยมอบปืนให้กับฝ่ายตรงข้ามของรัฐ จึงทำการจับกุมทั้งหมดมาสอบสวนต่อที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ

เมื่อชาวบ้านในพื้นที่เห็นถึงความไม่เป็นธรรม พวกเขารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว จากหลักสิบ ขยับมาเป็นหลักร้อย และขยายใหญ่เป็นหลักพัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระหว่างเดือนรอมฎอน

เมื่อจำนวนผู้ต่อต้านมีมากกว่ากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารจึงเข้ามาสมทบ พวกเขาปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุมไปพร้อมกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 7 คน สูญหาย 7 คน

และมีการจับกุมผู้ชุมนุม 1,370 คน เพื่อส่งไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยมัดมือผู้ถูกควบคุมตัวและให้นอนทับกันหลายชั้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนย้าย 78 คน

น่าแปลกที่มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกกฎหมาย แม้แต่คนเดียว…

เป็นเวลา 19 ปีแล้วที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องทนทุกข์ พวกเขาและเธอไม่ได้รับคำตอบหรือปลอบโยนจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีเพียงเงินเยียวยาที่ไม่อาจทดแทนชีวิตที่สูญเสียไปได้

เหลืออีกเพียงหนึ่งปีเท่านั้น หนึ่งปีที่พวกเขายังคงเฝ้ารอคำตอบด้วยความหวัง

หวังว่าความยุติธรรมจะเกิดกับพวกเขาในสักวัน แม้คำพิพากษาของศาลในอดีตที่ผ่านมา บอกว่าผู้เสียชีวิต ‘ตายเพราะขาดอากาศหายใจ’ ก็ตาม

แยนะ สะแลแม: สตรีผู้ลุกขึ้นมาต่อกรกับความอยุติธรรม ก่อนเสียงร่ำไห้ของคนตากใบจะหายไปจากชายแดนใต้ ก๊ะนะ

เราเดินทางมาเยี่ยมก๊ะนะที่จังหวัดนราธิวาส พร้อมกับเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ ‘พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ’ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ทันทีที่ก๊ะนะเห็นพวกเรา รอยยิ้มก็ปรากฎขึ้นบนหน้า เป็นสัญญาณบอกชัดว่าเธอดีใจเพียงใดที่เห็นผู้มาเยือน

ก๊ะนะขยับตัวไม่ได้มากนัก เพราะเธอกำลังรักษาตัวจากอาการป่วยเส้นเลือดในสมองแตก ส่งผลให้แขนขาอ่อนแรง ร่างกายซีกขวายังต้องทำกายภาพบำบัด แต่สีหน้าและแววตาของเธอยังหนักแน่น จริงจัง เราสัมผัสได้ว่าเธอไม่เคยยอมแพ้ และจะไม่มีวันแพ้ จนกว่าผู้กระทำผิดจะได้รับบทลงโทษ

แยนะ สะแลแม: สตรีผู้ลุกขึ้นมาต่อกรกับความอยุติธรรม ก่อนเสียงร่ำไห้ของคนตากใบจะหายไปจากชายแดนใต้ “ไม่เคยกลัว” เธอตอบอย่างแผ่วเบา

“ถ้าเขากลัวอีกคนก็ทำอะไรไม่ได้ เขาคือกำลังใจของชาวบ้าน” ลูกสาวของก๊ะนะ ขยายความต่อจากคำตอบของผู้เป็นแม่ ซึ่งก่อนที่ก๊ะนะจะลุกขึ้นมาเป็นตัวแทนสตรี คอยดูแลให้กำลังใจ และเรียกร้องสิทธิอันพึงมีให้ชาวบ้านในพื้นที่นั้น เธอเป็นแค่แม่และเมียทำหน้าที่เย็บผ้าส่งโรงงานเท่านั้น

แต่ดูเหมือนว่าชีวิตของเธอจะถูกกำหนดให้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น หลังจากลูกชายของเธอเป็น 1 ใน 58 คน ถูกตั้งข้อหาเป็นแกนนำการชุมนุมและซุกซ่อนอาวุธ ส่วนสามีก็ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2550

เธอจึงต้องทำหน้าที่ขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกชายไม่ต่ำกว่า 2 ปี ระหว่างนั้นเอง ก๊ะนะเห็นว่ายังมีอีกหลายครอบครัวที่ไม่กล้าแม้แต่จะเรียกร้องความเป็นธรรม เธอจึงเริ่มเข้ามาทำหน้าที่ตัวกลาง คอยเชื่อมประสานระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ

และนั่นทำให้เธอได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่ายมาจนถึงทุกวันนี้

แยนะ สะแลแม: สตรีผู้ลุกขึ้นมาต่อกรกับความอยุติธรรม ก่อนเสียงร่ำไห้ของคนตากใบจะหายไปจากชายแดนใต้ “เวลามีเรื่องอะไรทุกคนก็มาเล่าให้ฟัง มาปรึกษาตลอด ก็เลยลุกขึ้นมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะเรารู้ว่ามันไม่มีทางออกแล้วจริง ๆ สุดท้ายเราก็ต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้แทนทุกคน

“แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ เราสื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจ แต่ถ้าเราไม่ละความพยายามเชื่อว่ามันจะหาทางแก้ไขได้อยู่แล้ว”

ก่อนเธอจะย้ำว่าหากมีความพยายาม สุดท้ายมันจะต้องทำเร็จ ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร ถึงเวลาจะผ่านมาแล้ว 19 ปีก็ตาม

“รัฐเข้าใจความต้องการของเรา แต่รัฐเองก็อยากให้ทำตามที่เขาต้องการ ซึ่งเราทำให้ไม่ได้จริง ๆ

“โดยเฉพาะการให้เราทำใจยอมรับความสูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนั้น รัฐต้องการทำให้เราทำใจยอมรับเรื่องการตายในวันนั้น ซึ่งเราทำใจไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่ยากที่จะทำใจยอมรับ เพราะว่าความตายมันไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ง่าย ความเป็นความตายเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้ยาก เป็นเรื่องของการเสียชีวิต มันทำใจไม่ได้ ยอมรับไม่ได้”

เธอยังบอกอีกว่าช่วงแรกที่ออกมาเป็นตัวแทนชาวบ้าน ยอมรับว่ามีคนมาข่มขู่อยู่เหมือนกัน แต่เพราะเธอเป็นผู้หญิงจึงเลี่ยงการถูกกระทำรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐได้มากโข “ถ้าเราเป็นผู้ชายเราคงโดนจับไปแล้ว”

แยนะ สะแลแม: สตรีผู้ลุกขึ้นมาต่อกรกับความอยุติธรรม ก่อนเสียงร่ำไห้ของคนตากใบจะหายไปจากชายแดนใต้ ความหวัง

“อยากให้กระบวนการเหล่านี้เดินหน้าต่อไป ได้รับการสานต่อดูแล เพราะเราก็ไม่สามารถที่จะไปอธิบายความรู้สึกของคนที่เสียสามีหรือว่าลูกชายไปได้ มันเป็นความรู้สึกที่ติดอยู่ในใจ ก็ยังหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม”

ก๊ะนะบอกถึงความหวังที่เลือนราง แต่เธอไม่เคยหมดหวัง การต่อสู้ของเธอทั้งทางกฎหมายและอาการป่วยที่เผชิญอยู่ ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าหญิงตรงหน้า เข้มแข็งเพียงใด เธอไม่ใช่แค่สูญเสียผู้นำครอบครัว แต่ยังถูกพรากอิสระที่จะใช้ชีวิตอย่างปกติสุขร่วมกับลูกชาย

ชีวิตที่เธอวาดฝันว่าจะเห็นสามจังหวัดชายแดนใต้เป็น ‘บ้าน’ ที่อบอุ่น ถูกรัฐฉีกทึ้งทำลายเป็นชิ้น ๆ ตั้งแต่ 19 ปีก่อน และเศษซากแห่งความเจ็บปวดยังคงไม่ได้รับการเยียวยา จิตใจที่แหลกสลายยังคงถูกเหยียบย่ำซ้ำ ๆ เธอจึงไม่อยากให้เรื่องราวเหล่านี้ กลายเป็นเพียงการลอยนวลพ้นผิด

“ดีใจที่เหตุการณ์ตากใบยังเป็นที่สนใจ แต่ไม่รู้ว่าปีหน้าจะมีชีวิตอยู่ต่ออีกนานแค่ไหน ปีนี้ก็ได้ฝากทุกคนไว้แล้วว่ามีอะไรอยากทำ หรือว่าอยากพูดก็ให้ทุกคนทำ ไม่อยากให้มันหายไป”

ก๊ะนะมีความฝันไหมว่าอยากจะเห็นสังคมนี้มีหน้าตาเป็นยังไง – เราถามคำถามสุดท้ายกับเธอ ก๊ะนะหัวเราะออกมาอย่างข่มขื่น เธอบอกว่าเธอไม่รู้ว่าสังคมที่หวังจะเป็นแบบไหน เพราะอยู่ในสังคมแบบนี้มานานแล้ว

“ในอดีตก็มีความไม่ยุติธรรมแบบนี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว เราก็เลยวาดฝันไม่ออกว่า สิ่งที่อยากให้เป็นมันเป็นแบบไหน ก็แต่ได้หวังว่าอยากเห็นสามจังหวัดกลับมาเป็นเหมือนเดิม”

คำตอบของเธอทำเอาเราสะเทือนใจไม่น้อย หลังจากบอกลาเธอ คำพูดของเธอยังวิ่งวนอยู่ในหัวไม่หยุด เรากลับมาใช้ชีวิตตามปกติ หอบหิ้วเรื่องราวของเธอเก็บเอาไว้ในใจ ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรม เพราะไม่ใช่แต่การจ่ายเงินเยียวยาแล้วจะจบ จิตใจของผู้สูญเสียก็สมควรได้รับการดูแลเช่นกัน

 

เรื่องและภาพ: วันวิสาข์ โปทอง