พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก

'พีรธร เสนีย์วงศ์' หรือ ‘ปู่ขยะ’ คือผู้ก่อตั้งร้านศูนย์บาท ธุรกิจจากกองขยะของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน แรกเริ่มต้องการแก้ปัญหาปากท้อง แต่สุดท้ายจากปากท้องก็ช่วยโลกและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันโดยไม่ทันตั้งตัว

การจัดการขยะถือเป็นปัญหาโลกแตกในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่ผ่านรัฐบาลมากี่สมัย เราก็วนไปมาไม่ต่างจากเดิม ที่เพิ่มเติมคือเทรนด์รักษ์โลกและการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มที่ไม่รอภาครัฐ รวมถึง ‘ร้านศูนย์บาท’ ธุรกิจจากกองขยะของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน ที่มุ่งแก้ปัญหาปากท้อง และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นผลพลอยได้

เช้าวันศุกร์ เราเดินทางสู่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เพื่อไปพบกับ 'พีรธร เสนีย์วงศ์' หรือ ‘ปู่ขยะ’ ที่เด็ก ๆ ในละแวกบ้านตั้งฉายาให้ ผู้ก่อตั้งร้านศูนย์บาท ชายเจ้าของชื่อที่หากอ่านกลับหลังจะกลายเป็น ‘ธรพี’ ชีวิตนี้เขาจึงทำตัวไม่ดีไม่ได้

และนี่คือเรื่องราวของเขา ปราชญ์ชาวบ้านผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงจากการลงมือทำ

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก

ที่พักพิงใต้สะพาน

แม้ปัจจุบัน ช่องว่างใต้สะพานในกรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่ปิดตาย ติดลูกกรงแน่นหนา แต่เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ตรงนั้นจริง หากนับรวมทั่วกรุงเทพฯ แล้ว มีถึงราว 3,000 ครอบครัว และ พีรธร เสนีย์วงศ์ คือหนึ่งในนั้น

ร่อนเร่หลายจังหวัดในภาคใต้โดยไม่มีบัตรประชาชน ไม่รู้ว่าเกิดที่ไหน ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ พีรธรและพี่ชายติดตามผู้เป็นมารดาจากตรัง สู่พัทลุง สู่ระนอง รับทำงานทุกอย่างตั้งแต่ทำเหมือง เลี้ยงวัว ออกเรือตังเกจับปลา จนถึงอายุ 20 ปี พีรธรเริ่มตั้งคำถาม

“ตกลงตัวฉันคือใคร”

แม่รู้มาตลอดว่าพ่อคือใครและอยู่ที่ไหน แต่ยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องบอก จนเมื่อลูกอยากรู้เรื่องราวของตัวเอง จึงพาไปพบกับพ่อซึ่งบุกเบิกไร่กาแฟอยู่ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร วินาทีแรกที่ได้พบเจอ พีรธรเห็นตัวเองอยู่บนใบหน้าของผู้เป็นพ่อ และยังได้รู้ว่าเขามีพี่สาวร่วมพ่อแม่อีก 5 คน

เมื่อได้รู้จักรากเหง้าของตัวเองแล้ว ขั้นต่อไปคือการมีตัวตนตามกฎหมาย หลังการขอร้องพ่อหลายต่อหลายครั้ง พ่อของพีรธรถึงยอมไปดำเนินการให้ลูก ๆ ทั้ง 7 คน ได้มีบัตรประชาชนเป็นเอกสารยืนยันสิทธิความเป็นประชากรไทยตามกฎหมาย และในวัย 21 ปี กับการมีสิทธิเทียบเท่าคนไทยคนอื่นเป็นครั้งแรก พีรธรกลับสู่การเรียนอีกครั้งในหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน และไปสมัครเป็นทหาร ย้ายถิ่นฐานจากภาคใต้มาแสวงหาโอกาสใหม่ในเมืองกรุง

แม้โอกาสในการทำงานที่กรุงเทพฯ จะมากกว่าต่างจังหวัด แต่ค่าครองชีพที่สูงกว่าก็ตามมาด้วย หลังปลดประจำการทหารแล้ว พีรธรได้เริ่มต้นชีวิตคู่กับ ‘อ้อม - บัวรินทร์ เสนีย์วงศ์’ และเริ่มงานใหม่เป็นยามรักษาความปลอดภัยในบริษัทรถยนต์ชื่อดัง แต่รายรับก็ยังไม่พอรายจ่าย คู่แต่งงานใหม่จึงลดรายจ่ายโดยการย้ายไปอยู่ใต้สะพานมักกะสัน ในย่านนานาเหนือ ตามคำชักชวนของคนรู้จัก

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก

“เชิงสะพานมันต่ำ ก็ขุดไปให้มันต่ำกว่าพื้น ให้มันอยู่ได้ นี่เข้าได้หลายทาง มาทางเรือก็ได้ ถึงอยู่ริมคลองแสนแสบแต่ข้างล่างนี่ไม่มียุงเลย มุ้งก็ไม่เคยกาง แต่กลางวันร้อนมาก หน้าฝนน้ำท่วมทีก็จะมีงู มีตัวเงินตัวทองมาเยอะมาก หนีน้ำมาหรือเปล่าก็ไม่รู้”

ลูกสาวคนแรกของพีรธรและอ้อมเกิดที่ใต้สะพาน ตั้งแต่เด็กหญิงเกิดมา ครอบครัวใหม่นี้ก็ไม่เคยอดกิน

“ตอนนั้นได้กินพิซซ่าถาดใหญ่ ๆ ทุกวัน ลูกสาวผมนั่งใต้สะพาน แถวนั้นฝรั่งเยอะ ฝรั่งเดินไปเดินมาก็เอาพิซซ่ามาให้กิน เขานึกว่าเป็นขอทาน”

ชีวิตใต้สะพานของพีรธรเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ผ่านไป 3 ปี การใช้พื้นที่ฟรีก็เริ่มเป็นปัญหา เมื่อรัฐบาลเริ่มไล่ที่คนใต้สะพาน ‘สุวิทย์ วัดหนู’ คนเดือนตุลาผู้ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อคนจนเมืองจึงเป็นแกนนำรวบรวมสมาชิกคนใต้สะพานในกรุงเทพฯ 8 สะพาน เดินขบวนไปรัฐสภาเพื่อเรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัย การเจรจายาวนานจนถึงปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลก็ยอมทุ่มเงิน 160 ล้านบาท ซื้อที่ดินแถบชานเมือง 3 มุมเมือง ในเขตราษฎร์บูรณะ เขตสายไหม และเขตอ่อนนุช และย้ายคนใต้สะพานกว่า 3,000 ครอบครัวออกไปอยู่ในผืนดินที่จัดสรรไว้ให้ โดยมอบสิทธิให้เช่าระยะยาว 30 ปี พื้นที่ใต้สะพานเดิมอยู่ใกล้ที่ดินจัดสรรส่วนไหนก็ย้ายไปตรงนั้น ส่วนพีรธรได้ย้ายมาอยู่ในที่ดินชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่

“ตอนนั้นโดนไล่ที่ พอจะได้มีบ้านอยู่ก็ดีใจ คิดว่าเป็นสุดยอดของชีวิต”

แต่นี่คือชีวิตจริง การมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งอย่างถูกกฎหมายไม่ใช่ตอนจบอย่างมีความสุขในนิยาย ชาวบ้านร้อยพ่อพันแม่หลากพื้นเพเมื่อถูกบังคับให้มาอยู่รวมกันได้ไม่นานก็เกิดปัญหาจนมองหน้ากันไม่ติด ทะเลาะเบาะแว้งใช้กำลังกันเป็นประจำ จนพีรธรนิยามชุมชนแห่งนี้ในยุคบุกเบิกว่าเป็น ‘พื้นที่สีแดง’

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก

แล้วขยะจะเยียวยาทุกสิ่ง

ชีวิตประจำวันช่วงแรกในชุมชนของพีรธรดำเนินไปโดยข้องแวะกับเพื่อนบ้านให้น้อยที่สุด แต่แล้ววันหนึ่ง หน่วยงานรัฐก็จัดโครงการพาคนในชุมชนไปดูงานด้านการจัดการขยะที่โรงงานวงษ์พาณิชย์ พิษณุโลก

“ตอนแรกผมก็ไม่ได้อยากไป แต่พอเขาบอกว่าจะให้ 2,000 บาท ก็รีบไปเลย”

พอได้ดูงานรับเงินกลับมา คนในชุมชนก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไป ทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างไรก็ยังคงเป็นอย่างนั้น วันหนึ่งพีรธรไปส่งภรรยาที่ตลาดพร้อมกับเอาขยะไปขายด้วย ระหว่างรอภรรยาซื้อของ เขาก็คิดนู่นคิดนี่ไปเรื่อย จนมาตกผลึกกับคำถามหนึ่ง

“คนที่มาตลาดนี่มันต้องมีอะไรเหมือนกัน คือมีเงิน แต่ถ้าวันหนึ่งไม่มีเงินจะทำอย่างไร ก็เอาขยะไปขาย แล้วก็ได้เงินมาซื้อของ”

คำถามนั้นนำไปสู่คำตอบของเงิน 2,000 บาท ที่พีรธรหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้เพิ่มจากหลายครอบครัวในชุมชนที่ได้รับโอกาสไปดูงานและได้รับเงินจากรัฐมาอีก 2 ราย รวมเป็นเงินทุน 6,000 บาท สำหรับซื้อผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ไข่ไก่ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ถีบรถซาเล้งกันไปที่ชุมชนโรงปูน ไหว้วานประธานชุมชนออกเสียงตามสายประกาศบอกชาวบ้านให้นำขยะมาแลกของ ชั่งกิโลได้เท่าไร ก็แลกสินค้ามูลค่าตามนั้น

“พอทำแล้ว เฮ้ยทำได้ วันแรกได้กำไรมาตั้ง 600 - 700 บาท

“ทำไปสักพัก เด็ก ๆ ปิดเทอม ก็ให้เด็กมาเป็นหุ้นส่วน เด็ก ๆ ก็แย่งกันไปเลยเพราะมันจะเป็นรายได้”

สักพักหนึ่ง พีรธรที่คิดว่าหากวันไหนไม่ได้ออกไปแลกขยะ ก็ตั้งสินค้าไว้เฉย ๆ ได้ จึงมาต่อยอดเป็น ‘ร้านศูนย์บาท’ ร้านต้นแบบที่ริเริ่มในปี พ.ศ. 2546 ยุคที่สังคมไร้เงินสดยังไม่มีใครรู้จัก เพื่อตอบสนองต่อปัญหาปากท้องของคนรากหญ้า และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทางอ้อม 

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก

ช่วงเริ่มต้น ร้านศูนย์บาท ดำเนินการภายใต้คำดูถูกของชาวบ้านและหน่วยงานรัฐ แต่พอกิจการดำเนินไปได้ดีจนทำให้ร้านขายของชำอื่นในละแวกใกล้เคียงต้องทยอยปิดตัวลง พีรธรก็โดนด่า และพอชาวบ้านเอาขยะมาแลกเหล้าจนไปเมาทะเลาะกัน พีรธรก็โดนด่าอีก

“เขาก็มาพาลว่าร้านไอ้ธรน่ะ คนไปซื้อเหล้าซื้อเบียร์ ตอนนี้ก็เลยไม่ขายแล้ว เลิกแล้ว”

แต่การเกิดขึ้นของร้านศูนย์บาท ที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งของคนในชุมชน ที่จริงแล้วกลับเกี่ยวข้องกัน ผ่านเทคนิคผูกสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘ไหว้’

“จุดที่ทำให้เขามาคุยกันก็คือขยะนี่แหละ ผมไปเจอลูกใครก็ยกมือไหว้มันสักหน่อย เดี๋ยวพรุ่งนี้มันก็ยกมือไหว้ผมแล้ว ก็ชวนเขาเอาขยะมาแลก พ่อแม่ไม่มีตังค์ เด็ก ๆ ก็หาขยะมา ไป ๆ มา ๆ มันก็ยกมือไหว้ผมทั้งชุมชน แล้วกลายเป็นจากที่ขัดแย้งก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทีละนิด พยายามใช้เด็กให้มีประโยชน์ ตอนหลัง ๆ พ่อแม่ก็ดีขึ้นด้วย”

ร้านศูนย์บาทดำเนินกิจการในรูปแบบสหกรณ์ ได้กำไรก้อนแรกจากส่วนต่างของราคาทุนและราคาขายของสินค้า และกำไรอีกต่อจากส่วนต่างของมูลค่าการรับซื้อและขายขยะ ซึ่งนับเป็นรายได้หลักที่สูงกว่าการจำหน่ายสินค้าอยู่มาก เนื่องจากเป็นการรวบรวมขยะที่แยกประเภทแล้วในปริมาณมากจนส่งขายให้กับโรงงานแปรรูปขยะได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง และค้าขายกับโรงงานที่รับซื้อขยะเฉพาะทาง เช่น โรงงานนี้รับแปรรูปเฉพาะพลาสติก อีกโรงงานรับแค่โลหะ ขยะที่ขายได้จึงทำราคาดีและมีกำไรมาก

ช่วงแรก ร้านศูนย์บาท มีสมาชิกเพียง 3 คน แต่ปัจจุบันผ่านมา 22 ปี สมาชิกร้านศูนย์บาท เพิ่มมากขึ้นเป็นกว่าร้อยคน โดยทุกคนต้องเป็นคนจากชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ และยังคงสร้างกำไรอย่างต่อเนื่องทุกปี

“มันกำไร 2 เด้ง ยังไงก็ไม่มีขาดทุน”

ฝั่งตรงข้ามร้านศูนย์บาทคือสวนผักออร์แกนิก แหล่งปลูกผักสวนครัวให้เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนในชุมชนนำขยะมาแลก และแหล่งรองรับขยะสดให้กลับคืนสู่ดิน เหล่าผู้หญิงจะได้ฝึกอาชีพแปรรูปขยะเป็นน้ำยาล้างจาน น้ำหมักชีวภาพ เครื่องประดับ เชือกรัดของ หรืออะไรก็ตามที่สามารถเพิ่มมูลค่าของขยะขึ้นมาได้

“หน้าฝนทีตรงนี้เขียวชอุ่ม แมวก็มี นกก็มี นกกระยางบางทียังมากินปลาที่นี่ กระรอกเต็มไปหมด”

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก

ร้านศูนย์บาทส่วนภูมิภาค

โมเดลการทำร้านศูนย์บาท อาจปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม วัฒนธรรม และข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน หรือมีสินค้าแบบเดียวกับร้านต้นแบบ 

“โครงการหนึ่งที่มีความสุขมาก หลวงพ่อที่จังหวัดเลยอยากทำร้านศูนย์บาท แต่ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา หลวงพ่อบอกไม่รู้จะทำอย่างไร

“ก็บอกไปว่า หลวงพ่อเจอชาวเขาวันไหน ก็วันพระ ชาวบ้านมาฟังพระ ถ้างั้นหลวงพ่อก็ทำร้านศูนย์บาทเฉพาะวันพระ ให้เขาเอาขยะมาด้วยทุกวันพระ มาที่วัดก็ขนขยะมาเลย หลวงพ่อก็เอาชั่งกิโลเสร็จ แล้วก็มีสังฆทานที่ญาติโยมถวาย ยาสีฟันพวกนี้ เอามาวนแบบนี้ หลวงพ่อก็ทำนะ แล้วชาวเขาก็มาฟังพระ ทำสักพักหนึ่ง พอเป็นเรื่องของปุถุชน มัคนายกก็เลยเอาไปทำเป็นร้านขึ้นมา ปกติมีคนมารับขยะที่วัดอยู่แล้ว แต่ที่บนเขารถไปไม่ถึง มีแบบนี้ชาวเขาก็ไม่ต้องเผาขยะ”

การที่ชาวบ้านได้ของใช้โดยไม่ต้องใช้เงิน ไม่เพียงผลักดันให้พวกเขาอยากจัดการขยะอย่างถูกวิธีในทางอ้อม แต่ยังสร้างแรงจูงใจเพื่อวัตถุประสงค์อื่นอย่างการรวมพล ครั้งหนึ่งที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์มาดูงานร้านศูนย์บาทแล้วประทับใจอยากไปทำตาม แต่การเรียกชาวบ้านที่ทำงานหาเช้ากินค่ำมารวมกลุ่มกันเพื่อกิจส่วนรวมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าเรื่องที่จะประกาศนั้นจะสำคัญเพียงใด

“เรียกมาก็โดนเขาด่า บอกว่าวัน ๆ ต้องทำงาน จะเรียกมาทำไม”

คำแนะนำของพีรธรคือ ถ้านายกฯ อยากรวมชาวบ้านไปประชุมที่ไหน ก็ให้เอาผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟันไปตั้งโต๊ะ แล้วบอกชาวบ้านเอาขยะมาด้วย พอนายกฯ ทำตาม จากชาวบ้านที่เคยไม่ให้ความร่วมมือ กลับเรียกร้องให้จัดประชุมบ่อย ๆ จะได้ทั้งเอาขยะออกจากบ้าน และได้ของมาใช้โดยไม่เสียเงิน

“เมื่อก่อนชาวบ้านมานั่งฟังแล้วก็ไม่ได้อะไรกลับ เสียเวลาด้วย สุดท้ายมันต้องเอาอะไรมาจูงใจ แต่ว่าสุดท้ายต้องได้ประโยชน์กลับไปที่ส่วนรวม ตอนนี้ชาวบ้านก็เรียกนายกฯ คนนั้นว่า นายกฯ ขยะ

“การจัดการมันไม่ได้อยู่ในมิติเดียว มันทำได้หมดแหละ อยู่ที่ว่าเราจะเริ่มอย่างไร”

ตั้งแต่ร้านศูนย์บาทเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อราว 15 ปีก่อน จากการได้ออกรายการโทรทัศน์ และก็เริ่มมีกลุ่มคนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง และบางหน่วยงานได้นำโมเดลธุรกิจกลับไปทำจริง แต่ปัจจุบันร้านศูนย์บาทมีร้านเครือข่ายกระจายทั่วประเทศอยู่เพียง 7 แห่ง รวมร้านในจังหวัดเลยและกาฬสินธุ์ข้างต้น โดยในกรุงเทพฯ ร้านแห่งนี้ที่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ยังคงเป็นแห่งแรกและแห่งเดียว ที่ผ่านบททดสอบความสำเร็จมาแล้วหลายปี แต่ยังไม่มีชุมชนไหนเริ่มทำตาม

“ทำร้านศูนย์บาท มีสื่อออกไปเยอะมาก คนมาดูงานเต็มไปหมด แต่ว่าผมจะภูมิใจมากถ้ามาดูงานแล้วไม่ใช่แค่ชื่นชม แต่ลงมือทำด้วย”

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก ซาเล้ง…ปริญญาไม่มีแต่มีศักดิ์ศรีนะครับ

ชีวิตไร้สัญชาติในวัยเด็กของพีรธร ทำให้เขาได้รับการศึกษาเพียงแค่ระดับอ่านออกเขียนได้ พอได้บัตรประชาชนมาครองและกลับไปเรียน กศน. ชั่วคราวจนวุฒิการศึกษาขยับมาอยู่ที่ระดับประถม 4 ซึ่งยังห่างไกลจากปริญญาตรีอยู่มากโข ไม่ต่างจากกลุ่มซาเล้งในเครือข่ายของร้านศูนย์บาทที่หากมีโอกาสอยู่ในระบบการศึกษาจนได้ปริญญา เข้าถึงโอกาสในงานที่มอบรายได้และสุขลักษณะในชีวิตที่มากกว่าการเก็บขยะขาย พวกเขาคงยินดีรับมัน

อย่างไรก็ตาม การเอาตัวรอดในโลกความจริงที่ไม่สวยหรู คือการอยู่กับสิ่งที่มีมากกว่าสิ่งที่ฝัน แม้การศึกษาไม่สูง แต่ศักดิ์ศรีที่มีทำให้คนกลุ่มนี้เลี้ยงชีพชอบจากกองขยะ ซึ่งแม้จะเป็นงานสุจริตที่ไม่ได้ไปปล้นใครกิน แถมยังมีส่วนอย่างมากในการสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาด และลดต้นทุนภาษีที่ภาครัฐปันส่วนมาจัดการขยะ แต่คำตัดสินแบบเหมารวมในเชิงลบ พร้อมสายตาที่ดูถูกดูแคลน ก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมมอบให้ซาเล้ง

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก

พอร้านศูนย์บาทเริ่มเป็นที่รู้จัก หลายหน่วยงานเชิญชวนพีรธรไปร่วมอบรมเรื่องขยะ พร้อมมอบเสื้อซาเล้งประดับสารพัดโลโก้ ซึ่งเขาก็ไม่อยากได้เพราะไม่เห็นประโยชน์

“ผมขอว่าที่อยากได้คือทำอย่างไรก็ได้ให้เสื้อมีชีวิต ติดเบอร์โทรฯ ของที่นี่ข้างหลัง ซาเล้งคนไหนเกิดอะไรขึ้น โดนรถชนก็โทรฯ มาบอกเราได้ ต้องการแค่นี้เอง”

จากเสื้อกลุ่มซาเล้งที่ไม่ได้มีไว้แค่ทำโก้ พีรธรคิดต่อไปถึงการทำให้สัมมาอาชีพเก็บขยะนี้ให้เป็นงานที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และได้รับการยอมรับในสังคม เขาและเพื่อนร่วมอาชีพรวม 3 คน จึงไปขอจดทะเบียนบัตรซาเล้งที่สำนักงานเขตประเวศ ซึ่งตอนแรกก็ได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลคลาสสิกอย่าง ‘ซาเล้งมันขี้ขโมย’

“แล้วอาชีพอื่นไม่มีขโมยหรือไง สุดท้ายแล้วผมไม่ไปแล้วแค่ 3 คน ไป 20 - 30 คน ไปปิดเขตเลย เสื้อเขียวนี้พรึ่บเลย แล้วก็เลยได้บัตรซาเล้งที่เป็นทางการหลังจากที่ไปปิดเขตประท้วงมาประมาณเดือนหนึ่ง เราไม่ได้หัวรุนแรง แต่ในความคิดของผมคือข้าราชการกับชุมชนมันต้องเดินไปด้วยกันให้ได้

“บัตรนี้ใช้เลือกตั้งได้ด้วยนะ เป็นเอกสารราชการ มีเลขบัตรประชาชนด้วย”

หลังการผลักดันกลุ่มซาเล้งให้มีตัวตนและเป็นอาชีพที่หน่วยงานราชการรองรับ การตอบรับของสังคมก็เปลี่ยนไป หมู่บ้านต่าง ๆ จากที่เคยไม่ต้อนรับก็เปิดทางให้พวกเขาเข้าไปเก็บขยะ ใครจะย้ายบ้านก็โทรฯ มาตาม ใครจะก่อสร้างก็เรียกไปเป็นแรงงาน เพิ่มช่องทางหารายได้ให้กลุ่มซาเล้ง

“เราทุกคนก็โอเค เรามีเกียรติมีศักดิ์ศรี หนำซ้ำคนอื่นก็เชื่อถือเรา แต่ถ้าไม่มีอะไรเลย จะไปพูดกับใครก็ลำบาก”

ซาเล้งในเครือข่ายไม่เพียงสวมเสื้อเขียวและหาขยะอย่างมีเกียรติ แต่ทุกหนึ่งบาทต่อวันจากการขายขยะจะถูกหักเข้ากองทุนเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของพวกเขา เจ็บป่วยก็มีประกันชีวิตดูแล รถเสียก็มีค่าซ่อม หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันก็จะมีการช่วยเหลือในพิธีศพอย่างสมศักดิ์ศรี

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก

กินใช้ไร้เงิน สร้างพันธมิตร กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

“ตอนนั้นไปดูงานกับอาจารย์จากธรรมศาสตร์ท่านหนึ่ง ไปกินข้าวที่ฟู้ดคอร์ท เทอร์มินัล 21 ไปถึงอาจารย์ก็ให้เงินมา 100 บาท ผมก็เดินไปสั่งกระเพาะปลา พอเอาเงินให้เขา แล้วเขาไม่รับเงิน เขาบอกให้ไปแลกคูปองมา คูปองเอาไปใช้ในร้านไหนก็ได้ในฟู้ดคอร์ท”

“ก็คิดได้ว่าเอากลับมาทำที่บ้านได้นี่นา ทำไงให้ร้านค้ารับคูปองจากการชั่งขยะ”

พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก พีรธร เสนีย์วงศ์: อดีตคนไร้บ้าน ผู้ริเริ่ม ‘ร้านค้าศูนย์บาท’ ใช้ขยะแทนเงินช่วยชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก จากปัญหาการใช้เงินสดของชาวบ้าน ที่มักมาพร้อมกับพฤติกรรมการเอาของไปก่อน จดหนี้ไว้ แล้วมีเงินค่อยมาจ่าย แต่สุดท้ายก็ไม่มีเงินมาจ่ายสักที กลายเป็นจุดบอดที่คูปองจากการขายขยะเข้ามาแก้ปัญหา ร้านค้าในชุมชนที่เดิมไม่ตอบรับกับแนวคิดคูปองขยะ ก็ค่อย ๆ เปิดใจมาร่วมทดลองไปด้วยกัน

“เพราะขยะมันหาได้ง่ายกว่าเงิน”

จากเดือนตุลาคม ปี 2566 ในเวลาเพียง 4 เดือน ร้านค้าชุมชนในเครือข่าย ‘กินใช้ไร้เงิน’ ก็เพิ่มเป็น 8 ร้าน ชาวบ้านที่นำขยะมาขายก็มีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้นจากเดิมที่เป็นเพียงของชำในร้านศูนย์บาท มาวันนี้ ขยะที่นำมาชั่งขายจะถูกเปลี่ยนเป็นคูปองตามมูลค่าขยะเพื่อใช้แลกน้ำพริก อาหารตามสั่ง ตัดผม หรือแม้แต่จ่ายค่าเช่าที่ จากร้านศูนย์บาทจึงกลายเป็น ‘ร้านศูนย์บาทพลัส’ เพราะมีร้านค้าพันธมิตรร่วมด้วย

“มันวินวินกันทุกฝ่าย การค้าเมื่อก่อนรับเงินอย่างเดียว แต่ตอนนี้ก็มีลูกค้ามากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งผมคิดว่าถ้าเป็นทุกร้าน ขยะมันก็หมดไป”

อาจเป็นจุดบอดของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผลักดันผู้ที่ตามไม่ทันออกจากระบบ และแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่เอื้อให้กับธุรกิจสายป่านสั้นได้หมุนเงินวันต่อวัน แต่สังคมไร้เงินสดแบบบ้าน ๆ ในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ปิดช่องว่างเหล่านั้นหมด

“ทำอะไรที่ง่าย อย่าไปคิดเยอะ ร้านโชห่วยมันสู้ยักษ์ใหญ่ไม่ได้อยู่แล้ว แต่แบบนี้มันได้ พวกคนแก่ก็กลับเข้ามาอยู่ในระบบได้มากขึ้น อีกเรื่องหนึ่งต้องเข้าใจว่ามนุษย์เราต้องการอะไรที่มาเร็วเคลมเร็ว ผมก็ไปตามเก็บคูปองวันต่อวัน ค้างคืนไม่ได้ เงินเขาหมุนกันวันต่อวัน”

“ผมเชื่อว่าไม่ต้องรอภาครัฐก็ได้ เพราะว่าทุกชุมชนมีขยะอยู่แล้ว แค่ใครจะเริ่มทำ”

เป็นอีกหนึ่งวันที่ทำให้เราใจฟู เราได้ติดตามการทำงานของซาเล้ง และรับรู้เรื่องราวจากกองขยะที่ส่งผลเชิงบวกในมิติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เวลาบ่ายคล้อย พีรธรพาเราเดินเที่ยวในชุมชน แม้มีกองขยะวางสุมอยู่ตามมุมต่าง ๆ ตามอาชีพของคนในพื้นที่ แต่พื้นถนนก็สะอาดสะอ้านจากเมล็ดพันธุ์แห่งการจัดการขยะที่พีรธรค่อย ๆ หว่านลงไป และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชนโดยเข้าใจคนในชุมชน

“ต้องวินวินกันทุกฝ่าย อย่าโลกสวย โลกสวยไม่มี นี่คือการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทุกคนได้ประโยชน์ การแบ่งปันสำคัญที่สุด ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากระดับฐานรากของชุมชนโดยใช้ขยะเป็นตัวกระตุ้น”