เทอร์รี ฟ็อกซ์ : นักวิ่งมาราธอนขาเทียม ที่หอบหิ้วความหวังของผู้ป่วยมะเร็ง

เทอร์รี ฟ็อกซ์ : นักวิ่งมาราธอนขาเทียม ที่หอบหิ้วความหวังของผู้ป่วยมะเร็ง

เรื่องราวของ ‘เทอร์รี ฟ็อกซ์’ (Terry Fox) นักกีฬาหนุ่มที่ต้องเสียขาเพราะโรคมะเร็งกับการวิ่งเปลี่ยนโลก‘มาราธอนแห่งความหวัง’ (Marathon of Hope)

KEY

POINTS

  • เทอร์รี ฟ็อกซ์’ (Terry Fox) เด็กหนุ่มนักกีฬาอนาคตไกล ที่จู่ ๆ พบว่าตนเองกำลังป่วยเป็นมะเร็งกระดูก จนต้องตัดขาทิ้ง
  • จากบทความของ ‘ดิ๊ก ทรัม’ (Dick Traum) ผู้พิการคนแรกที่วิ่งมาราธอนด้วยขาเทียม ได้จุดประกายให้ฟ็อกซ์วางแผนวิ่ง ‘มาราธอนแห่งความหวัง’ (Marathon of Hope) ขึ้นมา จนกลายเป็นเรื่องราวประทับใจของคนทั่วโลก
  • แม้ฟ็อกซ์จะเสียชีวิตลง แต่ยังมีผู้เข้าร่วมบริจาคมากมายและมีการจัดกิจกรรมรำลึกในหลาย ๆ ประเทศ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเทอร์รี ฟ็อกซ์ที่เคยทิ้งเอาไว้

ผมอยากทำในสิ่งที่มันไม่มีทางเป็นไปได้

เพื่อที่จะทำให้ทุกคนได้เห็นว่ามันเป็นไปได้

 

คุณจะทำอย่างไร หากคุณรู้ตัวว่ากำลังป่วยเป็นมะเร็ง? คุณจะทำอย่างไร หากต้องสูญเสียขาหนึ่งข้างไป? และคุณจะยอมแพ้หรือไม่ หากคุณมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อีกไม่นาน? 

เป็นที่ทราบกันดีว่าปีศาจร้ายที่ชื่อว่า ‘มะเร็ง’ คือศัตรูตัวฉกาจที่พรากชีวิตมนุษย์มานักต่อนัก เพราะมันคือโรคที่ไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อรู้ตัวอีกทีก็อาจจะสายไปเสียแล้ว และหากใครก็ตามที่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้ ก็แทบอยากจะยกธงขาวให้กับมัน 

แต่นั่นคงไม่ใช่สำหรับ ‘เทอร์รี ฟ็อกซ์’ (Terry Fox) เด็กหนุ่มนักกีฬาที่มีความโดดเด่นในด้านกีฬาสูง ทุกอย่างในชีวิตดูกำลังจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่จู่ ๆ พบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งที่กระดูกหัวเข่าและต้องตัดขาออก จนต้องใส่ขาเทียม 

หลายคนอาจคิดว่าเส้นทางสายนักกีฬาของเขาต้องสิ้นสุดลง แต่มันกลับตรงกันข้าม เพราะนั่นกลับเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้ฟ็อกซ์ตัดสินใจลงมือทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะจินตนาการได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มาราธอนแห่งความหวัง’ (Marathon of Hope) ที่ทำให้ทั้งโลกต้องตะลึง

และนี่คือเรื่องราวของ เทอร์รี ฟ็อกซ์ เด็กหนุ่มนักวิ่งขาเทียมสู้ฝัน ที่หอบหิ้วความหวังของผู้ป่วยมะเร็งเอาไว้ และช่วยจุดไฟในตัวของผู้คนทั่วโลกที่กำลังดับมอด ให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง

หนุ่มนักกีฬาอนาคตไกล

เทอร์รี ฟ็อกซ์ เขาเกิดที่เมืองวินนิเพก รัฐแมนิโทบา ประเทศแคนาดา ก่อนจะย้ายไปที่เมืองพอร์ตโคควิทแลมตอนอายุได้ 10 ขวบ ฟ็อกซ์เป็นเด็กที่มีความพยายามและความมุ่งมั่นสูง โดยเฉพาะกับสิ่งที่เขารักอย่างการเล่นกีฬา จนสามารถเล่นกีฬาได้หลากหลายชนิด เช่น ฟุตบอล เบสบอล รักบี้ และบาสเกตบอลที่เขาชื่นชอบมากที่สุด 

เมื่อฟ็อกซ์กำลังเรียนอยู่ช่วงมัธยม เขาเป็นเด็กที่มีความสูงเพียง 5 ฟุต หรือราว ๆ 152 เซนติเมตร จึงเป็นได้แค่ผู้เล่นตัวสำรองของทีมบาสเกตบอลโรงเรียน โค้ชของเขาจึงแนะนำให้ลองซ้อมวิ่งดู 

ฟ็อกซ์ฝึกฝนการวิ่งเป็นประจำทุกวันอย่างไม่ขาดสาย จนการวิ่งของเขาเริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความพยายามและความมุ่งมั่น พร้อมกับทักษะการเล่นกีฬาอันโดดเด่น ทำให้เทอร์รี ฟ็อกซ์ ถูกบรรจุลงในรายชื่อผู้เล่นตัวจริง และสามารถพาทีมคว้าชัยชนะมาอย่างมากมาย 

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม ฟอกซ์ก็ตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ในสาขาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว 

ดูเหมือนว่าชีวิตของเด็กหนุ่มกำลังดำเนินไปอย่างสวยงาม ทว่าในเวลาเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีปีศาจร้ายที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาเขาโดยไม่รู้ตัว

โรคร้ายพรากฝัน

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1976 ฟ็อกซ์ประสบอุบัติเหตุขณะกำลังขับรถบนทางหลวงและชนเข้ากับท้ายรถบรรทุก จนได้รับบาดแผลที่บริเวณหัวเข่าด้านขวา ก่อนที่อาการบาดเจ็บนั้นจะหายไป กระทั่ง 4 เดือนต่อมา ขณะที่เขากลับจากการฝึกซ้อมกีฬา ฟ็อกซ์รู้สึกเจ็บที่หัวเข่าด้านขวาอย่างรุนแรง จนครอบครัวต้องพาเขาไปที่โรงพยาบาลในวันรุ่งขึ้น

ฟ็อกซ์คิดว่านี่อาจเป็นเพียงแค่อาการเจ็บปวดจากอุบัติเหตุเมื่อหลายเดือนก่อน จึงไม่ได้เอะใจอะไร แต่เมื่อแพทย์เอกซเรย์ พบว่าเขามีเนื้องอกที่กระดูกหัวเข่า นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความฝันบนเส้นทางสายกีฬาของเขาต้องดับลง เมื่อรับรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระดูกที่หัวเข่าด้านขวา

ซึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ในช่วงเวลานั้น เพิ่งค้นพบวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ แพทย์จึงจำเป็นต้องตัดขาตั้งแต่เหนือหัวเข่าทิ้งเพื่อทำการรักษาต่อ ซึ่งมีโอกาสรอด 50 เปอร์เซ็นต์

ระหว่างที่ฟ็อกซ์พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อรอการผ่าตัด ซึ่งมีเพื่อนของเขาแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนมากมาย รวมถึงโค้ชทีมบาสเกตบอลของเขา ที่ได้นำบทความของ ‘ดิ๊ก ทรัม’ (Dick Traum) ผู้พิการคนแรกที่วิ่งมาราธอนด้วยขาเทียมในรายการ ‘New York City Marathon’ 

เรื่องราวของ ดิ๊ก ทรัม บันดาลให้ฟ็อกซ์เกิดกำลังใจที่จะลุกขึ้นสู้กับโรคร้ายนี้ ในวันรุ่งขึ้นเขาจึงนำเรื่องนี้ไปบอกให้พยาบาลที่ดูแลเขาได้รับรู้ และกล่าวว่า

 

สักวันหนึ่ง ผมจะทำแบบนี้ให้ได้

 

หลังจากนั้น การผ่าตัดผ่านไปได้ด้วยดี ฟ็อกซ์ต้องสูญเสียขาขวาของตัวเองในวัยเพียง 18 ปี เขาพยายามฝึกเดินด้วยการใช้ขาเทียมและปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในไม่กี่สัปดาห์ จนสามารถเข้าร่วมทีมบาสเกตบอลวีลแชร์ และสามารถคว้าแชมป์ระดับประเทศมาได้ในปี 1978 และ 1979

ระหว่างนั้น ฟ็อกซ์ยังคงเข้ารับการรักษาเคมีบำบัดอย่างต่อเนื่อง และยังได้พบผู้ป่วยมะเร็งอีกหลายคน ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดความคิดอยากช่วยสนับสนุนการวิจัยด้านมะเร็ง เพราะนั่นทำให้เขามีความหวังว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีโอกาสหายจากโรคร้ายนี้ และเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ต้องมีชะตากรรมเช่นเดียวกันกับเขา นั่นจึงทำให้ฟ็อกซ์ตัดสินใจที่จะลงมือทำอะไรบางอย่าง เพื่อหาทุนสำหรับการช่วยเหลืองานวิจัยด้านโรคมะเร็ง

 

มาราธอนแห่งความหวัง

ฟ็อกซ์นึกย้อนไปถึงบทความของ ดิ๊ก ทรัม ที่เขาเคยอ่านก่อนคืนผ่าตัด เขาจึงได้เริ่มวางแผนที่จะวิ่งมาราธอน ซึ่งเป็นงานสุดหินที่ต้องอาศัยความพยายามอย่างสูง เพราะลำพังเดินปกติก็ยากเต็มทีแล้ว แต่ฟ็อกซ์ที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและความพยายาม เขาฝึกฝนอย่างหนักเป็นเวลา 1 ปีกว่าสำหรับการเตรียมตัววิ่ง

หลังจากที่ฝึกฝนมาเป็นเวลานาน จนในเดือนสิงหาคม ปี 1979 เขาจึงตัดสินใจทดลองลงแข่งมาราธอนที่เมืองปรินซ์จอร์จ เป็นระยะทาง 27 กิโลเมตร ซึ่งเขาก็สามารถทำได้สำเร็จ แม้ว่าจะเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายก็ตาม แต่ผู้คนมากมายที่อยู่ข้างสนามต่างพากันปรบมือและแสดงความยินดีให้กับความพยายามของฟ็อกซ์

หลังจากที่ฟ็อกซ์สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดมาได้ ในเดือนเมษายน ปี 1980 เป้าหมายครั้งยิ่งใหญ่ก็ได้เริ่มขึ้น ฟ็อกซ์ตัดสินใจจะเริ่มวิ่งมาราธอนที่เมืองเซนต์จอห์น โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นเมืองวิกตอเรีย ที่มีระยะทางมากกว่า 8,000 กิโลเมตร นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มาราธอนแห่งความหวัง’ (Marathon of Hope) 

ฟ็อกซ์ตั้งเป้าหมายว่าจะรวบรวมเงินบริจาคให้ได้ 1 ล้านดอลลาร์ และต้องวิ่งให้ได้ 42 กิโลเมตรทุกวันโดยไม่หยุดพัก ต่อให้เขาจะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด แดดจะแรงแค่ไหน อุปสรรคจะมากสักเท่าไร เขาก็มุ่งมั่นที่จะวิ่งต่อไป รวมถึงปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญคืออาการบาดเจ็บที่คอยรบกวนอยู่ตลอดเวลา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เด็กหนุ่มที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นต้องหยุดชะงักเลยแม้แต่น้อย

ในช่วงแรกเริ่มของการวิ่งมาราธอน ฟ็อกซ์มีเพียงแค่เพื่อนและน้องชายของเขาที่คอยขับรถตามหลังในขณะที่วิ่งอยู่ และแทบจะไม่มีผู้คนสนใจแม้แต่คนเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาพของเด็กหนุ่มที่กำลังวิ่งอยู่บนไหล่ทางของถนน พร้อมกับขาเทียมหนึ่งข้าง ได้เริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนมากขึ้น จนเมื่อมีคนเข้าไปพูดคุยกับเขา ทำให้รับรู้เรื่องราวและจุดประสงค์ในสิ่งที่เด็กหนุ่มคนนี้กำลังทำ

หลังจากฟ็อกซ์วิ่งมาได้ 2 เดือน ยอดบริจาคของเขากลับอยู่ที่สองแสนกว่าดอลลาร์ ซึ่งจำนวนยังห่างไกลกว่าที่ตั้งเอาไว้อย่างมาก แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้น เมื่อ ‘อิซาโดเร ชาร์ป’ (Isadore Sharp) นักธุรกิจชาวแคนาดา ที่รับรู้เรื่องราวของฟ็อกซ์รวมถึงจุดประสงค์ของการวิ่งมาราธอน เกิดประทับใจในตัวฟ็อกซ์ เนื่องจากเขาเพิ่งสูญเสียลูกชายจากโรคมะเร็งได้ไม่นาน และได้กล่าวว่าจะบริจาคเงิน 2 ดอลลาร์ทุก ๆ การวิ่ง 1 ไมล์ หรือราว ๆ 1.6 กิโลเมตร และยังเชิญชวนให้ฟ็อกซ์ได้พบกับนักธุรกิจมากมาย นั่นจึงทำให้ฟ็อกซ์เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนในแคนาดา

กระทั่งฟ็อกซ์วิ่งมาถึงเมืองออตโตวา ซึ่งได้รับการต้อนรับจากผู้คนอย่างมากมาย รวมถึงเขายังปรากฏบนสื่อต่าง ๆ จนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อีกทั้งหลังจากนั้นผู้คนยังเข้าร่วมการวิ่งมาราธอนไปกับฟ็อกซ์อีกด้วย

 

เจตนารมณ์ที่ยังคงดำเนินต่อ

ฟ็อกซ์ยังคงมุ่งมั่นที่จะวิ่งไปให้ถึงจุดหมายเรื่อย ๆ แต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1980 ขณะที่วิ่งมาถึงเมืองธันเดอร์เบย์ ซึ่งตอนนี้เขาวิ่งมาได้ 143 วัน หรือระยะทาง 5,375 กิโลเมตร  และได้รับยอดบริจาคอยู่ที่ 1.7 ล้านดอลลาร์ ร่างกายของเขาเริ่มเหนื่อยล้าจากการวิ่งมาเป็นเวลานาน รวมถึงอาการของโรคมะเร็งที่ลุกลามเข้าไปในปอด จนต้องหยุดวิ่งและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

ฟ็อกซ์ยังคงประกาศให้ผู้คนรับรู้ ว่าหากเข้ารับการรักษาตัวเสร็จ เขาจะกลับมาวิ่งต่อเพื่อให้ถึงจุดหมาย แต่แล้วร่างกายของเขากลับทรุดลงทุกที อันเป็นผลมาจากโรคมะเร็งที่เริ่มกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ผู้คนจึงส่งกำลังใจให้กับฟ็อกซ์อย่างมากมายและภาวนาให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับเขา เพื่อหวังว่าจะเห็นหนุ่มนักวิ่งพร้อมกับขาเทียม ได้วิ่งไปถึงฝั่งฝันตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

 

แม้ว่าผมจะไม่สามารถกลับมาวิ่งต่อได้

แต่มาราธอนแห่งความหวังยังต้องดำเนินต่อไป

 

ระหว่างที่ฟ็อกซ์พักรักษาตัว ยอดบริจาคก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1981 มียอดระดมทุนสูงถึง 24.17 ล้านดอลลาร์ (ประชากรของแคนาดาในขณะนั้นอยู่ที่ 24.1 ล้านคน) ซึ่งยอดบริจาคทะลุเป้าไปกว่า 23 ล้านดอลลาร์ของที่ตั้งเอาไว้ในตอนแรก

ฟ็อกซ์ยังคงเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้าย ผู้คนทั่วโลกต้องได้รับข่าวร้าย เมื่อในวันที่ 28 มิถุนายน ปี 1981 เทอร์รี ฟ็อกซ์ได้เสียชีวิตลง หลังจากที่ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งมาเป็นเวลานาน ท่ามกลางความโศกเศร้าของชาวแคนาดาที่เฝ้ารอการกลับมาของเขา

ชาวแคนาดาต่างร่วมไว้อาลัยให้กับการจากไปของฟ็อกซ์ รวมถึงรัฐบาลแคนาดาประกาศให้ลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัย และ อิซาโดเร ชาร์ป นักธุรกิจผู้สนับสนุนฟ็อกซ์คนแรก ๆ ได้จัดกิจกรรมการวิ่งที่มีชื่อว่า ‘Terry Fox Run’ เพื่อระดมทุนสำหรับการช่วยเหลือการวิจัยโรคมะเร็ง และมีการจัดตั้งองค์กร ‘The Terry Fox Foundation’ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเทอร์รี ฟ็อกซ์ ซึ่งปัจจุบันมียอดระดมทุนสูงถึง 900 ล้านดอลลาร์

ในภายหลัง ได้มีการจัดงานวิ่งเพื่อรำลึกถึงฟ็อกซ์ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่ดำเนินกิจกรรมต่อมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการหล่อรูปปั้นเทอร์รี ฟ็อกซ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ และมีการนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อโรงเรียน ถนน ภูเขา และสวนสาธารณะหลายแห่งทั่วประเทศเพื่อให้เกียรติแด่วีรบุรุษขาเทียมแห่งแคนาดา

นอกเหนือจากการวิ่งมาราธอนแห่งความหวังที่กลายเป็นเรื่องราวอันประทับใจของผู้คนทั้งโลกแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เราเห็นได้เด่นชัด คือความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อในตัวของเด็กหนุ่มขาเทียม ที่ยังคงต่อสู้จวบจนลมหายใจเฮือกสุดท้ายก่อนจะจากโลกนี้ไป และได้กลายมาเป็นแบบอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า 

 

จะไม่มีอะไรที่เป็นไปได้ หากเราไม่ลงมือทำ

 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง

Terry Fox - Biography | Britannica

Terry Fox | The Canadian Encyclopedia

Terry's Dream | Terry Fox Centre

Terry's Story | Terry Fox Centre

Terry's Story | The Terry Fox Foundation

The Terry Fox Story by The Terry Fox Foundation | Youtube

Terry Fox, Anything’s Possible by The Terry Fox Foundation | Youtube