‘วาที วิเชียรนิตย์’ โปรแกรมเมอร์ เจ้าของแบรนด์ VING ที่ทำให้คนใส่รองเท้าแตะวิ่งมาราธอนได้

‘วาที วิเชียรนิตย์’ โปรแกรมเมอร์ เจ้าของแบรนด์ VING ที่ทำให้คนใส่รองเท้าแตะวิ่งมาราธอนได้

สายนักวิ่งน่าจะต้องมี ‘รองเท้า’ คู่ใจดี ๆ สักคู่ โดยเฉพาะยุคนี้ที่การวิ่งเป็นกิจกรรมในกระแสหลักที่หลายคนชื่นชอบ และน่าจะรู้จัก ‘วีอิ้ง’ (VING) แบรนด์สัญชาติไทย ก่อตั้งโดย ‘วาที วิเชียรนิตย์’ อดีตโปรแกรมเมอร์ผู้มีใจรักการวิ่งแต่หารองเท้าวิ่งดี ๆ ไม่เจอสักที

  • เพราะหารองเท้าวิ่งที่ถูกใจไม่ได้ เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘วีอิ้ง’ (VING)
  • แบรนด์นี้มี ‘วาที วิเชียรนิตย์’ อดีตโปรแกรมเมอร์ผู้มีใจรักการวิ่ง เป็นผู้ก่อตั้ง
  • ความสนใจของแบรนด์ คือ เป็นรองเท้าแตะ ไม่ใช่ผ้าใบหรือรองเท้าวิ่งแบบหุ้มส้น 

ความน่าสนใจเริ่มตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์แล้ว เพราะนี่ไม่ใช่รองเท้าวิ่งแบบผ้าใบหุ้มส้นเซฟข้อเท้า แต่เป็น ‘รองเท้าแตะ’

จากโปรแกรมเมอร์สู่นักธุรกิจรองเท้าแตะ

ไม่ต่างจากเส้นทางชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้บ้านรวย ไม่ได้ต่อยอดความสำเร็จจากกิจการที่บ้าน วาทีเป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง โดยทำงานเป็น ‘โปรแกรมเมอร์’ ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เส้นทางของเขาคลับคล้ายกับความฝันของใครหลายคนที่ทำงานหลักไปด้วยพร้อม ๆ กับมี ‘อาชีพเสริม’ ไปด้วย กลางวันทำงานหลัก กลางคืนเลิกงานก็มาต่องานเสริม ค่อย ๆ ปลุกปั้นรอวันที่งานไม่ประจำจะทำเงินกว่างานประจำ

และอาชีพเสริมของเขาคือแค่อยากมีธุรกิจเล็ก ๆ ได้ทำในสิ่งที่ชอบและมีประโยชน์กับผู้คน เมื่อพิจารณาลงลึกอีกหน่อยเขาพบว่า สิ่งที่เขาชื่นชอบคือ ‘การวิ่ง’ วาทีเป็นนักวิ่งขาประจำอยู่แล้ว งานวิ่งมาราธอนหลากหลายงานจะพบเจอวาทีร่วมอยู่ด้วยเสมอ และเป็นกิจกรรมนี้เองที่นำมาสู่ธุรกิจของเขา

เพราะมีงานวิ่งมาราธอนอยู่งานหนึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ วาทีก็ร่วมวิ่งในงานด้วย แต่ประสบปัญหา (Pain Point) เมื่อวิ่งไปนาน ๆ พบว่ารองเท้าผ้าใบที่ใส่วิ่งได้บีบรัดขารุนแรงจนบาดเจ็บและใส่วิ่งต่อไม่ได้ วาทีจำใจต้องถอดรองเท้าผ้าใบนั้นทิ้ง แล้วหาซื้อ ‘รองเท้าแตะ’ บ้าน ๆ ถูก ๆ จากร้านสะดวกซื้อข้างทาง และเซอร์ไพรส์ว่ามันช่วยให้วิ่งจนจบได้! 

จากที่เคยมองข้ามมาตลอด มาวันนี้ ‘รองเท้าแตะ’ ได้เข้ามาสู่แกนกลางความคิดของเขาแล้ว เมื่อพิจารณาตลาดก็พบว่า ยังไม่เจอผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจในตลาด เขาเลยทดลองพัฒนาขึ้นมาเองซะเลยในขณะที่ยังทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่

เรื่องที่ต้องชื่นชมในความกล้าหาญและสปิริตความเป็นผู้ประกอบการของวาทีก็คือ เขาไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ระดับปฏิบัติการทั่วไป แต่เป็นถึงระดับผู้จัดการ มีลูกทีมโปรแกรมเมอร์ ทำงานเชิงบริหารและคิดวิเคราะห์ระบบ เรียกได้ว่ามีหน้าที่การงานดีและเงินเดือนดีมาก ๆ อยู่แล้ว

เก็บเล็กผสมน้อย

วาทีไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ที่อยู่กับหน้าคอมพ์ทั้งวัน แต่เขารับผิดชอบฝั่งพัฒนาสินค้าด้วย ซึ่งต้องไปรับฟังความต้องการของลูกค้า ปัญหาที่พวกเขาพบเจอ 

แพตเทิร์นงานที่เขาทำ เริ่มจากทำตัวต้นแบบคร่าว ๆ (Prototype) ก่อนไปทดลองตลาด (Testing) เพื่อรับฟังฟีดแบ็กก่อนนำมาพัฒนาปรับปรุงต่อไป (Feedback) เช่น พบว่าคนทั่วไปพอใส่รองเท้าผ้าใบวิ่งไปนาน ๆ แล้วจะเกิดอาการ ‘เท้าบวม’ ขยายใหญ่ขึ้นจนบาดเจ็บ

 กล่าวคือเป็นงานที่เกี่ยวกับการวิจัยตลาดไม่น้อย ซึ่งเสริมสร้างทักษะด้านการตลาด โดยเขาได้นำแพตเทิร์นการทำงานนี้มาใช้กับการพัฒนารองเท้าแตะสำหรับวิ่งเช่นกัน

นอกจากนี้เขายัง ‘เก็บเล็กผสมน้อย’ พัฒนาทักษะตัวเองในสิ่งที่ขาด เช่น มีวินัยในการฟังพอตแคสต์ด้านการตลาดทุกวัน จะว่าไปแล้วก็ไม่มีเคล็ดลับสู่ความสำเร็จแต่อย่างใด เพียงแค่ทำให้ดีที่สุดก็เท่านั้นเอง

นวัตกรรม

วาทีวิ่งหาโรงงานและทำวิจัย (R&D) อยู่นานเกือบปี ผสมผสานกับประสบการณ์การวิ่งส่วนตัวและองค์ความรู้เชิงลึกที่มี เขาสามารถสร้าง ‘รองเท้าแตะ’ ที่ใช้วิ่งทางไกลได้จริงอย่างถูกหลักสรีรศาสตร์ โดยยังคงความแข็งแรงแต่มีน้ำหนักที่เบากว่ารองเท้าผ้าใบ เช่น เบากว่า 200 กรัม โฟมรองพื้นมีชั้นเดียว แต่ทำให้หนาเหมือนรองเท้าผ้าใบ และมีกลไกเชือกสายรัด ทำให้ใส่วิ่งแล้วไม่หลุด

โดยรวม เป็นรองเท้าแตะที่ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึก ‘วิ่งเพลิน’ โฟกัสกลุ่มหลักตอนแรกเป็นคนวิ่ง 100 กิโลเมตร (อัลตรามาราธอน)

หลังซุ่มพัฒนาอยู่นาน ปี 2019 VING ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยวางจุดยืนเป็นรองเท้าแตะเกรดพรีเมียม มีราคาเริ่มต้นที่ราว 1,000 บาท วัสดุดีเยี่ยม อันไหนมีในแบรนด์นอกระดับโลก เอามาใส่หมดให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ในแง่ของชื่อแบรนด์ ‘รองเท้า VING’ (รอง-เท้า-วิ่ง) เป็นการเล่นคำที่มีสีสัน ฟังดูมีกิมมิค และเขียนออกมาดูสวยโมเดิร์นไม่น้อย แต่ถ้าเรียกชื่อแบรนด์โดด ๆ จะเรียกว่า ‘วี-อิ้ง’ (คล้ายกับ ‘วิ่ง’)

แต่มันไม่ใช่การเปิดตัวแบบอลังการงานสร้าง วาทียังคงทำงานหลักเป็นโปรแกรมเมอร์ไปด้วย และใช้เวลาหลังเลิกงานในการปลุกปั้น VING แบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ไปสร้างคอมมูนิตี้กับกลุ่มนักวิ่งพร้อมกับแนะนำผลิตภัณฑ์ไปด้วย

ก่อนยุคโควิด-19 มีงานวิ่งเกิดขึ้นปีละกว่า 2,000 งานในเมืองไทย การวิ่งเป็นกิจกรรมในกระแสหลักของสังคมไทยไปแล้ว วาทีใช้กลยุทธ์ ‘ตระเวนออกอีเวนต์งานวิ่ง’ ไหลไปตามกระแส ขณะที่ยังทำงานประจำอยู่ และทำออกมาไซซ์เดียว ซึ่งเป็นขนาดเท้าตัวเอง ก่อนขยายไปไซซ์อื่น ๆ ให้ลูกค้าทดลอง เขามีแนวคิดเริ่มทำให้เล็ก ๆ ประหยัดใช้งบน้อย ถ้าล้มเหลวก็ต้องได้บทเรียนกลับคืนมา (Fail fast, fail cheap…fail forward)

และใช้กลยุทธ์ Virtual Run ไปแจกรองเท้าแตะ โดยให้ลูกค้าเข้ามาสมัคร 1,000 กว่าคน คนละ 1,000 บาท วาทีได้เงินทุนมาพัฒนาสินค้า ลูกค้าก็ได้สินค้าดี ๆ ไปทดลอง

โอกาสใหม่ในวิกฤต

และแล้วจังหวะชีวิตก็เอนเอียงมาให้โฟกัสเรื่องนี้เต็มตัว เพราะเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขั้นรุนแรง วาทีได้ถูกเชิญออก…ในขณะที่งานเสริมเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เขาจึงโฟกัสทุ่มเทเวลาและพลังชีวิตทั้งหมดให้ VING 

เมื่อมีเวลาทุ่มเต็มตัวแบบฟูลไทม์ วาทีเริ่มศึกษาการตลาดออนไลน์แบบจริงจัง พอวิกฤตโควิด-19 มาถึง เกิดการล็อกดาวน์ เขาพบความจริงข้อหนึ่งว่า…รองเท้าแตะอาจไม่ได้มีไว้เพื่อนักวิ่งเท่านั้น 

แต่สามารถขยายไปหากลุ่มลูกค้าใหม่ที่ใส่อยู่บ้าน คนยืนทำอาหารอยู่บ้าน เปลี่ยนมุมใหม่ กลายเป็นใครก็ได้ที่ต้อง ‘ยืนเยอะ ๆ ยืนนาน ๆ’ หรือใครที่มี ‘ปัญหาสุขภาพเท้า’ ซึ่งทั้งหมดนี้ VING สามารถช่วยพวกเขาได้ทั้งหมด!

ยิ่งไปกว่านั้น ‘ใคร ๆ ก็วิ่งได้’ การวิ่งเป็นกิจกรรมการออกกำลังกายที่ไม่ต้องมีผู้เล่นคนอื่น เราเล่นคนเดียววิ่งคนเดียวได้ ไม่จำเป็นต้องมีทักษะหรือผ่านการฝึกฝนมาก่อน ไม่ต้องมีสนาม ขอแค่มีพื้นที่ปลอดภัยมากพอ และไม่ต้องมีอุปกรณ์กีฬาใด ๆ ขอแค่รองเท้าดี ๆ สักคู่

ตลาดของนักวิ่งจึงน่าจะใหญ่และยั่งยืนไม่น้อย?

นอกจากนี้ ความเป็น ‘รองเท้าแตะ’ ยังถูกจริตพฤติกรรมคนไทย กล่าวคือ บ้านเราเป็นเมืองร้อน ใครๆ ก็ชอบ ‘ลากแตะ’ ออกจากบ้าน รวมถึงวัฒนธรรมและการยอมรับในสังคมที่เปิดกว้างให้การใส่รองเท้าแตะสามารถเข้าไปยังหลายสถานที่หรือหลายโอกาสได้ เช่น เราสามารถใส่รองเท้าแตะเดินเข้าห้างหรูได้โดยไม่ถูกสายตารังเกียจ

พร้อม ๆ กับการที่วาทีสร้างความต่างด้วยการทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ใช้ภาษาง่าย เหมือนเพื่อนมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง หรือเน้นความครีเอทีฟเพราะมีงบจำกัด ทำให้เกิดคอนเทนต์ไวรัลอยู่เรื่อย ๆ และในแง่การตลาดออนไลน์ แทบไม่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังเลย แต่ใช้นักวิ่งตัวจริงเสียงจริงมาช่วยรีวิว ทำให้ความเข้าใจผิด ๆ (Myth) ของผู้คนที่ตั้งข้อสงสัยว่า รองเท้าแตะจะใส่วิ่งทางไกลได้จริง ๆ เหรอ? ลดน้อยลง และเปิดรับ VING มากขึ้น

ปรากฏว่า VING ประสบความสำเร็จอย่างมาก เริ่มเข้าสู่กระแสหลักของนักวิ่ง และยอดขายเติบโตก้าวกระโดด!

วาทีสู่เวทีโลก

จากรองเท้าสำหรับนักวิ่งมาราธอน ขยายสู่อาชีพที่ต้องยืนนาน ๆ หรือคนที่มีปัญหาเรื่องเท้า และถึงปัจจุบัน วาทีได้โฟกัสรองรับการเป็นรองเท้าแตะ ‘แฟชั่น’ มากขึ้น ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ด้านฟังก์ชันอีกต่อไป แต่เพิ่มคุณค่าด้านความสวยงาม (Aesthetics) เข้าไปด้วย ลูกค้าไม่จำเป็นต้องใส่วิ่งอย่างเดียวอีกต่อไป แต่สามารถใส่ไปเดินเขา ใส่ไปเที่ยวเมืองนอก หรือใส่เดินห้างก็ยังได้ 

แต่ไม่ว่าจะขยายไปเป็นแบบไหนก็ตาม พื้นฐานที่สุดคือยังต้องมอบรองเท้าแตะที่ตอบโจทย์ ‘สุขภาพ’ ของผู้สวมใส่เสมอ และนี่เองทำให้ VING เติบโตก้าวกระโดดอีกรอบจนเริ่มเข้าสู่รองเท้าวิ่งกระแสหลักที่ท้าชนกับแบรนด์ใหญ่ระดับโลกในที่สุด

ถึงวันนี้ เป็นเวลา 3 ปีนับจากวันที่เปิดตัว VING ส่งมอบถึงมือลูกค้านักวิ่งแล้วกว่า 50,000 คู่

สำหรับตอนนี้แบรนด์ VING มีสินค้าอยู่ทั้งหมด 4 รุ่น ซึ่งปีนี้จะมีเพิ่มขึ้นเป็น 10 รุ่น โดยจะมีรองเท้าสำหรับเด็กเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ใส่ได้ทั้งครอบครัว

จากปีก่อนหน้า มีทั้งหมด 4 รุ่นสร้างรายได้แตะหลักสิบล้านบาท แต่ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มเป็น 10 รุ่นสู่หลักร้อยล้าน! แต่เป้าหมายนี้อาจเล็กเกินไปด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับวิสัยทัศน์ของวาทีที่ต้องการให้ VING กลายเป็นแบรนด์รองเท้าแตะสำหรับวิ่งเบอร์ 1 ของโลก!

เราคงได้แต่ตั้งตารอและเอาใจช่วย พร้อมกับลาก ‘รอง-เท้า-วิ่ง’ ออกวิ่งไปพลาง ๆ…

.

ภาพ : Ving 

.

อ้างอิง

.

ving

smethailand