07 เม.ย. 2567 | 10:12 น.
ปัจจุบัน ไม่เพียงแค่เด็ก หรือวัยกลางคน แต่ผู้สูงอายุก็กำลังตกเป็นเหยื่อทางการตลาดจากสินค้าต่าง ๆ ที่ขายผ่านสื่อ ระยะประชิด หรือออนไลน์
บางคนซื้อเพราะสงสาร บางคนซื้อเพราะอยากช่วยเหลือ หรือบางคนซื้อเพราะไม่รู้ว่า อีกฝ่ายกำลังหลอก
“เคยถามผู้สูงอายุประมาณ 100 คน จากต่างจังหวัด 100 คน มีใครไม่เคยรับสาย call center ไหม มีคนยกมือแค่คนเดียว”
วันชัย บุญประชา ที่ปรึกษากลุ่มคนตัว D และบริษัท ทำมาปัน จำกัด เล่าถึงสถานการณ์จริงของผู้สูงอายุว่า พวกเขากำลังเผชิญปัญหาการขายตรง และส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะคัดกรองข้อมูล หรือปฏิบัติตัวระหว่างถูกขายสินค้าอย่างไร
จึงเป็นที่มาของโครงการสูงวัยรู้ทันสื่อ ด้วยการสนับสนุนของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส.
The People คุยกับ วันชัย บุญประชา ที่ปรึกษากลุ่มคนตัว D และบริษัท ทำมาปัน จำกัด ในฐานะผู้ขับเคลื่อนและคนทำสื่อสำหรับผู้สูงวัยให้เท่าทันและตั้งสติก่อนซื้อสินค้า
ก่อนจะมาทำงานผู้สูงอายุ วันชัยเล่าว่า องค์กรคนตัว D เกิดจากคนทำงานสื่อ และ NGO สายเด็กและครอบครัวมารวมตัวกัน
อดีตคนตัว D ทำรายการที่เน้นหนักเรื่องเด็ก ครอบครัว ปัญหาของแต่ละช่วงวัย และการเท่าทันสื่อ ผละกดันอยู่หลายปี งานเด็กและเยาวชนถึงจุดอิ่มตัว เขาจึงหันมาจับงานเรื่องผู้สูงวัยในครอบครัว
สิ่งที่เขาพบ คือ การมองเห็นว่าผู้สูงอายุมักเป็นเหยื่อจากการตลาด ถูกหลอกลวงให้ใช้เงินเพื่อการบริโภคผ่านสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายแบบประชิดตัว หรือถูกตกจากคำโฆษณาผ่านทางสื่อ“ผู้สูงอายุถูกหลอกเรื่องการใช้เงินบริโภค แล้วช่วงนั้นผู้สูงอายุต้องไปรับเบี้ยผู้สูงอายุที่ท้องถิ่น สินค้าทุกอย่างก็ไป ปรากฏว่า ผู้สูงอายุเอาสินค้ามา ไปคุย ก็ไม่ได้ใช้ คือเขาเป็นเหยื่อด้านการตลาด ซึ่งมาทั้งเข้าประชิดตัว ผ่านสื่อ ตอนนั้นสื่อทางทีวีมันก็จะมีขายอะไรต่าง ๆ เยอะแยะ แล้วก็พวกสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ แล้วเยอะมาก”
จึงเป็นแรงบันดาลใจในการริเริ่ม ‘หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ’ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส .ราว 5 ปีก่อน เพื่อให้ผู้สูงอายุเท่าทันสื่อ ไม่หลงเชื่อกับคำโฆษณา ตั้งสติก่อนโอนเงินหรือซื้อสินค้า
“จริง ๆ แล้ว ผู้สูงอายุ แค่มีสติก็พอ ก็เลยคิดว่า ต้องมีกระบวนการให้เขารู้สึกเอ๊ะขึ้น ก็เลยมาเป็นหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ สร้างคาถาป้องกันสื่อสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมา เราเอาคาถานี้ไปทดลองใช้ แล้วประสบผลสำเร็จ”
ทุกวันนี้เรารู้จักคำว่าเท่าทันสื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกได้ง่าย
สำหรับคนรุ่นใหม่อาจเป็นเรื่องง่าย แต่การสอนผู้สูงอายุที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมานาน สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่คำสอน แต่เป็นหลักการที่พวกเขาสามารถนำไปใช้งานได้จริง
แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ‘สติ’
โครงการสูงวัยรู้ทันสื่อจึงมอบคาถาตั้งสติก่อนซื้อ ประกอบด้วย หนึ่ง จำเป็นไหม สอง หาข้อมูลก่อน และสาม เดือดร้อนใครหรือไม่
“พอมีสติ มันจะยั้งคิดก่อน ตรวจสอบข้อมูล ถ้าตัวเองตรวจสอบไม่ได้ จะหาใครช่วยตรวจสอบ จนกระทั่งมั่นใจ ซื้อเลย เราไม่ห้ามนะ เป็นความสุขของเขา เครื่องสำอางนี้ทำให้หน้าเด้ง ถ้ามีทุน มีเงิน ไม่เป็นภาระลูกหลาน อยากจะซื้อก็ซื้อ เราไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้ามันเป็นภาระ ถูกหลอกแน่ โฆษณาเกินจริง ก็ต้องเบรกไป”
แต่โลกที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันคนขายของไม่ได้มาแค่ระยะประชิด หรือขายของผ่านสื่อเหมือนสมัยก่อน วันนี้มีทั้งการโทรศัพท์ขายตรง หรือขายผ่านช่องทางออนไลน์ คาถาตั้งสติก็เปลี่ยนไปเป็น หยุด คิด ถาม ทำ
“หยุดก่อน หยุดก็คือสติ หยุดคิด คิดก่อน การคิด การถาม พอทำทุกอย่างแล้ว ถ้ามันโอเค ค่อยลงมือทำ อันนี้เป็นคาถาที่ใช้ในร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็ผลักดันให้เป็นหลักสูตรของกรมกิจการผู้สูงอายุ และกำลังกระจายหลักสูตรนี้ให้กับผู้สูงอายุทั่วประเทศ”
สำหรับวิธีการกระจายข้อมูลต่าง ๆ ให้กับผู้สูงอายุ วันชัยบอกว่า มี 2 รูปแบบ คือ การเล่าผ่านวิทยุชุมชนของแต่ละจังหวัด และการลงพื้นที่
โดยคนตัว D มีเครือข่ายที่ช่วยส่งต่อข้อมูลผ่านวิทยุจังหวัดอยู่ 10 จังหวัด และมีการกระจายสัญญาณไปถึง 40-50 จังหวัดทั่วไทย อย่างน้อย ๆ ผู้สูงอายุก็จะได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึง
ส่วนการลงพื้นที่ก็เป็นการลงชุมชนจากเครือข่ายที่เคยทำงานด้านเด็กและเยาวชนด้วยกันมา ลงหน้างานจริง พูดคุยกับผู้สูงอายุ จัดเวิร์คชอปรอบละไม่เกิน 30 คน และต่อยอดเป็น ‘อาสาสมัครสูงวัยรู้ทันสื่อ’
หน้าที่ของอาสาสมัครสูงวัยรู้ทันสื่อ คือ การเป็นแกนนำ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ให้ทุกอย่างดำเนินต่อไป แม้จะไม่มีแกนนำจากคนตัว D อยู่
“อย่างน้อยจะมี 6-7 คนที่อยากเป็นอาสา ให้พวกเขาช่วยกันออกแบบกันเองในชุมชน พอเขาออกแบบกัน วางกฎเกณฑ์กัน เขาก็จัดการของเขาไป ระบบเขาก็เดินต่อ แต่ก็ยอมรับว่ามันไม่ใช่ทุกกลุ่มไลน์หรือการวางระบบ เขาจะเดินต่อได้ดี มันก็ขึ้นอยู่กับความ active ด้วย”
การจัดกิจกรรมไม่ใช่การบรรยาย แต่เรียนรู้ผ่านกระบวนการ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่แชร์ประสบการณ์และเรื่องราวกันได้กับเพื่อนวัยใกล้เคียงกัน
“ จริง ๆ แล้วเป็นหลักสูตรระยะเวลา 3 ชั่วโมง ยาวหน่อยก็อาจจะเป็น 5 ชั่วโมง เขาก็จะทำเป็นหลักสูตร มีการทำ role play เกม มีกิจกรรมนู่น พอถึงสุดท้ายในการสรุป ก็มีประสบการณ์ของทุกคนมาช่วยเหลือกันอยู่แล้ว มันไม่ใช่การสอนแบบบรรยาย เป็นการสอนแบบการใช้กระบวนการ
“มีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งในชนบท เวลามีกิจกรรมก็จะออกจากบ้านมาสนุกเฮฮากัน ทำให้เขารู้สึกว่าเขามาตรงนี้แล้วได้ประโยชน์ มีความสุข ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณ ดึงคนเก่งมาเป็นแกนนำ แล้วก็ค่อย ๆ ดึงคนอื่นเข้ามา”
ในมุมคนมอบความรู้อาจไม่ได้มาตรวัดความรู้ความเข้าใจหลังจากจบโครงการฯ อย่างชัดเจน แต่กลุ่มคนตัว D เชื่อว่า สุดท้ายผู้สูงอายุจะมีอาวุธและกลไกป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพด้วยตัวเอง
“เหมือนเราสอน นักศึกษา 100 คน มันไม่เท่ากันทุกคน บางคนเก็ต คนที่เก็ต คนที่รู้สึกว่าเรื่องสื่อสำคัญ คุณมาเป็นอาสาสมัครสูงวัยเฝ้าระวังสื่อในชุมชน สร้างการเรียนรู้ต่อเนื่อง คอยช่วยเหลือกัน”
อีกหนึ่งสิ่ง คือ ผู้สูงอายุไทยใจดี อยากช่วยเหลือ ทำให้พวกเขาโดนหลอกง่าย การกระจายข้อมูลความรู้ให้กับผู้สูงวัยจังเป็นเรื่องสำคัญ
“เรื่องความรู้สึกอยากช่วยเหลือมันเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุไทย เราเห็น เราก็อยากจะช่วย สิ่งที่เราลงพื้นที่ ทำเครือข่ายวิทยุ มันได้ระดับเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ของผู้สูงอายุ อันนี้คือปัญหาของเราเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้มันกระจายให้มากที่สุด
“แล้วผู้สูงอายุ เขาพร้อมฝึกอยู่แล้ว เราอย่าไปสอนให้เขาเป็นคนไม่ดีนะ ใจดีก็ได้ แต่ใจดีแบบมีสติ บางอย่างเขามาอ้อน แต่ไม่จำเป็นก็จะไม่ซื้อ มันก็จะรู้สึกโอเคขึ้น หรือบางอย่าง ถ้าถูกคุกคาม กลไกก็คือให้ผู้ใหญ่บ้านรับทราบด้วย ก็จะมีกลไกในการป้องกัน”
วันชัยยังบอกอีกว่า ผลตอบรับการเข้ากิจกรรม นอกจากจะรู้วิธีป้องกัน ตั้งสติก่อนทำ อีกหนึ่งสิ่ง คือ การทำให้ผู้สูงอายุภูมิใจในตัวเอง
อีกมุมหนึ่ง ถึงจะป้องกันอย่างดีแล้ว แต่ถูกหลอก วันชัยมองว่า ความผิดพลาดนั้นคือประสบการณ์และบทเรียนให้กับตัวเองที่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนให้คนอื่นได้รับรู้
“คุณจะเรียนรู้อย่างไร จะเป็นเซียนอย่างไร คุณก็พลาดได้ ฉะนั้น ยิ่งพลาด ยิ่งควรเล่าให้คนอื่นฟัง อย่าถือดี ป็นแกนนำแล้วต้องไม่โดนหลอก เพราะพวกที่หลอกมันจะเดินนำไปก้าวหนึ่งเสมอ มีวิธีการที่แยบยลขึ้น
“ผมบอกให้ทุกคนอย่าอายในเรื่องที่ผิดพลาด มาเล่าให้มันเกิดความฮา แล้วมันสนุกนะ ให้เกิดการรับรู้ด้วยกันว่าอาจจะพลาดได้ พลาดก็ไม่เป็นไร”
วันชัยยังบอกอีกว่า สิ่งสำคัญ คือ ผู้สูงอายุจำเป็นต้องกล้าเล่าปัญหาให้ลูกหลานฟัง ขณะเดียวกันลูกหลานก็ต้องเปิดใจรับฟัง เพื่อในวันที่เกิดปัญหาจะได้เข้าช่วยเหลือทัน
การสร้างระบบนิเวศสื่อในวันที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์
ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566 จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรรวม
หมายความว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว
วันชัยมองสถานการณ์ผู้สูงอายุในอนาคตว่าจะมีความเดียวดายมากขึ้น ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน ทำให้ปลายทางผู้สูงอายุอาจต้องโดดเดี่ยว อยู่คนเดียว
“ผู้สูงอายุไม่ได้หวังพึ่งลูกแล้ว แต่ตอนนี้ก็จะเริ่มไม่แต่งงาน ไม่มีลูก ผู้สูงอายุจะมีความเดียวดายขึ้นเรื่อย ๆ สังคมผู้สูงอายุจะเป็นสังคมของผู้สูงอายุจริง ผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันจริง ๆ แต่โชคดีในไทย สังคมชนบทมีความเข้มแข็ง
“แต่สังคมเมืองกำลังมีปัญหาความเดียวดาย ฉะนั้นทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่ามันมีสังค แต่บางที ผู้สูงอายุบางคนก็อยากจะเดียวดายนะ บางคนอยู่เมืองบ่อย ๆ คนที่ชินกับสังคมเมือง รำคาญ ขี้เกียจไปเมาท์”
เมื่อผู้สูงอายุมากขึ้น และโซเชียลมีเดียก็เริ่มมีอิทธิพลกับคนสูงวัยพอ ๆ กับคนรุ่นใหม่ เป้าหมายการทำงานของคนตัว D คือ การสร้างระบบนิเวศสื่อที่ครอบคลุมชีวิตของคนสูงอายุ
ไม่เพียงแค่เรื่องวิชาชีพ แต่ตอบโจทย์ชีวิตทุกด้าน
“สื่อผู้สูงอายุไม่ใช่แค่งานรู้เท่าทันสื่อ มันต้องมีระบบนิเวศสื่อที่เอื้อต่อการเติบโต ทุกด้านนะ ความสง่างาม จิตใจ สุขภาพ อะไรก็แล้วแต่ในสังคมผู้สูงอายุ สื่อจะต้องมีบริบทที่เอื้อพวกนี้ต่อด้วย”
“ผู้สูงอายุรับสื่อไม่ยากหรอก และไม่ยากที่จะทำสื่อถึงผู้สูงอายุ ก็น่าจะมีกระบวนการทำให้เขามีสื่อของเขาให้มากขึ้น ทั้งเป็นผู้รับและเป็นผู้ผลิต”
ในมุมมองของวันชัย งานผู้สูงอายุไม่ใช่งานอดีต แต่เป็นงานอนาคต เราจำเป็นต้องมองสังคมในอนาคต สิ่งที่สังคมต้องร่วมหาคำตอบ คือ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีความสุขในแบบของเขาเอง
“ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ถูกเดียวดาย อยู่สถานสงเคราะห์ ลูกหลานไม่สนใจ ปัจจุบันก็เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยน บ้านบางแคตอนนี้คิวยาวเป็นปี แต่กว่าจะถึงคิวจากไปก่อนไม่รู้กี่คน ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ ต้องเข้าสถานสงเคราะห์ ยังเต็มอยู่เลย