21 พ.ค. 2567 | 16:58 น.
KEY
POINTS
แต่ละปีมีผู้ท้าชิงพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์บนเทือกเขาหิมาลัยอย่างน้อย ๆ 40,000 คน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะพิชิตไปยืนบนยอดเขาได้สำเร็จ
70% ของผู้คนที่มายังเอเวอเรสต์ทำสำเร็จที่ Everest Base Camp ที่ความสูง 5,364 เมตร ราว 50% ทำสำเร็จที่ คาลาปาทาร์ (Kala Patthar) ที่ความสูง 5,645 เมตร และประมาณ 30% ลูกลา (Lukla) ที่ความสูงประมาณ 2,860 เมตร
นับตั้งแต่ปี 1920 มีนักปีนเขาที่เสียชีวิตบนเอเวอเรสต์ประมาณ 330 คน ในจำนวนนั้น 200 คน ศพยังติดอยู่บนซากน้ำแข็ง
ทุกคนรู้ดี การพิชิตเอเวอเรสต์ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจให้พร้อมสู้กับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน
ถึงจะยาก ‘คามิ ริตา เชอร์ปา’ ก็พิชิตเขาแห่งนี้ได้ตั้งแต่วัย 20 กลาง ๆ และเพิ่งพิชิตได้สำเร็จเป็นครั้งที่ 29 ไปเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤษภาคม 2024
จากเด็กคนหนึ่งที่เดินตามรอยเท้าของพ่อ มาหลงรักการเดินป่า ทำงานบนเขา และกลายเป็นผู้พิชิตยอดเขา สู่การเป็นนักอนุรักษ์ภูเขาแห่งนี้ด้วยแนวคิดที่ว่า “เอเวอเรสต์จะอยู่ตรงนั้นเสมอ”
คามิเกิดและเติบโตบริเวณพื้นที่ภูเขาของเขตโซลูกุมบูซึ่งมีสภาพอากาศที่รุนแรง ทั้งยังเป็นลูกชายของ ‘มิงมา ชิรี เชอร์ปา’ นักเดินเขารุ่นแรก ๆ หลังจากประเทศเนปาลเปิดให้นักปีนเขาต่างชาติขึ้นมาบนเขาได้
แต่การเดินทางของพ่อของเขาก็สิ้นสุดลง เมื่อพ่อของเขาเกิดอาการบวมน้ำเหลืองและจากไปตั้งแต่เขายังเด็ก เขาจึงลาออกจากโรงเรียนมาทำงานเป็นคนขนของให้กับนักปีนเขาที่ต้องการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์
แต่ก่อนจะมาสนใจเรื่องการปีนเขา คามิคิดอยากเป็นพระภิกษุ เดินป่าร่วมกับพระผู้เฒ่าในระยะเวลาสั้น ๆ แต่เขาต้องใช้เวลาอีก 5 ปี เพื่อเตรียมพร้อมความรู้และร่างกาย และด้วยสถานะการเงินของที่บ้าน เขาจึงตัดสินใจมาเป็นนักเดินป่าแทน
เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมอยากเป็นพระภิกษุ แต่ผมจะเจอความสงบในใจได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตของครอบครัวยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่มีทางเลือกอื่น ผมก็ต้องกลับไปปีนเขา”
แต่ทั้งหมดการเดินทางของเขาก็เริ่มต้นจาก ‘พ่อ’ ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการเดินทางของเขามาตลอด
“พ่อคือแรงบันดาลใจของผม เขาเป็นคนที่ทำให้ผมอยากทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ พ่อผมยังไม่เคยพิชิตเอเวอเรสต์ได้ ผมเลยอยากจะทำสิ่งนี้ให้กับเขา”
การเก็บประสบการณ์ในฐานะไกด์และนักขนของอุปกรณ์เดินป่าก็นำมาสู่การพิชิตเอเวอเรสต์ครั้งแรก
ก่อนการพิชิตเอเวอเรสต์ครั้งแรกจะมาถึงในปี 1990 คามิเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่อง
การเดินทางครั้งแรกของเขาในฐานะนักเดินป่า คือ การใช้เวลา 1 สัปดาห์เดินทางจากหมู่บ้านทามิไปจิริ ด้วยการเป็นพนักงานยกกระเป๋าและผู้ช่วยครัว
“ตอนนั้นไม่มีแก๊สหรือเชื้อเพลิงน้ำมันก๊าด เราใช้ฟืนที่หาได้จากแถวนั้นเป็นเชื้อเพลิงปรุงอาหารในแคมป์”
ปี 1990 เขาก็เริ่มพิชิตเอเวอเรสต์ แต่ก็ไม่สำเร็จ ใช้เวลานานกว่า 2 ปี เขาเดินขึ้นเขาและหยุดการเดินทางที่ความสูง 8,000 เมตร ขณะร่วมเดินทางกับผู้พิชิตจากนิวซีแลนด์
ต่อมาในปี 1994 เขากลับไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ สู้กับสภาพอากาศ สู้กับใจ และสู้กับความมุ่งมั่นของตัวเองได้สำเร็จ
จนมาถึงปัจจุบัน คามิพิชิตยอดเขาแห่งนี้มาได้ถึง 29 ครั้ง ด้วยแนวคิดที่ว่า “เอเวอเรสต์จะอยู่ตรงนั้นเสมอ”
บางปีก็พิชิตได้หนึ่งครั้ง บางปีเขาก็ทำได้มากกว่านั้น
สำหรับการพิชิตยอดเอเวอเรสต์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤษภาคม 2024 และเป็นผู้พิชิตเพียงคนเดียวที่สามารถไปยืนบนยอดเขาเอเวอเรสต์ได้เป็นครั้งที่ 29
ในอินสตาแกรม คามิเขียนแคปชันประกอบภาพฉลองการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ไว้ว่า “ผมเพิ่งค้นพบว่าตัวเองต้องเผชิญกับความท้าทายที่คาดเดาไม่ได้ของธรรมชาติ แม้ว่าสภาพอากาศจะเลวร้าย แต่ทีมของเราก็ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยความมุ่งมั่นและกล้าหาญ”
เป้าหมายการพิชิตของคามิ ไม่ใช่การทำลายสถิติ แต่เป็นการทำงานและทำหน้าที่ของเขาให้ดีที่สุด ดูแลผู้คนให้มีชีวิตรอดบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยหิมะขาวโพลน
“ผมพยายามทำให้ทุกการเดินทางเป็นเหมือนครั้งแรก ถ้าลูกค้าทำได้สำเร็จ มันก็ทำให้เป็นวันที่ดีของผม ผมเชื่อว่าการทำลายสถิติเป็นเพียงแค่ผลพลอยได้”
คามิไม่ได้เป็นเพียงแค่ไกด์และผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่เขาคือผู้คนที่อยู่บนเทือกเขาหิมาลัยมาตลอดชีวิต
ดังนั้น เขาจึงเป็นคนที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศของโลกใบนี้ได้ดี อีกหนึ่งหน้าที่ของเขาคือการเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์บ้านของเขาหลังนี้ให้คงความสวยงามเอาไว้
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Dialogue Earth ว่า ภูเขาคือต้นน้ำของผู้คนหลายพันล้านคน สิ่งเดียวที่จะทำให้ภูเขายังคงสวยงาม คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“ภูเขาไม่ได้เป็นแค่ของพวกเรา ชาวเชอร์ปา หรือเนปาลที่จะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ถ้าวันหนึ่งหิมะละลาย แต่ภูเขาเป็นแหล่งของผู้คนหลายพันคน แต่ที่นี่เป็นมรดกโลก ถ้าหิมะหายไป เราก็คงไม่เหลืออะไร
“ผมคิดว่าวิธีเดียวที่จะทำให้ภูเขาของเรายังเป็นสีขาว คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงาน เครื่องบิน และยานพาหนะ”
ในวันที่รัฐบาลเนปาลประกาศเตรียมย้าย Base Camp คามิจึงออกมาส่งเสียงร้องค้าน เพราะไม่ใช่แค่เขาที่ได้รับผลกระทบ แต่การย้ายจุดพักนั้นส่งผลต่อระบบนิเวศของผู้คนบนเขา
“หากคุณย้ายจุดพักไปตรงพื้นที่ราบ คุณจะหาน้ำอย่างไร คุณต้องเดินเท้าหนึ่งชั่วโมงเพื่อหาน้ำจากน้ำแข็ง มันเป็นไปไม่ได้เลย เว้นแต่จะมีน้ำประปา เพราะมันเป็นเรื่องของการหาอาหารให้ผู้คนมากกว่า 1,500 คน ที่ต้องการปริมาณน้ำมากในทุกวัน”
การพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ครั้งที่ 29 จะไม่ใช่การปีนเขาครั้งสุดท้าย แต่คามิ ริตา เชอร์ปา จะเป็นคนที่ยังคงเชื่อในการเดินทาง เชื่อในธรรมชาติ และสร้างการเดินทางของตัวเขาต่อไป
อ้างอิง :
Kami Rita Sherpa: Everest record holder with humility towards the mountain / abenteuer berg
Kami Rita Sherpa’s (Nepal) interview / espaciosports
Everest through the eyes of a Sherpa: 'Climbers need to wake up’ / BBC
A climber scaled Everest for the 26th time. He broke his own world record — again / npr
Moving Everest Base Camp a ridiculous plan, says record-holding climber / dialogue earth
Everest Man - Kami Rita Sherpa / buddhaair
The Unstoppable Kami Rita Sherpa: Breaking Records on Mount Everest / peregrinetreks
Does Everyone Make It To Everest Base Camp / iantaylortrekking
ภาพ : อินสตาแกรม kamiritasherpa