21 พ.ย. 2567 | 13:11 น.
‘รามาวดี อินอุไร’ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แก้จน ชุมชนยะวึก ถึงกับน้ำตาคลอเบ้าเมื่อกล่าวประโยคนี้ บนเวที ‘ก้าวที่กล้าแกร่ง’ การทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่-โมเดลแก้จนจังหวัดสุรินทร์ ณ โรงเรียนบ้านยะวึก (ผจงราษฎร์วิทยาคาร) จังหวัดสุรินทร์
‘รามาวดี’ หรือ ‘ปี๊ด’ เป็น ‘คนจนเป้าหมาย’ ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผู้ไม่ยอมให้คำว่า ‘คนจน’ ตีกรอบให้เธอต้องเป็นแต่ ‘ผู้รับ’ ที่เฝ้ารอความช่วยเหลือจากคนอื่นอยู่ร่ำไป
คำพูดที่จริงใจ กับโปรไฟล์ที่ชวนค้นหาว่า จาก ‘คนจนเป้าหมาย’ ก้าวสู่การเป็น ‘วิทยากร’ และหัวเรือใหญ่แห่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แก้จน ชุมชนยะวึก ได้อย่างไร ดึงดูดให้เราตามติด ‘รามาวดี’ ไปยังแปลงผักอินทรีย์แก้จนที่เธอแสนภาคภูมิใจ
‘รามาวดี’ หรือที่เพื่อน ๆ เรียกว่า ‘ปารีส’ เป็นหญิงวัย 40 ต้น ๆ ที่เคยหนีความจนจากบ้านเกิดในชุมชนยะวึก พร้อมความรู้ ม.6 กศน. ไปสู้ชีวิตเป็นสาวโรงงานที่ชลบุรีอยู่ประมาณ 2 ปี
แล้วก็เช่นเดียวกับคนจำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่สุดแล้ว เธอกับสามีตัดสินใจกลับมาบ้านเกิด เพราะคิดว่าถึงจะไม่มีเงิน อย่างน้อย ๆ ก็ยังได้อยู่บ้าน เลี้ยงลูก ดูแลพ่อแม่
จังหวะดีที่ตอนนั้น ‘โครงการปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก’ เกิดขึ้นพอดี ‘รามาวดี’ ที่เข้าเกณฑ์คนจนเป้าหมาย จึงได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา
แต่กว่าจะมีแปลงผักอินทรีย์ที่สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอและสมาชิกในกลุ่มต้องกัดฟันเพื่อพากันผ่านพ้นช่วงโควิด-19 ไปให้ได้ ไหนจะปัญหาน้ำท่วมที่ตามมาซ้ำอีกระลอก รวมถึงปัญหาดินกับน้ำที่ต้องแก้แล้วแก้อีกจนกว่าจะลงตัว
“พอผ่านทุกปัญหานั่นแหละ เราถึงมีเวลาฟื้นฟูกลุ่มเพื่อให้มีรายได้ โดยได้ทุนจาก บพท. เราตั้งใจให้กลุ่มสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และหวังจะช่วยเหลือสังคม พวกเราอยากมีชีวิตที่ดี และอยากให้คนช่วยเหลือพวกเราภูมิใจด้วย”
ทุกวันนี้ โครงการผักอินทรีย์แก้จนในพื้นที่ตำบลยะวึก ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 50 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ย 80 – 250 บาท/วัน โดยมีลูกค้าเป็นชาวบ้านในชุมชน ร้านค้าชุมชน รถพุ่มพวง นอกจากนี้ สมาชิกกลุ่มยังมีรายได้จากการเป็น ‘วิทยากร’ และการรับคณะที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการปลูกพืชหลังนาคือ ‘ถั่วเขียว’ เพื่อบำรุงดิน ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และสร้างรายได้เสริมจากการขายเมล็ดถั่วเขียว ส่งผลให้ครัวเรือนเป้าหมายเหล่านี้ มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 36,000 บาท/ปี/ครัวเรือน และมีค่าใช้จ่ายลดลงเฉลี่ย 18,000 บาท/ปี/ครัวเรือน
แม้ตัวเลข 36,000 บาท/ปี/ครัวเรือน จะไม่หวือหวา เมื่อหาร 12 เดือน ก็ตกเพียงเดือนละ 3,000 บาท แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นก้อนนี้ ช่วยต่อลมหายใจให้กับครอบครัวของ ‘รามาวดี’ ได้เฮือกใหญ่
“ตอนอยู่ชลบุรี รายได้เดือนละประมาณ 6,000 - 7,000 บาท พอกลับมาอยู่บ้าน รายได้ไม่แตกต่างกันมาก เพราะนอกจากปลูกผัก เรายังรับจ้างทำหลายอย่าง แล้วก็ได้เป็นวิทยากรด้วย ที่สำคัญคือเราได้อยู่กับแม่ ได้อยู่ดูแลลูก”
เมื่อถามว่า การปลูกผักอินทรีย์ต้องมีการบริหารจัดการที่แตกต่างจากผักทั่วไปอย่างไร ‘รามาวดี’ ที่รั้งตำแหน่ง ‘ประธานกลุ่ม’ ตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “เราจะเน้นเลยค่ะว่า ห้ามใช้เคมีเด็ดขาด ถ้ารู้ว่าใครใช้ จะเชิญออกจากกลุ่มเลยค่ะ เพราะเราอยากให้คนในชุมชนได้กินอาหารที่ดี”
นอกจากความเข้มข้นในการรักษามาตรฐานของแปลงผักอินทรีย์ ในฐานะประธานกลุ่มฯ ‘รามาวดี’ ยังตั้งปณิธานว่า จะทำให้คนที่ไปทำงานในเมืองเห็นว่า พวกเขาสามารถกลับมาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านได้เหมือนกัน
เธอยังเล่าด้วยว่า สำหรับคนต่างจังหวัดแล้ว ปัญหาใหญ่คือการจัดการเรื่องเงิน บางคนอยากมีรถมีบ้าน แต่เงินไม่พอ ก็กลับมาขอเงินพ่อแม่ที่บ้าน พ่อแม่ก็ต้องส่งเงินไปช่วย กลายเป็นการสร้างหนี้ให้กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด
“พี่อยากให้คนในเมืองเห็นว่า พี่อยู่บ้านได้ คนอื่นก็มาอยู่ได้เหมือนกัน พี่เห็นหลายคนที่อยู่ในเมือง เวลาไม่มีเงินก็โทรกลับมายืมเงินคนที่บ้าน บางทีพี่ก็ให้ยืม ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้มีขนาดนั้น
“พวกเราอยู่บ้าน ขอแค่ขยัน อย่างพี่เองก็กู้ยืมเงินมาลงทุนเลี้ยงหมู และอีกหลาย ๆ อย่าง ทุกวันนี้ก็สามารถจ่ายหนี้ ธกส. ได้ทุกปี หนี้ก็ลดลงทุกปี ตอนนี้เหลือไม่ถึง 3 แสนบาท จากที่กู้มา 4 แสนบาท”
เมื่อกระตือรือร้นอยากชวนคนกลับมาอยู่บ้านขนาดนี้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะถาม ‘รามาวดี’ ว่า ความสุขในการกลับมาอยู่ที่บ้านของเธอคืออะไร?
“ตื่นเช้ามาบรรยากาศมันได้เลย มันง่าย ๆ อยู่แล้วมีความสุข ได้เห็นหน้าลูก เห็นหน้าแฟน เห็นหน้าแม่ ได้ทำกับข้าวกินในหมู่ญาติพี่น้องที่มีบ้านติด ๆ กัน มีกิจกรรมอะไรเราก็ช่วยกันทำ”
“แล้วตอนนี้พี่พูดได้เต็มปากหรือยังว่าพี่ไม่ใช่คนจน” เราเอ่ยถาม แล้วก็ได้คำตอบแทบจะทันทีจาก ‘รามาวดี’ ว่า “พี่ไม่จนน้ำใจ” ซึ่งหมายถึงความพยายามที่จะช่วยเหลือให้คนที่ยากลำบากเหมือนกันได้ลืมตาอ้าปากด้วยรายได้จากการปลูกผักอินทรีย์ ที่เธอเต็มใจที่จะให้คำแนะนำอย่างยิ่ง จนทุกวันนี้ชาวบ้านต่างพากันเรียกเธอว่า “คุณวิทยากร” ที่ทำเอาเธอรู้สึกปลาบปลื้มไม่น้อย
มาถึงตรงนี้ เราชวนเธอคุยต่อถึงประเด็นที่ชาวบ้านต้องรวมตัวกันเพื่อ “ช่วยเหลือตัวเอง” ที่เธอพูดบนเวทีในช่วงเช้า
“เราต้องทำเพื่อตัวเอง จะรอเป็นผู้รับอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากไม่ช่วยเหลือตัวเอง วันหนึ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ จากไป โครงการก็อาจจะล้ม อีกอย่างคือ การเป็นผู้รับอย่างเดียวมันไม่มีความสุขหรอก เราต้องเป็นผู้ให้ด้วย”
ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่าง ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถกลับไปอยู่บ้านเกิดได้เหมือน ‘รามาวดี’ แต่สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เหมือนกับเธอ คือความพยายามที่จะช่วยเหลือตัวเองอย่างเต็มที่ก่อน และเมื่อมีโอกาส ก็หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้อื่นบ้าง เท่าที่ตนเองมีกำลัง
เรื่อง: พาฝัน ศรีเริงหล้า