05 ธ.ค. 2567 | 15:30 น.
“ลูกคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต นาทีแรกที่รู้ว่าจะมีเขา ผมทิ้งทุกอย่างเกี่ยวกับบุหรี่ทิ้งไปทั้งหมด เลิกบุหรี่มันยากแต่ผมอยากเป็นพ่อที่เขาภาคภูมิใจ”
ชื่อของ ‘อนุวัฒน์ เดชพรพงศ์’ อาจไม่คุ้นหูใครมากนัก สิ่งที่เขาทำไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ให้กับโลกใบนี้ แต่เขากำลังสร้างโลกใบใหม่ให้กับคนรอบข้างอย่างเชื่องช้า และเปลี่ยนโลกทั้งใบของลูกวัยในวัย 5 เดือนไปตลอดกาล อนุวัฒน์ยอมสละความเคยชินของตัวเองเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็น ‘พ่อ’ ในวัย 37 ปี รับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวผู้รับผิดชอบชีวิตลูกน้อยและภรรยาอย่างสุดกำลัง
ก้าวแรกของการดูแลครอบครัวของอนุวัฒน์เริ่มจากการเข้าร่วมโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) โครงการครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (สพร.) และศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) เพื่อสร้างความตระหนักรู้และให้กำลังใจพ่อในอีกหลายครอบครัว ก้าวข้ามช่วงเวลายากลำบากอย่างการเลิกสูบบุหรี่ไม่ว่าจะบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้าไปให้ได้
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ชีวิตของอนุวัฒน์ไม่ต่างจากคนปกติในสังคม เขาคือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง เกิดและโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง บ้านรักใคร่กลมเกลียวกันดี ถึงจะมีปัญหาในครอบครัวให้เห็นบ้างเป็นบางครั้งก็ตาม แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนนอกลู่นอกทาง
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นผู้ชายที่โชคดียิ่งกว่าใครคือเขามีแฟนสุดน่ารัก คบหากันมาตั้งแต่อายุ 17 ปี จากคู่รักวัยใส เปลี่ยนสถานะสู่คู่ชีวิต ร่วมทุกข์ ร่วมสุขมาเป็นเวลาครึ่งค่อนชีวิต
อนุวัฒน์เป็นคนหนุ่มรักเดียวใจเดียว ไม่ว่าเวลาจะผ่านเลยไปนานแค่ไหน สิ่งที่เขารักและหวงแหนที่สุดยังคงเป็นภรรยาคนนี้ แต่การใช้ชีวิตร่วมกับใครสักคนย่อมต้องมีเรื่องผิดใจกันบ้าง และเขาเองก็มีปัญหานี้ไม่ต่างกัน
“ผมสูบบุหรี่มาตลอด สูบมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว แฟนพยายามบอกพยายามเตือนเท่าไหร่ผมก็ไม่เคยเลิกได้สำเร็จ”
คำพูดของอนุวัฒน์ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจ เป็นเรื่องจริงที่เรามักเห็นหรือได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่าคนที่เข้าสู่วงจรบุหรี่แล้ว น้อยคนนักจะเลิกได้สำเร็จ แล้วยิ่งสูบติดต่อกันเป็นเวลานานนับสิบ ๆ ปี ไม่แปลกที่ภรรยาหรือคนรอบข้างจะห้ามปรามเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง เพราะสารแห่งความสุขที่ได้รับหลังจากสูดดมเข้าไป ทำให้เขาไม่อาจหักห้ามใจได้สำเร็จ
“พอรู้ว่าแฟนจะมีลูกของเรา ลูกที่ผมกับเขาพยายามมีกันมาโดยตลอด จนถึงขั้นถอดใจมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง พอวันที่ผมรู้ว่าเขาท้อง วันนั้นแหละ ผมเดินไปเอาอุปกรณ์สูบบุหรี่ทุกอย่างทิ้งลงถังขยะเลย ผมทิ้งทุกอย่างจริง ๆ ไม่เหลืออะไรไว้ในบ้านเลย”
ถึงจะดูง่าย แต่การหักดิบทุกอย่างในครั้งเดียวก็ทำให้ร่างกายของเขาประท้วงไม่หยุดหย่อน ทั้งมีอาการไข้ หนาวสั่น ท้องเสีย ปวดเนื้อปวดตัว เขาต้องทนอยู่กับความทรมานนี้ราวสองวัน หลังจากผ่านพ้นไปได้ ร่างกายของเขาก็ค่อย ๆ กลับมามีเรี่ยวแรงดังเดิม
“เราต้องมีแรงจูงใจ ถ้าวันนึงที่เรามีอะไรสำคัญมากพอ มันจะทำให้เราก้าวข้ามได้หมดเลย
“ผมว่าภรรยาคงภูมิใจในตัวผมที่สุดแล้วมั้งตั้งแต่คบกันมา” รอยยิ้มของอนุวัฒน์ผุดพรายขึ้นหลังจากเล่าถึงความภูมิใจที่สามารถเลิกสูบบุหรี่เพื่อคนรักได้สำเร็จ ก่อนจะเล่าต่อว่าการเลิกบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเองก็พยายามเลิกมาแล้วหลายครั้ง บางรอบเลิกได้หลักสัปดาห์ บางรอบเลิกได้หลักเดือน แต่สุดท้ายก็กลับไปวนลูปการสูบใหม่เรื่อย ๆ เพราะในหัวคิดแค่ว่า ‘ขอแค่ตัวเดียว’ แต่แค่นิดเดียวก็ทำให้ความพยายามของเขาล้มครืนลงมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ครั้งนี้เขาพกความตั้งใจแน่วแน่ในการเลิกสูบบุหรี่ ความตั้งใจเพียงอย่างเดียวคืออยากให้ลูกภูมิใจ
“ก่อนจะมีครอบครัวเรามองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ พอวันนึงเรามีครอบครัวของตัวเอง เราก็รู้ว่ามันไม่ได้ แต่มันยากนะ อยากจะเลิกแต่ทำไม่ได้ เพราะเราไม่มีเป้าหมายที่สำคัญพอ
“พอผมทำได้ บรรยากาศในครอบครัวดีขึ้น ผมสามารถเข้าหาเขาได้โดยไม่มีคำพูดว่า เหม็นบุหรี่ ไปไกล ๆ เมื่อก่อนตอนที่ผมสูบอยู่ บางครั้งเวลาไปนั่งใกล้ ๆ เขาก็จะบอกว่าไปล้างตัวก่อน ไปทำตัวให้หอมก่อน ผมจะไปล้างตัว ทาแป้ง ฉีดน้ำหอม เพื่อจะให้ตัวหอม
“ผมรู้ว่าบุหรี่มันไม่ดี แต่พอลองสูบมันก็เลิกยาก”
ใช่ว่าเขาจะไม่มีปัญหาสุขภาพ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เขาตรวจพบไขมันในเลือดสูง หายใจติดขัด อาการป่วยสะสมเรื้อรังทำให้เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ เลยหันมาออกกำลังกายโดยการวิ่ง เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น แต่ยังไม่เลิกสูบบุหรี่ตัวการทำให้สุขภาพของเขาย่ำแย่
“ผมวิ่งออกกำลังกายด้วยนะ
“แต่ผมก็สูบบุหรี่ไปด้วย พอเลิกสูบบุหรี่ทุกอย่างมันดีขึ้นมาก หายใจเต็มปอดมากขึ้น มันต้องเปลี่ยนพฤติกรรมถ้าไม่เปลี่ยนร่างกายคงแย่กว่านี้”
อันที่จริงอนุวัฒน์เริ่มสูบบุหรี่เพราะอยากได้รับการยอมรับจากเพื่อน แล้วยิ่งเห็นว่า ‘พ่อ’ ของเขาเองก็สูบ พฤติกรรมเช่นนั้นราวกับการตอกย้ำว่าการสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ในความคิดของเขามองว่าการสูบบุหรี่เป็นภาพสะท้อนถึงการก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เสียด้วยซ้ำ
“ผมคิดว่าที่เริ่มสูบบุหรี่เพราะเห็นพ่อสูบ เลยเข้าใจว่าบุหรี่คือสัญลักษณ์ของการเป็นผู้ใหญ่ เราเป็นเด็กไม่สามารถสูบได้ พอเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอายุราว 17 ปีก็เลยลองสูบบุหรี่ดู แล้วติดมาเรื่อย ๆ วันนึงต้องสูบอย่างต่ำวันละซอง แต่พอโตขึ้นมาถึงรู้ว่าสิ่งที่เราเคยเข้าใจว่ามันถูกต้อง ความเชื่อทั้งหมดมันเปลี่ยนไปเลย
“บุหรี่มันไม่ดี พ่อของผมเขาไม่ได้เป็นพ่อในอุดมคติทุกอย่าง เขาสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ผมจำได้หมด แต่ในส่วนของการดูแลครอบครัวพ่อทำได้ดีเสมอไม่เคยขาดตกบกพร่อง”
แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีพ่อที่ทั้งรักทั้งชัง สำหรับอนุวัฒน์แล้ว เขาเห็นทั้งมุมดี-มุมแย่ของผู้ชายที่เรียกว่าพ่อมาโดยตลอด และเพราะเห็นแบบนั้นเขาจึงอยากทำทุกอย่างเพื่อลูก ยอมสละทิ้งความสุขชั่วครั้งชั่วคราวจากการสูบบุหรี่ เพื่อเป็นพ่อในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม
“นาทีแรกที่เห็นหน้าลูกมันดีใจจนบอกไม่ถูก มันเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถอธิบายได้ ผมอยากให้ลูกเห็นผมแล้วภูมิใจในตัวพ่อคนนี้ ว่าพ่อคนนี้สามารถทำทุกอย่างเพื่อลูกได้ เรื่องที่พ่อเคยผิดพลาดมาในอดีตทั้งสูบบุหรี่ หรืออะไรก็ตาม พ่อเลิกทุกอย่างได้หมดเลยเพื่อลูก”
การเป็นคุณพ่อมือใหม่ในวัย 37 ปีกลายเป็นความแปลกใหม่ในชีวิต เขาไม่เคยสัมผัสความรู้สึกเช่นนี้มาก่อน ไม่รู้ว่าการเป็นพ่อที่ดีต้องทำอย่างไร มีเพียงสิ่งเดียวที่คิดว่าก้าวแรกของการเป็นพ่อ ควรเริ่มจากการสามารถกอดหอมลูกได้โดยไม่ต้องกังวลว่าลูกจะได้รับสารพิษติดตัวตั้งแต่แรกเกิด
“ผมภูมิใจที่สุดก็คือผมอุ้มลูกได้โดยไม่ต้องกลัวว่าลูกจะได้รับควันบุหรี่จากผมเลย อันนี้คือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดเลย ทุกครั้งที่อุ้มลูก ทุกครั้งที่จับลูก ผมไม่กลัวเลยว่าลูกจะเหม็นบุหรี่ หรือว่าลูกจะได้รับสิ่งไม่ดีจากเรา นี่แหละคือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดแล้ว”
หากถามถึงความยากของการเลิกสูบบุหรี่ เราขอยกตัวอย่างงานวิจัยของ ‘ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์’ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาประกอบให้เห็นภาพเสียหน่อย จากการเวทีนำเสนอผลการสำรวจ รับฟังความคิดเห็น หัวข้อ “พ่อ... พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสร้างครอบครัวปลอดบุหรี่” ภายใต้โครงการ ครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่สำรวจพฤติกรรมของพ่อในแต่ละภูมิภาคจากกลุ่มตัวอย่างพ่อ 1,159 คนทั่วประเทศ พบว่า มีพ่อที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ 228 คน คิดเป็น 20% สาเหตุที่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้คือ มีลูกเป็นแรงจูงใจทำให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่มากถึง 88.16% และต้องการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก 88.16%
ส่วนตัวเลขสัดส่วนที่เหลือราว 77.87% ของกลุ่มที่สูบบุหรี่ รู้ว่าการสูบบุหรี่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของลูกในอนาคต แม้จะยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ แต่มีความตั้งใจที่จะให้ความรู้และพูดคุยกับบุตรหลานเรื่องความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ต่อไป
ซึ่งอนุวัฒน์สามารถทำได้สำเร็จ เขาคือพ่อส่วนน้อย ผู้สามารถเอาชนะความเคยชินของการมีบุหรี่ข้างกายมาได้ จากวันนั้นจนวันนี้เวลาปีกว่า ๆ ที่เขาไม่กลับไปสูบบุหรี่อีกเลย
ส่วนความคาดหวังของอนุวัฒน์ที่มีต่อลูกในฐานะพ่อ พ่ออย่างเขาไม่ต้องการอะไรมาก เพราะชีวิตตัวเองก็เคยผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาบ้าง หลังจากตกตะกอนความคิดและประสบการณ์ทุกอย่างที่ผ่านมา เขาบอกว่าขอแค่ลูกเป็นคนดี และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพียงเท่านี้ชีวิตของคนเป็นพ่อก็ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าใคร
“อยากจะบอกลูกว่า ให้ลูกเป็นคนดี ให้ลูกเลือกทางเดินในชีวิตของตัวเองในแบบที่ต้องการ ไม่ต้องเป็นคนสมบูรณ์แบบ ขอแค่เป็นคนดีไม่เบียดเบียนใครก็พอ คนเรามันมีเรื่องที่ตัดสินใจผิดพลาดหลายเรื่องเหมือนกัน ซึ่งเรื่องบุหรี่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่พ่อตัดสินใจผิดพลาดเหมือนกัน
“ลูกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่พ่อสามารถทำให้ได้ทุกอย่าง ทุกอย่างจริง ๆ”
ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวของอนุวัฒน์สะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งความรักและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของคนเป็นพ่อ การเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อครอบครัว ไม่ใช่เพียงการเลิกบุหรี่ แต่คือการสร้างตัวตนใหม่เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตว่า เมื่อเรามีเป้าหมายที่สำคัญมากพอ เราสามารถเอาชนะทุกอุปสรรคได้
สำหรับผู้ที่สนใจโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้า สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก : ครอบครัวปลอดบุหรี่
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : โครงการครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า