14 ธ.ค. 2567 | 11:47 น.
KEY
POINTS
ขณะที่รถพุ่มพวงคันเก่า ซึ่งติดตั้งโครงและหลังคาสีฟ้าใหม่เอี่ยม มีผักสีเขียวสดห้อยอยู่เต็มรถ กำลังแล่นช้า ๆ บนถนนลูกรัง เสียงคุณป้าคุณยายร้องทักทาย ‘สุรศักดิ์ มุมทอง’ หรือ ‘ยาว’ มาแต่ไกล
“พ่อยาว วันนี้มีมะระไหม?” เจ้าของรถพุ่มพวงยิ้มกว้าง จอดรถแล้วรีบหยิบมะระใส่ถุงให้ลูกค้าอย่างคล่องแคล่ว
นี่คือภาพที่พบเห็นได้เป็นประจำในพื้นที่บ้านนาเกียรตินิยม หมู่ 17 ต.สะแกโพรง อ.เมืองบุรีรัมย์ หนึ่งในพื้นที่ที่หลายหน่วยงานร่วมบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ซึ่ง ‘พ่อยาว’ ของลูกค้าประจำ หรือ ‘พี่ยาว’ สำหรับผู้เขียน ก็เป็นอีกคนที่ได้รับโอกาสดี ๆ จากความช่วยเหลือนี้ หลังจากเคยทิ้งบ้านเกิดไปหาความหวังในเมืองหลวงนานกว่า 20 ปี
“ผมออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 15 - 16 ปี” พี่ยาวย้อนวันวาน โดยหลังเรียนจบชั้น ป.6 เขามุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า เริ่มต้นด้วยการเป็นคนงานโรงงานย่านบางขุนเทียน ด้วยค่าแรงเพียง 150 บาท ก่อนจะขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเพิ่มเป็น 300 บาทในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์
ชีวิตในเมืองกรุงของพี่ยาวไม่ต่างจากแรงงานคนอื่น ๆ ที่ทั้งทำงานหนัก หาเช้ากินค่ำ และพยายามเก็บเงินส่งลูกเรียนหนังสือ แต่สิ่งที่แลกกับรายได้เพียงน้อยนิดคือสุขภาพที่ทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ “ตอนอยู่กรุงเทพฯ ตื่นมาทีไรก็หายใจลำบาก อากาศเต็มไปด้วยมลพิษ” เขาเล่าถึงชีวิตในเมืองหลวงด้วยน้ำเสียงที่ยังจำความอึดอัดได้ดี
เมื่อโควิด-19 ระบาด ชีวิตของพี่ยาวก็เหมือนกับคนอีกมากมายที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ การกลับบ้านเกิดกลายเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ แต่ใครจะรู้ว่า การกลับมาครั้งนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบความสุขที่แท้จริง
“พอกลับมาอยู่บ้าน เช้ามาเดินออกไปสวนผัก อากาศมันบริสุทธิ์ ทั้งสุขภาพกายและใจดีขึ้นเยอะเลย” พี่ยาวเล่าด้วยรอยยิ้ม จากคนที่เคยหายใจลำบาก วันนี้เขากลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น แต่ ณ วันนั้น ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาทำมาหากินอะไรที่บ้าน
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ ‘หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่’ หรือ ‘บพท.’ รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ช่วยกันทำโมเดลเกษตรแปลงรวม พัฒนาพื้นที่รกร้างให้เกิดรายได้สำหรับคนจน ตอนนั้นเองที่พี่ยาวสังเกตเห็นปัญหาของเพื่อนบ้านที่เข้าร่วมโครงการ “ชาวบ้านปลูกผักได้ แต่ขายไม่ได้ราคา เพราะพ่อค้าคนกลางให้ราคาถูก”
ด้วยประสบการณ์ชีวิตในเมืองกรุง ทำให้พี่ยาวมองเห็นโอกาสในการแก้ปัญหา เขาตัดสินใจนำรถเก่ามาดัดแปลงเป็นรถพุ่มพวงขายผัก กลายเป็นรถพุ่มพวงขายผักคันแรกของหมู่ 17 และกลายเป็นต้นแบบให้กับคนอื่น ๆ ในชุมชน
และเมื่อได้รับเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พี่ยาวก็ไม่รอช้า เขาตัดสินใจนำเงินบางส่วนมาใช้ต่อเติมหลังคา เพื่อให้ผักไม่ต้องโดนแดดร้อน ๆ และลูกค้าจะได้มองเห็นได้ถนัด ๆ เวลาขับผ่าน
“แต่ก่อนวางผักไว้ข้างใน คนมองไม่เห็น พอมีหลังคาแล้วแขวนผักไว้ข้าง ๆ ลูกค้าเห็นง่ายขึ้นเยอะ”
ทุกวันนี้ พี่ยาวไม่เพียงขายผักที่รับมาจากเพื่อนบ้าน แต่ยังปลูกเองด้วย โดยเน้นความสดใหม่ เก็บตอนเช้า ขายตอนบ่าย “ผมจะดูว่าวันพรุ่งนี้ผักอะไรจะออก แล้วค่อยเก็บตอนเช้า บ่าย ๆ ก็ออกขาย ลูกค้าได้กินผักที่สดกว่าที่อื่น”
สิ่งที่น่าประทับใจคือการที่พี่ยาวไม่ได้มองการขายเป็นเพียงเรื่องของกำไรขาดทุนเพียงอย่างเดียว “บางทีเจอยายมีเงินแค่ 10 บาท ผมก็ขายให้ เพราะทุกคนควรได้กินผักดี ๆ” นี่คือปรัชญาการค้าที่มาจากหัวใจของอดีตหนุ่มโรงงาน
ปัจจุบัน รถพุ่มพวงของพี่ยาวให้บริการครัวเรือนในชุมชนกว่า 200 - 300 ครัวเรือน ด้วยรายได้ที่ไม่ต่างจากตอนทำงานในกรุงเทพฯ มากนัก แต่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าหลายเท่า “ได้อยู่กับครอบครัว ได้คุยกับลูกก่อนนอน ได้ดูแลแม่ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” พี่ยาวกล่าวอย่างจริงใจ
“ผมภูมิใจที่ได้ขายของที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ใช้สารเคมี” พี่ยาวเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง “มีคุณยายหลายคนชอบถามหามะระ เพราะช่วยลดน้ำตาลในเลือด พอเห็นเขาได้กินผักปลอดสารพิษ มันมีความสุขมากกว่าเรื่องเงินอีกนะ”
นอกจากนี้ พี่ยาวยังไม่ใจแคบ เขายินดีอย่างยิ่งหากคนอื่น ๆ ในชุมชนจะยึดอาชีพพ่อค้ารถพุ่มพวงเหมือนกัน “ยิ่งมีรถพุ่มพวงเยอะ ยิ่งดี จะได้ช่วยกระจายผักที่ชาวบ้านปลูก ไม่ต้องกังวลว่าจะขายไม่ได้” นี่คือแนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ผมเคยทำงานโรงงานมาตลอด ตอนมาขายของแรก ๆ ก็ไม่ค่อยชิน แต่ตอนนี้พอได้พูดคุยกับคนมากขึ้นก็รู้สึกดี มีลูกค้าประจำคอยทักทาย ชวนคุยตลอด”
เมื่อถามถึงเรื่องฐานะ ว่าตอนนี้พี่ยาวยังมองตัวเองว่าเป็นคนจนอยู่หรือไม่ เขาตอบว่า “บางคนอาจจะมองว่าผมยังจน แต่ผมไม่จนน้ำใจ ไม่จนความสุข แค่เห็นคนในชุมชนได้กินผักดี ๆ ได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น มันมีค่ามากกว่าเงินทองอีก”
จากเด็กหนุ่มที่เคยคิดว่าความสำเร็จอยู่ในเมืองกรุง วันนี้พี่ยาวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า บางครั้งความสุขและความสำเร็จที่แท้จริง อาจอยู่ที่บ้านเกิด ในวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และการได้ช่วยเหลือแบ่งปันให้ผู้อื่น เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความร่ำรวยที่แท้จริงอาจไม่ได้วัดกันที่จำนวนเงินในบัญชี แต่วัดกันที่รอยยิ้มและความสุขของผู้คนที่เราได้ช่วยเหลือต่างหาก
สัมภาษณ์: พาฝัน ศรีเริงหล้า