หัวข้อวิทยานิพนธ์ของเขามีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ประวัติศาสตร์ของความบ้า’ (History of Madness) ใช้ปัญหาสภาพจิตใจของตัวเอง และประสบการณ์ทำงานที่โรงพยาบาลบ้าในกรุงปารีส เป็นเวลาสั้น ๆ หลังเรียนจบเป็นแรงบันดาลใจ งานชิ้นนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดี จนถูกนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ ‘ความบ้าและความศิวิไลซ์’ (Madness and Civilization)
ผลงานอันโดดเด่น
‘ความบ้าและความศิวิไลซ์’ บอกเล่าประวัติความเป็นมาของการปฏิบัติกับ ‘คนบ้า’ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย พร้อมข้อโต้แย้งที่ว่า ‘คนบ้า’ ส่วนใหญ่ไม่มีพิษมีภัย แค่เป็นคนทำตัวแปลกแยกจากสังคม และการวินิจฉัยว่าพวกเขา ‘บ้า’ แท้จริงแล้วเป็นเพียงความต้องการขจัดคนเหล่านี้ออกไป เพราะทำตัวท้าทายหลักปฏิบัติและค่านิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคม
นอกจากตั้งคำถามกับวิธีปฏิบัติกับ ‘คนบ้า’ ฟูโกต์ ยังพยายามค้นคว้าประวัติความเป็นมาของวิชาการแพทย์ยุคใหม่ในหนังสือเล่มต่อมาที่ชื่อ ‘การกำเนิดของสถานพยาบาล’ (The Birth of the Clinic)
แต่ผลงานที่ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเริ่มเผยแพร่ในปี 1966 ภายใต้ชื่อ ‘ระเบียบของสรรพสิ่ง’ (The Order of Things) มีเนื้อหาว่าด้วยจุดกำเนิดของความรู้ในโลกยุคใหม่ และเป็นเหมือนปฐมบทของงานชิ้นต่อไปในชื่อ ‘โบราณคดีของความรู้’ (The Archaeology of Knowledge) ซึ่งตีแผ่เบื้องหลัง ‘ความรู้’ ที่มาในรูปของการใช้ภาษา และ ‘วาทกรรม’
‘วาทกรรม’ (discourse) ในมุมมองของฟูโกต์ คือ ปฏิบัติการทางภาษาเพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดกรอบความคิดของสังคม และสถาปนา ‘ความรู้’ และ ‘ความจริง’ ขึ้นมา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ดังนั้น ทั้งความรู้และความจริงที่เกิดจากวาทกรรม จึงไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลา และมักเชื่อมโยงกับ ‘อำนาจ’ ในสังคมแค่ช่วงเวลานั้น
นอกจากตีแผ่อำนาจของวาทกรรม และตั้งคำถามกับ ‘ความรู้’ และ ‘ความจริง’ ผลงานชิ้นถัดมาของฟูโกต์ที่ใช้ชื่อ ‘วินัยและการลงทัณฑ์’ (Discipline and Punish) ยังพยายามเปรียบเทียบโรงเรียน โรงงาน โรงพยาบาล และค่ายทหาร ว่ามีระบบการทำงานไม่ต่างจากการควบคุมนักโทษในเรือนจำ โดยนำ ‘วินัย’ และบทลงโทษมาเป็นเครื่องมือควบคุมความคิดและพฤติกรรมของผู้ถูกควบคุม ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ในช่วงบั้นปลายชีวิต ฟูโกต์ เผยแพร่ผลงานซีรีส์ที่ชื่อ ‘ประวัติศาตร์ของเพศสภาพ’ (The History of Sexuality) ด้วยการพยายามเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของอำนาจกับความรู้ และการใช้วาทกรรมเช่นกัน โดยบอกเล่าผ่านความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของคำจำกัดความทางเพศ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
นักปราชญ์ร็อกสตาร์ และ ศาสดาคนชายขอบ
ผลงานของฟูโกต์ ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดโพสต์โมเดิร์น พยายามเปลี่ยนมุมมองความคิดของคนในสังคม และตั้งคำถามกับอำนาจที่ครอบงำความเชื่อของคนหมู่มาก โดยเฉพาะอำนาจที่กระทบต่อสิทธิคนชายขอบ ไม่ว่าคนวิกลจริต นักโทษ ผู้ใช้แรงงาน หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากจะทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังในวงวิชาการ บุคลิกส่วนตัวก็เป็นอีกจุดขายที่ทำให้ฟูโกต์ ต่างไปจากนักปรัชญาทั่วไป
หลังจบปริญญาเอก ฟูโกต์ทำงานเป็นอาจารย์ให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในฝรั่งเศส และเริ่มมีชื่อเสียงจากสไตล์การสอนและการแต่งตัวที่มีเอกลักษณ์ ภาพจำของเขา คือนักวิชาการที่ไว้ผมทรง ‘สกินเฮด’ สวมแว่นตา และเสื้อคอเต่า เป็นคนพูดเก่ง มีเสน่ห์ และมีอารมณ์ขัน
นอกจากให้ความรู้ในห้องเรียน ฟูโกต์ ยังเป็นนักกิจกรรมที่มักออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษาและประชาชนเพื่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคม จนได้รับการยกย่องให้เป็นนักปราชญ์ผู้ทรงอิทธิพลต่อสังคมฝรั่งเศสมากที่สุดคนหนึ่งในทศวรรษ 1960s - 70s และเป็นศิษย์เก่า ENS รุ่นใหม่ไฟแรงที่ได้รับการกล่าวถึงต่อจาก ‘ฌอง ปอล ซาร์ต’ (Jean - Paul Sartre) นักปราชญ์รุ่นพี่
อิทธิพลทางความคิดของฟูโกต์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฝรั่งเศส หลังจากได้รับเลือกให้เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ของระบบความคิด ณ ‘วิทยาลัยแห่งฝรั่งเศส’ (Collège de France) ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดทางวิชาการในบ้านเกิดเมื่อปี 1969 สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั้งในยุโรป และอเมริกา ต่างก็ให้ความสนใจทฤษฎีของฟูโกต์ และเชิญเขาไปบรรยายในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น
ผู้สันทัดกรณีบางคนยกย่องให้ฟูโกต์ เป็นนักปราชญ์ระดับ ‘ร็อกสตาร์’ แห่งศตวรรษที่ 20 และเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส นับตั้งแต่ยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ในศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีนักปราชญ์ชื่อดังอย่าง ‘วอลแตร์’ (Voltaire) ‘เดอนีส์ ดิเดโรต์’ (Denis Diderot) และ ‘ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ’ (Jean-Jacques Roussau) เป็นต้น
เรื่องอื้อฉาวและบทสุดท้ายของชีวิต
แม้จะได้รับการยกย่องมากมาย และกลายเป็นวีรบุรุษของคนชายขอบ แต่ชีวิตส่วนตัวของฟูโกต์ ก็มีเรื่องอื้อฉาวให้ถูกวิจารณ์ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาไปสนับสนุนการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน เมื่อปี 1978 - 79 ซึ่งนำมาสู่การกดขี่สิทธิสตรี และถูกโจมตีว่าเคยล่วงละเมิดทางเพศเด็กระหว่างเดินทางไปเป็นอาจารย์ที่ประเทศตูนิเซีย (แต่เจ้าตัวออกมาปฏิเสธ)
นอกจากนี้ ฟูโกต์ ยังท้าทายข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพในสังคมยุคนั้น ด้วยการใช้ชีวิตแบบชาวเกย์อย่างเปิดเผย เขายอมรับว่าชอบไปใช้บริการห้องอาบน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าคือสถานที่นัดหาคู่ของชาว LGBTQ+
ฟูโกต์ เสียชีวิตในวัย 57 ปี ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1984 และเป็นผู้มีชื่อเสียงคนแรก ๆ ของฝรั่งเศส ที่เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ จนเกิดการรณรงค์ต่อต้านโรคนี้อย่างจริงจังในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม แม้ชีวิตของฟูโกต์ จะเผชิญทั้งข้อครหาและปัญหาต่าง ๆ แต่ผลงานในฐานะนักปรัชญา หลังความตายของเขา ผลงานยังคงถูกพูดถึง และอ้างอิงไม่ขาดสาย ทั้งในแวดวงนักวิชาการ นักวิจารณ์ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม
มิเชล ฟูโกต์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 1982 ก่อนจากโลกนี้ไปว่า เขาไม่ชอบให้คำจำกัดความใด ๆ เกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง และอยากให้ผลงานที่สร้างไว้ “เป็นเหมือนกล่องเครื่องมือชนิดหนึ่งที่คนอื่นสามารถเข้ามาขุดคุ้ย เพื่อหาเครื่องมือสักชิ้นที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ตามความต้องการในงานสาขาอาชีพของตัวเอง...
“ผมไม่ได้ขีดเขียนขึ้นมาให้คนรับชม ผมเขียนให้คนนำไปใช้ ไม่ใช่ให้อ่านเพียงอย่างเดียว”
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
stanford.edu/
cogweb.ucla.edu
Britannica
Foucault Interview - What Is Our Present (1981) / Philosophy Overdose / YouTube
BBC
https://elisa-rolle.livejournal.com
New York Times
Washington Post